Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

วช.-ภาคีเครือข่าย ร่วมแถลง “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว”

 

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และมูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดแถลงข่าวกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ภาคี เครือข่าย ร่วมมือ ร่วมใจ สู้ภัย แผ่นดินไหว ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์

โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการวช. เป็นประธาน ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี น.ส.ชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, นายนัฐวุฒิ แดนดี ผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา

นายนพดล น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 กรมชลประทาน, นายชานนท์ โตเบญจพร ผู้แทน กรมโยธาธิการและผังเมือง, ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และรศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย ร่วมแถลงข่าวจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ในระหว่างวันที่ 5 – 7 พ.ค. ที่ จ. เชียงราย

ดร.วิภารัตน์กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนแผนงานการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talents) และศูนย์กลางการเรียนรู้(Hub of Knowledge) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญแบบสหวิทยาการที่มีความหลากหลาย เสริมสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติของสถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยวช. ได้สนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH) ร่วมมือกับ มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานภาคีเครือที่เกี่ยวข้อง ทั้งจ.เชียงราย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรธรณี กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จ.เชียงราย

ร่วมกันจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ในระหว่างวันที่ 5 – 7 พ.ค. ที่จ.เชียงราย เพื่อรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว และสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และเตรียมความพร้อมรับมือในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว รวมถึงถอดบทเรียนจากอดีตถึงปัจจุบัน และเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว พร้อมทั้งลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ไปสู่การขับเคลื่อนสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมแผนในการรับมือต่อไปในอนาคต

นายประเสริฐ กล่าวว่า จ.เชียงราย เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คนเชียงรายไม่มีวันลืม สำนักงานจ.เชียงราย ในฐานะหน่วยงานบริการภาครัฐเพื่อประชาชนจ.เชียงราย ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เป็นการรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ครบรอบ 10 ปี และสร้างความตระหนักรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ศ.ดร.เป็นหนึ่งกล่าวว่า ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (Earthquake Research Center of Thailand : EARTH) วช. เป็นศูนย์รวมบุคลากรวิจัยที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จากสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว ภายใต้การพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” จัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว และการประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว รวมทั้งแสดงต้นแบบการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกับหน่วยงานภาคีวิจัย ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าวว่า มูลนิธิมดชนะภัย ตั้งอยู่ที่บ้านสิงหไคล จ.เชียงราย เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อร่วมส่งเสริมด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรมให้จ.เชียงรายเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็นเมืองศิลปะ รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์เข้ามามีส่วนช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ โดยทางมูลนิธิมดชนะภัยได้ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหว ผ่านสื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์ ให้กับผู้ที่สนใจตลอดเดือนพ.ค.นี้ และเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่เรื่องราวเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการสะท้อนให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการจัดการ ภัยพิบัติที่ดีร่วมกัน “แผ่นดินไหว เราไหวอยู่”

ถัดมาเป็นกิจกรรมการเสวนาวิชาการในหัวข้อ“การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวจากอดีตถึงปัจจุบัน” โดย ศ.ดร.เป็นหนึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว

วช. ขอประชาสัมพันธ์และเชิญเข้าร่วมกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ระหว่างวันที่ 5-7 พ.ค. ที่จ.เชียงราย ดังนี้

  • วันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค. ที่บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จ.เชียงราย พบกับการบรรยายพิเศษ “รู้ทันแผ่นดินไหว” และการเสวนา “สิบปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชา และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมชมนิทรรศการพิเศษเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวและการรับมือในทุกมิติ อาทิ รถจำลองแผ่นดินไหว, แผนที่เสี่ยงภัยพิบัติแผ่นดินไหวกับกิจกรรม “จำได้ไหม?-จำได้ไหว”, การพยาบาลในสถานะการณ์แผ่นดินไหว เป็นต้น (เฉพาะวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค.นี้ เท่านั้น) และรับชมนิทรรศการฟรีตลอดเดือนพ.ค. อาทิ นิทรรศการภาพเล่าเรื่อง, นิทรรศการเชิงศิลปะสะท้อนภาพเหตุการณ์, นิทรรศการเชิงวิทยาศาสตร์ ที่บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จ.เชียงราย
  • วันจันทร์ที่ 6 พ.ค. ที่โรงแรม The Heritage Chiang Rai พบกับการประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหวในประเด็นต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) วช. อาทิ การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวจากอดีตถึงปัจจุบัน, การออกแบบก่อสร้างอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว, ธรรมชาติแผ่นดินไหว : ความเสี่ยง, การเสริมกำลังอาคารที่มีอยู่, การเตรียมพร้อมเผชิญเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว (highlight), การตรวจติดตามสุขภาพโครงสร้างอาคารสูงในจ.เชียงใหม่และเชียงราย และการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมกรณีตัวอย่างเขื่อนแม่สรวยและชุมชนชนบท
  • วันอังคารที่ 7 พ.ค. พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ขอเชิญลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา จุดเริ่มเต้นจาก โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ > โรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ > วัดดงมะเฟือง > เขื่อนแม่สรวย และสิ้นสุดที่ โรงเรียนศรีถ้อยสุนทรราษฎร์วิทยา (รับจำนวนจำกัด 50 ท่าน)

