เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมทวิภาคี ไทย – เมียนมา ครั้งที่ 28 ด้านการบริหารจัดการรายกรณี การส่งกลับและคืนสู่สังคม ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (The 28th Case Management Meeting : CMM) โดยมีนายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะผู้แทนจากราชอาณาจักรไทย และคณะผู้แทนจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นำโดย Mr. Aung Kyaw Moe อธิบดีกรมฟื้นฟูเยียวยา กระทรวงสวัสดิการสังคม การบรรเทาทุกข์ และการโยกย้ายถิ่นฐานใหม่ เข้าร่วม ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ

           นายอนุกูล กล่าวว่า ประเทศไทยและเมียนมามีความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ก่อนมีความตกลงในลักษณะบันทึกความเข้าใจ จนกระทั่งมีบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก  อีกทั้งยังมีการประชุมระดับทวิภาคี ด้านการบริหารจัดการรายกรณี การส่งกลับและคืนสู่สังคม ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ หรือการประชุม Case Management Meeting : CMM  ซึ่งวันนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทวิภาคี ไทย – เมียนมา ครั้งที่ 28 ด้านการบริหารจัดการรายกรณี การส่งกลับและคืนสู่สังคม ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (The 28th Case Management Meeting : CMM) เพื่อเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างครอบคลุมในทุกมิติทั้งการดำเนินคดีและการช่วยเหลือเยียวยา 

           นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยและเมียนมา นับได้ว่าเป็นประเทศคู่ภาคีที่มีการประชุมกันมายาวนานและต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี  ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมทั้งมีการเสนอแนะทางออกที่จะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้น บรรลุผลสำเร็จร่วมกันไปด้วยดี นับเป็นต้นแบบการทำงานของประเทศอื่นๆ ในแถบภูมิภาคอาเซียน  ซึ่งความร่วมมือนี้จะยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง และจะร่วมกันพัฒนาแนวทางมาตรการใหม่ๆ ในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายได้กลับคืนสู่สังคม ภูมิลำเนาบ้านเกิดของตนเองอย่างปลอดภัยและยั่งยืนที่สุด

            นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนในฐานะคณะผู้แทนรัฐบาลไทย กระทรวง พม. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอย้ำและสร้างความมั่นใจต่อผู้แทนของรัฐบาลเมียนมาว่า ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง ซึ่งรัฐบาลไทยได้บูรณาการทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาและพยายามทุกวิถีทางที่จะสกัดกั้นการเกิดขบวนการค้ามนุษย์ และผู้เสียหายที่อยู่ในความดูแลของรัฐบาลไทย จะได้รับการดูแลตามหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนและหลักการสากล โดยการดำเนินการทุกเรื่องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เสียหายเป็นสำคัญ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME