Categories
SOCIETY & POLITICS

การฝึกทดสอบแผนปฏิบัติการระดับอำเภอ

 

เมื่อ 26 – 28 มิ.ย. 66 โดย พ.อ. พักตร์พงษ์ เงสันเที๊ยะ หน.กลุ่มงานนโยบายแผนและการข่าวฯ พร้อมด้วยกำลังพล กอ.รมน.จังหวัด ช.ร. ร่วมกับ อำเภอเชียงแสน, ปภ.15 และ ศูนย์เฝ้าระวังและเครือข่ายการสื่อสารวิทยุคมนาคมแจ้งเตือนด้านสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมโครงการกำกับติดตาม และประเมินผล “แผนตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” กิจกรรมการวางแผนและการอำนวยการ “การฝึกทดสอบแผนปฏิบัติการระดับอำเภอ” ประจำปีงบประมาณ 2566 ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงแสน จว.ช.ร. เป็นการฝึกเรื่องบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้เกิดความพร้อม รู้ขั้นตอนการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดสาธารณภัย และการบริหารจัดการระงับเหตุในกรณีเมื่อเกิดเหตุการณ์

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
CULTURE

ผลิตภัณฑ์ CPOT มาแรง วธ.เผย 30 ชุมชน เตรียมบุกขายตลาดลาซาด้า

 

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ส่งเสริม Soft Power ความเป็นไทยหลากหลายสาขาให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และ วธ. มีนโยบายสู่ “กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ” ภายใต้แนวคิด วัฒนธรรมทำดี ทำงาน ทำเงิน ส่งเสริมสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประชาชน จึงได้มีการปรับโครงการพัฒนาต่อยอดสินค้าจากทุนทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ Cultural Product of Thailand หรือ CPOT โดยส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว ในช่วงแรกเราเน้นการพัฒนาต้นน้ำและกลางน้ำ โดยให้ความรู้ในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอด อบรมการออกแบบ วัสดุ ให้มีความน่าสนใจ ร่วมสมัย ตอบโจทย์การใช้งาน และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือสามารถจับต้องได้ มีการนำผลิตภัณฑ์ไปออกงานแสดงสินค้าเป็นบ้างครั้ง จนกระทั่งในช่วงปี 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา เราต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด ชุมชน ผู้ประกอบการ  ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ กระทรวงวัฒนธรรมจึงต้องปรับการดำเนินการโดยเน้นสนับสนุนปลายน้ำหรือ ภาคการตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายโดยเฉพาะในรูปแบบ e Commerce ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้ชุมชน ผู้ประกอบการ สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ “ทุกที่ ทุกเวลา อยู่รอดได้ แม้ภัยมา”



ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรมจะขับเคลื่อนเพียงหน่วยเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรที่เป็นมืออาชีพ เข้าร่วมสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจวัฒนธรรมยกระดับผลิตภัณฑ์ CPOT ของไทยไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้ วธ. ได้แพลตฟอร์มในตลาดค้าปลีกออนไลน์อย่างลาซาด้า (Lazada) มาร่วมเป็นพันธมิตร ซึ่งขณะนี้ เบื้องต้น วธ. ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีผลต่อการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ปรากฏว่า 3 อันดับแรกที่ผู้บริโภคสนใจ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารแปรรูป  ผลิตภัณฑ์ประเภทของใช้/ของตกแต่งบ้าน และผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องหอม/เวชสำอาง ทั้งนี้ วธ. ได้ดำเนินการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพและมีคุณภาพได้รับมาตรฐานรับรองต่างๆแล้ว 30 ชุมชน พร้อมเตรียมทำรายการสินค้านำเสนอผลิตภัณฑ์ขึ้นจำหน่าย และกำหนดจัดอบรมทำความเข้าใจกับการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้แก่ชุมชน ผู้ประกอบการ กว่า 200 คน จากทั่วประเทศ ในเดือนกรกฎาคมนี้  เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชน ผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าผู้บริโภคจะสามารถช้อปสินค้า CPOT บนช่องทางการจำหน่ายของลาซาด้า เร็วๆนี้

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

เตือนผู้สมัครสอบ ธ.ก.ส. ระวัง !! มิจฉาชีพแอบอ้างหลอกเงินแลกเข้าทำงาน

 

ธ.ก.ส. แจ้งเตือนผู้สมัครสอบเพื่อเป็นพนักงาน ปี 2566 ทุกท่าน อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นผู้มีอำนาจหรือมีความสามารถฝากเข้าทำงาน ธ.ก.ส. ได้ และมีการเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อม ธ.ก.ส. ยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และพร้อมดําเนินการเอาผิดตามขั้นตอนทางกฎหมายกับผู้ที่หลอกลวงต่อไป

