จัดขึ้นในวันที่ 20-28 พฤษภาคม 2566 ณ อำเภอเมืองเชียงราย เวลา 18.00 น. – 24.00 น. นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างกระแสให้นักท่องเที่ยวออกเดินทางไปเยี่ยมชม และส่งต่อประสบการณ์ผ่านสื่อ Social Media ในวงกว้าง ต่อยอดนำเสนอแนวคิดและรูปแบบการจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด งานเทศกาล แสง เสียง และความคิดสร้างสรรค์ โดยสื่อออกมาในรูปแบบของการจัดแสดง Light up / Mapping / Projection 3D / Light installation และสื่อผสมที่ทันสมัย สื่อถึงความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถสะท้อนเอกลักษณ์ / อัตลักษณ์ของท้องถิ่น สามารถต่อยอดไปสร้างเส้นทางให้นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมตามจุดต่างๆ ที่จัดแสดงได้ในลักษณะ Walking Tour เล่าเรื่องเมืองเชียงรายผ่านเส้นทางแห่งกาลเวลาด้วยการ Light up / Mapping สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย ตามแนวคิด “หลงแสงเวียง ที่เจียงฮาย”
งานวิจิตร ๕ ภาค @เชียงราย “หลงแสงเวียง ที่เจียงฮาย (Chiang Rai : Wiang of Light)” จัดแสดงผ่านสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ 15 แห่ง รวมระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร ได้แก่
1.หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ: สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548
หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ: สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ออกแบบโดย ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ จัดแสดงภายใต้แนวคิด Celebrated Time ที่สื่อถึงช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของคนเชียงราย ใช้เทคนิค Moving Head Beam กับลำแสงสีทอง เงิน นาก เคลื่อนไหวไปพร้อมจังหวะการเดินของเข็มนาฬิกา บอกเล่าถึงการเดินทางของเวลาที่เดินหน้า หรือเดินถอยหลังสู่อดีตกาล
2.ถนนเชื่อมหอนาฬิกา
ถนนเชื่อมหอนาฬิกา: ถนนสุขสถิตย์หนึ่งในถนนย่านค้าขายสําคัญของเมืองเชียงรายยุคใหม่ ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และการคมนาคม ถือเป็นลมหายใจหนึ่งของการเติบโตของเมือง จัดแสดงภายใต้แนวคิด Connected ใช้เทคนิค Laser & Mirror ยิงแสงเลเซอร์ถักเป็นตาข่าย ลอยสุขสถิตย์เหนือผืนถนน สร้างคลื่นแสงเชื่อมสองเวลาและสองสถานที่เข้าหากัน
3.หอนาฬิกา (เก่า)
หอนาฬิกา (เก่า): หอนาฬิกาเก่าของจังหวัดเชียงราย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2510 ได้ย้ายจากถนนบรรพปราการ หรือที่ตั้งหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติฯ ในปัจุบัน ไปตั้งไว้ที่ตลาดสดเทศบาล บริเวณสามแยกโรงรับจำนำ ซึ่งอยู่ห่างจากหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติฯ ประมาณ 350 เมตร จัดแสดงภายใต้แนวคิด Classical Time หนึ่งในตัวแทนความคลาสสิคของยุคสมัย ใช้เทคนิคแสง Luminous Light แสงสีขาววางล้อมหอนาฬิกา อวดโฉมเวลาหนึ่งช่วงในอดีตที่เคยเป็นตัวแทนความเจริญของเมืองยุคใหม่
4. มูลนิธิสาธารณกุศลสงเคราะห์
มูลนิธิสาธารณกุศลสงเคราะห์เชียงราย ตั้งอยู่ที่ถนนบรรพปราการ ภารกิจหลักของมูลนิธิฯ เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณะกุศลโดยจะมีกิจกรรม ต่างๆ ในช่วงเย็น เช่น รำไทเก๊ก รำมวยจีน รำกระบี่ เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกาย อาคารแห่งนี้มีการตกแต่งอย่างสวยงามตามสไตล์จีน ด้านในมีจุดไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ ตามความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีนในเมืองเชียงราย จัดแสดงภายใต้แนวคิด Power of Gods การไหว้บูชาเหล่าเทพเจ้าขอพร ใช้เทคนิค Red & Gold Lights แสงสีแดงและสีทอง ตัวแทนความมั่งคั่งและโชคดี
