Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

จัดโครงการอบรมเพิ่มความรู้ยุคดิจิทัล ให้ผู้สูงอายุ อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายก นก อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุจังหวัดเชียงราย กิจกรรม : เติมความรู้ เตรียมความพร้อม รุ่น 5 

 

โดยมีนางนิตยา ยาละ ส.อบจ.เชียงราย อ.เวียงแก่น เขต 1 กล่าวต้อนรับ และมีนางสาวสายสุดา เชื้อเมืองพาน ผอ.รพ.สต.ครึ่ง นายวีระศักดิ์ มณีรัตน์ ประธานสาขาสมาคมสภาผู้สูงอายุฯ ประจำ จ.เชียงราย นายไววิทย์ ชัยถาวร รองประธานสาขาสมาคมสภาผู้สูงอายุฯ ประจำ จ.เชียงราย นายวิทูรย์ จิตตะวิกุล รองประธานสาขาสมาคมสภาผู้สูงอายุฯประจำ จ.เชียงราย และเครือข่ายผู้สูงอายุในพื้นที่ ร่วมด้วย ในการนี้ได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจาก สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเชียงราย (กศน.จ.เชียงราย) และ รพ.สต.ศรีถ้อย เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ ณ ศาลาอเนกประสงค์วัดครึ่งเหนือ ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

 

โครงการและกิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความรู้ความเข้าใจ เข้าถึงสิทธิสวัสดิการของผู้สูงอายุ อีกทั้งเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้อุปกรณ์ดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว กำหนดจัดขึ้นทั้งหมด 9 ครั้ง โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการอบรมคือ ผู้สูงอายุใน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น รวมจำนวนทั้งสิ้น 100 คน
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เปิดงานเวทีขยายแนวคิดเสริมสร้างทักษะด้านสุขภาวะและสุขภาพจิตให้เยาวชนเชียงราย

 

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 67 โรงแรมเฮอริเทจ เชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย ว่าที่ร้อยตรีศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการประชุมเวทีขยายแนวคิดและผลการขับเคลื่อนการบูรณาการงานปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านสุขภาวะทางเพศและสุขภาพจิตให้เยาวชนพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมีนางสุรินทร์ รุดเครือ ผอ.กลุ่มพัฒนาการศึกษา สนง.ศธจ.เชียงราย นำสถานศึกษาผู้แทนจากหน่วยงานภาคการศึกษาทุกสังกัด หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเยาวชน และตัวแทนเยาวชนจากสถานศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า 180 คน

 

นางสุรินทร์ รุดเครือ ผอ.กลุ่มพัฒนาการศึกษา สนง.ศธจ.เชียงราย กล่าวว่า สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. มอบหมายให้มูลนิธิแพรทูเฮลท์เป็นหน่วยประสานงาน เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการบูรณาการงานปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพเพื่อเสริมสร้างทักษะด้านสุขภาวะทางเพศและสุขภาพจิตให้เยาวชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อพัฒนาเครือข่ายและกลไกการทำงานแบบบูรณาการเรื่องเพศ สุขภาพจิตในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวมถึงส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในสถานศึกษาได้เรียนรู้เรื่องเพศและสุขภาพจิตที่ จะนำไปสู่การลดอัตราการคลอด ตลอดจนภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และกล่าวต่อไปว่าการประชุมครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของ 6 หน่วยงานภายในจังหวัดเชียงราย ที่มีภารกิจในการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดเชียงราย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร เทศบาลนครเชียงราย และคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเชียงราย
 
 
ว่าที่ร้อยตรีศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การเสริมสร้างทักษะสุขภาวะทางเพศและสุขภาพจิตในสถานศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะสถานการณ์วัยรุ่นไทย ที่กำลังเผชิญความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ทั้งสุขภาพและจิตใจที่มาจากปัญหาสุขภาวะทางเพศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้ในอนาคตดังนั้นการส่งเสริมสุขภาวะทางเพศและสุขภาพจิตในสถานศึกษา จำเป็นต้องทำแบบรอบด้านให้กับเด็กและเยาวชน โดยผ่านการจัดการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาในสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพครู ให้เยาวชนมีบทบาทในการจัดการเรียนรู้และสื่อสารเรื่องเพศอย่างสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนงานภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัด พร้อมกล่าวต่อไปว่าขอขอบคุณผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงาน คณะครู และน้อง ๆ เยาวชน จากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงราย ที่ให้ความสำคัญกิจกรรมดังกล่าวฯ ซึ่งสามารถนำความรู้ในวันนี้ไปขยายแนวคิดต่อในสถานศึกษา และขับเคลื่อนเสริมสร้างทักษะด้านสุขภาวะทางเพศและสุขภาพจิตให้เยาวชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายต่อไป
 
 
หลังจากนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่หน่วยงานภาคีหลักที่เริ่มต้นร่วม ขับเคลื่อนโครงการฯ จำนวน 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดเชียงราย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร เทศบาลนครเชียงราย และคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเชียงราย พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรให้แก่หน่วยงานทางการศึกษาจำนวน 7 สถาบันได้แก่ โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา โรงเรียนพญาเม็งรายมหาราชวิทยาคม โรงเรียนพานพิทวิทยาคม โรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า โรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย และนอกจากนี้ภายในกิจกรรม มีการปาฐกถาพิเศษ “การพัฒนาเยาวชนเชิงบวก”โดย ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษกกรมพินิจและคุ้มครองเด็กกระทรวงยุติธรรม กิจกรรมบูธสภาเด็กเอ็มพลัสเครือข่ายงดเหล้า กิจกรรมการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและสุขภาพจิต กิจกรรมระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนและการส่งต่อบริการเรื่องเพศและสุขภาพ ฯลฯ จากหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เปิดโครงการสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเชื่อม ต.เมืองชุม – ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 11.00 น. นายสุธีระพงษ์ วันไชยธนวงศ์ ประธานสภา อบจ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดสะพาน อบจ.เชียงราย โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เชื่อมระหว่าง ม.9 ต.เมืองชุม – ม.2 ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย พร้อมด้วย นายอนันต์ นัยติ๊บ ผอ.ส่วนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักช่าง อบจ.เชียงราย นาย มงคล ศรีธิ หน. ฝ่ายสำรวจ สำนักช่าง อบจ.เชียงราย นางสาวธนัชญา ใจแปง หน.ฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักช่าง อบจ.เชียงราย และบุคลากรสำนักช่าง อบจ.เชียงราย 

 

โดยมี ว่าที่ ร.ต.ชัยยา พลอยแหวน นายกเทศมนตรี ต.เมืองชุม กล่าวรายงาน และมีนางลัดดาวัลย์ เลิกนุช ปลัด ทต.เมืองชุม นายสุทัศน์ ใจศรี รองนายกเทศมนตรี ต.เวียงเหนือ นายปฐมพงษ์ ฤทธิแผลง ประธานสภา ทต.เวียงเหนือ นายดวงจันทร์ จันคำ กำนัน ต.เมืองชุม นางอำพร จันทร์คำ ประธานกลุ่มพัฒนาสตรี อ.เวียงชัย ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

 

โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแห่งนี้ เป็นโครงการหนึ่งที่มีความสำคัญด้านการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง จากการเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว อบจ.เชียงราย จึงได้ผลักดันให้เกิดโครงการนี้ เพื่อพัฒนา จ.เชียงรายให้ดียิ่งขึ้น สะพานนี้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อ 2 ตำบล ได้แก่ ต.เมืองชุม และ ต.เวียงเหนือ เพื่อทำให้การเดินทางสัญจรไปมาของประชาชนเกิดความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งยังเป็นการส่งเสริมทั้งภาคการเกษตร การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวให้สะดวกยิ่งขึ้น
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เปิดบ้านเตรียมพัฒน์ฯ ร่วมใจห่วงใยสิ่งแวดล้อม

 

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ภายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย นายอัมรินทร์ มณีรัตน์ นายกสมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการเชียงราย เป็นปรธานพิธีเปิดงาน “เตรียมพัฒน์ฯ ร่วมใจ ห่วงใยสิ่งแวดล้อม” ประจำปีการศึกษา 2566 พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ ที่ได้จัดแสดงผลงานของครูและนักเรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยมี นายธีรยุทธ ชัยอิ่นคำ ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน เข้าร่วมงาน

 

