Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

เชียงรายเชื่อม SME เหนือ สู่ตลาด รัฐ-เอกชน THAI SME-GP Road Show

 
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 67 ที่ห้องประชุม อาคารคชสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงาน THAI SME-GP Road Show จ.เชียงราย มุ่งขยายโอกาส SME พื้นที่ภาคเหนือตอนบนเข้าสู่ตลาดภาครัฐ โดยมี ดร.อภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว.) กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ SMEs เข้าร่วมงาน

 

นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวว่า จังหวัดเชียงรายรวมถึงกลุ่ม จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา และ แพร่ เป็นพื้นที่ที่มี SME เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยเพาะเชียงรายเป็นหนึ่งใน จังหวัดศูนย์กลางทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของภูมิภาค โดยมี SME จำนวน 65,128 กิจการ เกิดการ จ้างงาน 173,686 คน ที่สำคัญมีส่วนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในกิจการที่เป็นนิติบุคคล คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 59,941 ล้านบาท

 

ในส่วนของตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จังหวัดเชียงราย ยังเป็นศูนย์รวมของผู้ซื้อภาครัฐ ที่มีทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ฯลฯ จำนวน 1,062 หน่วย ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการรวมมูลค่าถึง 10,757 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 48.5 เป็นการจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP ของ สสว.

 

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ซื้อ ได้พบกับ SME ที่เป็นผู้ขายสินค้าและบริการ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้ SME สามารถขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่หน่วยงานได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ เพื่อช่วยให้การทำงานด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ถูกต้อง และเกิดประสิทธิภาพในการร่วมส่งเสริม สนับสนุน SME ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ต่อไป

 

ด้าน ดร.อภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่ สสว. ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ดำเนินมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับ ที่ 2) พ.ศ.2563 ซึ่งเริ่มดำเนินการนับตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อสร้างโอกาสให้ SME เข้าสู่ตลาดภาครัฐที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.2-1.5 ล้านล้านบาทต่อปี โดยมาตรการ THAI SME-GP เป็นการให้สิทธิประโยชน์กับ SME ในรูปแบบของแต้มต่อในการแข่งขัน ซึ่ง SME ที่ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP กับ สสว. โดยจะได้รับแต้มต่อไม่เกินร้อยละ 10 และหากผู้ประกอบการ THAI SME-GP ขายสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะได้รับแต้มต่อไม่เกินร้อยละ 15 นอกจากนี้การจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการ SME เป็นลำดับแรกก่อน

 

สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ตัวเลข ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 มี SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP จำนวน 2,997 ราย ในปี 2566 SME ที่ขึ้นทะเบียน ได้เป็นคู่ค้าภาครัฐจำนวน 1,548 ราย รวมมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้าง 7,453 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานของรัฐใน พื้นที่เชียงราย คิดเป็นร้อยละ 41.04 และจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 59.96

 

ดังนั้น เพื่อช่วยขยายโอกาส SME ให้เข้าสู่ตลาดภาครัฐเพิ่มขึ้น ในปี 2567 สสว. ดำเนินการเสริมสร้างความพร้อมให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในพื้นที่ทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ SME ด้วยการอบรมความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก และจัดงานส่งเสริม เชื่อมโยงตลาดภาครัฐ หรืองาน THAI SME-GP Roadshow เพื่อเปิดโอกาสให้ SME ซึ่งเป็นผู้ขาย ได้พบกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เป็นผู้ซื้อ ซึ่งภาคเหนือ กำหนดจัดงาน 2 ครั้ง จังหวัดเชียงรายเป็นครั้งแรก และจัดกิจกรรมครั้งที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ใน วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่จะถึงนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ SME ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพ มีโอกาสนำเสนอสินค้าและบริการให้หน่วยงานภาครัฐ- ภาคเอกชน สำหรับ SME ที่ร่วมออกบูธแสดงสินค้าในครั้งนี้มีจำนวนกว่า 30 กิจการ มีสินค้าและบริการ อาทิ ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เครื่องใช้อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องเขียน เฟอร์นิเจอร์ การบริการติดตั้งระบบไฟฟ้า เป็นต้น

 

ภายในงานยังมีกิจกรรมเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนกับสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคาร SME D Bank ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หน่วยงานพันธมิตร อาทิ สำนักงานพาณิชย์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการบรรยายพิเศษ และเสวนาให้ความรู้ด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยวิทยากรจากสำนักงานคลังจังหวัดเชียงราย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ภูมิภาคที่ 8 สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดเชียงราย และ สรรพากรพื้นที่ มาร่วมถ่ายทอดความรู้ เพื่อให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ประสบความสำเร็จในการขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจในระดับพื้นที่และระดับประเทศต่อไป

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

จ.เชียงราย จับมือ สปป.ลาวและเมียนมา แลกเปลี่ยนแนวคิดการค้าการลงทุน

 
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมเฮอริเทจ เชียงรายโฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดเชียงราย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ได้จัดงานประชุม/ สัมมนาร่วมภาครัฐและเอกชน ภาคเหนือของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว-เมียนมา) ตามโครงการ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือ Northern Border Economy Acceleration 2024” โดยมี นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์  นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด มีผู้เข้าประชุมสัมมนาจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด ทั้งภาครัฐและเอกชน จำวน 70 ราย หัวหน้าสำนักงานพาณิชย์และภาคเอกชน 6 แขวงภาคเหนือของสปป.ลาว 22 ท่านและนักธุรกิจเมียนมา 8 ท่าน

           นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าการประชุมสัมมนา ว่ารัฐบาลให้ความสําคัญ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนและสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในทุกภูมิภาค  กระทรวงพาณิชย์จึงได้กําหนดนโยบายในการพัฒนาการค้าชายแดนหลายประการอันจะได้ประโยชน์ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน (ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา)  โดยได้มีการกําหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้า การลงทุน การค้าชายแดนและผ่านแดน ปี 2567 – 2570 ประกอบด้วย

  1. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า
    2. ยกระดับศักยภาพและการอํานวยความสะดวกของด่านชายแดน
    3. ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ
    4. ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งการสัมมนาร่วมภาครัฐและเอกชนภาคเหนือของประเทศไทย กับประเทศเพื่อนบ้านในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การค้า และใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าในภูมิภาค ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและนักธุรกิจใช้โอกาสจากเขตเศรษฐกิจพิเศษและการเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาค GMS, BIMSTEC และ AEC ขยายฐานเศรษฐกิจของภาคเหนือ รวมถึงเป็นการขยายช่องทางและโอกาสทางการตลาดของสินค้าและบริการ มุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนของภาคเหนือ

 

ด้านนางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงรายละเอียของโครงการว่าได้จัดทำขึ้นทั้งหมด 5 โครงการดังนี้

  1. การอบรมสัมมนาผู้ประกอบการ Boost Up Trader to Overseas ซึ่งได้จัดไปเมื่อวันที่ 21-22 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์ จ.เชียงราย ผู้ประกอบการเข้าร่วม 84 ราย
  2. การศึกษาดูงานการค้าชายแดน สปป.ลาว (เส้นทางท่าลี่ จังหวัดเลย-จังหวัดหนองคาย) ระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน 2567 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมดูงาน 40 ราย
  3. การศึกษาดูงานการค้าชายแดน เมียนมา อ าเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 24-27 เมษายน 2567 ผู้ประกอบการดูงานจำนวน 40 ราย
  4. การประชุม/ สัมมนาร่วมภาครัฐ และเอกชนกลุ่มภาคเหนือของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะเฮอริเทจ แกรนด์คอนเวนชั่น เชียงราย
  5. กิจกรรมเสวนากลุ่มย่อย (Focus Group) ธุรกิจการค้า การบริการ การท่องเที่ยว และ โลจิสติกส์เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทย-เมียนมา-สปป.ลาว เพื่อสร้างมูลค่าทางการค้าในวันที่ 3พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะเฮอริเทจ แกรนด์คอนเวนชั่น

ทางด้านนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) ในปี พ.ศ. 2558 โดยมีพื้นที่เป้าหมาย
 3 อำเภอ ประกอบด้วย

(1) อำเภอแม่สาย : ศูนย์การค้าและการเงิน (Trading City)

(2) อำเภอเชียงแสน : ศูนย์ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและท่าเรือเทียบนานาชาติ (Port City)

และ (3) อำเภอเชียงของ : ศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชิงนิเวศและการแปรรูปสินค้าเกษตร (Logistic City) โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 แห่งมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประตูการค้าและศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อมโยง สู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดดเด่นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ประชาชน อยู่ดีมีสุข”

ปี 2566 จังหวัดเชียงรายมีมูลค่าการค้าชายแดนกับเมียนมา และสปป.ลาว และการค้าผ่านแดนไปจีน มีมูลค่าการค้ารวม 100,951.88 ล้านบาท เป็นการส่งออก 79,517.60 ล้านบาท และการนำเข้า 21,434.28 ล้านบาท มูลค่าการค้าสูงขึ้นจากปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 3.11  จากสถิติการค้าที่ผ่านมาพบว่ามูลค่าการค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการค้าผ่านแดนไปจีนมีมูลค่าสูงสุด

               ซึ่งทางนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวย้ำว่ายินดีที่ได้เห็นรูปแบบการเตรียมความพร้อมในการนำความรู้ทางวิชาการด้านการตลาด การค้าขายแดน มาผสานในการจัดงานที่หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการจัดทำFocus Group ที่ทุกท่านจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กันในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และ Wellness ซึ่งเป็นนโยบายท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย(นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์) ที่จะขับเคลื่อนเชียงราย เป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City)3 ด้าน คือ Wellness Food การพัฒนาสู่ เมืองแห่งอาหารสุขภาพ Wellness Health Careเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางกายภาพ เพื่อความเป็นเลิศในการบริการสุขภาพการพัฒนาบริการทางการแพทย์ และ Wellness Tourism ส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์

 

