Categories
NEWS UPDATE

ธนาคารแห่งประเทศไทย เตือนมีคน โอนเงินผิดมาหาเรา อย่าโอนคืนเองเด็ดขาด

 

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ โอนเงินผิดบัญชี เกิดเรื่องต้องทำอย่างไร?เทคโนโลยีระบบการชำระเงินที่ทันสมัยทำให้การจ่ายหรือโอนเงินกลายเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัส แต่ผู้ใช้บริการเองก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งานเช่นกัน เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องโอนเงินผิดบัญชี ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เราโอนผิดเอง หรือมีคนโอนผิดมาที่เรา แล้วไม่รู้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร Financial Wisdom ฉบับนี้จะมาเล่าถึงวิธีการที่ถูกต้องในการจัดการกับปัญหาเรื่องนี้กัน

 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อมีการโอนเงินผิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการโอนที่สาขาของธนาคาร ทางตู้ ATM หรือ mobile banking ธนาคารจะไม่มีอำนาจในการดึงเงินกลับคืนเข้าบัญชีต้นทาง เว้นแต่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้รับโอนผิดเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องมีขั้นตอนการดำเนินการ โดยสามารถแบ่งการโอนเงินผิดได้เป็น 2 กรณีด้วยกัน

 

หากเราโอนเงินผิดบัญชีไปบัญชีคนอื่น ถ้าเป็นคนที่เรารู้จักกันก็สามารถพูดคุยเพื่อขอให้เขาโอนเงินคืนกลับมาให้เราได้เลย แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักกันจะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมา อย่างแรก เมื่อเรารู้แล้วว่าเราโอนเงินไปผิดบัญชี ให้เราไปติดต่อธนาคารของเรา (ธนาคารต้นทาง) เพื่อสอบถามว่าธนาคารต้องการเอกสารอะไรบ้าง เนื่องจากแต่ละธนาคารอาจใช้เอกสารไม่เหมือนกัน สิ่งที่เราสามารถเตรียมได้ เช่น ข้อมูลวันเวลา จำนวนเงิน ช่องทางการโอนเงิน ถ้าทำรายการที่ตู้ ATM ก็อาจจะเก็บสลิปใบบันทึกรายการไว้ แต่หากทำผ่าน mobile banking ก็เก็บ e-slip โอนเงินไว้ รวมทั้งอาจจะเตรียมหลักฐานเอกสารอื่น ๆ ที่ธนาคารอาจจะขอ เช่น ใบคำร้องขอตรวจสอบการโอนเงินผิดบัญชี สำเนาบัตรประชาชน หรือหากเป็นการโอนเงินผิดไปต่างธนาคาร ธนาคารบางแห่งอาจร้องขอใบแจ้งความเป็นหลักฐานเพิ่มเติมด้วย

 

เมื่อธนาคารรับแจ้งปัญหาเรียบร้อยแล้วก็จะแจ้งระยะเวลาการดำเนินการให้เราทราบ และจะเป็นผู้ประสานงานติดต่อบัญชีปลายทางเพื่อให้ความยินยอมโอนเงินคืนกลับมาต่อไป ถ้าผู้รับโอนยินยอมคืนเงิน ธนาคารก็จะโอนเงินเข้าบัญชีให้กับเรา แต่ถ้าผู้รับโอนไม่ยินยอมคืนเงินหรือติดต่อไม่ได้ เราสามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อออกคำสั่งทางกฎหมายให้ธนาคารของผู้รับโอนดำเนินการอายัดบัญชี หรือเปิดเผยข้อมูลบัญชีให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ถ้าเขาโอนผิด

กรณีที่มีเงินโอนผิดเข้ามาในบัญชีของเราซึ่งจะคล้ายกับกรณีที่แล้ว คือถ้าเป็นคนรู้จักกัน ได้พูดคุยกันแล้วพบว่าเขาโอนเงินผิดมาจริง เราก็สามารถที่จะโอนเงินคืนเจ้าของบัญชีได้เลย แต่ถ้าไม่รู้จักกัน ทางที่ดีเราควรจะไปติดต่อธนาคารของเราโดยตรง เพื่อตรวจสอบก่อน ถ้าพบว่าเงินที่โอนเข้ามาผิดบัญชีจริง ๆ ก็ให้ความยินยอมแก่ธนาคารในการโอนเงินกลับไปให้เจ้าของบัญชี

