Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

ต้อนรับฤดูฝน Green season ครั้งแรกของเชียงราย ดอกไม้ในสายฝน

 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่สวนสาธารณะหาดนครเชียงราย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดงานดอกไม้ในสายฝน Chiangrai Floral & Fog Fest ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย โดยมีนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า พื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย มีสวนสาธารณะหลายแห่ง เช่น สวนสาธารณะเกาะลอย สวนสาธารณะนครเชียงรายริมน้ำกก สวนสาธารณะหาด รด. เชียงราย ซึ่งมีการพัฒนาเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ริมแม่น้ำกกและสามารถเชื่อมโยงมาถึงสวนสาธารณะหาดนครเชียงรายแห่งนี้ เทศบาลฯ จึงอยากพัฒนาหาดนครเชียงรายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝน Green season ที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างกระแสความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวช่วงฤดูฝน  ซึ่งจะทำให้ เชียงราย เที่ยวได้ทั้งปี ดังนั้นเทศบาลนครเชียงรายจึงได้ร่วมกับ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดเชียงราย เครือข่ายด้านการท่องเที่ยว จากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จัดงานดอกไม้ในสายฝนขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น  กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน สร้างงานสร้างรายได้ ให้กับประชาชน และส่งเสริมสนับสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์จังหวัดเชียงราย ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ด้านนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงฤดูฝน Green season ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยี่ยมเยือน ผลักดันให้เกิดกระแส Soft power ซึ่งปีนี้การจัดงานดอกไม้ในสายฝนเป็นครั้งแรก นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและสอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาจังหวัดเชียงรายที่มุ่งเน้นการทำงานแบบ บูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “เชียงรายเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์ สะอาด ปลอดภัย น่ายล”

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขอชื่นชมจังหวัดเชียงราย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย เทศบาลนครเชียงราย ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชน ที่ได้ร่วมมือร่วมใจ สนับสนุนการจัดงานดอกไม้ในสายฝนในครั้งนี้  ซึ่งเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อยอด เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน“สุขทันที ที่เที่ยวไทย”เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวออกไปท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงต้องอาศัยทำงานแบบบูรณาการความ ร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม ชมรม หอการค้า สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ชุมชน ฯลฯ ที่จะสร้างบรรยากาศและประสบการณ์ ในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวให้เกิดประทับใจของผู้ที่มาเยี่ยม ให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ผ่านการเดินทางและประสบการณ์ จากการได้ลิ้มลองรสชาติของอาหารพื้นเมือง เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยว งานศิลปะ งานหัตถกรรมฝีมือ ผ้าทอ การแต่งกายพื้นเมืองเชียงราย ที่มีเอกลักษณ์พื้นถิ่นสวยงาม และสัมผัสวัฒนธรรมประเพณีชนเผ่าชาติพันธุ์หลากหลาย ในจังหวัดเชียงราย สิ่งเหล่านี้นับเป็น ซอฟเพาเวอร์ ที่สามารถก่อให้เกิดรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในแต่ละจังหวัด และในชุมชนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ภายในงานมีขบวนพาเหรดจากหลากหลายกลุ่มของจังหวัดเชียงราย เช่น กลุ่มน้องนักเรียนจากโรงเรียนเทศบาล 6 โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา สถาบันสอนเต้นจาก MY Dance Academy Step it Up กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยวัยที่สาม นครเชียงราย กลุ่มรุ้งสร้างสรรค์เชียงราย และอีกมากมาย ทั้งนี้งานดอกไม้ในสายฝน Chiangrai Floral & Fog Fest จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 28 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 07.00 – 21.00 น. ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การแสดงของน้องๆ เยาวชน การประกวดแข่งขันขับร้องเพลง รำวงย้อนยุคจากชุมชนในเขตเทศบาลฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การแสดงของศิลปินชื่อดัง การออกร้านจำหน่ายอาหารและสินค้าพื้นเมือง การออกร้านจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงโซนหน่วยราชการ อปท. และโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงราย ตลอดทั้ง 10 วัน

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
ECONOMY

รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา คาดเดือนนี้ ต่างชาติเข้าไทยเพิ่มขึ้นตามรอย MV ลิซ่า

 
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. 67 ว่า ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแตะระดับ 17,501,283 คน สร้างรายได้ประมาณ 825,541 ล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน (3,439,482 คน) มาเลเซีย (2,435,960 คน) อินเดีย (1,040,069 คน) เกาหลีใต้ (934,983 คน) และรัสเซีย (920,989 คน)

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวในเกือบทุกกลุ่ม โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะใกล้ (Short haul) มีจำนวน 499,554 คน หรือเพิ่มขึ้น 2.01% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออก อาทิ ไต้หวัน เกาหลี และจีน จากหลายปัจจัย เช่น การจัดงาน Pride month 2024 ตลอดจนมาตรการวีซ่าฟรี ที่ยังคงมีผลช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถตัดสินใจเดินทางได้ในเวลาอันสั้น

อีกทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะไกล (Long haul) มีจำนวน 170,276 คน หรือเพิ่มขึ้น 6.11% จากสัปดาห์ก่อนหน้า จากนักท่องเที่ยวหลายกลุ่ม อาทิ นักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรป ที่ขยายตัวเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว Summer holiday ส่งผลให้ในภาพรวมสัปดาห์นี้ (24-30 มิ.ย.) ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 659,830 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 19,083 คน หรือ 2.98% คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 94,262 คน

โดย 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ จีน (133,304 คน) มาเลเซีย (92,060 คน) อินเดีย (41,621 คน) เกาหลีใต้ (30,824 คน) และไต้หวัน (27,188 คน) โดยนักท่องเที่ยวไต้หวัน เพิ่มขึ้น 15.41% เกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 5.36% จีน เพิ่มขึ้น 5.26% และมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 1.73% ในขณะที่นักท่องเที่ยวอินเดีย ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 9.48%

