Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

หนาวนี้เที่ยวอุทยานแห่งชาติ “มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และ adventure”

 

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 66 ที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน “หนาวนี้เที่ยวอุทยานแห่งชาติ Nation Parks to Remember Winter Festival ” โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผู้บริหารกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน ประชาชน นักท่องเที่ยวและสื่อมวลชน เข้าร่วมงานร่วมงาน

 

พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ภาคเหนือของประเทศไทยถือเป็นพิกัดท่องเที่ยวยอดนิยมโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวซึ่งมีอากาศหนาวเย็น สถานที่ท่องเที่ยวที่มีทั้งดอกไม้เมืองหนาว น้ำตก และปรากฏการณ์เหมยขาบ นักท่องเที่ยวจึงนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากในช่วงปลายปีซึ่งเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองของคนทั่วโลก 
 
 
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานหลักของประเทศไทยที่บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำกับดูแลแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติโดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมากถึง 156 แห่ง และเป็นอุทยานแห่งชาติที่ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว 133 แห่ง กระทรวงได้เตรียมการรองรับนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผลักดันและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในระยะ Quick Win ซึ่งมีเป้าหมายผลักดันยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ให้ได้ 28 ล้านคน กรมอุทยานแห่งชาติ ไ
 
 
ด้จัดเตรียมความพร้อมในเรื่องของความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามแนววิถีใหม่ ภายใต้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” การทำงานคงจะสำเร็จลุล่วงไม่ได้หากขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและผู้ประกอบการ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือเป็นปฏิบัติตามระเบียบและดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ทางกระทรวง
 
 
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกคนจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพื่อพิทักษ์รักษาทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงาม มีคุณค่าเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลานของพวกเราในอนาคตให้ได้ชื่นชมความงามเช่นนี้ตลอดไป สำหรับอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในช่วงงาน “หนาวนี้เที่ยวอุทยานแห่งชาติ Nation Parks to Remember Winter Festival ” จะเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมภายในถ้ำได้ถึงโถงที่ 3 โดยคำนึงถึงปลอดภัยเป็นหลัก
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
LIFESTYLE

#ฅนเจียงฮาย พ่อค้าสถานีปิ้งเตาถ่าน

 
 
คอลัมน์ #ฅนเจียงฮาย EP.01
.
ฅนเจียงฮาย : Wittawat Wimolkawsir
.
เป็นใครมาจากไหน เล่าให้ฟังหน่อย? : “ผมเป็นชาติพันธุ์ครับ” ผมเป็นอาข่า อยู่ที่นี่เลยครับ พ่อกับแม่ก็เป็นคนที่นี่ ท่านเจอกันที่นี่ แต่งงานกันที่นี่ แล้วมีผมที่นี่ ครอบครัวผมตอนนี้มีอยู่ 4 คนครับ คือผมเป็นลูกชายคนแรกแล้วก็มีน้องชาย ปกติผมเป็นคนชอบหาอะไรทําอยู่แล้วเวลาว่าง ๆ ไม่ชอบอยู่เฉย ๆ ครับ พอช่วงปิดเทอมหรือสงกรานต์ผมก็จะไปขายพวกส้มตําไก่ย่างตามริมน้ำในจังหวัดเชียงราย ที่มันจะมีล่องแพครับ
.
ชีวิตครอบครัวเป็นยังไง? : พ่อผมมีงานประจําอยู่ครับ รับจ้างทั่วไปแผนกการเกษตรที่ อบต.แม่ฟ้าหลวงครับ เงินเดือนก็ตามทั่วไป ที่ผ่านมาก็หนักอยู่ แต่ตั้งแต่ผมมาช่วยขายของ ช่วยแม่งานลอยกระทง พาแม่ออกอีเว้นท์พอมีเงินมาก็เก็บ ๆ ไว้บ้าง ตอนนี้ก็เลยรู้สึกว่าดีขึ้นครับ ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะมาก
.
ถ้าจะให้เล่าถึงเรื่องการศึกษา? : คือต้องเข้าใจว่าด้วยพ่อแม่ผมไม่มีการศึกษาเพราะเขาไม่ได้รับการศึกษาเหมือนกับเรา ด้วยความที่เขาเป็นคนที่อยู่บนดอยคือต้องทํางาน ต้องหาเงินครับ ผมเข้าใจดีก็บอกแม่ว่าโอเคแม่ ไม่เป็นไรผมเรียนแทนแล้วเรียบร้อย ผมมองว่าผมอยู่อย่างนี้ไม่ได้ หยุดแค่นี้ไม่ได้ ต้องทำอะไรให้มันดีขึ้นเพื่อตัวเอง แล้วก็เพื่อพ่อแม่ ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้น้อยใจในเรื่องโชคชะตาเลย ว่าเฮ้ย! นี่เป็นเด็กชนเผ่ารึเปล่า ใช่เราเป็น แต่เราภูมิใจ ทําไมต้องน้อยใจ คือมันเป็นแรงผลักดันของเราด้วยซ้ำที่จะทําให้เราวิ่งต่อไป
.
อาชีพที่ใฝ่ฝัน อยากทำที่สุด? : ส่วนตัวผมอยากติดปีกคือผมอยากเป็นสจ๊วต ในใจผมผมอยากเป็นสจ๊วตสายการบินชื่อดังเจ้าหนึ่ง แต่ด้วยหลาย ๆ อย่างด้วยสถานการณ์ตอนนี้ ใจนึงผมก็ชอบทําอาหารชอบขายของ เลยทําให้ผมมองว่าชอบกับใช่ มันอาจจะมีอะไรที่ต้องเลือก ผมก็ยังไม่ค่อยชัดเจนกับตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ แต่ว่าโดยส่วนตัวของผมชอบภาษา ชอบคุย ชอบพบเจอผู้คนครับ
.
ถ้าถามถึงสิ่งที่อยากเปลี่ยนมากที่สุด? : สิ่งที่อยากเปลี่ยนมากที่สุดคือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา การเอาใจใครคนใดคนนึงมาใส่ใจเรา มันจะทําให้อะไรหลายอย่างมันดีขึ้นมาก ๆ สมมุติเหตุการณ์ถ้าเกิดขึ้นในตลาด หรือกาดชนเผ่าแห่งนี้ แบบถ้าเรากินอะไรเสร็จ หรือซื้ออะไรสักอย่างแล้วทิ้ง รู้สึกว่าจะทิ้งที่ไหนก็ได้ เราเข้าใจคนทิ้ง แน่นอนว่ามันสบายจะทิ้งตรงไหนก็ได้ แต่พนักงานที่อยู่ที่นี่ เขาดูแลที่นี่มาเป็น 10 ปี เขาก็ต้องมาคอยตามเก็บให้ นี่คือสิ่งที่ผมอยากเปลี่ยน เรื่องของการเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากขึ้น ลดเรื่องของตัวเอง ลดความเห็นแก่ตัว ให้เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ อยากให้ทุกคนคิดเยอะ ๆ เพื่อเพื่อนร่วมโลกมากขึ้น
.
ต้นเรื่องโดย : วิท วิทวัฒน์ วิมลแก้วศรี อายุ 18 ปี – พ่อค้าสถานีปิ้งเตาถ่าน ในงานเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10
 
