เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในไตรมาสแรก 2567 ค่อนข้างราบรื่น และคาดจะมีปริมาณส่งออกข้าว 3 เดือนแรกปีนี้ประมาณ 2.5 ล้านตัน สูงกว่าปีก่อนที่ 3 เดือนแรกส่งออกได้ประมาณ 2 ล้านตัน ปัจจัยจากคำสั่งซื้อล่วงหน้าและค้างส่งมอบจากปลายปี 2566 ประเทศผู้นำเข้าหลักอย่างอินโดนีเซียประกาศเพิ่มนำเข้าอีก 1.6 ล้านตัน จากเดิมประกาศนำเข้าทั้งปีนี้ไว้ 2 ล้านตัน ทำให้ทั้งปีอินโดนีเซียจะนำเข้าเป็น 3.6 ล้านตัน ทั้งนี้ สาเหตุที่อินโดนีเซียนำเข้าข้าวไทยมากขึ้น เนื่องจากความเชื่อถือในการส่งมอบและคงรักษาคุณภาพข้าว ซึ่งเป็นปัจจัยเข้มแข็งของไทย ขณะนี้ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ 585 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปากีสถาน 580 เหรียญสหรัฐต่อตัน เวียดนามจากเดิม 620 เหรียญสหรัฐต่อตัน เหลือ 570 เหรียญสหรัฐต่อตัน
สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผย ราคาข้าวนาปรังที่กำลังออกสู่ตลาดขณะนี้ ถือว่ามีราคาสูงที่สุดในรอบหลายปี โดยราคาข้าวเปลือกเกี่ยวสด ปัจจุบันยังจำหน่ายได้ราคา 10,000 บาท/ตัน ถ้าเป็นข้าวแห้งได้ราคา 11,000 – 12,000 บาท/ตัน แม้ข้าวพื้นนุ่มสายพันธุ์เบอร์ 20 หรือ 80 ที่โรงสีจะปรับลดราคาลงมาที่ตันละ 9,000 บาท แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ ทั้งนี้ ราคาปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรังมีรายได้มากกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปี 2566 ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 8.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13.7% มีมูลค่าเกือบ 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29% ข้าวขาว 5% ราคาเฉลี่ยทั้งปี 587 เหรียญสหรัฐต่อตันขณะที่ กรมการค้าภายใน รายงานราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้น โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นร้อยละ 15 อยู่ที่ตันละ 14,850 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 12,300 บาท ราคาข้าวปีนี้ถือว่าเป็นปีทองของเกษตรกรไทย เพราะภัยแล้งทำให้ความต้องการข้าวมากขึ้น เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งมีผลผลิตในประเทศลดลงจากเดิม จึงต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 3,600,000 ตัน (เดิม 2,000,000 ตัน)
โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายสนับสนุนค่าปุ๋ย โดยใช้หลักคิดตามหลักวิชาการ ว่าเกษตรกรใช้ปุ้ยในอัตราไร่ละ 50 กก. ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ (ครัวเรือนละไม่เกิน 1,000 กก.) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
สำหรับวิธีการจ่าย “ค่าปุ๋ยคนละครึ่ง” โดยให้เกษตรกรจ่ายค่าปุ๋ยครึ่งหนึ่ง และรัฐบาลสนับสนุนอีกครึ่งหนึ่ง (ในอัตราปุ๋ยไร่ละ 25 กก. ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ คือไม่เกินครัวเรือนละ 500 กก.) โดยงบประมาณรวมอยู่ที่ 33,530 ล้านบาท ลดลงกว่า 20,770 ล้านบาท จากโครงการไร่ละ 1,000 บาท โดยดำเนินโครงการผ่านกรมการข้าว ตรวจสอบสิทธิ์โดย ธ.ก.ส. และมีการส่งมอบปุ๋ยให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย