Categories
NEWS WORLD PULSE

มฟล. ร่วมการประชุม 2024 ASEAN-Australia CEO Forum ออสเตรเลีย

 
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐพรพรรณ อุตตมา รองอธิการบดี เข้าร่วมงาน 2024 ASEAN-Australia CEO Forum ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม 2024 ASEAN-Australia Special Summit ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 มีนาคม 2567 ณ Melbourne Convention and Exhibition Centre (MCEC) ประเทศออสเตรเลีย


การประชุม 2024 ASEAN-Australia CEO Forum จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้นำของภาครัฐและเอกชนจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนและออสเตรเลียร่วมกันแบ่งปันวิสัยทัศน์ และหารือถึงแนวทางในการกระชับความร่วมมือเชิงปฏิบัติการระหว่างอาเซียนและออสเตรเลีย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในด้านการศึกษาและด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การประชุมนี้ยังเป็นการรำลึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอาเซียนและออสเตรเลียที่มีต่อกันมายาวนานถึง 50 ปี 


ในการประชุม 2024 ASEAN-Australia CEO Forum นี้มีผู้เข้าร่วมการประชุมจากภาครัฐและเอกชนจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนและออสเตรเลีย จำนวนกว่า 100 คน การประชุมได้จัดในรูปแบบ CEO Roundtables แบ่งออกเป็น  6 ด้าน ประกอบด้วย 1. Agriculture and food supply chains 2. Digital economy 3. Education and skills 4. Green energy transition 5. Financial services และ 6. Infrastructure, connectivity, and resources โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็น Co-chair ในการหารือด้าน Education and skills ร่วมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัย The Royal Melbourne Institute of Technology (RMIT) 


ทั้งนี้จากเวทีการหารือ พบว่า ภาคเอกชนยังมีความต้องการให้ภาคการศึกษาผลิตกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ พยาบาลศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนทางธุรกิจและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะกำลังคนที่พร้อมทำงาน โดยให้ความสำคัญกับทักษะการปรับตัวและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมได้กล่าวถึงการดำเนินงานด้านการให้ทุนวิจัยของออสเตรเลียกับประเทศในอาเซียนเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและประเทศในอาเซียนมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันออสเตรเลียให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม


มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ส่งเสริมกิจกรรมและความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาของออสเตรเลียมาโดยตลอด ตลอดจนการได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากรัฐบาลออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศในการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสากล และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของภูมิภาค
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

มฟล. ส่งเสริมการผลิตกาแฟไทย MFU Coffee Fest 2024

 

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 67 ที่อาคาร พลเอกสำเภา ชูศรี (E4) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกันเปิดงาน MFU Coffee Fest 2024 โดยมี ดร.อมร โอวาทวรกิจ หัวหน้าหัวหน้าโครงการศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและการจัดการห่วงโซ่คุณค่ากาแฟประเทศไทย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ก่อนมีพิธีมอบรางวัล MFU Best Coffee Farmer จำนวน 4 รางวัล โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการ เกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ และภาคเอกชน นักวิชาการ นักวิจัย และผู้สนใจเข้าร่วมงานคึกคัก โดยทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับผู้ประกอบการกาแฟ ชา จากจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน จัดงาน MFU Coffee Fest 2024 ระหว่างวันที่ 15-16 มีนาคม 2567

 

ดร.อมร โอวาทวรกิจ หัวหน้าหัวหน้าโครงการศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและการจัดการห่วงโซ่คุณค่ากาแฟประเทศไทย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า จากนโยบายสำคัญของประเทศในการยกระดับสินค้าเกษตร และพัฒนาเกษตรกรเพื่อผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีคุณภาพสูง รองรับการแปรรูปและพัฒนาสินค้าและส่งออก เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับกระบวนการแปรรูป โดยนำองค์ความรู้ ผลงานวิจัย และนวัตกรรม มาใช้เชื่อมต่อจากภาคการผลิตสู่ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจ นำไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง หรือเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยมีผลผลิตกาแฟอะราบิก้าจำนวน 11,169 ตัน/ปี ปลูกมากในภาคเหนือตอนบนและปลูกมากที่สุดในจังหวัดเชียงราย ส่วนกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ามีผลผลิตประมาณ 22,505 ตัน/ปี ปลูกกันมากในภาคใต้และปลูกมากที่สุดในจังหวัดชุมพร กาแฟมีมูลค่าการส่งออกสูงไม่แพ้พืชเศรษฐกิจของไทยชนิดอื่น จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดต้องการและมีศักยภาพในอนาคต
 