สำหรับในสัปดาห์ถัดไป (1-8 ก.ค.) คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น จากปัจจัยส่งเสริมการเดินทาง ได้แก่ Celebrity – induced tourism หรือการท่องเที่ยวตามรอย MV เพลง Rockstar ของลิซ่า และการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว Summer holiday ของตลาดภูมิภาคยุโรป การมีมาตรการ Ease of traveling ของรัฐบาล ช่วยเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสู่ไทย อาทิ การลงนามยกเว้นวีซ่าระหว่างไทย-จีน ที่มีผลช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และกระตุ้นให้สายการบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน รวมทั้งการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (วีซ่าฟรี) ให้แก่นักท่องเที่ยวอินเดีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน และการยกเว้นบัตร ตม.6 ในด่านทางบก 8 ด่าน แก่นักท่องเที่ยวมาเลเซีย และลาว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

นิตยสารชื่อดังให้ไทยติดอันดับ 1 ประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดประจำปี 2024

 
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณทุกการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนไทยทุกคนที่เป็นเจ้าภาพที่ดีจนไทยได้รับการจัดให้เป็นอันดับ 1 ประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดในปี 2024 (World’s Best Countries To Visit In Your Lifetime, 2024) รวมทั้งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงทุกปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

 

ขณะเดียวกัน การจัดอันดับในครั้งนี้ดำเนินการโดยนิตยสาร CEOWORLD ซึ่งเป็นนิตยสารด้านธุรกิจชื่อดัง โดยใช้วิธีจัดอันดับโดยการเก็บข้อมูลความคิดเห็นจากผู้อ่านมากกว่า 295,000 ราย ที่มีต่อ 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ และประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุด เป็นอันดับ 1 (World’s Best Countries To Visit In Your Lifetime) ในปีนี้ ด้วยคะแนนร้อยละ 72.15

 

โดยทางนิตยสาร CEOWORLD ระบุว่า การท่องเที่ยวในประเทศไทย ทำให้ได้รับประสบการณ์ท่องเที่ยวหลากหลาย เช่น สีสันยามค่ำคืน อาหารอร่อย ศิลปะและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา แหล่งช็อปปิ้งที่ขึ้นชื่อ แม่น้ำลำคลองที่คดเคี้ยวอย่างสวยงาม วัดของศาสนาพุทธ ตลาดกลางคืน ตลาดน้ำ และสวนสาธารณะสุดพิเศษ

 

สำหรับผลการจัดอันดับประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดประจำปี 2024 โดยนิตยสาร CEOWORLD ที่น่าสนใจ 10 อันดับแรก มีดังนี้

  1. ประเทศไทย ได้คะแนนร้อยละ 15
  2. กรีซ ร้อยละ 22
  3. อินโดนีเซีย ร้อยละ 15
  4. โปรตุเกส ร้อยละ 32
  5. ศรีลังกา ร้อยละ 53
  6. แอฟริกาใต้ ร้อยละ 76
  7. เปรู ร้อยละ 76
  8. อิตาลี ร้อยละ 77
  9. อินเดีย ร้อยละ 65
  10. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร้อยละ 38

 

ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวของภูมิภาค หรือ Tourism Hub ซึ่งการเป็น Tourism Hub นั้น ถือเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ประเทศไทยที่รัฐบาลมุ่งนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในทุกมิติ โดยในปีนี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายรายได้ทางการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท และจะทวีเพิ่มมากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ด้วย 5 กลยุทธ์สำคัญ คือ

 

การยกระดับประสบการณ์ โปรโมตการท่องเที่ยวไทยในทุกมิติ ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยก่อนการเดินทาง ให้ข้อมูลสำคัญกับนักท่องเที่ยวตั้งแต่บนเครื่องบิน เพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการในสนามบิน สร้างความประทับใจด้วยมัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยวที่มีมาตรฐาน สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

 

อีกทั้งยังมีการชูเอกลักษณ์ไทย หรือ เสน่ห์ไทย นำเสนอเรื่องราว และเพิ่มมูลค่าด้วยการนำจุดแข็งทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมมาเป็นจุดขาย ได้แก่ Must Beat มวยไทย, Must Eat อาหารไทย, Must Seek วัฒนธรรมไทย, Must Buy ผ้าไทย และ Must See โชว์ไทย นอกจากนี้ เมืองหลัก และเมืองน่าเที่ยว เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองใกล้เคียง อาทิ เส้นทาง Lanna Culture เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง เส้นทาง UNESCO Heritage Trail มรดกไทย มรดกโลก ผ่านเส้นทางสุโขทัย-กำแพงเพชร และนครราชสีมา เส้นทาง NAGA Legacy นครพนม สกลนคร บึงกาฬ ตามรอยตำนานศรัทธาพญานาคเส้นทาง Paradise Islands ตรัง-สตูล หมู่เกาะแห่งอันดามันใต้ สวรรค์แห่งท้องทะเล เส้นทาง The Wonder of Deep South ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส ใต้สุดแห่งสยาม มนต์เสน่ห์แห่งพหุวัฒน

 

ขณะเดียวกันยังมุ่งเน้น Hub of ASEAN เปิดประตูการท่องเที่ยวสู่อาเซียนให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางกับประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานให้การเดินทางท่องเที่ยว ไร้รอยต่อ

 

ตลอดจน World Class Event Hub ให้ไทยเป็นศูนย์รวม World Class Experience จากการนำ Event ระดับโลกเข้ามาจัดแสดงในประเทศ ทั้งด้านดนตรี กีฬา อาหาร ไลฟ์สไตล์ ศิลปและวัฒนธรรม อาทิ จัดงานวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2567 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพSummer Sonic Bangkok 2024, KAWS Arts, Moto GP, Volleyball World Championship เป็นต้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับประเทศ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

เตรียมทาบทาม “ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ” เป็น “ฑูตท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล”

 

เมื่อช่วงบ่ายวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม 2567นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมทาบทาม “ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ” สมาชิกวุฒิสภาคนดังจากรัฐอิลลินอย ประเทศสหรัฐอเมริกา มนุษย์ล้อลูกครึ่งไทย-อเมริกัน เป็นทูตอารยสถาปัตย์กิตติมศักดิ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (The First Honorable Friendly Design Ambassador to promote Tourism for All ) หรือฑูตท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล คนแรกในประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวโลก (The First Honorable Tourism for All Ambassador)

 

“เป็นนโยบายของรัฐบาลท่านนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องการสร้างโอกาสและขยายตลาดการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย ที่เป็นตลาดใหญ่ในโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มฟื้นฟูสุขภาพ กลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้พิการและมนุษย์ล้อจากนานาชาติ ที่มีกำลังซื้อสูง และมักพักค้างนานหลายวัน จัดอยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีมูลค่าสูง โดยเราต้องปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านอารยสถาปัตย์ หรือ Friendly Design ให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพสูงนี้ให้ได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากลตามแนวทางขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO)ว่าด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รมต.เสริมศักดิ์ กล่าว
 
 
ทั้งนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้หารือร่วมกับ นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และเครือข่ายการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลของประเทศไทยในระดับสากล พร้อมหารือถึงแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) ในแหล่งท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ห้องพักโรงแรม ร้านอาหาร สถานีบริการน้ำมัน จุดแวะพัก รถขนส่งนักท่องเที่ยว ฯลฯ ใน 20 จังหวัดนำร่อง โดยมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกรมการท่องเที่ยวเร่งดำเนินการ
 
 
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังได้สี่งการให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์รองรับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆสำหรับรองรับคนทั้งมวล เช่น ห้องพักโรงแรม ที่จอดรถ ทางลาด ห้องสุขา ระบบขนส่งมวลชน ทั้งเครื่องบิน รถยนต์ และเรือ ไปจนถึงระบบออนไลน์ต่างๆ เป็นต้น ให้พร้อมรองรับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในระดับมาตรฐานสากล โดยไม่มึการเลือกปฏิบัติ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ไฮไลต์ ‘เบียนนาเล่ เชียงราย’ 6-7 เม.ย. 67 ดนตรีของ 10 ชาติพันธุ์

 

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ประสบความสําเร็จอย่างดงามด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน รวมถึงการสนับสนุนจากคนไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาเที่ยวชมงานศิลปะที่จัดแสดงในสถานที่สําคัญซึ่งเชื่อมโยงแหล่งเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ด้วยนิทรรศการหลักและกิจกรรมคู่ขนานที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 เมษายน 2567

 

นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมคู่ขนานสำคัญในช่วงปลายเดือนมีนาคม จนถึงช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 ได้แก่

1) งาน “Chiangrai Cosplay summer meeting 2024” วันที่ 30 มีนาคม 2567 โดยกลุ่มเยาวชนคอสเพลย์เชียงราย (Chiangrai Cosplay Club) ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์และพัฒนาทักษะความสามารถด้านศิลปะของคนรุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันสร้างสรรค์กิจกรรม พร้อมออกบูธจำหน่ายของสะสมและของที่ระลึก ณ บริเวณลานใต้ต้นจามจุรี หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) 

 

2) ข่วง Crafts โดยจาก Craftsman Cafe & Spaces เครือข่ายศิลปะร่วมสมัยในจังหวัดเชียงราย ที่ตั้งใจเปิดพื้นที่ให้ผู้สร้างงานศิลปะได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน โดยจัดกิจกรรมต่อเนื่องทุกวันเสาร์ – อาทิตย์แรกของเดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เป็นต้นมา เช่น กิจกรรม Workshop โดยสมาชิกศิลปินสมาชิก งาน Paint โมเดลจิ๋ว, การระบายสีน้ำ, งานผ้า และงานเพนต์ก้อนหิน โดยล่าสุดข่วง Crafts ร่วมกับ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 และ สสส. จัดกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้ทางศิลปะให้แก่เยาวชนในช่วงปิดเทอมได้เข้าร่วม Class เรียนศิลปะสำหรับเด็ก เรียนรู้พื้นฐานเส้น การเล่นสี การวาดรูปและฝึกใช้จินตนาการสร้างผลงานศิลปะขั้นพื้นฐาน ในวันที่ 30-31 มีนาคม 2567 ณ Craftsman Cafe And Spaces หมู่บ้านลานทอง จังหวัดเชียงราย

 

นายเสริมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า 3) กิจกรรมไฮไลต์สำคัญ คือ เทศกาลดนตรีชาติพันธุ์ “กวาคีลา : เป่า ร้อง กลอง รำ เปิดโลกวิถีวัฒนธรรมดนตรีชาติพันธุ์เมืองเชียงราย” ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีของ 10 ชาติพันธุ์เมืองเชียงราย ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ อาข่า อิ้วเมี่ยน ม้ง ลีซู ลาหู่ บาเกียว ปกาเกอะญอ ดาราอ้าง  คะฉิ่น ขมุ และลัวะ ในวันที่ 6-7 เมษายน 2567 ภายใต้ความร่วมมือของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.องอาจ อินทนิเวศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กิจกรรมการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยที่จะเนรมิตบรรยากาศของหอศิลป์   ร่วมสมัยเมือง เชียงราย (CIAM) ให้อบอวลไปด้วยเสียงดนตรีอันเป็นเครื่องมือสื่อสารวิถีวัฒนธรรม อันหลากหลาย จากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยกิจกรรมทีน่าสนใจในเทศกาล  เช่น นิทรรศการให้ความรู้เรื่องดนตรีชาติพันธุ์ของแต่ละกลุ่ม การแสดงดนตรีพื้นเมืองจากวงดนตรีนักเรียน  ในจังหวัดเชียงราย การแสดงดนตรีจากวงดนตรีกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมสมัย การเสวนาจากนักวิชาการด้านดนตรี การเสวนาจากปราชญ์ชาติพันธุ์ท้องถิ่น การออกร้านจำหน่ายอาหารและสินค้าของกลุ่มชาติพันธุ์ และกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านชาติพันธุ์ โดยรอบบริเวณงาน ขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่สายอาร์ตมาร่วมกิจกรรม Collateral Event เปิดมุมมองใหม่ ส่งเสริมเศรษฐกิจและภาคภูมิใจไปกับอัตลักษณ์ของเมืองเชียงราย ในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ซึ่งยังคงจัดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 นี้

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
All

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 มียอดผู้เข้าชมงานพุ่งกว่า 1.6 ล้านคน

 
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ประชุมหัวหน้าส่วนราชการและองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๗ โดยที่ประชุมได้รับรายงานจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) เกี่ยวกับผลการจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 30 เมษายน 2567 ภายใต้แนวคิด “เปิดโลก” (The open World) ได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปปางเปิดโลกที่โบราณสถาน วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน โดยคัดเลือกผลงานจากศิลปิน 60 คน จาก 23 ประเทศทั้งไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีผู้เข้าชมงานและร่วมกิจกรรมภายในงานนี้ทั้งหมดกว่า 1,600,000 คน
 
