Categories
ENTERTAINMENT

วธ. ชวนเที่ยวตามรอยเช็คอินซีรีส์ King The Land

 

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย สวยงามและทรงคุณค่าเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมมือกับทุกหน่วยงาน องค์กรเครือข่ายต่างๆ ขับเคลื่อนและส่งเสริมงาน Soft Power ความเป็นไทยสู่ระดับชาติมาตลอดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F ได้แก่ F-Food อาหาร, F-Film ภาพยนตร์และวีดิทัศน์, F-Fashion การออกแบบแฟชั่นไทย, F-Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย และ F-Festival เทศกาลประเพณีไทย สู่ระดับโลกเพื่อช่วยสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ ตลอดจนนโยบายขับเคลื่อนงานการใช้สื่อบันเทิงนำเสนอวัฒนธรรมของประเทศ ส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย อีกทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศในประเทศไทย ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แก่นักแสดงชาวต่างชาติที่ถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 5 ปี และมาตรการคืนเงินในการลงทุนที่มีเนื้อหาส่งเสริมภาพลักษณ์ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ผลปรากฏว่ามีผู้ประกอบการต่างประเทศสนใจและพร้อมเดินทางมาถ่ายทำในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

นายอิทธิพล กล่าวว่า ซึ่งขณะนี้ เป็นที่น่ายินดีและน่าภูมิใจสำหรับคนไทย ที่ซีรีย์เกาหลีชื่อดังอย่าง King The Land ที่นำแสดงโดย อี จุนโฮ และอิม ยุนอา ในตอนที่ 10 เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ได้เผยแพร่ความสวยงามของประเทศไทย ได้เผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยววัฒนธรรมของไทยจนได้กระแสตอบรับอย่างล้นหลาม ครบจบใน 1 ตอน เป็นเวลา 1 ชั่วโมงเต็มๆ โดยตลอดทั้งตอนนี้ตัวละครหลักและเพื่อนๆได้พาไปชมสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นไฮไลต์ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โชว์ภาพวิวสวยๆ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ รวมถึงกิจกรรมสนุกๆ สำหรับนักท่องเที่ยว การนั่งรถตุ๊กๆซึ่งเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นอย่างหนึ่งของประเทศไทยในการทัวร์รอบเมืองกรุงเทพ เผยแพร่ภาพสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน วัด แหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตของไทย สถานที่พัก ร้านอาหาร ตลอดจนสถานท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของเหล่านักท่องเที่ยว อาทิ วัดอรุณราชวราราม, โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร, วัดปากน้ำภาษีเจริญ, ลานแสดงน้ำพุ ไอคอนสยาม, สยามสแควร์, ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง, แม่น้ำเจ้าพระยายามค่ำคืน, ถนนข้าวสาร, เสาชิงช้า และวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรวิหาร, เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ, ตลาดร่มหุบ, ร้านอาหารคุณแดงก๋วยจั๊บญวณ, โรงแรมสิริ ศาลา ไพรเวท วิลล่า, โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ, เอเชียทีค เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำเสนออาหารไทย ทั้งแบบสตรีทฟู้ด ไปจนถึงอาหารสุดหรู ได้อย่างสวยงามและน่ารับประทาน

นายอิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมขอชื่นชมซีรีย์เกาหลี เรื่อง King The Land ที่สามารถนำเอาวัฒนธรรม วิถีชีวิตของไทย เก็บรายละเอียดความเป็นไทยถ่ายทอดออกมาผ่านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีย์ได้อย่างดี รวมถึงยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาให้มาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น จึงขอเชิญชวนเหล่าแฟนคลับที่ชมซีรีย์เรื่องนี้ ตลอดจนแฟนคลับของนักแสดงในเรื่องดังกล่าว มาท่องเที่ยวตามรอย ณ โบราณสถาน วัด แหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตของไทย ทำให้เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพิ่มรายได้ให้ประเทศ เกิดภาพลักษณ์ที่ดี พร้อมดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาท่องเที่ยวด้วยทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของประเทศไทย

ทั้งนี้ นอกจากประเทศสาธารณเกาหลี (เกาหลีใต้) แล้ว ยังมีอีกหลายๆประเทศที่จะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์หรือซีรีย์ต่างๆในประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival 2023) ณ เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 16-27 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมคูหาประเทศไทยจำนวนมากกว่า 600 ราย รวมถึงมีผู้ผลิตภาพยนตร์ที่สนใจและมีแผนจะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักรไทย จำนวน 21 ราย จาก 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส กรีซ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ อินเดียและออสเตรเลีย โดยมีแผนใช้เงินลงทุนรวมกว่า 3,800 ล้านบาท