สิ่งที่พึงระวังคือ

เราไม่ควรโอนเงินกลับเอง เพราะอาจจะเป็นกลลวงของมิจฉาชีพที่จะใช้บัญชีเราเป็นทางผ่านในการโอนเงินผิดกฎหมาย หรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟอกเงิน ที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “บัญชีม้า” ก็เป็นได้ โดยมิจฉาชีพจะขอให้โอนเงินเข้าอีกบัญชีหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นคนละธนาคาร คนละชื่อบัญชี โดยอ้างเหตุผลว่าโอนผิดบัญชีไปแล้ว ไหน ๆ จะต้องโอนเงินใหม่ ก็ฝากให้เราช่วยโอนเลยแล้วกัน กลายเป็นว่าเราทำเรื่องผิดกฎหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ

แต่ถ้าหากมีเงินโอนผิดเข้ามาในบัญชีของเราจริงโดยไม่ใช่กลโกงของมิจฉาชีพ แต่เราเลือกที่จะเพิกเฉย หรือนำเงินที่ได้มาไปใช้ เจ้าของเงินก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับเราได้เช่นกัน

 

วิธีการป้องกันปัญหาที่ดีที่สุด

ก็คือการตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินให้ถูกต้องก่อนยืนยันการโอนเงินทุกครั้ง สิ่งที่ทุกคนจะต้องดู คือ หมายเลขบัญชีหรือหมายเลขพร้อมเพย์ ชื่อบัญชี ชื่อธนาคาร และจำนวนเงินให้ถูกต้องก่อนที่จะกดยืนยันการโอนเงินไป หากเกิดกรณีโอนเงินผิดขึ้นมาจริงๆ ให้ตั้งสติ อย่าหลงเชื่อใครง่ายๆ จนยอมโอนเงินกลับเอง และควรรีบปรึกษาธนาคารเพื่อให้ธนาคารแนะนำว่าต้องดำเนินการอย่างไรจะดีที่สุด.

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
ECONOMY

เพิ่มวีซ่าฟรีเป็น 93 ประเทศ ดันรายได้ กระตุ้นท่องเที่ยว 1 ล้านล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการและแนวทางการตรวจลงตรา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาถดถอยเรื้อรังมายาวนาน โดยทำให้อัตราการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น

 

ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น คือ การให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ ฟรีวีซ่า ให้กับ 93 ประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นอีก 36 ประเทศ จากเดิมที่ 57 ประเทศ สามารถพำนักในไทยไม่เกิน 60 วัน โดยเป็นมาตรการของไทยฝ่ายเดียว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยประเทศที่เพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย ไซปรัส ฟีจี จอร์เจีย คาซัคสถาน มอลตา ไต้หวัน เป็นต้น เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. นี้ นอกจากนี้ การให้สิทธิ Visa on Arrival (VOA) ได้ปรับปรุงรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองใหม่ เพิ่มเป็น 36 ประเทศ จากเดิม 19 ประเทศ

 

ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเปิดวีซ่าฟรีเพิ่มขึ้น 36 ประเทศ สามารถพำนักยาวขึ้นอีก เป็น 60 วัน ทำให้กระทรวงการต่างประเทศสูญเสียรายได้ 12,300 ล้านบาท ถือว่ายอดเงินไม่น้อย แต่หากเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้ ได้เล็งไปที่ระดับ 8 แสนล้านบาท-1 ล้านล้านบาท

 

ขณะที่วีซ่าประเภทคนต่างด้าวที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล หรือ ทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน กลุ่มฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระ ปัจจุบันสามารถพำนักได้ 60 วัน และอยู่ได้ครั้งเดียว 30 วันเท่านั้น จะให้สิทธิประโยชน์ อายุวีซ่าขยายเป็น 5 ปี สามารถพำนักได้ครั้งละ 180 วัน และขยายอยู่ต่อได้อีกไม่เกิน 180 วัน ส่วนกลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยขยายเวลาพำนักในประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษาได้ 1 ปี เพื่ออำนวยความสะดวก หากต้องการหางานทำ เดินทางท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นๆ

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

เตรียมทาบทาม “ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ” เป็น “ฑูตท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล”

 

เมื่อช่วงบ่ายวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม 2567นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมทาบทาม “ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ” สมาชิกวุฒิสภาคนดังจากรัฐอิลลินอย ประเทศสหรัฐอเมริกา มนุษย์ล้อลูกครึ่งไทย-อเมริกัน เป็นทูตอารยสถาปัตย์กิตติมศักดิ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (The First Honorable Friendly Design Ambassador to promote Tourism for All ) หรือฑูตท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล คนแรกในประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวโลก (The First Honorable Tourism for All Ambassador)

 

“เป็นนโยบายของรัฐบาลท่านนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ที่ต้องการสร้างโอกาสและขยายตลาดการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย ที่เป็นตลาดใหญ่ในโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มฟื้นฟูสุขภาพ กลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้พิการและมนุษย์ล้อจากนานาชาติ ที่มีกำลังซื้อสูง และมักพักค้างนานหลายวัน จัดอยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีมูลค่าสูง โดยเราต้องปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านอารยสถาปัตย์ หรือ Friendly Design ให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพสูงนี้ให้ได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากลตามแนวทางขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO)ว่าด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รมต.เสริมศักดิ์ กล่าว
 
