Categories
NEWS UPDATE

นายกฯ จับตาสถานการณ์ภัยแล้ง สั่งบูรณาการ จัดการอย่างเป็นระบบ

 

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ห่วงสถานการณ์ภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งภาคเกษตรกรรม ความเป็นอยู่ การลงทุน รวมทั้งการท่องเที่ยว เล็งภาคใต้จะกระทบหนัก สั่งการทุกหน่วยงานวางแผนบริหารการอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมเพื่อรับมือและบรรเทาสถานการณ์ และช่วยเหลือประชาชน โดยได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดูแลเรื่องน้ำ กระทรวงมหาดไทยที่ดูแล บรรเทาสาธารณภัยรวมทั้งเหล่าทัพ ที่นำสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภัยแล้ง รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมด้วยช่วยกัน ในส่วนที่ทำได้อำนวยความสะดวก ดูแล แบ่งเบาความทุกข์ ประชาชน และกำชับหน่วยกองทัพร่วมเข้าช่วยเหลือแก้ปัญหาภัยแล้ง ดูแลการขาดน้ำอุปโภค บริโภค ของประชนให้ทันท่วงทีและรายงานนายกรัฐมนตรีทุกระยะ เพื่อพิจารณาปรับแผนการดำเนินการที่เหมาะสม

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ซึ่งจากการสั่งงานของนายกรัฐมนตรี ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ กษ. มท. เหล่าทัพ เร่งหามาตรการบรรเทา และเป็นการแก้ไขสถานการณ์ทั้งระบบเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนน้อยที่สุด โดยขณะนี้มี รถผลิตน้ำดื่มเคลื่อนที่ รถขนน้ำ การขุดลอกแหล่งน้ำ และซ่อมบำรุงระบบปะปาแก่ชุมชน
 
 
“ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดนี้ นายกรัฐมนตรีวางแผนการทำงานล่วงหน้าเพื่อบรรเทาน้ำแล้งทั้งระบบ ไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน ภารการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ที่รับรายงานว่าเกิดปัญหาขาดน้ำแล้วโดยขอทุกหน่วยงานแบ่งงานกันดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องและรายงานนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเพื่ออาจพิจารณาปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ตรงความต้องการ” นายชัย กล่าว
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ไชยา รมช. เกษตร มอบสัญญายืมโคให้เกษตรกร จ.เชียงราย

 

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 67  ที่ทำการคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอแม่จัน เลขที่ 81 หมู่ 7 บ้านดง ต.สันทราย อ.แม่จัน จ.เชียงราย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีมอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิตโค-กระบือ ภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ โดยมีว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ  จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้การต้อนรับ และนายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์นำหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรชาวเชียงรายเข้าร่วมอย่างคับคั่ง

.
          ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้ส่งมอบโคจากการไถ่ชีวิตโค-กระบือ ของผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมกันบริจาคเงิน เพื่อไถ่ชีวิตโค-กระบือเข้าร่วมโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ให้กับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย นำมาช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ และสร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชน ให้กับวิสาหกิจ ชุมชน กลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐ ให้เกษตรกรที่มีความ สนใจด้านอาชีพการเลี้ยงสัตว์ และสมัครเข้าร่วมโครงการ ภายใต้เงื่อนไขโครงการธนาคาร โค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ซึ่งเกษตรกรจะต้องคืนลูกตัวแรกเมื่ออายุครบ 18 เดือน ให้กับโครงการ และเมื่อครบสัญญา 5 ปี โครงการฯจะมอบกรรมสิทธิ์แม่โค พร้อมลูกตัวที่ 2 , 3 , 4 ให้กับเกษตรกรต่อไป 

.
          สำหรับในวันนี้ จังหวัดเชียงราย ได้รับสนับสนุนโค จากโครงการธนาคาร โค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริจำนวน 55 ตัว รวมเกษตรกรที่ได้รับสัตว์ทั้งสิ้น จำนวน 55 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้อง ตามระเบียบของโครงการฯ สมควรได้รับการช่วยเหลือจากโครงการฯ ต่อไป

 

          โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เป็นโครงการหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยกรม ปศุสัตว์เป็นผู้ดำเนินการ และเป็นศูนย์รวมในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจน ที่มีอาชีพ ในการทำนา ทำไร่ได้อย่างแท้จริง วัตถุประสงค์ที่สำคัญของธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตาพระราชดำริเพื่อช่วยให้เกษตรกรที่ยากจนทั่วประเทศได้มีโค-กระบือไว้ใช้แรงงาน และเพิ่มผลผลิต ทางการเกษตร เป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 

.
           ภายในงานมีหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำการบริการแก้ไขปัญหาทางการเกษตรหลายหน่วยงานมาให้บริการ เช่น คลินิกดิน พืช ปศุสัตว์ ประมง ชลประทาน สหกรณ์ บัญชี พืชสวน ยางพารา สาธารณสุข มาให้บริการให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย

