Categories
EDITORIAL

‘วราวุธ’ ชี้ไทยเผชิญวิกฤติประชากร AI เปลี่ยนพฤติกรรมรวดเร็วปรับตัวไม่ทัน

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 27 ปี โดยจัดเวทีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ความท้าทายรัฐบาล”  โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ร่วมปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางสังคมไทย” ตอนหนึ่งว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตมากมาย ทั้ง Climate Change, Pollution, Pandemic, Conflicts, Digital Transformation, Population Crisis ซึ่งวิกฤตเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้ความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ และการเมืองทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างที่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ แน่นอนว่าความท้าทายทางด้านสังคมย่อมมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แก้ปัญหาได้ยากยิ่งขึ้น

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า แนวโน้มความท้าทายทางสังคมจะต้องอาศัย Global Trends : Urbanization, New business model แบบ Innovation Driven & Digital Disruption, AI เปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และรูปแบบของสังคม ซึ่งโครงสร้าง และลักษณะของสังคมไทย โดยเฉพาะรูปแบบของความสัมพันธ์ในครอบครัว และวัฒนธรรมได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว และรุนแรง จนอาจพูดได้ว่า เร็วและแรงเกินกว่าที่จะรับมือได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น พวกเราทุกคนต้องเผชิญกับความท้าทายนี้ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง ที่มีต้นทุนและความสามารถในการปรับตัว (Adaptive Capacity) ไม่เท่ากับกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมโลกหรือสังคมไทยก็ตาม ย่อมได้รับผลกระทบสูงกว่า และดำเนินชีวิตต่อไปได้ยากเข็ญกว่า

 

 

นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า สังคมไทยเผชิญกับอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างฉายภาพ “ปัญหาสังคม” จากข้อมูลของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผู้แจ้ง ร้องเรียน สอบถาม ผ่านช่องทางของกระทรวง พม. เดือนละ 12,000 – 18,000 ราย โดยในเดือน พ.ค. รับแจ้ง 18,607 กรณี ซึ่งกว่า 50% เป็นเรื่อง “ความสัมพันธ์ในครอบครัว” ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว และเหยื่อส่วนใหญ่เป็นเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมไทย ที่จะบ่มเพาะ และสร้างโครงสร้างที่แข็งแกร่งของสังคม และเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังสั่นคลอน

 

“เด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กำลังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ส่งผลให้การพัฒนาศักยภาพเชิงความคิด สติปัญญา และความสามารถทางกายภาพถูกบั่นทอน โครงสร้างประชากรของไทยกำลังเปลี่ยนแปลง จนเรียกได้ว่า เรากำลังเผชิญกับวิกฤตประชากร” นายวราวุธ กล่าว

รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า วิกฤตประชากร คือปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็เผชิญกับวิกฤตนี้ เช่น ญี่ปุ่นมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากถึงประมาณ 30% ไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 20% เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือ Aged Society และคาดว่าจะเป็น Super-Aged Society เหมือนญี่ปุ่น ภายใน 10-15 ปีข้างหน้า เนื่องจากเด็กเกิดน้อยประมาณ 5 แสนคน จำนวนบุตรเฉลี่ย 1 คนต่อสตรี 1 คน ซึ่งน้อยกว่าญี่ปุ่นอีก ซ้ำเด็กยังด้อยคุณภาพ และเมื่อเกิดน้อยลง “ครอบครัว” มีขนาดเล็กลง โครงสร้างครอบครัวไทย (Living arrangement) ก็เปลี่ยนแปลงไป การฟูมฟักอบรมเลี้ยงดูบุตรโดยพ่อ-แม่ ลดน้อยลง การเกื้อหนุนกันและดูแลกันระหว่างรุ่นเริ่มจางหายไป รูปแบบรายได้/รายจ่ายเปลี่ยนแปลงไป จนหลายครอบครัวไม่สามารถตั้งรับ และปรับตัวได้ ครอบครัวบางรูปแบบมีแนวโน้ม “เปราะบาง” เช่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือสภาวะที่ผู้สูงอายุต้องอยู่คนเดียว ทั้งนี้ แนวโน้มครัวเรือนอยู่คนเดียว ครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง หรืออยู่กับคู่สมรสเพียงลำพังมีมากขึ้น แน่นอนว่าวัยแรงงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นไม่ทันกันกับพีระมิดของผู้สูงวัย ทำให้ต้องรับภาระ ทั้งดูแลตนเอง ลูก และพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้สูงวัย กลายเป็น “The แบก” ซึ่งผู้ที่มีอายุ 50-59 ปี ณ ขณะนี้ จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอีก 5-10 ปีข้างหน้า แต่ยังคงมีภาระที่จะต้องดูแลพ่อ-แม่ ที่จะมีอายุ 80 ปีขึ้นไปอีก 10 ปีข้างหน้า

 

 

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตประชากร ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ นับเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ประการแรก คือ ประชากรไทยลดลงจาก 70 ล้านคน จะเหลือ 58.26 ล้านคน ในอีก 25 ปี ประการต่อมา คือ เด็กเกิดน้อย แต่จะทำอย่างไรให้เด็กมีคุณภาพ และประการสุดท้าย คือ รัฐต้องรับภาระงบประมาณด้านสังคม จนอาจเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งการรับมือนั้น หลายประเทศใช้การกำหนดนโยบาย ปรับเปลี่ยนกฎหมาย พัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ผลักดันและขับเคลื่อน “นโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร” จากความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ซึ่งนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ และแต่ละยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของสังคมไทย เชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ

 

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมพลังวัยทำงานให้สามารถตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต ด้วยการเพิ่มโอกาส พัฒนาทักษะ (Upskill/Re-skill) และสมรรถนะในการบริหารการเงิน พร้อมๆ ไปกับการดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มคุณภาพเด็ก เร่งส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิตและความรู้ วิชาชีพตามวัย ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน/ยกระดับผลิตภาพ (productivity) เพื่อรับมือกับการลดลงของประชากร

ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ ผู้เชี่ยวชาญชีวิต นำมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคม และเศรษฐกิจ ด้วยการเสริมทักษะ (Upskill/Re-skill) ในการทำงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างโอกาสและคุณค่าให้คนพิการ สัดส่วนของคนพิการ ร้อยละ 6 ของประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องเสริมทักษะ (Upskill/Re-skill) และปรับทัศนคติในการจ้างงาน ฃ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ซึ่งสำคัญมาก คือ สร้างสภาพแวดล้อมทางสังคม และทางกายภาพที่เอื้อต่อการสร้างและดูแลครอบครัวให้มั่นคง/พลิกฟื้นสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ Green Economy, Carbon footprint, Sustainable consumption and production (SCP)

 

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนไทยทุกคนต้องร่วมเดินฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน หรือเราจะรอให้ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย เมื่อเราไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในอีก 10 หรือ 15 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ สื่อมวลชนมีอิทธิพลมากในการสร้างทัศนคติ ค่านิยม และกระแสความคิดของประชาชน จึงขอวอนร่วมสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นการลงมือทำ และร่วมลงมือทำทันที “Action Now” ซึ่งปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์นั้น “ใครๆ ก็เป็นสื่อได้” เป็นทางเลือกที่คนไทยนิยมมากขึ้นทุกวัน บางคนถึงขั้นเสพติดสื่อในลักษณะนี้ ดังนั้น ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคม ต้องรักษาคุณค่า และจรรยาบรรณการสร้างคอนเทนต์ ต้องระมัดระวัง ไม่ใช้เด็กเป็นเครื่องมือ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาของเด็กและเยาวชน การนำเสนอความรุนแรง อาชญากรรม ความขัดแย้ง และเรื่องราวทางเพศ ในลักษณะที่อาจนำไปสู่การบ่มเพาะพฤติกรรม

“บางครั้งสื่อเองก็อาจกำลังทำหน้าที่พ่อ หรือแม่ หรือลูก แต่ที่แน่นอน ท่านเป็นวัยแรงงานที่มีภาระที่ต้องดูแลตัวเอง และบุคคลอันเป็นที่รัก และกำลังจะก้าวไปเป็นผู้สูงอายุในอนาคตอันไม่ไกลนัก ท่านมีศักยภาพและโอกาสสูงในการช่วยดึงพลังแฝงจากผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ในกลุ่มต่างๆ มาเป็นพลังของสังคมได้ เป็นพลังสำคัญของสังคมไทย ในการเชื่อมโยงประเด็นความท้าทายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตีแผ่ให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงความจำเป็นในการเดินหน้าฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งผมเชื่อมั่นในพลังของสื่อในการผลักดันสังคมไทยสู่ความยั่งยืนอย่างมั่นคง” นายวราวุธ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

ปานปรีย์’ ชี้ 4 เครื่องยนต์ดันเศรษฐกิจไทยรวน รู้ปัญหาแต่ไม่แก้

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 27 ปี โดยจัดเวทีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ความท้าทายรัฐบาล” โดย ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทย” ตอนหนึ่งว่า สังคมเฝ้าติดตามอยู่ว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้จะไปอย่างไร การเมืองไทยเปราะบาง ในความเห็นของตนก็เช่นเดียวกัน เศรษฐกิจไทยวันนี้เริ่มมีความเปราะบางค่อนข้างสูง การวางทิศทาง การวางนโยบาย การกำหนดแผนงานต่าง ๆ รวมทั้งการปฏิบัติการในส่วนทำให้นโยบายและไปในทิศทางถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญมาก

 

ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจโลก และทิศทางเศรษฐกิจไทย ถ้าจำกันได้เมื่อประมาณ 15-16 ปีที่ผ่านมา โลกได้เคยเผชิญกับปัญหาหลายเรื่อง บางเรื่องเป็นเรื่องรุนแรง ถึงขนาดเป็นวิกฤติด้วย โดยเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้าที่ชัดเจนมากขึ้น กระทำโดยผู้ที่มีอำนาจระดับโลก ระเบียบการค้าโลกจึงเสื่อมความขลังลงไปเช่นกัน ต่อมาเราเผชิญปัญหาเรื่องการแพร่กระจายของโควิด-19 ในส่วนนี้เป็นที่รับรู้กันว่า ทำให้โลกหยุดนิ่ง รวมทั้งไทยด้วย เราไม่รู้ว่าเวลานั้นจะเดินต่อไปทางไหน แต่สำหรับไทย คิดว่าเรามีความยืดหยุ่น และมีความพร้อมที่จะแก้สถานการณ์ให้กลับคืนมาได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นมีเรื่องรัสเซีย ยูเครน ตามมาอีก เป็นสงครามที่คิดว่าไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และก็เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ส่วนเรื่องอิสราเอล และฮามาส ที่มีปัญหามายาวนาน แต่ปัญหาก็ไม่เคยปะทุรุนแรงเท่ากับครั้งนี้

 

 

ดร.ปานปรีย์ กล่าวอีกว่า เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เศรษฐกิจของโลกเกิดความไม่แน่นอน มีความหวั่นไหวมาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ถือว่า มีความสำคัญเสริมเข้ามา เช่น เทคโนโลยีดิสรัปชัน สร้างความพลิกผันทางธุรกิจอย่างสูง เรื่องอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จนถึงเวลาแล้วที่เราต้องจัดการ มิฉะนั้นจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของชาวโลก ขณะที่เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ พวกเราอาจไม่คุ้นเคยนัก แต่ภูมิรัฐศาสตร์มีส่วนสำคัญมากในการกำหนดชะตากรรมแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากมีผลกระทบกว้างขวาง ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดขัดแย้ง อีกประเทศได้รับผลกระทบตามไปด้วย

