Categories
TOP STORIES

เส้นตาย เจ้าหนี้-ลูกหนี้ เงินกู้นอกระบบแสดงตัวภายใน 31 พ.ค. กวาดล้างทั่วประเทศ

 
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทยแถลง ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการแก้ไขหนี้นอกระบบ พร้อมด้วยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย พล.ต.ท.ทัตชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผบ.ตร.นายณรงค์ ศรีระสัน ผู้แทนอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สศช.)แถลงเปิดแผนปฏิบัติการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน

 

ทั้งนี้ นายชาดา กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบตามที่นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการและให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยมอบให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายก และรมว.มหาดไทย ดำเนินการและมีคณะทำงานได้ทำไประยะหนึ่ง มีการลงทะเบียนหนี้กว่าแสนราย แต่ยังไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดเพราะคนไทยจำนวนมากของประเทศ ที่เป็นคนจนทำมาหากินได้วันละ 500 บาท

 

และลูกหนี้จะไม่สามารถไปกู้เงินในระบบอื่นได้ นำไปสู่การกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยจำนวนมากทำให้ไม่สามารถเดินต่อไปได้เรื่องนี้จึงมีส่วนสำคัญกับเศรษฐกิจของชาติในปัจจุบันนี้ หากหลงเข้าไปกู้จะไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้เพราะต้องใช้หนี้อย่างเดียว

 

“กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการเรื่องนี้ทั่วประเทศแต่ยังไม่จบ จึงขอประกาศไปถึงเจ้าหนี้และลูกหนี้นอกระบบ ให้ออกมาแสดงตัว หากลูกหนี้ไม่มา เจ้าหนี้จะต้องมา ถ้าไม่มาไม่ให้ความร่วมมือกันจะให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายไม่ได้” นายชาดา กล่าว

 

รมช.มหาดไทย กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อไปทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร จะดำเนินการขั้นต่อไป ถ้าลูกหนี้และเจ้าหนี้ยังไม่เข้าสู่ระบบคนที่เป็นหนี้ก็ไม่สามารถไปกู้ที่ไหนได้ จึงต้องการให้เจ้าหนี้มาเข้าสู่กรอบของกฎหมาย

 

ถ้าไม่มาจะมีระยะเวลาในการดำเนินการ ที่จะต้องถูกตรวจสอบ เราจะตามเคลียร์คนที่มีอาชีพเงินกู้นอกระบบในทุกจังหวัด แต่หากเข้ามาในระบบ รัฐจะดูแลและให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายให้ลูกหนี้สามารถใช้หนี้ในอัตราที่ไม่ทารุณโหดร้ายส่วนเจ้าหนี้จะได้รับเงิน ยอมรับว่าเจ้าหนี้ก็มีมีทั้ง สายขาวและสายดำแต่ก็อยากให้มาลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ และประชาชนก็จะสามารถกู้ได้ด้วย

 

“ขอให้คนที่อยู่ในวงจรหนี้นอกระบบกลับเข้ามาสู่ระบบ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ จะให้เดดไลน์ ตั้งแต่วันที่ 16 -31 พฤษภาคมนี้ ในการมาแสดงตัวลงทะเบียน ไปแจ้งเข้าสู่ระบบด้วยตัวเองจะดีกว่าในทางออนไลน์ เรื่องนี้หากยังมีหนี้นอกระบบก็เหมือนรัฐบาลโปรยฝนลงมาแล้วหายหมด หญ้าไม่ขึ้น ความงอกเงยทางเศรษฐกิจหายหมด เพราะมีการลักดูดน้ำไป เราจะไม่ยอมให้คนไทยกู้หนี้มาใช้หนี้อีกแล้ว รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้และจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด เดทไลน์ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่คนทำผิดกฏหมายอยู่จะมีทางรอด“ นายชาดา กล่าว

 

นายชาดา กล่าวว่า ขอย้ำว่าให้มั่นใจว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องจะปลอดภัยไม่ถูกดำเนินคดีและช่วยคนไทยในทางอ้อม และใครที่โดนจับก็ต้องถูกตรวจสอบทางภาษี แต่คนที่อยู่เบื้องหลัง นั่งเป็นเจ้าพ่อเงินกู้อยู่ในประเทศประเทศไทยทุกวันนี้ต้องเดินเข้าสู่ระบบ ถ้าไม่อย่างนั้นจะเจอการตรวจสอบที่เข้มข้น และจะมาว่ากลับไม่ได้ว่าไม่ได้ให้ความเป็นธรรม

