Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

“ธนพิริยะ” โค้งแรกปี 67 พุ่ง เพิ่มสาขา ครอบคลุม เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา

 
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2024 บิ๊กค้าส่ง-ค้าปลีก เชียงราย “ธนพิริยะ” รับอานิสงส์มาตรการรัฐหนุนกำลังซื้อ-เทศกาล บวกแรงหนุนท่องเที่ยวคัมแบ็กดันยอดขายโค้งแรกปี 67 พุ่งเตรียมขยายเพิ่ม 6 สาขาส่งรายได้โต 10 – 15% ทางด้านเภสัชกรหญิงอมร พุฒิพิริยะ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) หรือ TNP ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคในจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า 
 
 
แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 ทิศทางดี มีนโยบายจากภาครัฐหนุนในช่วงครึ่งแรกของไตรมาส กระตุ้นยอดขายต่อบิลสูงขึ้น อีกทั้งมีเทศกาลต่างๆ อาทิ ปีใหม่ ตรุษจีน ที่สร้างการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับ อานิสงส์เทศกาลสงกรานต์กระตุ้นร้านค้าปลีกในท้องถิ่นจับจ่ายใช้สอยคึกคักต่อเนื่องในไตรมาส 2 ปี 2567 ปัจจุบัน ธนพิริยะมีสาขาครอบคลุมถึง 45 สาขา และมีแผนขยายอีก 6 สาขา หนุนสิ้นปีมี 51 สาขา ครอบคลุมจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา โดยเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าในชุมชน และนักท่องเที่ยวในทำเลในตัวเมืองหรือจุดที่มีศักยภาพ
 
 

ซึ่งปัจจุบัน ธนพิริยะมีสินค้า 5 กลุ่ม คือ สินค้าใช้ในครัวเรือน เครื่องดื่มและขนม กลุ่มของใช้ส่วนบุคคล กลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็ก เครื่องสำอางและอาหารเสริม และยังมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ

 

ทั้งนี้ ล่าสุดมีประกาศจากภาครัฐ แถลงการณ์ความคืบหน้าของนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยให้สิทธิ์ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน ผ่านวงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยมีเงื่อนไขที่สามารถใช้กับร้านค้าขนาดเล็กในอำเภอ หรือตามชุมชนเท่านั้น และจะซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ไม่ได้ คาดว่าจะเริ่มโครงการในไตรมาส 4 ปี 67 นี้ นับเป็นโครงการเรือธงของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับร้านค้าปลีกในประเทศไทย

 

ซึ่งธนพิริยะเตรียมพร้อมรับอานิสงส์ จากการมีร้านค้ากระจายอยู่ครอบคลุมโซนภาคเหนือตอนบน คาดว่าจะเป็นไฮไลท์ที่เข้ามากระตุ้นยอดขาย และมั่นใจเป้าหมายการเติบโตรายได้รวมปีนี้วางไว้ที่ 10-15%

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : การเงินธนาคาร

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
SOCIETY & POLITICS

“ศุภมาส” ชื่นชมกระทรวง อว. ยกระดับ กระดาษปอสาเพิ่มรายได้กว่า 2 พันล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การผลิตกระดาษหัตถกรรมจากปอสา เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนทางภาคเหนือของประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัย และน่าน โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์กระดาษสาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างรายได้จากการส่งออกกระดาษสาและผลิตภัณฑ์มากกว่าปีละ 100 ล้านบาท และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวรวมเป็นมูลค่ากว่า 2000 ล้านบาท นอกจากนี้ชุมชนที่ผลิตกระดาษสา ยังเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้และทำกิจกรรมการผลิตกระดาษแบบดั้งเดิมจำนวนมาก เป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง  เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ในการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนตลอดจนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและการประกอบอาชีพด้านการผลิตสินค้าหัตถกรรมเพื่อเป็นการกระจายรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่น

 

ตนขอชื่นชมกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ที่ประสบความสำเร็จด้วยการนำกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มาขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตกระดาษหัตถกรรมจากปอสา เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ การผลิตกระดาษสา การสร้างลวดลาย สีสัน และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของลูกค้าและนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ ตนได้มอบหมาย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ให้เร่งขยายพื้นที่การดำเนินงาน และสร้างความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับหน่วยงาน อว.ระดับพื้นที่ รวมถึงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรโยชน์ประชาชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