นายไพศาล หงษ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการและโฆษกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการที่ ธ.ก.ส. ได้มีการเปิดรับสมัครบุคคลภายนอก เพื่อเป็นพนักงานปฏิบัติงานประจำสาขาและสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดทั่วประเทศ ปีบัญชี 2566 และมีผู้สนใจเข้าสมัครเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาพบว่า มีผู้แอบอ้างว่า สามารถให้ความช่วยเหลือให้สามารถเข้าทำงานกับ ธ.ก.ส. ได้ และมีการเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการติวและการขายข้อสอบ ทำให้มีผู้สมัครบางคนหลงเชื่อและสูญเสียเงินให้แก่บุคคลดังกล่าว จึงขอเรียนว่า ในการสอบคัดเลือกดังกล่าว ธ.ก.ส. ไม่มีวิธีการอื่นใด นอกเหนือจากการใช้ความรู้ ความสามารถของผู้สมัครในการสอบตามเกณฑ์ที่ประกาศเท่านั้น ขอให้ผู้สมัครทุกท่านอย่างหลงเชื่อบุคคลผู้มีพฤติการณ์ดังกล่าว  

ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้องได้ผ่านช่องทางการสื่อสารหลักของธนาคาร ได้แก่ เว็บไซต์ www.baac.or.th Facebook Page “ธกส BAAC Thailand” “ธกส บริการด้วยใจ” และ LINE Official Account : @baacfamily  เนื่องด้วยปัจจุบันมิจฉาชีพมีรูปแบบการหลอกลวงที่หลากหลาย ดังนั้น หากไม่แน่ใจโปรดติดต่อโดยตรงที่ธนาคาร หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 555 0555 *3 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งธนาคารจะดําเนินการเอาผิดตามขั้นตอนทางกฎหมายกับผู้ที่หลอกลวงในลักษณะดังกล่าวต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

บสย. – KODIT เกาหลี เร่งยกระดับ ESG แพลตฟอร์มค้ำประกัน หนุนธุรกิจ SMEs เติบโตยั่งยืน

 

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมุ่งหวังให้บริการของภาครัฐสะดวก รวดเร็ว อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกกฎหมายผลักดันรัฐบาลดิจิทัล พร้อมจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ตลอดจนมอบหมายให้หน่วยงานรัฐพัฒนาแอปฯ และบริการออนไลน์จำนวนมากเพื่อพัฒนาภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล ทั้งนี้ หน่วยงานราชการหลาย ๆ หน่วยงานได้สานต่อนโยบาย พัฒนารูปแบบการให้บริการแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ทำให้มีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นส่วนราชการหลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อ โดยเฉพาะการแอบอ้างเรื่องการชำระค่าปรับต่าง ๆ  

นางสาวรัชดา กล่าวว่า เพื่อให้รู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แนะวิธีสังเกตใบสั่งจราจรอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดส่งทางไปรษณีย์ไปยังเจ้าของรถถึงบ้าน ว่าฉบับไหนเป็นของจริง-ของปลอม ซึ่งการออกใบสั่งจราจรอิเล็กทรอนิกส์ครั้งแรก จะมีรูปถ่ายรถ หมายเลขทะเบียนรถ และข้อหากระทำความผิดครบ หากไม่จ่ายค่าปรับใน 7 วัน จะมีใบเตือน ส่วนการออกครั้งที่สองนั้น เป็นใบเตือนให้ชำระค่าปรับใบสั่ง ซึ่งในเอกสารครั้งที่สองนี้ จะไม่มีรูปถ่ายรถประกอบ แต่จะมีแค่ QR code บอกวิธีการชำระเงิน และมีลายเซ็นนายตำรวจระดับสารวัตรขึ้นไปเซ็นประกอบ ยืนยันว่าเป็นเอกสารทางราชการจริง 

“การออกใบสั่งจราจรอิเล็กทรอนิกส์จะต้องมีการลงระบบ PTM ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชน ผู้ได้รับใบสั่งจราจรสามารถตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นใบสั่งจริง โดยนำเลขที่ใบสั่ง ไปตรวจสอบได้ที่ https://ptm.police.go.th/eTicket ส่วนจุดสังเกตที่สำคัญ คือ บัญชีธนาคารปลายทางที่จะรับเงิน ต้องเป็นบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ – ค่าปรับจราจร” เท่านั้น ( ถ้าเป็นชื่อบัญชีส่วนบุคคลให้สงสัยว่าเป็นใบสั่งปลอม ) ขอให้ประชาชนผู้ที่ได้รับสั่ง ควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อเสียค่าปรับ จะได้ไม่หลงกลของมิจฉาชีพ” นางสาวรัชดา ย้ำ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

Blue Carbon ทางเลือกในการกักเก็บ คาร์บอน และ โอกาสทางธุรกิจ”

