Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

กสทช. ผุดไอเดียคุ้มครองสัตว์ ในวงการบันเทิงหลังเกิดดราม่า

กสทช. ร่วมมือทุกภาคส่วน สร้างมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ในวงการบันเทิงไทย

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์แพทย์ นักวิชาการ และผู้แทนองค์กรสื่อมวลชน จัดงานสัมมนาเพื่อหาแนวทางในการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ที่ใช้ในการผลิตสื่อบันเทิง โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่สัตว์ได้รับอันตรายระหว่างการถ่ายทำซ้ำรอยเหตุการณ์ในอดีต

เหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

การจัดสัมมนาครั้งนี้ เกิดขึ้นจากกรณีที่สังคมให้ความสนใจกับเหตุการณ์การใช้สัตว์ในการถ่ายทำละคร โดยเฉพาะกรณีของแมวที่ถูกวางยาสลบ ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการมีมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการดูแลสัตว์ที่ใช้ในการผลิตสื่อบันเทิง

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ

ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์แพทย์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของสัตว์ที่ใช้ในการถ่ายทำ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก หรือสัตว์เลื้อยคลาน การตรวจสุขภาพก่อนการถ่ายทำ การจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และการดูแลโดยสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ผู้แทนจากวงการภาพยนตร์ยังได้แบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานกับสัตว์ในกองถ่าย โดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานและมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลสวัสดิภาพสัตว์โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรนำมาปรับใช้

ความเห็นของนักวิชาการ

นักมานุษยวิทยาได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับเส้นแบ่งระหว่างการใช้สัตว์เพื่อความบันเทิงและการละเมิดสิทธิสัตว์ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ผู้คนมีความตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น

บทบาทของสื่อมวลชนและภาคประชาชน

สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักถึงปัญหาและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ในขณะที่ภาคประชาชนก็มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้น

 

กสทช.ไม่ได้มีหน้าที่แค่ลงโทษหรือไปทำอะไรตามแรงกดดันของสังคม
 

ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์มีความสำคัญในสังคมไทย การกระทำที่กระทบสวัสดิภาพสัตว์จึงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูง ซึ่งสื่อมวลชนควรจะต้องให้คุณค่ากับเรื่องนี้ในการผลิตและนำเสนอเนื้อหา “กสทช.ไม่ได้มีหน้าที่แค่ลงโทษหรือไปทำอะไรตามแรงกดดันของสังคม แต่เรามองว่าทุกเรื่องเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สื่อและสังคมสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น” 

ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าวและเสริมว่า มีการพูดคุยกับวิทยากรเพื่อมาทำงานร่วมกับองค์กรวิชาชีพและกสทช.ในการสร้างแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับการนำดาราสัตว์มาออกสื่อหรือกระบวนการผลิตเนื้อหาต่างๆ ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์

แม้จะไม่มีการทรมานสัตว์ ก็ต้องมีการดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ให้ดี 

 รศ. น.สพ.ดร.สุดสรร ศิริไวทยพงศ์ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การใช้สัตว์ในกองถ่าย ไม่ใช่แค่สุนัขและแมวเท่านั้น แต่รวมถึงสัตว์ทุกชนิด เช่น ช้าง โค กระบือ และงู แม้จะไม่มีการทรมานสัตว์ ก็ต้องมีการดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ให้ดี เพราะการกระทำทุกอย่างแม้เพียงการออกจากบ้านหรือพื้นที่ที่สัตว์คุ้นเคยก็สามารถก่อให้เกิดความเครียดและมีผลต่อกระบวนการทำงานของร่างกายสัตว์ได้ “สัตว์ทุกชนิดที่ไปเข้าฉาก ต้องตรวจร่างกายก่อนให้แน่ใจว่ามีสุขภาพแข็งแรง การขนส่งและการเดินทางเหมาะสม เมื่อถึงสถานที่ถ่ายทำ มีที่ให้เขาพักให้เหมาะสมแค่ไหน” รศ. น.สพ.ดร.สุดสรร กล่าว 

นอกจากนี้ การให้ยาต่างๆ กับสัตว์ที่มีผลต่อสรีรวิทยาของร่างกายถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มีกฎหมายควบคุม และต้องทำโดยสัตวแพทย์หรือในการดูแลของสัตวแพทย์เท่านั้น เช่น ก่อนให้ยาสลบแก่สัตว์ ต้องมีการตรวจร่างกายให้แน่ใจว่ามีความพร้อม เพราะเมื่อได้รับยาสลบ หูรูดต่างๆ จะคลาย หูรูดทางเดินอาหารและทางเดินหายใจอยู่ใกล้กัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดการสำรอก สำลักและเกิดการปิดกั้นทางเดินหายใจของสัตว์ได้ ดังนั้นผู้ผลิตละครจึงควรนึกถึงทางเลือกต่างๆ ที่สร้างสรรค์ในการถ่ายทำ เช่น ใช้การตัดต่อที่ไม่ต้องกระทบกระเทือนต่อสัตว์โดยไม่จำเป็น รศ. น.สพ.ดร.สุดสรร กล่าว
 