 
ทั้งนี้ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้หารือร่วมกับ นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และเครือข่ายการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลของประเทศไทยในระดับสากล พร้อมหารือถึงแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) ในแหล่งท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ห้องพักโรงแรม ร้านอาหาร สถานีบริการน้ำมัน จุดแวะพัก รถขนส่งนักท่องเที่ยว ฯลฯ ใน 20 จังหวัดนำร่อง โดยมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกรมการท่องเที่ยวเร่งดำเนินการ
 
 
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังได้สี่งการให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์รองรับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆสำหรับรองรับคนทั้งมวล เช่น ห้องพักโรงแรม ที่จอดรถ ทางลาด ห้องสุขา ระบบขนส่งมวลชน ทั้งเครื่องบิน รถยนต์ และเรือ ไปจนถึงระบบออนไลน์ต่างๆ เป็นต้น ให้พร้อมรองรับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในระดับมาตรฐานสากล โดยไม่มึการเลือกปฏิบัติ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

“สกสว. บพข. ททท. และ ATTA ผนึกกำลังวิจัย Market Foresight และ Thailand Tourism Carrying Capacity มุ่งสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก”

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม  2567 เวลา 09.00 – 12.00 น.  ที่ โรงแรม เอส 31 สุขุมวิทกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA)  จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)  “การพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ทั้ง 4 หน่วยงานในเป้าหมายสำคัญที่จะร่วมมือกันสนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การตลาดภาคการท่องเที่ยวและบริการ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) อย่างยั่งยืนบนฐานทรัพยากรของประเทศ และสอดคล้องตามแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 (ววน.) ในด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามแนวทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ในด้านการท่องเที่ยวให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ ผ่านการทำงานและขับเคลื่อนร่วมกันตามบทบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงาน โดยใช้กลไกการสนับสนุนงบประมาณวิจัยที่มีโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน เพื่อให้เกิดผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลกระทบในวงกว้าง  โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธี ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 5 โรงแรม เอส 31 สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร 30 พฤษภาคม 2567

 

ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว.ได้มอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว.เป็นผู้แทนเข้าร่วม พร้อมกันนี้ ด้านของ บพข. รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์  ผู้อำนวยการ บพข. ได้มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย บพข.เป็นผู้แทน สำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีนายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ในฐานะผู้แทนผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ ATTA มี นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการวิจัยของแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ งบประมาณจากกองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประธานในพิธี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว (Tourism Hub) พร้อมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวร่วมกับภาคเอกชน สมาคมแอตต้า รวมทั้งสมาคมอื่นๆ ซึ่งถือเป็นหัวจักรสำคัญของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย           โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานในสังกัด พร้อมสนับสนุนเต็มกำลัง นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้แทนสมาคมต่างๆ เสนอประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทย      ทั้งการเปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง การเพิ่มเที่ยวบิน การพิจารณาเรื่องวีซ่า การแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย รวมทั้ง การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) รองรับสังคมผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิต การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวกลุ่มฟื้นฟูสุขภาพ กลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้พิการ ซึ่งถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ซึ่งการพัฒนานี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยองค์ความรู้จากฐานงานวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพสูงนี้ให้ได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยในระดับมาตรฐานสากลตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในปัจจุบันกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ดำเนินการพัฒนาอารยสถาปัตย์ (universal design) เตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวสำหรับคนทุกคนในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. ในฐานะผู้แทนผู้อำนวยการ สกสว. เผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างปี พ.ศ. 2559-2562 สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละประมาณ 2.1 ถึง 2.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 18 ของ GDP และรัฐบาลมีนโยบายเชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวกับซอฟต์พาเวอร์ ผ่านเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เสน่ห์ไทย นำจุดแข็งของมรดกทางวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสผ่านประสบการณ์ตรง อาทิ ศิลปะการต่อสู้มวยไทย วัฒนธรรมอาหารไทย ผ้าไทย เทศกาลและโชว์ไทย เป็นต้น ความร่วมมือ (MOU) นี้จึงมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิจัย      การยกระดับและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่ 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ด้าน Demand : ภาพอนาคตการตลาด (Market Foresight) เพื่อปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยใช้ข้อมูลจาก Social Listening และ Foresight การทำงานในด้านนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การเพิ่มรายได้และความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว 2) ด้าน Supply : ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) เพื่อลดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองหลักในกรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ และชลบุรี ด้วยการกระจายนักท่องเที่ยวไปยังเมืองน่าเที่ยวอื่นๆ โดยนำเสนอข้อมูลผ่าน Dashboard เพื่อให้ภาคเอกชนมีเครื่องมือในการประเมินพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต การกระจายนักท่องเที่ยวจะช่วยลดความแออัดในเมืองหลัก เพิ่มความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว และส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่อื่น ๆ