ระบบนิเวศ Blue Carbon Ecosystem (BCE) ทั้งป่าชายเลนและหญ้าทะเล เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้ และต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับระบบนิเวศบนบก ขณะที่ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือ Blue Carbon Credits ที่ได้จากการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net-Zero GHG Emissions

ผู้ประกอบการที่ต้องการคาร์บอนเครดิตจากระบบนิเวศ BCE เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตอาจเริ่มต้นด้วยการเข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หากโครงการดำเนินการได้ตามเป้าหมาย 3 แสนไร่และปริมาณคาร์บอนที่กับเก็บได้ในระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปีอยู่ที่ระดับค่าเฉลี่ยศักยภาพฯ คาดว่าจะเกิดคาร์บอนเครดิตอย่างต่ำ 28 MtCO2

การฟื้นฟูระบบนิเวศ BCE ยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) หลายประการ อาทิ รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และธรรมชาติ การทำประมงที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งอาจสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ยมากกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี

ในปัจจุบัน ภาคส่วนต่างๆ ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศมีความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) ในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับวาระของโลกที่มุ่งลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้จะมีความพยายามที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง แต่ก็ทำได้ไม่ทั้งหมดเพราะต้นทุนส่วนเพิ่มในการลดก๊าซเรือนกระจกสูงมาก จึงทำให้ยังมีความต้องการปริมาณคาร์บอนเครดิตจำนวนมาก เพื่อใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น บทความฉบับนี้จะชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับทางเลือกใหม่ในการกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูงผ่านระบบนิเวศชายฝั่งหรือ Blue Carbon Ecosystem (BCE) และโอกาสในการสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากโครงการฟื้นฟูหรืออนุรักษ์ระบบนิเวศ Blue Carbon รวมไปถึงการใช้ในกิจกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือที่เรียกว่ากิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
Blue Carbon Ecosystem เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน ที่มีประสิทธิภาพสูง
Blue Carbon Ecosystem เป็นระบบนิเวศตามป่าชายเลน ที่ลุ่มน้ำเค็ม ที่ราบน้ำท่วมถึง และหญ้าทะเล ที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำหน้าที่ดูดซับและกักเก็บคาร์บอนในรูปของมวลชีวภาพและการทับถมของตะกอนลงสู่ชั้นดินลึกหลายเมตร โดยที่คาร์บอนจะถูกกักเก็บได้นานนับพันปีในชั้นตะกอนหากสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศไม่ได้ถูกทำลายจากภัยธรรมชาติหรือกิจกรรมของคน (WEF, 2021) ต่างจากระบบนิเวศบนบก (Terrestrial Ecosystem) เช่น ป่าฝน ที่แม้ว่าจะกักเก็บคาร์บอนในชีวมวลได้เช่นกัน แต่จะปล่อยคาร์บอนกลับออกมาเมื่อต้นไม้ตาย ที่ผ่านมา การวิจัยต่างๆ ชี้ว่าระบบนิเวศ Blue Carbon มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนได้สูงกว่าป่าไม้ราว 5-10 เท่า  เนื่องจากสามารถดึงคาร์บอนประมาณ 50-90% ไปกักเก็บไว้ในใต้ดินที่มีน้ำทะเลท่วมขังซึ่งช่วยชะลอการเน่าเปื่อยของอินทรีย์วัตถุและช่วยเพิ่มปริมาณการสะสมคาร์บอนในดิน

การฟื้นฟูระบบนิเวศ Blue Carbon หลายประเภทมีศักยภาพการลด CO2 ต่อหน่วยพื้นที่ สูงกว่าภาคป่าไม้
ศักยภาพการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยพื้นที่ (Mitigation Potential) มีความแตกต่างกันตามประเภทกิจกรรมในแต่ละระบบนิเวศ โดยที่กิจกรรมการฟื้นฟูป่าชายเลน (Mangrove restoration) โดยเฉลี่ยมีศักยภาพสูงกว่ากิจกรรมการฟื้นฟูสภาพป่า (Reforestation) ในระบบนิเวศป่าไม้ และกิจกรรมการฟื้นฟูหญ้าทะเล (Seagrass restoration) ในการลดปริมาณ CO2 ต่อหน่วยพื้นที่  โดยรวมแล้ว Blue Carbon โดยเฉพาะที่เกิดจากกิจกรรมการฟื้นฟูป่าชายเลนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถก้าวไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้
อนึ่ง จากงานวิจัยล่าสุดของ McKinsey & Company (2022) ประเมินว่ากิจกรรมการฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน หญ้าทะเล และที่ลุ่มน้ำเค็มโดยรวมทั้งโลกจะมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนราว 0.4-1.2 กิกะตันของคาร์บอนไดออกไซด์ (GtCO2) ต่อปี ภายใน ปี 2050

 

 