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ซีรีย์ เรื่อง King the Land Ep.10 จาก Netflix 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
CULTURE

​เยาวชนเชื้อสายไทยคืนถิ่น เข้าพบนายกฯ-ครม. โชว์วัฒนธรรมไทย

 

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ร่วมชมกิจกรรมเผยแพร่ส่งเสริมภาพลักษณ์ ความเป็นไทย ในโครงการเยาวชนเชื้อสายไทยคืนถิ่น ประจำปี 2566 โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่  วิทยากร และเยาวชนเชื้อสายไทยคืนถิ่น ให้การต้อนรับ ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชมการแสดงความสามารถของเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการเยาวชนเชื้อสายไทยคืนถิ่น ด้วยการสาธิตศิลปวัฒนธรรม Nora Thai Fit (โนรา ไทยฟิต) โดยเป็นการผสมผสานนาฏศิลป์ไทยโนราเข้ากับการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ระหว่างศิลปะและวัฒนธรรมเข้ากับการปฏิบัติ เพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมไทยเข้าใกล้กับวิถีคนในยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น อีกทั้งท่าไทยฟิตที่ออกแบบจาก “โนรา” เป็นศิลปะการแสดงทางภาคใต้ของประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก และได้พบปะพูดคุยกับเยาวชน รับฟังความประทับใจต่อโครงการฯ และความภาคภูมิใจที่เป็นเยาวชนเชื้อสายไทย จากตัวแทนเยาวชน พร้อมทั้งมอบหมายให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นำเยาวชนเชื้อสายไทยคืนถิ่นเข้าชมตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล 

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า วธ.มีนโยบายพัฒนาความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมกับต่างประเทศ ส่งเสริมบทบาททางวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลก ตามแนวทางการทูตวัฒนธรรม (Cultural Diplomacy) โดยการแลกเปลี่ยน เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านศิลปวัฒนธรรม และเชื่อมโยงเครือข่ายทางวัฒนธรรมทั่วโลก ช่วยสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ ก่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วธ. จึงได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกับเครือข่ายวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ ในการจัดกิจกรรมเยาวชนเชื้อสายไทยคืนถิ่นร่วมกับเครือข่ายวัฒนธรรมไทย ซึ่งได้จัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เยาวชนไทยในต่างประเทศได้มีโอกาสกลับมาเยือนแผ่นดินของบรรพบุรุษ ตระหนักถึงความเป็นไทย เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของไทยจากประสบการณ์ตรง สามารถเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้กับเครือข่าย และขยายความร่วมมือด้านเครือข่ายในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ เกิดภาพลักษณ์ ความเป็นไทย ที่ดีในหมู่ชาวต่างประเทศ ผ่านเยาวชนไทยที่เกิดหรือเติบโตและมีถิ่นพำนักในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนทูตวัฒนธรรมของประเทศไทย นำไปสู่การสื่อสารความรู้ความเข้าใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทย ในระดับนานาชาติ

รมว.วธ. กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการเยาวชนเชื้อสายไทยคืนถิ่น ประจำปี 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 20 กรกฎาคม 2566 มีเยาวชนเชื้อสายไทยที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศ จำนวน 40 คน จาก 11 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ 
จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เมียนมาร์ เยอรมนี สวีเดน สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เข้าร่วมกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ  ประกอบด้วย กิจกรรมรับฟังคำบรรยาย ในหัวข้อ “เรียนรู้อย่างไทยในต่างแดน” 
กิจกรรมบรรยายพร้อมสาธิตและฝึกปฏิบัติการด้าน “ศิลปวัฒนธรรมไทย ภาพรวม-ดั้งเดิม-ร่วมสมัย-ไทยฟิต” 
การบรรยายและฝึกปฏิบัติการหัวข้อ “My Channel” รวมถึง วธ. ได้คัดสรรแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ให้เยาวชนเชื้อสายไทยได้ลงพื้นที่สาธิตและฝึกปฏิบัติด้านศิลปวัฒนธรรมไทย รวมถึงเรียนรู้วิถีชีวิตภูมิปัญญาของชุมชน อาทิ วิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี, ศูนย์การเรียนรู้เรื่องโอ่ง, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรีและวัดมหาธาตุวรวิหาร ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำบ้านหัวเขาจีน รวมถึงมีกิจกรรมนันทนาการ และการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในลักษณะกิจกรรมกลุ่ม  

นายอิทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมเยาวชนเชื้อสายไทยคืนถิ่น นอกจากจะเป็นการฟื้นฟูจิตสำนึก
ความเป็นไทยและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไทยในต่างแดนแล้ว ยังส่งผลให้ชุมชนไทยในต่างแดนเหล่านี้ 
เป็นภาคส่วนหนึ่งของสังคมไทย ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีสันติสุข และเป็นตัวแทนที่ดี
ของชาวไทยในต่างแดน ที่สามารถสื่อสารความรู้ด้านวัฒนธรรมไทยไปสู่ประชากรในดินแดนที่ตนตั้งถิ่นฐาน 
อีกทั้งยังเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงานในภารกิจของกระทรวงวัฒนธรรม ให้บรรลุผลสำเร็จ
ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไทยและเครือข่ายวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศอีกด้วย

 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

วธ.เตรียมเผยหนังสือหายาก“ปกีรณำพจนาดถ์และอนันตวิภาค””

 

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริม สืบสาน และธำรงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยด้วยภาษาไทย เพื่อหารือเตรียมจัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2566 ว่า เนื่องในวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ดำเนินการจัดงานเนื่องใน วันภาษาไทยแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อน้อมนำพระบรมราโชบายและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงงาน เพื่อสืบสาน รักษาและต่อยอดแนวพระราชดำริ ด้านภาษาไทยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมถึงเพื่อกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชาชนชาวไทย ตลอดจนสถาบันการศึกษา องค์กร หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตระหนักในความสำคัญของภาษาไทยและใช้ให้ถูกต้อง ร่วมทั้งอนุรักษ์ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติให้งดงามอย่างยั่งยืน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า สำหรับงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนบูรณาการองค์ความรู้ และแนวคิดร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้คนไทย ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง เกิดความรักและหวงแหนความเป็นไทย ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยจะมีพิธีมอบโล่เกียรติยศและโล่รางวัลแก่หน่วยงานและผู้ได้รับรางวัลด้านภาษาไทย อาทิ รางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นชาวไทย ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย พุทธศักราช 2566 ด้านการประกวดหรือแข่งขันทักษะทางภาษาไทย อาทิ รางวัลสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 หัวข้อ “มนต์รักษ์ภาษาไทย” รูปแบบคลิปวิดีโอเพลงแรป รางวัลเพชรในเพลง  รวมถึงรางวัลอ่านทำนองเสนาะ “สดับถ้อยร้อยกรองไทย ครั้งที่ 2” ที่จัดประกวดด้วยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ตลอดจนการเผยแพร่วีดิทัศน์ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยของสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย โดยจะมีการมอบเกียรติบัตรให้แก่สถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยที่ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยด้วย

นายอิทธิพล กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมศิลปากร ได้จัดพิมพ์หนังสือเก่าหายาก เรื่อง “ปกีรณำพจนาดถ์และอนันตวิภาค” (ปะ- กี- ระ -นำ- พด -จะ -นาด และ อะ- นัน.-ตะ -วิ พาก) จัดพิมพ์สูจิบัตร และกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดพิมพ์หนังสือประวัติผลงานปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นชาวไทย ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย พุทธศักราช 2566 และได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดละครเพลงเรื่อง “หัวใจอภัยมณี” Heart of Stone The Musical รำลึกกวีเอก สุนทรภู่ สืบสานการใช้ภาษาไทย ในวันที่ 19 – 20 กรกฎาคม 2566 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นับได้ว่าผู้ที่ได้รับรางวัล ผู้ที่ร่วมงานทุกคน ตลอดจนหน่วยงานที่ในความร่วมมือร่วมจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2566 มีส่วนสำคัญที่ได้ร่วมกันถ่ายทอดวัฒนธรรมภาษาไทยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และเป็นแบบอย่างที่ดีของการสร้างความตระหนักในคุณค่าของภาษาไทย

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

วธ. ปลื้มกระแสตอบรับบ้านศรีดอนชัย “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จ.เชียงราย

 

วธ. ปลื้มกระแสตอบรับ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 64-65 ดีเกินคาด สร้างรายได้ท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 134.27 รายได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.19 เกิดนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 100.64 ด้านบ้านเชียง จ.อุดรธานี , บ้านศรีดอนชัย จ.เชียงราย , บ้านถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู ได้รับความนิยมสูงสุด ผู้คนติดใจเสน่ห์บรรยากาศของชุมชน อาหาร และสินค้าชุมชน 

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทางคณะทำงานโครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ได้ทำแบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อโครงการสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด เครือข่ายทางวัฒนธรรม นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่ชุมชนได้รับการคัดเลือกเป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบ ฯ จำนวน 19 จังหวัด และในพื้นที่จังหวัดที่ชุมชนไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบ ฯ จำนวน 57 จังหวัด รวมจำนวน 3,089 คน ซึ่งเป็นการสอบถามเกี่ยวกับการรับรู้ ประสบการณ์ ความประทับใจ การมีส่วนร่วม ตลอดจนมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชุมชน

ปลัด วธ. กล่าวว่า ผลปรากฏว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ เคยได้ยินหรือรับรู้รับทราบเกี่ยวกับโครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ดังกล่าวมาบ้างแล้ว โดยผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จะมีการรับรู้รับทราบมากกว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่นอกพื้นที่ ในส่วนของชุมชนที่ได้รับความนิยมและมีผู้เคยไปท่องเที่ยวมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี 2.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านศรีดอนชัย จ.เชียงราย และ3.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู ด้านชุมชนที่ส่วนใหญ่คิดว่าจะไปเพิ่มเติมมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านศรีดอนชัย จังหวัดเชียงราย 2.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน 3.ชุมชนคุณธรรมฯ แหลมสัก จ.กระบี่ นอกจากนี้ ด้านเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบจากการที่ได้ไปท่องเที่ยว ณ สุดยอดชุมชนต้นแบบฯ ได้แก่ “บรรยากาศของชุมชน” รองลงมา คือ “อาหาร” และ “สินค้าชุมชน” ตามลำดับ

นางยุพา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดโครงการคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ในปี 2564 และ 2565 รวม 20 ชุมชน นั้น ทำให้ระดับการพัฒนาของสุดยอดชุมชนต้นแบบฯ ทั้ง 20 ชุมชน มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชน จากเดิมการก่อนได้รับคัดเลือก 133,033,148 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 311,659,739 บาท คิดเป็นร้อยละ 134.27 รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) เดิม 8,929,479 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 14,214,750 บาท คิดเป็นร้อยละ 59.19 จำนวนนักท่องเที่ยว เดิม 678,008 คน เพิ่มขึ้นเป็น 1,360,376 คน คิดเป็นร้อยละ 100.64 โดยเป็นการเปรียบเทียบจากข้อมูลรายได้ภายหลัง 1 ปี ของชุมชนที่ได้รับรางวัลสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 2564 และครึ่งปีของชุมชนที่ได้รับรางวัลสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 2565 นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีบรรยากาศของชุมชนมากขึ้น การเดินทางสะดวก ชุมชนแสดงออกถึงอัตลักษณ์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

“ขณะนี้ วธ. กำลังคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้ วธ. จะมุ่งส่งเสริมพัฒนาสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
ที่มีบรรยากาศของชุมชน มีภูมิทัศน์น่าสนใจและรื่นรมย์ รวมถึงส่งเสริมให้ชุมชนนำอัตลักษณ์และทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน มาพัฒนาเป็นจุดขายแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น เน้นให้ความสำคัญในเรื่องการเดินทางสะดวกเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน พร้อมด้วยการจัดพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรี เป็นการการันตีชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และทำให้มีผู้มาเยือนเพิ่มมากขึ้น” ปลัด วธ.กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

ผลิตภัณฑ์ CPOT มาแรง วธ.เผย 30 ชุมชน เตรียมบุกขายตลาดลาซาด้า

 

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ส่งเสริม Soft Power ความเป็นไทยหลากหลายสาขาให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และ วธ. มีนโยบายสู่ “กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ” ภายใต้แนวคิด วัฒนธรรมทำดี ทำงาน ทำเงิน ส่งเสริมสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประชาชน จึงได้มีการปรับโครงการพัฒนาต่อยอดสินค้าจากทุนทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ Cultural Product of Thailand หรือ CPOT โดยส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว ในช่วงแรกเราเน้นการพัฒนาต้นน้ำและกลางน้ำ โดยให้ความรู้ในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอด อบรมการออกแบบ วัสดุ ให้มีความน่าสนใจ ร่วมสมัย ตอบโจทย์การใช้งาน และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือสามารถจับต้องได้ มีการนำผลิตภัณฑ์ไปออกงานแสดงสินค้าเป็นบ้างครั้ง จนกระทั่งในช่วงปี 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา เราต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด ชุมชน ผู้ประกอบการ  ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ กระทรวงวัฒนธรรมจึงต้องปรับการดำเนินการโดยเน้นสนับสนุนปลายน้ำหรือ ภาคการตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายโดยเฉพาะในรูปแบบ e Commerce ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้ชุมชน ผู้ประกอบการ สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ “ทุกที่ ทุกเวลา อยู่รอดได้ แม้ภัยมา”



ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรมจะขับเคลื่อนเพียงหน่วยเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรที่เป็นมืออาชีพ เข้าร่วมสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจวัฒนธรรมยกระดับผลิตภัณฑ์ CPOT ของไทยไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้ วธ. ได้แพลตฟอร์มในตลาดค้าปลีกออนไลน์อย่างลาซาด้า (Lazada) มาร่วมเป็นพันธมิตร ซึ่งขณะนี้ เบื้องต้น วธ. ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีผลต่อการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ปรากฏว่า 3 อันดับแรกที่ผู้บริโภคสนใจ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารแปรรูป  ผลิตภัณฑ์ประเภทของใช้/ของตกแต่งบ้าน และผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องหอม/เวชสำอาง ทั้งนี้ วธ. ได้ดำเนินการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพและมีคุณภาพได้รับมาตรฐานรับรองต่างๆแล้ว 30 ชุมชน พร้อมเตรียมทำรายการสินค้านำเสนอผลิตภัณฑ์ขึ้นจำหน่าย และกำหนดจัดอบรมทำความเข้าใจกับการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้แก่ชุมชน ผู้ประกอบการ กว่า 200 คน จากทั่วประเทศ ในเดือนกรกฎาคมนี้  เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชน ผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าผู้บริโภคจะสามารถช้อปสินค้า CPOT บนช่องทางการจำหน่ายของลาซาด้า เร็วๆนี้

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

โครงการกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ การใช้เครื่องมือ 7 ชิ้น วันที่ 11

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 (โครงการกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้เครื่องมือ 7 ชิ้น วันที่ 11)

จังหวัดเชียงราย โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่จัดทำฐานข้อมูลชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ระดับตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 (โดยใช้เครื่องมือ 7 ชิ้น) โดยลงพื้นที่ บ้านลังกา หมู่ที่ 4 โดยมีนางกัลยา วรรณธิกูล ผู้ใหญ่บ้านลังกา หมู่ 4 และนายวรโชติ รักชาติ บ้านเลขที่ 244 หมู่ 4 บ้านลังกา ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ร่วมให้ข้อมูลการปั้นผลิตภัณฑ์ดินเผาและลงพื้นที่จัดทำฐานข้อมูลชุมชนฯ
 
เพื่อจัดทำแผนข้อมูลพื้นฐานขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ และเผยแพร่ข้อมูล ตลอดจนเป็นฐานข้อมูลชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ระดับตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ภายใต้โครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ต่อไป
 
ในการนี้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย โดยนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้นายยุทธนา สุทธสม นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ และนายอภิชาต กันธิยะเขียว นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ ลงพื้นที่ จัดทำข้อมูลดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

เชียงราย เลือกวัดพระธาตุผาเงา สู่ 10 สุดยอด ชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ระดับประเทศ

 

เมื่อ 22 มิถุนายน 2566 ที่ห้องประชุมพวงแสด ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการคัดเลือกสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ระดับจังหวัด ประจำปี 2566 โดยมีนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นางสาวนันทวรรณ กันคำ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินโครงการคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ เพื่อคัดเลือกชุมชนคุณธรรมที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนพลังบวร จากทั่วประเทศที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ เพื่อประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ สร้างขวัญกำลังใจแก่ชุมชน รวมถึงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้าง เกิดการต่อยอด ขยายผลสำเร็จไปยังชุมชนอื่นๆ ปลุกกระแสการท่องเที่ยววิถีชุมชน สร้างโอกาส สร้างรายได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข็มแข็งอย่างยั่งยืน
 
 
นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายมีต้นทุนสูงทั้งด้านโบราณสถานโบราณวัตถุ สถานที่สำคัญๆ มีวิถีชีวิตชุมชนที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะมีชุมชนคุณธรรมที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การขับเคลื่อนโดยพลังบวร หลายชุมชนกระจายอยู่ในหลายอำเภอ และเห็นด้วยที่ปีนี้จะเสนอให้วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) เป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ระดับจังหวัด ประจำปี 2566 เพราะชุมชนมีความโดดเด่นการใช้ชีวิตแบบวิถีชาวบ้าน รวมถึงสถานที่โบราณสถานต่างๆ มีประเพณีที่ศักดิ์สิทธิที่ชาวบ้านทำกันมาอย่างยาวนาน จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวจากหลายพื้นที่ ที่เชื่อในเรื่องสายศรัทธา (สายมู) หลั่งไหลเข้ามากราบไหว้บูชา อีกทั้งรัฐบาลยังเน้นการท่องเที่ยวแบบวิถีชาวบ้าน ซึ่งวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) ถือว่าตอบโจทย์ที่รัฐบาลคาดหวังไว้ และเชื่อว่าจังหวัดเชียงรายจะสามารถคว้า 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
 