นายธัญธนันจ์ ศรีชญธนัตถ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการเชียงราย กล่าวว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการเชียงราย เป็นโรงเรียนที่ได้บริหารการจัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน 
 
 
โดยเฉพาะการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ จึงได้นำผลงานต่างๆ เช่น รางวัลโรงเรียนมาตรฐานสากล (OBECQA) รางวัล 1 ห้องเรียน 1 ผลิตภัณฑ์ (OCOP) รางวัล 1 โรงเรียน 1 นวัตกรรม (OSOI) โครงการคุณธรรมของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1, 2, 4 และ 5, การนำเสนอรายวิชาการจัดกิจกรรมการนำองค์ความรู้ไปใช้บริการสังคม (IS3) ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 รวมถึงผลงานของครู นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และนักเรียน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ผสมผสานกับความรู้สู่สากล และพัฒนาเรียนรู้ให้มีทักษะในการดำรงชีวิตในอนาคตต่อไป
 
 
สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าวนั้น เป็นการจัดแสดงผลงานของครูและนักเรียน ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ส่งเสริมให้นักเรียนมีความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม สนองนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณธรรม นำความรู้และประยุกต์ใช้กับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และฝึกให้นักเรียนสามารถวางแผนงานและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มีกิจกรรมแสดงผลงาน 
 
 
การจัดแสดงโครงงานคุณธรรม การแสดงนิทรรศการจากสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงราย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย การแนะแนวการศึกษาต่อโดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพะเยา คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงราย คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เทศบาลนครเชียงราย ร่วมสถาบันการศึกษา ขับเคลื่อนเมืองเป็นนครแห่งการศึกษา

 
จากแนวคิดที่เทศบาลนครเชียงรายจะขับเคลื่อนเมืองเป็นนครแห่งการศึกษา ซึ่งเราได้รับความกรุณาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และในระดับมัธยมศึกษา เช่น โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน, โรงเรียนสาธิตจุฬา ตลอดจนสถาบันการศึกษาอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศอีกจำนวนมาก
 
 
ดร.วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย คณะผู้บริหาร ปลัดเทศบาลนครเชียงราย ผอ.สำนักการศึกษา โรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย ได้ร่วมลงนามกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รศ.ดร.ดรุณี วัฒนศิริเวช รองอธิการบดี ผศ.ดร. ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ รองอธิการบดี ในการที่เราจะเตรียมรูปแบบการศึกษาของน้องๆ นักเรียน ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ และรองรับกับความต้องการบุคลากรของภาคเอกชน ที่จะส่งเสริมให้ลูกหลานมีงานทำและมีรายได้ที่ดี ซึ่งเป็นที่มุ่งหวังของพวกเราพ่อแม่และผู้ปกครอง
 
 
และในวันเดียวกัน ก็ได้มีโอกาสร่วมพบปะกับ ร.ศ.ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และพทป.นภัสวรรณ เผ่าจำรูญ ผู้จัดการโรงงานผลิตสมุนไพรครบวงจร ซึ่งท่านก็ได้ให้ความกรุณาในการเปิดโอกาสให้คณะเทศบาลนครเชียงราย ศึกษาดูงานเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมสมุนไพร
 
 
เป็นความมุ่งมั่นของพวกเราในการประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ ในการเกื้อหนุนและสนับสนุนทางด้านการศึกษาให้กับท้องถิ่นไทย ซึ่งเชื่อมั่นว่า เทศบาลนครเชียงรายของเราจะได้รับโอกาสจากสถาบันต่างๆ ดำเนินการควบคู่กับโรงเรียนทั้ง 8 แห่งในสังกัด และส่งมอบโอกาสที่ดีให้กับน้องๆ นักเรียนของเรากว่าแปดพันคน เพื่ออนาคตที่ดีของเด็กเชียงรายต่อๆ ไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เทศบาลนครเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติ ปรับปรุง อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ

 

เมื่อวันพุธที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. ณ อาคารคชสาร นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการความรู้ พื้นฐานในการออกแบบ และปรับปรุงสภาพแวดล้อม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพ

 

การจัดโครงการและกิจกรรมออกแบบและปรับปรุงสภาพแวดล้อม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ ผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัด เชียงราย และความร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มช่างชุมชน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
 