 

รัฐบาลไม่ยอมให้โครงการต่างๆที่ทำแล้วหายไปใต้ดินทั้งหมด เพราะคนไทยทำมาหากินได้แล้วต้องไปจ่ายหนี้และจ่ายได้แค่ดอกเบี้ย หลังจากนั้นก็ไปกู้อีกรายหนึ่งเพื่อมาใช้อีกรายหนึ่ง กลายเป็นว่าชีวิตหยุดกู้ไม่ได้ และปัญหาชีวิตก็ไม่ได้รับการแก้ไข วันนี้เป็นการแก้ไข ตนเข้ามาร่วมทำงานจนรู้ปัญหาดี ในฐานะนักการเมืองก็อยากจะแก้ปัญหาครั้งนี้อย่างยั่งยืนคือต้องจบ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมาตรการภาษี เข้ามาดำเนินการอย่างเด็ดขาดหรือไม่ นายชาดากล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ เป็นโอกาสของเจ้าหนี้ที่จะทำมาหากินแบบถูกกฎหมาย ส่วนระบบผิดกฎหมายต้องหมดไปตามวัฏจักรของบ้านเมือง เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน

 

ช่วงเวลาที่เหลือขอแนะนำให้เจ้าหนี้ รีบมาขึ้นทะเบียนที่จังหวัดที่อาศัยอยู่ที่ศูนย์ดำรงธรรมสถานีตำรวจ สถานที่ปกครองเพื่อเข้าระบบ ลูกหนี้อาจจะกลัวเจ้าหนี้จะต้องมาลงทะเบียน และอย่าคิดว่าความผิดจะมาไม่ถึงเพราะสรรพากรจะเข้าไปตรวจสอบรายได้ของเจ้าหนี้และครอบครัวของท่าน และขอให้เตรียมคำตอบไว้ให้ดี

 

ส่วนข้าราชการที่เป็นหนี้นอกระบบจะต้องกล้าหาญที่จะออกมา ให้ไปบอกหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ว่าฯโดยรายงานว่าใครเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ แต่ถ้าใครไม่แจ้งแล้วเจ้าหนี้ให้รายชื่อมาบอก จะถือว่าเป็นความผิดหรือไม่ วันนี้ต้องกล้าเพื่อให้ประชาชนเดินตาม

 

เมื่อถามว่ากรณีที่ เจ้าหนี้เป็นข้าราชการจะมีผลต่อหน้าที่การงานหรือไม่ นายชาดา กล่าวว่า เราจะไม่พูดเรื่องภายหลัง แต่เจ้าหนี้ที่เป็นข้าราชการ ต้องมาเร่งลงทะเบียน หากไม่มาลงทะเบียนอาจจะโดนสองเด้งทั้งทางอาญาและทางวินัย ทั้งนี้เราจะแก้ปัญหาให้ ไม่ใช่ใช้เฉพาะนิติศาสตร์แต่จะแก้ในทางรัฐศาสตร์ เพื่อให้ประชาชนมีแหล่งเงินกู้โดยไม่ผิดกฎหมาย ขอย้ำว่าหากไม่ทำจะถูกดำเนินมาตรการทางภาษี ทางกฎหมายและจะไม่มีใครช่วยท่านได้

 

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า  นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ ทั้งสองมีความเกี่ยวพันกัน เช่น การแก้ไขหนี้ในระบบพบว่าข้าราชการจำนวนไม่น้อยมีหนี้นอกระบบด้วย ก็อยากจะเรียกร้องให้ข้าราชการเหล่านั้นเข้ามาลงทะเบียนในระบบด้วย

 