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
ECONOMY

1-3 เดือน ราคาสินค้าจ่อขยับอีก 15% รับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

 

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2567 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงแรงงาน ได้ปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 400 บาท นำร่อง 10 จังหวัดในธุรกิจโรงแรม และเตรียมทยอยขึ้นค่าแรงในธุรกิจ ทั่วประเทศภายในปี 2567 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการสำรวจความคิดเห็นภาคเอกชนทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ พบว่า การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

 

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ผลเชิงบวก คือ เมื่อผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เพิ่มขึ้น จะช่วยผลักดันให้ GDP โตขึ้นตามไปด้วย กระตุ้นกำลังซื้อดีและการผลิตและการลงทุนดีขึ้น

 

ทั้งนี้หากผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นอาจช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า เมื่อต้นทุนต่อหน่วยลดลง จะช่วยให้สินค้าในประเทศแข่งขันได้มากขึ้น และเมื่อค่าแรงสูงขึ้นอาจจูงใจให้นายจ้างลงทุนในการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของแรงงาน

 

ส่วนผลเชิงลบ คือ หากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป อาจเกิดการว่างงานและกำลังซื้อลดลง เช่น ฝรั่งเศส ปี 2543 ค่าแรงขึ้นมากเกินไปโดยไม่ได้คำนึงถึงผลิตภาพแรงงาน และถ้าผลิตภาพไม่เพิ่มตามค่าแรง ความสามารถแข่งขันอาจลดลง กระทบการส่งออกและ GDP

 

ขณะเดียวกัน นายจ้างอาจปลดพนักงานหากรับมือต้นทุนไม่ไหว กระทบกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ ต้นทุนค่าแรงอาจถูกผลักไปที่ราคาสินค้าทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น และหากไม่ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพ ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจมีผลทำให้ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ซึ่งส่งผลเสียในระยะยาว

 

สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า เอกชน 64.7% จะปรับราคาสินค้าและบริการประมาณ 15% ขึ้นไป และ 17.2% คือ ลดปริมาณซึ่งนี่เป็นแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ และ 11.5% มีแนวโน้มที่จะนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงาน เพราะกำลังการผลิตของแรงงานไม่สามารถเทียบเท่ากับเครื่องจักรได้ และเครื่องจักรมีความแม่นยำ ถูกต้องกว่าแรงงานคน

เช่นเดียวกับ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า แน่นอนว่าผลกระทบนอกจากความสามารถในการแข่งขันแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการ 72.6% ยังคงเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ยังไม่มีความเหมาะสม และยังมองว่าค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 370 บาทต่อวัน

 

ส่วนมุมของแรงงาน หรือ ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท สำรวจทั่วประเทศจำนวน 1,259 ตัวอย่าง พบว่ากรณีที่ไม่สามารถปรับเพิ่มค่าแรงได้อย่างที่คาดหวังไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ 65.3% ขอเพียงให้เพิ่มเท่ากับค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมาขอให้เพิ่มเท่ากับค่าเดินทาง เพิ่มเท่ากับค่าราคาอาหาร เพิ่มเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเพิ่มเท่ากับค่าเช่าที่อยู่อาศัย

 

อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ราคาสินค้าที่ปรับตัวตาม ซึ่ง60.8% ของแรงงานไม่สามารถรับได้ ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องค่าแรงหรือค่าครองชีพ คือ ช่วยเหลือค่าครองชีพกลุ่มเปราะบาง กระตุ้นเศรษฐกิจแรงงานจะได้มีรายได้เพิ่ม

 

หรือนายจ้างช่วยค่าอาหารช่วยเหลือให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้แรงงานกลับถิ่น และมีสวัสดิการค่าเดินทางให้กับแรงงานรายได้น้อย นอกจากนี้ แรงงานยังกังวลเรื่องตกงาน และมีความเสี่ยงจากการไม่มีเงินเก็บซึ่งสัดส่วนถึง 81.3% จะสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยหอการค้า

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
All AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

อบจ.เชียงราย ล่องแพเปียก ลงสำรวจ อ.แม่สรรวย เตรียมพัฒนาต่อปีหน้า

 

เมื่อวันที่  28 เมษายน 2567 ณ แพเปียก ตำบลเวียงสรวย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน พร้อมด้วย นายจิราวุฒิ แก้วเขื่อน ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายสมัคร กันจีนะ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย อำเภอแม่สรวย เขต 2 และคณะ โดยมี นายนิเวศน์ โพธิ์ศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านดอยช้าง ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และพี่น้องประชาชน ให้การต้อนรับ