 

ผมมองว่าผมอยู่อย่างนี้ไม่ได้ เราเป็นแบบนี้ไม่ได้ เราต้องอะไรก็ได้ให้มันดีกว่าอะไรก็ได้ให้มันมากกว่ามากขึ้น เพื่อตัวเองด้วยแล้วก็เพื่อพ่อแม่ ผมรู้สึกผมไม่ได้น้อยใจในเรื่องโชคชะตาเลย ว่าเฮ้ย! นี่เป็นเด็กชนเผ่ารึเปล่า ใช่เราเป็น แต่เราภูมิใจ ทําไมต้องน้อยใจ คือมันเป็นแรงผลักดันของเราด้วยซ้ำที่จะทําให้เราวิ่งต่อไปนะ คือเราต้องไปเวลาพ่อแม่มองเราเนี่ยคือเราต้องไปสูงกว่าดีกว่า

ส่วนตัวผมอยากติดปีกคือผมอยากเป็นสจ๊วต ในใจผมผมอยากเป็นสจ๊วตแอร์เอเชียแอร์ แต่ด้วยหลายๆ อย่างด้วยสถานการณ์ตอนนี้ใจผมชอบทําอาหารชอบขายของ เลยทําให้ผมแบบชอบกับใช่ เออมันอาจจะมีอะไรแบบที่ต้องเลือกอะไรแบบนี้ครับ ผมก็ยังแบบยังไม่ค่อยชัดเจนกับตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ แต่ว่ามีในใจว่าอยากทําอะไรครับแต่ ว่าโดยส่วนตัวของผมชอบภาษา ชอบคุย ชอบเจอ

 

 

สิ่งที่อยากเปลี่ยนมากที่สุดคือการเอาใจเค้ามาใส่ใจเรา การเอาใจใครคนใดคนนึงมาใส่ใจเรา มันจะทําให้อะไรหลายอย่างมันดีขึ้นมากๆ สมมุติถ้าเราซื้ออะไรสักอย่างแล้วทิ้ง รู้สึกว่าจะทิ้งที่ไหนก็ได้เราเข้าใจคนทิ้งสบายอย่างนี้ แต่พนักงานที่อยู่ที่นี่ เขาดูแลที่นี่มาเป็น 10 ปีเขาก็ต้องมาแบบคอยตามเก็บอะไรอีก คือเนี่ยมันผมสิ่งที่ผมอยากเปลี่ยน เรื่องของการเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น ลดเรื่องของตัวเอง คือเห็นแก่เพื่อนมนุษย์ คือคิดเยอะๆ เพื่อเพื่อนร่วมโลกมากขึ้น

ตนเรื่องโดย : วิท วิทวัฒน์ วิมลแก้วศรี อายุ 18 ปี – พ่อค้าสถานีปิ้งเตาถ่าน ในงานเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า ถูกรังสรรค์โดยศิลปิน ‘ไมเคิล ลิน’

 
ผลงานชิ้นนี้ถูกรังสรรค์โดยศิลปิน ‘ไมเคิล ลิน’ ผู้ที่เปลี่ยนพื้นที่สร้างสรรค์งานจิตรกรรมจากผืนผ้าใบไปสู่อาคารโบราณที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองต่าง ๆ มาแล้วทั่วโลก ศิลปะกลางแจ้งของไมเคิลได้แรงบันดาลใจจาก ‘ลายผ้า’ ที่เป็นความทรงจำร่วมทางสังคมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น
 
 
สําหรับเชียงราย ไมเคิลได้ทำงานชิ้นใหม่ตรงหน้าอาคารศาลากลางเก่า ซึ่งเป็นตัวแทนของความเป็นสมัยใหม่ ใช้ชื่อว่า Weekend เขาผสมลวดลายและสีสันของผ้าจากชาวเขาในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ โดยผืนผ้า เปรียบเสมือนงานฝีมือที่รำลึกถึงสหภาพแรงงานและชุมชน มันคือการผสมผสานเสียงที่หลากหลาย รวมพลังที่ขัดแย้งระหว่าวผู้ปกครองจากส่วนกลาง และฝ่ายที่ถูกปกครองจากชายขอบ ผลงานชิ้นนี้แสดงถึงการเจรจา ต่อรอง และตั้งคําถามต่อบทบาทของศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่มีความหลากหลายและสลับซับซ้อนของภูมิภาคนี้
 
 
ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 และเปิดดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2443 เพื่อเป็นที่ทำงานของหน่วยงานรัฐบาลและข้าหลวงเมืองเชียงราย ตามนโยบายการปฏิรูปการปกครองเข้าสู่ศูนย์กลางของรัฐบาลสยาม เป็นศาลากลางที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่ยังคงเหลืออยู่ ออกแบบโดยนายแพทย์วิลเลี่ยม เอ. บริกส์ มิชชันนารีชาวแคนาดา ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในจังหวัดเชียงราย ในนามคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนแห่งกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
 
 
อาคารศาลากลางหลังแรกจังหวัดเชียงราย เป็นสถาปัตยกรรมที่มีโครงสร้างก่ออิฐถือปูน เป็นอาคาร 3 ชั้น ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 37 เมตร การก่อสร้างเป็นรูปแบบศิลปะแบบโคโลเนียล หลังคาทรงปั้นหยา ประดับด้วยมุขหน้าต่างหลังคา ด้านหน้าอาคารก่ออิฐเป็นรูปโค้ง (Arch) ช่องเปิดที่ระเบียงอาคารด้านล่างทำเป็นโครงสร้างคานโค้งครึ่งวงกลม 3 ชุดโค้งต่อเนื่อง และมีโถงทางเดินที่เชื่อมถึงกันโดยตลอด ประตูทำจากไม้สักแบบบานเปิดคู่ ทุกห้องมีช่องแสงเหนือประตู
อาคารศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่าได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2520 และได้ยุติบทบาทในการเป็นอาคารศูนย์กลางการปกครองหัวเมืองเชียงรายมานานกว่าหนึ่งศตวรรษ ปัจจุบันไม่ได้เปิดทำการเนื่องจากกำลังปรับปรุง โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
 
