Categories
SOCIETY & POLITICS

อดีต​ รมช.​เกษตร​และ​สหกรณ์​ ไม่เห็นด้วย “ปุ๋ยคนละครึ่ง”

 

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 นายไชยา พรหมา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ สส.หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนเสียงสะท้อนจากเกษตรกร พบว่าชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่งของรัฐบาล ที่อยู่ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสียงสะท้อนที่ได้รับมาแสดงให้เห็นถึงความกังวลในหลายประเด็นที่สำคัญ เช่น เกษตรกรต้องการให้คงไว้โครงการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท เพราะมีความคล่องตัวมากกว่าโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง”

 

นอกจากนี้ยังเห็นว่าโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ถือเป็นการมัดมือชกเกษตรกร อีกทั้งยังมีข้อกังวลในเรื่องของคุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่ได้รับว่ามีคุณภาพตามมาตรฐานหรือไม่ เพราะมาจากที่กรมการข้าวเป็นผู้คัดเลือกปุ๋ย และเอกชนผู้ขายที่ร่วมโครงการไม่กี่เจ้าได้ประโยชน์ เปรียบเสมือนการยัดเยียดและมัดมือชกเกษตรกรเป็นการซ้ำเติมชาวนาหรือไม่

 

นายไชยา กล่าวว่า ในฐานะ สส. ตัวแทนของประชาชน ซึ่งสัมผัสกับวิถีชีวิตเกษตรกรมาตลอด โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเคยทำหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มองว่าโครงการนี้ได้รับการต่อต้านจากเกษตกรทั่วประเทศ ไม่เหมือนกับโครงการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ที่ได้รับเงินโดยตรง และสามารถนำไปใช้ลดต้นทุนการผลิตอื่นๆ ทั้งค่าเก็บเกี่ยว ค่าไถ ค่าหว่าน ค่าปุ๋ย ทุกอย่างครบวงจร” ต้องไม่ลืมว่าการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญ เช่น ระบบชลประทาน การวิเคราะห์ดิน กลไกตลาด การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น หากต้องการเห็นผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทยสูงขึ้น รัฐบาลควรลงทุนการบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานอย่างเป็นระบบด้วย

 

ดังนั้นทางเลือกของชาวนาที่ต้องการลดต้นทุนการผลิต ยังมีวิธีอื่นอีกมากมาย โครงการปุ๋ยคนละครึ่งกลับสร้างภาระให้ชาวนาต้องหาเงินสดมาจ่ายค่าปุ๋ยในส่วนของตนเองก่อน เปรียบเสมือนการ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด เกาไม่ถูกที่คัน และสร้างภาระให้เกษตรกร

 

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง ถึงแม้โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดต้นทุนการผลิตและช่วยเหลือเกษตรกร แต่ยังไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริงของพี่น้องเกษตรกร รัฐบาลยังมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ เช่น การจัดตั้งโรงงานปุ๋ยแห่งชาติซึ่งเป็นเรื่องที่เรียกร้องกันมาเป็นเวลานาน อีกทั้งมีข้อสังเกตว่า โครงการนี้ มีลับลวงพรางนายทุนที่ได้ประโยชน์กับโครงการนี้อยู่เบื้องหลังหรือไม่ และพยายามผลักดันให้กรมวิชาการเกษตรและกรมการข้าวให้ยอมรับสูตรปุ๋ยไม่กี่สูตร ซึ่งจะเป็นการผูกขาดอยู่ไม่กี่รายที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้จึงต้องจับตามองต่อไปว่า มีผู้ประกอบการรายใดผ่านการคัดเลือกและมีการเอื้อประโยชน์ส่วนตัวด้วยหรือไม่

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักข่าว​ไทย​

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ไชยา รมช. เกษตร มอบสัญญายืมโคให้เกษตรกร จ.เชียงราย

 

