Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

โรงเรียนนวัตกรรมสังคม ‘ไร่รื่นรมย์’ เพื่อสังคมที่มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชน

 

เมื่อวันที่ 9-11 สิงหาคม พ.ศ. 2567 สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดย อาจารย์กฤษณ์ ขนาบศักดิ์ ผู้ช่วยคณบดีสำนักวิชานวัตกรรมสังคม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฐมพงศ์ มโนหาญ รองคณบดีสำนักวิชานวัตกรรมสังคม ได้จัดกิจกรรมโรงเรียนนวัตกรรมสังคม (Field school) ณ ไร่รื่นรมย์ อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย โดยมีนักศึกษาจำนวน 16 คน จากสาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้

กิจกรรมโรงเรียนนวัตกรรมสังคมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้แนวคิดและการดำเนินงานของกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ผ่านการศึกษาภาคสนาม โดยไร่รื่นรมย์เป็นหนึ่งในกิจการเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมทั้งส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

ในวันที่ 1 ของกิจกรรม นักศึกษาได้รับฟังบรรยายจากผู้ก่อตั้งไร่รื่นรมย์ เกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้งและการดำเนินงานในฐานะกิจการเพื่อสังคม พร้อมทั้งวิเคราะห์แนวคิดดังกล่าวเชื่อมโยงกับ SDGs ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการแก้ไขปัญหาความยากจน ส่งเสริมการศึกษา การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน รวมถึงการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักศึกษาได้มีโอกาสอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของกิจการเพื่อสังคมในชุมชนท้องถิ่น และการที่ชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของไร่

ในวันที่ 2 นักศึกษาได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมในรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Circular Green Economy หรือ BCG) ภายในไร่รื่นรมย์ ซึ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจกรรมประกอบด้วยการเรียนรู้การจัดการระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การบริหารจัดการน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และการศึกษาแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) ซึ่งเป็นการปลูกพืชและเลี้ยงปศุสัตว์โดยปราศจากการใช้สารเคมี การเกษตรอินทรีย์นี้เป็นหนึ่งในแนวทางที่ส่งเสริมสุขภาพของทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรในชุมชน รวมถึงเป็นการปกป้องสภาพแวดล้อมจากมลพิษทางเคมี

ไร่รื่นรมย์ถือเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนของการพัฒนากิจการเพื่อสังคมที่มีความยั่งยืน เนื่องจากไม่เพียงแต่จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนโดยรอบ นักศึกษาได้เห็นถึงการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนผ่านการทำฟาร์มแบบออร์แกนิกและการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การทำฟาร์มแบบออร์แกนิกเป็นการปลูกพืชที่ไม่ใช้สารเคมีซึ่งนอกจากจะลดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ การเลี้ยงปศุสัตว์ภายใต้แนวทางนี้ก็เป็นส่วนสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในวันที่ 3 นักศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์การทำงานภาคปฏิบัติกับชุมชนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาแนวทางการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนโดยใช้แนวคิดจาก SDGs มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน การพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชนบทและชุมชนท้องถิ่นเป็นเป้าหมายสำคัญของไร่รื่นรมย์ที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 12 ของ SDGs คือ การสร้างการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งไร่รื่นรมย์ได้ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมชุมชนในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการพัฒนา โดยชุมชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนากิจการเกษตรร่วมกับไร่รื่นรมย์ เช่น การจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรและการสร้างเครือข่ายการค้าชุมชนที่เข้มแข็ง

กิจกรรมโรงเรียนนวัตกรรมสังคมในครั้งนี้ได้สร้างความเข้าใจให้นักศึกษาเห็นถึงความสำคัญของกิจการเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ พร้อมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบ SDGs โดยเฉพาะเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ นักศึกษายังได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาและทำงานในอนาคต

การจัดกิจกรรมครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจในบทบาทของกิจการเพื่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสร้างสรรค์แนวทางการพัฒนาใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในอนาคต

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

พช.เชียงราย เฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคเหนือ

 

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 เวลา 13.00 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชนภาคเหนือ ตามโครงการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาชุมชนไทย ณ สวนซากุระ และสวน 80 สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง หมู่ที่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 