 

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตกระดาษสาส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในแถบยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการผลิตตามความต้องการสั่งซื้อจากลูกค้าโดยตรง และยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้ดำเนินการตามนโยบายของ รมว.อว. ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ลงสู่พื้นที่ที่มีการผลิตกระดาษสาเพื่อการส่งออก ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัย และน่าน เพื่อยกระดับคุณภาพกระดาษสาสำหรับส่งออกในด้านต่าง ๆ เช่น สีสัน ลวดลาย การเพิ่มความเรียบ ความสม่ำเสมอ ความแข็งแรง การต้านลามไฟของเนื้อกระดาษ และลดความเป็นกรดด่าง ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าจากต่างประเทศ เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังเร่งให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยในการปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มเทคนิค และจัดสถานที่เพื่อให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และน่าน ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกระดาษสา โดยเริ่มจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตกระดาษหัตถกรรมให้เหมาะกับการท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพ รูปแบบ สีสัน ลวดลาย บนกระดาษสาด้วยเทคนิค Ebru Marbling ซึ่งเป็นการประยุกต์งานศิลปะดั้งเดิมของชาวตุรกี ที่สร้างลวดลายหินอ่อนบนผ้ามาสร้างลวดลายหินอ่อนบนผิวกระดาษสา เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์และสร้างกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำด้วยตัวเอง เพิ่มความน่าสนใจ ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแนะนำชุมชนด้านสถานที่ รวมถึงข้อมูลให้กับบุคลากรในพื้นที่ สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้านผลิตภัณฑ์กระดาษหัตถกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชุมชนกระดาษสาที่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมากยิ่งขึ้น

 
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเยื่อและกระดาษแบบครบวงจรมากกว่า 50 ปี ทั้งด้านวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบเครื่องทดสอบกระดาษ วิจัย พัฒนา และจัดทำมาตรฐาน (Standards) หรือข้อกำหนดคุณลักษณะ (Specifications) ตามหลักการในการจัดทำมาตรฐานสากล และ วศ. ได้นำองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตกระดาษไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่ วิสาหกิจชุมชน (OTOP) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาสร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้านเยื่อและกระดาษภายในประเทศ
 
นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. ได้ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานในชุมชนและภาคมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อพัฒนากระดาษหัตถกรรมท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน เพื่อสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น สืบทอดกันมานับหลายร้อยปี สร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนระดับชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

นบไหว้สาบูชาครู ลื้อลายคำ คนเชียงของที่มีใจรักในศิลปะล้านนา

 

เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๗ ที่ พิพิธภัณฑ์ มรดกวัฒนธรรม ผ้าทอไทลื้อ  ลื้อลายคำ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้มีพิธีไหว้ครูลื้อลายคำ ซึ่งทางเพจ Chiang Khong TV รายงานว่าเป็นการนบไหว้สาบูชาครู ลื้อลายคำ ความรู้ ศิลปะ วิชา ทุกแขนงสาขา ล้วนแล้วแต่มีครูบาอาจารย์ผู้ประสาทประสิทธิ์วิชา เมื่อศึกษาจนสำเร็จลุล่วงก็ต่างแยกย้ายไปตามทิศทางที่หมาย จะยากดีมีจน เป็นคนดีคนเลว ก็ล้วนแล้วแต่มีวิชาความรู้ติดตนติดตัว ถือว่าเป็นคนมีครู เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา  และหากผู้ใด รำลึกได้ถึงคุณของครูบาอาจารย์ ผู้นั้นย่อมจักมีความเจริญในชีวิต

 

ซึ่งกลุ่ม ลื้อลายคำ ครั้งหนึ่งเคยสร้างชื่อกระฉ่อนไปทั่วประเทศ โดยการรวมตัวกันของ เยาวชน อ.เชียงของที่มีใจรักในศิลปะล้านนา ศิลปะไทลื้อ ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ถึงแม้ในปัจจุบัน กลุ่มลื้อลายคำ จะไม่ได้รวมตัวกันเช่นแต่ก่อน แต่ทุกคนเมื่อได้ชื่อว่าลื้อลายคำ ก็จะเป็นลื้อลายคำตลอดไป เมื่อใด ที่มีโอกาสได้แสดงวิชา ก็จะมารวมตัวกันไม่ห่างหาย และเมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับมาไหว้ครูอาจารย์ ทุกคนก็พร้อมกลับมารวมตัวกันอย่างสมัครสมานเช่นเคย