การอบรมให้เชี่ยวชาญในการดูแลและฝึกสอนสัตว์ที่ต้องทำการแสดงอย่างใกล้ชิด

นางสาวษมาวีร์ พุ่มม่วง ทีมงานกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทย โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระ เจ้าของเพจ ‘วันละภาพ’ กล่าวว่า การทำงานกับกองถ่ายทำภาพยนตร์ของต่างประเทศและของไทยมีบริบทที่ยังค่อนข้างแตกต่างกันในหลายด้านด้วยกัน รวมถึงกฎระเบียบวิธีปฏิบัติและงบประมาณ ในกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศหากต้องมีสัตว์มาเข้าฉากจะมีผู้ทำงานในตำแหน่ง animal wrangler ซึ่งต้องมีใบประกอบวิชาชีพเข้าร่วมปฏิบัติงานด้วย โดยจะได้รับการอบรมให้เชี่ยวชาญในการดูแลและฝึกสอนสัตว์ที่ต้องทำการแสดงอย่างใกล้ชิด และมีความละเอียดอ่อนมาก 

 

สำหรับภาพยนตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) เช่น American Humane Association เข้ามามีส่วนร่วมสังเกตการณ์ ประเมินความเสี่ยง ดูแลและตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสัตว์นั้นๆ “ในกองถ่าย[ของไทย] ก็เคยมีการพูดคุยกันมานานว่าทุกสิ่งมีชีวิต แรงงานผู้ใหญ่ แรงงานเด็ก แรงงานสัตว์ ควรถูกยกระดับมาตรฐานชีวิตในการทำงาน อันที่จริงบ้านเราก็มีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้วแต่ขาดการตรวจสอบ ดูแล บังคับใช้ จึงเหมือนกับยังลอยๆ อยู่ ขาดหน่วยงานกลางที่จะมากำกับดูแลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์”

 

ว่าที่ ร.ต.หญิง สพ.ญ. ดร. วัชรี โซ่วิจิตร กรรมการสัตวแพทยสภา กล่าวว่า สัตวแพทยสภามีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของสัตวแพทย์ ซึ่งในอนาคต สัตวแพทยสภาอาจจัดคอร์สสำหรับสัตวแพทย์ที่จะมาเป็นผู้ดูแลการถ่ายทำในกองถ่าย เพื่อสนับสนุนความเป็นวิชาชีพ อันจะส่งผลให้ผู้ชมได้รับความบันเทิงพร้อมๆ กับความปลอดภัยของสัตว์ที่ใช้ในการถ่ายทำด้วย 
“สิ่งที่น่ากลัวคือภาพจำที่จำได้
อย่างไรก็ตาม ว่าที่ ร.ต.หญิง สพ.ญ. ดร. วัชรี กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาในการใช้สัตว์ในอุตสาหกรรมสื่อของไทยที่ยังอาจถูกละเลยอยู่ในหลายส่วน “สิ่งที่น่ากลัวคือภาพจำที่จำได้ เช่น ภาพที่ปูถูกมัดเชือกอยู่ในตะกร้า [ระหว่างออกรายการโทรทัศน์] จระเข้ถูกมัดเอาขาไขว้หลัง เราเห็นเป็นธรรมดาแต่ไม่ได้นึกว่ามันจะเป็นอันตรายต่อสัตว์ การปรากฏภาพซ้ำๆ ประชาชนจะรู้สึกเคยชินโดยไม่เอะใจใดๆ เช่น การเอาสัตว์ exotic มาโยนใส่คนที่กลัวเป็นการแกล้งกันในรายการตลก ในฐานะสัตวแพทย์ เรารู้สึกค่อนข้างทรมานจิตใจมากๆ ที่เห็นแบบนั้น เหมือนโยนเด็กเล็กๆ คนนึงใส่กันแล้ว[เด็ก]ตกลงไปที่พื้น”
“เกิดเส้นจริยธรรม บางๆ พื้นที่สินค้ากับพื้นที่ความเป็นสัตว์
ผศ. ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องสัตว์และความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับมนุษย์ ตั้งคำถามว่า ในการกำกับดูแลจริยธรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวกับการนำสัตว์มาใช้งาน ใครจะเป็นผู้กำหนดแนวทางและกำกับดูแล เช่น คาเฟ่แมว สัตว์ที่อยู่ในวัดอันเกี่ยวเนื่องกับการทำบุญ หรือสัตว์ในสื่อและวงการบันเทิงเช่นในละครหรือดาราสัตว์อย่างฮิปโปแคระหมูเด้งที่กำลังเป็นที่นิยมในสื่อสังคมออนไลน์ “เกิดเส้นจริยธรรม บางๆ พื้นที่สินค้ากับพื้นที่ความเป็นสัตว์ เขาต้องมีความเป็นส่วนตัวไหม สวัสดิภาพของเขาเป็นอย่างไร เราไปที่พื้นที่ของเขา แต่เราก็เรียกเขาตลอดเวลา กระทบอะไรเขาไหม”
 
ผศ. ดร.จิราพร กล่าวว่าอยากฝากประเด็นเหล่านี้ไว้กับประชาชนเพราะเป็นผู้มีอำนาจดูแลตัดสินและขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ที่แท้จริง ทุกคนสามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ได้ นอกจากนี้ ควรถามด้วยว่าเราอยากเห็นอะไรในความตายหรือความมีชีวิตของสัตว์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องจริยธรรมเป็นประเด็นที่ทุกๆ คนเข้าถึงได้ และสะท้อนความเป็นไปของสังคมในแต่ละยุคสมัย ไม่ใช่แค่ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนบอกเท่านั้น ภาพของสัตว์ที่เราเห็นในสื่อและออกมาถกเถียงกันก็เป็นประเด็นทางจริยธรรมอย่างหนึ่ง “เวลามีเรื่องอะไรที ประเด็นก็อาจจะกระพือขึ้นมา เคสใหม่อาจมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ต่างกัน…สัตว์ที่ไม่น่ารัก หรือเราไม่ค่อยได้เจอ เราจะยังคำนึงถึงสวัสดิภาพของมันไหม” ผศ. ดร.จิราพร กล่าว
 
