Categories
TOP STORIES

สธ. ห่วงไข้เลือดออกเพิ่มสูง เตือนเด็กและผู้ใหญ่ เป็นรีบไปพบแพทย์

 

 กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสถานการณ์ไข้เลือดออกปีนี้พบผู้ป่วยสูงขึ้น เตือนประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หากมีไข้ ไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก และตรวจ ATK ไม่พบเชื้อโควิด 19 ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคไข้เลือดออก และรีบไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการเสียชีวิต โดยข้อมูลล่าสุด 1 มกราคม – 14 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 21,457 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 3.3 เท่า กลุ่มอายุ 5-14 ปี มีอัตราป่วยสูงถึงร้อยละ 96.63 และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 19 ราย


          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรครายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 มิถุนายน 2566 พบผู้ป่วยแล้ว 21,457 ราย เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ที่มีผู้ป่วย 6,488 ราย พบว่ามากกว่าถึง 3.3 เท่า และมีผู้เสียชีวิต 19 ราย ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มอายุ 5-14 ปี มากสุด จำนวน 7,331 ราย และเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงถึงร้อยละ 96.63 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยเรียน จึงต้องช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมทั้งที่บ้านและโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้มีเศษขยะ เช่น กล่องโฟม พลาสติกเหลือใช้ ที่จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันอันตรายจากโรคไข้เลือดออก


          นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า โรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดกระบอกตา บางรายอาจมีปวดท้อง อาเจียน มีจุดแดงเล็กๆ ตามแขน ขา ลําตัว มีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟัน หรือประจำเดือนมากผิดปกติ ดังนั้นในช่วงนี้ หากป่วยมีไข้สูง แต่ไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไอ หรือน้ำมูก และตรวจ ATK ไม่พบเชื้อโควิด 19 โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว มีภาวะอ้วน และผู้สูงอายุ ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคไข้เลือดออก ห้ามรับประทานยาลดไข้กลุ่มเอ็นเสด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน ช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิต ส่วนเด็กๆ ที่ยังไม่สามารถบอกอาการของตนเองได้ ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการใกล้ชิด หากรับประทานยาลดไข้ 2 วันแล้วไม่ดีขึ้น ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออก และให้รีบไปพบแพทย์ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก สามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค  1422

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
NEWS SOCIETY & POLITICS

เฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออกช่วงหน้าฝน ย้ำช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์

เฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออกช่วงหน้าฝน ย้ำช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์

Facebook
Twitter
Email
Print

โฆษกรัฐบาลเตือนประชาชน เฝ้าระวังป้องกันโรคไข้เลือดออกช่วงหน้าฝน ย้ำช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้าน-ชุมชน-สถานศึกษา หากพบอาการเข้าข่ายสงสัยป่วยโรคไข้เลือดออก ให้รีบพบแพทย์ทันที

 

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกมาสู่คน โดยมักระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี จึงขอเตือนให้ประชาชนป้องกันตนเองและครอบครัวจากโรคไข้เลือดออก โดยร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้าน โรงเรียน และชุมชน โดยยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ตามข้อแนะนำของกรมควบคุมโรค คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ รวมถึงป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาด้วย 


นายอนุชากล่าวต่อไปว่า โดยเฉพาะขณะนี้เป็นช่วงของการเปิดภาคเรียนของประเทศไทย ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มเด็กนักเรียนในสถานศึกษา และบางพื้นที่เริ่มมีฝนตก จึงขอให้สถานศึกษา ศูนย์เด็กในชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการจัดสถานศึกษา ศูนย์เด็กเล็กในชุมชนให้มีความปลอดภัย ปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอันเป็นต้นเหตุของโรคไข้เลือดออก รวมทั้งขอให้ผู้ปกครองสังเกตอาการของบุตรหลานและคนในครอบครัว หากพบมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร โดยหากอาการไข้สูงเกิน 2 วัน เช็ดตัวหรือทานยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ให้สันนิษฐานอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และไดโคลฟีแนค มารับประทาน และให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้

“ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ในสัปดาห์ที่ 19 ระหว่างวันที่ 7 – 13 พฤษภาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 14,811 ราย มีผู้เสียชีวิต 13 ราย โดยกรมควบคุมโรคได้แนะนำวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยการช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้าน และในชุมชน โดยใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค คือ 1) เก็บบ้าน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก 2) เก็บขยะ ภายในบริเวณบ้านและชุมชนให้เรียบร้อย ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และ 3) เก็บน้ำ เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดป้องกันยุงลายไปวางไข่ สำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ ขัดล้างภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่เพื่อกำจัดไข่ยุงที่เกาะอยู่ภายในภาชนะ และใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ ทายากันยุง และนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุงเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422” นายอนุชา กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
NEWS UPDATE