ในส่วนการทำงานของคณะกรรมการ แม้มีการดำเนินการลงทะเบียนไปแล้วแต่ยังไม่เป็นไปตามเป้า และมั่นใจว่ายังมีประชาชนที่อยู่ในภาวะที่เป็นหนี้นอกระบบเหลืออยู่ ซึ่งการแถลงข่าววันนี้ไม่ใช่เป็นการขยายเวลา เพราะการลงทะเบียนยังเป็นไปตามกำหนดระยะเวลาเดิม คือให้เจ้าหนี้และลูกหนี้มาลงทะเบียนให้เรียบร้อยในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้  หากไม่มาเราจะมีการดำเนินการในแผนการปฏิบัติงานอย่างจริงจังเข้มข้น

 

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เจ้าหนี้ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณูปการคืออำนวยความสะดวกให้ลูกหนี้ที่ไม่สามารถเข้าระบบได้ แต่สิ่งที่ไม่สามารถยอมให้เกิดขึ้นได้คือดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ดังนั้นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ อยากให้มาลงทะเบียนเข้าระบบการไกล่เกลี่ย เจ้าหนี้ก็จะได้เงินคืนลูกหนี้ก็จะได้มีช่องทางในการชำระคืนตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ส่วนข้ออ้างของเจ้าหนี้ที่อ้างว่าไม่สามารถมาอยู่ในระบบได้จึงไม่มีจริง เพราะสามารถเข้ามาสู่ระบบได้ และอยากให้ตระหนักว่ากำลังทำผิดกฎหมายอยู่ในลักษณะเอาเปรียบลูกหนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลยอมไม่ได้

 

สำหรับลูกหนี้ส่วนหนึ่งไม่กล้ามาลงทะเบียนเพราะกลัวว่าจะถูกคุกคาม ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะให้ความคุ้มครองอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็มีการคุ้มครองเจ้าหนี้ด้วย คือต้องได้รับเงินต้นให้ครบจำนวน  แต่หากไม่มาลงทะเบียนก็จะถือว่าเจ้าหนี้ไม่ต้องการที่จะได้รับเงินคืนรัฐก็จะไม่สามารถคุ้มครองได้  และในการดำเนินการทุกฝ่ายพร้อมที่จะให้ความคุ้มครอง ทั้งเรื่องความปลอดภัยและสิทธิทางกฎหมาย

 

ขณะที่พล.ต.ท.ทัตชัย กล่าวว่า สำหรับมาตรการคุ้มครองลูกหนี้นอกระบบขอยืนยันว่าเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นเรื่องที่สำคัญโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดไว้เป็นความสำคัญในลำดับต้น โดยมีศูนย์การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบขึ้นมาดูโดยเฉพาะ ที่ผ่านมาระดมกวาดล้างมาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 จับกุมในคดีผู้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยเกินกำหนดและยึดทรัพย์

 

จึงขอให้ประชาชนเข้าใจกลับเข้ามาสู่ในระบบที่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายทั้งอาญาและยึดทรัพย์ สำหรับการคุ้มครองความปลอดภัย ขอให้ไว้ใจว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้วจะได้รับการดูแลความปลอดภัยเป็นอย่างดี ขณะที่การทำงานระหว่างตำรวจและอัยการในเรื่องของการยึดทรัพย์เป็นไปด้วยดี มีการส่งฟ้องและดำเนินการเกือบ 100%

 

นายณรงค์ กล่าวว่า ทางอัยการได้ชี้แจงรายละเอียดให้กับทางเจ้าหนี้และลูกหนี้หากมีการ ถูกดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา  แต่หากเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย จะได้รับการคุ้มครองทั้งทางกฎหมายและความปลอดภัยทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ แต่กรณีที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการ เมื่อลูกหนี้จ่ายต้นครบแล้ว ฝ่ายปกครอง ตำรวจ อัยการก็จะให้หยุดจ่าย  และหากเจ้าหนี้มีการข่มขู่ก็จะมีความผิดเป็นคดีอาญา   เช่น เจ้าหนี้ ที่มีการรวมกลุ่มเกิดห้าคนขึ้นไปและมีการข่มขู่คุกคามลูกหนี้ ก็อาจจะถูกดำเนินคดีข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจรได้  ขณะเดียวกันก็จะมีมาตรการทางภาษีด้วย

 