 

สำหรับ รศ.ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย (บพข.) กล่าวว่า บพข.ในฐานะหน่วยบริหารและจัดการทุนที่ดูแลงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มองว่าในระยะยาว ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับความร่วมมือสำคัญในครั้งนี้ คือ 1)ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว : การท่องเที่ยวของประเทศไทยจะมีความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ 2)การเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่น : เมืองและชุมชนที่ได้รับการกระจายนักท่องเที่ยวจะมีโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น และ 3)การเพิ่มความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว : นักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้นจากการท่องเที่ยวในประเทศไทย นำไปสู่การเพิ่มจำนวนของนักท่องเที่ยวที่กลับมาเที่ยวอีกครั้ง

 

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยวผู้แทน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  เผยว่า สำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศ หรือ ททท.ในฐานะภาครัฐที่เป็นผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในการสร้างประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าและมุ่งสู่ความยั่งยืน ความร่วมมือในนี้แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนานโยบายและกลยุทธ์การท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับนโยบาย IGNITE Thailand ของภาครัฐที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค

 

ด้าน นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะกลาง คือ ประการแรก การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งความร่วมมือของ 4 หน่วยงานสำคัญในครั้งนี้ จะช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทยมีความสามารถในการปรับตัวและแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยว ประการที่สอง การกระจายนักท่องเที่ยว : ลดความแออัดในเมืองหลักและเพิ่มโอกาสในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ทั่วประเทศ ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ และประการสุดท้ายคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ : ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวมากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มรายได้และการสร้างชื่อเสียงที่ดีให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างยิ่ง

 

ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ระหว่างภาครัฐ ทั้ง สกสว. บพข. และ ททท. และ ATTA ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นางสาวศุภมาส อิศรภักดี ที่ว่า “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” เพราะภาคเอกชนผู้ที่มีเครื่องมือและข้อมูลที่สามารถช่วยในการวางแผนและปรับกลยุทธ์จะทำให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการเติบโต ทั้งนี้สมาคมท่องเที่ยวอื่นๆ ก็จะสามารถได้รับข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่ดีจากความร่วมมือนี้ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสมาคมและสมาชิกให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวและพัฒนาการท่องเที่ยวในอนาคต สามารถผลักดันการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้มีความยั่งยืนและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคง

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

เซ็นทรัลทำ สนับสนุนอาชีพคนพิการ “โครงการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐานเพื่อจำหน่าย”

 
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567  ที่ผ่านมา เซ็นทรัลทำ ร่วมมอบเงินสนับสนุนโครงการส่งเสริมอาชีพคนพิการ ตามมาตรา 35 ประจำปี 2567 “โครงการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐานเพื่อจำหน่าย”
 

กลุ่มเซ็นทรัล นำโดยคุณสัมฤทธิ์ อนุภักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ อาวุโส ฝ่ายพัฒนาการศึกษาและสังคม อย่างยั่งยืน กลุ่มเซ็นทรัล, คุณสายัณห์ นักบุญ ผู้จัดการทั่วไปศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย และทีมพนักงานจิตอาสา ร่วมมอบเงินสนับสนุนโครงการส่งเสริมอาชีพคนพิการ ตามมาตรา 35 ประจำปี 2567 “โครงการเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐานเพื่อจำหน่าย” ให้แก่คนพิการ สมาคมคนพิการ อำเภอแม่สาย และ ชมรมผู้ปกครองทางสติปัญญา อำเภอดอยหลวง จำนวน 13 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,556,360 บาท

 

โดยในครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติ จากท่านพระครูหิรัญอาวาสวัตร เจ้าอาวาสวัดหิรัญญาวาส พร้อมด้วย คุณชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย และส่วนงานราชการ ในอำเภอแม่สาย ร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบเงินสนับสนุนฯ ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง วัดหิรัญญาวาส ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

 

ทั้งนี้กลุ่มเซ็นทรัลหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะสร้างอาชีพให้แก่คนพิการมีรายได้ที่ยั่งยืนสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

เทศบาลนครเชียงราย ร่วมกับ สสส. “ร่วมสร้างบ้านเมืองเป็นนครแห่งความสุข”

 