รัฐบาลให้ความสำคัญต่อ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ถือเป็นจังหวัดสำคัญในแผน ยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้านของรัฐบาล เนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสมในการเป็นจุดเชื่อมโยงการค้า ชายแดน มีข้อได้เปรียบจากศักยภาพต้านพื้นที่ เป็นประตูสู่การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ (Logistics) โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงการค้าชายแดนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว และสาธารณัฐประชาชนจีน (เส้นทาง R3A) และมีเส้นทางเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐ แห่งสหภาพเมียนมา (เส้นทาง R3B) ซึ่งเป็นช่องทางการค้าขายแดน การค้าผ่านแดนที่สำคัญ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

รองผู้ว่าฯ เชียงรายนำทีมตรวจ ปั๊มน้ำมันก่อนเทศกาลสงกรานต์

 

เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 67 นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยพาณิชย์จังหวัดเชียงราย พลังงานจังหวัดเชียงราย ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย และนายช่างตวงวัดกรมการค้าภายใน ลงพื้นที่สุ่มตรวจสถานีบริการน้ำมันในเขตอำเภอเมืองเชียงราย จำนวน 3 แห่ง โดยการตรวจวัดปริมาณน้ำมันด้วยอุปกรณ์เครื่องตวงวัด พบว่าทุกสถานี ได้ปริมาณอยู่ในเกณฑ์ทุกปั้ม เชื่อมั่นว่าผู้บริโภคได้น้ำมันครบตามจำนวนอย่างแน่นอน สร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวเชียงราย นักท่องเที่ยว และผู้ที่ใช้เส้นทางสัญจรผ่านไปมา โดยเฉพาะช่วงการเดินทางเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 นี้

 

นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน ช่างตวงวัดกรมการค้าภายใน และ อปท. ในพื้นที่ ทำการสุ่มตรวจสถานีบริการน้ำมันก่อนเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวเชียงราย นักท่องเที่ยว และผู้ที่ใช้เส้นทางสัญจรผ่านไปมา ได้มีความมั่นใจสถานีบริการน้ำมันในจังหวัดเชียงราย หลังสุ่มตรวจยังไม่พบปริมาณน้ำมันต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งทุกสถานีบริการน้ำมันจะต้องผ่านการตรวจและได้รับเครื่องหมายสติ๊กเกอร์สีน้ำเงินติดอยู่หัวจ่ายหรือตัวเครื่องอย่างชัดเจน
 
 
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงราย จะมีการตรวจสอบมาตรวัดน้ำมันอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องต่อไป โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันและผู้ค้าน้ำมันยี่ห้อต่าง ๆ เป็นอย่างดี ซึ่งจากการตรวจสอบมาตรวัดหัวจ่ายทั้ง 3 สถานีบริการน้ำมัน โดยการใช้ถังตวงขนาด 5 ลิตร แสดงค่าถูกต้องตามเกณฑ์ทุกเครื่อง หากกรณีที่มีค่าความคลาดเคลื่อนก็ต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด (น้ำมัน 5 ลิตร คลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 50 มล.) และยังพบว่า ทุกมาตรวัดหัวจ่ายที่สถานบริการทุกแห่งมีเครื่องหมายคำรับรองถูกต้อง
 
 
แนะนำประชาชนที่ไปใช้บริการสถานีบริการน้ำมันให้สังเกตมิเตอร์ที่ตู้เติมน้ำมัน ต้องเริ่มต้นที่เลขศูนย์ รวมทั้งสังเกตป้ายราคาน้ำมันที่หน้าปั๊ม และที่ตู้เติมน้ำมันต้องตรงกัน และเมื่อเติมเสร็จควรตรวจสอบยอดขายและปริมาณน้ำมันที่เติม หากสงสัยว่าได้น้ำมันไม่เต็มลิตร สามารถแจ้งสถานีบริการน้ำมันขอให้ตรวจสอบโดยใช้อุปกรณ์เครื่องตวงวัดมาตรฐานขนาด 5 ลิตร ซึ่งมีไว้ประจำทุกสถานีบริการ กรณีพบความผิดปกติหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเติมน้ำมัน หรือจากการใช้เครื่องชั่งตวงวัดใด ๆ ในการซื้อขายสินค้า สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

อุตสาหกรรมเชียงราย จัดใหญ่ ส่งสิ่งทอสู่ตลาดเชิงพาณิชย์

 
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏบัติการ เรื่อง “การส่งเสริมด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอตามแฟชั่นไลฟ์สไตล์สู่ตลาดเชิงพาณิชย์” ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถภาคอุสาหกรรมและการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 ที่บริเวณภายในโรงแรมลักษวรรณ รีสอร์ท อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรที่ผลิตผ้าทอและเครื่องแต่งกายจากเส้นใยธรรมชาติ จำนวนกว่า 50 ราย เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเป็นการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการจัดจำหน่ายและการตลาด โดยมีวิทยากรมาให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเทรนด์แฟชั่น การวิเคราะห์ตลาดและจัดทำกลยุทธ์การตลาดผลิตภัณฑ์สิ่งทอตามแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ สู่ตลาดเชิงพาณิชย์ การสร้างแบรนด์พัฒนาผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ตามแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อีกด้วย

 