และหากลูกหนี้เจ้าหนี้ ท่านใดที่เป็นข้าราชการ ผู้ใช้แรงงาน ที่ไม่สามารถหยุดงานได้  ทางอัยการสูงสุดได้เปิดบริการในวันเสาร์ตั้งแต่ 08:00 – 16:00 น. เพื่อบริการลูกจ้างหรือข้าราชการที่ไม่สามารถหยุดงานได้ ให้สามารถใช้บริการที่อัยการสูงสุดได้ทุกที่ทั่วประเทศ

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงมหาดไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงรายตั้งศูนย์อำนวยการ แก้ไขปัญหา หนี้นอกระบบระดับจังหวัด “ตลาดนัดแก้หนี้”

 

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ห้องประชุมธรรมลังกา ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบระดับจังหวัด ครั้งที่ 1/2567 โดยมีปลัดจังหวัดเชียงราย อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดเชียงราย นายอำเภอ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรทุกอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมตามข้อสั่งการและวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหา “หนี้นอกระบบ” ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงนโยบายรัฐบาล “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” 


โดยให้ทุกหน่วยงาน ทั้งกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง จะต้องร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอระบบ ปลดปล่อยจากการเป็นทาสหนี้นอกระบบ โดยหนี้นอกระบบถือเป็นการค้าทาสในยุคใหม่ ที่ได้พรากอิสรภาพและความฝันไปจากผู้คนยุคสมัยนี้ โดยรัฐบาลจะดำเนินการโดยยึดถือหลักศีลธรรม เพื่อป้องกัน “Moral Hazard” หรือ “ภาวะอันตรายทางศีลธรรม” รวมทั้งแก้ปัญหาการทวงหนี้โหด การปรับโครงสร้างหนี้ และการจัดทำสัญญาให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อลดภาระหนี้สิน และการทำงานต้องมีความต่อเนื่องไม่ให้กลับมาเป็นหนี้อีก 


โดยมีนายอำเภอและผู้กำกับสถานีตำรวจในพื้นที่เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยหนี้ให้ รวมทั้งให้มีการติดตามผลการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ซึ่งจังหวัดเชียงรายโดยศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด อำเภอ มีการรายงานการลงทะเบียนผู้ประสงค์ขอรับความช่วยเหลือหนี้นอกระบบ ข้อมูล ณ วันที่ 10 มกราคม 67 รวมหนี้ทั้งหมด 110,461,882 บาท ผลการไกล่เกลี่ยสะสมรวมทั้งหมด 8,146,200 บาท


สำหรับจังหวัดเชียงราย ได้พิจารณาตามข้อสั่งการเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ของคณะรัฐมนตรีที่มีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการ ขับคลื่อน และประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดให้มีระยะเวลาดำเนินการ เป้าหมาย และตัวชี้วัด โดยการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบระดับจังหวัด รายงานผลการไกล่เกี่ยหนี้นอกระบบอำเภอ ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงราย สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย ธนาคารออมสิน คลังจังหวัดเชียงราย และ ธ.ก.ส. และที่ประชุมยังได้ร่วมกันพิจารณาการจัดกิจกรรมตลาดแก้หนี้ ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้กำหนดจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” ในวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 67 นี้ ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงราย ตั้งแต่เวลา 09.00 ถึง 16.00 น. และเรื่องอื่นๆ ตามลำดับ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

เชียงรายติดอันดับ 34 หนี้นอกระบบ มูลหนี้กว่า 30 ล้านบาท ลงทะเบียน 637 ราย

 

วันที่ 4 ธันวาคม 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่าเป็นวันที่ 4 ของการเปิดรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยจากข้อมูลเมื่อเวลา 15.30 น. มีประชาชนลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมทั้งสิ้นจำนวน 54,325 ราย แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 51,355 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 2,970 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 29,936 ราย มูลหนี้ 2,382.996 ล้านบาท 

 

โดยมีพื้นที่/จังหวัด 5 ลำดับแรก คือ 

1. กรุงเทพมหานคร มีผู้ลงทะเบียน 3,517 ราย เจ้าหนี้ 2,340 ราย มูลหนี้ 196.973 ล้านบาท 

2. สงขลา มีผู้ลงทะเบียน 2,335 ราย เจ้าหนี้ 1,360 ราย มูลหนี้ 118.442 ล้านบาท 

3. นครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 2,212 ราย เจ้าหนี้ 1,241 ราย มูลหนี้ 81.995 ล้านบาท 

4. นครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 2,117 ราย เจ้าหนี้ 1,040 ราย มูลหนี้ 97.461 ล้านบาท 

5. ชลบุรี มีผู้ลงทะเบียน 1,370 ราย เจ้าหนี้ 757 ราย มูลหนี้ 70.189 ล้านบาท 

 

สำหรับจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 

1. แม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 63 ราย เจ้าหนี้ 31 ราย มูลหนี้ 2.462 ล้านบาท 

2. ระนอง มีผู้ลงทะเบียน 109 ราย เจ้าหนี้ 56 ราย มูลหนี้ 2.715 ล้านบาท 

3. สมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 158 ราย เจ้าหนี้ 104 ราย มูลหนี้ 5.192 ล้านบาท 

4. ตราด มีผู้ลงทะเบียน 161 ราย เจ้าหนี้ 62 ราย มูลหนี้ 2.560 ล้านบาท 

5. สิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 180 ราย เจ้าหนี้ 85 ราย มูลหนี้ 5.834 ล้านบาท

 

 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือไปลงทะเบียนได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

นายสุทธิพงษ์ ยังได้กล่าวอีกว่า ในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า “รัฐบาลเอาจริงเรื่องหนี้นอกระบบ” และ Timeline ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.66 เป็นต้นไป ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ จะดำเนินการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้โดยเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักข่าวไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

“เศรษฐา” ประกาศวาระชาติลุยแก้หนี้นอกระบบ เริ่มลงทะเบียน 1 ธันวาคมนี้

 

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00 น.  ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวเรื่อง วาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ”  ร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และพลตำรวจเอก ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทั้งนี้เพื่อบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนประกาศวาระแห่งชาติ ขับเคลื่อน “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลเห็นปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน และเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยจำนวนมาก วันนี้เราจะเอาจริงเอาจัง ทำให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวังและสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทยทุกคน โดยวันนี้เราได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน  และฝ่ายตำรวจ ที่ช่วยกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมาย  จะมาทำงานร่วมกัน แก้ไขทั้งเรื่องหนี้ และมีเรื่องของความสัมพันธ์ในระดับชุมชนที่ละเอียดอ่อน ซึ่งนอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว รัฐบาลยังจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนขึ้นไปถึงระดับมหภาค  ยกระดับความเป็นอยู่ ทำให้ไม่กลับไปมีหนี้ล้นพ้นตัวอีก

 

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าปัญหาหนี้นอกระบบ ได้กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ รัฐบาลได้ประเมินจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบไว้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท  ซึ่งคิดว่าเลขนี้น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ และปัญหาจริง ๆ น่าจะมีมากกว่านั้น ทั้งนี้คนที่ไม่ได้เป็นหนี้อาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบ “ต่อทุกคน” ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ  ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศ ต้องเจอกับความเปราะบางที่เกิดขึ้นจากหนี้สิน  ที่ใช้เท่าไรก็ไม่มีวันหมด  พวกเขาไม่สามารถแม้แต่จะฝัน หรือทำตาม Passion ได้  ปิดโอกาสการต่อยอดไปหลายอย่าง  ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ  ส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่ไปยังทุกภาคส่วน และสำหรับนายกรัฐมนตรี หนี้นอกระบบถือว่าเป็น Modern World Slavery คือ เป็น “การค้าทาสในยุคใหม่” ที่ได้พรากอิสรภาพ ความฝัน ไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาหนี้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังใหญ่ เกินกว่าที่จะแก้ปัญหาได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง ในวันนี้ รัฐบาลจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วนเข้ามาทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปอยู่ในวงจรหนี้สินนอกระบบอีก โดยภาครัฐจะรับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งหมด  ดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการจนถึงการปิดหนี้ การทำสัญญา  ที่หลายครั้งไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม  และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง  ต้องจัดให้ทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย นั่นคือ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ภาครัฐจะต้องทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อทำให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหายใจ มีกำลังใจพอจะดำเนินชีวิต หาเงินมาปิดหนี้ให้ได้

 