 
ด้านนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ได้แจ้งไปยังทุกอำเภอ เพื่อขอความร่วมมือคัดเลือกชุมชนคุณธรรมฯ ที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ อำเภอละ 1 แห่ง เพื่อพิจารณาคัดเลือกในระดับจังหวัด ให้เหลือเพียง จำนวน 1 แห่ง เพื่อส่งเข้ารับการคัดเลือกในระดับประเทศ และชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกในระดับจังหวัด และกล่าวต่อไปว่า วัดพระธาตุผาเงา เป็นวัดที่อยู่ร่วมกับชุมชนบ้านสบคำ และอำเภอเชียงแสนมาอย่างยาวนาน มีประวัติศาสตร์ สิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรม ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีสกายวอล์ค ผาเงา สามแผ่นที่สามารถมองเห็นมุมวิวสวย ของทั้งสามประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว และเมียนมา อีกด้วย
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

กระทรวงวัฒนธรรม ยกระดับผลิตภัณฑ์ บ้านศรีดอนชัย และบ้านเมืองรวง เชียงราย

เมื่อวันที่ 5-8 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรม เอส รัชดา เลเชอร์ กรุงเทพมหานคร

กระทรวงวัฒนธรรม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 5- 8 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรม เอส รัชดา เลเชอร กรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ในด้านการออกแบบ ประโยชน์ใช้สอย รวมถึงการขยายช่องทางการตลาดให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยว เตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
 
วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีนางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสุภัทร กิจเวช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วิทยากร ผู้ประกอบการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วม จำนวน 70 คน
 
การอบรมฯ ในวันนี้มุ่งเน้นการเรียนรู้การนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าทางวัฒนธรรม การพัฒนาต่อยอดสินค้าทางวัฒนธรรม การยื่นคำขอจดลิขสิทธิ์ การขยายช่องทางการจำหน่ายและสร้างเครือข่ายทางการค้า
 
วันที่ 7 มิถุนายน 2566 กิจกรรม Workshop เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย นำเสนอแบบแนวคิดในการพัฒนาสินค้า
 
วันที่ 8 มิถุนายน 2566 ศึกษาดูงาน ณ ชุมชนคุณธรรมฯ วัดเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี และชุมชนคุณธรรมฯ บ้านจอมปลวก จังหวัดสมุทรสงคราม
 
ในการนี้ จังหวัดเชียงราย มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประชุม จำนวน 2 แห่ง คือ
1. ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย สุดยอดเที่ยวชุมชน ยลวิถี ปี 2564 ผู้ประกอบการ จำนวน 2 ราย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ผ้าทอไทลื้อศรีดอนชัย และผลิตภัณฑ์ กระเป๋าและตุ๊กตาไทลื้อศรีดอนชัย
 
2. ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย สุดยอดเที่ยวชุมชน ยลวิถี ปี 2565 ผู้ประกอบการ จำนวน 2 ราย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ กาแฟอาข่ามิโน และผลิตภัณฑ์ ผ้าปักเมืองรวง
 
ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้นางกัลยา แก้วประสงค์ และนายจิรัฏฐ์ ยุทธ์ธนประวิช นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ กลุ่มกิจการพิเศษ เข้าร่วมอบรมและอำนวยความสะดวกเครือข่ายวัฒนธรรมตลอดการจัดกิจกรรมนี้

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

กฤษยา จันแดง,กัลยา แก้วประสงค์ : รายงาน
จิรัฏฐ์ ยุทธ์ธนประวิช : ภาพ
อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการข่าว
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

“งานลอยกระทงสุโขทัย” และ “งานพลุเมืองพัทยา” คว้ารางวัลระดับเอเชียจากสมาคม IFEA-ASIA

วธ. ร่วมแสดงความยินดี “งานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ จากจังหวัดสุโขทัย” และ “งานพลุนานาชาติของเมืองพัทยา” คว้ารางวัล Gold Prize งานเทศกาลที่มีศักยภาพ (ธีมงานกลางคืน) ประจำปี 2023 ระดับเอเชียจากสมาคม IFEA-ASIA ณ สาธารณรัฐเกาหลี เตรียมยกระดับอีก 16 เทศกาลประเพณีให้เป็นที่รู้จักระดับโลก

 