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า การจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยและกิจกรรมในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 
 
1) นิทรรศการหลัก แสดงผลงานศิลปะการจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site Specific Installation) จัดแสดงในเขตอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่ลาวและอำเภอเชียงแสน 
2) ศาลา (Pavilion) แสดงผลงานนิทรรศการกลุ่มของศิลปิน พิพิธภัณฑ์ และองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 10 แห่งในอำเภอเมืองเชียงรายและอำเภอใกล้เคียง 
และ3) Collateral Events เป็นกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นในช่วงงาน เช่น ดนตรีชาติพันธุ์ งานฉายภาพยนตร์ การแสดงอื่นๆและการเยี่ยมชมบ้านหรือสตูดิโอของศิลปินในจังหวัดเชียงรายตามอำเภอต่างๆ 
 
 
ซึ่ง วธ.โดยสศร.จะร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายศิลปินและศิลปินชาวไทยและชาวต่างชาติดำเนินการจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยและกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 เช่น นิทรรศการ My Bulgarian Neighbor “Melting” Seventh Layer กิจกรรม OPEN WORLD CINEMA – Hours of ours กิจกรรมดนตรีชาติพันธุ์ “กวาคีลา : เป่า ร้อง กลอง รำ เปิดโลกวิถีวัฒนธรรมดนตรีชาติพันธุ์เมืองเชียงราย และนิทรรศการทัวร์เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนเฮือนโบราณ เจียงฮาย เป็นต้น
 
 
น่ายินดีที่มีชาวไทยและชาวต่างชาติ คณะบุคคลต่างๆมาเข้าชมและร่วมกิจกรรมในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 เป็นจำนวนมาก ช่วงเวลาของการจัดงานที่เหลือกว่า 1 เดือน ขอเชิญชวนคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวชมงานเพื่อศึกษาเรียนรู้งานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งเป็นหนึ่งใน Soft Power 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างภาพลักษณ์ และยกระดับบทบาทด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลกและพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทยสู่ความเป็นสากล” นายเสริมศักดิ์ กล่าว
 
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า นอกจากงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 แล้ว ช่วงเดือนมีนาคม 2567 สศร.จัดกิจกรรมแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยอื่นๆ อาทิ นิทรรศการศิลปะ “ลายมือ” ของนายแสงมณี แสงบุญ ศิลปินและดีไซน์เนอร์มืออาชีพผู้มีผลงานสร้างสรรค์ห้องเสื้อ “แสงบุญ” เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการของแฟชั่น โดยนำผลงานศิลปะที่แสดงเรื่องราวซึ่งมีที่มาจากจิตภายในสู่ภายนอก ต่อเส้นสายจากใจสู่มือ ถ่ายทอดผ่านลายมือ ลายเส้น ทั้งขาวดำและสีสัน ออกมาเป็นผลงานศิลปะอันมีเสน่ห์ 
 
 
โดยจัดแสดงตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ณ เฮินศิลป์ใจ๋ยอง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และนิทรรศการ “1+2 CNX” นำเสนอผลงานศิลปะของศิลปินชั้นครู ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณพงศ์เดช ไชยคุตร นายพีระพงษ์ ดวงแก้วและนางสาวราษี ศรบรรจง โดยเป็นการส่องสะท้อนนิเวศทางศิลปะและวัฒนธรรมผ่านทักษะฝีมือของศิลปินชั้นครูทั้ง 3 ท่าน เปิดให้เข้าชมตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2567 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งกิจกรรมเสพศิลป์…ฟินอาร์ต เช่น กิจกรรมฟื้นชีวิตเรือนพื้นถิ่นโบราณเชื่อมประสานเศรษฐกิจชุมชน จัดขึ้นตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 28 เมษายน 2567 ณ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง กิจกรรมดนตรีในสวนป่า ครั้งที่ 3 จัดขึ้นวันที่ 23 มีนาคม 2567 ณ อุ้มฮุ่มโฮมสเตย์และสวนป่าเกษตรอินทรีย์ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

​”เสริมศักดิ์” หนุนนโยบาย วธ. เด็กไทยเล่นดนตรีไทยคนละ 1 ชิ้น

 

“เสริมศักดิ์” หนุนนโยบาย วธ. เสริมเด็กไทยเล่นดนตรีไทยคนละ 1 ชิ้น มุ่งส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรักในศิลปวัฒนธรรมไทยและท้องถิ่น

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและนโยบาย วธ. ที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน เล่นดนตรี คนละ 1 ชิ้น สู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เด็กและเยาวชนรักในศิลปวัฒนธรรมไทยท้องถิ่น ทางสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) จึงได้จัดโครงการส่งเสริมเด็กไทยเล่นดนตรีไทย คนละ 1 ชิ้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถเล่นดนตรีไทยได้อย่างน้อยคนละ 1 ชิ้นจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผลการดำเนินงานในการส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคน เล่นดนตรีเป็น 1 ชนิด ถือเป็นการเยียวยาจิตใจ มีผลโดยตรงต่อพัฒนาการทางสมอง อารมณ์ สังคม ร่างกาย และจิตใจ ของเด็กเยาวชนสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน มีสมาธิ สามารถเรียนรู้วิชาการอื่น ๆ ได้รวดเร็วขึ้น ประกอบกับเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีของไทยให้เด็กเยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการส่งเสริมเด็กไทยเล่นดนตรีไทยคนละ 1 ชิ้น ได้รับความสนใจจากเยาวชนเป็นอย่างมาก ใช้เวลาอบรม 2 วัน มีการสอน ประกอบด้วย พื้นฐานดนตรีไทยวงปี่พาทย์ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ พื้นฐานดนตรีไทยวงเครื่องสาย ซอด้วง ซออู้จะเข้ พื้นฐานดนตรีพื้นบ้านอีสาน พิณ แคน โหวด โปงลาง กลองหาง และในปีงบประมาณ พ.ศ.2567      เป็นการจัดฝึกอบรมปฏิบัติดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านให้แก่เด็กและเยาวชน ดังต่อไปนี้ 1. กลุ่มปี่พาทย์ (อาทิ ขลุ่ย อบรมกลุ่มเป้าหมายใหม่) 2. กลุ่มเครื่องสายไทย 3. กลุ่มดนตรีพื้นบ้าน 4. กลุ่มดนตรีสากล มีนักเรียน นักศึกษา จากสถาบันศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวนกว่า 5,000 คน จาก 100 โรงเรียนเครือข่ายสนใจเข้าอบรมหลักสูตรระยะสั้น 12 ชั่วโมง ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 มีทีมวิทยากรจากวิทยาลัยนาฎศิลปในสังกัด 12 แห่ง คณะศิลปศึกษา คณะศิลปนาฏดุริยางค์ ครูผู้เชี่ยวชาญอบรมให้ความรู้