 

“ทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจเกิดความเปลี่ยนแปลง ถ้าเราเดินไม่ถูกทาง จะทำให้เกิดปัญหากับเศรษฐกิจต่อประเทศนั้น ๆ ได้ค่อนข้างรุนแรง ในสภาวะปัจจุบันนี้” ดร.ปานปรีย์ กล่าว

 

ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจไทย เราพบและรับรู้ว่า ไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกสูงถึง 70% รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศด้วย การลงทุนในประเทศไม่เพียงพออุ้มชูเศรษฐกิจของเรา และขึ้นอยู่กับการส่งออกและการลงทุน เป็นส่วนสร้างรายได้ให้กับประเทศมาก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิเศรษฐกิจ การส่งออกของไทย และการลงทุนของไทย จะเห็นว่าเริ่มประสบปัญหา โดยจากการขยายตัวของการส่งออกที่ลดลง ส่งผลทำให้ GDP –องไทยมีการขยายตัวอยู่ในระยะต่ำ ซึ่ง IMF คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 2.2-2.7% ถือว่าต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของประเทศอื่น ๆ ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันในกลุ่มอาเซียน

 

ดร.ปานปรีย์ ตั้งคำถามว่า ทำไมไทยขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ต่ำสุดในอาเซียน การใช้จ่ายภาครัฐในเวลานี้ก็มีข้อจำกัด เป็นที่ทราบได้ดีว่า เศรษฐกิจในประเทศมีปัญหา หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 65.05% ทำให้การใช้จ่ายในภาครัฐมีข้อจำกัด หนี้ครัวเรือนในสิ้นปี 2567 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 91.4% ต่อ GDP ซึ่งมีผลต่อภาวการณ์บริโภคในประเทศ หลายฝ่ายก็มีความเป็นกังวลอยู่ แต่ก็ยังไม่มีมาตรการ หรือนโยบายใดที่จะมีความชัดเจน ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

 

 

ความสำคัญทิศทางเศรษฐกิจ เหตุใดเราต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ และแผนงานทิศทางเศรษฐกิจ เพราะว่าสามารถวางแผนล่วงหน้าให้แก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคราชการ ภาคธุรกิจ นักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศ แรงงาน การศึกษา แลประชาชน ตาม Roadmap ทิศทางที่ถูกต้อง โดยภาครัฐและภาคเอกชนสามารถจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนภาคเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างยั่งยืน เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น สิงคโปร์ และเวียดนาม

 

ดร.ปานปรีย์ ชี้ว่าปัญหาของเศณษฐกิจไทยคือ เครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้ง 4 ด้านทำได้ไม่เต็มที่ นั่นคือ ส่งออกขยายตัวไม่ตรงเป้า การลงทุนมีการปรับเปลี่ยนย้ายฐานการผลิตจาก New Global Supply Chain หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง ไม่สามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลถึงรายได้และการลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคในประเทศ ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจปรับตัวได้ช้า ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจโลกได้ไม่ทันท่วงที

 

“ที่สำคัญคือการปรับโครงสร้าง มีการพูดคุยเรื่องนี้ยาวนาน รู้ปัญหากันหมด แต่ไม่ได้จัดการแก้ไข หรือมีแผน หรือมีนโยบาย มาตรการที่ชัดเจนว่า จะมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร และควรเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่ วันนี้เกือบจะสายไปแล้ว ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไทยคงชะลอตัวอยู่อย่างนี้ และเติบโตต่อไปยาก” ดร.ปานปรีย์ กล่าว

 

 

อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า อีกปัญหาหนึ่งคือเสถียรภาพทางการเมืองไทย ที่ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมาก็เติบโตมาได้ ไม่ใช่สุ่มเสี่ยงแบบบางประเทศในกลุ่มอินโดจีน รวมถึงขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในอดีตมีการนำวิสัยทัศน์มาพัฒนาเป็นนโยบายและแผนงานเศรษฐกิจ สามารถออกมาตรการมาสนับสนุนแผนงานได้อย่างชัดเจน เช่น การส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงการผลิตจากภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม การพัฒนา Eastern Seaboard นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลควรมีนโยบาย และมาตรการอย่างไรเพื่อปรับทิศทางการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยท้าทายต่าง ๆ ของโลก ซึ่งก่อนอื่นต้องเข้าใจภูมิรัฐศาสตร์ก่อนว่าสำคัญอย่างไร กระทบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจภาคเอกชนอย่างไร

 

ดร.ปานปรีย์ มีข้อเสนอทิศทางเศรษฐกิจไทย  8 ข้อได้แก่ 1. ไทยกําลังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความยืดหยุ่นในการปรับตัวของนโยบายเศรษฐกิจไทยมีความสำคัญเป็นอย่างมาก 2. วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มีการดําเนินการมาถูกทางแล้ว เช่น การปรับโครงสร้างเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตัล Industry 4.0 หรือการต่อยอดการพัฒนา Eastern Seaboard มาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC แต่หลายเรื่องยังขาดมาตรการรองรับที่ชัดเจน และยังมีกฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัย

  1. การที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digital Economy, Green and Clean Economy เราคงไม่สามารถที่จะละทิ้งอุตสาหกรรมเก่าไปหาอุตสาหกรรมใหม่ทั้งหมดได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้อง Re-Balance การดูแลอุตสาหกรรมเก่า ให้เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่
  2. นโยบายเศรษฐกิจต้องสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจโลกได้ เช่น ปัญหาสงครามยูเครน-รัสเซีย ทําให้หลายประเทศขาดแคลนสินค้าที่เดิมนําเข้าจากทั้งสองประเทศ ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่ไทยสามารถส่งออกสินค้าทดแทนไปตลาดแบบนี้ก็เป็นได้ หรือพิพาทเรื่อง Chip War ระหว่างจีนกับสหรัฐ เราจะชักชวนใครมาลงทุนการผลิต Semiconductor หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในไทย เพื่อตอบโจทย์ Geopolitics และ Global Supply Chain ที่เปลี่ยนไป
  3. เรียนรู้จากคู่แข่งขัน เวียดนามสร้างความชัดเจนทางนโยบายที่จับต้องได้ เช่น การเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่างๆ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจ Digital การส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาด หรือ สิงคโปร์มีวิสัยทัศน์มองในเรื่อง Resilient Growth แล้วสามารถนําออกมาพัฒนาเป็นนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อบริหารทิศทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
  4. Skilled Labour คือสิ่งที่ประเทศไทยเราต้องให้ความสําคัญ และต้องเร่งพัฒนาให้ฝีมือแรงงานไทยให้สามารถยกระดับรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ของประเทศได้ ซึ่งจะเป็นรากฐานสําคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต
  5. ภาคเอกชนคือ Key Economic Driver ของเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต ภาครัฐคือ Key Facilitator ทําหน้าที่สนับสนุนการสร้างโอกาสของภาคเอกชนให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
  6. ภาคเอกชนควรทําข้อเสนอเศรษฐกิจ หรือ White Paper เสนอต่อรัฐบาล โดยเฉพาะหากมีประเด็นข้อคิดเห็นใหม่ๆ สําหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ดร.ปานปรีย์ สรุปภาพรวมว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการบริหารเศรษฐกิจต้องคํานึงถึงผลกระทบจาก “VUCA World” ซึ่งเป็นคําย่อของ ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity) โดยปัจจุบันนี้ปัจจัยหลักสําคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจของโลก คือ geopolitics การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และ climate change ไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและแข็งแรง เกิดขึ้นจากการมองทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ อย่างชัดเจน แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าเดิม ไทยจําเป็นต้องปรับตัวให้ทันตามกระแสโลก ทั้งนี้ไม่ควรละทิ้งอุตสาหกรรมเและธุรกิจเก่า แต่ควรสนับสนุนให้มีการปรับตัวเพื่อเดินต่อได้ พร้อมกับพัฒนา ความพร้อมให้สามารถยกระดับเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

 

“ที่สำคัญท้ายที่สุดคือ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยด่วน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป” ดร.ปานปรีย์ กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

‘วุฒิสาร’ ชี้ปัญหาใหญ่การเมืองไทย คือกติกาไม่แฟร์ ลั่นไม่เห็นด้วยยุบพรรค

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 27 ปี โดยจัดเวทีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ความท้าทายรัฐบาล”  โดย ศ.วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถาเรื่อง “ทิศทางการเมืองไทย” ตอนหนึ่งว่า ที่มาพูดวันนี้ไม่ได้มาทำนายการเมืองไทย แต่คำถามใหญ่ต่อคนไทย ถ้าพูดถึงการเมืองไทย ย้อนไปปี 2540 ที่นับเป็นการเมืองสมัยใหม่ของสังคมไทย จะพบว่าปี 2540 การตื่นตัวของประชาชนเกี่ยวกับกลไกระบบการเมืองใหม่ มีเครื่องมือใหม่ ดึงสิ่งที่ดีทั่วโลกไว้ในการเมืองไทย มีองค์กรอิสระ แต่คำถามคือตั้งแต่ปี 2540 ถึงบัดนี้ เราพอใจการเมืองปัจจุบันหรือยัง มันดีขึ้น หรือแย่ลง หลายคนบอกดีขึ้น อะไรคือดีขึ้น ทุกวันนี้ทำให้คนเบื่อหน่ายการเมือง ปฏิเสธการเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง ก็คือการไม่ลงสมัคร คำถามคือชุดความคิดชุดนี้ เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดหรือไม่

“เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์เชิงประจักษ์ชัดเจนแล้ว ใช่หรือไม่ จึงคิดว่า Perception  (การรับรู้) ทางการเมืองเมือง สำคัญกว่าความจริง คนพร้อมจะเชื่อบนพื้นฐานของ Perception ว่าพูดไปแล้วใช่หรือไม่ใช่ ค่าใช่หรือไม่ใช่ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ขึ้นกับหลักคิดสำคัญคือชอบใคร และไม่ชอบใคร” ศ.วุฒิสาร กล่าว

 

 

ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า ในทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องของการมีฝักฝ่าย มีพวก มีขั้ว แต่คำถามสำคัญของการเมืองไทยถ้าเทียบกับหลายประเทศ ขั้วทางการเมืองในหลายประเทศ เป็นขั้วเชิงอุดมการณ์และความเชื่อ เรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ทฤษฎีทางการเมืองบางอย่าง เชื่อเรื่องเสรีนิยม อนุรักษ์นิยม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น เป็นชุดความเชื่อที่เป็นอุดมการณ์ทางสังคม แต่ขั้วการเมืองไทย ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์เสียทีเดียว แต่เป็นเรื่องความชอบหรือไม่ชอบ มันคือทัศนะต่อตัวคน มันคือทัศนะที่ทำให้รู้สึกดีหรือไม่ดี หลายเรื่องอาจจะไปถึงคำว่าอคติทางการเมือง