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาล โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินนโยบายผลักดัน Soft Power ความเป็นไทยสู่ระดับโลก ซึ่งล่าสุดเป็นที่น่ายินดีที่ งานเทศกาลประเพณีของประเทศไทย ได้แก่ “งานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ จากจังหวัดสุโขทัย” และ “งานพลุนานาชาติของเมืองพัทยา” ได้สร้างชื่อเสียงและคว้ารางวัล Gold Prize งานเทศกาลที่มีศักยภาพ (ธีมงานกลางคืน) ประจำปี 2023 จากสมาคมการจัดงานอีเวนท์และเทศกาลนานาชาติ หรือ International Festival & Events Association (IFEA) ภูมิภาคเอเชีย (ASIA Chapter) ณ เมืองทงยอง (City of Tongyeong) จังหวัด คยองซังใต้ (Gyeongsangnam-do) สาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea) ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จมีสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สสปน. หรือทีเส็บ ได้ดำเนินงานร่วมกับจังหวัดสุโขทัย สนับสนุนและดำเนินการส่งเข้าประกวดในครั้งนี้ ทั้งนี้ นับเป็นการตอกย้ำว่าเทศกาลลอยกระทงของสุโขทัย มีเสน่ห์และศักยภาพของเทศกาลลอยกระทงที่เป็นสีสันยามค่ำคืน และเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายปลายทางที่ดึงดูดผู้คนให้มาเยือนเพื่อสัมผัสประสบการณ์ของเทศกาลแห่งความสุขและความสนุกสนานดังกล่าวมาตลอด และยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการดึงนักเดินทางต่างชาติให้มาท่องเที่ยวมากขึ้น เกิดตลาดการลงทุนและท่องเที่ยวใหม่ๆ อาทิ ประเทศเกาหลีและภูมิภาคเอเชีย 

 

ทั้งนี้ จังหวัดสุโขทัย ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อปี 2562 ตลอดจนจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และเพชรบุรี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านอาหาร หัตถกรรมพื้นบ้าน และการออกแบบจากเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) เป็นการสะท้อนเอกลักษณ์ที่มีศักยภาพของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย และถือเป็นอีกความสำเร็จจากความร่วมมือตั้งแต่ระดับชุมชน ไปจนถึงภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนาภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับจังหวัดหรือเมืองอื่น ๆ อีกด้วย

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งจังหวัด ภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ เช่น การถ่ายทอดองค์ความรู้ การจัดนิทรรศการ การแสดงและการสาธิตทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ตลอดจนส่งเสริมด้านการประชาสัมพันธ์ ทำให้เกิดช่องทางการรับรู้ให้มากขึ้น โดยเป็นการประกาศยกระดับเทศกาลประเพณีของไทยไปแล้ว 16 จังหวัด ประกอบด้วย 

1. ประเพณีกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี 

2. เทศกาลมรดกโลกบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี 

3. ประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง จังหวัดน่าน 

4. ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก “มาฆบูชาอารยธรรมอีสาน” จังหวัดยโสธร 

5. ประเพณีแห่ผ้าพระบฏพระราชทานถวายพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช 

6. เทศกาลโคราชเมืองศิลปะ KORAT Street Art จังหวัดนครราชสีมา 

7. เทศกาลตามรอยอารยธรรมขอมโบราณปราสาทศิลา “สด๊กก๊อกธม” จังหวัดสระแก้ว 

8. เทศกาลเมืองคราม สกลนคร (KRAM & CRAFT SAKON FESTIVAL) นครหัตถศิลป์โลก เจ้าแห่งครามธรรมชาติ จังหวัดสกลนคร 

9. เทศกาลอาหารอร่อยเมืองภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์แห่งวิทยาการอาหาร จังหวัดภูเก็ต 

10. ประเพณีบุญกลางบ้าน สืบสานตำนานเมืองพนัส จังหวัดชลบุรี 

11. เทศกาล “นาฏยแห่งศรัทธา กิ่งกะหร่า น้อมบูชา วิสาขปุรณมี” จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

12. ประเพณีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เลาะตลาดคนเมืองไทนคร จังหวัดนครพนม 

13. เทศกาลไทลื้อ “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” จังหวัดพะเยา 

14. ประเพณีตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษา จังหวัดสระบุรี 

15. เทศกาลอาหารผสานศิลป์ เมืองเพชร เมืองสร้างสรรค์ จังหวัดเพชรบุรี และ

16. เทศกาลโคมแสนดวง ที่เมืองลำพูนจังหวัดลำพูน 

 

ซึ่งหลังจากนี้ วธ. พร้อมสนับสนุนและยกระดับเทศกาลประเพณีของไทยอื่นๆ สู่ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายการปรับบทบาทจากกระทรวงสังคม สู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม ผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F ประกอบด้วย F-Food อาหาร, F-Film ภาพยนตร์และวีดิทัศน์, F-Fashion การออกแบบแฟชั่นไทย, F-Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย และ F-Festival เทศกาลประเพณีไทย สู่ระดับโลก 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ENTERTAINMENT