5. วัดมิ่งเมือง
วัดมิ่งเมือง ชาวเชียงรายเรียก วัดจ๊างมูบ (ช้างหมอบ) หรือ วัดตะละแม่ศรีตามชื่อผู้สร้าง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงรายมีสถาปัตยกรรมผสมระหว่างพม่าและล้านนาวิจิตรงดงามทั้งภายในและภายนอก จัดแสดงภายใต้แนวคิด Multi Culture Multi-Colors หนึ่งศรัทธา มากศิลป์ ใช้เทคนิคแสง Led Par Light เลือกใช้คู่สีแสงที่มีความต่อเนื่องและขัดแย้งกันเพื่อขับเน้นศิลปกรรมที่ผสมผสานแปลกตา
6. ตึกสามเหลี่ยม
ตึก 3 ชั้นทรงแปลกตา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาคารแนวโมเดิร์นของธนาคารแห่งหนึ่งของเมืองเชียงรายในยุค 80s จัดแสดงภายใต้แนวคิด Neon Era ใช้เทคนิคแสง Led Neo Light ไฟนีออนที่ไม่ใช่สิ่งส่องสว่าง แต่ได้รับการใช้งานและจัดวางเป็นงานศิลปะและเป็นเอกลักษณ์ที่สําคัญหนึ่งของยุคสมัย
7. แมงสี่หูห้าตา
แมงสี่หูห้าตา เป็นชื่อสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งในตํานานว่าด้วยวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว มีลักษณะเหมือนหมีสีดําตัวอ้วน มีหูสองคู่และตาห้าดวง รับประทานถ่านไฟร้อนเป็นอาหารและถ่ายมูลเป็นทองคํา แมงสี่หูห้าตา ยังเคยได้รับการคัดเลือกให้เป็นมาสคอต กีฬาแห่งชาติครั้งที่ 36 “เจียงฮายเกมส์” อีกด้วย จัดแสดงภายใต้แนวคิด Fire Monster ใช้เทคนิคแสง Lantern Installation หุ่นโคมไฟแมงสี่หูห้าตา ขนาดใหญ่ ในท่ากําลังปีนต้นก้ามปูยักษ์หน้าอาคารเทิดพระเกียรติ ที่มาพร้อมกับเสียงแมลงกลางคืน + เสียงสะล้อ
8. วัดพระแก้ว
วัดพระแก้ว: ตั้งอยู่บนถนนไตรรัตน์ ใจกลางเมืองเชียงราย เป็นสถานที่แรกที่ได้ค้นพบพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ตามประวัติเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. 1897 ในสมัย พระเจ้าสามฝั่งแกน เป็นเจ้าครองเมืองเชียงใหม่ ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ร้างองค์หนึ่ง และได้ พบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายในเจดีย์ ต่อมาจึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูปสีเขียวที่สร้างด้วยหยก ซึ่งก็คือพระแก้วมรกตนั่นเอง ปัจจุบันวัดพระแก้วเชียงราย ได้สร้างและประดิษฐานพระหยก ซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ จัดแสดงภายใต้แนวคิด Jade Begins กำเนิดแสงมรกต ใช้เทคนิคแสง Green Light & Laser ติดตั้งเครื่องยิงเลเซอร์วาดภาพพระแก้วมรกตประกอบไฟแสงสีเขียวย้อนรําลึกถึงการค้นพบพระแก้วมรกตเป็นแห่งแรก
9. ศาลากลางจังหวัด (เก่า)
9. ศาลากลางจังหวัด (เก่า): ศาลากลางจังหวัดเชียงรายแห่งนี้ เป็นสถาปัตยกรรมที่มีอายุกว่า 120 ปี เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ช่วยอธิบายความเป็นมาเป็นไปของสังคมเชียงรายสมัยนั้นได้ดียิ่ง เปิดดำเนินการเมื่อ ปี พ.ศ. 2443 ในสมัยของพระพลอาษาเป็นข้าหลวงเมืองเชียงราย ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างโดยนาย แพทย์วิลเลี่ยม เอ.