ศ.วุฒิสาร กล่าวอีกว่า คำถามต่อไปคือการเมืองไทยมีอะไรดีขึ้นหรือไม่ ในทัศนะของตน เราอาจรู้สึกว่า ประเทศไทย ผ่านรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ใช้เปลือง อายุขัยเฉลี่ย 7-8 ปี แต่ถามว่า ถ้ามองด้วยสายตาที่เป็นธรรมมากขึ้น เราอาจบอกว่า รัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โดยการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 2550 2560 เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เติบโตมากขึ้นและเราอาจไม่รู้สึกคิดว่ามี 2-3 เรื่อง

 

1.สิทธิเสรีภาพของคนมากขึ้น สื่อมวลชนไม่เคยมีสิทธิเสรีภาพแบบนี้ ไม่เคยได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพประชาชนก้าวหน้าไปถึงขนาดสมรสเท่าเทียม นี่คือการพัฒนาทางการเมือง  2.กระจายอำนาจไปจากรัฐกลางไปสู่พื้นที่ดีขึ้น 3.การมีช่องทางหรือกลไกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดีขึ้น กว้างขวางขึ้น

“กลไกพวกนี้ทำให้ระบบความตื่นตัวของประชาชนในทางการเมืองเปลี่ยนแปลง นี่เป็นพัฒนาการอันหนึ่งที่เราอาจไม่ค่อยรู้สึก เราชอบหรือไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ต้องยอมรับว่าปี 2540 ออกแบบหนึ่ง มีกลไกองค์กรอิสระ แต่ให้ สว.แก้ปัญหานี้ แต่ขณะเดียวกันบอกว่า สว.ต้องเป็นกลาง ห้ามหาเสียง ให้แนะนำ สุดท้ายเราก็พบว่า มีการครอบงำ เราก็มาแก้เรื่อง สว.” ศ.วุฒิสาร กล่าว

อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เชื่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพัฒนาทางการเมืองก้าวหน้าขึ้น โดยยกตัวอย่างในรัฐธรรมนูญ มีการให้สิทธิเสรีภาพสื่อมากขึ้น ล่าสุดคือกรณีการสมรสเท่าเทียม เป็นต้น และเมื่อสถาปนาในรัฐธรรมนูญแล้ว ยากที่จะถอยกลับ การมีหลักประกันกับประชาชนเรื่องสุขภาพ การศึกษา การเข้าถึงบริการของรัฐ คิดว่าก้าวหน้าขึ้น อาจไม่ได้ก้าวหน้าเรื่องหนึ่งคือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่เรายังไม่เห็นความชัดเจน

ศ.วุฒิสาร อธิบายว่า คำถามต่อการเมืองไทย อย่าตัดสินบนพื้นฐานของด้านใดด้านหนึ่งบนความชอบหรือไม่ชอบ แต่ที่สำคัญมากที่พบคือ วงจรที่เราคุ้นเคยในทางการเมืองไทย คือการเลือกตั้ง แล้วมีภาพเล่นพรรคเล่นพวก มีความขัดแย้งในสังคม มีคอร์รัปชัน และเกิดการปฏิวัติ เมื่อปฏิวัติเสร็จ ออกกติกา และปล่อยให้มีเลือกตั้ง

“คำถามคือวงจรนี้มันวนอยู่อย่างนี้ ผมเป็น กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เชื่อว่าหลัง 2550 จะไม่มีปฏิวัติ แต่ 7 ปีต่อมามี วงจรนี้เป็นวงจรที่สังคมไม่ปฏิเสธ และยอมรับ อัศวินม้าขาว คิดว่านี่คือจุดอ่อนอันหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยไทย คือยอมรับในอำนาจที่ไม่ได้มาจากกลไกประชาธิปไตย และรับรองอำนาจนั้น ที่สำคัญมากคือเรามีความอดทนน้อยต่อความไม่สมบูรณ์ของระบบการเมือง” ศ.วุฒิสาร กล่าว

 

ศ.วุฒิสาร กล่าวอีกว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ล่าสุดเราเห็นคำหนึ่งที่เท่มากคือ เปราะบาง เราเห็นความเปราะบางทางการเมืองบ่อย ทำไมการเมืองไทยไม่ราบรื่น ไม่ต่อเนื่องเลย มีคนตั้งคำถามคดียุบพรรค นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตออกมาแล้วจะโดนอะไรหรือไม่ ตกลงจะแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ต้องถามประชามติประชาชนก่อน เสีย 3 พันล้านบาท ไม่เสียได้หรือไม่ แต่ถ้าเขาร้องไปแล้วถ้าศาลว่าผิดก็ทำฟรี นิรโทษกรรมทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

 ล่าสุด การได้มาและการรับรอง สว.ใหม่ ตกลง สว.ใหม่จะได้หรือไม่ หลายคนที่ไม่ชอบ สว.ชุดเดิม บอกว่า อะไรก็ได้เอามาก่อน คนเก่าได้ไปสักที ชุดวิธีคิดแบบนี้คือความเปราะบางของการเมืองไทย รัฐบาลไม่สามารถเดินอะไรแบบราบรื่น มีหินให้สะดุดอยู่ตลอดเวลา นายกฯจะถูกออกหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ถามว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอะไร เรื่องเหล่านี้ควรเกิดขึ้นหรือไม่

ศ.วุฒิสาร กล่าวด้วยว่า เมืองไทยต้องกลับมาพูดการเมืองที่มีทัศนะทางบวกบ้าง ต้องมองว่าการเมืองเป็นเรื่องปกติ ขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีทางเห็นตรงกัน สังคมสมานฉันท์ ไม่ได้หมายความว่าสังคมต้องเห็นพ้องต้องกัน แต่คนเห็นต่างกันแสดงความเห็นได้ และมีทางออก และไม่ใช้ความรุนแรง จุดแข็งของระบอบประชาธิปไตยมันแก้ไขตัวเองได้ มันฟื้นตัว ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้ โดยยังคงหลักการของประชาธิปไตย คือรัฐธรรมนูญ

“คิดว่าสังคมยังขาด Core Value (ค่านิยม) ที่เป็นคุณค่าสำคัญของความเชื่อเรื่องประชาธิปไตย และเราตีความว่าการเลือกตั้งไม่ดี แล้วประชาธิปไตยจะดีได้อย่างไร แต่ประชาธิปไตยคือวิถีชีวิต ที่ยึดความหลากหลาย เคารพเสรีภาพคน ตรงนี้คิดว่าถ้าเราไม่ทำอะไร ก็จะบ่นแบบเดิม” ศ.วุฒิสาร กล่าว

อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวอีกว่า ข้อเสนอทางออกในอนาคตของการเมืองไทย เราต้องเข้าใจว่า ประชาธิปไตยเป็นอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน จุดสำคัญสุดอันแรกคือ เราต้องเชื่อก่อนว่าประชาชนมีความบริสุทธิ์ใจจะใช้อำนาจ การแบ่งอำนาจ ถ่วงดุล และตรวจสอบ โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่การเขียนกติกาบ้านเมือง การแบ่งอำนาจ การออกแบบองค์กรอิสระ รัฐสภา แล้วเราบอกว่าต้องมีถ่วงดุล แต่คิดว่าของเราอาจไม่ค่อยสมดุล เราอาจวางน้ำหนักไปในทางหนึ่งทางใดมากเกินไปหรือไม่ เหตุผลที่วางน้ำหนักแบบนั้นเพราะอะไร ย้อนไปคือมายาคติ และวิธีคิด ที่เรามองว่าทุกคนจะโกง เราจะเขียนกติกาที่ป้องกันเยอะ ถ้าคิดว่าทุกคนดี เราจะเขียนกติกาอีกแบบ คือให้เปิดเผย

ศ.วุฒิสาร ชี้ให้เห็นถึงทางออกของปัญหานี้ว่า ต้องเริ่มจากการออกแบบกติกาให้เป็นสากล โดยกติกาที่ใหญ่ที่สุดคือรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอย่าไปบอกว่าใครคนใดคนหนึ่ง มันไม่ได้ โทษไม่ได้ว่า การเมืองสกปรก ก็กติกาเราออกแบบนี้ เมื่อกติกาออกให้มีช่อง เขาก็ทำตามช่อง เพราะวัตถุประสงค์คือทำให้เขาเข้าสู่อำนาจรัฐ ผ่านการชนะการเลือกตั้ง และคนสำคัญที่สุดคือกรรมการ ซึ่งต้องตัดสินตามกติกา เมื่อกติกาเป็นธรรม กรรมการคุมกติกาละเอียด แม่นยำขึ้น โดยไม่ต้องใช้ดุลพินิจ

“มีคนตั้งคำถามว่า ตกลงพรรคการเมืองไทยเป็นอย่างไร ถ้ากลับไปดูพัฒนาการกฎหมายพรรคการเมืองไทยคือ พรรคเกิดง่าย โตยาก ตายง่าย ยุบพรรคง่าย ตนเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคมาตั้งแต่ปี 2550 เพราะพรรคเป็นของประชาชน ถ้ากรรมการบริหารพรรคทำผิดควรลงโทษรายบุคคล” ศ.วุฒิสาร กล่าว

ศ.วุฒิสาร กล่าวว่า การออกแบบกติกาที่เป็นธรรม แฟร์ทุกเรื่อง คีย์เวิร์ดสำคัญคือ 1.เราต้องมีภาพกติกา เห็นภาพที่เป็นองค์รวม จะต้องถูกออกแบบว่ากลไกใดควรมีอำนาจแค่ไหน ใครถ่วงดุลใคร ทุกคนต้องถูกตรวจสอบได้ ที่ผ่านมาเราอาจบอกว่า เรื่องนี้เราไม่ได้สัดส่วน ไม่ได้สมดุล การเมืองถูกตรวจสอบเยอะ แต่องค์กรอิสระไม่ได้ถูกตรวจสอบ กติกาแบบนี้คือการมององค์รวม เราอยากเห็นการเมืองเป็นอย่างไร เจตจำนง ออกแบบกติกาอย่างไรให้ไม่ต้องแก้บ่อย ๆ ทุกอย่างต้องออกกติกาเป็นกลาง แล้วปล่อยให้เขาเล่นกัน ส่วนคนคุมกติกาก็กำกับดูแลให้ดีแล้วกัน  2.การเสริมสร้างสถาบันทางการเมืองให้เข้มแข็งจริง กลไกการพัฒนาระบบรัฐสภา กลไกให้พรรคการเมืองเติบโตต่อเนื่อง และกลายเป็นพรรคที่ประชาชนมีส่วน เป็นเรื่องสำคัญ ทำไมต้องออกแบบให้พรรคมีสาขา 4 ภาค สถาบันทางการเมืองต้องพัฒนาตัวเองด้วย แต่ต้องให้โอกาสเขาต่อเนื่อง3.การเมืองจะดีขึ้นเรื่อย ๆ บนพื้นฐานว่าคนทุกคนดี และทุกคนปรารถนาอยาเป็นนักการเมืองที่ดี คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า Social Control หรือการสร้างการควบคุมทางสังคม ให้การเมืองเป็นระบบเปิด บทบาทสื่อสำคัญมาก การถ่ายทอดการอภิปรายในสภาฯทุกครั้งเป็นเรื่องดี เป็นการเปิดให้ประชาชนเฝ้าดู อยู่ในสายตาตลอด

