- August 2023
- Nakorn Chiang Rai News
ธ.ก.ส. ผนึกกำลังชุมชนธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่ากว่า 6,800 ชุมชน ขับเคลื่อนภารกิจซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ BAAC Carbon Credit พร้อมออกใบ Certificate มาตรฐาน T-VER จาก อบก. เพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ นำร่องธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น นำคาร์บอนเครดิตกว่า 450 ตันคาร์บอน ขายสร้างรายได้ให้ชุมชนมูลค่ากว่า 1.3 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าเพิ่มปริมาณคาร์บอนเครดิตจากชุมชนออกสู่ตลาดอีกกว่า 1.5 แสนตันคาร์บอน ภายใน 7 ปี
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการที่ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกป่าตามพระราชดำริ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาและยกระดับไปสู่โครงการธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่า จนปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 6,814 ชุมชน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนกว่า 12.4 ล้านต้น มีสมาชิก 124,071 คน มูลค่าต้นไม้ในโครงการกว่า 43,000 ล้านบาท และมีการเตรียมประเมินมูลค่าต้นไม้เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในปี 2566 คิดเป็นมูลค่ากว่า 760 ล้านบาท และในโอกาสที่รัฐบาลได้ประกาศต่อที่ประชุม World Leaders Summit ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ว่า ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ได้ในปี ค.ศ. 2065
ธ.ก.ส. จึงได้ร่วมกับชุมชนในการดำเนินโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อเดินหน้าแนวทางการส่งเสริมการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในประเทศ ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เริ่มจากการขึ้นทะเบียนโครงการ การตรวจนับจำนวนต้นไม้ การตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body: VVB) การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อนำปริมาณการกักเก็บดังกล่าวไปตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ที่มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นำร่องโครงการธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น จำนวนคาร์บอนเครดิต 453 ตันคาร์บอน โดยขายกึ่ง CSR ในราคาตันละ 3,000 บาท คิดเป็นเงินรวม 1,359,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เกษตรกรในชุมชนจะมีรายได้ประมาณ 951,300 บาท ซึ่งโครงการดังกล่าวนอกจากช่วยสร้างรายได้กลับคืนสู่ผู้ปลูกต้นไม้แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่จะมาดูดซับปริมาณคาร์บอน สร้างภูมิคุ้มกันและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน และผลักดันให้ประเทศไทย สามารถบรรลุข้อตกลงความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่วางไว้
ด้านหลักการคิดคำนวณ ต้นไม้ 1 ต้น ช่วยสร้างปริมาณคาร์บอนเครดิตได้เฉลี่ย 9.5 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี ซึ่งพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ปลูกต้นไม้ได้เฉลี่ย 100 ต้น/ไร่ จะได้ปริมาณคาร์บอนเครดิต 950 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี ณ ราคาขายกึ่ง CSR 3,000 บาทต่อตันคาร์บอน (อัตราคำนวณรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 70 : 30) กล่าวคือ เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น ค่าขึ้นทะเบียนต้นไม้ในแต่ละต้น การตรวจนับและประเมิน การออกใบรับรอง เป็นต้น คิดเป็น ร้อยละ 30 ของมูลค่าการขาย ดังนั้น เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายที่ร้อยละ 70 ของราคาขาย หรือประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ต่อปี หรือกรณีปลูกต้นไม้แบบหัวไร่ปลายนา จะสามารถปลูกได้เฉลี่ย 40 ต้น/ไร่ คิดเป็น 380 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ต่อปี จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 800 บาทต่อไร่ต่อปี ดังนั้นในกรณีที่หน่วยงานต่าง ๆ มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกเป็นศูนย์ โครงการ BAAC Carbon Credit จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบรรลุเป้าหมาย เพราะนอกจากหน่วยงานจะได้รับประโยชน์ในด้านธุรกิจ ที่มีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจชุมชนในการดูแลและปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวที่ได้รับการปกป้องโดยคนในชุมชน สะท้อนถึงความเข้มแข็งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลกอีกด้วย ทั้งนี้ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายที่จะขยายการสร้างคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ไปยังชุมชนที่เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ รวมถึงขยายผลไปยังกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน การลดพื้นที่การเผาตอซังข้าว อ้อยและข้าวโพด การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลน เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะนำมาซื้อ – ขายได้กว่า 150,000 ตันคาร์บอน ภายใน 7 ปี
สำหรับหน่วยงานที่สนใจในการซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิต และต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้และสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งให้กับชุมชน อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชนบท ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ 2346 ถนนพหลโยธิน แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ10900 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Call Center 02 555 0555
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ธ.ก.ส.