 
โดยมีวิทยากรจากศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง คณะสถาปัตยกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ให้ความรู้ในการอบรมครั้งนี้
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

ยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัย ท่องเที่ยวทางน้ำลำน้ำแม่สรวย

 

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้องประชุมราชาวดี โรงแรม เชียงรายแกรนด์รูม จังหวัดเชียงราย นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมยกระดับมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัยกิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำลำน้ำแม่สรวย ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ โดยมี ส่วนราชการ หน่วยงาน ผู้ประกอบการผู้ให้บริการท่องเที่ยวชุมชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว และเตรียมตัวเข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย

 

นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า อำเภอแม่สรวย เป็นอีกหนึ่งอำเภอที่ยังคงมีอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยววิถีชีวิตวัฒนธรรมล้านนา โดยเน้นคุณค่าความยั่งยืนควบคู่วิถีถิ่นร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นวัดแสงแก้วโพธิญาณ วัดพระธาตุจอมแจ้ง ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เขื่อนแม่สรวย เป็นต้น โดยเฉพาะเขื่อนแม่สรวยนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีน้ำแม่สรวย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของน้ำแม่ลาว จะมีการล่องแพเปียกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ปีใหม่เมือง) ในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม ของทุกปี อีกทั้งยังถือได้ว่าเป็นกิจกรรมประจำปีที่สำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชน และประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก
 
 
ในปัจจุบันการให้บริการกิจกรรมล่องแพเปียกลำน้ำแม่สรวย เป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำจังหวัดเชียงราย แต่ยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานการให้บริการของบุคลากรให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดรวมทั้งการคำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวในการประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำให้ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ
 
สำหรับการจัดกิจกรรมยกระดับมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัยกิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำลำน้ำแม่สรวย ในครั้งนี้เป็นพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและผู้ให้บริการกิจกรรมล่องแพ และแพบริการ เพื่อการท่องเที่ยวให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว และเตรียมตัวเข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัยกิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำ ให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านความปลอดภัย รวมถึงผู้ประกอบการยังสามารถจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยง และมาตรการเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้ 
 
 
ถือเป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยตามแนวทางที่ถูกต้องของกรมการท่องเที่ยว อีกทั้งยังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัย พึงพอใจ และประทับใจในการให้บริการ สามารถบอกต่อและกลับมาใช้บริการซ้ำอย่างต่อเนื่องต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

“วันชัย” เปิดศูนย์ Day Care ดูแลผู้สูงวัย 4 มุมเมือง เชียงราย

 
เทศบาลนครเชียงราย เปิด “ศูนย์ Day Care ดูแลผู้สูงวัย 4 มุมเมือง” ให้มีพื้นที่ที่ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
 
 
การที่เราจะเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน หรือเมืองคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์พร้อมได้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากที่สุด คือสุขภาพของพี่น้องประชาชน การไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเป็นลาภอันประเสริฐ ทำให้พี่น้องประชาชนไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
 
 
สิ่งหนึ่งที่เทศบาลนครเชียงรายโดยนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงรายได้ส่งเสริม คือการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่สีเขียว ให้พี่น้องประชาชนได้ออกกำลังกาย โดยความร่วมมือจากชุมชนและหน่วยงานต่างๆ รวมถึง สสส.และ สปสช.
 
 
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย จนถึงผู้สูงวัยอย่างครบวงจร นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงราย ปลัดเทศบาลนครเชียงราย ได้ให้มีการจัดตั้งกองการแพทย์ และตามมาด้วยศูนย์สาธารณสุข 4 มุมเมือง เพื่อความสะดวกของพี่น้องประชาชน และยังเป็นการลดความแออัดของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยได้รับความกรุณาจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ในด้านการแพทย์ พยาบาล ยารักษา ที่เหมือนกับโรงพยาบาล มาใช้ในศูนย์สาธารณสุขทั้ง 4 แห่ง (สันหนอง, น้ำลัด, สันตาลเหลือง และหัวฝาย) รวมถึงจัดให้บริการรถสาธารณะพาไปตรวจสุขภาพประจำปี โดยความร่วมมือกับ สปสช.ผ่านความเข้มแข็งของพี่น้อง อสม.ซึ่งเป็นผู้ที่เสียสละอย่างเต็มเปี่ยมในการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง
 
 
นายวัยชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย เชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดตั้ง “ศูนย์ Day Care ดูแลผู้สูงวัย ต่อเนื่อง 4 มุมเมือง” ให้มีพื้นที่ที่ผู้สูงวัยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข และช่วยลดความกังวลของลูกหลาน ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้สูงวัย กลุ่มแม่บ้าน น้องๆ เยาวชน ให้นครเชียงรายเป็นเมืองน่าอยู่ระดับโลกของคนทุกๆ วัยต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เทศบาลนครเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เชียงราย

 
เมื่อวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30 น. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2565 ที่หอประชุมสมเด็จย่า โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัย (อธิการบดีผู้ก่อตั้ง) กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
 
 
สำหรับปีนี้ผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ตามที่สภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีมติอนุมัติ ได้แก่ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง แก่ รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ และปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ แก่ รองศาสตราจารย์ นภาลัย สุวรรณธาดา และสำหรับผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ‘ตุงทองคำ’ คือ นายศิริชัย มาโนช และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุริยพงศ์ วัฒนาศักดิ์
 
 
โดยผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิต และบัณฑิต เป็นจำนวน 2,169 คน จากสำนักวิชา แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ นวัตกรรมสังคม จีนวิทยา การแพทย์บูรณาการ ศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การจัดการ เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมเกษตร นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง วิทยาศาสตร์สุขภาพ และพยาบาลศาสตร์ เป็นบัณฑิตชาวต่างชาติ จำนวน 60 คน ชาวต่างชาติที่สำเร็จการศึกษาในปีนี้ทั้งหมด 100 คน จากจีน เมียนมา ญี่ปุ่น มอริเชียส เกาหลีใต้ เยเมน อเมริกา บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ ลาว อัฟริกาใต้ ศรีลังกา ภูฏาน อังกฤษ ไนจีเรีย
 
 
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเปิดสอน 69 หลักสูตร ใน 15 สำนักวิชา ทั้งระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี โท และ เอก ในปีการศึกษา 2566 มีนักศึกษาทั้งสิ้น 14,488 คน จากทั่วทุกภาคของประเทศไทยและจากกว่า 47 ประเทศทั่วโลก จากนโยบายการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง และมีภาษาที่สองเป็นภาษาจีน ตลอดมานั้น ทำให้บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีทักษะและความสามารถ ที่จะร่วมพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า การรับรู้ในวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นพลเมืองโลกได้อย่างสมบูรณ์ โดยปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 39,612 คน กระจายการทำงานอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ.
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

สกสว. ร่วมมือ สมาชิกวุฒิสภา ขับเคลื่อน งานวิจัยท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนล้านนา

 

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) นำโดย พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ พร้อมด้วย นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้แทนผู้อำนวยการ สกสว.และผู้แทนผู้อำนวยการ บพข. ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะนักวิจัยมหาลัยเชียงใหม่ ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) ณ ห้องพระยาศรีวิสารวาจา อาคารสำนักงานอธิการบดี ชั้น 1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

        พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ รองประธานกรรมการฯ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า แพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) เกิดจากความร่วมมือของคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมด้วยวิทยาลัยสื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้คิดค้นจัดทำแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยวุฒิสภาเล็งเห็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านการใช้ Soft Power จาก “อัตลักษณ์ประจำถิ่น” ที่โดดเด่น เช่น การท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่น เทศกาลและประเพณีของ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน และน่าน โดยเลือกจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่นำร่องและจะขยายผลต่อยอดการใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวให้ครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนผ่านการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างโอกาสและรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

 
         นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อน Soft Power โดยใช้พลังสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมไทย นำภูมิปัญญาเดิมที่มีอยู่มาทำให้เกิดความสร้างสรรค์และทันสมัย เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนได้ ซึ่งวิทยาลัยสื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี (CAMP) ที่สร้างแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) ออกแบบแผนที่ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ผ่านการเล่นเกม หรือมูเตลูก็ตาม ได้แสดงถึงอัตลักษณ์ของสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้น และการสร้างระบบ “PLAY EARN TRAVEL and E-commerce” ให้กับสินค้าและการท่องเที่ยวชุมชนล้านนาสามารถสร้างรายได้ให้กับ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาล้านนาไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

