การพัฒนาทักษะสมองหรือ Executive Functions : EF คืออะไร
- Executive Functions – EF คือ ความสามารถระดับสูงของสมองมนุษย์ ที่ใช้ในการกำกับความคิด อารมณ์และการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย (ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร)
- การพัฒนาทักษะสมอง EF เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งควรได้รับการพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพราะ เด็กที่ได้รับการพัฒนาทักษะสมองหรือ Executive Functions: EF อย่างถูกต้อง จะสามารถพัฒนาความคิดและพฤติกรรมให้มีภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดี มีวินัยและความรับผิดชอบ ที่จะผลักดันตนเองไปสู่เป้าหมายของชีวิต
มีสถาบันหรือองค์กรใดใช้แนวทางการพัฒนาทักษะสมอง Executive Functions บ้าง
- ความรู้เรื่องทักษะสมอง Executive Functions – EF เป็นความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่ประมาณทศวรรษที่ 1990 เป็นที่ยอมรับว่าเป็นความรู้สำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งสถาบันวิชาการระดับโลก เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด , National Institute of Health สหรัฐอเมริกา, หรือ Center for Educational Neuroscience ประเทศอังกฤษ ฯลฯ ต่างให้ความสนใจและผลักดันให้นำหลักการธรรมชาติสมองส่วนหน้า มาใช้ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศตนเองอย่างจริงจัง เพื่อสร้างพลเมืองยุคใหม่ที่เข้มแข็งในโลกยุคใหม่ที่แปรปรวน
- สถานการณ์ปัจจุบัน เด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับสิ่งเร้ามากมาย เด็กที่ มีทักษะด้าน EF จะสามารถจัดการชีวิตได้ เพราะได้รับการฝึกฝนให้เป็นคนรู้จักใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ควบคุมพฤติกรรมตนเองได้ ยั้งคิดก่อนทำ ไม่หุนหันพลันแล่น มีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำ มีความรับผิดชอบ มีวินัย มีความมุ่งมั่นที่จะทำเป้าหมายให้สำเร็จ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค สามารถอยู่กับคนอื่นได้ สิ่งเหล่านี้จะปลูกฝังในตัวเด็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ส่งผลให้ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการเรียน การทำงาน การมีชีวิตครอบครัว รวมถึงการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างบุคลากรที่มีคุณค่า ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประเทศ
ผู้ที่มีบทบาทและเกี่ยวข้องในการร่วมพัฒนาทักษะสมองเด็กด้วย Executive Functions บ้าง
- ทุกคนที่อยู่เป็นระบบนิเวศรอบตัวเด็ก ได้แก่ พ่อแม่ – ผู้ปกครอง ครูปฐมวัย พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องด้านการสาธารณสุขที่ดูแลแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ รวมไปถึงบุคลากรแวดล้อมในชุมชน ทั้งผู้นำชุมชนท้องถิ่นไปจนถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
จังหวัดเชียงรายมีแนวทางการพัฒนาทักษะสมอง Executive Functions อย่างไร
- พ่อแม่ควรรู้ “หลักการ 7 วิธีพัฒนาลูกสมวัย สมองดีมี EF” คือ กิน นอน กอด เล่น เล่า ช่วยตนเองและช่วยงานบ้าน โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) นำความรู้นี้ไปสู่พ่อแม่ผู้ปกครอง