 

โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายพิชัย คำเกิด หัวหน้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง นางสาวธนนนท์ นิรามิษ ภริยารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นางกุสุมาล พงษ์สิทธิถาวร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยข้าราชการและประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ

 

ในการนี้ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย นางอำไพ บัวระดก พัฒนาการจังหวัดเชียงราย ได้นำกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าชาติพันธุ์ จำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสตรีทอผ้าศรีดอนชัย อ.เชียงของ (ชาติพันธุ์ไทลื้อ) กลุ่มปักผ้าด้วยมือบ้านสันกอง อ. แม่จัน (ชาติพันธุ์อาข่า) กลุ่มผ้าเขียนเทียน บ้านห้วยหาน อำเภอเวียงแก่น (ชาติพันธุ์ม้ง) กลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านทุ่งพร้าว อ.แม่สรวย (ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ) และกลุ่มผ้าทอกะเหรี่ยงแคววัวดำ อำเภอเมืองเชียงราย (ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ) เฝ้าฯ รับเสด็จฯ
 
 
จังหวัดเชียงราย ได้น้อมนำแนวพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด พัฒนาผ้าไทยสู่ความยั่งยืน ในการใช้สีและวัตถุดิบมาจากธรรมชาติตามแนวพระดำริแฟชั่นยั่งยืน (Sustainable Fashion) ที่พระราชทานแนวทางไว้ในการเสด็จเยี่ยมเยียนในปีที่ผ่านมา อันเป็นการลดปัญหาภาวะโลกร้อน โดยผลงานทุกชิ้นมีตราสัญลักษณ์ Sustainable Fashion ที่ทรงออกแบบและพระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไปมอบให้ทุกกลุ่มที่ดำเนินการพัฒนาผลงานตามพระดำริ และภายหลังจากทรงมีพระวินิจฉัยและพระราชทานคำแนะนำเสร็จสิ้นแล้ว เสด็จไปทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ชุด ฟ้อนถิ้งบ้อง โดยนักเรียนโรงเรียนฝางชนูปถัมภ์ จึงเสด็จกลับ
 
 
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาตั้งแต่ 09.00 น. และตลอดทั้งวัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โปรดให้คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระดำริ ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นดีไซเนอร์และผู้มีความรู้ความสามารถด้านการออกแบบ ตัดเย็บ ถักทอ และด้านสีธรรมชาติ เป็นวิทยากรให้ความรู้และคำแนะนำแก่กลุ่มทอผ้าและสมาชิกกลุ่มศิลปาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าของผืนผ้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังผลทำให้มีรายได้ในการดูแลตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กลุ่​มงาน​ส่งเสริม​การพัฒนา​ชุมชน​ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

พช.เชียงราย​ ขับเคลื่อน​โครงการ​ ปลูกผัก​สู่คลังอาหาร​ที่ยั่งยืน​

 

วันที่ 20 ตุลาคม 2566 นายวิทยา ชุมภูคำ พัฒนาการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนางอำไพ บัวระดก ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นายปรีชา ปวงคำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นางสาวชาลิสา กาปัญญา พัฒนาการอำเภอเมืองเชียงราย และบุคลากรในสังกัดสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกันทำกิจกรรมปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร ภายในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และบริเวณบ้านพักรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย

 

จังหวัดเชียงราย โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย ร่วมกับชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานโครงการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ให้ผู้นำชุมชน กลุ่ม องค์กร เครือข่าย และประชาชนในจังหวัดเชียงราย ในการปลูกผักสวนครัว พืชสมุนไพร และไม้ผลภายในบริเวณบ้าน สองข้างทาง หรือในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ให้เต็มพื้นที่ทุกหมู่บ้าน ชุมชน อย่างหลากหลาย โดยรณรงค์ขยายผลให้มีการปลูกพืชผักเพิ่มขึ้น เพิ่มอย่างน้อยครัวเรือนละ 30 ชนิด เพื่อเป็นการส่งเสริมการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน สร้างความรัก ความสามัคคี ของประชาชนในหมู่บ้านชุมชน เกิดการเอื้ออาทรแบ่งปันภายในชุมชน/สังคม ส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Cddchiangrai

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News