 

หลังจากนั้น นาย ไชยา เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรในพื้นที่เดียวกัน พร้อมเปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่ดูแลเกษตรกรในทุกมิติ ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง ชลประทาน การทำบัญชี การทำงานของสหกรณ์ การผลิตสินค้า รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำเกษตรกรรมให้เกิดรายได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรร่วมชมคูหานิทรรศการของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ นิทรรศการจากกรมหม่อนไหม ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพื้นที่ 3 ไร่ หากเก็บเกี่ยว 1 ครั้ง สามารถขายได้ราคา 9,000 บาท

 

ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้ 12 ครั้ง ต่อปี และมีนิทรรศการจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่จะมาช่วยผลักดันเกษตรกรให้สามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในระยะเวลา 4 ปี ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อีกด้วย

 

สำหรับช่วงบ่าย นาย ไชยาเดินทางไปเป็นประธานพิธีมอบโค-กระบือ ให้เกษตรกรยืมเลี้ยงเพื่อการผลิต ภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ณ ศาลาแดงหนองซง บ้านหนองแรดใต้ อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย โดยมอบสัญญายืมโค จำนวน 30 ตัว ให้กับเกษตรกร จำนวน 30 ราย คิดเป็นมูลค่า 840,000 บาท

 

นายไชยา กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้รับเกียรติจากพี่น้องเกษตรกรมามอบหนังสือสัญญายืมโคเพื่อการผลิต ภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปศุสัตว์เป็นอาชีพหลัก ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์จะคอยสนับสนุนข้อมูลการเลี้ยงดูต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ปศุสัตว์ต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

รอน้ำแข็งแห้งผลิต คาด 11 เม.ย. นี้ ‘ไชยา’ พร้อม ‘กรมฝนหลวง’ ปฏิบัติทุกวัน

 
เมื่อเวลา 11.25 น. วันที่ 9 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือว่า คณะรัฐมนตรีได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และในฐานะที่ตนกำกับดูแลกรมฝนหลวง จึงได้สั่งการขึ้นปฏิบัติการดัดแปลงสภาพอากาศ ทั้งหมด PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนทั้งหมด
 
 

ส่วนช่วงสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย เชื่อว่าปัญหาฝุ่นจะลดลง 50% โดยการขึ้นบินเอาความเย็นไปลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศข้างบน ซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่นของฝุ่นลง 50% แต่ปัญหาคือถ้าจะให้มีประสิทธิภาพสูงสุดจะต้องใช้น้ำแข็งแห้ง แต่เนื่องจากน้ำแข็งแห้งผลิตที่จังหวัดระยองที่เดียว การขนส่งอาจจะมีปัญหาทำให้ลดประสิทธิภาพลง จึงมีการเปลี่ยนไปใช้น้ำเย็น ซึ่งตนจะขึ้นปฏิบัติการด้วยในวันที่ 11 เม.ย.นี้ พร้อมสั่งการให้กรมฝนหลวงขึ้นปฏิบัติงานทุกวัน เชื่อว่าจะลดปัญหาฝุ่นได้ และทำให้ประชาชนได้เที่ยวสงกรานต์อย่างมีความสุข

 

 

“การที่เราต้องขึ้นบินมีขั้นตอนมีวิธีการในการกำหนดทิศทางลม คำนวณความชื้นในอากาศซึ่งเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง หากไม่มีประสบการณ์จะอธิบายต่อสังคมไม่ได้ ดังนั้น ไม่อยากให้ด้อยค่า อีกทั้งการทำฝนหลวงก็เป็นทฤษฎีศาสตร์พระราชา แต่เราอยากจะยืนยันว่าปฏิบัติการฝนหลวงสามารถแก้ปัญหาได้จริง” นายไชยากล่าว

 

เมื่อถามว่า ปัญหาฝุ่นจะลดลงหมดหรือไม่ นายไชยากล่าวว่า ก็คงไม่ เพราะส่วนหนึ่งก็มาจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน แต่เชื่อว่าจะลดปริมาณฝุ่นได้อย่างน้อย 50% ขอให้คนไทยเที่ยวอย่างมีความสุข หากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีตั้งแต่ 60% ขึ้นไปเรากล้าพูดได้ว่าไม่เกิน 1-2 วันฝนต้องตกแน่นอน

 