 

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการสำรวจความต้องการของพี่น้องประชาชนในด้านต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในปีถัดไป โดยในปีนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นำโดยนางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ได้นำเครื่องจักรลงพื้นที่ซ่อมแซมถนนเพื่ออำนวยความสะดวก ในการสัญจรของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว
 
 
ทั้งนี้ การล่องแพเปียกได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง เดินทางมาเป็นกลุ่มใหญ่ หรือเป็นครอบครัว คาดว่าแต่ละวันจะมีคนมาเที่ยวราว 8,000-10,000 คน รวมถึงยังเป็นการสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ อีกด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

วธ.เปิดตัวเที่ยวชุมชน ยลวิถี เชียงแสน ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ)

 
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดตัว      สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) และลานวัฒนธรรมสร้างสุข โดยมี พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงวัฒนธรรม (ค.ต.ป.วธ.) นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย รวมถึงหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายสภาวัฒนธรรม และชาวชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) เข้าร่วม ณ ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในโอกาสนี้ ได้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม เพื่อต้อนรับ ชุด “ตีกลองหลวง” โดยกลุ่มตีกลองหลวงวัดพระธาตุผาเงา การแสดงในพิธีเปิด ชุด “ฮอมขวัญตราบนิรันดร์ สถิตมั่นแขกแก้วมาเยือน”  จากโรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ชุดการเต้นบาสโลบ และการแสดงของกลุ่มแม่บ้านสบคำ ที่มีความสวยงาม สนุกสนาน สะท้อนอัตลักษณ์ วิถีชีวิตของชาวชุมชนวัดพระธาตุผาเงา(บ้านสบคำ) ได้เป็นอย่างดี
 
 
จากนั้น ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และคณะได้เดินเยี่ยมชมตลาดวัฒนธรรม “อิ่มบุญ ยลวิถีผาเงา”ชมการแสดงขับทุ้มหลวงพระบาง โดยคณะขับทุ้มบ้านสบคำ ชมการสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อาทิ กลุ่มทอผ้าล้านนาลายอัตลักษณ์เชียงแสน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรวัดพระธาตุผาเงา ชมฐานการเรียนรู้ของโรงเรียนคนสามวัยวัดพระธาตุผาเงา เช่น การตัดตุง การทำตุงข้าวเปลือก การทำผางประทีป รวมถึงชมฐานแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชน อาทิ พิธีเรียกขวัญ (ซ้อนขวัญ) ตามความเชื่อชาวไท-ลาว ฐานการเรียนรู้ “การประดิษฐ์เรือไฟเล็ก (สะเปา)” ในงานประเพณีไหลเรือไฟ ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของชุมชนบ้านสบคำ หนึ่งเดียวในจังหวัดเชียงราย อีกด้วย นอกจากนี้ ภายในงานมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย CPOT และผลิตภัณฑ์ สินค้า ของดีชุมชนฯ ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการและสาธิตโดยหน่วยงานในพื้นที่
 
 
นางยุพาฯ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับจังหวัดเชียงราย และชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา(บ้านสบคำ) ที่ได้รับรางวัล 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี พ.ศ. 2566 ที่คัดอย่างเข้มข้นจาก 76 ชุมชน ทั่วประเทศ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จัดโครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน มีชุมชนได้รับการคัดเลือกมาแล้วกว่า 30 ชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อน Soft Power ของไทยสู่นานาชาติ ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน มาพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์สินค้าและบริการ ทั้งนี้ ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา หรือชุมชนบ้านสบคำ นับเป็นชุมชนคุณธรรมที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีผู้นำ “พลังบวร” และเครือข่ายที่เข้มแข็ง ประชาชนมีความสุข มีความรักสามัคคี มีการสืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งยืนยันได้ว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีศักยภาพ มีคุณภาพ และมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในทุกมิติ สามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทุกประเภทอย่างยั่งยืนสืบไป โดยการต่อยอดต่อจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พร้อมร่วมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติมาเยือน และศึกษาเรียนรู้อัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของชุมชนมากยิ่งขึ้น
 
 
“ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ)” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทางด้านทิศตะวันตก ชื่อของวัดนี้มาจาก พระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดหินก้อนใหญ่มีลักษณะคล้ายรูปทรงเจดีย์ คำว่า “ผาเงา” คือ เงาของก้อนหิน จึงตั้งชื่อว่า “พระธาตุผาเงา” ตั้งอยู่ในเขตประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสนน้อย หรือเวียงปรึกษา มีการขุดค้นพบ “พระพุทธรูปหลวงพ่อผาเงา” เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2519 คาดว่ามีอายุเก่าแก่มากถึง 1,300 ปี ภายในวัดพระธาตุผาเงา มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนสามารถมาสักการะและท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้  ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ อาทิ หอพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติฯ หอพระบรมฉายามหาราชพุทธิรังสรรค์ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ และพิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน
 