แนวปฏิบัติเรื่องการใช้สัตว์ในรายการ ในละคร ยังไม่เคยมีขึ้น

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในข้อบังคับของสมาคมสภาวิชาชีพฯ ซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ไม่ได้กำหนดเรื่องการใช้สัตว์ในการถ่ายรายการโดยตรง มีเพียงระบุว่าไม่ให้ใช้ความรุนแรงหรือมีการทรมาน ซึ่งในการตีความก็ย่อมหมายรวมถึงสัตว์ด้วย อย่างไรก็ตาม จะมีการร่างแนวปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวขึ้นมาและนำไปรับฟังความคิดเห็นจากทั้งสมาชิกองค์กรวิชาชีพ รวมถึงผู้ให้บริการช่องรายการและผู้ผลิตเนื้อหาในสื่อ ตลอดจนภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

“แนวปฏิบัติเรื่องการใช้สัตว์ในรายการ ในละคร ยังไม่เคยมีขึ้น ดังนั้นถือเป็นสิ่งที่เราต้องทำโดยเร่งด่วน เพราะในตอนนี้มีเคสเกิดขึ้นแล้วและไม่อยากให้เกิดซ้ำ” นายชวรงค์ กล่าว

“การกำกับดูแลกันเองในทางจริยธรรมจะเกิดไม่ได้ถ้าประชาชนและภาคประชาสังคมไม่ตื่นตัว เพราะไม่ใช่เรื่องที่ใช้กฎหมายในการบังคับ ก็ขอบคุณความตื่นตัวในสังคมที่ทำให้เราได้มาคุยกันในวันนี้” นายกสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) กล่าว.

 

ข้อเสนอแนะและแนวทางการดำเนินงานในอนาคต

จากการสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมได้เห็นพ้องกันที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดการจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับการใช้สัตว์ในอุตสาหกรรมบันเทิง โดยมีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน มีการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และมีการสร้างความตระหนักให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

เป้าหมายสูงสุดของการดำเนินงานครั้งนี้ คือการสร้างสังคมที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของสัตว์ และเพื่อให้วงการบันเทิงไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลในด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
FOLLOW ME
MOST POPULAR
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

พบสายส่ง ถูกฝังดินชายแดนเชียงราย ใกล้เขตว้า 11.5 กิโล จุดเริ่มต้นจากไทย

 

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2567 ความคืบหน้ากรณี พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.) ตร.มอบหมายให้ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผช.ตร.ในฐานะรอง ผอ.ศปอส.ตร.ร่วมกับ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย สำนักงาน กสทช.และตำรวจ ภ.5 พร้อมด้วย พล.ต.ต.มานพ เสนากุล ผบก.ภ.จว.เชียงราย ทหารกองกำลังผาเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบการส่งสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงพื้นที่ชายแดน จ.เชียงราย เพื่อป้องกันการลักลอบส่งสัญญาณไปให้กับขบวนการหลอกลวงหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น

ล่าสุดนอกจากจะพบการส่งสัญญาณไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงกันข้ามแม่น้ำโขงกับ อ.เชียงแสน แล้ว พบว่าทางเจ้าหน้าที่ทหารพรานกองกำลังผาเมือง ได้ตรวจพบชุดสายส่งสัญญาณที่ฝังดินบริเวณชายแดนด้าน อ.แม่จัน ติดกับประเทศเมียนมา และใกล้กับเขตปกครองพิเศษที่ 2 (สหรัฐว้า) ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของว้าแดงที่มีการสร้างเมืองต่างๆ ในเขตของตัวเองอย่างใหญ่โต โดยมีเครื่องส่งสัญญาณเพียงชุดเดียว แต่มีสายส่งที่ยาวรวมกันกว่า 11.5 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นมีในฝังไทยแต่ได้ข้ามไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและ กสทช.จะได้นำไปชยายผลว่าเครื่องและสายส่งสัญญาณดังกล่าว มีผู้ขออนุญาตใช้เป็นใครเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พล.ต.ท.ธัชชัย ได้แถลงข่าวหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.เชียงราย เพื่อร่วมป้องกันการลักลอบส่งสัญญาณไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยผิดกฎหมายว่า ปฏิบัติการทั้งหมดเรียกว่าปฏิบัติการ “ระเบิดสะพานโจร” โดยเป็นตัดสัญญาณไม่ให้นำไปใช้โดยผิดกฎหมายโดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยได้วางมาตรการ 4 ข้อ คือ 
 
1.เริ่มทำการตัดสัญญาณข้ามประเทศทุกชนิด โดย กสทช. จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดำเนินการ
2.ทาง ตำรวจจะตรวจสอบในระบบแจ้งความว่ามีการแจ้งความว่าถูกหลอกลวงมาจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านจุดใด
3.จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและระหว่างตำรวจ และ กสทช.ว่ามีการใช้สัญญาณข้ามประเทศอย่างไร ทั้งระบบ ซิม สาย เสา หากมีการทำผิดกฎหมายก็จะดำเนินการทันที และ
4.จะมีการเข้มงวดของตรวจคนเข้าเมืองเพื่อป้องกันการเข้าไปเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์
 