นายไชยากล่าวต่อว่า ปฏิบัติการฝนหลวงเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น หน่วยงานเราเป็นเพียงหน่วยงานเสริม แต่การแก้ไขปัญหาระยะยาวจะต้องบูรณาการร่วมกัน และให้ความรู้ประชาชนว่า การไม่เผาจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ สิ่งหนึ่งในฐานะที่ตนกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการปลูกข้าวโพด ก็มีการส่งเสริมให้หันมาใช้ข้าวโพดหมัก ซึ่งจะช่วยในการลดต้นทุนอาหารสัตว์ โดยขณะนี้ศูนย์วิจัยของกรมปศุสัตว์ได้มีการศึกษาวิจัยแล้วว่า การเอาข้าวโพดทั้งต้น ใบ ฝักมาสับละเอียด หมัก 21 วัน จะให้คุณค่าอาหารสูงเทียบเท่าโปรตีนชั้นดีที่นำมาจากต่างประเทศ ดังนั้นกรมปศุสัตว์จึงเร่งรัดหน่วยงานทั้ง 34 แห่งทั่วประเทศทำเป็นต้นแบบให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตนำผลวิจัยไปต่อยอดเพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

ภาคเหนือปีนี้ผลผลิต ‘ลำไย’ เพิ่ม แต่หนาวไม่พอทำ ‘ลิ้นจี่’ ไม่ติดดอก

 
เมื่อวันที่ 20 มีนาคมคม 2567 นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และผู้แทนเกษตรกรดำเนินการจัดทำข้อมูลพยากรณ์ปริมาณการผลิตไม้ผลภาคเหนือ ลำไยและลิ้นจี่ ปี2567 พบว่า ลำไยใน8จังหวัดภาคเหนือ (เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ตาก แพร่ และน่าน) มีเนื้อที่ให้ผลในภาพรวมลดลงเล็กน้อย โดยมีจำนวน1.243 ล้านไร่ ลดลงจากปี2566ที่มีจำนวน 1.244 ล้านไร่ (ลดลงร้อยละ0.10)เนื่องจากเกษตรกรโค่นลำไยเพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ทุเรียน ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และบางส่วนโค่นเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย
 
 

โดยจะให้มีปริมาณผลผลิต1.047ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี2566ที่มีจำนวน 0.949 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ10.24)แบ่งเป็นผลผลิตรวมในฤดู0.702 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี2566ที่มีจำนวน 0.627 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ12.04)และผลผลิตรวมนอกฤดู0.344 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี2566ที่มีจำนวน 0.323 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ6.73)

 

ด้านผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลในภาพรวมอยู่ที่842กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปี2566ที่มีจำนวน 763 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ10.35)เนื่องจากราคาลำไยในปีที่แล้วอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นลำไย จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอเพื่อรับมือกับสภาพอากาศร้อนและราดสารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อชักนำการออกดอก ประกอบกับภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตลำไยคุณภาพและเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำลำไยนอกฤดูมากขึ้น โดยผลผลิตลำไยในฤดูจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กันยายน และออกสู่ตลาดมากในเดือนสิงหาคม ประมาณร้อยละ38.72หรือ4.05แสนตัน

 

สำหรับลิ้นจี่4จังหวัดภาคเหนือ (เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ และน่าน)เนื้อที่ให้ผลมีจำนวน 7.30 หมื่นไร่ ลดลงจากปี2566ที่มีจำนวน 7.52 หมื่นไร่ (ลดลงร้อยละ2.86)เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทุเรียน เงาะ ยางพารา โดยให้ผลผลิตรวม2.72 หมื่นตัน ลดลงจากปี 2566 ที่มีปริมาณผลผลิต 3.32 หมื่นตัน (ลดลงร้อยละ18.14)โดยผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลอยู่ที่372กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปี2566ที่มีจำนวน 442 กิโลกรัมต่อไร่ (ลดลงร้อยละ15.84)

เนื่องจากในปีนี้สภาพอากาศร้อนสลับหนาว และอากาศหนาวเย็นไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการออกดอกติดผล เพราะลิ้นจี่เป็นพืชที่อาศัยความหนาวเย็นในการชักนำการออกดอก และจากสภาพอากาศไม่เหมาะสม ทำให้ลิ้นจี่บางส่วนแตกใบอ่อนแทนการออกดอก

 

ประกอบกับหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรไม่ดูแลรักษา เนื่องจากลิ้นจี่เป็นพืชที่ดูแลยาก ทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ ช่อดอกไม่สามารถพัฒนาเป็นผลได้ โดยในปีที่แล้วลิ้นจี่ออกสู่ตลาดกระจุกตัวอยู่ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งปีนี้ลิ้นจี่แทงช่อดอกช้าคาดว่าปี2567จะมีผลผลิตลิ้นจี่ออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน – กรกฎาคม และจะออกสุดมากในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน รวมประมาณร้อยละ93.03หรือ2.53หมื่นตัน

 

ทั้งนี้ ข้อมูลนี้จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการไม้ผลในที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) และนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ทั้งนี้ สศก. จะได้ติดตามสถานการณ์การผลิตอย่างต่อเนื่องต่อไปและจะรายงานผลพยากรณ์รอบต่อไปให้ทราบเป็นระยะ เนื่องจากผลไม้มีความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับกระทรวง กรม และจังหวัดได้นำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการผลไม้ต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