ทั้งนี้ ภายหลังการอบรม ทาง สบศ. จะมีการจัดแสดงผลงานเด็กและเยาวชนในระดับกระทรวง ทำเนียบรัฐบาล และสถานที่ภายนอก ถือเป็นขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน เล่นดนตรี คนละ 1 ชิ้น สู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

​เสริมศักดิ์ ปลื้ม! แลนด์มาร์ค Thailand Biennale ในน้ำมีปลา ในนามีแมว”

 

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้ขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมตามกรอบนโยบายหลัก “วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ”พร้อมทั้งขับเคลื่อน Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก โดยการสำรวจรวบรวมทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และยกระดับงานวัฒนธรรมเดิมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นการเปิดมุมมองแห่งความสำเร็จจากการใช้วัฒนธรรมสร้างพลังแห่งอนาคตตามเป้าหมายในปี 2567
นอกเหนือจากการโครงการส่งเสริมการสร้างรายได้ด้วยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแล้ว งาน “Thailand Biennale Chiangrai 2023” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธ.ค. 66 – 30 เม.ย. 67 เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่จะช่วยเปิดโลกศิลปะวัฒนธรรมของประเทศไทยให้ชาวโลกได้รับรู้ และส่งเสริมให้จังหวัดเชียงรายก้าวกระโดดสู่นิเวศของการเป็น “เมืองศิลปะระดับโลก” นอกจากนิทรรศการหลักของศิลปินทั้ง 60 คนและ 13 พาวิลเลี่ยนแล้ว 

 

ยังมีการนำเสนอผลงานศิลปะในลักษณะ Collateral Event จัดแสดงคู่ขนานเกิดขึ้นอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะงานศิลปะบนนาข้าว(Tanbo Art)  ในคอนเซปต์ “ในน้ำมีปลา ในนามีแมว”ที่โด่งดังในกระแสโซเชียล สร้างความสนใจให้สื่อต่างประเทศนำไปเผยแพร่ เชิญชวนให้มาท่องเที่ยว แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของไทย ซึ่งอยู่ใกล้กับ “ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน” พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหลักของ“Thailand Biennale Chiangrai 2023”อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย

 


“ในน้ำมีปลา ในนามีแมว”เป็นไอเดียที่น่าชื่นชมของคุณธันยพงศ์  ใจคำ เจ้าของ”เกี้ยวตะวัน ธัญฟาร์ม” ในอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ที่ทำงานร่วมกับศิลปินนักออกแบบชาวเชียงราย นักปราชญ์  อุทธโยธา และทีมงานอีกกว่า 200 คน โดยนำงานวิจัยพันธุ์ข้าวสรรพสีจากโครงการ MOU เพื่อทำวิจัยร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน ทั้งหมด 7 สายพันธุ์มีสายพันธุ์ดั้งเดิม 2 สายพันธุ์และอีก 5 สายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นจากการวิจัย เป็นการผสมผสานงานวัฒนธรรมการปลูกข้าว เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนกลายเป็นงานศิลปะที่โดดเด่นด้วย สีสันของพันธุ์ข้าวสีรุ้ง ที่มีหลากหลายเฉดสี ตั้งแต่สีม่วงเข้มไปจนถึงสีเหลืองอ่อน ซึ่งขณะนี้ข้าวสรรพสีพากันออกรวงสีทองอร่ามงามตา ต้อนรับการมาเยือนของนักเที่ยว โดยคาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงระยะเวลา 145 วันหลังการเพาะปลูกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566 ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเสร็จสิ้นงานงาน “Thailand Biennale Chiangrai 2023”ในช่วงเดือนเมษายน 2567    

 


ศิลปะบนนาข้าวจึงเป็น อีกหนึ่งสำคัญในการนำซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศมาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างมูลค่า สอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริม การต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนโดยเริ่มต้นจากต้นข้าวเล็กๆ เติบโตสู่พื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะให้งอกงามและเบ่งบานอยู่ในใจผู้คนอย่างมีคุณค่า  

 

นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ โฆษกกระทรวงวัฒนธรรม (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมกำลังเร่งเดินหน้าผลักดัน Soft Power ศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างต่อเนื่องใน “งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 4 Thailand Biennale 2025” ซึ่งจังหวัดภูเก็ต เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน โดยเฉพาะการนำเอา Soft Power ที่มีพลังในความเป็นไทย และความภาคภูมิใจของภูเก็ต ส่งผ่านงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เชื่อมไทย เชื่อมโลก ก้าวไปสู่การเป็นหมุดหมายสำคัญของการจัดแสดงงานศิลปะนานาชาติระดับโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต รวมทั้งการนำงานศิลปะร่วมสมัยทั้ง 9 สาขามาขับเคลื่อน Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทยครองใจคนทั้งโลก อาทิ ส่งเสริมให้เกิด 1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft power การผลีกดัน Bangkok เมืองแฟชั่น และการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

3 เครือข่ายภาครัฐและเอกชนหนุน พัฒนางานศิลปะร่วมสมัยผ่านนิทรรศการเครือข่าย

 

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ประจำปี 2567 ระหว่างกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมกับธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอคอนสยาม จำกัดและกลุ่ม Chat Lab โดยมีคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นางวีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ Retail and Brand ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) นายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด และนายณัฏฐาปกรณ์ คะปูคำ สถาปนิกผู้แทนกลุ่ม Chat Lab ร่วมลงนามความร่วมมือ 

 

โดยมีนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางสุภัทร กิจเวช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ศิลปินและผู้แทนหน่วยงานเครือข่ายที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ศิลปิน แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ 

 