 
ปัจจุบันความต้องการใช้เมล็ดกาแฟของโรงงานแปรรูปในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากกระแสความนิยมดื่มกาแฟ ทั้งกาแฟคั่วบดและกาแฟสําเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการผลิตกาแฟสําเร็จรูปเพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้น และในปัจจุบันมีแนวโน้มการบริโภคกาแฟที่เน้นการผลิตกาแฟที่มีเรื่องราว การนำเอาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการผลิต และการพัฒนากลิ่นรสเพื่อบ่งบอกความเฉพาะของกาแฟ ได้ทำให้มีการผลิตกาแฟคุณภาพมีรสชาติที่น่าสนใจที่เรียกว่ากาแฟคุณภาพพิเศษ ได้แก่ อะราบิก้า ที่เป็น Specialty coffee และ Fine Robusta เป็นต้น
 
 
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้มีการดำเนินการในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านกาแฟ และการพัฒนาศักยภาพการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถาบันวิจัยและนวัตกรรม โดยมีสถาบันชาและกาแฟ และส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน ที่ผ่านมาได้ดำเนินการโครงการและกิจกรรมที่ส่งเสริมการการพัฒนาเกษตรกรเพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตกาแฟ การใช้องค์ความรู้เพื่อพัฒนากระบวนการแปรรูปและจัดการผลผลิต การพัฒนาเกษตร ผู้ประกอบการ ชุมชนที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากจังหวัดเชียงรายอันเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพการผลิตสินค้าคุณภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ขยายผลการดำเนินงานสู่ภาคเหนือตอนบน และเชื่อมโยงสู่ระบบการผลิตกาแฟในประเทศไทย และสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ความร่วมมือในระดับนานาชาติ
 
 
สำหรับการจัดงาน MFU Coffee Fest 2024 เส้นทางกาแฟ เส้นทางความสุข ในครั้งนี้เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้เชี่ยวชาญเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ หน่วยงานสนับสนุนภาครัฐและเอกชน เพื่อเชื่อมโยงการดำเนินการและเกิดการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดและพัฒนา ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินโครงการต่อภาคีที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของการนำเสอนเมล็ดกาแฟของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ แก่ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ และผู้ที่มีความสนใจในธุรกิจกาแฟ เกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการร้านกาแฟ และผู้ที่มีความสนใจในธุรกิจกาแฟ เพื่อเชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศ ภายในงานจะแบ่งเป็นพื้นที่การจัดกิจกรรมเป็นโซนเวทีกลางในการเสวนาและเปลี่ยนเรียนรู้ และการแข่งขัน โซนจัดนิทรรศการกาแฟของเกษตรกรร้านกาแฟคุณภาพ กิจกรรม workshop เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านการแฟ เจรจาธุรกิจ การแสดงงานศิลปะงานฝีมืออาหาร และเครื่องดื่ม
 
 
นอกจากนี้ภายในงาน MFU Coffee Fest 2024 จะมีการประชุมวิชาการในหัวข้อ “การพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟไทยอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการศูนย์กลางด้านความรู้ หรือ Hub of Knowledge ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการจัดตั้ง “ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและการจัดการห่วงโซ่คุณค่ากาแฟประเทศไทย” ที่มีเป้าหมายดำเนินงานในการสร้างสรรค์และรวบรวมองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตกาแฟ สร้างเครือข่ายการทำงานแบบเชื่อมโยง และให้บริการและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตกาแฟอย่างครบวงจร
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

มฟล.ร่วมท้องถิ่นประกาศอนุรักษ์ เวียงหนองหล่ม จุดท่องเที่ยว “สายมู”

 

เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2567 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ร่วมกับ เทศบาล ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย จัดให้มีพิธี “ฟื้นใจเวียงหนองด้วยศรัทธา สืบชะตาป่าต้นอั้น” ณ ปางควาย หมู่บ้านป่าสักหลวง ต.จันจว้า ภายในพื้นที่ “เวียงหนองหล่ม” ซึ่งมีการอนุรักษ์พืชเรียกว่า “ต้นอั้น” ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นที่เชื่อกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ใช้ในการทำของชลังด้วย ทั้งนี้มีมีลักษณะคล้ายป่าโกงกางแต่อยู่ในน้ำจืด และเคยมีอยู่อย่าหนาแน่นในเวียงหนองหล่ม โดยในพิธีมีการทำบุญพระสงฆ์และมีการสืบชะตาป่าต้นอั้น ขบวนสักการะบูรพกษัตริย์อาณาจักรโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติซึ่งเคยตั้งอยู่ที่เวียงหนองหล่มดังกล่าวและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีการกล่าวโองการฟื้นใจเวียงหนอง เปิดป้ายโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พื้นที่อนุรักษ์ป่าต้นอั้น ดังกล่าวด้วย