รมว.ธรรมนัส นำทีมเกษตร ขึ้นเหนือม่วนใจ๋ เช็กอิน ‘พะเยา’

 
เมื่อวันที 14 มีนาคม 2567  ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเตรียมลงพื้นที่ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย และแพร่) และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ณ จังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 18 – 19 มีนาคม 2567 ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจราชการครั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายกำหนดทิศทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือนตอนบน 2 (จังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย และแพร่) ในทุกมิติ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสุขภาพ และมิติด้านสภาพแวดล้อมที่ดี มีเป้าหมายให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ภายในปี 2570 โดยในส่วนของประเด็นการพัฒนาด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะผลักดันและขับเคลื่อน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
 

        ประเด็นการพัฒนาที่ 1 พัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง มุ่งลดต้นทุนการผลิต ใช้ระบบ AI ช่วยการผลิต และส่งเสริมเกษตรกรแบบอัจฉริยะ สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายเกษตรกรที่เป็น Smart Farmer, Young Smart Farmer และ Smart Product, จัดระบบตลาดและโลจิสติกส์เกษตรชุมชน ส่งเสริมการส่งออก การทำตลาดเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย (Niche Market) และส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีในการทำตลาดการเกษตรแบบดิจิทัล
 

        และประเด็นการพัฒนาที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาสุขภาวะวิถีใหม่สู่ความยั่งยืน (new normal to sustainable โดยส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถการเป็นคลังอาหารปลอดภัย ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรมาตรฐานควบคุมคุณภาพ GAP ส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การทำตราสินค้า (Branding) และตรารับรองคุณภาพสินค้า (Quality Mark) พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและแปรรูป เช่น สมุนไพร ให้ได้มาตรฐาน
 

        ขณะที่กำหนดการประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ครั้งนี้ ได้ปักหมุด ณ จังหวัดพะเยา ซึ่งปัจจุบันจังหวัดพะเยา มีพื้นที่ทั้งหมด 3.959 ล้านไร่ หากพิจารณามิติด้านการเกษตร พบว่า มีการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร 1.503 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 37.96 ของพื้นที่ทั้งหมด ครัวเรือนเกษตร 77,868 ครัวเรือน พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ลำไย ลิ้นจี่ กระเทียม หอมแดง และมันสำปะหลัง มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) กว่า 35,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จังหวัดพะเยายังมีสินค้าโดดเด่น ที่ได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มีจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวก่ำล้านนา ข้าวหอมมะลิพะเยา และ ลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย และมีสินค้า OTOP ของจังหวัด รวมทั้งสิ้นกว่า 2,098 ผลิตภัณฑ์ มียอดจำหน่ายสินค้ามากถึง 2,394 ล้านบาท/ปี โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินงานตามนโยบายการผลักดันสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง คัดเลือกประเภทสินค้าเกษตร จำนวน 6 ชนิด ได้แก่
 
1) โคเนื้อ ต.บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา 
2) ข้าวหอมมะลิ ต.จำป่าหวาย อ.เมือง จ.พะเยา 
3) มันฝรั่ง ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา 
4) ปลานิล ต.แม่ปืม ต.บ้านตั้ม อ.เมือง จ.พะเยา 
5) ลิ้นจี่ ต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา 
และ 6) ลำไย ต.ภูซาง อ.ภูซาง จ.พะเยา
 

   ทั้งนี้ จังหวัดพะเยา ถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองที่สำคัญ ลักษณะภูมิประเทศเต็มไปด้วยบรรยากาศและทัศนียภาพที่น่าค้นหา เป็นเมืองเก่าที่น่าย้อนรอยอดีตในบรรยากาศเมืองล้านนาร่วมสมัย โดยเฉพาะชื่อเสียงของกว๊านพะเยา ที่ถือเป็นหัวใจของจังหวัด จนมากลายมาเป็นต้นกำเนิด พิธีการเวียนเทียนหนึ่งเดียวของโลก ตลอดจนมีแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สวยงาม มีเสน่ห์ตามภูมิประเทศของเมืองเหนือ ทั้งภูเขา สายหมอก และผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งการลงพื้นที่ของ ครม.สัญจร ที่จังหวัดพะเยาครั้งนี้ ได้เตรียมหารือและขับเคลื่อนในส่วนของการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาด่านชายแดน จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา การก่อสร้างรถไฟรางคู่ แนวทางการผลิตสุราชุมชน โครงการชลประทานพะเยา โครงการก่อสร้างระบบน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมือง รวมทั้งการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

“พัชรวาท” สั่ง ปิดป่า – ยกระดับคุมจุดความร้อน 17 จังหวัดภาคเหนือ

 