ต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกของ Blue Carbon อยู่ในระดับที่น่าสนใจเทียบกับราคาซื้อขายในตลาดคาร์บอน
จากการศึกษาต้นทุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ McKinsey & Company (2022) พบว่าต้นทุนสุทธิที่ต้องจ่ายเพิ่มในการลดก๊าซเรือนกระจกต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2) ของ Blue Carbon ในหลายประเภทกิจกรรม/โครงการ เช่น การฟื้นฟูป่าชายเลน การอนุรักษ์ป่าชายเลน การอนุรักษ์หญ้าทะเล ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 18 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2 ซึ่งแข่งขันได้เมื่อเทียบกับกิจกรรมการกักเก็บคาร์บอนในระบบนิเวศบนบก และน่าสนใจเมื่อเทียบกับราคาซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิตหากผู้ที่พัฒนาโครงการขายคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ทั้งนี้จากข้อมูลของ Abatable พบว่าราคาคาร์บอนเครดิตจาก Blue Carbon โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2 โดยที่บางประเภทโครงการมีราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตสูงถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ tCO2

 

 

ชายฝั่งทะเลไทยก็มีระบบนิเวศป่าชายเลนและหญ้าทะเลเป็นอีกโอกาสสำคัญในการกักเก็บและดูดซับ CO2
ระบบนิเวศ Blue Carbon กระจายตัวอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั่วโลก ครอบคลุมพื้นที่ราว 185 ล้านเฮกตาร์ และมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่า 30,000 TgC (Nature, 2021)  สำหรับประเทศไทยนั้น มีระบบนิเวศ Blue Carbon ทั้งป่าชายเลนและหญ้าทะเลซึ่งอยู่ตามชายฝั่งทะเลในจังหวัดหรือหมู่เกาะต่างๆ ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประเมินว่าไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพเป็นป่าอยู่ 1.74 ล้านไร่ โดยบางส่วนจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูจากการบุกรุกและใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ที่กระทบระบบนิเวศป่าชายเลน ขณะที่พื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเลมีอยู่ราว 160,628 ไร่ แต่จากข้อมูลล่าสุดปี 2564 มีพื้นที่เพียง 99,325 ไร่ ซึ่งแสดงว่าไทยยังมีพื้นที่อีก 38% ที่สามารถฟื้นฟูหญ้าทะเลให้เป็นระบบนิเวศที่ช่วยกักเก็บคาร์บอนได้

 

ภาครัฐตั้งเป้าฟื้นฟูป่าชายเลน 3 แสนไร่เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกผ่านความร่วมมือจากภาคเอกชน
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้จัดทำ “โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต” ในพื้นที่ 23 จังหวัด จำนวน 3 แสนไร่ในช่วง 2565-2574 โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลัก 3 ฝ่าย ได้แก่ (ก) ทช. เป็นเจ้าของโครงการและผู้พัฒนาโครงการ (ข) อบก. เป็นผู้ขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) หรือ T-VER มาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER) และรับรองคาร์บอนเครดิตให้กับผู้พัฒนาโครงการ (ค) องค์กรเอกชน ชุมชนท้องถิ่นหรือชายฝั่ง เป็นผู้พัฒนาโครงการ โดยสามารถเลือกกรอบระยะเวลาดำเนินการครั้งละ 10, 20, และ 30 ปี (ขอต่ออายุได้ครั้งละ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) อนึ่งในแต่ละปี ทช. จะประกาศเชิญเข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลน กำหนดพื้นที่เป้าหมาย และพิจารณาจัดสรรพื้นที่ดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนให้กับผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ โดยในปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดสรรพื้นที่ 4.1 หมื่นไร่ ให้กับองค์กรเอกชนจำนวน 14 ราย ในการดำเนินโครงการฯ
สำหรับองค์กรเอกชนที่เข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาโครงการปลูกป่าชายเลน จะได้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นในระยะข้างหน้าหากการดำเนินโครงการเป็นไปตามระเบียบของ ทช. ที่เกี่ยวกับการปลูกและบำรุงป่าชายเลนและการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต อนึ่ง การแบ่งปันคาร์บอนเครดิตระหว่าง ทช. กับบุคคลภายนอก กำหนดสัดส่วนเท่ากับ 10 : 90 หรือตามที่ตกลง โดยที่ ทช. จะได้รับสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 จากโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

 

 