 
งานศิลปะที่เห็นในภาพ ไม่ได้เพ้นท์ลงบนตัวตึกแต่เป็นโครงสร้างประกอบภาพวาด เป็นโครงสร้างเหล็กไม่ได้ยึดตรงกับตัวตัวตึกแต่อย่างใด มีแผ่นเพลทโลหะ รับน้ำหนักที่พื้น และโครงสร้างที่ติดกับตัวอาคารใช้โครงไม้ประกบรองอีกหนึ่งชั้น
ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งจุดในการแสดงงานมหกรรมศิลปะนานาชาติระดับโลก ครั้งที่ 3 งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ภายใต้แนวคิด The Open World “เปิดโลก” การรับรู้ทางศิลปะ ผ่านผลงานของศิลปินจากทั่วโลก ที่จะมาร่วมเปิดมิติทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อยกระดับเชียงรายสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับโลก ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 ณ จังหวัดเชียงราย
Collateral Event : เทศกาลดนตรีชาติพันธุ์ “กวาคีลา : เป่า ร้อง กลอง รำ เปิดโลกวิถีวัฒนธรรมดนตรีชาติพันธุ์เมืองเชียงราย”
 
 
ศิลปิน : Michae Lin (ไมเคิล ลิน)
เปิดวันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 09.00 – 17.30 น.
สถานที่ : ศาลากลางจังหวัดเชียงราย (หลังเก่า) ถนนสิงหไคล 
ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : https://www.thailandbiennale.org/venues/the-old-chiang-rai-city-hall/

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL VIDEO

แอ่วล้ำแอ่วเหลือ ‘สีสันแห่งดอยตุง’ ครั้งที่ 10

 

กลับมาเป็นครั้งที่ 10 แล้ว สำหรับงานเทศกาล “สีสันแห่งดอยตุง” ที่ปีนี้มาในธีม “ดอกไม้ระบายดอย” ที่จัดเต็มดอกไม้สีสันสดใสต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน พร้อมตื่นตาตื่นใจไปกับสีสันของดอกไม้เมืองหนาวหลากหลายสายพันธุ์กว่า 100,000 ต้นภายในสวนแม่ฟ้าหลวงโฉมใหม่

 

 

และหลังจากที่ไปชมความสวยงามของดอกไม้แล้ว ก็ต้องไปหาของอร่อยใส่ท้องกันต่อ กับโซน “กาดชนเผ่า” ที่รวบรวมอาหารชนเผ่า ขนมพื้นบ้าน และเครื่องดื่มสุดพิเศษจากร้านในชุมชน ที่มีให้ลิ้มลองมากกว่า 40 เมนูด้วยกัน และเมนูที่ห้ามพลาดเลยก็คือเมนูหมูย่างอาข่า หอม ๆ ที่เสิร์ฟมาพร้อมกับน้ำพริกมะเขือเทศรสกลมกล่อม ยำผักพื้นบ้านรสเลิศ หมูผัดรากชู และข้าวเหนียวดอยเคี้ยวหนึบ

สำหรับใครที่อยากหากิจกรรมทำ ที่นี่ก็มีกิจกรรม workshop ให้เลือกทำมากมาย อย่างเช่นการเพ้นท์ถ้วยจานชามเซรามิค เพ้นท์กระเป๋าผ้า ทำป็อปอัพการ์ด DIY โปสการ์ด พวงกุญแจเม็ดบีท ระบายสีดอกไม้สัตว์ป่า ฉลุลายดอกไม้และสัตว์ป่า และทำพรมยิง

 

และนอกจากนี้ ยังมีร้านขายของที่ระลึกให้เราเลือกช้อปทั้งร้านของของที่ระลึกจากดอยตุง และร้านสินค้าหัตถกรรมชนเผ่า ที่ผ่านการสร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น มีให้เลือกทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ และของที่ระลึกต่างๆ ด้วยสีสรรที่สดใสแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่านั้นๆได้อย่างดีเยี่ยม

และสำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะมาเที่ยวชม ชิม ช้อปที่งานเทศกาล “สีสันแห่งดอยตุง” สามารถมากันได้ที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย โดยงานนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ไปจนถึงวันที่ 28 มกราคม 2567 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00 – 18.00 น.

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

“สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10” โฉมใหม่! เนรมิตดอกไม้แสนต้น กับแนวคิด “ดอกไม้ระบายดอย”

 

วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2566 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จัดพิธีเปิดงาน “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10” อย่างเป็นทางการแล้ว ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติมาร่วมงานมากมาย อาทิ พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย วิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเชียงราย ปวิณ ชำนิประศาสน์ และ ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ ศุภาดา ชัยวงษ์ ผู้แทนการตลาด สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคเหนือ 

 

ซึ่งบรรยากาศลมหนาวปลายปีกลับมาอีกครั้ง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชวนสัมผัสความสุขกับธรรมชาติบริสุทธิ์บนดอยตุงกับงาน “สีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10” เทศกาลแห่งความสุขที่สูงที่สุดในประเทศไทย ปีนี้มาพร้อมกับสวนแม่ฟ้าหลวงโฉมใหม่ ตื่นตาตื่นใจกว่าทุกปีภายใต้แนวคิด “ดอกไม้ระบายดอย” เนรมิตดอกไม้ที่ชาวดอยตุงปลูกเองกว่า 100,000 ต้น ผสานภูมิทัศน์รูปแบบใหม่ โดยภูมิสถาปนิกชื่อดังระดับประเทศ พร้อมกาดชุมชนบนถนนคนเดินกว่า 80 ร้านมาให้ช็อปท้าลมหนาว ในระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2567 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย 

 

โดยนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กระผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นทุกฝ่ายร่วมกันจัดงานสีสันแห่งดอยตุงขึ้นในครั้งนี้  ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย อีกทั้งยังเป็นการสืบสานวิถีวัฒนธรรมที่หลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนไปสู่นักออกแบบรุ่นใหม่ อันจะเป็นการสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ต่อไป

 

ในส่วนนายประเสริฐ ตรงเจริญเกียรติ ประธานสายปฏิบัติการธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ 
กล่าวถึงความพิเศษของการจัดงานในปีนี้ว่า งานสีสันแห่งดอยตุงจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 แล้ว เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ไฮไลต์ของปีนี้ คือ การปรับภูมิทัศน์ของสวนแม่ฟ้าหลวงโฉมใหม่ ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เชิญ ธัชพล สุนทราจารย์ ภูมิสถาปนิกชื่อดังระดับประเทศ มาออกแบบใหม่ เป็นทุ่งดอกไม้ไล่สีพาสเทล โดยใช้ดอกไม้เมืองหนาวกว่า 100,000 ต้นจากดอกไม้ 10 สายพันธุ์ อาทิ ดอกบลูซัลเวีย ดอกแวววิเชียร ดอกดาวกระจายโซนาต้า ดอกรองเท้านารี และดอกกล้วยไม้พันธุ์ฟาแลนนอปซิส เป็นต้น กลายเป็นอีกจุดถ่ายรูปเช็คอินแห่งใหม่ท่ามกลางขุนเขาที่โอบล้อม และเบื้องหลังดอกไม้อันสวยงาม คือ การจ้างงานเกษตรกรบนดอยตุงนับร้อยชีวิตที่ปลูก ฟูมฟัก และรังสรรค์สวนใหม่นี้ขึ้นมาเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคน

 

นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนผ่านงานหัตถกรรม อาหารพื้นถิ่น ไม้ดอกไม้ประดับ และการแสดงของเด็กรอบโครงการพัฒนาดอยตุงฯ แล้ว ยังมีกิจกรรมที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวทุกคนในครอบครัวมากมาย อาทิ 

 

สายคาเฟ่ ห้ามพลาดมุมระเบียงดอย และ Slow Bar กลางสวนดอกไม้สำหรับดื่มด่ำกาแฟดริปสุดพิเศษเฉพาะงานสีสันแห่งดอยตุงครั้งนี้ พร้อมฟินกับไอศกรีมดอยตุง 3 ลายออกใหม่ ไอศกรีมดอกไม้ระบายดอย รสอัญชันน้ำผึ้งมะนาว ไอศกรีมน้องหมี่ก่า รสนมชมพู และไอศกรีมน้องโต รสชาไทย อร่อยท้าลมหนาว แถมนำไปถ่ายรูปกับสวนสวยได้อีก และฟินสุดกับของที่ระลึกงานสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่ 10 ของที่ระลึกโปรเจกต์พิเศษระหว่าง DoiTung x WHITE HAT. ออกแบบโดย ชะเอม-ปัณรสี ศะศินิล นักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่ที่ถ่ายทอดดอกไม้ 7 สายพันธุ์ในสวนแม่ฟ้าหลวงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ เสื้อยืด กระเป๋าผ้า สมุดกระดาษสา แก้วเซรามิก และกระเป๋าใส่เหรียญ 

 

ส่วนสายชิม เชิญอิ่มอร่อยกับอาหารเหนือและอาหารชนเผ่าสุดลำ ขนมพื้นบ้าน และเครื่องดื่มสูตรพิเศษ จากร้านค้าชุมชนกว่า 80 ร้าน อาทิ พิซซ่าหน้าหมูดำบาร์บีคิวเข้ากันดีกับซอสบาร์บีคิวเข้มข้น ซูชิดอย หมูย่างอาข่า และข้าวปุ๊กปิ้ง ขนมมงคลของชาวไทยใหญ่ ยำหัวบุกเส้นรสเจ็บ แซ่บสะเด็ดไปทั้งดอย แยมคราฟต์ช็อกโกแลต ชาดาวอินคา ชาอินทรีย์อู่หลง สูตรบำรุงหัวใจจากสวนชาออร์แกนิกดอยตุง และแฟนๆ อาหารครัวตำหนักไม่ควรพลาด ข้าวเหลืองดอกปุดอุ๊บเนื้อไก่ เมนูใหม่! ประยุกต์จากอาหารชาวไทใหญ่ จับคู่ข้าวสีเหลืองจากดอกปุด กินกับ อุ๊บไก่ หรือ ไก่อบกับพริกแกงสูตรเฉพาะของครัวตำหนัก เฟตตูชินีแกงฮังเลหมู ดอกไม้ มูสดอกอัญชัน และครัมเบิลแมคคาเดเมีย เสิร์ฟพร้อมตะลิงปลิง เป็นต้น 

 

สายช็อปพบกับร้านดอยตุง ไลฟ์สไตล์ นำเสนองานคราฟต์ชนเผ่าทรงคุณค่า ทั้งเสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน ดีไซน์รวมสมัยแต่ยังคงเอกลักษณ์ของชนเผ่าชาวดอยตุง พร้อมชมการแสดงเชิงวัฒนธรรมที่หาชมได้ยากของ 6 ชนเผ่าบนดอยตุง อาทิ ชาติพันธุ์นานาไหว้สาแม่ฟ้าหลวง กระทุ้งไม้ไผ่อาข่าประยุกต์ เมาธ์ออแกน เต้นจะคึ และนารีศรีชาติพันธุ์ เป็นต้น  

 

นอกจากนี้ยังเอาใจสายศิลปะและรักธรรมชาติกับการเวิร์กช็อป Tattoo ดอกไม้ดอยตุง เวิร์กช็อปยิงพรม เพ้นท์เซรามิก ฯลฯ สามารถนำกลับบ้านเป็นของฝากได้อีกด้วย และที่ขาดไม่ได้กับกิจกรรมรักษ์โลก CARBON NEUTRAL EVENT เทศกาลสีสันแห่งดอยตุงเป็นงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น “ศูนย์” เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในงานเน้นการใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ และทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระบอกไม้ไผ่ และใบตอง เป็นต้น

 

เชิญพบความสนุกแบบเต็มอิ่มในเทศกาลสีสันแห่งดอยตุง ครั้งที่ 10 ในระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2567 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. ณ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของเทศกาลสีสันแห่งดอยตุงครั้งที่10 ได้ที่ www.facebook.com/DoiTungClub หรือโทร 053-767-015-7

 

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

Thailand Winter Festival 77 เปิดโถง 3 “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” ครั้งแรก

 
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เดินทางไปยังถ้ำหลวง อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดงาน “ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติรับลมหนาว” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2566 นี้เป็นต้นไป
 
 
นายอรรถพล กล่าวว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการจัดงาน Thailand Winter Festival โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้สนับสนุนโครงการโดยจะนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ “ท่องเที่ยวอุทยานรับลมหนาว” ในวันที่ 15 ธ.ค.จะมีการจัดนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ในฤดูหนาวทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือและทั้ง 77 จังหวัดทั่วไทย โดยจะมีการจัดนิทรรศการที่ถ้ำหลวงเเปิดตัวและรณรงค์พร้อมๆ กัน ทั้งนี้ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาแหล่งธรรมชาติต่างๆ มากขึ้น เช่น เส้นทางธรรมชาติ ท่องเที่ยวผจญภัย ฯลฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้พยายามพัฒนาเพื่อรองรับการเผจิญภัยดังกล่าวโดยไม่ให้กระทบกับธรรมชาติ โดยเฉพาะที่ถ้ำหลวงจะมีการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ในการช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าเมื่อปี 2561 จึงจะมีการจัดมัคคุเทศน์ขึ้นมารองรับด้วย
 
 
นายอรรถพล กล่าวอีกว่าได้มีการปรึกษาหารือกับหลายฝ่ายจะมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมถ้ำหลวงได้จนโถงที่ 3 จึงจะมีการจัดมัคคุเทศน์เพื่อให้ความรู้เพราะปัจจุบันผู้ไปเยือนจะซึมซับเรื่องราวได้เพียงแค่ครึ่งเดียวเจ้าหน้าที่จึงพยายามผลักดันให้มีมัคคุเทศน์ที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้ได้มากต่อไป สำหรับการเปิดให้เข้าชมถ้ำหลวงนั้นจะมีการจำกัดคนเข้าไปเบื้องต้นครั้งละ 10 คน และมีมัคคุเทศน์พร้อมคนนำทางอีก 2 คน ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในปฏิบัติการ คน อุปกรณ์ ความเสี่ยงภัย เวลาในการนำเด็กๆ ออกจากถ้ำได้อย่างรวดเร็ว ฯลฯ โดยจะมีการจัดระบบมีการลงทะเบียนให้ถูกต้อง คัดเลือกบุคคลที่มีความพร้อมของร่างกายและที่สำคัญคือการคัดเลือกผู้เข้าไปชมให้ยุติธรรมด้วย
 