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2567  พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุม ผ่านระบบ VDO Conference ติดตามการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมกับ 17 จังหวัดภาคเหนือ สั่งการยกระดับมาตรการที่เข้มงวด ปรับรูปแบบ การจัดกำลังดับไฟป่า “ปิดป่า” ห้ามบุคคลเข้าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่สถานการณ์รุนแรง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการด้วยความ “แม่นยำ รวดเร็ว ทันท่วงที มีประสิทธิภาพ” ประกอบด้วย 6 มาตรการสำคัญ ได้แก่

 

1) ปรับรูปแบบการจัดกำลังดับไฟป่า ด้วยยุทธวิธีผสมผสานทั้งการตรึงพื้นที่ด้วยจุดเฝ้าระวัง โดยให้วอร์รูมบัญชาการชุดปฏิบัติการดับไฟป่าตลอดเวลาที่มีการเข้าพื้นที่
 
2) ติดตามสถานการณ์จุดความร้อน เมื่อพบต้องเร่งเข้าปฏิบัติการควบคุมสถานการณ์โดยทันที แต่ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และงดการใช้อาสาสมัครที่ไม่ได้รับการฝึกปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสีย
 
3) สนับสนุนและบูรณาการทำงานอย่างเต็มที่เป็นหนึ่งเดียว กับศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลาง
 
4) “ปิดป่า” ห้ามมิให้บุคคลเข้าไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่สถานการณ์รุนแรง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด ยกระดับการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจุดไฟเผาป่า
 
5) พื้นที่เกษตร ต้องติดตามเฝ้าระวังประสานงานกับฝ่ายปกครองอย่างใกล้ชิด เพื่อลดและควบคุมไม่ให้เกิดการเผาและหากเกิดต้องควบคุมให้ได้โดยเร็ว
 
6) สื่อสาร แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างทั่วถึง ทันท่วงทีเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง สร้างความรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสม
กระทรวงเกษตรฯ สั่งลุยสยบ PM 2.5 เชียงใหม่ ใช้เทคนิคเด็ด “โปรยน้ำและน้ำแข็งแห้ง”
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอื่นในภาคเหนือ การปฏิบัติการในครั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ได้ใช้ “เทคนิคลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการโปรยน้ำและโปรยน้ำแข็งแห้งเพื่อเป็นการเจาะช่องบรรยากาศให้สามารถระบายฝุ่นละอองขึ้นต่อไปได้ ” สำหรับผลการปฏิบัติในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 4 – 10 มีนาคม 2567 พบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก บริเวณ จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ น่าน มีแนวโน้มลดลง
กรมควบคุมโรคแนะ 3 แนวทางคนไทย “รู้-ลด-เลี่ยง” ฝุ่น PM 2.5
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำ 3 แนวทางรับมือและป้องกันฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้คนไทยนำไปปรับใช้เพื่อรับมือกับ “ฝุ่น” ที่นับวันก็ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ได้แก่
 
• รู้ : ตรวจสอบสภาพอากาศทุกครั้งก่อนเดินทางออกจากบ้าน ผ่านการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในแอปพลิเคชัน Air4thai และเพจคนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM 2.5 หรือติดตามข่าวสารตามช่องทางต่าง ๆ ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข
• ลด : การสร้างมลพิษ ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 เช่น จุดธูป เผากระดาษ
ปิ้งย่างที่ทําให้เกิดควัน การเผาใบไม้ เผาขยะ เผาพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น รวมถึงการติดเครื่องยนต์ในบ้านเป็นเวลานาน
• เลี่ยง : หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองสูง การอยู่กลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมนอกอาคารเป็นเวลานานในช่วงที่ฝุ่นละออง PM 2.5 มีปริมาณมากกว่า 26 – 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป โดยปราศจากอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นละอองในอากาศ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

“ทปษ.บุญสิงห์” เปิดการประกวดโคเนื้อ “โคบาลล้านนา ครั้งที่ 3” จังหวัดเชียงราย

 
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 ที่หาดทรายเทียมหนองหลวง ต.เวียงชัย อ.เวียงชัย จ.เชียงราย นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดการประกวดโคเนื้อ “โคบาลล้านนา ครั้งที่ 3” ณ บริเวณหาดทรายเทียมหนองหลวง ตำบลเวียงชัย อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย โดยมีนายญาณวุฒิ สุดพิมศรี นายอำเภอเวียงชัย นายพืชผล น้อยนาฝาย ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การต้อนรับ
 
นายพืชผล น้อยนาฝาย ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การงานจัดการประกวดโคเนื้อในครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ขยายผลการสร้างมูลค่าเพิ่มโคเนื้อ การยกระดับและเพิ่มศักยภาพมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพอาหารปลอดภัย โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและสร้างเครือข่ายการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพอาหารปลอดภัยอย่างสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพ ในจังหวัดเชียงราย 
 