 
เชิญมาสัมผัสวิถีวัฒนธรรม  อันดีงามของชาวบ้านสบคำเป็นชาวไทยเชื้อสาย ไท-ลาว ไท-ยวน ไท-ลื้อ มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว และยังมีเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากวัดพระธาตุผาเงาอีกหลายแห่ง ได้แก่ สกายวอร์คผาเงาสามแผ่นดิน พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน จุดชมวิวสองฝั่งโขงบ้านสบคำ และวัดสบคำ เป็นต้น เมื่อเดินทางไปเที่ยวในชุมชนแห่งนี้ พลาดไม่ได้คืออาหาร คือ ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียม และลาบปลาแม่น้ำโขง รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ให้ซื้อกัน     เป็นที่ระลึก คือ ผ้าทอล้านนาลายเชียงแสน และสมุนไพรวัดพระธาตุผาเงา ด้านเทศกาลประเพณีที่จะดึงดูด ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันตลอดปี ไม่ว่าจะเป็นประเพณีสรงน้ำพระธาตุผาเงา ในช่วง 12-20 เมษายนของทุกปี ประเพณีบุญข้าวประดับดิน ในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี และประเพณีไหลเรือไฟ 12 ราศี เป็นต้น

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ต.ม่วงคำ อ.พาน ทำอุบัติเหตุเป็น 0 ช่วงสงกรานต์ ส่งคนเมาด้วยรถพ่วงข้าง

 

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ มูลนิธิคุณธรรมสถานพระจี้กงหน่ำพิ้งจียิ้งเกาะ ตำบลม่วงคำ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย นายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดเวทีเสวนา ขับเคลื่อนความปลอดภัยจากอุบัติเหตุจราจรทางถนนด้วยพลังภาคีเครือข่าย ตำบลม่วงคำ อำเภอพาน โดยมี นางสายสุรี ทนันชัย นายกองค์กรบริหารส่วนตำบลม่วงคำ ทันตแพทย์หญิง อรอนงค์ พูลสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพาน ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอพาน (พชอ.) นางสาววิวรรณ เอกรินทรากุล นักวิชาการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้แทน สสส.เป็นผู้แทน นายพงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ โดยมีกลุ่มภาคีเครือข่าย ตำบลม่วงคำ ทั้ง 17 หมู่บ้าน เข้าร่วมกิจกรรม

 

จากนั้น นายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมบูธ จำนวน 17 บูธ ที่แต่ละหมู่บ้านในตำบลม่วงคำ ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรม ซึ่งพบจุดเด่นทั้งเรื่องการจัดผ้าป่าซื้อหมวกกันน็อค การทำเครื่องหมายจราจรเพิ่มขึ้น การติดตั้งกล้องวงจรปิด การจัดงานศพปลอดเหล้า  คู่หูบอกรักจนเกิดครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ ซึ่งจะนำไปขยายผล และ รถขนส่งคนเมา

 

ทั้งนี้ ในเวทีขับเคลื่อนความปลอดภัยจากอุบัติเหตุจราจรทางถนนด้วยพลังภาคีเครือข่าย กลุ่มประชาชนในพื้นที่ ได้ร่วมกันขับขี่มอเตอร์ไซด์โดยสวมหมวกกันน็อค รณรงค์ให้ทุกคนที่ใช้รถจักรยานยนต์ขับขี่อย่างปลอดภัยและนายก อบต.ม่วงคำ นางสายสุรี ทนันชัย ได้นำกลุ่มประชาชนปธิญาณตนว่า จะขับขี่ปลอดภัยต่อหน้าพระจี่กง ณ มูลนิธิคุณธรรมสถานพระจี้กงหน่ำพิ้งจียิ้งเกาะ ด้วย

 

นอกจากนี้ได้สาธิตการกู้ฟื้นคืนชีพ CPR โดยคู่หูขับขี่ปลอดภัย จำนวน 4 คู่ มีทั้ง อสม.และคู่หู (สมาชิกในครอบครัวขับขี่ที่ขับขี่ไม่ปลอดภัย) โดยคู่หู ได้ฝีกทั้งทักษะการสื่อสารเพื่อบอกรักให้คนเมาในครอบครัวเปลี่ยนพฤติกรรมและฝึก CPR เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อประสบเหตุได้

 

 

ทั้งนี้หมู่บ้านที่ ชนะเลิศของการประกวดขับเคลื่อนความปลอดภัยจากอุบัติเหตุจราจรทางถนนด้วยพลังภาคีเครือข่าย คือ หมู่ 7 บ้านสันต้นผึ้ง รถขนส่งคนเมา โดยใช้รถพ่วงข้าง ที่มีคณะกรรมการหมู่บ้านกำกับดูแล ประเด็นที่ชนะ มีนวัตกรรมที่เกิดจากชุมชน มีความร่วมมือทั้งในรูปคณะกรรมการ การทำประชาคมและการร่วมทำกิจกรรมของคนในชุมชน และมีคู่หูประสานงานกัน พบว่าคนดื่มสุราลดปริมาณสุราลง ทำให้ครอบครัวรู้สึกอบอุ่น

