Categories
FEATURED NEWS

PDPC สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ระดับนานาชาติ “ป้องกัน-ระวัง-เข้าใจ”

 

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ขานรับนโยบาย DE เดินหน้าทำงานในเชิงรุก ยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสู่ระดับสากล พร้อมสร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ด้วยการเปิดเวทีระดับนานาชาติ  จัดเสวนาสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลระดับนานาชาติ “PDPA International Conference 2024 : Key Global Trends in Data Privacy”  เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนชาวไทยและต่างชาติร่วมกัน “ป้องกัน-ระวัง-เข้าใจ” การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ภายใต้แคมเปญ Take Control of your Data #ตะโกนให้โลกรู้ข้อมูลส่วนตัวสำคัญที่สุด โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย PDPA จากหลายประเทศทั่วโลกเข้าร่วมเสวนาถกประเด็นข้อสงสัย พร้อมให้ข้อมูลความรู้แบบจัดเต็ม นอกจากนี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในงานแถลงข่าวและร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Key Global Trends in Data Privacy”

                             

            นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DE ตระหนักถึงความสำคัญของการละเมิดข้อมูลส่วนตัวเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ทำงานในเชิงรุก เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนตัวที่เปรียบเสมือนสมบัติล้ำค่า ดังนั้นที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้วางนโยบายการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ยุคที่ธุรกิจและการตลาดขับเคลื่อนด้วยข้อมูล หรือการนำ Big Data และ AI มาใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก พร้อมกับการถ่ายโอน หรือแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างประเทศ นำไปสู่การเข้าถึง และการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในมิติต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการเปิดเผยหรือการใช้งานข้อมูลในทางที่ผิดทำให้เกิดการตื่นตัว และความตระหนักรู้ทั่วโลกเกี่ยวกับสิทธิในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงบทบาทและความรับผิดชอบของผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล และการบังคับใช้กฎหมายโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                             

กฎหมาย PDPA ถอดแบบมาจากกฎหมายต้นแบบอย่างกฎหมาย GDPR (General Data Protection Regulation) ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป วัตถุประสงค์ของการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีทำการแฮ็กข้อมูลหรือละเมิดความเป็นส่วนตัว เพื่อข่มขู่หวังผลประโยชน์จากทั้งจากตัวเจ้าของข้อมูลเองหรือจากบุคคลที่ดูแลข้อมูล โดยกฎหมายนี้ได้เริ่มบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ รูปถ่าย บัญชีธนาคาร อีเมล ไอดีไลน์ บัญชีผู้ใช้ของเว็บไซต์ ลายนิ้วมือ ประวัติสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถระบุถึงตัวเจ้าของข้อมูลนั้นได้ อาจเป็นได้ทั้งข้อมูลในรูปแบบเอกสาร กระดาษ หนังสือ หรือจัดเก็บในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

 

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า เรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เราได้กำหนดแนวทางและมาตรการยกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPC ดำเนินการแบบเชิงรุก ให้ความรู้ “ป้องกัน-ระวัง-เข้าใจ” การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแก่ประชาชนทั่วไป หน่วยงานราชการ-ภาคธุรกิจที่จัดเก็บดูแลข้อมูล พร้อมกับการให้บริการสอบถาม ขอคำปรึกษา ร้องทุกข์ต่าง ๆ ในทุก ๆ ช่องทาง โดยมี Formwork ต่าง ๆ ถอดแบบมาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับระดับสากล  

                             

การจัดเสวนาสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลระดับนานาชาติ “PDPA International Conference 2024 : Key Global Trends in Data Privacy” ในครั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ควบคุมข้อมูล ผู้ประมวลผลข้อมูล และประชาชนทั่วไป พร้อมทั้งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล

                             

            ทางด้าน ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวเสริมว่า การจัดเสวนาสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกฎหมายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลระดับนานาชาติ “PDPA International Conference 2024 : Key Global Trends in Data Privacy”  เป็นการเปิดเวทีนานาชาติครั้งแรก เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะในหมู่ผู้ควบคุมข้อมูล ผู้ประมวลผลข้อมูล รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อยกระดับความเข้าใจในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล

                             

สำหรับหัวข้อสำคัญในการสนทนาครั้งนี้ คือเรื่อง “Unlocking the Power of ASEAN Model Contractual Clauses (MCCs)” เพื่อช่วยให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจเงื่อนไข และข้อกำหนดในสัญญาที่สนับสนุนการโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างราบรื่นและปลอดภัย ผู้เข้าร่วมยังจะได้รับความรู้ที่มีคุณค่าจากผู้เชี่ยวชาญในกฎหมาย เทคโนโลยี และรัฐบาลเกี่ยวกับการใช้ ASEAN MCCs อย่างมีประสิทธิภาพ และการต่อสู้กับข้อจำกัดที่ท้าทาย ผู้เชี่ยวชาญทุกท่านจะรวมตัวกัน เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การบริหารความสมดุลระหว่างนวัตกรรม AI และการคุ้มครองสิทธิของบุคคล ประเมินความเสี่ยงและหาวิธีการใช้งาน AI อย่างเหมาะสม เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย PDPA