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 67 ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย พร้อมด้วย นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ คณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. ร่วมกันเปิดงาน “ร่วมสร้างบ้านเมืองของเรา ให้เป็นนครแห่งความสุข” ณ ศูนย์ประชุมนครเชียงราย (GMS) อาคารเจียงแสน ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมี ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ผู้นำชุมชนท้องถิ่นในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงราย เครือข่ายสถาบันวิชาการ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภาคีสนับสนุน ศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายพื้นที่ภาคเหนือ คณะผู้บริหารเทศบาลนครเชียงราย สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนคณะกรรมการชุมชน ร่วมพิธีจำนวนมาก

 


          นายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า จากเรื่องราวจากอดีตสู่ปัจจุบันของการพัฒนาเมืองเชียงรายจนกระทั่งเราเองกล้าบอกว่าเป็น “เชียงรายเป็นนครแห่งความสุข” โดยเฉพาะความสุขจากการมีเศรษฐกิจดี สังคมดี และสิ่งแวดล้อมดี การพัฒนานครเชียงรายตั้งแต่อดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต เราให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนที่มีเป้าหมายในการสร้างเมือง เมืองสร้างคน และคนสร้างเมือง เทศบาลนครเชียงราย จึงมีภาคีเครือข่ายที่เข้ามาเป็น “หุ้นส่วนการพัฒนา” จำนวนมากพอที่จะดึงศักยภาพเข้ามาร่วมพัฒนานครเชียงราย เพราะเพียงทรัพยากรของเทศบานครเชียงรายคงมีพลังไม่เพียงพอในการทำงาน 

 


          สำหรับการขับเคลื่อน “นครเชียงรายแห่งความสุข” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นั้น ได้เกิดผลต่อคุณภาพชีวิตของคนเมืองเชียงรายและการเพิ่มคุณภาพจัดบริการสาธารณะของเทศบาลนครเชียงรายในหลายเรื่องที่ผมและคนเมืองเชียงรายได้เห็นพ้องตามนโยบายการพัฒนาเมืองของเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งรูปธรรมของผลการพัฒนาที่สำคัญทั้งหมด 5 ประเด็น คือ

  1. การผลักดันให้นครเชียงรายเป็นเมืองอาหารปลอดภัย ที่มีมาตรฐานปลอดสารพิษ โดยอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายทั้ง 8 แห่ง จะนำไปสู่การมีเศรษฐกิจที่ดีของชุมชนและนครเชียงรายในที่สุด
  2. เทศบาลนครเชียงรายมีการจัดการขยะยาวนานกว่า 20 ปี ซึ่งในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีของเทศบาลนครเชียงรายในการจัดการขยะที่มีชุมชนอาสาเข้ามาร่วมจัดการขยะ เพื่อลดภาระของเทศบาลนครเชียงราย
  3. การทำให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลนครเชียงรายทั้ง 4 แห่ง ยกระดับการพัฒนาการให้บริการที่มากกว่าศูนย์บริการระดับปฐมภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการโปรแกรม Day Care (คลินิกดูแลสุขภาพกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ)
  4. การพัฒนาพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของครอบครัวจนเป็นพื้นที่สวนสาธารณะต้นแบบเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และ
  5. เรามีแหล่งเรียนรู้ที่เกิดจากเรื่องราวในประเด็นทั้งสี่ที่พร้อมให้ท่าน อปท.เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และภาคส่วนต่างๆ ได้มาเรียนรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อปท.เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ต่อไป

 


          ภายในงานจัดให้มีการแสดงบนเวทีจากน้องๆ หนูๆ สถานศึกษาในเขตเทศบาลนครเชียงราย สร้างความเฮฮาเรียกเสียงหัวเราะสนุกสนานจากผู้มาร่วมงานไปพร้อมกัน และยังมีการออกร้านจำหน่ายพืชผักปลอดสารพิษ สิ่งของเครื่องใช้ผลิตจากวัสดุเหลือใช้จากเครือข่ายชุมชน เกษตรกร ภายใน “กาดสร้างสุข”

 

ทั้งนี้  นายกเทศมนตรีนครเชียงรายอยากมีหุ้นส่วนพัฒนาเพิ่มมากขึ้นเพื่อทำให้คนชุมชนนครเชียงรายและหุ้นส่วนการพัฒนาเติบโตไปพร้อมกัน พร้อมกันนี้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่น และมอบประกาศนียบัตรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการพัฒนานวดเพื่อสุขภาพ และการประกาศเจตนารมย์ร่วมกัน ในการ “ สร้างบ้านเมืองของเรา ให้เป็นนครแห่งความสุขอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

 

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

กกต. เชียงรายเตรียมความพร้อมเลือก สว. ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด

 
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567  สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงราย จัดการประชุมคณะกรรมการศูนย์ประสานงานการเลือกสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงรายและผู้เกี่ยวข้อง โดยมี นายชูชาติ  สุขสงวน ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 3 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงราย เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติ ตามพระราชกฤษฎีกาการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 ทั้งปฏิทินการเลือก สว. กรอบระยะเวลาการดำเนินการเลือก สว. เรื่องการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัด ภารกิจตามคำสั่งแต่ละคณะ การมอบหมายเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และคำสั่งการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสนับสนุนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 ในการนี้ ในที่ประชุมยังได้แนะนำความรู้เกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โครงสร้างบุคลากรคณะกรรมการการเลือกระดับอำเภอระดับจังหวัด ผู้ช่วยเหลือและคณะกรรมการประจำสถานที่เลือก สว. รวมถึงขั้นตอนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาและการเตรียมการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัด เพื่อให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาของจังหวัดเชียงรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้กำหนดวันเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2567 และการเลือกระดับจังหวัดขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายน 2567 และวันเลือกระดับประเทศขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงรายได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอและระดับจังหวัด โดยได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัด จังหวัดเชียงรายขึ้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธานกรรมการระดับจังหวัด พร้อมทั้งมอบหมายหน้าที่แก่คณะกรรมการประจำศูนย์ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ และพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ก่อนวันเลือกให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

สำหรับผู้สมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงราย ได้รายงานจำนวนผู้สมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภาของจังหวัดเชียงราย ที่มีการรับสมัครระหว่างวันที่ 20 ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 โดยมีจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 833 คน ทั้งนี้ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอจะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม และจะประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 โดยสามารถติดตามข้อมูลผู้สมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภาได้ที่แอพพลิเคชั่น Smart vote และในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th สำหรับประชาชนสามารถมีส่วนร่วม โดยสามารถร่วมแจ้งเบาะแสการกระทำผิดเกี่ยวกับการเลือก สว. ได้ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัด ผู้ตรวจการเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย เพิ่มทักษะด้านอาชีพนักเรียน สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว

 
เมื่อวัน 28 พ.ค. 67  ณ ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานการประชุมติดตาม โครงการศึกษาการดำเนินงานจังหวัดนำร่องป้องกันและลดอัตราความพิการแต่กำเนิด (Birth Defects Sandbox) จังหวัดเชียงราย โดยมีนางสุภาพรรณ  หมั่นเจริญ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกรมอนามัย คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

          นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยมีเด็กพิการแต่กำเนิดสูงถึง 10,000 กว่าคน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยการร่วมมือกันของหลายภาคส่วน สำหรับการขับเคลื่อนโครงการศึกษาการดำเนินงานจังหวัดนำร่องป้องกันและลดอัตราความพิการแต่กำเนิด (Birth Defects Sandbox) จังหวัดเชียงราย ถือเป็นการป้องกันก่อนการรักษา ซึ่งจะช่วยลดปัญหาทางสังคม ลดภาระงบประมาณ และช่วยให้ประชาชนชาวไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

 

          ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โดย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงราย (สวท.เชียงราย) ได้มีการประชาสัมพันธ์การลดอัตราความพิการแต่กำเนิด ผ่านรายการวิทยุเพื่อคนพิการ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย (สปชส.เชียงราย) นำสื่อประชาสัมพันธ์การให้ความรู้เรื่องวิตามินโฟลิก มาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ social media สถานศึกษาหลายแห่งในจังหวัดเชียงราย ได้บรรจุหลักสูตรการให้ความรู้เกี่ยวกับวิตามินโฟลิก ลงไปในหลักสูตรของวิชาสุขศึกษา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ได้ส่งต่อสื่อประชาสัมพันธ์วิตามินโฟลิก แก่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของโรงงานต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้พนักงานทราบถึงประโยชน์วิตามิน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวิตามินโฟลิกแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ ตลอดจนขับเคลื่อนและประชาสัมพันธ์ในชุมชน ผ่านรพ.สต. ทุกพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย

 

          จากนั้นในช่วงบ่าย ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะเดินทางไปประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จังหวัดเชียงราย โดยมีว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายสมชาติ สุภารี หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมสรุปผลการดำเนินงาน 

 

           นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการติดตามผลการดำเนินงานโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จังหวัดเชียงราย รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ ฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งจากสถิติข้อมูลนักเรียนที่จบฝึกอบรมเมื่อปี 2566 ของกองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศพบว่ามีจำนวนนักเรียนที่จบการฝึกอบรมโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ กว่า 800 คน ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องมาแล้ว 4 ปี และเข้าสู่ปีที่ 5 ใน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในส่วนของจังหวัดเชียงรายมีนักเรียนเข้ารับการอบรมหลักสูตรช่างซ่อมและบำรุงรักษารถจักรยานยนต์  จำนวน 20 คน โดยฝึกอบรมในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 28 มิถุนายน 2567 และฝึกภาคปฏิบัติในสถานประกอบกิจการ ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กรกฎาคม 2567 