    

        ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ในฐานะผู้แทนผู้อำนวยการ สกสว.และผู้แทนผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า ในภาคของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ กองทุนส่งเสริม ววน. และสกสว. ได้มอบหมายภารกิจให้ บพข. บริหารจัดการแผนงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งแบ่งออกเป็นแผนงานย่อย 2 แผนงาน 

(1) การพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ หรือแผนงานการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ซึ่งมีกรอบการดำเนินการภายใต้แผนงานย่อย
จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่ (1.1) การท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและ
การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (1.2) การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (1.3) การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ และ (2) การพัฒนาการและยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ หรือแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีกรอบการดำเนินการเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เน้นการทำงานแบบแผนงานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนและผู้ให้บริการในภาคการท่องเที่ยว มุ่งตอบเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่า ความยั่งยืน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

        สกสว. บพข. และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้บูรณาการการทำงานและขับเคลื่อนงานวิจัยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงได้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการวิจัย “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าแก่การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนล้านนา” ประยุกต์แนวคิดของ PLAY TRAVEL and EARN เพื่อสร้างโอกาสในการใช้เทคโนโลยีและะนวัตกรรม หนุนเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่เชื่อมโยง ผ่านแอพพลิเคชั่นที่ครอบคลุมการสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวออนไลน์ในรูปแบบเกม ประกอบการท่องเที่ยวอย่างสนุกสนานได้ความรู้ และสามารถนำเอาคะแนนที่ได้จากการเล่มเกมมาเปลี่ยนเป็นคะแนนเพื่อแลกส่วนลดในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ

         

        ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.เอกชัย มหาเอก รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแผนพัฒนาการดำเนินงานล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna) มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4  นำเอาภูมิปัญญาและต้นทุนที่มีอยู่ภายใต้ 5F ของ Soft Power มาต่อยอดในเชิงคุณค่าและเชิงมูลค่า
ซึ่งแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ (Creative Lanna Platform) สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย โดยมีวิทยาลัยสื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี (CAMT) เป็นแรงขับเคลื่อนและผลักดันที่สำคัญในการสร้างมูลค่าให้กับกระบวนการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมล้านนาในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงการของ CAMT ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านำไปสู่การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดล้านนาได้

                ผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี (CAMT) กล่าวว่า CAMT ในฐานะผู้ดูแลจะใช้ “Leisure Lanna Super App”ภายใต้ตัวแบบธุรกิจ “PLAY TRAVEL EARN” สนับสนุนการท่องเที่ยว การเดินทาง การแนะนำสถานที่ ร้านค้า ที่พัก หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข้อมูลเชิงการท่องเที่ยว การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงพื้นที่ตลาด (Market Place) ให้กับสินค้ากับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จะยกระดับสู่การเป็นพื้นที่กลางเพื่อเป็นช่องทางสำหรับ “การท่องเที่ยวชุมชน” โดยเปิดพื้นที่กลางให้กับแหล่งท่องเที่ยวชุมชนสามารถสร้างข้อมูลและเส้นทางการท่องเที่ยว อัตลักษณ์และสินค้าชุมชนเข้าสู่แพลตฟอร์ม “Super App” กระบวนการนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ “ท่องเที่ยวชุมชน” ต้องเรียนรู้วิธีการสร้างเรื่องราวท่องเที่ยว และพัฒนาสินค้าชุมชนเพื่อนำเสนอผ่านแพลตฟอร์ม “Leisure Lanna Super App” ในการนี้วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยีจึงได้วางแนวทางต่อยอดในอนาคต โดยออกแบบ พัฒนาหลักสูตร และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) ทั่วประเทศไทย 4 ภูมิภาค ให้กับ SMEs และท่องเที่ยวชุมชนจำนวน 120 ราย เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ Generative AI มาใช้กับการสร้างคอนเทนท์และ Character สินค้าชุมชน เป็นรูปแบบการต่อยอดการใช้ทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่มาใช้ออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวและนำอัตลักษณ์ชุมชนมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้
             ทั้งนี้งานวิจัยแผนงาน “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าแก่การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนล้านนา” โดยมี ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ และคณะ สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สนับสนุนทุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้จัดทำแอพพลิเคชั่นด้วยแนวคิด PLAY TRAVEL and EARN ออกเป็นสามแอพพลิเคชั่น ได้แก่
 