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับองค์กรเครือข่ายและศิลปินทุกท่าน ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตลอดจนความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นจากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในวันนี้ ระหว่าง กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายทั้ง 3 หน่วยงานได้แก่ 1. ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด 3. กลุ่ม Chat Lab และการจัดนิทรรศการแสดงผลงานโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในปี 2566 จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล โดยการนำศิลปะร่วมสมัยมาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และส่งเสริมพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้พัฒนาไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการบนพื้นฐานของทุนทางสังคมและวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันและเสริมสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยให้แพร่หลายในประชาคมโลกและยังเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือเชิงรุก 
ที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต 
 
 
 
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูลประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนที่ให้การส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยแก่ศิลปินและเครือข่ายฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561- 2566 โดยได้ให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ รวมทั้งสิ้น 162 โครงการ เป็นงบประมาณรวมกว่า 43 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2567 มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย จำนวนทั้งสิ้น 27 โครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,950,000 บาท ครอบคลุม 4 แนวทางหลัก ได้แก่ แนวทางที่ 1 วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และ/หรือนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม  แนวทางที่ 2 ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่า มูลค่าทางเศรษฐกิจ แนวทางที่ 3 สร้างความร่วมมือเครือข่ายเพื่อยกระดับคุณค่าที่หลากหลายทางสังคมและชุมชน  แนวทางที่ 4 ส่งเสริมการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทยผ่านสื่อแขนงต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
 
โครงการที่ได้รับการส่งเสริมล้วนมีแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการให้เกิดการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายในระดับชุมชน ระดับชาติ และระดับนานาชาติ และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้ง 3 ด้านได้แก่ ด้านสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งก่อให้เกิดการบูรณาการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยเชิงรุกผ่านระบบนิเวศศิลปะ ช่วยยกระดับคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
 
 
ทั้งนี้ นิทรรศการโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เปิดให้เข้าชมผลงานโดยไม่เสียค่าเข้าชม ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2566 จนถึงวันที่ 5 มกราคม 2567  ณ ห้องปฏิบัติการ 1 และ 2 บริเวณชั้น 2 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE WORLD PULSE

นับถอยหลัง Thailand Biennale 2023 พร้อมโชว์ผลงานสร้างสรรค์ ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก

 

 

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานการแถลงข่าวเปิดตัว 20 ศิลปิน ชุดสุดท้ายของ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ และภัณฑารักษ์ พร้อมด้วยศิลปินและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงแรมแสน จังหวัดเชียงราย

 

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผย การจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ได้คัดเลือกศิลปินจากทุกทวีปทั่วโลก 21 ประเทศ จำนวน 60 คน เข้าร่วมสร้างสรรค์ผลงาน ในวันนี้เป็นการเปิดตัวศิลปิน 20 คนสุดท้าย ซึ่งจากการติดตามความก้าวหน้าของการเตรียมงาน และการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าการจัดงานมีความพร้อมอย่างมาก ทั้งในด้านสถานที่การจัดงาน และการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินที่เริ่มสร้างผลงานไปตามแผนงาน พร้อมที่จะอวดผลงานแก่ทุกคนตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 ถึง 30 เมษายน 2567 นี้ 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า จากแนวคิดหลักของ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ซึ่งเกิดมาจากการลงพื้นที่ศึกษา และค้นหาบริบทของเชียงรายมีข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางเปิดโลก ที่ประดิษฐาน ณ วัดป่าสัก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพหุวัฒนธรรม ที่แสดงถึงอิทธิพลจากวัฒนธรรมหลากหลายในเอเชียจนเป็นที่มาของแนวคิด The Open World หรือ เปิดโลก ในครั้งนี้ เป็นจุดสำคัญที่เราจะนำเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรมของไทย สอดแทรกไปกับการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน ส่งเสริมให้จังหวัดเชียงรายกลายเป็น‘เมืองศิลปะระดับโลก’และเป็นจุดหมายที่นักเดินทางทั่วโลกอยากมาเยี่ยมชมสร้างการบูรณาการ  ระหว่างศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในการพัฒนาสินค้าและท่องเที่ยวให้ชุมชนเกิดรายได้ผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบของเทศกาลศิลปะนานาชาติ เป็นการตอบสนองนโยบายประเทศไทย ๔.๐ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของวธ. และการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย Soft power ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ดังนั้นตลอดระยะเวลา 5 เดือนของการจัดงาน จังหวัดเชียงรายจะเต็มไปด้วยผลงานศิลปะจากผลงานหลักของ 60 ศิลปิน กิจกรรมคู่ขนาน อาทิ การแสดงดนตรีชาติพันธุ์ ศิลปะการแสดง การฉายภาพยนตร์ กิจกรรมการศึกษา พาวิลเลี่ยน 13 พาวิลเลี่ยน และการเปิดบ้านของศิลปินเชียงรายอีกกว่า 80 หลัง วันนี้จึงเป็นการนับถอยหลังเข้าสู่การจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023  ขอเชิญชวนชาวไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดโลกแห่งการรับรู้ทางศิลปะ เปิดประเทศ และเปิดเมืองเชียงราย เชื่อมโยงศิลปะสู่วิถีชีวิต ร่วมกันบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งนี้ และร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดีไปพร้อม ๆ กับพี่น้องชาวเชียงราย 

 

 

ด้าน นายพุฒิพงศ์  ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในฐานะเจ้าบ้าน จังหวัดเชียงราย  ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการจัดงานในครั้งนี้ทุก ๆ กิจกรรม โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ ศิลปินเชียงราย ขัวศิลปะ องค์การบริหารส่วนตำบล หอการค้า ห้างร้าน มูลนิธิ สมาคมต่าง ๆ จนทำให้ขณะนี้พร้อมต้อนรับคณะศิลปิน และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาชมงานในครั้งนี้ ในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่จัดงานความพร้อมของผู้คนชุมชนโดยมั่นใจว่าหากได้มาเยือนจะหลงรักเชียงราย เพราะนอกจากความสวยงามของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตก ป่าไม้ วัดวาอาราม แหล่งประวัติศาสตร์ รวมถึงวิถีชีวิต จังหวัดเชียงราย  เป็นเมืองสำคัญที่มีความอุดมสมบูรณ์มีศักยภาพด้านทุนทางวัฒนธรรม ที่มีประวัติศาสตร์ อันยาวนาน งดงามด้วยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา มีสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่และเป็นเอกลักษณ์ มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และที่น่าภูมิใจยิ่ง คือเป็นถิ่นของปราชญ์ของแผ่นดิน และศิลปินหลากสาขา เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ล้วนได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณค่าให้ปรากฏอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เชียงรายได้รับการยอมรับในฐานะ “เมืองศิลปะ” เมืองศิลปิน ถิ่นทองของศิลปะร่วมสมัยอย่างแท้จริง