ทางด้าน พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. (ด้านกฎหมาย) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้นทราบกันดีว่าอยู่ในต่างประเทศ ทำให้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีกับผู้ลักลอบติดตั้งเสาและสายส่งสัญญาณเถื่อนตามแนวชายแดนเพื่อส่งไปให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้ว 33 ราย ตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือมากกว่า 2 ล้านเลขหมาย ระงับการส่งสัญญาณโทรคมนาคม และถอดสายสัญญาณและอุปกรณ์ (ล้มเสา) จำนวน 179 จุด ใน 11 อำเภอ 9 จังหวัด.
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ท้องถิ่นนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

กสทช. เดินหน้าต่อหลังวิทยุ ทดลองออกอากาศ 3,809 สถานี

 

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ชี้แจงความก้าวหน้าในการดำเนินการให้วิทยุทดลองออกอากาศซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3,809 สถานี (ชุมชน 156 สาธารณะ 592 และ ธุรกิจ 3,061 สถานี) ที่ต้องยุติการทดลองออกอากาศหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เข้าสู่ระบบใบอนุญาต โดยที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2567 เมื่อวันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2567 ได้อนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง หลังจากที่ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรียบร้อยเพื่อให้สถานีวิทยุทดลองออกอากาศเข้าสู่ระบบและออกอากาศต่อไปได้

 

หลังจากที่แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม ได้ผ่านมติ กสทช. และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อย โดยได้ปรับปรุงหลังการรับฟังความคิดเห็นให้สามารถรองรับสถานีวิทยุเอฟเอ็มได้จากจำนวน 2,779 สถานี เป็น 3,346 สถานี ทำให้สามารถรองรับสถานีวิทยุประเภทชุมชน ที่ปัจจุบันมี 156 สถานี ได้มากขึ้นเป็น 168 สถานี และสถานีวิทยุประเภทสาธารณะ ที่ปัจจุบันมี 592 สถานี ได้มากขึ้นเป็น 670 สถานี สำหรับสถานีวิทยุประเภทธุรกิจ ที่ปัจจุบันมี 3,061 สถานี ลดลงเป็น 2,508 สถานี ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องจัดสรรให้ชุมชนและสาธารณะไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 จากนั้น จึงต้องมากำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุญาตต่อไป

สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง ที่ผ่านอนุมัติจาก กสทช. ในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

1. ยึดหลักการสำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนทุกขั้นตอนไว้ในประกาศนี้ฉบับเดียวมีการกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการยื่นขออนุญาตทุกประเภทที่ต้องดำเนินการในการให้บริการวิทยุกระจายเสียงไว้ในประกาศฉบับเดียวอย่างครบถ้วน โดยไม่ต้องไปดูวิธีการขออนุญาตแต่ละประเภทในประกาศแต่ละฉบับ เช่น วิธีการขออนุญาตใช้คลื่น ในกิจการชุมชน/สาธารณะและธุรกิจ การขออนุญาตประกอบกิจการ และการขอใบอนุญาตเกี่ยวกับเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง การตั้งสถานีวิทยุคมนาคม เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการสะดวกและรับทราบข้อมูลล่วงหน้าประกอบการตัดสินใจ และไม่เกิดข้อผิดพลาดในการยื่นขออนุญาตต่อ กสทช.

2. การปรับปรุงประกาศฯ เพื่อลดกระบวนการขั้นตอนการยื่นคำขอรับและการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นและใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตในชั้นของสำนักงาน กสทช. หรือของ กสทช. มีความรวดเร็วมากขึ้น สามารถรองรับการยื่นคำขอของผู้ประกอบการที่จะต้องพิจารณา 3,346 สถานี รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการยื่นคำขอรับใบอนุญาต เช่น การลดเอกสารประกอบการยื่นขอใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น หรือเอกสารนั้นอยู่ในความครอบครองของสำนักงาน กสทช. หรือผู้ประกอบการรายนั้นได้เคยยื่นต่อสำนักงาน กสทช. ไว้แล้ว เป็นต้น ทั้งนี้การปรับปรุงอำนวยความสะดวกดังกล่าวยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3. ปรับปรุงเพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการที่จะยื่นคำขอ เช่น ค่าธรรมเนียมยื่นคำขอ การอนุญาตให้ใช้เครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงเครื่องเดิมได้ รวมทั้งการขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคมสถานที่เดิมให้สามารถใช้เอกสารและข้อมูลเดิมได้ไม่ต้องจัดทำเอกสารใหม่ เป็นต้น โดยมีการคิดค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าเดิม เช่น อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับวิทยุบริการสาธารณะจากเดิมที่ต้องจ่าย 2,000 บาททุกปี เมื่อเข้าสู่ระบบใบอนุญาตจะจ่ายเพียงครั้งเดียว 1,000 บาท ได้รับใบอนุญาตไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นต้น

4. เพิ่มเติมบทเฉพาะกาล เพื่อรองรับกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถพิจารณาออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการที่มายื่นความประสงค์เข้าสู่ระบบ ได้ทันภายใน ธันวาคม 2567 นี้ ยังให้สามารถออกอากาศเป็นการชั่วคราวได้