“ยืนยันว่า ผมมองโลกในทางบวกว่า การเมืองไทยดีกว่าเก่า เรามีพรรคการเมืองใหม่ ๆ เข้ามาทำให้ระบบการเมืองเปลี่ยน ถ้าเราอดทนกับมันต่อไป ยอมให้มันผิดถูกบ้าง แล้วปรับปรุงแก้ไข โดยไม่ใช้อำนาจอื่น การเมืองไทยยังมีแสงสว่างในปลายทาง” ศ.วุฒิสาร กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

แนะรัฐปรับอัตราบำนาญพื้นฐานให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ

 

บำนาญพื้นฐานหรือเบี้ยยังชีพเป็นเครื่องมือความคุ้มครองทางสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะโชคร้ายกลายเป็นคนยากจนในวัยชราที่เปราะบางและสิ้นไร้กำลัง  โดยระดับความคุ้มครองขั้นต่ำที่จะคุ้มครองความยากจนให้กลุ่มครัวเรือนที่ยากจนสุด คือ 2,000 บาท/เดือน ตามข้อมูลสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ดังนั้น หากอัตราบำนาญพื้นฐานหรือเบี้ยยังชีพต่อเดือนต่ำกว่า 2,000 บาท หมายความว่า เป้าหมายของการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุล้มเหลวโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม ระดับอัตราบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน ซึ่งกำหนดจากเส้นความยากจนและเรียกร้องกันมายาวนานหลายปี โดยเฉพาะจากภาคประชาชน และ เป็นนโยบายหาเสียงของหลายพรรคการเมือง ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเป็นจริง ทั้งที่ อัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดในปัจจุบัน เฉลี่ยได้รับคนละประมาณ 650 บาท/เดือน ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ มีระดับต่ำกว่าเส้นความยากจนอย่างมาก และ ไม่มีการปรับยาวนานมากกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยหลักการแล้ว อัตราบำนาญพื้นฐานที่เหมาะสม ควรจะต้องสอดคล้องกับเส้นความยากจน มีการปรับตามค่าครองชีพหรืออัตราเงินเฟ้อ

อุปสรรคสำคัญสำหรับการบรรลุเป้าหมายของความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ คือ การขาด “เจตจำนงทางการเมือง” จากภาครัฐ และได้รับการคัดค้านโดยเหตุผลกล่าวอ้าง เช่น ไม่มีงบประมาณ และ ไม่ได้จ่ายภาษี จึงไม่ควรได้รับ อันเป็นแนวคิดที่ไม่น่าจะถูกต้อง

หลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่ควรต้องคำนึง หากจะอ้างว่า ไม่มีงบประมาณ คือ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม จะต้องพิจารณา “ความมีประสิทธิภาพ” คือ การใช้งบประมาณสำหรับบำนาญพื้นฐานมีประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากผลทวีคูณทางการคลัง (fiscal multipliers) และความคุ้มครองความยากจน (poverty protection) เปรียบเทียบกับการสะสมทุนปีละหมื่นล้านแสนล้านของแต่ละตระกูลเครือข่ายบนยอดปิรามิดและความไร้ประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและมีการฉ้อฉลคดโกงทุจริตงบประมาณ  อีกหลักการสำคัญที่จะต้องพิจารณาได้แก่ “การกระจายอย่างเป็นธรรม” คือ การถ่ายโอนทรัพยากรให้สังคมโดยรวมมีระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยควรตระหนักถึงปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเราสามารถออกแบบระบบบำนาญพื้นฐาน เป็นเครื่องมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำผ่านนโยบายการคลังแบบก้าวหน้า

ยิ่งไปกว่านั้น หากจะอ้างว่า ไม่ได้จ่ายภาษี จึงไม่ควรได้รับ ก็ควรจะต้องยึดหลักพื้นฐานทางภาษีที่สำคัญประการหนึ่ง คือ “ความเป็นธรรมในแนวดิ่ง” (vertical equity) หมายความว่า กลุ่มที่มีโอกาสและทรัพยากรมากกว่า ควรจะเป็นผู้เสียภาษีมากกว่า อีกทั้งทุกคนในสังคมได้ร่วมจ่ายภาษีจากการบริโภค เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการค้า ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ภาษีศุลกากร ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ภาษีเครื่องดื่ม ภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาษีรถยนต์ ภาษีรถจักรยานยนต์ ภาษีแบตเตอรี่ ภาษีสุราและยาสูบ เป็นต้น จึงไม่ใช่ความจริงตามที่กล่าวอ้างกันว่า คนไทยเสียภาษีแค่ 4 ล้านคน

ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า การใช้งบประมาณเพื่อสร้างความคุ้มครองทางสังคมให้ผู้สูงอายุ มีความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่เป็นภาระงบประมาณ และทุกคนสมควรจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทั่วถึงและเป็นธรรม เพราะทั้งสังคมได้ร่วมกันจ่ายภาษี อีกทั้งประโยชน์ของบำนาญพื้นฐาน คือ สามารถช่วยป้องกันวิกฤตสังคมเรื่องความยากจนในผู้สูงอายุ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านตัวทวีคูณทางการคลัง และ สามารถลดความเหลื่อมล้ำผ่านการออกแบบเครื่องมือทางการคลัง โดยงานวิจัยนานาชาติแสดงให้เห็นว่า การลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเกิดผลทางบวกต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เร็วกว่า และ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง

ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ มีการเบิกจ่ายรวม เพิ่มขึ้นจาก 1.45 แสนล้านในปี 2550 เป็น 4.6 แสนล้าน ในปี 2564 ตามรูปที่ 1 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในเมื่อประเทศไทยมีความจำเป็นจะต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ก็ควรจะใช้เป็นโอกาสแก้ไขปัญหาโครงสร้าง โดยปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรม และ สร้างระบบสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตมนุษย์

 
 
 

ที่มา: รายงาน “การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน” คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร (2567) โดยใช้ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง

 

            แหล่งรายได้สำหรับระบบบำนาญพื้นฐานแบบความคุ้มครองทางสังคม ได้มีข้อเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำและองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ สามารถประมวลสรุปได้ ดังนี้

1.ปฏิรูประบบภาษี ใช้เครื่องมือทางการคลังช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความคุ้มครองความยากจนสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้ามากขึ้นสำหรับภาษีทรัพย์สินและภาษีที่ดิน การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่อยู่นอกระบบ ห้ามร้านค้าปฏิเสธการโอนเงินชำระค่าสินค้าและบริการ ตลอดจนลดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนรวย (Pro-rich) เช่น BOI ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีมูลค่าประมาณ 2.8 แสนล้านบาท โดยประมาณครึ่งหนึ่งที่ได้ประโยชน์ไม่ต้องเสียภาษี คือ กลุ่มทุนไทย

2.ปฏิรูประบบงบประมาณ มุ่งเป้าการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน ซึ่งจำเป็นจะต้องตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น เช่น งบโฆษณา งบซื้ออาวุธ งบก่อสร้าง เป็นต้น ตลอดจนต่อต้านการคอร์รัปชัน (Corruption) ของเครือข่ายธุรกิจการเมืองและภาครัฐ แล้วนำงบประมาณกลับคืนมาเพิ่มสวัสดิการและลงทุนให้ประชาชน เช่น บำนาญพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ หรือ พัฒนาทักษะแรงงานทุกช่วงวัย

3.พัฒนาระบบการออม จะต้องบังคับหรือจูงใจให้ “ทุกคน” ในวัยทำงานต้องอยู่ในระบบ และ มีระบบฐานข้อมูล เพื่อให้ผู้ที่สามารถออมเงินได้ ต้องร่วมรับผิดชอบสะสมเงินในวันทำงานเพื่อยามชราภาพ โดยรัฐบาลร่วมจ่ายสมทบการออม

ในเมื่อจะต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นสำหรับงบประมาณสำหรับกำลังคนภาครัฐ ก็ควรจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาโครงสร้าง เพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรม และ สร้างระบบสวัสดิการคุณภาพชีวิต โดยดำเนินการตามข้อเสนอต่าง ๆ ทางเศรษฐศาสตร์เรื่องแหล่งรายได้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังการเกษียณอายุ  

เพราะประเทศไทยประสบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว และ กำลังก้าวเข้าสู่ Super–Aged Society หรือ สังคมผู้สูงอายุขั้นสูงสุด ดังนั้น การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานสำหรับประชาชน ตามหลักการ “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” และ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จะเป็นสามารถป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและโอกาสการทำงาน กลายเป็นความยากจนในวัยชรา แล้วส่งต่อความยากลำบากทางเศรษฐกิจไปยังรุ่นลูกหลาน

อัตราบำนาญพื้นฐานที่เหมาะสม ควรจะสอดคล้องกับเส้นความยากจนเพื่อให้คุ้มครองความยากจนได้ตามวัตถุประสงค์ของบำนาญพื้นฐาน และมีการปรับตามอัตราเงินเฟ้อ โดยมีแหล่งรายได้ตามข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์มากมายที่รอรัฐบาลเพียบพร้อมความกล้าหาญทางจริยธรรมช่วยวางรากฐานที่มั่นคงให้อนาคตของประเทศ

 

หมายเหตุ: เนื้อหาของบทความนี้มาจากรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง “การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน” โดยคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร (2567) และ โครงการวิจัย “การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ” โดย ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย, ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล และคณะ (2566) ได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

EF หรือ การพัฒนาทักษะสมอง Executive Functions คืออะไร

 

การพัฒนาทักษะสมองหรือ Executive Functions : EF คืออะไร

  • Executive Functions – EF คือ ความสามารถระดับสูงของสมองมนุษย์ ที่ใช้ในการกำกับความคิด อารมณ์และการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย (ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร)
  • การพัฒนาทักษะสมอง EF เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งควรได้รับการพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพราะ เด็กที่ได้รับการพัฒนาทักษะสมองหรือ Executive Functions: EF อย่างถูกต้อง จะสามารถพัฒนาความคิดและพฤติกรรมให้มีภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดี มีวินัยและความรับผิดชอบ ที่จะผลักดันตนเองไปสู่เป้าหมายของชีวิต

 

มีสถาบันหรือองค์กรใดใช้แนวทางการพัฒนาทักษะสมอง Executive Functions บ้าง

  • ความรู้เรื่องทักษะสมอง Executive Functions – EF เป็นความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ประมาณทศวรรษที่ 1990 เป็นที่ยอมรับว่าเป็นความรู้สำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งสถาบันวิชาการระดับโลก เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด , National Institute of Health  สหรัฐอเมริกา, หรือ Center for Educational Neuroscience ประเทศอังกฤษ ฯลฯ ต่างให้ความสนใจและผลักดันให้นำหลักการธรรมชาติสมองส่วนหน้า มาใช้ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศตนเองอย่างจริงจัง  เพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่ที่เข้มแข็งในโลกยุคใหม่ที่แปรปรวน  
  • สถานการณ์ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับสิ่งเร้ามากมาย เด็กที่ มีทักษะด้าน EF จะสามารถจัดการชีวิตได้ เพราะได้รับการฝึกฝนให้เป็นคนรู้จักใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ควบคุมพฤติกรรมตนเองได้ ยั้งคิดก่อนทำ ไม่หุนหันพลันแล่น มีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำ มีความรับผิดชอบ มีวินัย มีความมุ่งมั่นที่จะทำเป้าหมายให้สำเร็จ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค สามารถอยู่กับคนอื่นได้ สิ่งเหล่านี้จะปลูกฝังในตัวเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ส่งผลให้ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการเรียน การทำงาน การมีชีวิตครอบครัว รวมถึงการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างบุคลากรที่มีคุณค่า ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประเทศ

 

  •  

ผู้ที่มีบทบาทและเกี่ยวข้องในการร่วมพัฒนาทักษะสมองเด็กด้วย  Executive Functions บ้าง

  • ทุกคนที่อยู่เป็นระบบนิเวศรอบตัวเด็ก ได้แก่ พ่อแม่ – ผู้ปกครอง ครูปฐมวัย พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องด้านการสาธารณสุขที่ดูแลแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ รวมไปถึงบุคลากรแวดล้อมในชุมชน ทั้งผู้นำชุมชนท้องถิ่นไปจนถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

 

จังหวัดเชียงรายมีแนวทางการพัฒนาทักษะสมอง Executive Functions อย่างไร

  • พ่อแม่ควรรู้ “หลักการ 7 วิธีพัฒนาลูกสมวัย สมองดีมี  EF” คือ กิน นอน กอด เล่น เล่า ช่วยตนเองและช่วยงานบ้าน  โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) นำความรู้นี้ไปสู่พ่อแม่ผู้ปกครอง
  • ครูควรรู้ธรรมชาติของพัฒนาการด้านตัวตน (Self)  พัฒนาการด้านทักษะสมอง EF และพัฒนาการเด็ก และจัดกิจวัตรและกิจกรรมในสถานศึกษาปฐมวัย ด้วย 6 โอกาสพัฒนา EF”  คิด ทำ ทำด้วยกัน ตั้งเป้าวางแผน      ท้าทาย ทบทวน

 

เหตุใดจึงต้องเป็นกลุ่มเด็กปฐมวัย (0-6 ขวบ)

  • เพราะจากการศึกษาของนักประสาทวิทยาพบว่า ช่วงวัย 3-6 ปี เป็นช่วงเวลาที่เส้นใยประสาทในสมองส่วนหน้ามีการพัฒนาได้ดีที่สุด ดีกว่าทุกช่วงวัย
 
 
 

กลไกที่จะทำให้การขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเด็ก ด้วย EF ประสบความสำเร็จ

  • ใช้หลักการระบบนิเวศ กล่าวคือ ทุกองค์ประกอบที่อยู่ล้อมรอบตัวเด็ก ต่างมีอิทธิพลต่อการเติบโตของพัฒนาการทุกด้านในเด็ก  ดังนั้น ต้องทำให้ทุกองค์ประกอบที่อยู่รอบตัวเด็กมีความรู้ความเข้าใจ และร่วมกันส่งเสริมตามบทบาทภาระหน้าที่ของตน และเชื่อมประสานกันอย่างเป็นองค์รวม
 
 
 

ปัญหาเด็กก้าวร้าว เด็กติดมือถือ แก้ได้หรือไม่ ปัญหาที่เกิดกับเด็กและ เยาวชน จะลดลงได้อย่างไร

  • มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทักษะสมอง EF จากทั่วโลก รวมทั้งผลการขับเคลื่อน EF ใน จ.เชียงราย ต่างยืนยันผลตรงกันว่า การพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพตั้งแต่ปฐมวัย โดยให้ความรู้พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ดูแล และครูปฐมวัย เพื่อให้ความรักความอบอุ่น ตอบสนองต่อเด็กอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างให้เด็กมีตัวตน เป็นคนสำคัญ มีความสามารถ และเมื่อถึงวัยเข้าเรียน ครูสร้างกิจวัตรกับกิจกรรมในห้องเรียนปฐมวัย ที่ช่วยให้เด็กได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะสมอง EF ด้านต่างๆ เช่น ให้มีประสบการณ์ที่หลากหลายผ่านความสุขจากการเล่น ได้ฝึกการยับยั้งชั่งใจ อดทนรอคอย ชะลอความอยาก หรือได้ฝึกยืดหยุ่นปรับตัวปรับใจ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยเกิดวงจรประสาทที่ฝังตัวในสมองส่วนหน้า จนกลายเป็นบุคลิกภาพและพฤติกรรมที่ดีในตัวเด็ก ฝังติดตัวไปตลอดชีวิต การส่งเสริม EF ตั้งแต่ปฐมวัยจึงสามารถแก้ไขปัญหาเด็กก้าวร้าว เด็กติดมือถือ และพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้ และจะนำไปสู่การลดลงของปัญหาที่เกิดกับเด็กและเยาวชนในอนาคตอย่างแน่นอน

              

ต้องใช้เวลามากแค่ไหน และมีการวัดผลอย่างไร

  • ปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่ sensitive หรือไวต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ ดังนั้น การกระทำใดๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือครูมีต่อเด็ก ย่อมส่งผลต่อการแตกแขนงของเส้นใยประสาท ไม่ว่าจะเป็นผลด้านบวกหรือด้านลบ เช่น เด็กที่ผู้ใหญ่ยื่นมือถือให้เล่นตั้งแต่ก่อน 2 ขวบ การทำงานของสมองก็มีโอกาสเสียหายได้ง่าย แต่โชคดีที่นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า ในวัยเด็กเล็ก การฟื้นตัวของสมองก็ทำได้เร็วกว่าในวัยที่โตขึ้น ดังนั้น หากเด็กปฐมวัยได้รับการฟื้นฟู ด้วยความรักความเข้าใจของพ่อแม่ผู้ปกครองหรือครู เช่น ด้วยการกอด ชื่นชม การให้โอกาสคิด ทำ เล่น ฯลฯ อย่างมีความสุข สมองและจิตใจของเด็กก็จะสามารถฟื้นฟูได้แน่นอน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

โอกาสและการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงไทย

ประเด็นสำคัญ

ที่ผ่านมา ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ถูกกล่าวถึงในฐานะของหนึ่งในเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย แต่กลไกสำคัญในกระบวนการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่แค่การกำหนดนโยบายที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ต้องมีกลไกที่ผสานกันระหว่าง ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และ ‘เทคโนโลยี’ จึงจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้พัฒนาทั้งรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้คน ที่ทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปสู่ระดับโลกได้อย่างแท้จริง

ทำไมต้อง ‘Soft Power’ ?

ศาสตราจารย์โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye) อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ได้อธิบายคำว่า ‘Soft Power’ ไว้ว่า ‘การทูตสาธารณะ (Public Diplomacy)’ คือเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริมการใช้อำนาจการโน้มน้าวใจเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเครื่องมือหลัก ได้แก่ ภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม วิทยุ และโทรทัศน์

คำนี้เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ในช่วงยุคสงครามเย็นและหลังสงครามเย็น ในฐานะกลยุทธ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย โดยมีทั้งการใช้กำลังทหารหรือเรียกว่าฮาร์ดพาวเวอร์ (Hard Power) และมีการสร้างอิทธิพลเพื่อให้ประเทศอื่น ๆ ยอมทำในสิ่งที่ต้องการโดยยินยอมพร้อมใจ อย่างซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ควบคู่กันมานับตั้งแต่นั้น

ปัจจุบันซอฟต์พาวเวอร์ถูกนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ ในประเทศไทยซอฟต์พาวเวอร์ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในระดับประเทศ เช่นในช่วงที่ผ่านมาถูกกล่าวถึงในฐานะนโยบายสำคัญที่รัฐบาลจะผลักดัน ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’

โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางทางรวมเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศอีกด้วย

ซอฟต์พาวเวอร์ที่ขาดหายในประเทศไทย

แม้ประเทศไทยจะมีศักยภาพในด้านซอฟต์พาวเวอร์หลายด้านเป็นต้นทุนเดิม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ควรจะเป็น ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายมิติ

1) สังคมไทยยังขาดความเข้าใจในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์

2) การถูกนำไปผูกโยงกับการเมือง

และ 3) ขาดการบูรณาการและวางแผนระยะยาว

 

Soft Power ที่โซเชียลมีเดียกล่าวถึง
การจัดอันดับ Global Soft Power Index

จากการจัดอันดับ Global Soft Power Index ประจำปี 2566 ในด้านวัฒนธรรมและมรดก อันประกอบไปด้วย 6 องค์ประกอบ ดังนี้ 

1) ผู้อิทธิพลในด้านศิลปะและความ บันเทิง 

2) อาหารที่ทั่วโลกชื่นชอบ 

3) สถานที่ที่ดีเยี่ยมใน การเยี่ยมชม 

4) มรดกอันยาวนาน 

5) วิถีชีวิตที่น่าดึงดูด ใจ 

และ 6) ผู้นำด้านกีฬา โดยได้มีการจัดอันดับและการ ให้คะแนนเต็มอยู่ที่ 10 คะแนน 

 

ผ่านการรวบรวมคำตอบ จากผู้คนกว่า 110,000 คน ในกว่า 100 ประเทศ ด้วยวิธี สำรวจการรับรู้ของแบรนด์ระดับประเทศจากทั่วโลก ผลการสำรวจ พบว่า ประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ในอุตสาหกรรมบันเทิง 5 อันดับ โดยอันดับแรก คือ ประเทศฝรั่งเศส 7 คะแนน รองลงมาจะเป็นประเทศ สหรัฐอเมริกาและประเทศอิตาลี 6.9 คะแนน ประเทศ สเปน 6.6 คะแนน และประเทศอังกฤษ 6.5 คะแนน โดย เรียงตามอันดับ สำหรับในเอเชียประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจใน อุตสาหกรรมบันเทิงสูงที่สุด ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น 6 คะแนน (อันดับที่ 6 ของโลก) สาธารณรัฐประชาชนจีน 5.3 คะแนน (อันดับที่ 10 ของโลก) ประเทศเกาหลีใต้ 5 คะแนน (อันดับที่ 17 ของโลก) และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 4.4 คะแนน

 

ภาพรวมสื่อบันเทิงในไทยและระดับโลก

จากการสำรวจของ Intellias Global Technology Partner ในด้านสื่อและอุตสาหกรรมบันเทิงในปี 2567 พบว่าสื่อบันเทิงในรูปแบบสตรีมมิ่งมีการเติบโตและมีความ หลากหลายและจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาภาพรวมภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566 – 2567 พบว่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ที่ ดาหน้าเข้าสู่วงการสื่อมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ตลาด อินฟลูเอนเซอร์จึงยังได้คงรับความนิยมจากทั้งแบรนด์และ เอเจนซี่ต่าง ๆ ส่งผลให้ “แฟนด้อม มาร์เก็ตติ้ง” (Fandom Marketing) หรือกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ ผ่านทางแฟนคลับถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพราะความ เคลื่อนไหวของเหล่าด้อมได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วถึง “บทบาท และอำนาจการซื้อ” ในการสนับสนุนศิลปินหรืออินฟลูเอน เซอร์ในดวงใจจากหลายแคมเปญ สำหรับแพลตฟอร์ม สื่อต่าง ๆ นั้น โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ยูทูบ ติ๊กต๊อก สามารถครองใจผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทย แต่ยูทูบเป็น แพลตฟอร์มยอดนิยมในการสร้างรายได้ อย่างไรก็ดี การ ที่ติ๊กต๊อกเข้าสู่วงการอีคอมเมิร์ซและผลักดันให้กระแส Live-Commerce หรือการไลฟ์ขายของออนไลน์ถูกใจผู้ใช้ งานติ๊กต๊อกในไทยที่ชื่นชอบการชอปปิงออนไลน์อยู่เป็นทุน เดิมอยู่แล้ว ก็เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าติดตาม