 

 

ด้านผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ (Artistic Director) คุณกฤติยา กาวีวงศ์ และภัณฑารักษ์ (Curators)  คุณอังกฤษ อัจฉริยโสภณ และคุณมนุพร เหลืองอร่าม เน้นย้ำถึงที่มาของแนวคิด The Open World หรือ เปิดโลก ว่า เกิดขึ้นจากการลงพื้นที่และศึกษาข้อมูลของจังหวัดเชียงรายได้พบข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางเปิดโลก   ซึ่งประดิษฐาน ณ วัดป่าสัก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๓๘ ในสมัยพญาแสนภู ผู้สร้างเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นหลานของพญามังราย โดยพุทธลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปปางเปิดโลก ประทับยืนอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองข้างห้อยลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงเปิดโลกทั้ง 3 ได้แก่ เทวโลก ยมโลก และมนุษยโลก ให้มองเห็นถึงกันหมดด้วยพุทธานุภาพ แสดงให้เห็นถึงปัญญาและการตื่นรู้ จึงกล่าวได้ว่า “เปิดโลก” หรือ The Open world  มีความหมายที่ตรงไปตรงมา แต่สามารถตีความได้แบบปลายเปิด ที่สื่อถึงการเปิดโลกการรับรู้ทางศิลปะที่เชื่อมโยงความจริงในสังคมและนำไปสู่การตั้งคำถามด้วยผลงานศิลปะร่วมสมัยว่าเราจะสามารถจินตนาการถึงความเป็นไปได้ในอนาคตที่ดีกว่าอีกครั้งได้หรือไม่

 

นอกจากนี้“เปิดโลก” หรือ The Open World ยังหมายถึง ความสำคัญของการเรียนรู้จากอดีต ทั้งในแง่มุมทางประวัติศาสตร์อันซับซ้อนของจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของประเพณีและมรดกทางวัฒนธรรมของล้านนา ด้านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมและศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องเล่าความเชื่อและมิติอันหลากหลายทางวัฒนธรรม ตลอดจนระบบนิเวศของเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะชุมชนศิลปินเชียงรายซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี โดยมีอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี และอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติผู้มีชื่อเสียงระดับโลก เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจที่สำคัญในการกลับมาสร้างสรรค์บ้านเกิดเมืองนอนให้เข้มแข็งและมีศักยภาพความพร้อมในมิติของการเป็นพื้นที่จัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 อีกด้วย

 

ส่วนพาวิลเลี่ยน ซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญที่พัฒนาเพิ่มเติมจากการจัดงาน 2 ครั้งที่ผ่านมาThailand Biennale, Chiang Rai 2023 มีการแสดงผลงานของพาวิลเลี่ยนที่เข้าร่วม 13 พาวิลเลี่ยน 

1.กลุ่มศิลปินแม่ลาว 

2.กลุ่มศิลปินสีน้ำนานาชาติ (ขัวศิลปะ) 

3.กลุ่มสล่าเมืองพาน 

4.เดอะคาโนปี้ โปรเจกต์  

5.โปรดักชัน โซเมีย 

6.พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม 

7.พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่วอร์ซอร์ 

8.พุทธศิลปกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 

9.แม่ญิงอาร์ตติสคอลเลคทีฟ 

10.รูบาน่า 

11.ศาลาสล่าขิ่น 

12.Korean pavilion 

และ13.PLUVIOPHILE  

 

สำหรับ 20 ศิลปินชุดสุดท้ายใน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ได้แก่ 1. อัลมากุล เมนลิบาเยวา (อัลมาตี/เบอร์ลิน) 2. อริญชย์ รุ่งแจ้ง (กรุงเทพฯ) 3. อัททา ความิ (อักกรา/ลัฟบะระ) 4. ชาไคอา บุคเคอร์ (นิวยอร์ก) 5. เฉิง ซินห้าว (คุนหมิง) 6. กรกฤต อรุณานนท์ชัย (กรุงเทพฯ/นิวยอร์ก) 7. วุธ ลีโน (พนมเปญ) 8. มาเรีย เทเรซา อัลเวซ (เบอร์ลิน/เนเปิลส์) 9. พาโบล บาร์โธโลมิว (นิวเดลี) 10. ปิแอร์ ฮุยจ์ (นิวยอร์ก/ซันดิเอโก) 11. ซาราห์ ซี (นิวยอร์ก) 12. ชิมาบุกุ (นาฮะ) 13. สมลักษณ์ ปันติบุญ (เชียงราย) 4 ทรงเดช ทิพย์ทอง (เชียงราย) 15. ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ (เชียงใหม่) 16. โทมัส ซาราเซโน (เบอร์ลิน) 17. เซอริน เชอร์ปา (แคลิฟอร์เนีย/กาฐมาณฑุ) 18. อุบัติสัตย์ (เชียงใหม่) 19. หวัง เหวิน จื้อ (เจียอี้) 20. ซิน หลิว (ลอนดอน)

 

ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandbiennale.org Facebook https://www.facebook.com/thailandbiennale/ และสายด่วนวัฒนธรรม 1765

 

Countdown to the Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 and reveal the final 20 artists who will showcase their creative works aiming to gain global recognition. The exhibition will be held on December 9, 2023 until April 30, 2024.

On November 19, 2023, H.E. Mr. Sermsak Pongpanit, Minister of Culture, presided over the press conference on the final 20 artists of the Thailand Biennale, Chiang Rai 2023. This event was attended by Mrs. Yupha Taweewattanakitborvon, Permanent Secretary for Culture, Mr. Puttipong Sirimart, the Governor of Chiang Rai Province, Mrs. Khunying Patama Leeswadtraku, the Chairperson of the Contemporary Art Promotion Fund, Mr. Prasop
Riang-ngoen, the Director-General of the Office of Contemporary Art and Culture, as well as executives from the Ministry of Culture, artistic directors, curators, artists and representatives from relevant agencies at Sann Hotel, Chiang Rai.

The Minister of Culture said that the 60 artists from 21countries were selected from around the world in order to create their own artworks. Following the on-site visits last week, the festival is making good progress and the venue is well-prepared.  The artists have been actively working on their creations according to the schedule. They are ready to showcase their works to the public from December 9, 2023, to April 30, 2024.