 
เพื่อพัฒนาศักยภาพการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ การคัดเลือกพันธุ์สัตว์ เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ การผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มโคเนื้อ เพิ่มช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรได้เชื่อมโยงเครือข่ายกัน และมีการจัดประกวด 2 ประเภท ได้แก่ โคลูกผสมยุโรปทั่วไป และโคลูกผสมบีฟมาสเตอร์ รวมทั้งหมด 12 รุ่น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียงในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน) และผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้านปศุสัตว์ ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งในปีนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่มีการจัดประกวดโคเนื้อเกิดขึ้น ตั้งแต่มีการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อมาระยะเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา 
 
 
ซึ่งผลผลิตโคเนื้อที่ได้พัฒนาปรับปรุงพันธ์โดยพ่อพันธุ์สายเลือดยุโรป เริ่มเจริญเติบโตและขยายเพิ่มขึ้น จังหวัดเชียงราย มีเป้าหมายในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ โดยการยกระดับสายเลือดพันธุ์โคเนื้อยุโรป เน้นโคเนื้อสายพันธุ์ บีฟมาสเตอร์ เป็นหลัก
 
 
การจัดงานประกวดโคเนื้อในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ห้างร้าน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเลี้ยงโคเนื้อ กลุ่มเกษตรกรวิสากิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อต่างๆ เครือข่ายโคเนื้อล้านนา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญการเลี้ยงโคเนื้อ ตลอดจนเกษตรกรเจ้าของโคเนื้อที่ส่งโคเนื้อเข้าร่วมประกวดทั้งจังหวัดเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง
 
 
ทางด้าน นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่านับว่าเป็นสิ่งน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง สำหรับทุกคนที่มีโอกาสได้เข้าร่วมงานการประกวดโคเนื้อในครั้งนี้ การประกวดถือได้ว่าเป็นการประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่ง ที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและขยายตลาดเนื้อโคคุณภาพ เป็นการแสดงถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์โคเนื้อที่ได้พัฒนามาระดับหนึ่ง ทราบว่าจังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพ มาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เริ่มมีผลผลิตโคเนื้อพันธุ์ดี ที่ได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์มาในระยะเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กว่าจะได้ผลผลิตโคเนื้อออกมาต้องใช้เวลานานเป็นแรมปี 
 
 
ทำให้สินค้าโคเนื้อมีโอกาสของเวลาที่สามารถวางแผนการผลิตและการตลาดได้ล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตามผลผลิตโคเนื้อคุณภาพก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอในการบริโภคภายในประเทศ ยังคงมีการนำเข้าโคมีชีวิตและเนื้อโคอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบัน ประเทศไทยต้องเจอภาวะการแข่งขันภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ซึ่งมีผลบังคบใช้ 
 
 
ในวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นมานั้น โดยมีการลดภาษี เป็น 0% หากเราไม่มีการเร่งรัดพัฒนาทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันเกษตรกร จะทำให้ไม่สามารถแข่งขันทางการค้าทั้งในและต่างประเทศได้ การพัฒนาขยายช่องทางการตลาดโดยเน้นการประชาสัมพันธ์ การจัดการผลผลิตให้ได้คุณภาพ ซึ่งก็มีหลายปัจจัย โดยเฉพาะในเรื่องของพันธุ์สัตว์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้ โคเนื้อที่มีลักษณะพันธุ์ดี มีอัตราการแลกเนื้อสูง และจากงานวิจัยทางวิชาการ เนื้อที่มีคุณภาพดี ก็ต้องเป็นเนื้อที่ได้จากโคลูกผสมยุโรป พันธุ์ต่างๆ ซึ่งทราบว่า จังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งผลิตโคเนื้อสายพันธุ์ บีฟมาสเตอร์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่ายปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมบ้านเรา 
 
 
ถือเป็นเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่จังหวัดเชียงราย ได้เล็งเห็นความสำคัญ และได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการ โดยต้องการส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ได้พัฒนาการเลี้ยงของตนเอง ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น สามารถที่จะพัฒนาเป็นอาชีพหลักได้ต่อไป และการประกวดโคเนื้อ โคบาลล้านนา ครั้งที่ 3 ในวันนี้จึงนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ให้ประโยชน์พี่น้องแก่เกษตรกร โดยในจังหวัดเชียงราย ทราบว่า มีการรวมตัวของพี่น้องเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในอำเภอต่างๆ เป็นเครือข่ายโคเนื้อล้านนา ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มเครือข่ายของเราเข้มแข็ง มีพลังต่อรองในเรื่องต่างๆ และทำให้เชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดโคเนื้อ กับเครือข่ายอื่นๆในห่วงโซ่าการผลิต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมั่นคง ในอาชีพต่อไป
 
 
นายบุญสิงห์ กล่าวด้วยว่า หลังจากผ่านการประกวดโคในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องเกษตรกรผู้เข้าร่วมงานจะได้ประโยชน์ หรือประสบการณ์ดีๆ ที่ได้เห็นโคเนื้อที่มีวิวัฒนาการปรับปรุงพันธุ์ จนได้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อครอบครัว และหวังว่ากลุ่มเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อล้านนาจะเติบโตและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และขอให้มีการจัดงาน “โคบาลล้านนาครั้งที่ 4” ให้เกิดขึ้นต่อไปในอนาคต.
 