 
 
จากนั้นนายทนงศักดิ์ ทองแสน นายกเทศมนตรี ต.จันจว้า ในฐานะประธานในพิธี และ รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าโคงการวิจัยภูมิทัศน์ของตำนานพื้นที่แอ่งเชียงแสน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และคณะได้ร่วมกันประกาศให้เวียงหนองหล่มเป็น “สถานะบุคคลทางวัฒนธรรมเวียงหนองหล่ม” โดยมีสัญลักษณ์เป็นการการผูกผ้าบนเสาใจเมืองเวียงหนองที่ตั้งอยู่ตรงพื้นที่อนุรักษ์ป่าต้นอั้นดังกล่าวพร้อมมีการโปรยข้าวตอกดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ว่าพื้นที่แหง่นี้จะได้รับการอนุรักษ์ต่อไป
 
 
นายทนงศักดิ์ กล่าวว่า เวียงหนองหล่มมีตำนานและประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน รวมทั้งมีธรรมชาติโดยเฉพาะแหล่งน้ำและต้นไม้คือะต้นอั้นที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีการบุกรุกจนกลายเป็นปัญหาที่หมักหมมม ดังนั้นทางท้องถิ่นจึงยินดีอย่างมากที่ทาง มฟล.ได้เข้าไปร่วมในการอนุรักษ์เพราะพื้นที่แห่งนี้รายล้อมด้วยประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมากถึง 90% เดิมมีมีพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ แต่เพราะแนวเขตไม่ชัดเจนทำให้ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแค่ประมาณ 15,000 ไร่ รวมทั้งยังมีคดีฟ้องร้องกันระหว่างเทศบาลและเอกชนที่พยายามจะเข้าไปครอบครองอีกกว่า 3-4 ราย
 
 
รศ.ดร.พลวัฒ กล่าวว่า การประกาศครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นร่วมกันฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม และหลังจากนี้ก็จะร่วมกับชาวบ้านในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพราะเวียงหนองหล่มถือเป็นสถานที่ที่มีตำนานและประวัติศาสตร์ ชาวบ้านก็มีวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์ การส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะ “สายมู” จะสามารถควบคู่ไปกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์เวียงหนองหล่มในอนาคตได้เป็นอย่างดี
 
 
รายงานข่าวแจ้งว่า “เวียงหนองหล่ม” มีตำนานว่าเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์สิงหนวัติและในวันเสาร์ เดือน 7 แรม 7 ค่ำ พ.ศ.1003 หรือมากกว่า 1,500 ปีมาแล้ว ชาวบ้านได้จับปลาไหลเผือกแล้วนำมาแบ่งกันกินยกเว้นแม่หม้ายคนหนึ่ง ต่อมาเมืองได้สล่มสลายลงกลายเป็นหนองน้ำ มีเพียงแม่หม้ายคนดังกล่าวที่รอดตายป้จจุบันยังมีเกาะอยู่กลางน้ำเรียกว่าเกาะแม่หม้าย
 
 
อย่างไรก็ตาม คาดการกันว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีต ขณะที่ในยุคปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยขน์เลี้ยงกระบือหรือควาย ทำประมง ฯลฯ แต่ก็มีผู้เอกชนซึ่งบางรายเป็นรายใหญ่และมีนามสกุลชื่อดังเข้าไปถือครองโดยรอบเวียงหนองหล่ม หลังเกิดการฟ้องร้องบางรายยอมคืนที่ดินให้กับเทศบาลแต่บางรายยังสู่คดีกันอยู่
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เชียงราย

 
เมื่อวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30 น. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2565 ที่หอประชุมสมเด็จย่า โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัย (อธิการบดีผู้ก่อตั้ง) กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
 
 
สำหรับปีนี้ผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ตามที่สภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีมติอนุมัติ ได้แก่ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง แก่ รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ และปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ แก่ รองศาสตราจารย์ นภาลัย สุวรรณธาดา และสำหรับผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ‘ตุงทองคำ’ คือ นายศิริชัย มาโนช และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุริยพงศ์ วัฒนาศักดิ์
 