The Minister of Culture stated that the core concept of Thailand Biennale, Chiang Rai 2023, originated from on-site studies and exploration of Chiang Rai’s context, which reveals an information specifically about the Open World Posture Buddha image, located at Wat Pa Sak, which symbolizes the multicultural influence from various Asian cultures and serves as the inspiration for “The Open World” theme. In this edition, it is a crucial point to integrate the cultural narrative of Thailand with the artistic creations of the participating artists, promoting Chiang Rai Province to become a ‘world-class art city’ and a destination that global travelers would want to visit, fostering integration between art and local culture with innovative creativity. This initiative aims to develop products and tourism, generating income for the community through the organization of international art festivals, aligning with Thailand 4.0 policy to promote the creative industry of the Ministry and drive Thailand forward with soft power, making it a global focal point. Therefore, during the 5-month event period, Chiang Rai Province will be filled with artworks from the primary creations of 60 artists, along with collateral events and activities such as traditional music performances, performing arts, film screenings, educational activities, as well as 13 Pavilions, and more than 80 local artists’ open houses. Today marks the countdown to the international contemporary art festival, Thailand Biennale, Chiang Rai 2023. We would like to invite Thai citizens to be part of this event, opening the world to artistic perception, showcasing the country, and connecting Chiang Rai, while linking art to lifestyle. Together, let’s make this a historical event and be good hosts alongside the people of Chiang Rai.

Mr. Puttipong Sirimart, the Governor of Chiang Rai Province states that as the host province, Chiang Rai has prepared thoroughly for the event with the collaboration of various sectors. This includes local artists, cultural organizations, sub-district administrative organizations, chambers of commerce, foundations, and various associations. The community made all-round preparations and is currently ready to welcome artists and tourists in every aspect. The governor is confident that visitors will fall in love with Chiang Rai, which, aside from its nature’s beauty, historical sites and the local way of life, is a city with cultural richness and potential. Chiang Rai has a long history with a diverse Lanna cultural heritage unique architecture, various ethnic groups, and a reputation as a hub for wisdom and a diverse range of artists. Chiang Rai has actively contributed to the continuous creation of valuable artworks, gaining recognition worldwide. Chiang Rai has been recognized as the “City of Art,” a genuine city of contemporary artists, and a true artistic hub.

Miss Gridthiya Gaweewong, Artistic Director, Mr. Angkrit Ajchariyasophon, Curators and Miss Manuporn Luengaram emphasize the origin of the concept of “The Open World”, stating that it emerged from on-site exploration and the study of information about in Chiang Rai. It was discovered that the idea was inspired by the iconic Buddha statue at Wat Pa Sak, known as the Open World Posture Buddha image, which was established in the year 1838 during the reign of Phya Saen Phu, the founder of Chiang Saen city and the grandson of Phaya Mengrai. The Buddha Image stands on a lotus flower, with both hands hanging gracefully on both sides of the body, forming the gesture of opening the world. This symbolic gesture represents the three worlds: the divine world, the celestial world, and the human world. It serves as a visual representation of Buddhist wisdom and awareness, suggesting the opening of the world in all three aspects. The term “The Open World” is considered quite literal, but it can also be interpreted metaphorically to convey the idea of opening up perceptions through art that connects reality in society and leads to questioning through contemporary art. It raises the question of whether, through contemporary art, we can imagine a better future. 

In addition, “The Open World” also signifies the importance of learning from the past, particularly in the intricate historical aspects of Chiang Rai which serves as the birthplace of traditions and cultural heritage in the Lanna region. This encompasses various aspects, including architecture, cultural practices, and diverse art forms, as well as a multitude of cultural beliefs and perspectives. This rich cultural tapestry extends to the present-day urban systems, notably within the artistic communities of Chiang Rai. The artistic community in Chiang Rai, with a solid foundational structure led by renowned artists such as Ajarn Thawan Duchanee and Ajarn Chalermchai Kositpipat, who are globally acclaimed national artists, serves as a crucial model and inspiration. They play a significant role in revitalizing their hometown, making it robust and ready to participate in the multifaceted dimensions of hosting the international contemporary art festival, Thailand Biennale, Chiang Rai 2023.

The pavilions, considered pivotal developments from the past two editions. This edition Thailand Biennale, Chiang Rai 2023  plays a crucial role in the upcoming event. There will be exhibitions from 13 pavilions, featuring diverse and influential artistic groups: 1. **Laos Artists Group** 2. **International Watercolor Artists Group (Art Bridge) ** 3. **Sala Mueang Phan Group** 4. **The Khon Phej Project** 5. **Production S.O.M.A.** 6. **New Energetic Contemporary Art Museum** 7. **New Walsh Gallery Contemporary Art Museum** 8. **Buddhist Arts, Mae Fah Luang University** 9. **Mae Ying Artist Collective** 10. **Rubana** 11. **Sala Salla Kin** 12. **Korean Pavilion** 13. **PLUVIOPHILE**. Each pavilion represents a unique perspective and artistic contribution, making Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 a diverse and enriching cultural experience.

For the final 20 artists in Thailand Biennale, Chiang Rai 2023, namely: 1. Almagul Menlibayeva (Almaty/Berlin) 2. Arin Rungjang (Bangkok) 3. Atta Kwami (Accra/ Loughborough) 4. Chakaia Booker (New York) 5. Cheng Xinhao (Kunming) 6. Korakrit Arunanondchai (Bangkok/ New York) 7. Vuth Lyno (Phnom Penh) 8. Maria Theresa Alves (Berlin/ Naples) 9. Pablo Bartholomew (New Delhi) 10. Pierre Huyghe (New York / San Diego) 11. Sarah Sze (New York) 12. Shimabuku (Naha) 13. Somluk Pantiboon (Chiang Rai) 14. Songdej Thipthong (Chiang Rai) 15. Tawatchai Puntusawasdi (Chiang Mai) 16. Tomás Saraceno (Berlin) 17. Tsherin Sherpa (California/Kathmandu) 18. Ubatsat (Chiang Mai) 19. Wang Wen-Chih (Chiayi) 20. Xin Liu (London)

For more additional details and information at www.thailandbiennale.org Facebook https://www.facebook.com/thailandbiennale/  and  M-Culture Hotline 1765

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News