 นางกฤษนันท์ ทะวิชัย อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรที่ผลิตผ้าทอและเครื่องแต่งกายจากเส้นใยธรรมชาติ มีการจำหน่ายสินค้าประจำพื้นถิ่นของดีของจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของตนเองให้มีความเข้มแข็ง นอกจากการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สิ่งทอในท้องถิ่นให้เพิ่มขึ้นแล้ว การเพิ่มศักยภาพด้านการตลาดในปัจจุบัน จังหวัดเชียงราย เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการที่ผลิตผ้าทอและเครื่องแต่งกายจากเส้นใยธรรมชาติ

 

จึงจัดสรรงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ โดยภายในงานยังได้จัดให้มีการแสดงสินค้า “๑ จังหวัด ๑ เส้นใย วิถีชาวเชียงราย” และงานแสดงสินค้า “Industrial Agriculture Fair” ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาตลาดเชิงสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม 2567 – 3 เมษายน 2567 ณ โรงแรมลักษวรรณ รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ที่ผลิตผ้าทอและเครื่องแต่งกายจากเส้นใยธรรมชาติจำนวนมาก และมีการจำหน่ายสินค้าประจำถิ่นของดีจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึง ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป

 

จึงเป็นโอกาสอันดีในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงรายให้มีความเข้มแข็ง ทั้งนี้ จังหวัดเชียงราย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการส่งเสริมการจัดจำหน่ายสินค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการที่ผลิต ผ้าทอและเครื่องแต่งกายจากเส้นใยธรรมชาติ และผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป เพื่อนำสินค้าของจังหวัดเชียงรายให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย จึงได้จัดงานแสดงสินค้า “๑ จังหวัด ๑ เส้นใย วิถีชาวเชียงราย”และ งานแสดงสินค้า “Industrial Agriculture Fair” กิจกรรมการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการจัดจำหน่ายและการตลาด ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาตลาดเชิงสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการจัดจำหน่ายและการตลาด

 

โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการเกษตร กลุ่มเกษตร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป และ กลุ่มเกษตรกรที่ผลิตผ้าทอและเครื่องแต่งกายจากเส้นใยธรรมชาติ จำนวน 60 ราย พร้อมกันนี้ยังมีผู้ประกอบการโรงงานเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าที่ได้รับมาตรฐาน จำนวน 6 ราย และมีหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน ได้แก่ ส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการจัดแสดงผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปด้วยนวัตกรรม และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จังหวัดเชียงราย นำสินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาจัดแสดงและจำหน่ายภายในงานอีกด้วย

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

จ.เชียงราย ร่วมมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. ส่งเสริมผู้ประกอบการเยาวชน

 

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่ศูนย์การเรียนรู้ ซี.ซี.เอฟ.เชียงราย ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย ดร.บรรจงเศก ทรัพย์โสภา ผู้อำนวยการมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนายไชยรัตน์ จินะราช รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ร่วมกันลงนาม MOU

ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการเยาวชนในจังหวัดเชียงราย (ทักษะอาชีพเด็กในโรงเรียน) ระหว่าง มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 เพื่อร่วมกันส่งเสริมรูปแบบการศึกษาด้านธุรกิจและชมรมทักษะอาชีพในโรงเรียน เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวและยั่งยืนสำหรับเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสที่แสวงหาทางเลือกอาชีพสำหรับอนาคต เพื่อให้นักเรียนมีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพทางเลือก รวมทั้งปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่ออาชีพที่มีคุณค่าให้กับนักเรียน ส่งเสริมให้ครูมีทักษะเป็นผู้ประกอบการในการขยายองค์ความรู้เพิ่มเติม สร้างรายได้เพิ่มและลดภาระค่าใช้จ่ายประจำวันของครอบครัว โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และจัดตั้งกลุ่มอาชีพชมรมอาชีพเพื่อการสำรวจและปฏิบัติของรุ่นน้องในอนาคต โดยมี ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะผู้บริหาร บุคคลากรครู และทางมูลนิธิฯ ร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย

ดร.บรรจงเศก ทรัพย์โสภา ผู้อำนวยการมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชนฯ กล่าวว่า มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการพัฒนาเด็ก ให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส จำนวน 34 จังหวัด 35 โครงการฯ มีเด็กในความดูแลของมูลนิธิฯ จำนวน 44,000 คนทั่วประเทศ ให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา ทุนการศึกษาประจำปี ด้านสุขภาพ ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพแก่เด็กและเยาวชน