 
ด้านนายจอร์ช มอริส ผู้ก่อตั้งทีม CMRCA ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหนือเยาวชนทั้ง 13 คนในถ้ำหลวง กล่าวว่าไม่เคยมีเหตุการณ์แบบถ้ำหลวงในโลกมาก่อนโดยมีคนนับหมื่นคนระดมกำลังช่วยเหลือน้องๆ ทีมหมูป่า มีการดำน้ำช่วงต้นระยะทาง 800 เมตร แต่หลังจากนั้นบุคคลภายนอกแทบไม่มีใครรู้เรื่องราวว่ายังมีระยะทางที่ต้องดำน้ำอีก 800 เมตร โดยจากโถงถ้ำที่ 2-3 จะต้องสร้างระบบเชือกที่ต้องใช้เทคนิคตากหลายฝ่าย เช่น หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (หน่วยชีล) ทหารสหรัฐอเมริกา หน่วยกู้ภัยที่เป็นจิตอาสาของไทย ฯลฯ เพื่อให้เป็นสะพานเชือกในการลำเลียงเยาวชนทั้ง 13 คนมากับเปล ซึ่งต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจึงเป็เรื่องน่าสนใจว่าไม่ใช่เรื่องดำน้ำแต่มีภารกิจอื่นที่หนักเช่นกัน
 
 
“นักท่องเที่ยวสามารถไปดูเป็นจุดๆ ว่ามีการจัด Base กองอำนวยการข้างในถ้ำตรงไหน เมื่อเข้าไปก็จะเจอน้ำลึก มีการวัดปริมาณน้ำเพื่อดูว่าปั๊มน้ำจะทำงานได้อย่างไร จนถึงโถงที่ 2 ก็จะเห็นสลิง ถ้าเลยโถง 2 ถึงโถง 3 ก็จะเป็น Base กองอำนวยการที่มีหลายหน่วยงานอยู่ที่นั่น เพื่อให้ดูว่าการดำน้ำเริ่มต้นจากตรงไหนและจะได้เห็นว่าการดำน้ำนับจากตรงนั้นมีความยากลำบากขนาดไหน” นายจอร์ช มอริส กล่าว.
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS TRAVEL

อบจ.เชียงราย เตรียมจัดอลังการ มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย

 

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ที่ลานหน้าองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายวิสูตร บัวชุม ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย และนายประธาน อินทรียงค์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อแสดงความพร้อมของการจัดงานมหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย Chiang Rai Flower And Art Festival 2023 

          โดยจังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมเนรมิตพื้นที่สวนไม้งามริมน้ำกก ให้เป็นสวนแห่งความสุข ส่งมอบความสนุกส่งท้ายปี ให้ทุกท่านได้เพลิดเพลินไปกับมวลดอกไม้นานาพันธุ์ ในงาน “มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย Chiang Rai Flower And Art Festival 2023” ภายใต้แนวคิด “คำอธิษฐานผ่านดอกไม้…ถึง…ดวงดาว” ระหว่างวันที่ 17 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567 ณ สวนไม้งามริมน้ำกก องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย พร้อมกระจายพื้นที่การจัดงานไปอีก 4 อำเภอ บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์ผ่านสวนดอกไม้ที่มีความโดดเด่นเฉพาะของท้องถิ่น ประกอบด้วย

          อำเภอดอยหลวง  ภายใต้แนวคิด “มหกรรมไม้ดอก สี่เผ่าชาวดอยหลวง” ณ หนองหางปง บ้านแม่บงใต้ ตำบลโชคชัย ระว่างวันที่ 25 – 28 ธันวาคม 2566 และกิจกรรมแสง สี ศิลป์ ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567

          อำเภอป่าแดด ภายใต้แนวคิด “วิจิตรศิลป์ดอกไม้งามตา ของดีล้ำค่า ข้าวหอมป่าแดด” ณ ที่ว่าการอำเภอป่าแดด ระหว่างวันที่ 26 – 30 ธันวาคม 2566 และกิจกรรมแสง สี ศิลป์ ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567

          อำเภอพญาเม็งราย ภายใต้แนวคิด “ตามรอยศรัทธา ไหว้สาคุ้มพญามังราย” ณ หนองโป่ง ตำบลแม่เปาและคุ้มพญาเม็งราย ตำบลพญาเม็งราย ระหว่างวันที่ 28 – 30 ธันวาคม 2566 และกิจกรรมแสง สี ศิลป์ ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567

          อำเภอแม่จัน ภายใต้แนวคิด “ดอกไม้บาน ที่ลานโป่ง” ณ น้ำพุร้อนป่าตึง ระหว่างวันที่ 27 – 29 ธันวาคม 2566 และกิจกรรมแสง สี ศิลป์ ถึงวันที่ 2 มกราคม 2567

          เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวชุมชน และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวชอีกทั้งส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมกับการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว อันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ ที่ดีให้กับจังหวัดเชียงราย โดยจะทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดเชียงรายได้สัมผัสวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ในแต่ละอำเภอของจังหวัดเชียงรายเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้แก่พื้นที่ ชจากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป

          ภายในงานมีกิจกรรมมากมายประกอบด้วย สวนดอกไม้ที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น ร้อยเรียงเรื่องราวชการอธิษฐานเพื่อขอพรผ่านมวลดอกไม้ โดยกระจายพื้นที่ภายในสวนไม้งามกว่า 7 โซน พร้อมรับชมการแสดงแสง สี เสียง ในทุกค่ำคืน เพลิดเพลินไปกับการแสดงจากเยาวชนในกิจกรรม “Chiang Rai Talent” การจัดนิทรรศการแสดงผลงานของหน่วยงานต่าง ๆ การจำหน่ายชา กาแฟ ของจังหวัดเชียงราย พิเศษกับกิจกรรมภายในข่วงวัฒนธรรม การจัดแสดงเรือนวิถีชีวิตวัฒนธรรมล้านนา และชาติพันธุ์ การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ตามวิถีชีวิตชาวล้านนา “กาดมั่วคัวล้านนา” การจัดจำหน่ายอาหารชาติพันธุ์ ผามภูมิปัญญาล้านนา สล่าเชียงราย การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน การจำหน่ายพันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับนานาพันธุ์

          ทั้งนี้พิธีเปิดงาน ได้กราบทูลเชิญทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จมาเป็นองค์ประธาน   พิธีเปิด ในวันที่ 16 ธันวาคม 2566 เวลา 18.00 น. ณ สวนไม้งามริมน้ำกก องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย

          ขอเชิญชวนทุกท่าน มาร่วมรับความสุขส่งท้ายปีที่งาน “มหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงราย Chiang Rai Flower and Art Festival 2023” ระหว่างวันที่ 17 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567 ณ สวนไม้งามริมน้ำกก องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และอีก 4 อำเภอ อำเภอดอยหลวง อำเภอป่าแดด อำเภอพญาเม็งราย และอำเภอแม่จัน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL VIDEO

(มีคลิป) จัดเต็มแลนด์มาร์ค สืบสานศิลปะล้านนา “ต้นคริสต์มาสหมอกพันวา” เซ็นทรัล เชียงราย

 

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 เซ็นทรัลพัฒนา สืบสานศิลปะทรงคุณค่าแห่งล้านนา ในงาน“เทศกาลสีสันกาสะลอง 2023” รับเทศกาลแห่งความสุขด้วย “ต้นคริสต์มาสหมอกพันวา” จัดเต็มแลนด์มาร์ค สุดอลังการ ตั้งแต่วันนี้ – 31 ม.ค. 67 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย

 

ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย ร่วมกับ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ (โครงการพัฒนาดอยตุง), จังหวัดเชียงราย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย, การท่องเที่ยวและกีฬาเชียงราย, องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย, เทศบาลนครเชียงราย,กระทรวงวัฒนธรรม, วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย, ขัวศิลปะ และ Thailand Biennale จัดงาน “เทศกาลสีสันกาสะลอง 2023” สร้างสีสันต้อนรับลมหนาว ด้วยการรังสรรค์ ผสานเรื่องราวทางวัฒนธรรมท้องถิ่น ชวนนักท่องเที่ยวรื่นเริงส่งท้ายปีไปกับเมืองแห่งอัตลักษณ์ทางการสร้างสรรค์ทางศิลปะอันทรงคุณค่าแห่งล้านนา สร้างลวดลาย สีสัน และ อัตลักษณ์แห่งเชียงรายอย่างงดงาม ก่อกำเนิดเป็นภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 8 พ.ย. 66 – 31 ม.ค. 67 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย 

 

 

โดยพิธีเปิดงานสีสันกาสะลอง 2023 จัดขึ้นพร้อมงานเปิดไฟต้นคริสต์มาสสุดอลังการ เนรมิตหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงรายให้เป็นแลนด์มาร์คจุดถ่ายรูปที่สวยที่สุดในเชียงราย พบกับการ แสดงสุด ยิ่งใหญ่จากวงเดอะระมิงค์ The Raming Lanna Contemporary Music ที่ประพันธ์บทเพลงใหม่เพื่องานเทศกาลสีสันกาสะลองโดยเฉพาะ โดยเพลง Highlight ”มาลา มาเก่อปอด“ คือเพลงที่มีความหมายว่า เฉลิมฉลอง เพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากนักดนตรีชนเผ่าแห่งยอดดอยเชียงราย เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านดนตรี และร่วมบรรเลงเพลงในชนเผ่า ที่มีความเป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์ของดนตรีชนเผ่า ซึ่งเครื่องดนตรีชนเผ่า ที่ใช้ประกอบในการบรรเลงเพลง ซือบือ เครื่องดนตรีอาข่า, เตหน่า เครื่องดนตรีปกาเกอะญอ, ขับลื้อ เครื่องดนตรี ลื้อ ,เค่ง เครื่องดนตรี ม้ง , ซึง เครื่องดนตรี ลัวะ ผสมผสานเครื่องดนตรีชนเผ่า ผสมผสานกับดนตรีตะวันตก เรียบเรียงเป็นชุดเพลงที่แต่งขึ้นมาเพื่อใช้ในการเฉลิมฉลองของชนเผ่าร่วมกับงานครั้งนี้ 

 

ผ่านเครื่องดนตรีประจำเผ่าและวงออร์เคสตรา เพื่อเล่าเรื่องราวของคนในชนเผ่าให้ทุกคนได้รับฟังโชว์ที่ผนวกการแสดงจากชนเผาชาติพันธุ์ ผสมผสานการแสดงสากลจนกลายมาเป็น Contemporary Show ที่แปลกใหม่ สวยงาม และไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อน และชมพลุสุดตระการตา งาน “เทศกาลสีสันกาสะลอง” ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างสีสันและต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมารับลมหนาวภาคเหนือในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะ มาถึง พร้อมเผยแพร่ เรื่องราวทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ทรงคุณค่าแห่งล้านนาให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น 

 

โดยได้นำเทคนิคต่างๆ เข้ามาผสมผสาน โดยแต่ละปีจะมีไฮไลท์สุดพิเศษแตกต่างกันออกไป โดยล่าสุด UNESCO ได้ยกย่องให้จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ(City of Design) ทางศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการมอบประสบการณ์แปลกใหม่ ให้กับชาวเชียงรายและนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมงาน สำหรับปีนี้ สร้างสรรค์ขึ้นในคอนเซ็ปต์ The Spirit of Chiangrai : The Pride of Northern Thailand ผสมผสานเรื่องราวจากวัฒนธรรมเครื่องประดับเงิน จาก 6 ชนเผ่า และความอุดมสมบูรณ์ของป่าสนบนดอยตุง เหนือสุดแดนสยามที่แรกที่เดียวในประเทศไทย สื่อถึงความงดงามและวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติ ออกแบบและสร้างสรรค์โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ (โครงการพัฒนาดอยตุง) และได้รังสรรค์ผลงานให้เป็นส่วนหนึ่งสำหรับจุดแลนด์มาร์คของงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ 

 

งานมหกรรมศิลปะนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ที่กำลังจะเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย ไฮไลท์หลักของงานคือ “ต้นคริสต์มาสหมอกพันวา” สร้างสรรค์โดย ดอยตุง ที่จำลองแบบต้นสนด้วย กลีบจำนวน 19 ชั้นซ้อนกัน แต่ละชั้นตกแต่งด้วยเครื่องเงินจากแรงบันดาลใจชนเผ่าประดับไฟ หยดน้ำทอประกายระยิบระยับสวยงาม ตระการตา โดยตั้งชื่อตามความยาวของงานผ้าทอมือขนาด 1,000 วา หรือ 2,000 เมตร ที่เกิดจากการร่วมมือกันของชาวบ้าน กลุ่มชนเผ่าบนพื้นที่ดอยตุงที่ใช้ เวลาว่างมาร่วมแรงร่วมใจถักทอผ้า โดยใช้ระยะเวลากว่า 3 เดือน ส่วนคำว่า “หมอก” มาจากการที่ จังหวัดเชียงรายจะเกิดปรากฏการณ์ชมหมอกที่สวยงาม 

 