​ช่อง 3 เดินหน้าซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านละคร “หมอหลวง”

​ช่อง 3 เดินหน้าซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านละคร “หมอหลวง”

Facebook
Twitter
Email
Print

กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3  จัดงานเสวนา “ส่งเสริมอำนาจละมุน Soft Power ผ่านละครไทย หมอหลวง โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานในงานเสวนา และมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ผู้บริหาร ผู้กำกับ ผู้จัดละคร ตัวแทนนักแสดง แขกผู้เกียรติ เครือข่ายทางวัฒนธรรม และสื่อมวลชน เข้าร่วม ทั้งนี้เสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมออกสู่ระดับสากล เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายรายได้สู่ชุมชนทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่ปลุกกระแสสำคัญคืออุตสาหกรรมสื่อบันเทิง ทั้งละครโทรทัศน์ ซีรีส์ ภาพยนตร์ ฯลฯ ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างความสำเร็จในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศไทย โดยงานจัดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ณ อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม

ละครหมอหลวงออกอากาศในช่วงตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ช่อง 33 และ ทางแอปพลิเคชัน CH3Plus ผลิตโดยบริษัท โซนิกซ์ บูม 2013 โดย ชุดาภา จันทเขตต์ และ ปิยะ เศวตพิกุล ละครหมอหลวงนับเป็นหนึ่งในซอฟท์พาวเวอร์ที่ทรงพลังของยุคปัจจุบัน ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการสร้างสรรค์ผลงานละครโดยบูรณาการภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียว จนทำให้เกิดปรากฏการณ์และเป็นกระแสความสนใจอย่างล้นหลาม 
ไม่ว่าจะเป็นเรตติ้งความนิยม การตอบรับอย่างถล่มทลายในทุกครั้งที่จัดกิจกรรม  และละครหมอหลวงยังมีการจำหน่ายลิขสิทธิ์เพื่อไปออกอากาศต่อยังแพลตฟอร์มของต่างประเทศ โดยละครหมอหลวงสามารถผลักดันเรื่องสมุนไพร อาหารไทยที่เป็นประโยชน์ และแพทย์แผนไทย ให้เป็นที่สนใจในวงกว้างของผู้ชมทั้งในและต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เล็งเห็นว่า “หมอหลวง” ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีในการใช้สื่อบันเทิงเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันซอฟต์พาวเวอร์จากสื่อบันเทิง ให้เป็นที่แพร่หลาย ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงวัฒนธรรม จึงได้จัดงานเสวนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการถอดบทเรียนจากละครหมอหลวง ที่จะเป็นแนวทางในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงและคอนเทนต์ของไทยต่อไปในอนาคต และแสดงให้เห็นถึงการบูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินงานส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นรูปธรรม 

โดยมีประเด็นการเสวนาเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมสื่อบันเทิงอย่างละครและภาพยนตร์สู่สากล ทั้งจากกระทรวงวัฒนธรรมและตัวแทนผู้ประกอบการ เบื้องหลังและความสำเร็จในการพัฒนาละครที่สอดแทรกความรู้ด้านแพทย์แผนไทย โดยทีมผู้ผลิตละครหมอหลวง โดยมี นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เข้าเสวนาเสวนาร่วมกับตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม ผู้จัด ผู้กำกับ และนักแสดงจากละครหมอหลวง โดยมี เซน เมจกา สุพิชญางกูร เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยถึงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ว่า “ขณะนี้ภาครัฐให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด (2564) สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับประเทศกว่า 312,827 ล้านบาท และในปี 2566 วธ.จะดำเนินงานโครงการเพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ความนิยมไทยของประเทศไทย โดยสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลกว่า 971.55 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 58.25 ล้านบาท โครงการพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 893.41 ล้านบาท และโครงการด้านการต่างประเทศ 19.88 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่ได้รับงบประมาณเพื่อร่วมส่งเสริม Soft Power ของประเทศไทย ในมิติต่าง ๆ อีกจำนวน ไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมไปสู่ตลาดต่างประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ชุมชนและประเทศได้อย่างต่อเนื่อง”

ทางด้าน นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซีเวิล์ด จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ละครหมอหลวง ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยความนิยมนั้นนอกจากความสนุกสนานของละครแล้ว ละครยังสร้างกระแสความภาคภูมิใจให้กับคนไทย และความสนใจในเรื่องของสมุนไพรและแพทย์แผนไทยให้เกิดขึ้นอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เห็นว่าโอกาสนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดีในการจัดงานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการผลักดันอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง ให้เป็นแกนหลักในการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรมไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป”               

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News