โดยครั้งนี้ทางมูลนิธิฯ ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 จะดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการเยาวชนในจังหวัดเชียงราย (ทักษะอาชีพเด็กในโรงเรียน) จำนวน 10 โรงเรียนในสังกัดพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 745,600 บาท (เจ็ดแสนสี่หมื่นห้าพันหกร้อยบาทถ้วน) ซึ่งโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกสำหรับโครงการนี้ จำนวน 10 โรงเรียน โดยระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน ได้แก่ 1. กลุ่มไส้อั่วยูนนานท้องถิ่นของโรงเรียนบ้านแม่หม้อ 2. พวงกุญแจผ้าทอชาวเขา โรงเรียนบ้านห้วยผึ้ง 3. คุกกี้ดอกไม้/ผ้าพิมพ์ลายใบไม้ ชุมชนศึกษา โรงเรียนบ้านแม่สะแลป 4. คุกกี้ชาเขียว/งาขี้ม่อน โรงเรียนบ้านกลาง 5. ผลิตภัณฑ์แกะสลักเลซิ่ง โรงเรียนพญาไพรไตรมิตร 6. ผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาดินเผา โรงเรียนบ้านพญาไพร 7. คุ๊กกี้หว่านหอมแดง โรงเรียนบ้านจะตี 8. ของที่ระลึกจากเครื่อง CNC โรงเรียนดอยแสนใจ (ตชด.อนุสรณ์) 9. ของที่ระลึกจากเครื่องเลเซอร์ โรงเรียนบ้านปางมะหัน และ 10. หมอนรองคอ ผ้าปักชนเผ่า โรงเรียนบ้านมนตรีวิทยา

ดังนั้น มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.เพื่อเด็กและเยาวชน มุ่งเน้นในการพัฒนาส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด  อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จึงได้รับการคัดเลือกโดยพิจารณาจากความยากจน ความขาดแคลนในการดำรงชีวิต และความซับซ้อนทางสังคม โดยการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายในพื้นที่ให้บรรลุเป้าหมายต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ระดมผู้ประกอบการ 17 จังหวัดภาคเหนือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือ 2024

 

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 เวลา 14.00 น. ที่โรงแรมไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานแถลงข่าว โครงการ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือ 2024 NORTHERN BORDER ECONOMY ACCELERATION 2024 ภายใต้ โครงการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ด้วยเศรษฐกิจมูลค่าสูงภาคเหนือ ประจำปีงบประมาณ 2566 ไปพลางก่อน” โดยมี นางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย พร้อมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเชียงราย หอการค้าจังหวัดเชียงราย และผู้ประกอบการธุรกิจในภาคเหนือ 17 จังหวัดเข้าร่วม

 

นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่อยู่เหนือสุดของประเทศ เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มีนักท่องเที่ยวมาเยือนสูงถึง 5 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 34,400 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของภาคเหนือ ทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, และสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมจากเชียงรายสู่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ โดยมีด่านการค้าชายแดน 4 ด่าน ใน 3 อำเภอ ได้แก่ แม่สาย, เชียงของ, และเชียงแสน ซึ่งมีปริมาณการค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มียอดมูลค่าการส่งออกปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท รัฐบาลจึงกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ โดยจังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, และลำพูน ถูกกำหนดให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อโครงสร้างพื้นฐานพัฒนา การค้าเติบโตเศรษฐกิจก็จะดี คนต้องพัฒนาตาม

 

ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลักดังนี้

  1. การอบรมสัมมนาผู้ประกอบการ Boost Up Trader to Overseas วันที่ 21-22 มีนาคม 2567 ณ โรงแรม ไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์
  2. การศึกษาดูงานการค้าชายแดน ที่จังหวัดหนองคาย และ จังหวัดตากในเดือนเมษายน 2567
  3. การประชุม/ สัมมนาร่วมภาครัฐ และเอกชนกลุ่มภาคเหนือของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมเฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่นเชียงราย
  4. กิจกรรม Focus Group การอภิปรายหารือ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาทางการค้า ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมเฮอริเทจ แกรนด์คอนเวนชั่น เชียงราย

 

ทางด้านนางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายมีจุดผ่านแดนถาวร 6 จุด และจุดผ่อนปรนทางการค้าติดกับชายแดนเมียนมา 5 จุด ติดกับ สปป.ลาว อีก 5 จุดเป็นด่านการค้าที่เชื่อมกับเส้นทาง R3B และ R3A จุดหมายปลายทางของการส่งสินค้าจะส่งเข้าสู่ประเทศจีนทำให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ เป็นจุดเชื่อมโยงการค้าชายแดนที่สำคัญ เป็นประตูการค้าชายแดนโดยตรงกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และยังเป็นช่องทางการผ่านแดนที่สำคัญในการเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าชายแดน-ผ่านแดน จากการเปิดเสรีทางการค้า กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคต่าง ๆ ที่บรรลุข้อตกลงระหว่างกัน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ผู้ว่าฯเชียงราย สั่งคนเผชิญไฟป่า สุขภาพไม่พร้อมให้งดปฏิบัติหน้าที่ทันที

 
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 67 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่าและPM 2.5 จังหวัดเชียงราย ชั้น1 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุม โดยมีนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ และนายอำเภอ ผู้แทนนายอำเภอ จากทั้ง 18 อำเภอ ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอ conference
 
 
ในที่ประชุมฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้รับฟังการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกำชับและเตรียมพร้อมการยกระดับมาตรการ ถึงแม้จุดความร้อนจะน้อยก็ตาม เนื่องจากคุณภาพอากาศในห้วงนี้ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งจะมีการ Kick off ทั้ง 18 อำเภอในวันที่ 20 มีนาคมนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเน้นย้ำห้ามเผาแก่ประชาชน พร้อมทั้งสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ ที่เผชิญกับไฟป่า กำชับต้องมีการตรวจสุขภาพเจ้าหน้าที่ดับไฟทุกราย หากเกณฑ์สุขภาพไม่พร้อมที่จะสามารถปฏิบัติงานได้ ให้งดปฏิบัติหน้าที่ทันทีเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งการดูแลในเรื่องของสวัสดิการ และค่าตอบแทนหากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุอันใดจากการปฏิบัติงาน
 