 
 สำหรับการจัดการประกวดโคเนื้อ “โคบาลล้านนา ครั้งที่ 3” นี้ ดำเนินงานโดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและสร้างเครือข่ายการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพอาหารปลอดภัยอย่างสร้างสรรค์ กิจกรรมการยกระดับและเพิ่มศักยภาพมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพอาหารปลอดภัย ประจำปี 2567 โดยประชาสัมพันธ์ขยายผลการสร้างมูลค่าเพิ่มโคเนื้อ จัดให้มีการประกวดโคเนื้อขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพในจังหวัดเชียงราย และพัฒนาศักยภาพการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ การคัดเลือกพันธุ์สัตว์ และมีการจัดประกวด 2 ประเภท ได้แก่ โคลูกผสมยุโรปทั่วไป และโคลูกผสมบีฟมาสเตอร์ รวมทั้งหมด 12 รุ่น 
 
 
โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียงในกลุ่มภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน) และผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้านปศุสัตว์ ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งในปีนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่มีการจัดประกวดโคเนื้อเกิดขึ้น ตั้งแต่มีการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อมาระยะเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งผลผลิตโคเนื้อที่ได้พัฒนาปรับปรุงพันธ์โดยพ่อพันธุ์สายเลือดยุโรปเริ่มเจริญเติบโตและขยายเพิ่มขึ้นในจังหวัดเชียงราย มีเป้าหมายในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ โดยการยกระดับสายเลือดพันธุ์โคเนื้อยุโรป เน้นโคเนื้อสายพันธุ์ บีฟมาสเตอร์ เป็นหลัก
 
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

“ธรรมนัส” ผลักดัน Soft power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ม.ราชภัฏเชียงราย

 

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม “Innovation for Sustainable Local Development : นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 2 Soft power กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : วิถีถิ่นเชียงราย ศิลปะ ดนตรี กวี วิจัย” โดยได้รับเกียรติจาก ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการเพิ่มมูลค่าทางการเกษตร กับ Soft Power เพื่ออนาคตประเทศไทย” โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย พร้อมทั้งผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมกิจกรรม ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

 

โดยการจัดงานครั้งนี้ เพื่อแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ในด้านต่างๆ ของจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะในด้านการเกษตร ซึ่งนับว่าภาคการเกษตรเป็นรากฐานสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งภายในงานมีการจัดแสดงและนำเสนอผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยด้านการเกษตรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รวมถึงสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก อาทิ 
 
 
การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการตลาดข้าวจาปอนิกาหรือญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงราย นวัตกรรมการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวเหนียวเขี้ยวงูจังหวัดเชียงราย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไซรัปเพื่อสุขภาพจากเยื่อหุ้มเมล็ดโกโก้ เครื่องดื่มฟังก์ชันจากเปลือกเมล็ดโกโก้ เครื่องดื่มอัดแก๊สจากใบกัญชาและดอกฮ๊อพส์ การเพิ่มมูลค่าปลีกล้วยน้ำหว้าด้วยการแปรรูปเป็นเนื้อเทียมอรรถประโยชน์สูง ที่มีการดัดแปรเชิงหน้าที่โปรตีนด้วยเอนไซน์จากสัปปะรด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผงอาซาอิด้วยนวัตกรรมเอนแคปซูเลชัน รวมถึงการพัฒนาสแน็คจากเศษมะคาเดเมีย ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าของเสียจากกระบวนการผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
 
 
กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่เชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และจะช่วยผลักดันผลงานวิจัยจากอัตลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นสู่การเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดเชียงราย โดยมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างๆ ในหัวข้อ “วิถีถิ่นเชียงราย ศิลปะ ดนตรี กวี วิจัย” ได้แก่ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เช่น การพัฒนาพาสต้าดัชนีน้ำตาลต่ำจากปลายข้าวหอมมะลิ 105 การสร้างมูลค่าใหม่กาแฟปางขอน การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเชียงรายแบรนด์ (Chiang Rai Brand) 
 
 
รวมถึงการออกแบบของที่ระลึกเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ผลงานนวัตกรรมกับการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวจาปอนิกา ผลิตภัณฑ์ต้นแบบไซรัปเพื่อสุขภาพจากเยื่อหุ้มเมล็ดโกโก้ การเพิ่มมูลค่าปลีกล้วยน้ำหว้าด้วยการแปรรูปเป็นเนื้อเทียม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผงอาซาอิด้วยนวัตกรรมเอนแคปซูเลชัน รวมถึงการพัฒนาสแน็คจากเศษมะคาเดเมียในพื้นที่ดอยช้าง ผลงานนวัตกรรมการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในเรื่องผ้า และทุนทางวัฒนธรรมในย่านเมืองเก่าจังหวัดเชียงราย และผลงานการวิจัยที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย และสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ตั้งเป้าลดการเผาลง 50% รณรงค์ให้เกษตรกรเปลี่ยนพฤติกรรม