 

คุณสุริยา วงค์ชัย ลูกหลานไทลื้อรุ่นปัจจุบัน ที่อยากให้มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทลื้อ สืบทอด สานต่อ ไปยังรุ่นต่อไป โดยใช้บ้านไม้ 2 ชั้น ทรงเก่าๆจัดสร้างที่วัฒนธรรมของไทลื้อถูกเก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ  ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงได้เก็บประวัติเรื่องราว การกล่าวขาน การต่อสู้การ อพยพต่างๆ ของชาวไทลื้อในอดีต เมื่อเดินขึ้นไปชั้นบน มีหุ่นจัดแสดงเครื่องแต่งกายไทลื้อแบบต่างๆ ผ้าทออันมีคุณค่า ที่ต้องใช้เวลาในการเก็บรวมรวม มาให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เครื่องประดับของมีค่า จำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทลื้อ ดูแล้วมีมนต์ขลังเหมือนพาตัวเองเข้าไปอยู่ในบ้านหลังนั้นจริงๆ

 

จากข้อมูลของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เล่าว่ากลุ่มชาติพันธ์  “ลื้อ/ยอง/ขึน (เขิน)”

“ลื้อ”   ชาวไทลื้อที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา  ทางตอนใต้ของประเทศจีน มีประวัติการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปยังรัฐฉาน ประเทศพม่า

“ยอง”  ชาวไทลื้อที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองยอง  อำเภอหนึ่งของเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า

“ขึน/เขิน”  ชาวไทลื้อ (+ไทใหญ่?) ที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า จีน ไทย และประเทศลาว ตั้งชุมชนหนาแน่นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำขึนเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า

.

ไทลื้อ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไทยอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน และภาคเหนือของลาว ชาวไทลื้อในสิบสองพันนามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยวนล้านนาในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ชาวไทลื้อจากสิบสองพันนาได้ถูกกวาดต้อนลงมาอยู่ในล้านนาจำนวนมาก  ชาวไทลื้อนับถือศาสนาพุทธและปฏิบัติตามจารีตประเพณีทางพุทธศาสนา

 

การขยายตัวของชาวไทลื้อสมัยเจ้าอินเมืองได้เข้าตีเมืองแถน เชียงตุง เชียงแสน และล้านช้าง กอบกู้บ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น พร้อมทั้งหัวเมืองไทลื้อเป็นสิบสองเขต เรียกว่า สิบสองปันนา และในยุคนี้ได้มีการอพยพชาวไทลื้อบางส่วนเพื่อไปตั้งบ้านเรือนปกครองหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้น  จึงทำให้เกิดการกระจายตัวของชาวไทลื้อ ในลุ่มน้ำโขงตอนกลาง (รัฐฉานปัจจุบัน) อันประกอบด้วย เมืองยู้ เมืองยอง เมืองหลวง เมืองเชียงแขง เมืองเชียงลาบ เมืองเลน เมืองพะยาก เมืองไฮ เมืองโก และเมืองเชียงทอง (ล้านช้าง) เมืองแถน (เดียนเบียนฟู)  ซึ่งบางเมืองในแถบนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทลื้ออยู่แล้ว เช่น อาณาจักรเชียงแขง ซึ่งประกอบด้วย เมืองเชียงแขง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงกก เมืองเชียงลาบ เมืองกลาง เมืองลอง เมืองอาน เมืองพูเลา เมืองเชียงดาว เมืองสิง เป็นต้น

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สุริยา วงค์ชัย พิพิธภัณฑ์ ลื้อลายคำ / Chiang Khong TV / Anirut Ti

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

ครม.สั่งศึกษาแนว “นักศึกษาฝึกงาน” ต้องได้เงินค่าตอบแทน และเบี้ยเลี้ยง

 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาการฝึกงานของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า การฝึกงานเป็นการจัดระบวนการเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้ที่เรียนมาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา โดยการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาฝึกงานไม่มีลักษณะเป็น “ลูกจ้าง” ตามสัญญาจ้างแรงงาน มีวัตถุประสงค์ในการทำงานเพื่อเป็นการฝึกปฏิบัติงานโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของ “การศึกษาเพื่อให้สำเร็จตามหลักสูตร” เท่านั้น 

จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานเช่นเดียวกับลูกจ้าง และปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาฝึกงานในระดับอุดมศึกษาโดยตรง ปัญหาการฝึกงานของนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างเป็นทางการ เป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่จะต้องหาแนวทางการแก้ไข เพื่อให้เกิดการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

ดังนั้นจึงได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ 4 ประเด็น ดังนี้

1. สิทธิของนักเรียน นิสิตและนักศึกษาฝึกงาน การกำหนดค่าตอบแทนเป็นเบี้ยเลี้ยง การจัดทำประกันอุบัติเหตุการมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานในที่ทำงานแก่ผู้รับการฝึกอบรมฝีมือแรงานและผู้ฝึกงานอาชีวศึกษา แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองนักศึกษาฝึกงานระดับอุดมศึกษาโดยตรง 

หากกรณีมีปัญหาเกิดขึ้นโดยเฉพาะกรณีค่าตอบแทน การประสบอันตราย หรือการเจ็บป่วยจากการฝึกปฏิบัติงานอาจต้องเทียบเคียงจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะเกิดความยุ่งยากหรือเกิดปัญหาการตีความ ทำให้นักศึกษาฝึกงานไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม

2. การคุ้มครองนักเรียน นิสิตและนักศึกษาฝึกงาน เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาฝึกงานได้รับความคุ้มครองตามฎหมาย นั้น นักเรียนระดับอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ออกประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การฝึกงานหลักสูตรการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพในสถานประกอบการ พ.ศ. 2565 เรียบร้อยแล้ว 

ส่วนนักศึกษาระดับปริญญาตรีควรมอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องการกำหนดมาตรฐานการส่งนักศึกษาที่เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อให้นักศึกษาได้รับการคุ้มครองในระหว่างการฝึกงาน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานกลาง 

เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแต่ละแห่งจัดทำเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานการส่งนักศึกษา เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการและการคุ้มครองนักศึกษาระหว่างการฝึกงานให้เหมาะสมกับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยกระทรวงแรงงาน สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของนักศึกษาฝึกงาน ให้สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน

3. ปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ควรสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ปราศจากการล่วงละเมิดทางเพศด้วยการสร้างความตระหนักการสร้างความรู้ความเข้าใจ การกำหนดมาตรการป้องกันและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น และตำเนินการเมื่อเกิดกรณีการร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศอย่างทันท่วงที รวมทั้งการจัดสภาพแวดล้อมและมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศขึ้น

4. ข้อเสนอการยกระดับการคุ้มครองการฝึกงานในประเทศไทยของศูนย์วิจัยเฉพาะทางสหวิทยาการด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรม ศูนย์วิจัยเฉพาะทางสหวิทยาการด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมร่วมกับอีกหลายหน่วยงานในภาคีได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการฝึกงาน พ.ศ. …. เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองและรักษาสิทธิประโยชน์ที่ควรได้ ในฐานะลูกจ้างคนหนึ่ง 

โดยสถาบันอุดมศึกษาอาจอนุญาตให้บุคลากรและผู้เรียนไปปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตามระเบียบที่สภาสถาบันอุดมศึกษากำหนดตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 

ดั้งนั้น สภาสถาบันอุดมศึกษา อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรกำหนดระเบียบการฝึกงานหรือเงื่อนไขหลักเกณฑ์การฝึกงานของนักเรียน นักศึกษาฝึกงาน ให้ครอบคลุมเนื้อหาและรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562

นายคารม กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อจากนี้ ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณารายละเอียดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ และศึกษาแนวทางการออกกฎหมาย เช่น กฎหมายฉบับรอง มาบังคับใช้ต่อไป

  






เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAMกองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News

MOST POPULAR
FOLLOW ME


Facebook


Times


Instagram


Youtube


Line

NEWS UPDATE
BREAKING NEWS


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566



ข่าวเด่นน่าติดตามวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2566



ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566

Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

มหกรรม อบจ.เชียงรายสัญจร ลงพื้นที่ อ.แม่จัน รับฟังข้อเสนอ

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมโรงเรียนแม่จันวิทยาคม อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย นางทรงศรี คมขำ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายประเสริฐ ชุ่มเมืองเย็น รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย อำเภอแม่จัน เขต 1 นางปาริชาติ จิระมณี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย อำเภอแม่จัน เขต 3 และนายรามิล พัฒนมงคลเชฐ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยผู้เข้าร่วมงานมหกรรม อบจ.เชียงราย สัญจร อ.แม่จัน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด และร่วมแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะ ร่วมกับตัวแทนในภาคส่วนต่างๆ ของพื้นที่ อ.แม่จัน