.
ทั้งนี้จังหวัดเชียงรายได้สั่งการให้นายอำเภอ ยกระดับการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตามที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย (กอปภ.จ.ชร.) ได้มีประกาศฯลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เรื่อง ห้ามการเผาในที่โล่งทุกชนิดโดยเด็ดขาด “76วันปลอดการเผา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย” ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2567 ทั้งนี้สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบว่ายังมีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2567 เป็นต้นมา จึงให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอดำเนินการยกระดับปฏิบัติการเพื่อควบคุมการเผาในพื้นที่อย่างเข้มข้น จริงจัง บังคับใช้มาตรการทางกฎหมายห้ามเผาอย่างเด็ดขาด ประสานผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการหาตำแหน่ง และสาเหตุการเกิดจุดความร้อน (Hotspots ) ในพื้นที่ ทั้งนี้ หากพบจุดความร้อนให้เร่งเข้าปฏิบัติการดับไฟโดยทันที 
 
 
เพื่อไม่ให้เกิดการลุกลามและขยายวงกว้าง และเมื่อควบคุมสถานการณ์ได้แล้วให้จัดชุดเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ และในพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่ารุนแรง หรือเกิดไฟป่าซ้ำซาก ให้เพิ่มรอบการลาดตะเวน และจัดชุดเฝ้าระวังประจำจุดตรวจ จุดสกัด ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และหน่วยบริการสาธารณสุขอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ดำเนินการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือหน้ากากอนามัยชนิด N95 ให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง และจัดพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) หรือห้องปลอดฝุ่นไว้บริการประชาชน รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการให้คำแนะนำในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ และช่องทางการเข้ารับบริการห้องปลอดฝุ่น หรือคลินิกมลพิษ จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว “อสม. เคาะประตูบ้าน” เพิ่มรอบการตรวจเยี่ยม เพื่อยกระดับการแจ้งข่าวและสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งดูแลผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปรับรูปแบบการเรียนการสอน หรือปิดการเรียนการสอนในสถานศึกษา ให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์
 
 
.
อีกทั้งกำชับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ทั้งการเผาในที่โล่ง ภาคคมนาคมขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง และประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือประชาชน ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการสอดส่อง
ดูแลหมู่บ้าน ชุมชน โดยงดการเผาและงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ ให้ประชาชนทราบถึงมาตรการและผลการปฏิบัติของภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ตลอดจนช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย เพิ่มประสิทธิภาพการออมทุนลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

 

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ที่โรงแรมเชียงรายแกรนด์รูม ตำบลสันทราย อำเภอเมืองเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงานมหกรรมการออมทุนชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เนื่องในวันคล้ายวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อการผลิต ครบรอบ 50 ปี โดยมีนางอำไพ บัวระดก พัฒนาการจังหวัดเชียงราย นำหัวหน้าส่วนราชการ พัฒนาการอำเภอ นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด อำเภอ คณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตระดับอำเภอและสมาชิก กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต 18 อำเภอ กว่า 70 คน เข้าร่วม

 

 

นางอำไพ บัวระดก พัฒนาการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นองค์กรการเงินสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมให้ประชาชนมารวมตัวกันออมเงินตามศักยภาพของตนเอง ซึ่งเป็นการสร้างหลักประกัน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สมาชิกในครัวเรือน ช่วยเหลือคนในชุมชน โดยในปีนี้เป็นปีการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ครบรอบ 50 ปี กรมการพัฒนาชุมชน เป็นองค์กรที่เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชน และภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชน แก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน และกล่าวต่อไปว่าปัจจุบันจังหวัดเชียงราย มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ทั้งสิ้น 610 กลุ่ม สมาชิก 71,741 ราย เงินสัจจะสะสม 710,475,737 บาท (เจ็ดร้อยสิบล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นห้าพันห้าร้อยสามสิบเจ็ดบาทถ้วน)
 
 
นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นองค์กรการเงินที่สำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน ที่เป็นองค์กรส่งเสริมให้ประชาชนมารวมตัวกันออมเงิน ตามศักยภาพของตนเอง สร้างหลักประกัน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่สมาชิกในครัวเรือน รวมถึงช่วยเหลือคนในชุมชน สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกัน และการมีความรู้ควบคู่คุณธรรม โดยยึดหลักคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจ ความไว้วางใจกัน ตลอดจนวิถีการดำรงชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป
 
 
จากนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้มอบเกียรติบัตรให้แก่กลุ่มออมทรัพย์ เพื่อการผลิตดีเด่น และสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อการผลิตดีเด่น จำนวน 35 ราย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่สมาชิกออมทรัพย์ นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมรณรงค์ให้กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต รับสมัครสมาชิกเพิ่ม ประชาสัมพันธ์เพิ่มเงินสัจจะสะสม 50บาท หรือฝากเงินสัจจะสะสมพิเศษ จำนวน ๕o บาทขึ้นไป เวทีเสวนา ในหัวข้อ “ความสำเร็จของการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต” 
 