 

          นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ เปิดรับสมัครนักเรียนจำนวน 2 ประเภท คือ เรียนจบ ม.3 ในปีการศึกษานั้น ๆ แล้วไม่ได้เรียนต่อ และผู้ที่จบ ม.3 ในปีอื่น ๆ แต่มีอายุไม่เกิน 25 ปี ก็สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งจากการติดตามผลดำเนินงานประจำปี 2567 พบว่ายังมีนักเรียนจำนวนมากที่ต้องการเข้าฝึกอบรมแต่ขาดคุณสมบัติ เช่น วุฒิการศึกษาไม่จบ ม.3 หรือจบ ม.3 ไปนานแล้วจนอายุเกิน 25 ปี รวมถึงปัญหาของหน่วยฝึกอบรมที่ยังขาดแคลนทุนในการจ้างวิทยากรนอกมาสอนหลักสูตรที่มีความทันสมัยทำให้ยังไม่สามารถเปิดหลักสูตรที่หลากหลาย จึงยังไม่ตรงกับความต้องการของผู้ที่จะอบรม  

 

ทั้งนี้คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับจังหวัดเชียงราย ได้มีการพิจารณาทบทวนคุณสมบัติทั้งอายุ และวุฒิการศึกษาเพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสที่สนใจเข้าร่วมโครงการได้ รวมทั้งหาวิธีในการจัดหาวิทยากรมาสอนเพื่อรองรับวิทยาการที่ทันสมัย ตลอดจนประสานงานกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด และสถานประกอบกิจการ ในเครือข่ายเพื่อรองรับเด็กที่จบการฝึกอบรมแล้วมีงานทำทันที เช่น บริษัท ทวียนต์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย  

 

สำหรับแนวทางการดำเนินงานต่อ ๆ ไป อาจมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมแนวทางการขับเคลื่อนบางประการ เช่น แนวทางการประชุมชี้แจงครูแนะแนวที่ต้องให้ทราบรายละเอียดอย่างทั่วถึง เพราะครูแนะแนวบางโรงเรียนอาจมีการโยกย้ายหรือไปสู่ตำปหน่งที่สูงขึ้น รวมถึงต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาการประชุมให้เป็นปัจจุบัน สิ่งที่จำเป็นต้องให้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ของโครงการอย่างชัดเจน เช่น เรียนฟรี พักฟรี กินฟรี อบรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 – 6 เดือน ได้รับเงินสนับสนุนช่วยเหลือระหว่างการฝึกอบรม ประมาณ 6,000 – 8,000 บาทต่อครอบครัว จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  มีงานทำจากแรงงานไร้ฝีมือ กลายเป็น แรงงานที่มีฝีมือได้รับอัตราค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำโดยทั่วไป เพราะเป็นผู้ที่มีทักษะความสามารถทางวิชาชีพ มีใบประกาศนียบัตรรับรองหลังจบการฝึกอบรมในสายอาชีพ  รวมถึงรู้ช่องทางเพื่อพัฒนาต่อยอดศักยภาพสถานะฝีมือแรงงาน 

 

ซึ่งนอกจากการสร้างความเข้าใจกับครูแนะแนวแล้ว การประชุมชี้แจงโดยตรงกับนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อและผู้ปกครองเป็นการเฉพาะก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจส่งลูกหลานเข้ารับการอบรมต่อไป เพราะลูกหลานที่เข้าฝึกอบรมทักษะด้านอาชีพตามโครงการเมื่อจบมาแล้ว จะมีตำแหน่งงานว่างรองรับทันที ทำให้มีอาชีพ มีหน้าที่การงาน มีความมั่นคงและสามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและตนเองได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาทางสังคมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาการพนัน ฯลฯ ให้มีจำนวนลดลงได้ในระดับหนึ่ง

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

สานสัมพันธ์ น้อง- พี่ สร้างโอกาส ผู้ถูกคุมประพฤติ คืนสู่สังคม

 

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567  นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “สานสัมพันธ์ น้อง- พี่ เสริมพลังต้านยาเสพติด  รุ่นที่ 1 ” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ อาสาสมัครคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม คณะวิทยากร และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วม ณ รังสินี รีสอร์ท ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 

 