 

โดยการจัดงานมหกรรม อบจ.เชียงราย สัญจร เป็นการรับฟังข้อเสนอแนะ และปัญหาความต้องการจากพี่น้องประชาชน ในพื้นที่อำเภอแม่จัน เพื่อให้แผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบัน มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด รวมทั้งแผนปฏิบัติราชการประจำปีจังหวัดแผนปฏิบัติราชการประจำปีกลุ่มจังหวัด ตลอดจนสามารถบูรณาการแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม และงบประมาณในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนต่อไป
 
 
พร้อมกันนี้ นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ อ.แม่จัน โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จ.เชียงราย และ รพ.สต. ในการช่วยเหลือการเข้าถึงสิทธิการดูแลด้านต่าง ๆ จากกองทุนฟื้นฟูฯ ต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

สืบสานประเพณีสรงน้ำพระธาตุเจดีย์หลวง และพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีสืบสานประเพณีสรงน้ำพระธาตุเจดีย์หลวง ณ วัดพระธาตุเจดีย์หลวง ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน โดยได้รับเมตตาจากพระเดชพระคุณพระครูสุวรรณ วิสุทธิคุณ เจ้าคณะตำบลเวียง เขต 3 พระครูวิจารณ์ ธรรมสุนทร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุเจดีย์หลวง นายคฑาสิทธิ์ เนื่องหล้า นายอำเภอเชียงแสน นายสุวิน เครื่องสีมา ส.อบจ.เชียงราย อ.เชียงแสน เขต 1 นายอนุรักษ์ ทองเสรี ส.อบจ.เชียงราย อ.เชียงแสน เขต 2 พ.ต.อ. ถนัด ชุ่มมะโน ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเชียงแสน นางเกศสุด สังขกร นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเชียงแสน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ร่วมให้การต้อนรับและร่วมประกอบพิธีในครั้งนี้ด้วย.

 

วัดพระธาตุเจดีย์หลวง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หรือวัดพระเจ้าตนหลวง เป็นวัดโบราณในอำเภอเชียงแสน สร้างโดยพระเจ้าแสนภู เป็นวัดที่สำคัญของหิรัญนครเงินยาง อาณาจักรล้านนาเจดีย์หลวงในชื่อของวัดนั้น เชื่อว่าได้ชื่อมาจาก “พระธาตุเจดีย์หลวง” พระเจดีย์องค์ใหญ่ที่สูง 88 เมตร มีฐานกว้าง 24 เมตร เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงแสน ภายในวัดนอกจากพระเจดีย์หลวงแล้วยังมีพระวิหารและองค์เจดีย์อีก 4 องค์ ซึ่งล้วนปรักหักพังอย่างมาก กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2478
 
 
การประกอบพิธีสรงน้ำพระธาตุเจดีย์หลวง ในครั้งนี้ได้อันเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำห้าสาย (เบญจวารี) และบ่อน้ำทิพย์ จำนวน 5 บ่อ มาใช้ในการประกอบพิธีสรงน้ำพระธาตุเจดีย์หลวง เพื่อการส่งเสริมศาสนา วัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่นอันดีงาม และความเป็นสิริมงคล กับผู้ที่เคารพนับถือในองค์พระธาตุเจดีย์หลวงและได้ทำพิธีกรรม ทางศาสนาอุทิศผลบุญกุศลไปถึงผู้สร้างบ้านแปงเมืองเชียงแสน ได้อย่างยิ่งใหญ่ในอดีตกาล 
 
 
ส่งผลถึงปัจจุบันที่เรียกว่ามรดกทางวัฒนธรรม และโบราณสถาน ที่ปรากฏให้เห็นทั่วทุกสาระทิศในเมืองเชียงแสน ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 100,000 บาท เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางพุทธศาสนาที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมาแต่อดีตกาล เป็นสิริมงคลกับชีวิต และเป็นแบบอย่างแก่เยาวชน คนรุ่นต่อไปและในเวลาต่อมาได้ร่วมสรงน้ำพระธาตุจอมกิตติ 1 ในพระธาตุ 9 จอม พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดเชียงราย เพื่อความเป็นสิริมงคล และสืบสานประเพณี วัฒนธรรมของ อ.เชียงแสน อีกด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ท้องถิ่นเชียงราย สร้างสรรค์ ร่วมกันกำจัดขยะอันตราย