 
บูธนิทรรศการแสดงถึงความสำเร็จของการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต รวมถึงจัดคลินิกให้คำแนะนำเรื่องการจัดทำบัญชี การดำเนินกิจกรรมเครือข่ายฯ การวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการเงิน และบูธภาคีเครือข่ายจากสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย มูลนิธิไทยเครดิต ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และบริษัทไทยประกันชีวิต
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

งานวิ่งรูปแบบ ART NIGHT RUN BIENNALE CHIANGRAI 2023

 
เมื่อค่ำวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมงานวิ่ง “ART NIGHT RUN BIENNALE CHIANGRAI 2023” โดยมีอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ นายสุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นางชญาณ์นันท์ เชื้อศิริถาวร ผู้อํานวยการสํานักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และนักวิ่งกว่าพันคนเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก
 
 
การวิ่งในครั้งนี้สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงราย ร่วมกับสมาคมขัวศิลปะ จัดโครงการพัฒนาเมืองกีฬา ( Sports City ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งานวิ่ง “ Art Night Run Biennale Chiang Rai 2023 “ เพื่อสร้างภาพลักษณ์เมืองในรูปแบบ Sports Tourism ตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ได้ประกาศให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองกีฬา Chang Rai Sports City ร่วมส่งเสริมการประชาสัมพันธ์มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนรายได้ทั้งหมดจะมอบเป็นทุนให้กับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กองทุนสนับสนุนการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันจังหวัดเชียงราย และมูลนิธิเพื่อการพัฒนากีฬาจังหวัดเชียงราย
 
 
ภายในงานนักวิ่งทั้งหมดรวมตัวที่จุดปล่อยตัว ที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย โดยการวิ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะทางคือ ระยะทาง 3 กิโลเมตร ระยะทาง 6 กิโลเมตร และระยะทาง 12 กิโลเมตร ที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย โดยวิ่งไปตามเส้นทาง และทำกิจกรรมร่วมกันจุดที่ 1 บริเวณขัวศิลปะ (บ้านขัวแคร่) และวิ่งต่อไปตามเส้นทางร่วมทำกิจกรรมจุดที่ 2 บริเวณสวนสาธารณะริมน้ำกก จากนั้นวิ่งตามเส้นทางเข้าสู่เส้นชัย ณ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย ซึ่งนักวิ่งจะได้สัมผัสบรรยากาศที่เย็นสบาย พร้อมได้บันทึกภาพไฟที่สวยงามตลอดเส้นทางการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีโซนกิจกรรมศิลปะ Body paint ถนนศิลปะร้านค้าศิลปะ DIY ร้านอาหารดังในเชียงรายกว่า 40 ร้าน, ลานอาหารเครื่องดื่ม และชมฟรีคอนเสิร์ตอีกด้วย
 
 
ส่วนด้านการแข่งขันประเภทระยะทาง 3,6 และประเภทระยะทาง 12 กิโลเมตร จะเป็นการแข่งขันแบบสนุกสนาน วิ่งไป ชมงานศิลป์ไป ไม่มีการชิงรางวัล ส่วนด้านประเภทการวิ่งระยะทาง 12 กิโลเมตร Overall เป็นการชิงถ้วยรางวัลสุดพิเศษที่ออกแบบโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ และอาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย ซึ่งมีทั้งหมด 6 รางวัล ประเภท 12 กิโลเมตร Overall มอบให้ชาย – หญิง 3 อันดับแรก ที่วิ่งเข้าเส้นชัย สำหรับเหรียญรางวัลที่สามารถหมุนได้ โดยสีดำเป็นตัวแทนอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ และสีขาวเป็นตัวแทนอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ 
 
 
ซึ่งนักวิ่งทุกคนจะได้รับหลังจากเสร็จสิ้นงานผ่านทางไปรษณีย์ หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/ArtNightRunChiangraiBiennale
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

ถ้วยรางวัลออกแบบอาจารย์เฉลิมชัย “ART NIGHT RUN BIENNALE CHIANGRAI 2023”

 

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายสุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย นางชญาณ์นันท์ เชื้อศิริถาวร ผู้อํานวยการสํานักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย ร่วมกันแถลงข่าวงานโครงการพัฒนาเมืองกีฬา (Sports City) ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2567 กิจกรรมวิ่ง “ART NIGHT RUN BIENNALE CHIANGRAI 2023” โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนเข้าร่วม