- ครูควรรู้ธรรมชาติของพัฒนาการด้านตัวตน (Self) พัฒนาการด้านทักษะสมอง EF และพัฒนาการเด็ก และจัดกิจวัตรและกิจกรรมในสถานศึกษาปฐมวัย ด้วย “6 โอกาสพัฒนา EF” คิด ทำ ทำด้วยกัน ตั้งเป้าวางแผน ท้าทาย ทบทวน
เหตุใดจึงต้องเป็นกลุ่มเด็กปฐมวัย (0-6 ขวบ)
- เพราะจากการศึกษาของนักประสาทวิทยาพบว่า ช่วงวัย 3-6 ปี เป็นช่วงเวลาที่เส้นใยประสาทในสมองส่วนหน้ามีการพัฒนาได้ดีที่สุด ดีกว่าทุกช่วงวัย
กลไกที่จะทำให้การขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเด็ก ด้วย EF ประสบความสำเร็จ
- ใช้หลักการระบบนิเวศ กล่าวคือ ทุกองค์ประกอบที่อยู่ล้อมรอบตัวเด็ก ต่างมีอิทธิพลต่อการเติบโตของพัฒนาการทุกด้านในเด็ก ดังนั้น ต้องทำให้ทุกองค์ประกอบที่อยู่รอบตัวเด็กมีความรู้ความเข้าใจ และร่วมกันส่งเสริมตามบทบาทภาระหน้าที่ของตน และเชื่อมประสานกันอย่างเป็นองค์รวม
ปัญหาเด็กก้าวร้าว เด็กติดมือถือ แก้ได้หรือไม่ ปัญหาที่เกิดกับเด็กและ เยาวชน จะลดลงได้อย่างไร
- มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทักษะสมอง EF จากทั่วโลก รวมทั้งผลการขับเคลื่อน EF ใน จ.เชียงราย ต่างยืนยันผลตรงกันว่า การพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพตั้งแต่ปฐมวัย โดยให้ความรู้พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ดูแล และครูปฐมวัย เพื่อให้ความรักความอบอุ่น ตอบสนองต่อเด็กอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างให้เด็กมีตัวตน เป็นคนสำคัญ มีความสามารถ และเมื่อถึงวัยเข้าเรียน ครูสร้างกิจวัตรกับกิจกรรมในห้องเรียนปฐมวัย ที่ช่วยให้เด็กได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะสมอง EF ด้านต่างๆ เช่น ให้มีประสบการณ์ที่หลากหลายผ่านความสุขจากการเล่น ได้ฝึกการยับยั้งชั่งใจ อดทนรอคอย ชะลอความอยาก หรือได้ฝึกยืดหยุ่นปรับตัวปรับใจ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยเกิดวงจรประสาทที่ฝังตัวในสมองส่วนหน้า จนกลายเป็นบุคลิกภาพและพฤติกรรมที่ดีในตัวเด็ก ฝังติดตัวไปตลอดชีวิต การส่งเสริม EF ตั้งแต่ปฐมวัยจึงสามารถแก้ไขปัญหาเด็กก้าวร้าว เด็กติดมือถือ และพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้ และจะนำไปสู่การลดลงของปัญหาที่เกิดกับเด็กและเยาวชนในอนาคตอย่างแน่นอน
ต้องใช้เวลามากแค่ไหน และมีการวัดผลอย่างไร
- ปฐมวัยเป็นช่วงวัยที่ sensitive หรือไวต่อสิ่งที่เข้ามากระทบ ดังนั้น การกระทำใดๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือครูมีต่อเด็ก ย่อมส่งผลต่อการแตกแขนงของเส้นใยประสาท ไม่ว่าจะเป็นผลด้านบวกหรือด้านลบ เช่น เด็กที่ผู้ใหญ่ยื่นมือถือให้เล่นตั้งแต่ก่อน 2 ขวบ การทำงานของสมองก็มีโอกาสเสียหายได้ง่าย แต่โชคดีที่นักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า ในวัยเด็กเล็ก การฟื้นตัวของสมองก็ทำได้เร็วกว่าในวัยที่โตขึ้น ดังนั้น หากเด็กปฐมวัยได้รับการฟื้นฟู ด้วยความรักความเข้าใจของพ่อแม่ผู้ปกครองหรือครู เช่น ด้วยการกอด ชื่นชม การให้โอกาสคิด ทำ เล่น ฯลฯ อย่างมีความสุข สมองและจิตใจของเด็กก็จะสามารถฟื้นฟูได้แน่นอน
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