 

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 เวลา 13.30 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย มอบหมาย นางทรงศรี คมขำ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในกล่าวรายงานผลการดำเนินงานโครงการรวบรวมและขนย้ายขยะอันตราย

 

“ท้องถิ่นเชียงราย สร้างสรรค์ ร่วมกันกำจัดขยะอันตราย” ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พร้อมด้วย สิบเอกวิมล รู้ทำนอง ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และ งบประมาณ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการ กองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายร่วมด้วย ณ ศูนย์กำจัดขยะ RDF องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
 
 
อบจ.เชียงราย ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการกำจัดขยะของเสียอันตรายนี้เป็นหนึ่งนโยบายการพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ซึ่งอบจ.เชียงรายได้ดำเนินการขนขยะของเสียอันตราย ที่รวบรวมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกประเภทในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ไปทำลายอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล โดยใช้ Application D – TOC เชียงราย ที่ได้รับการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็น Application จัดการบริหารข้อมูลขยะของเสียอันตรายของจังหวัดเชียงรายโดยในครั้งนี้มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเข้าร่วมเยี่ยมชมโครงการในครั้งนี้
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

รพ.เชียงรายฯ เตรียมหาทุนซื้อเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ห้องประชุมพวงแสด ชั้น3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย คณะทำงานกองทุนจัดซื้อเครื่องเอ็กซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล เพื่อโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โดยมีนายชำนาญ สรรพลิขิต จ่าจังหวัดเชียงราย ผู้อำนวยการกลุ่มอำนวยการสำนักงานจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดเชียงราย ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย ผู้แทนโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ผู้แทนประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย เข้าร่วมหารือในการจัดตั้งกองทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องเอ็กซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 

 

โดยจังหวัดเชียงรายได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานกองทุนในการจัดซื้อเครื่องเอ็กซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอลเพื่อมอบให้โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการคณะทำงาน และมอบอำนาจหน้าที่เพื่อให้การจัดงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

เนื่องด้วยจังหวัดเชียงรายร่วมกับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์มีความประสงค์จัดซื้อเครื่องเอ็กซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ตลอดจนเพื่อเป็นการช่วยรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตันระยะเฉียบพลันให้แก่ประชาชนชาวเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง 

 

โดยในที่ประชุมได้หารือในการจัดตั้งบัญชีเพื่อสมทบทุน ในนามบัญชี “กองทุนจัดซื้อเครื่องเอ็กซ์เรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล มอบให้โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 “
ตลอดจนหารือด้านการจัดแถลงข่าวประชาสัมพันธ์และการจัดหาทุน เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียงได้มีส่วนร่วมในการสมทบกองทุนฯในครั้งนี

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ประเพณีเจ็ดเป็งสรงน้ำพระธาตุเจ็ดยอด วัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง ปี 2567

 
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ วัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน (ฝ่ายฆราวาส) ในพิธีสรงน้ำพระธาตุเจ็ดยอด ประเพณีเจ็ดเป็งสรงน้ำพระธาตุเจ็ดยอด ปี 2567 โดยมีพระเดชพระคุณพระพรหมวชิรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ที่ปรึกเจ้าเจ้าคณะภาค 3 กทม. ประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระเดชพระคุณพระราชปัญญาภรณ์ รองเจ้าคณะภาค 6 เจ้าอาวาสวัดนางชี พระอารามหลวง กทม. พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา พระรัตนมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พระครูขันติพลาธร รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พระครูกิตติพัฒนานุยุต ผศ.ดร. ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง ตลอดจนพระเถรานุเถระ ในจังหวัดเชียงราย และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมพิธี


โดยในพิธี ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานฝ่ายฆราวาส เปิดกรวยสักการะเคารพเบื้องหน้าพระรูปสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จากนั้นพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ สวดเจริญพระพุทธมนต์ ประเพณีเจ็ดเป็งสรงน้ำพระธาตุเจ็ดยอด จากนั้นประธานสงฆ์นำคณะสงฆ์ประกอบพิธีสรงน้ำพระธาตุ เชิญน้ำสรงประทานใน สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เพื่อสรงน้ำพระธาตุเจ็ดยอด และถวายเครื่องสักการะพระธาตุเจ็ดยอด ตามลำดับ