 
โดยผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิต และบัณฑิต เป็นจำนวน 2,169 คน จากสำนักวิชา แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ นวัตกรรมสังคม จีนวิทยา การแพทย์บูรณาการ ศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การจัดการ เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมเกษตร นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง วิทยาศาสตร์สุขภาพ และพยาบาลศาสตร์ เป็นบัณฑิตชาวต่างชาติ จำนวน 60 คน ชาวต่างชาติที่สำเร็จการศึกษาในปีนี้ทั้งหมด 100 คน จากจีน เมียนมา ญี่ปุ่น มอริเชียส เกาหลีใต้ เยเมน อเมริกา บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ ลาว อัฟริกาใต้ ศรีลังกา ภูฏาน อังกฤษ ไนจีเรีย
 
 
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเปิดสอน 69 หลักสูตร ใน 15 สำนักวิชา ทั้งระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี โท และ เอก ในปีการศึกษา 2566 มีนักศึกษาทั้งสิ้น 14,488 คน จากทั่วทุกภาคของประเทศไทยและจากกว่า 47 ประเทศทั่วโลก จากนโยบายการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง และมีภาษาที่สองเป็นภาษาจีน ตลอดมานั้น ทำให้บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีทักษะและความสามารถ ที่จะร่วมพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า การรับรู้ในวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นพลเมืองโลกได้อย่างสมบูรณ์ โดยปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 39,612 คน กระจายการทำงานอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ.
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

มฟล. จัดอบรมเตรียมพร้อมสู่โลกอาชีพยุคใหม่ด้วย AI

 
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย ส่วนจัดหางานและฝึกงานของนักศึกษา จัดกิจกรรมอบรม “เตรียมพร้อมสู่โลกอาชีพยุคใหม่ด้วย AI” (Ready for the New-Age Career with AI) เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาในรายวิชาสหกิจศึกษาและฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เพื่อหวังเป็นแนวทางในการ Upskill-Reskill ก่อนออกไปฝึกปฏิบัติงานและสำเร็จการศึกษา โดยมี อาจารย์ ดร.พฤทธิ์ พุฒจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและการสร้างภาพเคลื่อนไหว สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มฟล. เป็นวิทยากร จัดอบรมในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ ณ ห้องประชุมประดู่แดง 1 อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี (E4) มีนักศึกษาให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมออนไซต์มากกว่า 300 คน ทั้งนักศึกษาเตรียมฝึกปฏิบัติงานและนักศึกษาที่สนใจการทำงานด้วย Gen AI ซึ่งเป็นทักษะการทำงานในยุคใหม่ที่หลายคนให้ความสนใจว่าจะประยุกต์ใช้ AI เพื่อช่วยในการเรียนหรือการทำงานได้อย่างไร โดยการอบรมนรนี้ยังมีเวิร์คช้อปการใช้ AI ทำภาพประกอบ แต่งเนื้อเพลง และทำเพลงพร้อมเสียงร้องจาก AI อีกด้วย
 
 
อาจารย์ ดร.พฤทธิ์ พุฒจร กล่าวว่า ทักษะการใช้งาน Gen AI น่าจะเป็นประโยชน์ที่จะต้องมีติดตัวกับการทำงานในอนาคต
“มนุษย์เราเดินทางมาถึงยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอีกครั้งด้วย AI หรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มีหลายคนเคยกังวลว่าต่อไป AI หรือหุ่นยนต์จะมาแย่งงานของมนุษย์หรือไม่ เราต้องปรับตัวอย่างไร แท้จริงแล้ว AI ยังไม่สามารถมาทำงานแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด แต่มนุษย์จะถูกแทนที่ด้วยมนุษย์ที่ใช้งาน AI เป็น”
 
 
“เราต้องเปลี่ยนแนวคิดจาก AI ปัญญาประดิษฐ์ เป็น IA (Intelligence Assistance) ผู้ช่วยทางปัญญา มีงานวิจัยออกมาว่า ถ้ามนุษย์มีทักษะในการใช้งาน AI เป็น เราจะฉลาดขึ้น แต่ถ้ามนุษญ์ใช้งาน AI ไม่เป็นก็จะโง่ลง ดังนั้นคนยุคใหม่อาจจำเป็นต้องมีทักษะในการใช้งาน AI แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเชื่อคำตอบจาก AI ได้ทั้งหมด ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจการทำงานของมัน ประเมินคำตอบที่ได้ ตรวจหาหลักฐาน จากนั้นจึงนำไปใช้งาน เช่นคำตอบจาก ChatGPT เป็นต้น และอย่าลืมว่าการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ช่วยข้ามข้อจำกัดของมนุษย์ ที่ต้องใช้ควบคู่กับการมีจริยธรรมด้วย” อาจารย์ ดร.พฤทธิ์ พุฒจร กล่าว.
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
All