ด้วยกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับระบบการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดให้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดี และกลับมาสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม ตามแนวคิดการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง จึงได้น้อมนำโครงการกำลังใจ ในพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา มาปรับประยุกต์ใช้เพื่อสร้างกำลังใจให้กับผู้ถูกคุมความประพฤติในคดียาเสพติด เป็นการให้โอกาส  และช่วยให้ผู้เข้าอบรมสามารถเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้โดยนำกรอบแนวคิดจากโครงการนำร่อง “ศูนย์การเรียนรู้ดอยฮาง” หรือ “ดอยฮาง Model” ที่มุ่งสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับสังคม 

 

ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือการปรับทุกข์-ผูกมิตร เป็นขั้นตอนการสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม เพื่อเรียนรู้ผู้อื่นและสะท้อนตัวเอง การถอดรื้อ-สร้างใหม่ เป็นขั้นตอนการสะท้อนเหตุ ที่นำไปสู่การใช้ยาเสพติดและเสริมสร้างกำลังใจสู่ชีวิตใหม่ และการดูแลต่อเนื่อง โดยภาคีเครือข่าย รวมทั้งบุคคลแวดล้อม  เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติมีความเข้มแข็งทางใจ ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เสริมสร้างแรงจูงใจให้เลิกสารเสพติดได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้รับโอกาส  ในการกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข เป็นส่วนหนึ่งของสังคมส่วนรวม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยอมรับจากครอบครัวและชุมชน  เป็นการป้องกันการกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก และนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง

 

 

สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ผู้ถูกคุมความประพฤติที่ศาลมีคำสั่งให้คุมความประพฤติ ตามมาตรา 56 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และตามมาตรา 166 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง จำนวน 40 คน 

 

นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ทุกคนในที่นี้ล้วนผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายมาแล้ว แต่ได้รับโอกาสจากศาลให้รอการลงโทษจำคุกและให้คุมความประพฤติ ซึ่งทุกคนมีโอกาสแก้ไขปรับปรุงตัว เลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ  ถือเป็นก้าวแรกในการเอาชนะใจตัวเอง ให้ก้าวผ่านปัญหายาเสพติด ขอให้ทบทวน ใช้ชีวิตอย่างมีสติ เสริมสร้างพลังและกลับไปดำเนินชีวิต โดยการลด ละ เลิก ยาเสพติดอย่างยั่งยืน เพื่อชีวิตและครอบครัวต่อไป

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย จัดกิจกรรม”ค่ายเยาวชน TO BE NUMBER ONE IDOL รุ่นที่ 8

 
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ที่ โรงแรมเชียงรายแกรนด์รูม อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีปิดกิจกรรมค่ายเยาวชนต้นแบบเก่งและดี TO BE NUMBER ONE IDOL ประจำปี 2567 โดยมีหัวหน้า สนง.เลขานุการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงราย (ศอ.ปส.จ.ชร.) คณะทำงานโครงการTO BE NUMBER ONE จังหวัดเชียงราย คณะครู คณะวิทยากร และผู้เข้ารับการฝึกอบรม เข้าร่วมพิธี

 

โครงการ TO BE NUMBER ONE จังหวัดเชียงราย โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงราย ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ดำเนินการจัดกิจกรรม”ค่ายเยาวชนต้นแบบเก่งและดี TO BE NUMBER ONE IDOL (Pre – IDOL) ประจำปี 2567″ อย่างต่อเนื่องซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการมาเป็น รุ่นที่ 8 โดยกิจกรรมครั้งนี้เป็นการสร้างความเป็นผู้นำให้กับ

แกนนำเยาวชน ตลอดเป็นการยกระดับความสามารถด้านทักษะความสามารถพิเศษเช่น การร้องเพลง การเต้น การเข้าสังคม การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ การสร้างและพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เก่งและดี การเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนแกนนำ สามารถเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงในปัจจุบัน ตามคำขวัญสโลแกนของโครงการที่ว่า “เป็นหนึ่ง โดยไม่พึ่งยาเสพติด ” 

 

สำหรับกิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันเสาร์ที่ 25 ถึง วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2567 โดยมีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 100 คน จาก 20 โรงเรียน 

 

นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (TO BE NUMBER ONE) ของจังหวัดเชียงราย สามารถผลักดันเยาวชนให้ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบระดับประเทศได้ถึง 2 คน เป็นการสร้างและพัฒนาศักยภาพเยาวชนผ่านรูปแบบกิจกรรม TO BE NUMBER ONE IDOL นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากเป็นการส่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้แก่เยาวชน และเป็นรูปแบบกิจกรรมที่เยาวชนให้ความสนใจ ถือว่าเป็น “การใช้สื่อบุคคล” ในการทำหน้าที่เป็นแกนนำเยาวชนในการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ของโรงเรียน ครอบครัว และชุมชนต่อไป

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News