ในช่วงต้นเทศกาลคริสต์มาสคือตั้งแต่ เดือน พฤศจิกายน ถึง มกราคมเป็นประจำทุกปี “ต้นคริสต์มาสหมอกพันวา” ถักทอด้วยผ้าธรรมชาติ และวัสดุในท้องถิ่นสื่อถึงการใช้ชีวิตทีเรียบง่ายและผูกพันกับธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ เถาสน ไหมย้อมสี ผ้าฝ้าย และหญ้าแฝก ถ่ายทอดแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเครื่องแต่งกายที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ แห่งชาติพันธุ์ของเชียงราย สู่ลายปักผ้าและของตกแต่งบนเครื่องแต่งกายสีสันสดใส ของ 6 ชาติ พันธุ์เชียงราย ได้แก่ อาข่า ลาหู่ ลัวะ ไทใหญ่ ไทลื้อ และจีนยูนนาน สอดประสานกันแต่ละชั้น เพื่อแสดงถึงความหลากหลายที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียว

 

นื่องด้วย จังหวัดเชียงราย เป็นดินแดนวัฒนธรรมเครื่องประดับเงินแห่งชนเผ่า แต่ละชั้นกลีบประดับ ต้นคริสต์มาส จึงได้นำเอาลวดลายเครื่องประดับเงิน ที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชนเผ่าชาติพันธุ์มา ตกแต่งร่วมกับลายผ้าทอ ร้อยเรียงต้นคริสต์มาสให้มีอัตลักษณ์ แต่ละลวดลายล้วนเกี่ยวข้องกับการ ดำเนินชีวิต โดยนัยที่เป็นพลังเชิงบวก เช่น ลายปลา สื่อถึงความมั่งมีและอุดมสมบูรณ์, ลายผีเสื้อ สื่อถึงความงดงามและอุดมสมบูรณ์, ดอกเบญจมาศ สื่อถึงความมีชีวิตชีวาและความเจริญรุ่งเรือง, การทำภู่ เงินห้อยระย้า สื่อถึงความมีชื่อเสียงและความดีงามยังมีการทำเครื่องเงินในลักษณะของ กระดุม ลูกกระพรวน และลูกปัด เพื่อใช้ตกแต่งลงบนผ้าพื้นเมือง สำหรับชนเผ่าเย้า (เมี่ยน) มีการ ผลิตเครื่องประดับเงิน ทำเป็นสร้อยคอ กระดุมเสื้อ และเครื่องประดับเงิน ที่มีลักษณะเป็นแผงมีพู่ ห้อยเพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมการแต่งกายของชนเผ่า สนุกกับกิจกรรมพิเศษทุกวันหยุดยาว ไม่ว่าจะเป็น แขวนโคมล้านนา, เทศกาลดนตรีแจ๊ส, ฟรีเวิร์คช็อปงานคราฟท์, มินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง ชมการแสดงตลอดเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับ ปีใหม่ การแสดงเปิดหมวกโชว์จากน้องๆ ในเชียงราย สิทธิพิเศษ 

 

สำหรับสมาชิก The1 รับ ฟรี! ของที่ระลึกสุดพิเศษ เมื่อกิน ช้อป ภายในโซนพลาซา ครบ 10,000 บาทขึ้นไป พร้อมเลือกซื้อ สินค้าในกาดสีสันกาสะลองไนท์มาร์เก็ต ลิ้มลองเมนูหาทานยากจากพี่น้อง 6 ชนเผ่าชาติพันธุ์เมือง เชียงราย และอิ่ม อร่อยกับร้านค้าเด็ดเมนูดังในเชียงราย พร้อมช้อปสินค้า ART & CRAFT เป็นของ ที่ระลึกมากมาย 

 

สำหรับพิธีเปิดได้รับเกียรติจากคุณสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาด Chief Marketing Officer บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดงาน โดยมี คุณประเสริฐ ตรงเจริญเกียรติ ประธานสายปฎิบัติการธุรกิจเพื่อสังคม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์, คุณอรชร จันทร์วิวัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานปฎิบัติการสาขาเขตภาคเหนือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ, คุณสายัณห์ นักบุญ ผู้จัดการ ทั่วไป ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย, คุณเสริฐ ไชยยานันตา ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและ กีฬาจังหวัดเชียงราย, คุณวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนง.เชียงราย, อาจารย์นคร พงศ์น้อย ผู้อำนวยการอุทยาน ศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมงาน บริเวณ ด้านหน้า ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย

 

ตื่นตากับ “ต้นคริสต์มาสหมอกพันวา” แห่งเดียวในไทย ในคอนเซ็ปต์ The Spirit of Chiangrai : The Pride of Northern Thailand ผสมผสานเรื่องราวจากวัฒนธรรมเครื่องประดับเงิน จาก 6 ชนเผ่า และความอุดมสมบูรณ์ของป่าสนบนดอยตุง แห่งเดียวในไทย ผลงานร่วมระหว่างเซ็นทรัลเชียงรายและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ (โครงการพัฒนาดอยตุง)

 

กาดสีสันกาสะลองไนท์มาร์เก็ต ลิ้มลองเมนูหาทานยากจากพี่น้อง 6 ชนเผ่าชาติพันธุ์เมืองเชียงราย และอิ่มอร่อยกับร้านค้าเด็ดเมนูดังในเชียงราย พร้อมช้อปสินค้า ART & CRAFT เป็นของที่ระลึก

 

ม่วนใจ๋ไปกับบทเพลงเพราะๆ ชมการแสดงเชิงวัฒนธรรม Shimmer and Shine จากน้องๆ เยาวชนชาวเชียงราย ถ่ายรูปจุใจกับจุดเช็คอินเก๋ๆ กว่า 10 แลนด์มาร์กให้ได้โพสต์สดใสกันทั้งกลางวัน และงดงามกันในยามค่ำคืน

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เซ็นทรัล เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

“กาดหมั้ว คัวเงิน คัวเขิน” เปิดตัว ‘ตลาดบก’ สืบสานวัฒนธรรมไทย

 
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดตลาดบกวัฒนธรรม สืบสานวัฒนธรรมไทย ตลาดชุมชนวัดศรีสุพรรณ “กาดหมั้ว คัวเงิน คัวเขิน ชุมชนวัดศรีสุพรรณ ชุมชนวัดหมื่นสาร และชุมชนวัดนันทาราม” (ย่านวัวลาย) โดยมี นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวรายงาน และ นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ จัดในวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ณ ตลาดวัฒนธรรมวัดศรีสุพรรณ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

 กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ คณะกรรมการ 3 วัด 3 ชุมชน ดำเนินงานโครงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยทุนทางวัฒนธรรม “การสร้างเสริมอัตลักษณ์ชุมชน อัตลักษณ์ไทย สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม : 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ผ่านตลาดบกและตลาดน้ำ และตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับคัดเลือกให้เป็นตลาดบกที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน อัตลักษณ์ไทย สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยมีนายสุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

 

วัฒนธรรมจังหวัด 16 จังหวัดภาคเหนือ ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายทางวัฒนธรรม ผู้นำชุมชน สื่อมวลชน และประชาชนเข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้