บริกส์ (Dr.William A. Briggs) แพทย์ชาว อเมริกัน ปัจจุบันอาคารศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากรตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2520 ยุติบทบาทในการเป็นอาคารศูนย์กลางการปกครองหัวเมืองเชียงรายมานานกว่า 1 ศตวรรษ จัดแสดงภายใต้แนวคิด Wiang of Light Wiang of Life อาคารที่สัมพันธ์กับชาวเชียงราย ดูแล พัฒนา และเฝ้ามองการเติบโตและเปลี่ยนแปลงของเมืองจากอดีตสู่ปัจจุบัน ใช้เทคนิคแสง Projection 3D Mapping ใน 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ 1: Concept Motion Chiang Rai, Wiang of Light เล่าถึงที่มาของแนวคิดของการจัดงาน นําเสนอเส้นทางการชมทั้ง 15 จุดแสงในเมือง และเรื่องที่ 2 : Content Motion Chiang Rai, Wiang of Life นําเสนอของดีของเด่น ของจังหวัดเชียงราย อาทิอาหาร วัดธรรมชาติศิลปะ กลุ่มชาติพันธ์ุชา-กาแฟ ผลไม้ ด้วยกราฟฟิกสนุกชวนดู
10. บ้านสิงหไคล
บ้านสิงหไคล เป็นอาคารโบราณอายุ 103 ปี ออกแบบโดยนายแพทย์วิลเลียม เอ.บริกส์ปัจจุบันบ้านสิงหไคลฯ ได้รับการบูรณะ และปรับเปลี่ยนเป็นที่ทำการมูลนิธิมดชนะภัย โดยมีเป้าหมายในการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสถาปัตยกรรมและเรื่องราวของภัยพิบัติในจังหวัดเชียงราย รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่เรื่องราวทางศิลปะและเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมทางด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรมให้กับประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเชียงรายเมืองศิลปะ โดยบริเวณชั้น 2 ได้เปิดเป็นแกลเลอรี่แสดงผลงานศิลปะ และบริเวณชั้นล่างเป็นร้านกาแฟ จัดแสดงภายใต้แนวคิด Shape of House ถ่ายทอดความงดงามของบ้านด้วยแสง ใช้เทคนิคแสง Tiny Light Bulbs Par Light ใช้แสงอาบฉาบผิวบ้านด้านนอก และใช้แสงส่องออกมาจากภายในตัวบ้าน ผ่านช่องหน้าต่าง เพื่ออวดสัดส่วนการออกแบบบ้านอันสวยงาม และตกแต่งรอบบ้านด้วยไฟเม็ดถั่ว
11. หอประวัติเมืองเชียงราย
หอประวัติเมืองเชียงราย เป็นส่วนหนึ่งภายในศูนย์วัฒนธรรมนิทัศน์และพิพิธภัณฑ์เมืองเชียงราย 750 ปี โดยปรับปรุงอาคารหอประชุมเม็งรายอนุสรณ์เดิม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านภูมิหลังของท้องถิ่น พัฒนาการทางสังคม ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี ในส่วนของการจัดแสดงนิทรรศการ ภายใน ได้จัดแสดงเนื้อหานับตั้งแต่ยุคสมัยก่อน ประวัติศาสตร์ ยุคของการสร้างบ้านเมือง การเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งเป็นเมืองเชียงรายในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังจัดแสดงเรื่องราว วิถีชีวิต ภูมิปัญญา การเมืองการปกครองและ เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันน่าภูมิใจของคนเชียงราย จัดแสดงภายใต้แนวคิด Night Museum ขยายเวลาเปิดดําเนินการภาคกลางคืนสําหรับนักท่องเที่ยวในช่วงงาน ใช้เทคนิคแสง Colorful of Par Light ตกแต่งแสงอาคารด้านนอกด้วยไฟหลากสีเพื่อเชื้อเชิญให้เข้าชมนิทรรศการภายในอาคาร
12. ตู้โทรศัพท์
ตู้โทรศัพท์สาธารณะหยอดเหรียญ คืออีกหนึ่งของประวัติศาสตร์การสื่อสารของคนเชียงรายที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างไม่มีวันหวนคืน จัดวางไว้ยังหน้าบ้านพักข้าราชการคลัง ริมถนนอันเงียบเหงา จัดแสดงภายใต้แนวคิด Silent Call ใช้เทคนิคแสง Light Inside Box-Phone ติดตั้งแสงภายในตู้โทรศัพท์คืนชีวิตด้วยสีสันตื่นเต้นชวนมอง พร้อมเสียงโทรศัพท์ประกอบดนตรี
13. ต้นไม้ใหญ่