วิชาการศรีเกิด เปิดวัฒนธรรมจีน ครั้งที่ 17 สอนเด็กนักเรียนรู้ตรุษจีน

 

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย มอบหมายให้ นายณรงค์ศักดิ์ เตือนสกุล รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย นางบังอร มะลิดิน รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย ร่วมเปิดกิจกรรม “วิชาการศรีเกิด เปิดวัฒนธรรมจีน ครั้งที่ 17 ที่โรงเรียนเทศบาล 1 ศรีเกิด โดยมี พระไพศาลประชาทร วิ. (หลวงพ่อพบโชค) เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง เข้าร่วมในกิจกรรมด้วย

โรงเรียนเทศบาล 1 ศรีเกิด เป็นหนึ่งในโรงเรียนในสังกัด เทศบาลนครเชียงราย และ นางสาวศิริภัส ขัติยะ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 1 ศรีเกิด นำคณะครูอาจารย์และนักเรียนเข้าร่วม โดยพิธีจัดให้มีกิจกรรมแสดงศิลปวัฒนธรรมจีน ในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งจัดพิธีสักการะพระโพธิสัตว์กวนอิม เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้เข้าร่วมงานในโอกาสเทศกาลตรุษจีน โดยมีผู้ปกครองเด็กนักเรียน เดินทางมาร่วมในกิจกรรมจำนวนมาก
 
 
ทั้งนี้การจัดกิจกรรมดังกล่าว ทางเทศบาลนครเชียงราย ได้ให้ความสำคัญกับภาษาจีน รวมทั้งวัฒนธรรมจีน ที่มีบทบาทสำคัญต่อประชาคมโลกและประเทศไทย เทศบาลนครเชียงรายนำโดยนายกเทศมนตรีได้ตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมจีนมาโดยตลอด จึงมีกิจกรรมระหว่างเทศบาลนครเชียงรายและประเทศจีนอย่างหลากหลาย เช่น โครงการความร่วมมือทางการศึกษาแก่ครูและนักเรียนด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน อีกทั้งความร่วมมือจากสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการจัดการศึกษาตามการพัฒนาดังกล่าว
 
 
นางสาวศิริภัส ขัติยะ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 1 ศรีเกิด กล่าวว่าโรงเรียนเทศบาล 1 ศรีเกิด ได้จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเพิ่มเติมวิชาภาษาจีนกลางมาตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันได้พัฒนาหลักสูตรโดยเน้นการเรียนการสอนด้วยภาษาจีนอย่างเข้มข้น โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย การจัดงานครั้งนี้จึงเพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงศักยภาพทางภาษาและวัฒนธรรมจีน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว จะทำให้นักเรียนทุกคนได้เข้าถึงวัฒนธรรมจีน ในช่วงตรุษจีน รวมทั้งได้ความรู้อื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยการมีรประสบการณ์นอกห้องเรียน
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : โรงเรียนเทศบาล 1 ศรีเกิด

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

มฟล.พัฒนาพลิกโฉมสมุนไพรไทย ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้องคำมอกหลวง อาคาร M-Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมด้วยผู้บริหาร ร่วมต้อนรับคณะคณะทำงานสนับสนุนข้อมูลการวิจัยทางคลินิกและการจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคน ในคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา เป็นประธานในการประชุมเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสมุนไพร ภายใต้โครงการศูนย์กลางความรู้ต้นแบบด้านสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์ทางสุขภาพอย่างยั่งยืน Hub of Knowledge: Herbs for sustainable health and well-being 

 

เพื่อให้เกิดการพัฒนาและพลิกโฉมสมุนไพรไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา คณะทำงานสนับสนุนข้อมูลการวิจัยทางคลินิกและการจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคน ในคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ผู้เชี่ยวชาญจากกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เครือข่ายโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัย ที่มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสมุนไพร รวมถึงผลิตวัตถุดิบต้นทาง หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย องค์การเภสัชกรรม สมาคม/สมาพันธ์ มูลนิธิขับเคลื่อนงานด้านสมุนไพร และเครือข่ายภาคเอกชนมากกว่า 40 หน่วยงาน