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

PDPC ติวเข้มสื่อมวลชน นําเสนอข่าวไม่ละเมิดสิทธิ์

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส. : PDPC) จัดกิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับสื่อมวลชน ร่วมกับผู้ทรงวุฒิด้านกฎหมาย PDPA และกิจการสื่อ ให้ความรู้เรื่องการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนกับการละเมิด พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 สร้างแนวทางให้สื่อมวลชนสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างมีขอบเขต ไม่กระทบต่อบุคคลอื่น ไม่ละเมิดกฎหมาย PDPA และช่วยให้ประชาชนเข้าใจขอบเขตการทำหน้าที่สื่อมวลชน พร้อมรักษาสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของตนได้อย่างมีคุณภาพ

            นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กรรมการผู้เชี่ยวชาญตามพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ กล่าวว่า จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือที่รู้จักในชื่อกฎหมาย PDPA ที่ได้กระตุ้นให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งในฝั่งเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลและฝั่งของผู้ที่มีหน้าที่นำเสนอข้อมูลเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ทำหน้าที่หรือกิจการ ‘สื่อมวลชน’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นการบังคับใช้จากกฎหมาย PDPA ทั้งฉบับ

“การยกเว้นบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ในสื่อมวลชน เป็นการยกมาจากรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าสื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพในการที่จะแสดงออกและรายงานข่าว แต่ขณะเดียวกัน ตัวกฎหมาย PDPA ก็ได้กำหนดขอบเขตในการยกเว้นการบังคับใช้ไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สื่อมวลชนละเมิดต่อการนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลอย่างผิดวัตถุประสงค์ โดยระบุว่าการยกเว้นนี้ จะยกเว้นให้เท่าที่เป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพหรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น ดังนั้น ในทางกลับกัน หากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนนั้นไม่เป็นไปตามจริยธรรมฯ เกินความจำเป็น และไม่เกิดประโยชน์กับสาธารณชน สื่อมวลชนก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA และหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็อาจมีความรับผิดทางแพ่ง มีโทษทางอาญาและทางปกครองได้เช่นเดียวกัน”

ด้าน นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จัดทำโดยสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้ให้นิยามของคำว่า “สื่อมวลชน” หมายความว่า สื่อหรือช่องทางที่นำข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ขึ้นทะเบียนเป็นสื่อมวลชน โดยการขอใบอนุญาตหรือโดยการขึ้นทะเบียนเป็นสื่อมวลชนตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ สื่อโทรทัศน์ที่ต้องได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. สื่อหนังสือพิมพ์ที่ต้องได้รับใบการจดแจ้งการพิมพ์ หรือสำหรับสื่อที่ทำเว็บออนไลน์ก็สามารถเข้าข่ายขอใบอนุญาตผ่านการจดชื่อโดเมนได้ ทำให้สื่อมีความแตกต่างจากกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์หรือกลุ่มคนที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ที่ไม่เข้าข่ายยกเว้นจากกฎหมาย PDPA

            “ประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนฯ มีการจัดทำและเผยแพร่ออกมาในปี 2564 หรือ 1 ปีก่อน พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งนับเป็นเนื้อหาที่มีการรองรับกับกฎหมาย PDPA ได้โดยเฉพาะ จึงกลายเป็นแนวทางให้สื่อมวลชนสามารถนำเสนอข่าวได้โดยไม่เกิดผลกระทบต่อบุคคลอื่น เพราะตามจริยธรรมแล้วทุกการนำเสนอข่าวจากสื่อมวลชนจะต้องมีความครบถ้วน เป็นธรรม รวมถึงต้องมีมาตรการจัดการที่เป็นธรรมกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล นั่นคือหากมีบุคคลได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าว คน ๆ นั้นจะสามารถแจ้งต่อสื่อมวลชนเพื่อลบข้อมูลที่ไม่ต้องการเผยแพร่ได้ ทั้งนี้ ตัวสื่อมวลชนเองก็ต้องมีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Security) เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Breach) รวมถึงเพื่อป้องกันการเกิดช่องโหว่ปล่อยให้มีคนนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นไปใช้ได้”

ทั้งนี้ นายไพบูลย์ ยังได้เสริมเพิ่มเติมว่า สิ่งที่กฎหมาย PDPA ให้การยกเว้นในกิจการสื่อมวลชน ยังรวมถึงงานศิลปกรรมหรือวรรณกรรมอันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพหรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น แปลว่าภาพถ่ายประกอบการนำเสนอข่าวจึงไม่เป็นการละเมิด PDPA ยกเว้นว่าภาพถ่ายนั้นไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อสาธารณะ สร้างผลกระทบกับบุคคลอื่น ถูกนำไปใช้ทางการตลาดหรือแสวงหาผลกำไร จึงจะนับว่าภาพถ่ายนั้นละเมิดต่อกฎหมาย PDPA หรือในกรณีที่นำเสนอข่าวโดยใช้ภาพถ่ายหรือวิดีโอจากบุคคลอื่น สื่อมวลชนต้องระมัดระวังเรื่องการปกปิดตัวตนบุคคลในภาพและต้องอ้างอิงถึงแหล่งที่มาเนื้อหานั้นด้วย เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนหรือละเมิดกฎหมาย PDPA รวมถึงกฎหมายหมิ่นประมาทและ กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไปในตัว

สามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและดูแลข้อมูลส่วนบุคคลได้ทาง Facebook : PDPC Thailand  หรือโทร. 0 2142 1033, 0 2141 6993

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News