พระธาตุเจ็ดยอดเป็นพระธาตุที่เก่าแก่ เป็นพระธาตุที่มีรูปทรงที่สวยงามสูงจากฐานธรณีสูง 26.5 เมตรฐานจากพื้นถึงขอบลานข้างบน สูง 5 เมตร ด้านบนเป็นลานกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร เจดีย์ประธาน 1 องค์ มีพระพุทธรูปใหญ่อยู่กับเจดีย์ 1 องค์ พระธาตุบริวารล้อมรอบเจดีย์ประธาน 6 องค์ ภายในองค์เจดีย์คล้ายคูหา มีพระพุทธรูป (พระนอน) 1 องค์ มีบันไดขึ้นไปบนลานชั้นบน 2 ด้าน บนลานด้านบนมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยม 1 บ่อ ลึกประมาณ 10 เมตร บริเวณรอบฐานเจดีย์ชั้นล่าง มีพระพุทธรูปประดับ 7 องค์


วัดเจ็ดยอด เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ในอำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรล้านนา หรือก่อนที่พญามังรายจะตั้งเมืองเชียงราย ต่อมาถูกทิ้งร้าง และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดเจ็ดยอดได้ถูกบูรณปฏิสังขรณ์พร้อมกับการเดินทางกลับไปสร้างเมืองของคนท้องถิ่นที่อาศัยในพระนครนำโดยพระเจ้ามโหตรประเทศ พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นวัดและพระธาตุอยู่ในสภาพชำรุดผุผัง พระครูบาคันธะคนฺธวํโสจึงชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันบูรณะวัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2386 เป็นต้นมา วัดเจ็ดยอดได้รับสถานะพระอารามหลวงในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

ไทยขยายรับตลาดโลกผลิต-ส่งออก อาหารสัตว์ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 3 แสนล้าน

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้สั่งการให้หาโอกาสจากกรณีที่ราคาอาหารสัตว์โลกสูงขึ้น และคาดว่าจะทำให้แนวโน้มการส่งออกอาหารสัตว์ในปี 2567 เติบโตสูงขึ้น โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินการตามแนวทางของนายกฯในการควบคุมสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านอาหารสัตว์ของไทย ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและความปลอดภัย ทั้งกลุ่มอาหารสัตว์เศรษฐกิจ อาหารสัตว์เลี้ยง ส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารให้ครบวงจร ครอบคลุมทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมให้ได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัย รองรับความต้องการของตลาดโลก คาดการณ์ว่าในปี 2567 แนวโน้มการส่งออกอาหารสัตว์สร้างมูลค่าการค้าถึง 3 แสนล้านบาท

 

นายชัย กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. พัฒนาศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารสัตว์ โดยเน้นกระบวนการผลิต (manufacturing process) การประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ (quality assurance) การควบคุมคุณภาพ (quality control) พัฒนาห้องปฏิบัติการ และสร้างเครือข่ายทั่วประเทศ ตลอดจนยื่นขอรับรองการเป็นผู้ผลิตวัสดุอ้างอิงด้านอาหารสัตว์ (reference material producer) ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งรวมทั้ง การผลิตวัสดุอ้างอิงอาหารสัตว์ในประเทศ ช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัสดุอ้างอิงจากต่างประเทศ และสามารถเตรียมขยายการผลิตวัสดุอ้างอิงอื่น ให้ครอบคลุมกับความต้องการของภาคการผลิต เสริมสร้างศักยภาพในภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมบริการอาหารแห่งอนาคต ซึ่งจะรองรับความต้องการในตลาดโลก และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน

 

“นายกฯตระหนักดีถึงการแสวงหาโอกาสจากทุกความท้าทาย ต่อยอดสินค้า และวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยให้มีศักยภาพในตลาดโลก พร้อมชื่นชมการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาสินค้าและวัตถุดิบผ่านกระบวนการอย่างครอบคลุม รวมถึงรักษามาตรฐานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อขยายตลาดให้สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยให้มีคุณภาพ ราคาเหมาะสมครองใจผู้บริโภค ทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล”

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมวิทยาศาสตร์บริการ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News