นางชญาณ์นันท์ เชื้อศิริถาวร ผู้อํานวยการสํานักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงราย กล่าวถึง งานวิ่ง ART NIGHT RUN BIENNALE CHANGRAI 2023 ว่า การแบ่งประเภทการวิ่ง แบ่งเป็น 3 ระยะทาง ได้แก่ ระยะทาง 3 กิโลเมตร ระยะทาง 6 กิโลเมตร และระยะทาง 12 กิโลเมตร สำหรับรูปแบบการวิ่งจะวิ่งจากจุดปล่อยตัว ณ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย ไปตามเส้นทางและทำกิจกรรมร่วมกันจุดที่ 1 บริเวณขัวศิลปะ (บ้านขัวแคร่) และวิ่งต่อไปตามเส้นทางร่วมทำกิจกรรมจุดที่ 2 บริเวณสวนสาธารณะริมน้ำกก จากนั้นวิ่งตามเส้นทางเข้าสู่เส้นชัย ณ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย
 
 
ซึ่งในการแต่ละเส้นทางจะมีจุดไฮไลต์ที่น่าสนใจหลายจุด รวมถึงมีจุดแสดงไฟที่สวยงามตลอดเส้นทางการแข่งขัน และกล่าวต่อไปว่ารายได้ทั้งหมดจะมอบเป็นทุนให้กับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กองทุนสนับสนุนการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันจังหวัดเชียงราย และมูลนิธิเพื่อการพัฒนากีฬาจังหวัดเชียงรายต่อไป
 
 
ด้านนายสุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย กล่าวว่าเสื้อที่ใช้วิ่งในงานมีทั้งหมด 4 สี คือ ขาว แสด ชมพู และเขียว ซึ่งออกแบบโดยศิลปินชาวเชียงราย ที่ตั้งใจร่วมระดมความคิดออกแบบเสื้อ เป็นลวดลายของชนเผ่าในจังหวัดเชียงราย ส่วนถ้วยรางวัล และเหรียญรางวัลได้รับการออกแบบโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สำหรับเหรียญรางวัลนั้น แรงบันดาลใจในการออกแบบเหรียญ มาจากตัวอาคารหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย ที่ต้องการให้เกิดความแตกต่างจากการออกแบบเหรียญทั่วๆ มีความพิเศษคือ ด้านล่างเหรียญสามารถหมุนและปรับได้ มีสองสี สองด้านคือ สีดำเป็นตัวแทนอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ และสีขาวเป็นตัวแทนอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ
 
 
สำหรับถ้วยรางวัล มีทั้งหมด 6 รางวัลเท่านั้น โดยมอบให้กับนักวิ่งประเภท Overall (12 กิโลเมตร) ชาย – หญิง 3 อันดับแรก ที่วิ่งเข้าเส้นชัย และที่พิเศษสุดๆ คือ มอบพร้อมลายเซ็นของอาจารย์เฉลิมชัย และกล่าวต่อไปว่านอกจากนี้ยังพบกับบรรยากาศสุดอาร์ตชมงานศิลปะระดับโลกในช่วงกลางคืน แสง สี ตระการตา โซนกิจกรรมศิลปะ Body paint ร่วมสร้างงานประติมากรรม เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมกันระหว่างศิลปิน/นักวิ่ง/นักท่องเที่ยว หนึ่งเดียวในประเทศไทย มีถนนศิลปะร้านค้าศิลปะ DIY ร้านอาหานดังในเชียงรายกว่า 40 ร้าน, ลานอาหารเครื่องดื่ม และชมฟรีคอนเสิร์ต ตลอดเวลา 3 วัน 3 คืน เริ่มคืนวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ ถึง คืนวันอาทิตย์ที่ 11 กุภาพันธ์ 2567 อีกด้วย
 
 
และนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายยินดีสนับสนุนให้กับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งจังหวัดเชียงราย ร่วมกับสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย และสมาคมขัวศิลปะ จะจัดกิจกรรมวิ่ง “ART NIGHT RUN BIENNALE CHIANGRAI 2023” ขึ้น ในวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อสร้างภาพลักษณ์เมืองกีฬาในรูปแบบ Sports Tourism ตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้ประกาศให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองกีฬา Sports City รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiangrai 2023 และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองจากการใช้ยุทธศาสตร์กีฬามวลชน ที่เป็นเครื่องมือในการดึงดูดนักวิ่งทั่วประเทศเข้าร่วม และการจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งแรกซึ่งผสานงานวิ่งในรูปแบบ Night Run กับมหกรรมศิลปะระดับโลก Thailand Biennale, Chiang Rai เข้าด้วยกันอย่างลงตัว และเหล่านักวิ่งทุกคนจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนแน่นอน
 
 
 
สำหรับกิจกรรมงานวิ่ง ART NIGHT RUN BIENNALE CHIANGRAI 2023 จัดขึ้นทั้งหมด 3 วัน เริ่มจัดกิจกรรมวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น. รับหมายเลขวิ่งและเสื้อที่ระลึก ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ส่วนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นวันแข่งวิ่ง โดยเริ่มปล่อยตัวนักกีฬาตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 เฉพาะงานคอนเสิร์ต เริ่มเวลา 19.00 น. ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมงาน รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถชมคอนเสิร์ตจากศิลปินตลอดทั้ง 3 วัน ฟรีณ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย
 
 
ส่วนท่านใดสนใจสมัครงานวิ่ง สามารถสมัครได้ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ที่เว็บไซต์ : https://www.runlah.com/events/anrcb2024 หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/ArtNightRunChiangraiBiennale
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News