Blue Carbon Credit สร้างโอกาสในเชิงเศรษฐกิจและธุรกิจ รวมถึง Co-benefits ต่อหลายภาคส่วน
ป่าชายเลนมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ 9.4 tCO2 ต่อไร่ต่อปี อ้างอิงจากผลการศึกษาศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในป่าชายเลนในพื้นที่ 9 จังหวัดของไทยทั้งในโซนอ่าวไทยและโซนอันดามันของคณะทำงานร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐ  ในเบื้องต้นสมมติว่าหาก ทช. สามารถดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนได้ครบตามเป้าหมาย 3 แสนไร่พร้อมกับกักเก็บปริมาณคาร์บอนได้ที่ระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยศักยภาพข้างต้น และได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตอย่างน้อย 10 ปี คาดว่าจะเกิดคาร์บอนเครดิตอย่างต่ำ 28 MtCO2
นับเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจทั้งที่เป็นผู้พัฒนาโครงการเพื่อรับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตหรือผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ที่พัฒนาโครงการปลูกป่าชายเลนดังกล่าว เพื่อใช้ในกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการเข้าใกล้เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net-Zero GHG Emissions ได้อีกทางหนึ่ง และเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เช่น เป้าหมาย SDG ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์มหาสมุทรและทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับธุรกิจ ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวของผู้บริโภคทั่วโลกที่ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
อนึ่ง ผู้ที่พัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ขึ้นทะเบียนโครงการกับ อบก. จะได้ประโยชน์จากมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศเป็นระยะเวลา 3 รอบบัญชีต่อเนื่องกัน และยังสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตด้วย
นอกจากนี้ โครงการปลูกป่าชายเลนยังสร้างผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) หลายด้านที่นอกเหนือจากการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจและประเทศ เช่น เป็นแหล่งรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นจากรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล (Marine Ecotourism) ปรับปรุงคุณภาพน้ำและระบบนิเวศชายฝั่งทะเล รวมถึงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำซึ่งช่วยสนับสนุนด้านการทำประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยรวมแล้วนับเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชนและอื่นๆ รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาอาชีพใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในเบื้องต้นระบบนิเวศทางทะเลดังกล่าวอาจสร้างมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวมให้กับประเทศโดยเฉลี่ยปีละ 4.8 แสนล้านบาทในช่วง 20 ปี (2557-2576) อ้างอิงจากการประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจรวมของระบบนิเวศป่าชายเลนและหญ้าทะเล (รวมถึงแนวปะการัง) ของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งปี 2557  ทั้งนี้ มูลค่าทางเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากภาคการท่องเที่ยวและการทำประมง ประโยชน์จากการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การดูดซับและกักเก็บคาร์บอน อย่างไรก็ดี เนื่องจากการศึกษาดังกล่าวประเมินไว้ในปี 2557 ผ่านมา 9 ปี ประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวมอาจเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปแต่อย่างน้อยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

Implication:
• การดำเนินโครงการการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศ Blue Carbon Ecosystem (BCE) เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการกักเก็บคาร์บอนสำหรับภาคเอกชนที่ต้องการสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตหรือนำคาร์บอนเครดิตไปใช้ในการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เนื่องจาก BCE มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนได้จำนวนมาก ในขณะเดียวกันมีต้นทุนในการดำเนินการเพื่อกักเก็บคาร์บอนในระดับที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับระบบนิเวศบนบก
• ในปัจจุบัน คาร์บอนเครดิตจากสาขาป่าไม้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยมีปริมาณซื้อขาย ราคา และมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตสูงเมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ เรามองว่าในอนาคต ราคาและปริมาณความต้องการคาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภทการดูดซับ (Carbon Removal) อย่างเช่นกิจกรรมการปลูกป่าชายเลน มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับคาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภทการลดก๊าซเรือนกระจก (Carbon Reduction) เนื่องจากภาคส่วนต่างๆ มีความต้องการใช้คาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพสูงเพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net-Zero GHG Emissions
• ภาคเอกชนที่สนใจใน BCE อาจเริ่มจากการเข้าร่วมใน “โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต” ในพื้นที่ 23 จังหวัด ซึ่งจัดทำโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยองค์กรภาคเอกชนที่เข้าร่วมในการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลนจะได้ประโยชน์จากการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตภายใต้มาตรฐาน T-VER หรือมาตรฐานขั้นสูง Premium T-VER ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานคาร์บอนเครดิตให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล โดยสามารถนำไปชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือจะสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพดี โดยที่กำไรสุทธิจากการขายคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ T-VER ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 รอบบัญชีต่อเนื่องอีกด้วย
• นอกจากนี้ โครงการประเภท BCE ยังสร้างผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) หลายประการต่อชุมชนและธุรกิจท้องถิ่น เช่น ประโยชน์ทางด้านสันทนาการและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล (Marine Ecotourism) การปรับปรุงคุณภาพน้ำและระบบนิเวศชายฝั่งทะเล รวมถึงการเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำซึ่งช่วยสนับสนุนด้านการทำประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยรวมแล้วนับเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจในชุมชนและส่งเสริมการพัฒนาอาชีพใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Krungthai COMPASS

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

มิจฉาชีพแอบอ้างส่วนราชการชำระค่าปรับใบสั่งจราจรปลอม

 