 
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมหารือมาตรการจัดการไฟในพื้นที่เกษตรกรรม ร่วมกับพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยภายหลังการหารือดังกล่าว ได้กำหนดแนวทางและเร่งรัดการขับเคลื่อนตามมาตรการ “แก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567” ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ 
 
 
ซึ่งตั้งเป้าหมายลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรมลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ อาทิ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น และพื้นที่อื่น ๆ ลดลงร้อยละ 10
“สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 
 
 
โดยจะต้องเตรียมการวางแผนล่วงหน้า ระบุพื้นที่เป้าหมายให้ชัดเจน สร้างกลไกการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยมีภาคเอกชนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเพื่อลดข้อจำกัดด้านงบประมาณ กำหนดกลไก การทำงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีความชัดเจน และสอดคล้องกับกลไกของคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งได้จัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 
 
 
เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และปัญหาฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศ โดยเน้นการดำเนินงานเชิงรุกและเชิงรับ ภายใต้หลักการ 3R คือ 1) Re-Habit : ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผาในทุกขั้นตอนการผลิต 2) Replace with high value crops : ปรับเปลี่ยนพืชบนพื้นที่สูง ให้เป็นการปลูกพืชที่ปลอดการเผาและลดการบุกรุกป่า จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่มีมูลค่าสูง อาทิ กาแฟ มะคาเดเมีย อะโวคาโด มะม่วง เป็นต้น เพื่อสร้างรายได้จากพืชที่มีมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน และ 3) Replace with Alternate crops : ปรับเปลี่ยนพืชบนพื้นราบ จากพื้นที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าวปรับไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้หมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ลดใช้น้ำ ปลูกพืชแบบปลอดการเผา บริหารจัดการผลผลิตตลอดจนการจำหน่าย” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว
 
 
ทั้งนี้ จะขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ( PM2.5) ภาคการเกษตร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายมาตรการ และแนวทางการขับเคลื่อนป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคการเกษตร รวมถึงพิจารณาระบบการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคการเกษตรทั้งระบบได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

จัดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนทั่วถึงและสอดคล้องกับความต้องการเกษตรกร

 

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 66 ที่ภายในวัดสันกองพัฒนาราม ตำบลโรงช้าง อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งที่ 1 เพื่อให้เกษตรกรที่มีปัญหาด้านการเกษตรในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการบริการทางวิชาการ และได้รับการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างครบวงจรในคราวเดียวกัน 


โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริม ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในการให้บริการและร่วมแก้ไขปัญหาทางการเกษตรแก่เกษตรกรร่วมกัน โดยมี นายอำเภอป่าแดด หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปกครองจังหวัดเชียงราย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันให้บริการแบบครบวงจรในครั้งนี้ด้วย

 

ว่าที่ ร.ต.ดุจเดี่ยว วงศ์ภักดิ์ เกษตรจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ เป็นการให้บริการเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาการผลิตด้านการเกษตรได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและสอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร จึงได้มีการบูรณาการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถทำการผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน 


โดยเป็นการปฏิบัติงานในเชิงรุกที่ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหาให้ได้รับการบริการทางการเกษตร เช่น การวิเคราะห์ดิน การวิจัยโรคพืช โรคสัตว์ ทางประมง รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมความรู้การเกษตร เสริมเพิ่มเติมควบคู่กันไป ร่วมกันจัดกิจกรรม จำนวน 31 หน่วยงาน โดยมีเป้าหมายเป็นเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกล จำนวนกว่า 120 คน และให้บริการแบบครบวงจรในคราวเดียวกัน มีประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

 

โอกาสนี้ นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ยังได้เป็นประธานพิธีเปิด Kick Off เกษตรกรเชียงรายร่วมใจไม่เผา “Chiang Rai Zero Burn” โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อปท. บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) และผู้แทนจากหน่วยงานองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของเกษตรกรเชียงรายร่วมใจไม่เผา เนื่องด้วยในห้วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนเมษายนของทุกปีมักมีการเผากำจัดวัชพืช และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทำให้เกิดปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 


ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการป้องกันและปก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่อาจจะเกิดขึ้นและเป็นการผลักดันนโยบายงดการเผาในพื้นที่การเกษตรของภาครัฐผ่านโครงการเกษตรปลอดการเผา (Chiang Rai Zero Burn) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของจังหวัดเชียงราย อีกด้วย

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News