 

อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมยังมี เวทีเสวนา ขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน โดยมี ผศ.ดร.ชณิตา ประดิษฐ์สถาพร ผู้ดำเนินการ และผู้ที่นำเสนอประสบการณ์ และผลการดำเนินการประกอบด้วย นายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน เป็นประธานเปิดเวทีเสวนา ขับเคลื่อนความปลอดภัยจากอุบัติเหตุจราจรทางถนนด้วยพลังภาคีเครือข่าย ตำบลม่วงคำ อำเภอพาน  โดยมี  นางสายสุรี ทนันชัย นายกองค์กรบริหารส่วนตำบลม่วงคำ อำเภอพาน ทันตแพทย์หญิงอรอนงค์  พูลสวัสดิ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพาน ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอพาน (พชอ.)  นางสาววิวรรณ เอกรินทรากุล นักวิชาการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้แทน สสส. และผู้แทน นายพงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ

 

โดยเวทีเสวนา ได้นำเสนอเรื่องที่ได้ดำเนินการจนถือว่าประสบความสำเร็จในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา จากที่ในพื้นที่ตำบลม่วงคำ อำเภอพาน เกิดอุบัติเหตุทางถนนมาก ทั้งในหมู่บ้าน และถนนสายหลัก และสาเหตุมาจากเมาสุรา และขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมใส่หมวกกัน็อคเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจากการประเมินผลพบว่า ในช่วงสงกรานต์ ปี 2567 อุบัติเหตุในพื้นที่ตำลม่วงคำ เป็น 0 โดยจากนี้ไปทาง ตำบลม่วงคำ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย จะยังคงรักษาแชมป์เรื่องการลดอุบัติเหตุไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสิ่งที่ได้ทำมา พร้อมต่อยอดในกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : องค์กรบริหารส่วนตำบลม่วงคำ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ENTERTAINMENT

คอนเฟิร์ม “น้องวิคกี้” MY DANCE เชียงราย เซ็นสัญญาเป็นศิลปินฝึกหัด ‘เกาหลีใต้’

 

เมื่อวันที่  26 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ทางเพจ MY Dance Academy สถาบันสอนเต้นของจังหวัดเชียงราย ได้โพสต์อย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงความยินดีกับ

น้อง วิคกี้ VICTORIA อายุ 13 ปี MY Dance Academy STUDENTS นับเป็นศิลปินที่ติดไอดอลระดับเกาหลีใต้ และยังเป็นคนแรกสถาบันฯ อีกหนึ่งปีแห่งประวัติศาสตร์ของ จ.เชียงราย ในวงการ K-Pop สำหรับเหล่า ‘แทกุกไลน์’ กับการที่จะมีศิลปินระดับจังหวัด ไปมีโอกาสเดบิวต์เป็นศิลปินของประเทศเกาหลีใต้
.
[อ่านข่าวต่อในคอมเมนต์]

 

การันตรีว่าเด็กเชียงรายทำได้แล้ว น่าจะถือได้ว่าเป็นคนแรกของจังหวัดเชียงราย ที่ได้ผ่านการออดิชั่นจากสถาบัน MY DANCE ACADEMY ได้ผ่านเป็น ศิลปินฝึกหัด ARTIST TRAINEE เซ็นสัญญาค่ายเพลงที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยน้องวิคกี้  ได้ฝึกกับสถาบัน MY Dance Academy ไปเกือบ3 ปี ตั้งแต่อายุ10 ขวบ ชีวิตประจำวันทั่วไป ที่น้องพร้อมก้าวไปเป็นศิลปินฝึกหัด ทั้งหมดอยู่กับการซ้อม ทั้งฝึกเต้น แร็พ ร้องเพลง เรียนการแสดง ออกกำลังกาย

 

ซึ่งความสำเร็จบนเส้นทางสายนี้ที่จะไปเป็นศิลปินเกาหลีไม่ได้คว้ากันมาได้ง่ายดาย เพราะต้องมีความสามารถจริง รวมถึงต้องทุ่มเทแบบสุดตัว สุดกำลังคุ ณสมบัติหลักที่ศิลปินระดับไอดอลต้องมี คือ ความสามารถที่โดดเด่น และไหวพริบที่ดี น้องวิคกี้ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนทั้งสถาบันและจ.เชียงราย ให้มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ ทักษะต่างๆในหลักสูตรที่ทางคุณครูและโค้ชให้ทั้งการเรียน ร้องเพลง เรียนเต้น STREET DANCE , MODERN JAZZ , Dance Performance และทั้งสอบหลักสูตร UDO STREET DANCE และร่วมแข่งขัน Hiphop Street Dance ระดับประเทศด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมในการไปเป็นเด็กฝึก และคว้าโอกาสไว้เสมอ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : MY Dance Academy