        1) แอพพลิเคชั่น “โลกเสมือนสามมิติสนับสนุนการท่องเที่ยวในรูปแบบประสบการณ์เชิงประวัติศาสตร์ เขตเมืองเก่าเชียงใหม่” ซึ่งจัดเก็บข้อมูลกับนักท่องเที่ยว เพื่อระบุกิจกรรมเชิงพักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ นำมาพัฒนาและทดสอบระบบความจริงเสมือนและดิจิทัลเกมอย่างง่าย เก็บข้อมูลกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมล้านนา ในพื้นที่คูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ วิเคราะห์ข้อมูลกิจกรรมท่องเที่ยว พฤติกรรมนักท่องเที่ยว และเนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมล้านนา ออกแบบรูปแบบการใช้งานแอปพลิชันเกมอย่าง่ายและระบบตัวตนเสมือนจริง วิเคราะห์และออกแบบโลกเสมือนสำหรับการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมล้านนา และสร้างกราฟิกสามมิติของโลกเสมือน และสร้างระบบของโลกเสมือน

        2) แอพพลิเคชั่น “สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงความศรัทธาด้วยเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง” ภายใต้แนวความคิดที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีเทคโนโลยี AR เป็นส่วนประกอบเพื่อสร้างความแตกต่างและมอบประสบการณ์แปลกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยว ด้วยเนื้อหาที่น่าสนใจเชิงความเชื่อและความศรัทธา เช่น เส้นทางแห่งความรัก และเส้นทางเสริมบารมี เมื่อผู้ใช้งานอยู่บริเวณโบราณสถานและมองผ่านกล้องดิจิทัล ระบบจะทำการแสดงฟังก์ชันแสดงผลโลกเสมือนจริงให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการท่องเที่ยว และกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เกิดการเดินทางมายังสถานที่จริง

        3) แอพพลิเคชั่น “เส้นทางเดินชมเมือง (Chiang Mai Old Town Trail) ในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ผ่านเทคโนโลยี AR ผ่านมุมมอง 360 องศา รองรับกิจกรรมท่องเที่ยวกายภาพ” ภายใต้ชื่อ Lanna Passport มุ่งหวังให้ใช้เป็นเครื่องมือเสริมประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ใช้แนวคิด Gamification การล่าเหรียญสมบัติในเมืองเก่า ใช้เทคโนโลยี AR ร่วมกับ AI Image recognition นำเสนอเรื่องราวได้ 3 ภาษา (ไทย จีน อังกฤษ) ก่อให้เกิดกิจกรรมทางกาย (Wellness) ผ่านการ เดิน วิ่ง ปั่น เพื่อคำนวณเป็นเหรียญรางวัลสำหรับกิจกรรมทางกาย นอกจากนี้ระบบที่ใช้เทคโนโลยี AR ได้นำเสนอเรื่องราวสถานที่ท่องเที่ยวในมุมมอง 360 องศาผ่านสายตาผู้ใช้งานในช่วงเวลาต่าง ๆ พร้อมกับการนำเสนอภูมิทัศน์เสียง หรือดนตรีที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นล้านนา จากสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ

        สำหรับแอพพลิเคชั่น “Leisure Lanna Super App” นอกเหนือจากเป็นแอพฯ หลักสำหรับเป็น Platform กลางสำหรับแอพพลิเคชั่นทั้งสามที่พัฒนาขึ้น ร่วมกับการเป็นพื้นที่นำเสนอข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวร้านค้าที่เข้าร่วมแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นพื้นที่สำหรับแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน เพื่อต่อยอดสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมสมทบงบประมาณในการพัฒนา “Super App” มอบส่วนลดให้กับผู้เล่นได้รับเหรียญรางวัลสะสมจากการพิชิตกิจกรรมที่กำหนดในแต่ละแอพพลิเคชั่น สามารถนำมาใช้เพื่อแลกเป็นส่วนลดเพื่อใช้บริการได้ เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับรองรับแอพพลิเคชั่นอื่นที่อยู่ในรูปแบบสนับสนุนการเรียนรู้ และการท่องเที่ยวชุมชน

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News