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมุ่งหวังให้บริการของภาครัฐสะดวก รวดเร็ว อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกกฎหมายผลักดันรัฐบาลดิจิทัล พร้อมจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ตลอดจนมอบหมายให้หน่วยงานรัฐพัฒนาแอปฯ และบริการออนไลน์จำนวนมากเพื่อพัฒนาภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล ทั้งนี้ หน่วยงานราชการหลาย ๆ หน่วยงานได้สานต่อนโยบาย พัฒนารูปแบบการให้บริการแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ทำให้มีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นส่วนราชการหลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อ โดยเฉพาะการแอบอ้างเรื่องการชำระค่าปรับต่าง ๆ  

นางสาวรัชดา กล่าวว่า เพื่อให้รู้ทันกลโกงของมิจฉาชีพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แนะวิธีสังเกตใบสั่งจราจรอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดส่งทางไปรษณีย์ไปยังเจ้าของรถถึงบ้าน ว่าฉบับไหนเป็นของจริง-ของปลอม ซึ่งการออกใบสั่งจราจรอิเล็กทรอนิกส์ครั้งแรก จะมีรูปถ่ายรถ หมายเลขทะเบียนรถ และข้อหากระทำความผิดครบ หากไม่จ่ายค่าปรับใน 7 วัน จะมีใบเตือน ส่วนการออกครั้งที่สองนั้น เป็นใบเตือนให้ชำระค่าปรับใบสั่ง ซึ่งในเอกสารครั้งที่สองนี้ จะไม่มีรูปถ่ายรถประกอบ แต่จะมีแค่ QR code บอกวิธีการชำระเงิน และมีลายเซ็นนายตำรวจระดับสารวัตรขึ้นไปเซ็นประกอบ ยืนยันว่าเป็นเอกสารทางราชการจริง 

“การออกใบสั่งจราจรอิเล็กทรอนิกส์จะต้องมีการลงระบบ PTM ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชน ผู้ได้รับใบสั่งจราจรสามารถตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นใบสั่งจริง โดยนำเลขที่ใบสั่ง ไปตรวจสอบได้ที่ https://ptm.police.go.th/eTicket ส่วนจุดสังเกตที่สำคัญ คือ บัญชีธนาคารปลายทางที่จะรับเงิน ต้องเป็นบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อ “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ – ค่าปรับจราจร” เท่านั้น ( ถ้าเป็นชื่อบัญชีส่วนบุคคลให้สงสัยว่าเป็นใบสั่งปลอม ) ขอให้ประชาชนผู้ที่ได้รับสั่ง ควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อเสียค่าปรับ จะได้ไม่หลงกลของมิจฉาชีพ” นางสาวรัชดา ย้ำ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SPORT

ไทยเป็นเจ้าภาพ จัดประชุม FIFA Congress 2024 กระตุ้นเศรษฐกิจ

 

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดประชุมใหญ่ประจำปี ของสภาสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ในปี 2567 คาดการณ์ดึงดูดนักเตะชั้นนำ และผู้ร่วมงานหลายพันคนเดินทางมาไทย พร้อมส่งกำลังใจให้ทีมสาวไทยในการแข่งขันวอลเลย์บอลเนชั่นส์ลีก (Volleyball Nations League: VNL) ซึ่งกรุงเทพฯ ได้รับเลือกจากสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) เป็นเจ้าภาพในสัปดาห์ที่ 3 ระหว่าง 27 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2566 นี้  

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมสภาสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) ประกาศเลือกประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่สามัญในปี 2567 หรือ FIFA Congress 2024 ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และโรงแรมโดยรอบมากกว่า 30 แห่ง รวมถึงจะมีกิจกรรมพบปะระหว่างอดีตนักฟุตบอลระดับโลกกับเยาวชน รวมทั้งกิจกรรมอีกมากที่ FIFA จะใช้เสริมสร้างแนวทางการพัฒนา และการขับเคลื่อนด้านสังคมแก่เด็กและเยาวชน ที่ฟุตบอลจะสามารถเข้ามามีบทบาทได้ ทั้งนี้ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยคาดว่า ประธาน FIFA พร้อมด้วยอดีตนักฟุตบอลระดับโลก และผู้แทนจาก 211 ประเทศ จะเดินทางมาเข้าร่วมหลายพันคน สามารถสร้างกระแสความนิยม สร้างประโยชน์ในประเทศไทยได้หลากหลายมิติ ทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร การท่องเที่ยว รวมถึงทางด้านวัฒนธรรม และด้านอื่น ๆ ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้ร่วมกันต้อนรับในฐานะเจ้าบ้านที่ดี 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังยินดีที่ไทยได้รับเลือกจากสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Volleyball: FIVB) เป็นเจ้าภาพการแข่งขันวอลเลย์บอลเนชั่นส์ลีก (Volleyball Nations League: VNL) ในสัปดาห์ที่ 3 ของประเภททีมหญิง ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2566 ณ สนามกีฬาอินดอร์สเตเดียม หัวหมาก กรุงเทพฯ ซึ่งสัปดาห์นี้ทีมสาวไทยที่ปัจจุบันอยู่อันดับที่ 15 ของโลก จะลงแข่งขันกับทีมชั้นนำระดับโลกจากเนเธอร์แลนด์ ตุรกี ญี่ปุ่น และบราซิล เพื่อเก็บคะแนนสะสมคัดเลือกเข้ารอบ 8 ทีม ไปแข่งขันในสัปดาห์ที่ 4 ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายที่เมืองอาร์ลิงตัน (Arlington) รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐฯ ในวันที่ 12-16 กรกฎาคม 2566

“นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม และการแข่งขันด้านกีฬาในหลายประเภทอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงมาตรฐานการจัดการแข่งขันกีฬา และความพร้อมของไทย ทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และความสามารถของบุคลากรที่สามารถรองรับการดำเนินงาน เป็นเจ้าภาพที่ดี และสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงานได้ โอกาสนี้ นายกฯ ยังขอส่งแรงเชียร์และเป็นกำลังใจให้วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยในการแข่งขัน VNL สัปดาห์นี้ เชื่อมั่นว่าจะทำผลงานได้อย่างเต็มที่ โดยผลงานที่ยอดเยี่ยมในปี 2565 ที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกผ่านเข้าไปแข่งขันรอบ 8 ทีมสุดท้ายได้นั้น สร้างความประทับใจ และความภาคภูมิใจให้แก่แฟนกีฬาชาวไทย” นายอนุชาฯ กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

ครม.เคาะ! สินค้าและบริการควบคุม 51 รายการ ปี 66

 

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ว่า สืบเนื่องจากประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ฉบับที่ 13 พ.ศ.2565 จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 วันนี้ ครม.จึงมีมติเห็นชอบกำหนดสินค้าและบริการควบคุมปี 2566 จำนวน 51 รายการ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยให้คงสินค้าและบริการควบคุม ปี 2566 เช่นเดียวกับ ปี 2565 เพราะเป็นสินค้าและบริการควบคุมที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น ปุ๋ย ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิง ข้าวเปลือก ไข่ไก่ เนื้อสุกร เครื่องแบบนักเรียน เป็นต้น
 
สินค้าและบริการควบคุมปี 2566 จำนวน 51 รายการ แบ่งเป็น 46 สินค้า 5 บริการ โดยกำหนดเป็น 11 หมวด ดังนี้
 
1.หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1)กระดาษทำลูกฟูก กระดาษเหนียว 2)กระดาษพิมพ์และเขียน
 
2.หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง ได้แก่ 3)ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ 4)รถจักรยานยนต์ รถยนต์บรรทุก
 
3.หมวดปัจจัยทางการเกษตร ได้แก่  5)กากดีดีจีเอส (ส่วนที่เหลือจากการผลิตเอทานอล) 6)เครื่องสูบน้ำ 7)ปุ๋ย 8)ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช  9)รถเกี่ยวข้าว 10)รถไถนา 11)หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์
 
4.หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ 12)ก๊าซปิโตรเลียมเหลว 13) น้ำมันเชื้อเพลิง
 
5.หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ ได้แก่ 14)ยารักษาโรค 15)เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค
 
6.หมวดวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ 16)ท่อพีวีซี 17)ปูนซีเมนต์ 18)สายไฟฟ้า 19)เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น
 
7.หมวดสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ 20)ข้าวเปลือก ข้าวสาร 21)ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ 22)ข้าวโพด 23)ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ 24)ผลปาล์มน้ำมัน 25)มะพร้าวผลแก่และผลิตภัณฑ์ 26)ยางพารา ได้แก่ น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครพ
 
8.หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ 27)กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า 28)แชมพู 29)ผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก 30)ผลิตภัณฑ์ล้างจาน 31)ผ้าอนามัย 32)ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็กและผู้ใหญ่ 33)สบู่ก้อน สบู่เหลว
 
9.หมวดอาหาร ได้แก่ 34)กระเทียม 35)ไข่ไก่ 36)ทุเรียน 37)นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ไม่รวมถึงนมเปรี้ยว 38) น้ำมันและไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ 39)แป้งสาลี 40)มังคุด 41)ลำไย 42)สุกร เนื้อสุกร 43)หอมหัวใหญ่ 44)อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก 45)อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท
 
10.หมวดอื่น ๆ ได้แก่ 46)เครื่องแบบนักเรียน
 
11.หมวดบริการ ได้แก่ 47)การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า 48)บริการซื้อขายและหรือบริการขนส่งสินค้าสาหรับธุรกิจออนไลน์ 49) บริการทางการเกษตร 50)บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค และ 51)บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