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 67  ที่ทำการคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอแม่จัน เลขที่ 81 หมู่ 7 บ้านดง ต.สันทราย อ.แม่จัน จ.เชียงราย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีมอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิตโค-กระบือ ภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ โดยมีว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ  จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้การต้อนรับ และนายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์นำหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรชาวเชียงรายเข้าร่วมอย่างคับคั่ง

.
          ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้ส่งมอบโคจากการไถ่ชีวิตโค-กระบือ ของผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมกันบริจาคเงิน เพื่อไถ่ชีวิตโค-กระบือเข้าร่วมโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ให้กับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย นำมาช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ และสร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชน ให้กับวิสาหกิจ ชุมชน กลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐ ให้เกษตรกรที่มีความ สนใจด้านอาชีพการเลี้ยงสัตว์ และสมัครเข้าร่วมโครงการ ภายใต้เงื่อนไขโครงการธนาคาร โค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ซึ่งเกษตรกรจะต้องคืนลูกตัวแรกเมื่ออายุครบ 18 เดือน ให้กับโครงการ และเมื่อครบสัญญา 5 ปี โครงการฯจะมอบกรรมสิทธิ์แม่โค พร้อมลูกตัวที่ 2 , 3 , 4 ให้กับเกษตรกรต่อไป 

.
          สำหรับในวันนี้ จังหวัดเชียงราย ได้รับสนับสนุนโค จากโครงการธนาคาร โค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริจำนวน 55 ตัว รวมเกษตรกรที่ได้รับสัตว์ทั้งสิ้น จำนวน 55 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้อง ตามระเบียบของโครงการฯ สมควรได้รับการช่วยเหลือจากโครงการฯ ต่อไป

 

          โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เป็นโครงการหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยกรม ปศุสัตว์เป็นผู้ดำเนินการ และเป็นศูนย์รวมในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจน ที่มีอาชีพ ในการทำนา ทำไร่ได้อย่างแท้จริง วัตถุประสงค์ที่สำคัญของธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตาพระราชดำริเพื่อช่วยให้เกษตรกรที่ยากจนทั่วประเทศได้มีโค-กระบือไว้ใช้แรงงาน และเพิ่มผลผลิต ทางการเกษตร เป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 

.
           ภายในงานมีหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำการบริการแก้ไขปัญหาทางการเกษตรหลายหน่วยงานมาให้บริการ เช่น คลินิกดิน พืช ปศุสัตว์ ประมง ชลประทาน สหกรณ์ บัญชี พืชสวน ยางพารา สาธารณสุข มาให้บริการให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย

 

หลังจากนั้น นาย ไชยา เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรในพื้นที่เดียวกัน พร้อมเปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่ดูแลเกษตรกรในทุกมิติ ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง ชลประทาน การทำบัญชี การทำงานของสหกรณ์ การผลิตสินค้า รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำเกษตรกรรมให้เกิดรายได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรร่วมชมคูหานิทรรศการของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ นิทรรศการจากกรมหม่อนไหม ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพื้นที่ 3 ไร่ หากเก็บเกี่ยว 1 ครั้ง สามารถขายได้ราคา 9,000 บาท

 

ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้ 12 ครั้ง ต่อปี และมีนิทรรศการจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่จะมาช่วยผลักดันเกษตรกรให้สามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในระยะเวลา 4 ปี ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อีกด้วย

 

สำหรับช่วงบ่าย นาย ไชยาเดินทางไปเป็นประธานพิธีมอบโค-กระบือ ให้เกษตรกรยืมเลี้ยงเพื่อการผลิต ภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ณ ศาลาแดงหนองซง บ้านหนองแรดใต้ อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย โดยมอบสัญญายืมโค จำนวน 30 ตัว ให้กับเกษตรกร จำนวน 30 ราย คิดเป็นมูลค่า 840,000 บาท

 

นายไชยา กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้รับเกียรติจากพี่น้องเกษตรกรมามอบหนังสือสัญญายืมโคเพื่อการผลิต ภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปศุสัตว์เป็นอาชีพหลัก ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์จะคอยสนับสนุนข้อมูลการเลี้ยงดูต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ปศุสัตว์ต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