“ทั้งนี้ จะมีการชี้แจงในรายละเอียดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียงดังกล่าว ในวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม นี้ สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพและภาคกลาง อย่างไรก็ตามสามารถเข้าร่วมประชุมออนไลน์ได้ จากนั้นจะชี้แจงในส่วนของภูมิภาคต่อไป เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับทราบและตอบข้อซักถามให้หายข้อสงสัยต่อไป”

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

กสทช. ระงับสัญญาณโทรศัพท์ เคลื่อนที่ 141 สถานี ตามตะเข็บชายแดนแล้ว

 

เมื่อวันจันทร์ ที่  27 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. พร้อมทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ประชุมเพื่อติดตามการประกอบกิจการโทรคมนาคมบริเวณแนวชายแดน โดยมีข้อสรุปมาตรการแก้ไขปัญหาระงับยับยั้งการกระทำที่อาจก่อให้เกิดการนำสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปใช้ในการกระทำผิด หรือสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย 3 ข้อ คือ

 

  1. ให้ดำเนินการรื้อถอนสายอากาศกรณีเสาที่มีการติดตั้งสายอากาศหันไปทางประเทศเพื่อนบ้านโดยตรงโดย ส่วนเสาที่มีการติดตั้งห่างจากแนวชายแดนออกมาระยะ 200 เมตรเพื่อให้บริการในไทย แต่หันทิศทางไปประเทศเพื่อนบ้านให้ส่งข้อมูลการจำลองการแพร่สัญญาณ (Simulation) ให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาด้วย
  1. ให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ตรวจสอบว่ามีเครื่องทวนสัญญาณ (Repeater) รับสัญญาณจากประเทศไทยไปเพื่อกระจายต่อหรือไม่ ถ้ามี ให้ระงับสัญญาณที่เข้าสู่ Repeater ดังกล่าว
  1. กรณีการให้บริการอินเทอร์เน็ตทางสาย ให้พิจารณาทราฟฟิกที่มีปริมาณมากผิดปกติ และรายงานให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการร่วมกับตำรวจว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมหรือไม่ รวมทั้งให้ผู้บริการทั้งทางสาย และไร้สาย ตรวจสอบ IP ที่ไปปรากฏว่ามีการใช้งานในประเทศเพื่อนบ้านว่ามีการใช้งานผิดวัตถุประสงค์หรือไม่

โดยในวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคมนี้ จะมีการหารือทางเทคนิคเพื่อกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อให้ผู้ประกอบการจัดทำรายงานส่งให้สำนักงาน กสทช. หรือตำรวจต่อไป

 

 

นายไตรรัตน์ เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. พร้อมทั้งสำนักงาน กสทช. ภาค 1 และเขต 14 ปราจีนบุรี ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการปรับเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่หันหน้าออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้รถตรวจสอบสัญญาณคลื่นความถี่ลงในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พบว่า ขณะนี้เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามแนวชายแดน จ.สระแก้ว ได้หันหน้าเข้าประเทศไทยแล้วเกือบทั้งหมด ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผน และเพื่อไม่ให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบได้รับผลกระทบ สำนักงาน กสทช. จะให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดำเนินการติดตั้งเสาสัญญาณขนาดเล็กให้ประชาชนสามารถใช้โทรศัพท์ และใช้อินเทอร์เน็ตได้โดยไม่เกิดปัญหา

 

 

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายดำเนินการหันเสาเข้าประเทศอย่างถาวร เพื่อควบคุมความแรงของสัญญาณไม่ให้ล้ำไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังเจอปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ และมิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผ่านการใช้สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ต โดยสำนักงาน กสทช. จะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการดำเนินการหันเสาสัญญาณโทรศัพท์เข้าประเทศ รวมทั้งตรวจจับสัญญาณในทุกพื้นที่อย่างเข้มข้น เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

 

 

“ผมขอความร่วมมือผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มข้น เสาต้นไหนที่อยู่แนวบริเวณตะเข็บชายแดน ไม่ได้มีบ้านเรือนประชาชนอยู่ ควรรื้อถอนก็ต้องรื้อถอน ส่วนการหันเสาสัญญาณเข้าประเทศขอให้ดำเนินการเป็นการถาวร เรื่องนี้ผมจะไม่ให้ประชาชนที่ใช้ชีวิตปกติได้รับความเดือดร้อน ถ้าต้องติดตั้งเสาสัญญาณขนาดเล็กให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตประจำวัน ใช้โทรศัพท์ ใช้อินเทอร์เน็ตได้ตามปกติ ก็ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการดูแลประชาชนกลุ่มนี้ด้วย” นายไตรรัตน์ กล่าว

 

 

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ออกมาตรการระงับสัญญาณโทรคมนาคมบริเวณชายแดนโดยเริ่มใน 7 พื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน ได้แก่ (1) อ.แม่สอด จ.ตาก (2) อ.แม่สาย จ.เชียงราย (3) อ.เชียงของ จ.เชียงราย (4) อ.เชียงแสน จ.เชียงราย (5) อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว (6) อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี และ (7) อ.เมือง จ.ระนอง โดยปัจจุบันทุกพื้นที่ ๆ มีการหันเสาออกนอกประเทศไทยได้มีการระงับสัญญาณรวมแล้ว 141 สถานี และปรับทิศทางสายอากาศเข้าประเทศแล้ว 67 สถานี

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กสทช.