ถอดบทเรียนซอฟต์พาวเวอร์ ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทำอย่างไรให้สำเร็จ
การโปรโมตซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศญี่ปุ่น

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Global Asia ที่รายงานเกี่ยวกับ ความเคลื่อนไหวในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ระบุว่า ประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายการโปรโมท ซอฟพาวเวอร์ของตัวเองผ่านแคมเปญที่มีชื่อว่า คูล เจแปน (Cool Japan) โดยที่ผ่านมาญี่ปุ่นจะใช้งบ ประมาณสาธารณะสนับสนุนในสิ่งที่ เรียกกันว่า ‘วัฒนธรรมชั้นสูง’ ของตัวเองมาโดยตลอด ต่อมา รัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องการทำแบบเดียวกันกับวัฒนธรรม ‘Pop culture’ ของตัวเองให้เป็นที่รู้จัก รัฐบาลญี่ปุ่น จึงได้มีการสนับสนุนกิจกรรมการแข่งขัน คอสเพล ย์จากทั่วโลกให้มาแข่งที่ญี่ปุ่น และยังได้มอบรางวัล นานาชาติประจำปีให้กับศิลปินวาดการ์ตูน มัง

การโปรโมตซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศเกาหลีใต้

ซอฟต์พาวเวอร์เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับจาก ประเทศเกาหลีใต้ จากที่เคยต้องกู้เงินกองทุนการเงิน ระหว่างประเทศ (IMF) มาถึง 57 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 แต่ปัจจุบันเกาหลีใต้กลาย เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ เป็นอันดับที่ 12 ของโลก มีมูลค่ากว่า 1.63 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

เกาหลีใต้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้จากการมุ่งพัฒนา อุตสาหกรรมบันเทิงอย่างจริงจัง จนเกิดเป็นกระแส Korean Wave หรือ ฮันรยู (Hallyu) โดยรัฐบาล เกาหลีใต้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการจัดการและส่ง เสริมอย่างเต็มที่ รวมถึงมีการก่อตั้ง ‘Korea Creative Content Agency (KOCCA)’ หรือสำนักงานส่งเสริม คอนเทนต์เกาหลี เมื่อปี 2009 ที่ส่งเสริมและช่วยเหลือ ด้านเงินทุนให้แก่ภาคเอกชนในการสร้างคอนเทนต์และ พัฒนากลยุทธ์และถ่ายทอดเนื้อหาสาระความเป็นเกาหลี ในคอนเทนต์ทุกรูปแบบสู่สายตาคนทั่วโลก

กรณีศึกษา มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจาก
Korean Wave หรือ ฮันรยู (Hallyu)

ซอฟต์พาวเวอร์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ GDP ของ เกาหลีใต้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ ด้านการ ท่องเที่ยว อิทธิพลของ Korean Wave ที่เกิดขึ้น จากภาพยนตร์ วงดนตรี ละคร ที่ทำให้คนมีโอกาส ได้เห็นหลายแง่มุมของประเทศผ่านสื่อบันเทิง เช่น ความปลอดภัย ระบบขนส่งสาธารณะ ความทัน สมัยของเทคโนโลยี เป็นต้น ยิ่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ในของเกาหลีใต้หรือ K-Travel ให้มีชื่อเสียงในทางที่ดี ขึ้นอย่างชัดเจน

 

ขณะที่ ด้านภาษาและวัฒนธรรม ด้วยพลังของ ซอฟต์พาวเวอร์ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ปัจจุบันผู้คน ทั่วโลกจึงให้ความสนใจและเข้าใจในวัฒนธรรมและ ภาษาเกาหลีมากขึ้น จากรายงานของ Duolingo แอปพลิเคชันสอนภาษาพบว่าภาษาเกาหลีได้รับ ความนิยมมากเป็นอันดับที่ 7 ของโลกไปแล้ว

ซอฟต์พาวเวอร์ไทยอยู่ตรงไหนของโลก

ซอฟต์พาวเวอร์สามารถนำมาใช้เพื่อส่งเสริมจุดยืน ของประเทศในเวทีโลกผ่านการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ของประเทศ จากการจัดอันดับ Global Soft Power Index 2023 โดย Brand Finance ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 41 ของโลก ซึ่งตกลงจาก เดิมซึ่งได้ที่ 35 ในปีก่อน 6 อันดับ

ด้าน ดร.ชาคริต พิชยางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่ง เสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ได้ อธิบายถึงประเด็น ที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวชี้วัด Global Soft Power Index ที่ต้องมองแบบองค์รวม “ เมื่อพูดถึง Soft Power คนมักจะคิดว่าเป็นเรื่องทุนวัฒนธรรม แต่ ถ้าเราดูจากการจัดโครงสร้างดัชนีในการจัดอันดับ Global Soft Power Index จะมีการแบ่งนํ้าหนักคะแนน เป็น 5 ส่วน คือ Familiarity 10% หมายความว่า คุณต้องมีความคุ้นเคย Reputation 10% คือความ มีชื่อเสียงเชิงบวก Influence 30% คือคุณต้องรู้สึกว่า สินค้าและบริการสามารถชักจูงให้คุณเชื่อถือและชื่นชม ได้ และให้นํ้าหนัก 7 Soft Power Pillars อีก 40% ฉะนั้นต้องมองเป็น holistic view คือ มุมมองแบบองค์ รวมในการขับเคลื่อน Soft Power ”

ข้อเสนอแนะ
ด้านอุตสาหกรรมบันเทิง

หม่อมราชวงศ์ เฉลิมชาตรี ยุคล ตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขาภาพยนตร์ ได้กล่าวว่า “หาก ต้องการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์วงการบันเทิงไทยให้ไป สู่สายตาชาวโลกและเชื่อมั่นว่า ‘ของไทยดีจริง’ จะต้องมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) พัฒนาบุคลากรในประเทศให้มี ความสามารถ 2) การเปิดตลาดให้ใหญ่ขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และ 3) เพิ่มบทบาทของรัฐด้วยการเข้า มาเป็นตัวกลางเพื่อสนับสนุนการขายคอนเทนต์ และ สร้างพื้นฐานของทรัพยากรในประเทศไทยให้แข็งแรง”

 

ดร.ไพบูลย์ ปิตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “มองว่าการสร้าง ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้มีอิทธิพล ควรมีองค์ ประกอบ 3 อย่างที่ร่วมมือกัน 1) ภาคธุรกิจเอกชน B : Business จำเป็นต้องมีความเชื่อมต่อกัน ระหว่างทรัพยากร 2) ภาครัฐ G : Government มี ความสำคัญมากในบทบาทของการจัดองค์กร ภายในประเทศ เช่น หน่วยงานที่รับผิดชอบให้เป็น ระบบ เปลี่ยนโครงสร้างจัดตั้งกลไก และบูรณาการ ได้ทุกกระทรวง และ 3) พลเมือง C : Citizen เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งตัวเองในการใช้การทูต สาธารณะ โดยใช้พลเมืองเกาหลีที่มีโอกาสออกไป อยู่ในต่างประเทศเป็นทูตในการถ่ายทอดวัฒนธรรม ได้ด้วยตัวเอง นับเป็นการทำการทูตโดยอัตโนมัติ”

 

จากข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายในข้างต้นกำลัง สะท้อนว่าประเทศไทยเริ่มมองเห็นความสำคัญแต่ ยังไม่สามารถผลักดันให้ซอฟต์พาวเวอร์กลายเป็น พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เต็มที่ ดังนั้นจึงควรมี แนวทางในการขับเคลื่อนทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนี้

 

การขับเคลื่อนจากภาคเอกชน

ด้านสินค้าและบริการ ธุรกิจไทยหลายแห่งมุ่งเน้นการ พัฒนาสินค้าและบริการที่สอดแทรกเอกลักษณ์ของ ไทยเข้าไปผสมผสานกับนวัตกรรมใหม่ ๆ การสนับสนุนงานศิลปะและวัฒนธรรม เช่น แสดงงาน ศิลปะและวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้งระดับประเทศและระดับ นานาชาติ การสื่อสารผ่านสื่อ ภาคเอกชนไทยใช้สื่อเป็นสื่อกลาง ที่มีพลังสำคัญในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของ ประเทศไปสู่สายตาชาวโลก การพัฒนาบุคลากร ภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาค บริการให้มีคุณภาพตรงความต้องการของตลาด และ เพียงพอต่อความต้องการ

 

การขับเคลื่อนจากภาครัฐ

การขับเคลื่อนจากภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญใน การเป็น ‘Facilitator’ หรือผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนของ ภาคเอกชน ผ่านนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ดังนี้ ปรับปรุงกฎเกณฑ์ เนื่องจากปัจจุบันยังมีกฎเกณฑ์ บางข้อในประเทศไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ซอฟต์พาวเวอร์ เช่น กฎหมายลิขสิทธิ์ใน ประเทศไทยไทยยังมีความซับซ้อน และควร สนับสนุนการระดมทุนสำหรับโครงการซอฟต์พาว เวอร์ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น เงินอุดหนุน การยกเว้น ภาษี หรือการจัดตั้งกองทุนสนับสนุน เป็นต้น พัฒนาบุคลากร การพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการ ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาหลักสูตร มีทุน สนับสนุนการพัฒนา นอกจากนี้รัฐยังสามารถ สนับสนุนในการสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐและ ภาคเอกชนด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

Brand Finance. GLOBAL SOFT POWER INDEX 2023. สืบค้นจาก https://brandirectory.com/softpower/nation

Intellias. 2024 Media & Entertainment Industry Qutlook + Key Trends. สืบค้นจาก https://intellias.com/media-entertainment-industry-trends/

dataxet infoquest. ภาพรวมภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566 – 2567. สืบค้นจาก https://www.dataxet.co/media-landscape/2024-th

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นซอฟท์พาวเวอร์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน. สืบค้นจาก https://nida.ac.th/economy-into-soft-power-for-sustainable-development/

 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

บทบาทของการตรวจสอบเพื่อดำรงไว้ซึ่งสัตยธรรม (Integrity)

 

[Eng below]

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ “Guardians of Good” ถ่ายทอดเรื่องราวความมุ่งมั่นของคนทรูที่มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางด้านความยั่งยืนของทรู คอร์ปอเรชั่น โดยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้คะแนนการประเมิน  CSA (Corporate Sustainability Assessment) สูงสุดจาก 166 บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโลกที่ได้เข้าร่วมการประเมินของ S&P Global และติดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ปี ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.true.th/blog/djsi/

 

การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลของประเทศไทยกำลังเกิดขึ้นอย่างเร็วเร่ง สะท้อนจากการพัฒนาโครงข่าย 5และปัญญาประดิษฐ์ โดย ทรู คอร์ปอเรชั่นถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์ม ตลอดจนโซลูชั่นต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อนโยบายประเทศไทย 4.0

 