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SPORT

เตรียมดันศูนย์ทดสอบกีฬามวยไทย ม.ราชภัฏเชียงราย เป็นระดับสากล

 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้วางแผนการส่งเสริมกีฬามวยไทยสู่ความเป็นสากล และ Soft Power โดยมีคณะกรรมการกีฬามวย เป็นผู้กำกับการขับเคลื่อนให้เกิด “มาตรฐาน” และ “การยอมรับ” ในระดับสากล

 

คณะกรรมการกีฬามวย และ การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ปรับปรุงมาตรฐานต่างๆ ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน มีการวางมาตรฐานเป็นหนึ่งเดียว (One Standard) ซึ่งประกอบด้วย 5 ด้านที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  1. หลักสูตรผู้ฝึกสอนมวยไทย
  2. หลักสูตรผู้ตัดสินมวยไทย
  3. หลักสูตรการบริหารจัดการค่ายมวย
  4. หลักสูตรการจัดการแข่งขันมวยไทย
  5. หลักสูตรด้านองค์ความรู้มวยไทย

 

มีการปรับให้มีโครงสร้าง “สถาบันมวยไทยแห่งชาติ” ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย เป็นผู้ศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้ในแต่ละด้านดังกล่าว พร้อมทั้งได้ทำประชาพิจารณ์ ร่วมกับสมาคมกีฬามวยและบุคคลในวงการกีฬามวยแล้วเสร็จเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

ประเทศไทยเรามีศูนย์กลางการเรียนรู้ พัฒนาผลิตบุคลากรกีฬามวยไทยที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ประกอบด้วย ศูนย์ทดสอบ (นำร่อง) จำนวน 5 ศูนย์ ได้แก่

  1. ภาคตะวันออก : ศูนย์ทดสอบมหาวิทยาลัย ม.บูรพา จ.ชลบุรี
  2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ศูนย์ทดสอบมหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น
  3. ภาคเหนือ : ศูนย์ทดสอบมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จ.เชียงราย
  4. ภาคใต้ : ศูนย์ทดสอบมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ จ.กระบี่
  5. ภาคกลาง : ศูนย์ทดสอบการกีฬาแห่งประเทศไทย กทม.

 

นางสาวสุดาวรรรณ เผยว่า“ มวยไทยถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนไทยที่สืบทอดกันมาอย่างช้านาน เป็นทั้งการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวและเกมส์กีฬา “

 

“รัฐบาลและทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรามีนโยบายหลักคือผลักดันมวยไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีความภาคภูมิใจกับกีฬามวยไทยที่เราเป็นต้นตำรับ อีกทั้งเรายังมีนักมวยไทยชื่อดังหลายคน ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเรามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น บัวชาว บัญชาเมฆ หรือทางด้าน รถถัง จิตรเมืองนนท์ ที่กำลังโด่งดัง ณ ปัจจุบัน เรามีการเปิดคลินิกสอนทักษะมวยไทยในต่างแดนอย่างต่อเนื่องให้กับผู้สนใจเข้าร่วมเรียนรู้ทักษะมวยไทย ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านกีฬามวยไทย”

 

“ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เราจัดการแสดงไหว้ครูมวยไทยครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โชว์ความสวยงามของแม่ไม้มวยไทยด้วยจำนวนคนที่มากที่สุดในโลกกว่า 5,000 คน เพื่อบันทึกลงกินเนสส์บุ๊กเวิลด์เรคคอร์ด ให้คนต่างชาติว้าวกับสิ่งที่เกิดขึ้น“

 

”ในส่วนของการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬามวยไทย ก็ถือว่าสำคัญไม่แพ้กันค่ะ เราต้องช่วยกันผลักดันกีฬามวยไทยให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย”

 

“อีกอย่างหนึ่งค่ะ เราได้ตั้งเป้าหมาย คือ การผลักดันให้กีฬามวยไทย ให้ได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งชนิดกีฬาในการแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ปี 2032 ณ เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ด้วยค่ะ”

 

“สุดท้ายดิฉันก็หวังว่า การรับรองมาตรฐานบุคลากรกีฬามวยไทย ตามพันธกิจและเจตนารมณ์ของ พรบ.มวย ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันและความเชื่อมั่นให้กับภาคอุตสาหกรรมกีฬา เกิดการยอมรับในระดับสากลและสามารถยึดกีฬามวยไทยเป็นอาชีพได้อย่างมั่นคง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย และเราพร้อมที่จะเดินหน้าร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้สิ่งที่เรากำลังผลักดันนั้นเกิดประโยชน์ในทุกๆมิติค่ะ”

 