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

สภาผู้บริโภคเอาจริง จ่อยื่น ป.ป.ช. ถอดถอน กสทช. เอื้อผูกขาดอินเทอร์เน็ต

 

18 พฤศจิกายน 2566 สภาผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค จัดงานแถลงข่าว “ความล้มเหลวของ กสทช. ในการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม” เพื่อแสดงความผิดหวังและแสดงความเห็นต่อมติของคณะกรรมการ กสทช.  พร้อมออกแถลงการณ์ร่วมกันและเตรียมเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ กสทช.) ออกจากตำแหน่งทั้งคณะ เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ที่อาจเข้าข่ายบกพร่องและไม่กำกับดูแล ได้สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อผู้บริโภค ทั้งกรณีมีมติรับทราบการควบรวมทรู – ดีแทค และการอนุญาตให้ควบรวม AWN – 3BB

 

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การทำงานของ กสทช.ชุดปัจจุบัน หากสะท้อนจากมุมมองของคนนอกจะเหมือนเป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่างสองรายใหญ่เพราะคนที่ได้ประโยชน์ชัดเจนคือ ผู้ประกอบการทั้งสองราย ในทางกลับกัน กลับไม่เห็นความพยายามในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคในกสทช. ที่ชัดเจน แม้แต่กรรมการ กทสช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

 

“สิ่งที่น่าเสียใจคือ การปฏิรูปกิจการคลื่นความถี่โทรคมนาคมในประเทศไทยดูเหมือนจะมีความคืบหน้า แต่ในความเป็นจริงกลับถอยหลัง และเป็นการถอยหลังที่มองไม่เห็นอนาคตว่าจะไปอย่างไรกันต่อ โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมือนจะไม่มีความหวัง ไม่มีพื้นที่เหลือสำหรับการเป็นปากเสียงให้ผู้บริโภคในองค์กรอิสระที่มีศักดิ์ศรีและได้รับการคุ้มครองความอิสระตามเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ” นางสาวสุภิญญาระบุ

 

นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ ภาวะความขัดแย้งและความเห็นต่างในองค์กรอิสระเป็นเรื่องปกติเนื่องจากกรรมการแต่ละท่านต่างมีจุดยืนของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งของกสทช.ชุดนี้กลับมองไม่เห็นว่าเชื่อมโยงกับประโยชน์สาธารณะอย่างไรและมีผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างไร  

 

  “ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าผู้บริโภคในยุค 5G และ 6G และขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ยุค AI และ Internet of Things ปัญหารุมเร้าทั้งในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มิจฉาชีพที่มาจากแก๊งคอลเซนเตอร์ สแกมเมอร์และสแปมต่าง ๆ รวมไปถึงคุณภาพในการให้บริการ ผู้บริโภคถึงกับมืดมนว่าจะพึ่งใคร ถ้าองค์กรที่ควรจะเป็นที่พึ่งอย่าง กสทช.กลายเป็นทไวไลท์โซนหรือแดนสนธยาที่แสงอาทิตย์ส่องเข้าไปไม่ถึง เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นความหวังให้กับเราได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา”นางสาวสุภิญญากล่าว

 

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ความล้มเหลวของ กสทช.ในการคุ้มครองผู้บริโภคมี 3 ประการ ประการแรกคือ การลงมติ “รับทราบ” การรวมธุรกิจระหว่างทรู – ดีแทค โดยให้เหตุผลว่าไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน แต่ในการประชุมลงมติกรณี AWN – 3BB ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 5:2 เห็นว่าเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่องมีการตัดสินที่ผิดพลาดในเบื้องต้น ยิ่งไปกว่านั้นยังได้อนุญาตให้เกิดการควบรวมระหว่างค่าย AWN – 3BB ที่เป็นความผิดพลาดครั้งที่สอง เพราะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนในการรับบริการโทรคมนาคมที่ถูกเอาเปรียบการมีอำนาจเหนือตลาดของธุรกิจเอกชน

 

“ที่ผ่านมาภาคประชาชน รวมทั้งนักวิชาการและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้มีความพยายามอย่างเต็มที่ ในการคัดค้าน กสทช.ไปจนถึงการฟ้องคดีที่ศาลปกครอง เพื่อให้ กสทช.ใช้อำนาจของตัวเอง แต่สุดท้ายกสทช.ก็ทำหน้าที่เพียงรับทราบ และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ กสทช. ไม่สามารถกำกับหรือควบคุมให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคได้ตามมาตรการที่ตัวเองออกแบบไว้”
สารีกล่าว

 

ความล้มเหลวประการที่สองคือการมีมติอนุญาตให้ AWN – 3BB ควบรวมกิจการได้ โดยไม่คำนึงว่าจะทำให้เกิดการผูกขาดอินเทอร์เน็ตตามมา ซึ่งทำให้บริษัทที่ควบรวมได้รับประโยชน์โดยตรงที่สำคัญ กล่าวคือทำให้ บริษัท AWN มีส่วนแบ่งในตลาดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่มากถึงร้อยละ 44.44 ในขณะที่ลำดับที่สองและสาม คือ บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด (TICC) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 37.47 และ 15.44 ตามลำดับ

 