 

สำหรับการพัฒนาและพลิกโฉมสมุนไพรไทยนั้น มีความจำเป็นต้องพัฒนาศูนย์กลางความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาสมุนไพร โดยการจัดตั้งเครือข่าย (Consortium) ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้ด้านการวิจัยสมุนไพร และพัฒนากลไกที่ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดกระบวนการทำวิจัยร่วมกันตลอดจนการพัฒนารูปแบบ (Template) การเก็บรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ งานวิจัย โครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และนำไปสู่การพัฒนาฐานข้อมูลสมุนไพรใน Knowledge Hub ที่มีรูปแบบเดียวกัน 
 
 
เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง และการวิเคราะห์ช่องว่างของการวิจัยและพัฒนางานด้านสมุนไพร (Gap analysis) ที่เป็นสมุนไพรเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566-2570 เพื่อส่งเสริมให้เกิด Hub of Knowledge ที่ทำงานร่วมกับนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ และประชาสัมพันธ์ Hub of Knowledge ด้านสมุนไพรของประเทศไทย
 
 
นอกจากนี้ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการงานวิจัยด้านสมุนไพร และบูธผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากเครือข่ายภาคเอกชน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่าของพืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

‘บก.ลายจุด’รับสับสนหลายเรื่อง หลัง มฟล. แถลงการณ์ ‘ดร.เค็ง’

 
วันที่ 4 ธ.ค. 2566 วันที่ 4 ธ.ค.2566 กระแสความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณีของ ดร.เค็ง นักเรียนทุนปริญญาเอกที่ป่วยจิตเวชจนต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่เชียงราย แต่ต่อมาพบว่าทางมหาลัยได้ดำเนินการยื่นเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับทาง ดร.เค็ง ถึง 16 ล้านบาท จนต่อมาเรื่องราวนี้ถูกเผยแพร่รายละเอียดมาต่อเนื่อง โดยการโพสต์ผ่านสื่อโซเชียลของสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” หลังมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แถลงการณ์เรื่องการยื่นฟ้องคดีกับอาจารย์เพื่อให้ชดใช้ทุนการศึกษาตามที่ปรากฏข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์
 
โดยได้โพสต์ก่อนอื่นขอขอบคุณ ม.แม่ฟ้าหลวง ที่ออกมาสื่อสารกับสังคมในเรื่องนี้ หลังจากที่ดร.เค็งพยายามติดต่อเพื่อขอพูดคุยแต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง นอกจากหมายศาล
 
 
โดย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กรวมของแถลงการณ์ดังกล่าวคือ ทุกสิ่งอย่างเจอกันที่ศาล โดยอ้างว่าไม่สามารถไกล่เกลี่ยพูดคุยกันได้ ทั้งๆที่ความเป็นจริงคดีทางปกครองสามารถไกล่เกลี่ยกันได้ ผมไม่มั่นใจว่าแถลงการณ์ดังกล่าวผ่านนิติกรของ ม.แม่ฟ้าหลวงด้วยหรือเปล่า แต่ถ้าผ่านฝ่ายกฎหมายมา ผมขอโต้แย้ง และขอให้ทางผู้รู้ทั้งหลายช่วยโต้แย้งในจุดนี้
เรื่องใบลาออก ดร เค็งยืนยันว่าไม่ได้เซ็นใบลาออก ถ้ามฟล.ยืนยันว่าเขียนใบลาออกผมขอดูเอกสารดังกล่าวในแถลงการณ์ฉบับต่อไป อยากให้ลองสืบค้นมานำเสนอ
 
 
กรณีชี้ว่า ดร เค็ง ไม่ได้นำใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐมายืนยันการเจ็บป่วยนั้น ไม่มีข้อโต้แย้งเพราะ ดร เค็ง ตกอยู่ในสถานะที่ป่วยจิตเวชและไ่ม่ได้เข้ารับการรักษาอยู่หลายปี แต่อย่างไรก็ตามทาง มฟล ไม่ทราบเลยหรือว่าตอนที่ผู้รับทุนและเป็นบุคคลากรของหน่วยงานไปศึกษาอยู่ใน ตปท ได้ประสบปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยทางจิตเวชถึงขนาดถูกบังคับรักษาอยู่ใน รพ ที่ีอังกฤษถึง 28 วัน และพฤติกรรมการส่ง email หรือแม้แต่ข้อความที่อยู่ใน email ที่สื่อปัญหาอาการหูแว่วของ ดร เค็ง ในขณะนั้น มฟล ไม่รับทราบหรือวิเคราะห์หรือแสดงความเมตตาที่จะทำความเข้าใจในอาการเหล่านั้น และจะต้องเป็นภาระของพนักงานในองค์กรที่เจ็บป่วยต้องพิสูจน์ด้วยตนเองโดยลำพังเท่านั้น
ผมอ่านแถลงการณ์ของ มฟล แล้วทำให้ผมสับสนทั้งหลักกฎหมาย หลักการบริหารองค์กร และ หลักเมตตาธรรม
 