  1. การแสดงศิลปวัฒนธรรม ชุด “กึกก้องเภรี นาฏยดนตรี วิถีกาดบก ชุมชนวัดศรีสุพรรณ” โดย วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่
  2. พิธีตอกดุนลายแผ่นโลหะ โดย พ่อครูดิเรก สิทธิการ ศิลปินแห่งชาติ
  3. ประธานในพิธีมอบของที่ระลึกให้แก่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่
  4. พิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนตลาดบกฯ จำนวน 2 ท่าน ได้แก่

         4.1 พ่อครูดิเรก สิทธิการ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (งานสลักดุนเครื่องเงินและโลหะ) พุทธศักราช 2565 ผู้แทนชุมชนคุณธรรมวัดศรีสุพรรณ

        4.2 ดร.อุไร ไชยเสน ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

  1. ประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่ทูตวัฒนธรรม จำนวน 12 คน
  2. การแสดงศิลปวัฒนธรรม ชุด “ฟ้อนคัวเงินงาม” โดย นักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ
  3. การสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและเยี่ยมชมตลาด โดยมี พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ (สุพล สุทธฺสีโล) เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ เมตตาบรรยายให้ข้อมูลสำคัญ
  4. กิจกรรมขันโตกล้านนา กาดหมั้ว เครื่องเงิน เครื่องเขิน ของฝาก และของที่ระลึก
  5. การแสดงดนตรีพื้นเมืองล้านนา
  6. สักการะพระพุทธปาฏิหาร์ (พระเจ้าเจ็ดตื้อ) และสิ่งศักดิ์สิทธิ์
  7. กิจกรรมนั่งรถราง”ชมงานศิลป์เยือนถิ่นวัวลาย” 3 วัด 3 ชุมชน
  8. การออกร้านอาหารพื้นเมือง เมนูเชิดชูอาหารถิ่น “ตำจิ้นแห้ง”

 

     นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางพัชรนันท์ แก้วจินดา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นางพรทิวา ขันธมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม นางสุภัสสร ประภาเลิศ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นางสาวณพิชญา นันตาดี นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายจิรัฏฐ์ ยุทธ์ธนประวิช นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายวรพล จันทร์คง นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ นางสาวสุทธิดา ตราชื่นต้อง นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ และ นายพร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงานฯ และประชาสัมพันธ์การจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะมีขึ้น ณ จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 9 ธ.ค.2566 ถึง 30 เมษายน 2567 ในงานดังกล่าวด้วย

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI LIFESTYLE

ยิ่งใหญ่อลังการ ‘เชียงราย’ เมืองศิลปะ โหมโรง “ไทยแลนด์เบียนนาเล่ 2023”

 
กลับมาอีกครั้งกับขบวนศิลปะร่วมสมัยหนึ่งเดียวในประเทศไทย “Chiang Rai 2023 Art Carnival”
พบกับริ้วขบวนศิลปะร่วมสมัยรังสรรค์โดยตัวแทนศิลปินและชุมชนในพื้นที่จาก 18 อำเภอในจังหวัดเชียงราย
19 พฤศจิกายน 2566 ณ หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ ถนนบรรพปราการ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไปอำนวยการสร้างโดย ศาสตรเมธี ดร. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินขัวศิลปะเชียงราย เพื่อสร้างการรับรู้ และเฉลิมฉลองการเป็นเจ้าภาพจัดงานศิลปะระดับโลก Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 30 เมษายน 2567 ภายใต้แนวคิด “เปิดโลก” The open world
 
 
ทั้งนี้ขบวนศิลปะร่วมสมัยของแต่ละอำเภอทั้ง 18 อำเภอในจังหวัดเชียงราย เป็นการนำเสนอแนวคิด อัตลักษณ์ วิถีชีวิต ประเพณี ผ่านผลงานประติมากรรมร่วมสมัย ผสมผสานขบวนแห่ในรูปแบบของ Carnival art ซึ่งถือว่าเป็น art carnival เพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย โดยจังหวัดเชียงรายเคยจัดขบวนศิลปะร่วมสมัยในลักษณะนี้มาแล้วเมื่อครั้งเป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 46 โดยได้รับความสนใจและชื่นชมจากประชาชน นักท่องเที่ยว ซึ่งเกิดการต่อยอดมาจนถึงกิจกรรมในครั้งนี้ โดยคาดว่าประชาชน นักท่องเที่ยวจะให้ความสนใจใน Art Carnival อย่างท่วมท้น และแพร่หลาย กลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาชมในทุก ๆ 2 ปี เพราะศักยภาพของชียงรายโดยการมีศิลปินจากสมาคมขัวศิลปะ กว่า 300 ชีวิตในพื้นที่ ซึ่งนำโดยศาสตรเมธี ดร. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมขัวศิลปะ และอาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ ร่วมกันผลักดันให้เกิด Art Carnival
 
 
โดยครั้งนี้ ขบวนศิลปะร่วมสมัย ภายใต้แนวคิด “เปิดโลก 18 อำเภอ” ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงการจัดงานศิลปะร่วมสมัยนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่, เชียงราย 2023 ระหว่าง วันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 30 เมษายน 2567 ตลอดระยะเวลา 5 เดือน จึงทำให้ขบวนที่จะเกิดขึ้น มีความร่วมสมัย และเน้นความเป็นศิลปะผสมผสานความสนุกสานของผู้เข้าร่วมขบวน รวมทั้งสีสันการแต่งกายที่หลากหลาย ด้วยพี่น้องชาติพันธุ์ในเชียงรายกว่า 32 ชาติพันธุ์ ซึ่งหากประชาชน นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสมาสัมผัสบรรยากาศของ Art Carnival ครั้งนี้ จะเห็นถึงศักยภาพและความยิ่งใหญ่อลังการของเชียงรายเมืองแห่งศิลปะ อย่างแท้จริง
 
 
อนึ่ง Chiang Rai Art Carnival กำหนดจัดวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ตลอดเส้นทางจากโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม ผ่านถนนบรรพปราการ หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ(เวทีกลาง) และสิ้นสุดที่สวนตุงและโคมเทศบาลนครเชียงราย รถประติมากรรม จะจอดให้นักท่องเที่ยวได้ชมถึงเวลาประมาณ 23.00 น. และจะนำประติมากรรมทั้ง 18 ผลงาน จัดแสดง ณ ลานประติมากรรม 18 อำเภอ ริมแม่น้ำกก ณ สวนไม้งามริมน้ำกก โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย จัดแสดงถึง 30 เมษายน 2567
 
 
กิจกรรมดังกล่าว โดยสมาคมขัวศิลปะ, กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย, จังหวัดเชียงราย, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, เทศบาลนครเชียงราย, องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย, หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
รายละเอียดเพิ่มเติม : สมาคมขัวศิลปะ โทร. 053-166623 (หยุดทำการทุกวันจันทร์) /Facebook “ขัวศิลปะ”
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมขัวศิลปะ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News