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนให้ตำรวจและมหาดไทยไปทำการบ้านมา  โดยทั้ง 2 หน่วยงานต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ให้ดีกว่าในอดีตที่เคยแยกกันทำ พูดให้ชัดคือ การแก้หนี้นอกระบบ จะต้องทำด้วยกันแบบ End-to-end  และต้องมีมาตรการต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับเข้าไปอยู่ในวงจรอีก และทั้งสองหน่วยงานจะต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของกันและกัน ต้องทำให้กระบวนการทำงานไม่ “ซ้ำซ้อน” มีขอบเขตหน้าที่ และความรับผิดชอบ “ร่วมกัน” ที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ  โดยจะมีการทำฐานข้อมูลกลาง นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบ  มีการให้เลขตรวจสอบ (Tracking ID) ที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ติดตามผลได้  มีวิธีการเข้าสู่กระบวนการหลายรูปแบบ เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน /และต้องมีการสื่อสารกับประชาชนถึงความคืบหน้าต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งจะต้องมีกระบวนการถ่วงดุลระหว่างหน่วยงาน (Check & Balance) เพราะบางกรณีที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ขอให้ทุกส่วนทำงานอย่างตรงไปตรงมา เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยให้ถูกต้อง  เพื่อแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน โดยนายกรัฐมนตรีฝากให้ทั้งสองหน่วยงานทำงานอย่างมีเป้าหมาย มี เป้าประสงค์ (KPI) ร่วมกัน และกรอบเวลา (Timeline) ที่ชัดเจน  และนายกรัฐมนตรีจะติดตามดูผลอย่างใกล้ชิด

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าหลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว  รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้  โดยกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน  ทั้งการช่วยปรับระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่าง ๆ  เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เบียดบังการใช้ชีวิตจนทำให้พี่น้องท้อถอย โดบรัฐบาลจะระมัดระวังไม่สร้างภาวะ “อันตรายทางศีลธรรม” หรือ Moral Hazard ในมาตรการการช่วยเหลือทั้งหมด

 

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการแก้ไขหนี้ในวันนี้คงไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะทำให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก  แต่มั่นใจว่า ด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น จนไม่จำเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต  และจะเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนรายเล็ก รายย่อย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้น นอกจากหนี้นอกระบบแล้ว ในวันที่ 12 เดือนธันวาคมนี้รัฐบาลจะมีการแถลงเรื่องภาพรวมหนี้แบบครบวงจร  ซึ่งจะครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบอีกครั้งหนึ่ง โดยนายกรัฐมนตรีจะทำให้โครงการนี้ช่วยปลดปล่อยพี่น้องประชาชนจากการเป็นทาสหนี้นอกระบบ   ลืมชีวิตที่เคยลำบาก มีกำลัง มีแรงใจ ที่จะทำตามความฝัน นับจากนี้เป็นต้นไป

 

 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยขอนำแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่ถือเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติมาดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยกลไกการทำงานและสรรพกำลังในแต่ละพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง ใกล้ชิดกับประชาชน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน จนกระทั่งถึงผู้ใหญ่บ้าน โดยมั่นใจว่าด้วยความใกล้ชิดและได้รับความไว้ใจ เชื่อถือศรัทธาจากพี่น้องประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของทุกสรรพกำลังของกระทรวงมหาดไทยในทุกพื้นที่ ที่จะใช้จุดแข็งด้านนี้ร่วมบูรณาการ ขับเคลื่อน และประสานการปฏิบัติในงานนโยบายกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ในการ “ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” เพื่อคลายทุกข์ของพี่น้องประชาชน ที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบให้กลายเป็นสุข เกิดผลการดำเนินการสำเร็จเป็นรูปธรรมตามเป้าประสงค์ของรัฐบาล

 

 สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น กระทรวงมหาดไทยจะใช้กลไกการทำงานดังกล่าวร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำงานด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ โดยจะมีการศึกษาการปฏิบัติตามมาตรฐานในการปฏิบัติงาน ให้เข้าใจกระบวนการของทั้งสองหน่วยงาน ตั้งแต่การช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะในมิติด้านการไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาท การเฝ้าระวังและป้องกัน รวมถึงการปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ จะมีการประสานเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบไม่ซ้ำซ้อนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งจะร่วมกันดำเนินการในทุกภาคส่วนอย่างถูกต้อง โปร่งใส และเป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ โดยจะกำหนดแผนการดำเนินการ เป้าหมาย และ KPI ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน

 

พร้อมขอเชิญพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหา “หนี้นอกระบบ” ไม่ว่าจะเป็นการถูกข่มขู่คุกคาม ถูกดูหมิ่น ในการทวงถามหนี้ ถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม หรือท่านที่มีความประสงค์จะปรับเปลี่ยนแก้ไขหนี้จากนอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบ เพื่อที่ท่านจะได้มีภาระในการผ่อนชำระน้อยลง โดยสามารถลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบได้ที่ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง เพื่อที่กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน นำไปสู่การบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ให้แก่พี่น้องประชาชนเป็นราย ๆ ไป โดยพี่น้องประชาชนจะได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้ตรงจุด ตรงประเด็น และเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อตัวชี้วัดของการแก้ไขปัญหาในระดับชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปด้วย

 

 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงการคลังนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการคลังมาดูแลประชาชนที่เป็นลูกหนี้นอกระบบ หลังจากที่มีการปรับโครงสร้าง และไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว โดยจะมาดูแลโดยธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ซึ่งขณะนี้มีโครงการอยู่แล้ว ในเรื่องของการแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยจะให้กู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นโครงการสินเชื่อ สำหรับอาชีพอิสระ เพื่อรายย่อย เพื่อการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ย เป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย นอกจากนั้นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังมีโครงการมารองรับ ในเรื่องของการที่นำที่ดินไปขายฝาก หรือติดจำนองกับทางหนี้นอกระบบและได้มีการแก้ไขแล้ว ธ.ก.ส. ก็มีวงเงินสำหรับเกษตรกรต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ในเรื่องของการแก้ไขที่ทำกิน ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนในเรื่องของธนาคารของรัฐที่จะเข้ามาดูแลหลังจากที่มีการไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะดำเนินการให้ถูกกฎหมายทางรัฐก็มีช่องทางให้ดำเนินการขออนุญาตเรื่องของพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งวันนี้มีผู้มาขออนุญาตไปแล้วพันกว่ารายทั่วประเทศ โดยต่อราย มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทเท่านั้น แต่หลักการไม่ให้ฝากเงิน ให้ใช้เงินของท่านกู้เงินอย่างเดียว

 

 รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาหนี้นอกระบบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบในมิติด้านการบังคับใช้กฎหมายพร้อมที่จะขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ด้านการสืบสวน จับกุม และดำเนินคดี กับผู้กระทำความคิดผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ในทุกรูปแบบ จากสภาพปัญหาหนี้นอกระบบที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน ที่ถูกโกงหนี้โดยใช้ความรุนแรง จึงได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้มีประสิทธิภาพ โดยมี สายด่วน 1599 เป็นหมายเลขรับแจ้งเหตุ และได้กำหนดแผนปฏิบัติ ตั้งแต่สำรวจข้อมูลในพื้นที่ เพื่อค้นหาเป้าหมาย  สั่งการให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร 1-9 ทำการเอกซเรย์พื้นที่ และส่งข้อมูลขึ้นบัญชีผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด นำมาจัดกลุ่มผู้ประกอบการ ในระดับ SML 

 

เพื่อพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ ที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ นอกจากนั้นยังบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยในห้วงที่ผ่านมามีผลการจับกุมผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงปัจจุบัน จำนวน 134 ราย หยุดรถยนต์ของกลาง 22 คัน รถจักรยานยนต์ 19 คัน รวมมูลค่าของกลาง 8 ล้านบาทเศษ มีการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบรายใหญ่ เช่น จับกุมเครือข่ายรับจำนำรถยนต์พื้นที่จังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 จับกุมเครือข่าย รับจำนำรถยนต์พื้นที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 จับกลุ่มแก๊งปล่อยเงินกู้ ทวงหนี้โหด พื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมที่จะทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ยหนี้ การลงข้อมูลในระบบข้อมูลกลาง เพื่อให้การติดตามผลเป็นไปอย่างโปร่งใส สอดคล้องกับเป้าหมาย KPI ตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายรัฐบาลต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News