อุโมงค์ต้นจามจุรี หรือต้นฉำฉาหรือต้นก้ามปูขนาดใหญ่ บริเวณถนนสิงหไคล นับสิบต้นที่อยู่สองฝั่งถนน แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุม สร้างความร่มรื่นไปทั่วบริเวณ นอกจากนี้ยังเป็นต้นไม้ที่ทางเทศบาลนครเชียงรายอนุรักษ์ไว้เพราะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่คาดว่ามีอายุนับร้อยปี เป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว ควบคู่กับประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย จัดแสดงภายใต้แนวคิด Eco Friendly เลือกใช้กลุ่มต้นไม้ใหญ่บริเวณริมถนนสิงหไคล เป็นตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า การรักษาระบบนิเวศ และความยั่งยืนร่วมกันของคนเชียงรายกับป่าไม้ ใช้เทคนิคแสง Light Down From Tree ติดตั้ง Mirror Ball บนยอดไม้แล้วยิงแสงกระทบใส่สร้างซีนแสงแปลกตา
14. สวนตุงและโคม
สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ 75 พรรษา เดิมคือพื้นที่เรือนจําโบราณ ต้ังอยู่ใจกลางย่านการค้าเทศบาลนครเชียงราย มีอายุเก่าแก่มากว่า 100 ปี ต่อมามีโครงการย้ายเรือนจําออกไป และปรับพื้นที่จนกลายเป็นลานสาธารณะแห่งใหม่ใจกลางนครเชียงราย โดยสวนบางส่วนถูกปรับให้เป็นสวนหย่อม นอกจากนี้ด้านในยังมีเรือนจําหญิงที่ถูกปรับให้เป็นอาคารแสดงศิลปะการแต่งกายชนเผ่า 30 ชนเผ่า ด้านข้างอาคารมีตุงเฉลิมพระเกียรติ ความสูง 36 เมตร กรอบตุงมีลวดลายสัญลักษณ์ปีนักษัตร โดยช่างฝีมือของท้องถิ่น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเมืองล้านนาร่วมสมัย จัดแสดงภายใต้แนวคิด Wiang Flower ดอกพวงแสด ดอกไม้ประจําจังหวัดเชียงราย ใช้เทคนิคแสง Light Installation ประติมากรรมดอกพวงแสดส่องแสงประกอบฉากแสงสีส้ม
15. คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย
โบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียงเชียงราย ได้รับสถาปนาเป็นคริสตจักร เมื่อวันที่ 13 เมษายน ค.ศ.1890 โดยยังไม่มีอาคารพระวิหาร ต่อมาในปี ค.ศ. 1910 – 1911 นายแพทย์วิลเลี่ยม เอ บริกส์ จึงรวบรวมเงินจากผู้ศรัทธา เพื่อซื้อที่ดินสร้างอาคารพระวิหาร โดยต้ังอยู่บริเวณประตูเมืองเชียงราย ที่เรียกว่า “ประตูสลี” ซึ่งเป็นที่ตั้งคริสตจักรในปัจจุบัน โบสถ์หลังนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อสิ้นสุดมหาสงครามเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ราวปี ค.ศ. 1946 หลังชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากถูกยึดใช้เป็นส่วนหนึ่งของเขตทหารที่มาตั้งมั่นอยู่ในเมืองเชียงราย เมื่อเสร็จสงครามเหล่าคริสเตียนจึงยินดีที่ได้กลับมาใช้โบสถ์นี้เป็นที่นมัสการอีกครั้ง จัดแสดงภายใต้แนวคิด In Light of Faith ด้วยแสงแห่งศรัทธาของคริสตศาสนิกชนเวียงเชียงราย ใช้เทคนิคแสง Light VS Shadow การต่อสู้กันระหว่างแสงและเงา
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรม Highlight ซึ่งจะมีการจัดแสดงทุกวันศุกร์-อาทิตย์ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย (หลังเก่า) อาทิ การจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น การแสดงดนตรี การออกร้าน จากผู้ประกอบการในพื้นที่ รวมทั้งการมอบสิทธิพิเศษส่วนลดจากร้านค้ามากมาย อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ ที่เข้าร่วมในโครงการฯ รวมมูลค่ากว่า 500,000 บาท ผ่านช่องทาง Facebook Fanpage: GoNorthThailand โดยผู้ที่สนใจสมารถเดินชมงานในลักษณะ Walking Tour หรือจะ ใช้บริการรถรางนำเที่ยวที่ให้บริการฟรีตลอดงาน หรือพาหนะท้องถิ่นอย่างสามล้อเชียงรายโดยคิดค่าบริการตามระยะทาง
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)