นอกจากนี้ การควบรวม AWN – 3BB ยังส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับประโยชน์จากการไม่ต้องลงทุนโครงข่ายซ้ำซ้อนคิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทในเวลา 5 ปี การที่คณะกรรมการ กสทช. ได้กำหนดมาตรการให้นำเงินที่ประหยัดได้นี้ไปลงทุนสร้างโครงข่ายเพิ่มในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งหากพิจารณาอย่างผิวเผินจะเห็นว่าประชาชนได้รับประโยชน์ แต่ทางกลับกันจะทำให้บริษัท AWN ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดทั้งหมด มีโอกาสใช้เงินทุนที่เหนือกว่าคู่แข่งที่เป็นผลพวงจากการได้รับอนุญาตให้ควบรวมกิจการ ทำลายพื้นที่การแข่งขันของผู้ให้บริการเจ้าอื่นได้เช่นกัน โดยเฉพาะ NT

 

“จากเอกสารที่ กสทช. ใช้ชี้แจงต่อองค์กรผู้บริโภคจะว่าการควบรวมครั้งนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคด้านราคาโดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนผลกระทบด้านราคาเพิ่มขึ้นหลังจากควบรวม และตัวเลขที่ถูกคาดการณ์มีทั้งที่บอกว่า ค่าบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 – 13.4 เปอร์เซนต์ หรือบางงานวิจัยบอกว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 – 45 หรืองานวิจัยของ 101 PUB ที่ระบุว่าจะราคาจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 – 22.9  ซึ่ง กสทช.กำลังจะบอกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเหล่านี้สามารถจัดการได้ แต่พวกเราไม่มีความมั่นใจเลยและไม่เชื่อว่ากสทช. จะทำได้จริง” สารีกล่าว

 

ความล้มเหลวประการที่สาม คือ ความล้มเหลวในการกำกับหรือสั่งการสำนักงาน กสทช. หลักฐานเชิงประจักษ์คือ ถึงแม้กรรมการเสียงข้างมากจะมีมติให้ดำเนินการกับรักษาการเลขาธิการ แต่ก็ไม่มีผลในการใช้บังคับ หรือกรณีการควบรวมทรู – ดีแทคที่สำนักงาน กสทช. ไม่สามารถกำกับดูแลบริษัทให้ทำตามมาตรการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ได้ นำมาสู่คำถามและข้อกังขาว่ากรณีการควบรวม AWN – 3BB กสทช. จะสามารถควบคุมไม่ให้บริษัทขึ้นราคาได้หรือไม่ และเห็นชัดเจนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างภาระให้กับผู้บริโภคในการตรวจสอบ

 

ความล้มเหลวประการสุดท้ายถูกสะท้อนจากการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากปัญหาภายใน ดังนั้น ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน กสทช. ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะกรรมการ กสทช. ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค แต่กลับไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างเช่น มาตรการหลังการควบรวมทรู – ดีแทคที่กำหนดให้บริษัทต้องลดราคาลงร้อยละ 12 ภายใน 90 วันหลังการควบรวม หรือการกำหนดให้แสดงแหล่งที่มาของเอสเอ็มเอสจะต้องบอกเพื่อลดปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถกำกับให้บริษัทปฏิบัติตามมาตรการหรือเงื่อนไขดังกล่าวได้

นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า  ปัจจุบันมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคในเรื่องการควบรวมโดยมีข้อมูลการสำรวจตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน ถึงปัจจุบันมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประมาณ 2,700 คน โดยปัญหาพบปัญหาคุณภาพการใช้บริการลดลง ค่าโปรโมชั่นแพงขึ้น โดยหลังจากนี้จะมีการเปิดเผยผลสำรวจที่ลงลึกมากขึ้น

 

ด้าน นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการควบรวมระหว่างกิจการโทรคมนาคม 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการควบรวมระหว่างทรู – ดีแทคซึ่งหลังจากการควบรวมพบว่าตลาดมีความกระจุกตัวสูง ทำให้เหลือผู้แข่งขันหรือผู้ให้บริการหลักเพียง 2 ราย ทั้งนี้ยังพบว่าดัชนีการกระจุกก็เพิ่มขึ้นอย่างมากอยู่ในระดับที่ผู้กำกับดูแลโดยทั่วไปของโลกรับไม่ได้ โดยมีการประเมินว่าอาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยในการกรณีที่มีการแข่งขันตามปกติในตลาดโทรคมนาคมอย่างในปัจจุบัน ค่าบริการอาจจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 – 10 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมีการ “ฮั้วราคา” อาจจะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้นได้ถึงในร้อยละ 20

 

“การฮั้วราคากันซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นการฮั้วแบบที่มีลายลักษณ์อักษรแต่มานั่งคุยกันก็ได้ แต่ว่าเมื่อมองตาแล้วรู้ใจว่า ถ้าเราขึ้นราคาแล้วเขาจะขึ้นราคาตามก็มีโอกาสเหมือนกันที่จะทำให้ราคาแพงขึ้นซึ่งอาจจะเป็นค่าบริการเฉลี่ยแพงขึ้น แพ็กเกจต่ำอาจถูกตัดออก หรือในอนาคตแม้ต้นทุนถูกลงแต่ราคาลดลงไม่เท่าก็เป็นไปได้ รวมไปถึงการให้บริการคุณภาพก็อาจจะแย่ลง เราคาดการณ์สิ่งเหล่านี้ไว้ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ซึ่งตอนนี้เราก็เห็นสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างชัดเจน” นายฉัตรกล่าว