 
 
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

ม.แม่ฟ้าหลวง’ แถลงการณ์ แจงเหตุยื่นฟ้อง ‘ดร.เค็ง’

 
วันที่ 4 ธ.ค. 2566 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แถลงการณ์เรื่องการยื่นฟ้องคดีกับอาจารย์เพื่อให้ชดใช้ทุนการศึกษาตามที่ปรากฏข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ยื่นฟ้อง ดร.เค็ง ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เรียนจบในระดับปริญญาเอกที่ขอลาออกในขณะที่ยังไม่ครบเงื่อนไขการชดใช้ทุน โดยให้ชดใช้ทุนการศึกษานับสิบล้านบาท ทั้งที่ ดร.เค็ง เจ็บป่วยด้วยโรคจิตเวช นั้น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขอชี้แจงในกรณีนี้ ดังนี้
 
 
1. ดร.เค็ง เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตำแหน่งอาจารย์ สังกัดสำนักวิชาการจัดการ ได้เริ่มปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.2548 และต่อมาได้รับทุนรัฐบาลจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงให้ไปศึกษาในระดับปริญญาเอก ณ University of Kent ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2551

 

2. ดร.เค็ง ได้กลับมาปฏิบัติงานที่มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2556 และในระหว่างปฏิบัติงานได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2557โดยให้ มีผลเป็นการลาออกในวันที่ 1 ก.ย. 2557 ซึ่งในการขอลาออกเป็นการแสดงเจตนาโดยสมัครใจของ ดร.เค็ง และเมื่อ ดร.เค็ง ยังคงแสดงเจตนาเดิมในการขอลาออกโดยได้รับทราบเงื่อนไขของการชดใช้ทุนแล้ว มหาวิทยาลั ยจึงได้ อนุญาตให้ลาออกตามความประสงค์ แต่ด้วยเงื่อนไขของสัญญาและระเบียบของกระทรวงการคลัง เมื่อ ดร.เค็ง ปฏิบัติงานเพื่อชดใช้ทุนการศึกษาไม่ครบถ้วนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมหาวิทยาลัย จึงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญา เพื่อเรียกให้ชดใช้ทุนการศึ กษา ของกระทรวงวิทย์ ฯ จำนวน 630,207.46 บาท กับอีก 194,730 ปอนด์ และของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจำนวน 726,305.94  บาท

 

3. ตามเงื่อนไขของสัญญารับทุน และหลักเกณฑ์ปฏิบัติของกระทรวงการคลัง กำหนดให้สิทธิผู้รับทุนที่ไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินทุนตามสัญญาเมื่อเป็นบุคคลวิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ แต่ต้องแสดงหลักฐานทางการแพทย์จากโรงพยาบาลในสังกัดของรัฐ โดยให้แพทย์ผู้ทาการรักษาระบุว่าเหตุวิกลจริต และจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบดังกล่าว ทาให้ผู้ผิดสัญญาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้แต่ทั้งนี้ ในระหว่างปฏิบัติงานให้กับมหาวิทยาลัยจนกระทั่งยื่นหนังสือลาออก ดร.เค็ง ไม่เคยจัดส่งเอกสารหลักฐานทางการแพทย์ว่าไม่สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ให้กับมหาวิทยาลัยได้รับทราบเลย โดย ดร.เค็ง ได้ยื่นเอกสารทางการแพทย์ต่างๆ ในชั้นพิจารณาของศาลปกครองเชียงใหม่แต่ล่วงเลยระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาไปแล้วศาลปกครองเชียงใหม่จึงได้พิจารณาและพิพากษาให้ ดร.เค็ง ชดใช้ทุนการศึกษาตามเงื่อนไขของสัญญา

 

4. ดร.เค็ง ได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566  แต่เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด การไกล่เกลี่ยในชั้นศาลนี้ไม่อาจทำได้ มหาวิทยาลัยจึงไม่อาจดำเนินการใด ๆ ในขณะนี้ได้