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE ECONOMY

‘เบียนนาเล่ เชียงราย’ เงินสะพัดกว่า 2.4 หมื่นล้าน นักท่องเที่ยว 2.7 ล้านคน

 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาล โดย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มอบหมายให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จัดงานมหกรรมศิลปะนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 -30 เมษายน2567 โดยได้มีการประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงาน พบว่า การดำเนินงานเป็นหลักสำคัญในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ทั้งด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว และด้านการส่งเสริมเทศกาล หรือเฟสติวัล ซึ่งจากการเก็บข้อมูล ของ สศร. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สรุป ยอดผู้เข้าชมงาน จัดแสดง ใน 3 ส่วนสำคัญ ณ วันที่ 21 เมษายน รวมจำนวน 2,790,964 คน โดยแบ่งเป็นเข้าชมนิทรรศการหลัก แสดงผลงานศิลปะการจัดวางเฉพาะพื้นที่ของศิลปิน 60 คนในเขต อ.เมือง อ.เชียงแสน และอ.แม่ลาว จำนวน 17 จุด จำนวน 714,235 คน ส่วนที่ Pavilion หรือ ศาลา แสดงผลงานนิทรรศการกลุ่มของศิลปิน พิพิธภัณฑ์ และองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ 13 แห่ง มีผู้เข้าชมจำนวน 42,893 คน และในส่วน Collateral Events กิจกรรมพิเศษ มีผู้เข้าชม จำนวน 2,033,836 คน มีการเข้าถึงสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ ทาง Facebook Instagram YouTube TikTok จำนวนมากเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นของมิติศิลปะ รวม 22,403,688 ครั้ง และมีการปฏิสัมพันธ์ทางสื่อโซเชียลเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

 

นายประสพ กล่าวอีกว่า ขณะที่การเก็บข้อมูลตัวเลขเชิงเศรษฐกิจ จาก การประมาณการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า มีนักท่องเที่ยว ใน จ.เชียงรายเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 11 เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนไม่ต่ำกว่า 24,000 ล้านบาท เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในพื้นที่ ในช่วงการจัดงาน มีการจ้างงาน 8,000 กว่าอัตรา โดยเป็นการจ้างในระบบประกันสังคม 844 อัตรา ชุมชนได้รับประโยชน์จากการจัดงาน 560 ชุมชน มีศิลปินทั้งในและต่างประเทศตั้งใจมาชมงานนี้โดยตรง 1,000 กว่าคน มี สถาบันการศึกษาทุกระดับมาดูงาน เกิน 500 กว่าแห่ง จึงเห็นภาพของจำนวนคนและการเข้าถึงงานเป็นอย่างมาก ซึ่ง นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะผู้นำการจัดงาน แสดงข้อคิดเห็นว่า ต่อไป ไม่ต้องมีคำอธิบายแล้วว่า ไทยแลนด์เบียนนาเล่คืออะไร เพราะคนไทยมีความเข้าใจ และเข้าถึงงานศิลปะแล้ว และที่สำคัญ ได้เกิดการทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐ ศิลปินไทย และต่างชาติ ช่างฝีมือ ลูกมือทำงาน เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ ระหว่างกันทำให้ศิลปิน และชาวชุมชนทุกที่มีความผูกพัน และมีความภูมิใจที่ได้ทำงานศิลปะระดับโลกให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

“ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นเกินความคาดหวัง เกิดผลทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม สศร. จะมีการถอดบทเรียนจากการจัดงานครั้งนี้ ไปทำการศึกษาวิจัย เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาการจัดงานในครั้งต่อไป ที่ จ.ภูเก็ต ในปี 2568 และจะมีการสรุปข้อมูลภาพรวมอย่างเป็นทางการโดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. หลังการจัดงาน ในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป” ผอ.สศร.

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย-น่าน-พะเยา มาแล้ว! บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เริ่ม 1 พ.ค.นี้

 

เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2567 น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ติดตามเร่งรัดว่า ขณะนี้การดำเนินการจะเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือเฟส 3 ในวันที่ 1 พ.ค.ถึงนี้ การให้บริการจะครอบคลุมทุกเฟสจำนวน 45 จังหวัด จาก 12 จังหวัด เพิ่มอีก 33 จังหวัด ครอบคลุมอีก 16 เขตสุขภาพ

 

 

ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท อุทัยธานี สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย บึงกาฬ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา

 

น.ส.ตรีชฎา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีความมั่นใจว่า การขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ในเฟส 3 จะสามารถยกระดับการบริการ อำนวยความสะดวกประชาชน ไม่ต้องรอคิว รอรับยา ตรวจเสร็จรับยาที่บ้าน Health Rider เหมือนที่เริ่มมาแล้วในเฟส 1 เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2567 นำร่อง 4 จังหวัด ต่อมาเฟส 2 นำร่องอีก 8 จังหวัด เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง 2 เฟส ประชาชนพอใจการได้รับบริการเกือบ 100 %

 