‘สภาสื่อฯ’ ครบรอบ 26 ปี จัดเวที “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง”

 

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ องค์กรวิชาชีพสื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมครอบคลุมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และดิจิทัล โดย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จะจัดงานครบรอบ 26 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2566 เวทีปาฐกถาพิเศษ “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” และวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2566 เป็นงานในโอกาสครบรอบ 26 ปีสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 

วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 – 12.30 น. ที่ห้องกรุงธนบอลล์รูม ชั้น 3 โรงแรมรอยัล ริเวอร์ เวที “อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง” เริ่มจากปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการเมืองไทยในบริบทการเมืองโลก” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข  “ทิศทางเศรษฐกิจไทย” โดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล และ“ทิศทางสังคมไทย” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  

 

ผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่งเพื่อสมทบทุนมูลนิธิสภาการสื่อมวลชน เพื่อใช้ในกิจการของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ในการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมสื่อมวลชน โดยผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมงานที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ ราคาที่นั่งละ 5,000 บาทและ 3,000 บาท บัตรราคา 1,000 บาท (เฉพาะอาจารย์ นิสิต นักศึกษา) บัตรเข้าฟังทางระบบออนไลน์ แอคเคาท์ละ 500 บาท เข้าดูได้ 5 คน (เฉพาะอาจารย์ นิสิต นักศึกษา) ติดต่อซื้อบัตร โทร. 0 2668 9900

 

วันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 26 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ห้องบงกชรัตน์ เอ  ชั้น 2 โรงแรมรอยัลริเวอร์ เวลา 12.00-16.00 น. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กฎหมายจริยธรรมสื่อจำเป็นหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน” โดย คุณมานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 

 

เสวนา หัวข้อ “กฎหมายจริยธรรมสื่อจำเป็นหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน” วิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย     

1. นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

2.นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา

3.รศ.สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดำเนินการเสวนาโดย นางสาวกุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา ผู้ประกาศข่าวเนชั่นทีวี

 

สำหรับผู้สนใจที่ไม่สามารถเข้าร่วมงานที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ได้ ชมการถ่ายทอดสดผ่าน เพจเฟซบุ๊ก สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ (www.facebook.com/PressCouncilThailand/) เพจเฟซบุ๊ก ไทยพีบีเอส (www.facebook.com/ThaiPBS/) และยูทูป ไทยพีบีเอส (www.YouTube.com/Thai PBS/)

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

มทบ.37 คัดวงดนตรีบรรเลงไทยเพื่อแผ่นดิน ปีที่ 2 โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์

 

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 เวลา 10.30 น. พ.อ. เกียรติอุดม นาดี รอง เสธ.มทบ.37/รองประธานกรรมการกลุ่มที่ 4 จังหวัดพะเยา จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย ชป.กร.มทบ.37 และ คณะกรรมการจาก ผู้บังคับหมวดดุริยางค์มณฑลทหารบกที่ 37, ผู้บังคับหมวดดุริยางค์มณฑลทหารบกที่ 34, ผศ.อดิวัชร์ พนาพงศ์ไพศาล ผู้ช่วยคณบดีงานบริการวิชาการแก่สังคม ม.ราชภัฏเชียงราย, นาย พงศธร โพธิแก้ว ครูชำนาญการโรงเรียนพะเยาพิทยาคม, อาจารย์ อัษฎาวุธ พลอยเขียว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาดนตรีและนาฏศิลป์ ม.พะเยา และ นายโชติวิทย์ ปัญโญ ผอ.โรงเรียนวัดจอเจริญสุขุมวาท อ.เวียงชัย จว.ช.ร. ลงพื้นที่คัดเลือกการประกวดวงดนตรีสากลร่วมสมัย คีตวัฒนศิลป์ บรรเลงไทยเพื่อแผ่นดิน ปีที่ 2 ประจำปี 2566 ครั้งที่ 2 ณ โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ อ.เมืองเชียงราย จว.ช.ร. โดยใช้กรอบแนวทางการให้คะแนนที่กำหนด จาก กรมดุริยางค์ทหารบก ด้วยความเป็นกลาง บริสุทธิ์ ยุติธรรม เพื่อคัดเลือกตัวแทนในรอบแบ่งกลุ่มจังหวัดเข้าไปแข่งขันในระดับภาคต่อไป

กิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วย การประกวดวงดนตรี, มอบทุนการศึกษา, อุปกรณ์การศึกษา, การเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติ โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา, คณะครู และนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม จำนวนประมาณ 50 คน ซึ่งโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ ฯ ได้ส่งทีมเข้าประกวด 1 ทีม ประเภทดนตรีสากลร่วมสมัย โดยได้รับความสนใจจาก ผู้บริหารสถานศึกษา,คณะครู และนักเรียนที่เข้าร่วมอย่างมาก

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News