 

5. มหาวิทยาลัยได้ปฏิบัติต่อ ดร.เค็ง ด้วยเมตตาธรรมและคุณธรรมมาโดยตลอดโดยได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ ดร.เค็ง ได้รับโอกาสไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศตามที่ ดร.เค็ง ตั้งใจและขอยืนยันว่าในการพิจารณาเรื่องราวของ ดร.เค็ง มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการภายใต้ขั้นตอนและหลักเกณฑ์ของกฎหมาย และระเบียบของทางราชการ แต่อย่างไรก็ดีหากศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาพิพากษาเป็นประการใด มหาวิทยาลัยก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามคาพิพากษาของศาลทุกประการ

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ทันตแพทย์ มฟล. บริการแบบครบวงจร สุขภาพช่องปากพระสงฆ์สามเณร

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ ผศ. (พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ คณบดี สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ พร้อมด้วยผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ จัดพิธีทำบุญสำนักวิชาทันตแพทย์ศาสตร์ และเปิดการดำเนินโครงการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพช่องปากพระสงฆ์ ที่ห้องประชุมวันชัย ศิริชนะ อาคารสำนักวิชาทันตแพทย์ศาสตร์ ชั้น 5 ภายในศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตำบลท่าสุด อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมี นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ตลอดจน พระเถระผู้ใหญ่ เจ้าคณะอำเภอ ร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย 
 
โดยจัดให้มีพิธีทางศาสนาพระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่หลังจากนั้น นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ ผศ. (พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ คณบดี สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกันเปิดดำเนินโครงการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพช่องปากพระสงฆ์ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการของสำนักวิชาทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากของพระสงฆ์ ให้มีความรู้ มีเจตคติและปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในการดูแลสุขภาพช่องปาก ซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาพช่องปากที่ดี
 
ผศ.(พิเศษ) ทันตแพทย์ ไพศาล กังวลจิต คณบดี สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ม หาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าสุขภาพอนามัยที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นของชีวิต ปัญหาสุขภาพช่องปากทั้งโลกฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ รวมถึงโรคปริทันต์ และโรคติดเชื้อในช่องปาก เป็นโรคที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมและมีผลต่อการรักษาโรคร้ายแรงหลายโรค เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า พระสงฆ์และสามเณรจำนวนมากมีปัญหาสุขภาพในช่องปาก ทั้งโรคฟันผุ โรคปริทันต์ โรคติดเชื้อต่างๆ นอกจากทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมานและนำไปสู่การสูญเสียฟันก่อให้เกิดปัญหาต่อการบดเคี้ยวอาหาร และส่งผลต่อสุขภาพ
 
นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มพระสงฆ์เป็นกลุ่มที่เข้าถึงบริการรักษาทางทันตกรรมในอัตราที่ต่ำ ทำให้โรคในช่องปากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม จึงทำให้โรคลุกลามไปจนถึงขั้นติดเชื้อที่รุนแรง และสูญเสียฟัน ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติศาสนกิจ ดังนั้นเพื่อให้พระสงฆ์ได้มีความรู้และปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง และเพื่อให้พระสงฆ์ได้รับบริการทางทันตกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างครบวงจร เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพระสงฆ์ควบคู่ไปกับกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพ โดยการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อให้บริการตรวจ วินิจฉัย การอุดรักษาฟัน การขุดหินปูน รักษาโรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์ รวมทั้งการถอนฟันที่วัด ให้ทันตสุขศึกษาควบคู่ไปกับการรักษาทางทันตกรรมเพื่อให้พระสงฆ์และสามเณรสามารถดูแลสุขภาพช่องปากตนเองได้อย่างเหมาะสมในกรณีที่เป็นโรคที่รุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาเป็นพิเศษ หรืออาศัยทันตแพทย์เฉพาะทาง เช่น การรักษาโรคปริทันต์อักเสบที่รุนแรง การรักษาคลองรากฟัน การรักษาโรคติดเชื้อ เนื้องอกต่างๆ ในช่องปากและกระดูกขากรรไกร รวมทั้งการใส่ฟันปลอมจะส่งตัวมารับการรักษาที่สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งโครงการนี้ได้ตั้งเป้าหมายให้บริการแก่พระสงฆ์และสามเณร ที่วัดต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย จำนวน 300 รูป ระยะเวลาดำเนินการเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิ โสภณพาณิชย์ อีกด้วย
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News