การให้บริการได้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคลของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขครบทุกแห่งและทุกกองทุนสุขภาพ ปัจจุบันมีหน่วยบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง 893 แห่ง จาก 902 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 99.7 ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการพัฒนาโครงสร้างเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ มีการเชื่อมต่อแอพพลิเคชันและไลน์หมอพร้อมทั่วประเทศแล้ว กว่า 40 ล้านคน มีการนัดหมายและดำเนินการบริการระบบการแพทย์ทางไกล 55,446 ครั้ง ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล 81,317ใบ มีการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์โดย Health Rider 55,376 ออเดอร์

 

ทั้งนี้ กว่าร้อยละ 90 ของผู้รับบริการมีความพึงพอใจดีมาก เนื่องจากได้รับบริการที่รวดเร็ว เจ้าหน้าที่ส่งยาพูดจาสุภาพ ความสมบูรณ์ของพัสดุ ลดระยะเวลาการรอคอย ช่วยลดความแออัดในการรอรับยาที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ในระยะเฟส 4 จะขยายครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2567 อย่างแน่นอน

โฆษกกระทรวง กล่าวว่า จากการสรุปข้อมูลล่าสุดวันที่ 24 เม.ย.2567 พบความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการ รับ – ส่งยา (Health Rider) ดังนี้

 

จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ 39 จังหวัด หน่วยบริการที่เข้าร่วม 301 แห่ง 3. อสม.และบุคลากรสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการฯแล้ว 5,258 คน วิ่งจัดส่งยาแล้วทั้งประเทศ 85,217 ออเดอร์ และมีรายได้ของ Health Rider เป็นความภาคภูมิใจของบุคลากรของกระทรวงและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันเต็มที่และดียิ่งเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

‘หัวเว่ย’ ผนึกกำลัง ม.ราชภัฏเชียงราย ยกระดับการศึกษาปรับตัวเข้าตัวยุคดิจิทัล

 

เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา หัวเว่ยจัดงาน Digital Sustainable University Day อัพเดทเทรนด์เทคโนโลยีและโซลูชันไฮไลต์เพื่อการเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสำหรับปรับตัวในยุคดิจิทัลของสถานศึกษา โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และลานนาคอม จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

 

นายวิลเลี่ยม จาง ประธานธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาในทุกๆ ด้าน และยังมีแนวโน้มที่จะมีพัฒนาการด้านความอัจฉริยะมากขึ้นทั้งการเรียน การสอน การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนถึงการจัดการระบบ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

 

กิจกรรมการเรียนการสอนได้เปลี่ยนจากการใช้กระดานดำแบบดั้งเดิมมาเป็นเครื่องมือมัลติมีเดีย จากการเรียนรู้เริ่มทำได้ไร้ข้อจำกัด และจากการบรรยายแบบทางเดียวไปสู่การเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น
ในฐานะผู้ให้บริการด้าน ICT ชั้นนํา

หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะนําเครือข่ายแคมปัสอัจฉริยะ ศูนย์ข้อมูล การประมวลผลคลาวด์ ห้องเรียนอัจฉริยะ และเทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้ในการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรมในการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา เร่งให้เกิดนวัตกรรมในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

โดยจากการจัดอันดับของ QS World University Rankings มหาวิทยาลัยกว่า 30 แห่งจาก 100 อันดับแรกของโลกได้เลือกให้หัวเว่ยเป็นพันธมิตรในการนำเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ประสิทธิภาพในการวิจัย และความสามารถด้านนวัตกรรม

“การจัดงานเทคโนโลยีในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นงานด้านเทคโนโลยีแบบฮาร์ดคอร์เท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้พบปะกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจริงๆ เพื่อพัฒนาความร่วมมือให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งเป็นสถานที่สําหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับแถวหน้าของโลก หากเราสามารถใช้ข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้างคุณค่ามากมาย“

ในโอกาสนี้ยังได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือในโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่ (Huawei ICT Academy) เพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนเตรียมความพร้อมในเทคโนโลยีเฉพาะทาง เพื่อเป็นการบ่มเพาะบุคลากรในอนาคตให้มีทักษะความสามารถด้านดิจิทัลตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม

โดยผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมผ่านโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่ จะได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพของหัวเว่ย ซึ่งเป็นการรับรองที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมระดับโลก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการสมัครงานของนิสิตนักศึกษา รวมไปถึงโอกาสฝึกงานกับบริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย ตลอดจนอาจได้เป็นพนักงานของหัวเว่ยหรือบริษัทในเครือพันธมิตร ซึ่งปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเข้าร่วมในโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่แล้วมากกว่า 2,200 แห่งทั่วโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับหัวเว่ย ซึ่งก็ถือเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่ได้โฟกัสเพียงเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของบุคลากรและนักศึกษา รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี

ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนสู่การเป็น CRRU Smart University อีกด้วย และเชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล และเกิดประโยชน์แก่ทั้งนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร รวมถึงการให้บริการสังคมแก่พี่น้องประชาชนทุกคนอย่างแน่นอน”

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News