ด้วยภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานต่างๆ สอดรับกับหลักธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงตั้งฝ่ายตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวน (Internal Audit & Investigation) นำโดย วรัญญา ชื่นพิทธยาธร ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการการควบคุมภายในต่างๆ ขององค์กร ให้เป็นตามนโยบายภายในองค์กร กฎเกณฑ์ภายนอก และมาตรฐานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ เธอยังทำหน้าที่รับผิดชอบสืบสวนสอบสวนเหตุแห่งพฤติการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ การทุจริตภายในองค์กร ซึ่งเป็นการปกป้องคุ้มครองชื่อเสียงและทรัพย์สินขององค์กร

 

วรัญญา ได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบทบาทและความท้าทายของ ฝ่ายตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวนซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยสร้างพื้นฐานที่สำคัญขององค์กร ในการสนับสนุนให้ ทรู คอร์ปอเรชั่น พิชิตเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำ Telecom-Tech Company ของภูมิภาค

 

ผู้พิทักษ์ความเที่ยงธรรม

 

วรัญญากล่าวถึงความสนใจงานด้านการตรวจสอบของเธอว่า เกิดขึ้นจากความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับการวิธีการในการดำเนินธุรกิจ การระบุความเสี่ยง และความโปร่งใสทางการเงิน นอกจากนี้ ด้วยธรรมชาติของการตรวจสอบที่เป็นพลวัตน์และโอกาสในการปรับปรุงธรรมาภิบาลองค์กร ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงดึงดูดให้เธอทำหน้าที่นี้” กล่าว

 

เธอย้ำว่า การรักษาความเที่ยงธรรม และความเป็นอิสระถือเป็นหัวใจสำคัญของานตรวจสอบภายใน ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานสามารถรักษาสถานะดังกล่าวไว้ได้ ทางฝ่ายได้มีการร่าง “กฎบัตรของฝ่ายตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวน” (Internal Audit & Investigation Charter) ซึ่งกำหนดบทบาท ความรับผิดชอบ และแนวทางการรายงานอย่างชัดเจน

 

ทั้งนี้ แผนการตรวจสอบภายใน มีความสอดรับกับเป้าหมาย คุณค่า และกลยุทธ์องกร  ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ความสำคัญต่องานตรวจสอบภายใน ฝ่ายตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวน จำเป็นต้องมีการรายงานต่อคณะผู้บริหารระดับสูง และคณะกรรมการตรวจสอบ ตลอดจนคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

 

“ความเที่ยงธรรมและความเป็นอิสระ ถือเป็นคุณค่าสำคัญที่คนทำสายงานตรวจสอบภายในต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด โดยสมาชิกในทีม จะมีการตรวจสอบและประเมินผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการปกป้องคุ้มครองผู้เกี่ยวข้อง ทำให้องค์กรดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกัน ยังคงรักษาไว้ซึ่งปราศจากอคติในการปฏิบัติงาน” เธออธิบาย

 

เฝ้าระวัง

 

วรัญญา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การตรวจสอบภายในของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ใช้วิธีการตรวจสอบตามฐานความเสี่ยงเป็นแนวทาง ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการประเมินกระบวนการออกแบบ และความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ซึ่งพิจารณาทั้งด้านธรรมาภิบาลด้านไอที ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการปกป้องข้อมูล

 

ทั้งนี้ การประเมินความเสี่ยงจะดำเนินงานตามแผนการตรวจสอบภายใน โดยจะมีการทำงานร่วมกันอย่างกับฝ่ายปฏิบัติการ (first line of defense) และฝ่ายบริหาร (second line of defense) ซึ่งการประเมินดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ดี

 

“เราพัฒนาช่องทางสื่อสารแบบเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนได้มีส่วนร่วม โดยจะมีการรายงานผลการตรวจสอบภายใน ต่อคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบยัง โดยการรายงาน มุ่งเน้นความครบถ้วนและกระชับรัดกุมของข้อมูล ระบุถึงประเด็น ผลกระทบ ตลอดจนข้อแนะนำ อย่างตรงเป้า ให้มุมมองต่อเคสต่างๆ ที่ค้นพบอย่างรอบด้าน” เธออธิบาย

 

ทั้งนี้ งานด้านตรวจสอบภายในของ ทรู คอร์ปอเรชั่น จะมีการติดตามผลการปรับปรุงตามข้อแนะนำในประเด็นที่ตรวจพบ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริหารดำเนินการตามแผนการปรับปรุงที่ให้ไว้ ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และมีการสื่อสารกระบวนการดังกล่าวกับผู้บริหารผ่านช่องทางการประชุม Management Committee อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องในเป้าหมาย และการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ

 

โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

 

“เราอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงบริการด้านโทรคมนาคม เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว งานตรวจสอบภายในจึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี และกำหนดให้มีการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ในการตรวจสอบภายใน โดยนำเอาเทคโนโลยีที่จำเป็นมาใช้ ผ่านการอบรมผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยี อาทิ RPA (Robotic Process Automation) ใช้ในงานตรวจสอบ  นอกจากนี้ เรายังมีการประเมินและปรับใช้เทคโนโลยีในแนวทางการตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้เท่าทันและสามารถคุมความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น” วรัญญากล่าว

 

วรัญญาและทีม ยืนหยัดต่อการทำหน้าที่พิทักษ์ธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ความทุ่มเทเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ความสอดประสานเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนความตั้งมั่นและเด็ดเดี่ยวในการประเมิน การควบคุม และการบริหารความเสี่ยง แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของงานตรวจสอบภายใน และสืบสวนสอบสวน ต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งธรรมาภิบาลองค์กรในยุคสมัยใหม่ ท่ามกลางพลวัตน์ของเทคโนโลยีที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย งานตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวน พร้อมแล้วที่จะเดินไปพร้อมความสำเร็จขององค์กร ภายใต้หลักธรรมมาภิบาลที่ดี และพร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกยุคดิจิทัลแห่งอนาคต เพื่อมุ่งไปสู่การเป็น Digital Internal Auditor และ Trusted Data & Tech Advisor ของ ทรู คอร์ปอเรชั่น

Good Governance in Tech: The Role of Audits in Safeguarding Integrity

This article is part of the “Guardians of Good” series, which celebrates the people who ensure True Corporation’s commitment to sustainability. As of December 8, 2023, True Corporation achieved the highest CSA score out of XX companies assessed in the telecommunications Industry in the S&P Global Corporate Sustainability Assessment and was listed in the DJSI indices for the sixth year in a row. Find out more here. https://www.true.th/blog/djsi/

Thailand’s digital transformation is picking up speed. From 5G to artificial intelligence, True Corporation plays a critical role in building the infrastructure, platforms and solutions needed for Thailand 4.0. With this outsize role comes equally great responsibilities towards Thai society. To ensure the quality and integrity of its operations, True Corporation relies on its Internal Audit & Investigation function, led by Warunya Chenpitayaton.

Ms. Warunya has been the head of Internal Audit & Investigation at True Corporation since the amalgamation of True and dtac in March 2023. She supervises the Internal Audit and Investigation functions across the company’s diverse business units, ensuring adherence to with internal policies, external regulations, and industry standards. She is also responsible for handling the investigation of fraud and misconduct cases, safeguarding the company’s reputation and assets.

Ms. Warunya shared with us her insights on the role and challenges of the Internal Audit & Investigation function to support and monitor True’s ambitions of becoming a telecom-tech leader in the region.

Guardians of Good

“My inclination towards the audit function developed from my fascination with understanding how business operates, identifying risks, and ensuring financial integrity. The dynamic nature of audits and the opportunity to contribute to improved corporate governance and risk management drew me to this profession,” she said.

Ms. Warunya emphasized that maintaining independence and objectivity is paramount in internal auditing. To achieve this, she said that her team established a robust Internal Audit Charter that clearly outlines their roles, responsibilities, and reporting lines.

Additionally, Ms. Warunya said that the internal audit plans are strategically aligned with the company’s objectives, values and strategies. This requires an ongoing dialogue with senior management and the company board.

“Maintaining independence and objectivity is paramount in internal auditing. We regularly evaluate potential conflicts of interest and implement safeguards. As a result, our audits contribute to the company’s strategic direction while remaining unbiased in our assessments,” she said.

Keeping Watch

Ms. Warunya said that the audit team employs a comprehensive risk-based audit approach. This entails evaluating the design and operating effectiveness of internal controls, including those related to IT Governance, cybersecurity, and data protection.

They evaluate the risks on the areas to be audited under their Internal Audit Plan and collaborate with first and second lines of defense. Their assessments are aligned with industry best practices and regulatory requirements.

“We maintain open channels of communication with our stakeholders. Regularly scheduled meetings with the board and audit committee allow us to present our findings and recommendations. The reports must be very concise, providing a clear overview of the issues identified, potential impact, and suggested actions,” she said.

Ms. Warunya said her function is benchmarked through periodic external and internal assessments in accordance with the Internal Audit Standards. The outcomes are then presented to the Audit Committee for further enhancement initiatives.

A Fast-Changing World

“We are in a fast-changing technology and telecommunications arena. To keep up, the audit function invests in ongoing training and development. We also establish partnerships with experts in emerging technologies, such as RPA [robotic process automation], and collaborate with them to understand potential audit implications. Additionally, we regularly assess and adapt their audit methodologies to incorporate new technology-related risks and controls as they emerge,” Ms. Warunya said.

Ms. Warunya Chenpitayaton and her team stand as guardians of financial integrity and governance. Their dedication to independence, objectivity, and strategic alignment, along with their unwavering focus on assessing internal controls and risk management, underscores the pivotal role of the internal audit function in modern corporate governance. By rigorously measuring their performance, benchmarking, and embracing the technological zeitgeist, they are impeccably poised to navigate the challenges of tomorrow.

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทรู คอร์ปอเรชั่น

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

เส้นทางอันพึงปรารถนาของปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) สำหรับประเทศไทย

 

ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI หรือ GenAI) คือ ปัญญาประดิษฐ์ประเภทหนึ่งที่สามารถใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์สถิติในรูปแบบของอัลกอริทึม (Algorithm) ในการเรียนรู้ชุดข้อมูลเพื่อสร้างผลลัพธ์ในรูปแบบใหม่ เช่น ข้อความ รูปภาพ เพลง หรือ สื่อในรูปแบบอื่น ๆ โดยมีการประยุกต์ใช้งานแล้วในหลายอุตสาหกรรม เช่น ศิลปะ, การพัฒนาซอฟต์แวร์, การออกแบบผลิตภัณฑ์, การเขียน, สุขภาพ, การเงิน, เกม, การตลาด, และแฟชั่น เป็นต้น ด้วยกระบวนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นไปอย่างอัตโนมัติ จึงสามารถช่วยให้ผู้ใช้ประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ทั้งนี้ การลงทุนในระบบปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) เติบโตอย่างมากในช่วงต้นทศวรรษ 2020 โดยบริษัทระดับโลก เช่น Microsoft, Google, และ Baidu รวมถึงบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากก็กำลังช่วยให้เทคโนโลยีนี้กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

 

นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกที่ MIT คือ ศาสตราจารย์ Daron Acemoglu, David Autor, และ  Simon Johnson ได้นำเสนอบทความวิเคราะห์เชิงนโยบายชื่อ Can we Have Pro-Worker AI? Choosing a path of machines in service of minds เผยแพร่ผ่าน MIT Shaping the Future of Work Initiative เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566  ดังนั้น ผู้เขียนบทความจึงเห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) เป็นเรื่องสำคัญระดับความท้าทายของมนุษยชาติ จึงขอนำเรียนรับใช้สังคมโดยสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

ในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา การแพร่กระจายเทคโนโลยีดิจิทัล (diffusion of digital technologies) ได้เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญ  ในขณะที่ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) จะมีผลกระทบต่อความไม่เสมอภาคของสังคมอย่างแน่นอน แต่ลักษณะของผลกระทบนั้น จะขึ้นอยู่กับวิธีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีนี้  อย่างไรก็ตาม ไม่มีเส้นทางสำหรับเทคโนโลยีนี้ (หรือเทคโนโลยีใด ๆ) ที่เป็นไปไม่ได้

 

ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังอยู่บนเส้นทางสำหรับปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) ที่มุ่งเน้นการทำให้เป็นระบบอัตโนมัติ (automation) และการแทนที่แรงงานโดยปัญญาประดิษฐ์ พร้อมกับมีการสอดแนมในสถานที่ทำงาน  แน่นอนว่า การแทนที่แรงงาน ไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับตลาดแรงงาน แม้จะให้ผลตอบแทนสูงในมุมของผู้ประกอบการ  โดยแรงงานเงินเดือนสูงที่ถูกแทนที่ จะลงมาแย่งงานจากแรงงานที่มีเงินเดือนต่ำกว่า (ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าอยู่แล้วที่จะถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์) อันจะส่งผลต่อโครงสร้างค่าจ้างที่จะลดลงอย่างรวดเร็ว

 

อย่างไรก็ตาม เรายังมีเส้นทางที่ดีกว่า คือ ทำให้ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) สามารถร่วมมือกับมนุษย์ส่วนมากในการทำงานร่วมกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาศักยภาพทางทักษะที่จำเป็น โดนจะต้องครอบคลุมรวมถึงคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยด้วย  ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกเส้นทางที่สามารถร่วมมือกันทำงานระหว่างปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) และมนุษย์ส่วนมาก จะต้องมีการเปลี่ยนทิศทางของการพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในแนวทางปฏิบัติและพฤติกรรมองค์กรของบริษัทเอกชน 

 

เป้าหมายสำหรับเส้นทางที่พึงปรารถนา คือ การทำให้ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI)  สามารถช่วยสร้างและสนับสนุนงานที่ทำในแต่ละอาชีพ ตลอดจนเพิ่มความสามารถของแรงงาน เพราะหากเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยให้ครู พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา และ อาชีพที่ต้องใช้ความชำนาญประเภทต่าง ๆ สามารถผลิตงานที่ตนเองเชี่ยวชาญได้มากขึ้น ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และ กระตุ้นการเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง

 

นโยบายสาธารณะจึงเป็นศูนย์กลางของความสำคัญในเรื่องนี้ โดยสามารถกระตุ้นการพัฒนาไปสู่เส้นทางที่เทคโนโลยีสามารถร่วมมือกับมนุษย์ เพื่อยกระดับทักษะแรงงานและความเชี่ยวชาญสำหรับทุกคน  โดยศาสตราจารย์ Daron Acemoglu, David Autor, และ  Simon Johnson ที่ MIT ได้เสนอแนะนโยบายสำหรับรัฐบาลกลาง ดังนี้

  1. ทำให้อัตราภาษีมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ระหว่างแรงงาน และ ผู้ครอบครองปัญญาประดิษฐ์ เพื่อควบคุมระดับการแข่งขันระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์
  2. ปรับปรุงกฎเกณฑ์ความปลอดภัยทางอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อคุ้มครองหรือจำกัดการสอดแนมพนักงาน ตลอดจนรับฟังเสียงของแรงงาน
  3. เพิ่มทุนวิจัยด้านการร่วมมือกันระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ โดนจะต้องตระหนักด้วยว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องที่เอกชนให้ความสนใจ
  4. สร้างศูนย์วิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล เพื่อช่วยแบ่งปันความรู้สำหรับผู้มีหน้าที่กำกับดูแลและหน่วยงานรัฐต่าง ๆ
  5. ใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญระดับรัฐบาล เพื่อช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคโนโลยีว่าเหมาะสมในการนำมาใช้หรือไม่อย่างไร เช่น ทางการศึกษาและสาธารณสุข เป็นต้น

 

ในส่วนของผู้เขียนบทความนี้เพื่อรับใช้ท่านผู้อ่าน ได้ค้นพบหลักฐานเชิงประจักษ์จากข้อมูลสำรวจการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ดังแสดงในบทความ Labour Skills, Economic Returns, and Automatability in Thailand พบว่า แรงงานอาชีพที่ต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ จะสามารถสร้างรายได้มากกว่า กล่าวคือ ทั้ง GDP เฉลี่ยต่อหัวของจังหวัด และ รายได้ต่อชั่วโมงของแรงงานมีมูลค่าสูงกว่า ในทางกลับกัน อาชีพที่ไม่ค่อยต้องใช้ทักษะการวิเคราะห์และทักษะการสื่อสาร จะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือแม้แต่ภาคเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้มีความตื่นตัวที่จะยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจแบบ inclusive growth อย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นเรื่องน่ากังวลมาก เพราะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) มีแนวโน้มจะทำให้ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยยิ่งขยายกว้างมากขึ้น ในขณะที่คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถแข่งขันได้หรือจะอยู่รอดอย่างยากลำบากในโลกอนาคต อันจะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศทางเศรษฐกิจสังคม

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

ห่วงเด็กไทย ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า “สร้างมายาคติ ความเชื่อผิดๆ”

 

รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยชุมชนและหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผย ผลการวิจัย ‘การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนมัธยมศึกษาและการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าของครูในโรงเรียน’ ระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 6,147 คน จาก 16 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาพบว่า เด็ก 9.6% มีประสบการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในรอบ 30 วันที่ผ่านมา และที่สำคัญเด็กที่ไม่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้า 17.6% มีความตั้งใจที่จะทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอนาคต

“ทั้งนี้พบว่า เด็กขาดความรู้และมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องต่อบุหรี่ไฟฟ้าใน 10 เรื่อง ดังนี้ 1) 49.2% เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่ยอมรับในกลุ่มวัยรุ่น 2) 40.5% ไม่รู้ว่าการมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครองผิดกฎหมาย 3) 39.3% ไม่รู้ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะผิดกฎหมาย 4) 39.3% ไม่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย 5) 39.3% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 6) 36.6% ไม่เชื่อว่าการได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสองมีอันตรายต่อสุขภาพ 7) 35.8% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) 8) 34.2% ไม่เชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสมองและการเรียนรู้ 9) 21.8% เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่แบบมวนได้ และ 10) 20.5% เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่แบบมวน” รศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าว

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากผลการวิจัยดังกล่าว น่าเป็นห่วงที่เด็กไทยได้รับมายาคติความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า จากธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าที่พยายามทำการตลาดบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน ทั้งๆ ที่มีนิโคตินเท่ากันหรือมากกว่าบุหรี่มวน จึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อทุกระบบของร่างกายโดยเฉพาะต่อสมองที่กำลังเจริญเติบโตของเด็กและเยาวชน ดังนั้นจึงเสนอให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บุคลากรสาธารณสุข ครู ผู้ปกครอง เร่งพัฒนามาตรการเสริมสร้างความรู้และความเชื่อที่ถูกต้องให้กับเด็ก รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนงควรมีจรรยาบรรณเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้สาธารณะทราบ ซึ่งจะเป็นการสร้างภูมิป้องกันให้เด็ก รู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งมีความรู้ด้านกฎหมาย ที่บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย ทั้งห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามครอบครอง และห้ามสูบในที่สาธารณะ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

มุมมอง ‘อดีตนายกท่องเที่ยวภาคเหนือ’ ต่อการพัฒนาเส้นทาง “การบินเชียงใหม่”

 
จากการที่รัฐบาลมีข้อเสนอที่จะขยายสนามบินเชียงใหม่ หรือ สร้างสนามบินใหม่ กับความเร่งด่วน กับงบประมาณที่รัฐบาลมีจำกัด ในปัจจุบัน

ขอนำเสนอข้อมูล ในอีกมุมมองหนึ่ง กับการพัฒนาสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย กับสนามบินลำปางคู่ขนาน แล้วขยายถนนบางจุดเส้นทางเชื่อมเชียงใหม่เชียงราย ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวสองข้างทางเยอะมาก เป็นการกระจายนักท่องเที่ยวสร้างโอกาสแก่ชุมชนต่างๆ และเป็นการสร้างความคุ้มค่าจากเงินลงทุนจากภาครัฐที่ลงทุนไปแล้วที่เชียงรายให้คุ้มค่ามากที่สุด

อีกทั้งยังมีสนามบินลำปาง ที่ใช้เวลาเดินทางมาเชียงใหม่เพียงหนึ่งชั่วโมงรองรับเส้นทางบินในประเทศ

สนามบินเชียงใหม่มีข้อจำกัด เรื่องการขยายรันเวย์ หรือข้อจำกัดเวลาการบินหลังเที่ยงคืนถึงห้าโมงเช้า และสายการบินส่วนใหญ่ที่บินลงเชียงใหม่จะเป็นสายการบินในประเทศเป็นหลัก ส่วนการสร้างสนามบินใหม่ต้งใช้งบประมาณ 7หมื่นกว่าล้านบาทใช้เวลาอีก 7 ปี

ส่วนสนามบินแม่ฟ้าหลวงมีศักยภาพความพร้อมการบินเยอะมากเป็นสนามบินนานาชาติ สามารถบินลงได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีศักยภาพการบิน 10 ไฟท์ต่อชั่วโมง แต่ปัจจุบันมี 2 ไฟท์ต่อชั่วโมง ความแออัดของสนามบินยังมีน้อย ทั้งยังมีงบประมาณมาขยายรันเวย์แท็กซี่การบิน และยังสามารถรองรับเส้นทางการบินระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก ใช้เวลาเดินทางรถ จากเชียงรายเชียงใหม่เพียง 3 ชั่วโมงครึ่งโดยประมาณ

มุมมองต่อเชียงใหม่เอง เชียงใหม่ควรเพิ่มศักยภาพทางด้านขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า รถไฟฟ้า ระบบรางรถไฟลอยฟ้า รถไฟใต้ดิน ที่รองรับคนจำนวนมาก การมีวิสัยทัศน์ มุ่งเป็นมหานครเมืองหลวงของภาคเหนือ

อันนี้เป็นอีกมุมมองของผมที่มีต่อเชียงใหม่ (และคุณพ่อผมเป็นคนเชียงใหม่) เชียงใหม่มีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยว ลงทุน เศรษฐกิจ และการศึกษา แต่ต้องขยายโอกาสการพัฒนาสู่หัวเมืองต่างๆ ให้มีศักยภาพเสริมกับเมืองเชียงใหม่

การส่งเสริมเพิ่มเส้นทางการบินสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย กับใช้สนามบินลำปางเพิ่มในส่วนเส้นทางบินในประเทศ น่าจะเป็นคำตอบเร่งด่วน ที่คุ้มค่าต่อการดึงนักท่องเที่ยว นักธุรกิจสู่ภาคเหนือ ขยาย GDP ของภาคเหนือเร็วที่สุด 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กิตติ ทิศสกุล อดีตนายกภาค สามคมสหพันธ์ทองเที่ยวภาคเหนือ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News