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาผู้บริโภค

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

depa ลุยเติมศักยภาพ “ผู้บริหารสื่อ” กับ Digital Skills for Media Industry

 
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ เดินหน้าโครงการ Digital Skills for Media Industry ด้วยหลักสูตรการบริหารงานสื่อครบวงจร (โทรทัศน์, วิทยุ, ออนไลน์, ละคร, ดนตรี, ภาพยนตร์) เสริมศักยภาพผู้บริหารสื่อในยุคดิจิทัล กว่า 60 ท่าน เพื่อเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงจากผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 20 ท่านตลอด 3 วันของหลักสูตร
.
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ depa พร้อมด้วย นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ depa ให้การต้อนรับ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ซึ่งให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ และ คุณพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. ให้เกียรติร่วมงาน พร้อมกันนี้เหล่าผู้บริหารสื่อยังได้รับฟังการแถลงผลการศึกษาอุตสาหกรรมสื่อจาก 4 ประเทศต้นแบบ ทั้ง อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และ สิงคโปร์ รวมถึงแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมสื่อไทยและผลสำรวจความต้องการพัฒนาทักษะดิจิทัลของบุคลากรสื่อ โดยดร.จักกนิตต์ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล depa , รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.วาสนา บุตรโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
.
จากนั้น เสวนาพิเศษในหัวข้อ “เสวนาสื่อครบวงจร : ทีวี วิทยุ อีเวนต์ ข่าว กีฬา” โดย คุณรักษิต รักการดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไลฟ์ เนชั่น เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด , ดร.สรายุทธ มหวลีรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และ คุณทิน โชคกมลกิจ โปรดิวเซอร์ พิธีกร และผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ก่อนส่งต่อไมค์ต่อให้ คุณสุชาติ ภวสิริพร Chief People Officer Bitkub แชร์ประสบการณ์สำคัญในหัวข้อ “Chief People Officer Digital HR: Managing People in Bitkub’s way”
.
นอกจากนี้ได้รับเกียรติจาก คุณโกมินทร์ อ่าวอุดมพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการพันธมิตรด้านคอนเทนต์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และ คุณสง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรานส์ ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม ร่วมบรรยายและเสวนาในหัวข้อ “How to build creative content to the world?” ก่อนปิดท้ายวันแรกของหลักสูตรด้วย คุณอุกฤษ ตั้งสืบกุล CO-CEO บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด บรรยายพิเศษ “การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำสื่อ”
.
ต่อด้วยหัวข้อสำคัญสำหรับผู้บริหารสื่อ ในเสวนาหัวข้อ “ความท้าทายในการหารายได้” โดย คุณปัทมวรรณ สถาพร นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT),
คุณพัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) (DAAT) และ คุณโชค วิศวโยธิน นายกสมาคมสื่อการค้าออนไลน์คุณภาพ (ประเทศไทย) (OPPA) อีกทั้งคุณโชค ยังบรรยายเสริมสุดเข้นข้นให้เหล่าผู้บริหารได้สัมผัสและใช้งาน Generative AI ในงานสื่อยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีการเสริมไอเดียการผลิตสื่อยุคดิจิทัล ในหัวข้อ “โปรดักชันยุคใหม่ ครบ จบในโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง” โดยคุณภาคนิวัฒน์ ขจรกลิ่นสมฐวี ทีมโปรดักชั่น บมจ. เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ก่อนที่จะเติมภาพดิจิทัลคอนเทนต์ด้วยการบรรยายและเสวนา “อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นและเกมของประเทศไทยในอนาคต” โดย คุณกิตติพงษ์ พฤกษอรุณ CEO Asphere Innovation PCL. (Asiasoft) และ คุณธนัช จุวิวัฒน์ CEO บริษัท อิ๊กดราซิลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
.
พร้อมกันนี้ผู้บริหารสื่อที่เข้าร่วมหลักสูตรฯ ยังได้ระดมสมองอย่างเข้มข้นและร่วมแชร์แนวคิดเพื่อการพัฒนาอนาคตของอุตสาหกรรมสื่อของประเทศไทย ครอบคลุมทั้งเรื่องการปรับตัวของสื่อยุคใหม่ ความท้าท้ายในการหารายได้ของอุตสาหกรรมสื่อในยุคดิสรัปชั่น รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือ และ การสนับสนุนจากภาครัฐต่ออุตสาหกรรมสื่อสำหรับหลักสูตรการบริหารงานสื่อครบวงจรฯ ยังมีการศึกษาดูงานในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เพื่อเสริมแกร่งในด้านการลงทุน ตลาดทุนไทย รวมถึงการระดมทุน ณ INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน
.
โครงการ Digital Skills for Media Industry มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อให้สามารถปรับตัวต่อบริบทของสังคมในยุคดิจิทัล ยังมีหลักสูตรสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมสื่อ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงส่งเสริมการพัฒนานักศึกษาจบใหม่ให้มีศักยภาพและพร้อมเข้าสู่การเป็นบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมสื่อสมัยใหม่ และยกระดับอุตสาหกรรมสื่อไทยให้ทัดเทียมกับตลาดโลก สมัครได้ตั้งแต่ วันนี้ ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566
.
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://short.depa.or.th/DigitalSkills4Media_register หรือ Facebook : Digital Skills for Media Industry
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Facebook : Digital Skills for Media Industry

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News