รอน้ำแข็งแห้งผลิต คาด 11 เม.ย. นี้ ‘ไชยา’ พร้อม ‘กรมฝนหลวง’ ปฏิบัติทุกวัน

 
เมื่อเวลา 11.25 น. วันที่ 9 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือว่า คณะรัฐมนตรีได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และในฐานะที่ตนกำกับดูแลกรมฝนหลวง จึงได้สั่งการขึ้นปฏิบัติการดัดแปลงสภาพอากาศ ทั้งหมด PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนทั้งหมด
 
 

ส่วนช่วงสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย เชื่อว่าปัญหาฝุ่นจะลดลง 50% โดยการขึ้นบินเอาความเย็นไปลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศข้างบน ซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่นของฝุ่นลง 50% แต่ปัญหาคือถ้าจะให้มีประสิทธิภาพสูงสุดจะต้องใช้น้ำแข็งแห้ง แต่เนื่องจากน้ำแข็งแห้งผลิตที่จังหวัดระยองที่เดียว การขนส่งอาจจะมีปัญหาทำให้ลดประสิทธิภาพลง จึงมีการเปลี่ยนไปใช้น้ำเย็น ซึ่งตนจะขึ้นปฏิบัติการด้วยในวันที่ 11 เม.ย.นี้ พร้อมสั่งการให้กรมฝนหลวงขึ้นปฏิบัติงานทุกวัน เชื่อว่าจะลดปัญหาฝุ่นได้ และทำให้ประชาชนได้เที่ยวสงกรานต์อย่างมีความสุข

 

 

“การที่เราต้องขึ้นบินมีขั้นตอนมีวิธีการในการกำหนดทิศทางลม คำนวณความชื้นในอากาศซึ่งเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง หากไม่มีประสบการณ์จะอธิบายต่อสังคมไม่ได้ ดังนั้น ไม่อยากให้ด้อยค่า อีกทั้งการทำฝนหลวงก็เป็นทฤษฎีศาสตร์พระราชา แต่เราอยากจะยืนยันว่าปฏิบัติการฝนหลวงสามารถแก้ปัญหาได้จริง” นายไชยากล่าว

 

เมื่อถามว่า ปัญหาฝุ่นจะลดลงหมดหรือไม่ นายไชยากล่าวว่า ก็คงไม่ เพราะส่วนหนึ่งก็มาจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน แต่เชื่อว่าจะลดปริมาณฝุ่นได้อย่างน้อย 50% ขอให้คนไทยเที่ยวอย่างมีความสุข หากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีตั้งแต่ 60% ขึ้นไปเรากล้าพูดได้ว่าไม่เกิน 1-2 วันฝนต้องตกแน่นอน

 

นายไชยากล่าวต่อว่า ปฏิบัติการฝนหลวงเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น หน่วยงานเราเป็นเพียงหน่วยงานเสริม แต่การแก้ไขปัญหาระยะยาวจะต้องบูรณาการร่วมกัน และให้ความรู้ประชาชนว่า การไม่เผาจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ สิ่งหนึ่งในฐานะที่ตนกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการปลูกข้าวโพด ก็มีการส่งเสริมให้หันมาใช้ข้าวโพดหมัก ซึ่งจะช่วยในการลดต้นทุนอาหารสัตว์ โดยขณะนี้ศูนย์วิจัยของกรมปศุสัตว์ได้มีการศึกษาวิจัยแล้วว่า การเอาข้าวโพดทั้งต้น ใบ ฝักมาสับละเอียด หมัก 21 วัน จะให้คุณค่าอาหารสูงเทียบเท่าโปรตีนชั้นดีที่นำมาจากต่างประเทศ ดังนั้นกรมปศุสัตว์จึงเร่งรัดหน่วยงานทั้ง 34 แห่งทั่วประเทศทำเป็นต้นแบบให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตนำผลวิจัยไปต่อยอดเพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News