วันที่ 28 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมภริยา เป็นประธานในพิธี “ฮ้องขวัญ พลายศักดิ์สุรินทร์” ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จัดขึ้นเพื่อเป็นการต้อนรับพลายศักดิ์สุรินทร์อย่างเป็นทางการ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเรียกขวัญพลายศักดิ์สุรินทร์ ทูตสันถวไมตรี ไทย – ศรีลังกา ให้อยู่เย็นเป็นสุข มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีสภาพจิตใจเป็นปกติ และประสบความสำเร็จในการรักษาอาการป่วย ตามคติความเชื่อของวิถีการเลี้ยงช้าง โดยมีนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.ทส. พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง คณะผู้บริหารระดับสูง พนักงาน เจ้าหน้าที่ในสังกัด ตลอดจนสื่อมวลชนและประชาชน เข้าร่วมพิธี ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
นายวราวุธ กล่าวว่า การช่วยเหลือดูแลสัตว์เหล่านี้ ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของกระทรวงฯ การกลับมายืนบนผืนแผ่นดินไทยของช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่นจากประชาชนคนไทยจำนวนมาก และเฝ้าติดตามดูชีวิตความเป็นอยู่ตั้งแต่วันแรกที่มาถึงจนกระทั่งวันนี้ กระทรวงฯ ขอขอบคุณความร่วมมือจากทุกฝ่าย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภารกิจต่อจากนี้ที่จะลงนามความร่วมมือให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านวิชาการและทักษะความรู้แก่ประเทศศรีลังกาเพื่อให้ช้างไทยและช้างที่อยู่ในประเทศศรีลังกามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจะประสบความสำเร็จต่อไปด้วยดี ทั้งนี้ สุขภาพของพลายศักดิ์สุรินทร์ตอนนี้ ได้พ้นระยะกักตัวและมีสุขภาพดีขึ้น ไม่มีเชื้อโรค ไม่มีโรคติดต่อ ซึ่งสิ่งที่จะต้องทำต่อไป คือ การตรวจสุขภาพภายในโดยการเอ็กซเรย์อย่างละเอียด เพื่อจะได้ทำการรักษาพลายศักดิ์สุรินทร์ต่อไป
สำหรับ พิธีฮ้องขวัญในครั้งนี้ จัดขึ้นโดยเรียบง่าย มีการเลี้ยงขันโตก ทั้งกล้วย อ้อย ข้าวโพด ฟักทอง หญ้า ให้กับพลายศักดิ์สุรินทร์ อีกทั้ง มีการแสดง “ฟ้อนขันดอก” เพื่อเฉลิมฉลองให้กับพลายศักดิ์สุรินทร์ อีกด้วย สำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าเยี่ยมชมพลายศักดิ์สุรินทร์ สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2566 นี้เป็นต้นไป โดยเปิดให้เยี่ยมชมวันละ 1 ครั้ง ตั้งแต่เวลา 14.00 -16.00 น. ของทุกวัน
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : การกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ
เมื่อวันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2566 เวลา 11.00 น. นายก พี่นก อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย พร้อมด้วย นายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการนายก อบจ.เชียงราย ลงพื้นที่พบปะและให้กำลังใจน้องๆเยาวชน ในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงราย กิจกรรมที่ 3 เยาวชนเชียงรายคนมีดี “เยาวชนอาสาพัฒนาเชียงราย” ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอขุนตาล โดยมีนายสมชาย เชื้อเมืองพาน ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อ.ขุนตาล รักษาการปลัดอาวุโส อ.ขุนตาล เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และมีนางสาวกิตติอัจฉรา อะทะไชย ปลัดอำเภอฝ่ายปกครอง อ.ขุนตาล นายณัฐ ทรัพย์ศิริ ผอ.โรงเรียนขุนตาลวิทยาคม นายฐิติวัชร ไลศิริพันธุ์ ผอ.ส่วนส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.เชียงราย เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์
เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 26 ส.ค.2566 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.แม่สรวยจ.เชียงราย ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านปางอาณาเขต หมู่ 6 ต.แม่พริก อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ว่าได้เกิดเหตุไฟไหม้ภายใน วัดปางอาณาเขต ต.แม่พริก อ.แม่สรวย
ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน จึงได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน (อส.) อ.แม่สรวย พร้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นำรถดับเพลิงไประงับเหตุโดยมีชาวบ้านจำนวนมากช่วยกันดับไฟล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงพบไฟได้โหมลุกไหม้พระวิหารภายในวัดอย่างหนัก เมื่อสอบถามชาวบ้านทราบว่ามีผู้เห็นไฟไหม้ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.30 น. และโหมลุกไหม้เฉพาะในส่วนของพระวิหาร ขณะที่โดยรอบมีกุฏิพระสงฆ์และสามเณรรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างต่างๆ อยู่ด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่และชาวบ้านได้ช่วนกันเข้าฉีดพ่นน้ำเพื่อดับอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามออกไป
จนกระทั่งเวลา 05.30 น. จึงสามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ แต่พบว่าพระวิหารถูกไฟไหม้จนเสียหายทั้งหลัง โดยเหลือเพียงต้นเสาไม้ที่ยืนต้นอยู่แต่ดำเป็นตอตะโก ส่วนหลังคาและพนังซึ่งเป็นไม้ถูกเผาจนทลายลงมากับพื้นทั้งหมด กระนั้นยังเหลือผนังด้านที่เป็นคอนกรีตและพระพุทธรูปที่เป็นองค์พระประธานรวมทั้งอริยสาวกเบื้องซ้ายและขวาที่ยังคงเหลืออยู่และไม่ถูกไฟไหม้
ทั้งนี้พระวิหารดังกล่าวมีอายุความเป็นมามากกว่า 100 ปี โดยสร้างจากไม้เกือบทั้งหลังทำให้เมื่อเกิดการลุกไหม้จึงลุกลามได้ง่ายและเกิดความเสียหายอย่างหนักดังกล่าว
ซึ่งหลังเกิดเหตุทางฝ่ายปกครอง อ.แม่สรวย เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่สรวย เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร แต่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจะได้เข้าตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
ขณะที่ทางคณะสงฆ์ ต.แม่พริก ได้เดินทางไปให้กำลังใจทางพระสงฆ์และสามเณรรวมถึงชาวบ้านหมู่บ้านปางอาณาเขตแล้ว.
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์
Copyright © 2023 by G Good Media Co., LTD. & Nakhon Chiang Rai News. All Rights Reserved.