Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

‘เชียงราย’ ติดเมืองรองยอดฮิต นักท่องเที่ยวสูงก่อนโควิดบวก 130%

 

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 67 ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มพื้นตัวต่อเนื่อง มีโอกาสแตะ 40 ล้านคน เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 หนุนให้รายได้ภาคท่องเที่ยวไทยแตะ 3 ล้านล้านบาท ในปี 2568 เปิด 6 เทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ ดึงดูดนักท่องเที่ยวศักยภาพ มีการใช้จ่ายสูง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มภาคการท่องเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 1.35 แสนล้านบาท แนะผู้ประกอบการปรับรูปแบบบริการ สร้างโอกาสการเติบโตจากเทรนด์ท่องเที่ยวยุคใหม่

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยคาดว่าในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสขึ้นไปแตะระดับ 36.5 ล้านคน และในปี 2568 มีโอกาสเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน แม้นักท่องเที่ยวจีนจะพื้นตัวได้ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่ระดับ 65%-90% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของ นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักอย่างมาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย และเกาหลีใต้ รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป และตะวันออกกลาง ส่งผลให้รายได้รวมจากการท่องเที่ยวในปี 2567-2568 มีมูลค่าราว 2.65-3 ล้านล้านบาท

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 5 เดือนแรกฟื้นตัว 88% เทียบกับก่อนโควิด อยู่ในระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ยภูมิภาค แต่ยังต่ำกว่าญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม ส่วน Top5 นักท่องเที่ยวต่างชาติครึ่งปีแรก ได้แก่ จีน 3.44 ล้านคน ฟื้นตัว 61% เทียบกับปี 62, มาเลเซีย 2.44 ล้านคน ฟื้นตัว 126%, อินเดีย 1.04 ล้านคน ฟื้นตัว 106%, เกาหลี 930,000 คน ฟื้นตัว 103% และรัสเซีย 920,000 คน ฟื้นตัว 112%…..นายพชรพจน์กล่าว

ภาพรวมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งปีแรก 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 45,568 บาท/คน/ทริป ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 2562) อยู่เล็กน้อยราว 4.9% แต่สูงกว่าปี 2566 ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 43,743 บาท/คน/ทริป ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ถึง 8.7%

Top 10 จังหวัดที่ต่างชาตินิยมเดินทางไปท่องเที่ยวมากที่สุด คือ กรุงเทพ ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ กระบี่ พังงา อยุธยา และหนองคาย

โดยนักท่องเที่ยวใช้จ่ายไปกับค่าที่พักเพิ่มขึ้น 15% และค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 5.3% สวนทางกับค่าช้อปปิ้งที่ลดลง สะท้อนให้เห็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยไทยสูงกว่าช่วงก่อนโควิด แต่การใช้จ่ายยังไม่ฟื้นตัว เฉลี่ยอยู่ที่ 3,503-4,708 บาท/คน/ทริป สะท้อนกำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ อย่างไรก็ตามการกระจายรายได้สู่จังหวัดเมืองรองเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีสัดส่วนราว 13.4% ของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด ที่มีสัดส่วนเพียง 9.2%

โดยเมืองรองยอดฮิต 5 อันดับแรก คือ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม เชียงราย จันทบุรี และอุดรธานี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิด ที่ระดับ 130%-343% สะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมีความสนใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรองมากขึ้น

นายธนา ตุลยกิจวัตร นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนโควิด ที่เน้นท่องเที่ยวแบบ Mass Tourism ไปสู่การท่องเที่ยวแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ผนวกรวมกับนโยบายด้าน Soft Power ที่ภาครัฐพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านอาหารไทย และการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เกิดเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ที่มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการท่องเที่ยวไทยได้กว่า 1.35 แสนล้านบาท ประกอบด้วย

1.การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) โดยเฉพาะ Street Food ที่ได้รับความนิยมจาก นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 18.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด

2.การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) เช่น เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานกว่า 7.8 แสนคน สร้างรายได้มากถึง 2,880 ล้านบาท

3.การท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือมิวสิกวิดีโอ (Film Tourism) ล่าสุดหลังจากที่มีการปล่อย MV เพลง “ROCKSTAR” ของ Lisa มีนักท่องเที่ยวตามไปถ่ายรูปเช็กอินที่ถนนเยาวราชจำนวนมาก รวมถึงละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวสนใจเยี่ยมชมสถานที่ถ่ายทำต่าง ๆ เช่น วัดไชยวัฒนาราม เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว

4.การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) ซึ่งจากผลสำรวจโดย Booking.com พบว่า 3 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวแบบอย่างยั่งยืนในอีก 12 เดือนข้างหน้า

5.กลุ่ม Digial Nomad Tourism เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่เติบโตขึ้นตามกระแส “Workcation” รูปแบบการทำงานในโลกยุคใหม่ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่สูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปเกือบเท่าตัว ซึ่งกรุงเทพติดอันดับจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digial Nomad Tourism อันดับที่ 3 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย

6.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุ และพฤติกรรมของคนทั่วโลกที่หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตามยังมีโจทย์ท้าทายคือนักท่องเที่ยวจีนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จากภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงต้องจับตาประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวในไทย เนื่องจากเป็นเรื่องที่ชาวจีนยังมีความกังวลค่อนข้างมาก โดยความเชื่อมั่นต่ำกว่าเพื่อนบ้านอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

ผลสำรวจความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวต่างประเทศชองชาวจีน พบว่า 24% บอกว่าเที่ยวไทยปลอดภัย 39% บอกว่าไม่แน่ใจ และ 38% บอกว่าไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยท้าทายจากต้นทุนภาคธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง…..นายธนากล่าว

ด้านนางสาววีระยา ทองเสือ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เสริมว่า ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสจากเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ ดังนี้

1.ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความ ต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ธุรกิจโรงแรมปรับปรุงที่พักให้สอดรับมาตรฐาน Green Hotel หรือเข้าร่วมโครงการ Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสายรักษ์ธรรมชาติ

2.นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร อาจนำหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาช่วยเสิร์ฟอาหาร เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้เสนอให้ภาครัฐพิจารณาแนวนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นไปที่

 

  • เจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพสูง โดยอาจเพิ่มทางเลือกในส่วนของประกันสุขภาพให้กับกลุ่ม Digital Nomad ที่มาขอ Destination Thailand Visa Revealed (DTV)
  • ผลักดันให้เกิดกระแสการเดินทางเที่ยวตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในเมืองรอง โดยเชื่อมโยงกับกลุ่ม Welness Tourism ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่สามารถท่องเที่ยวในวันธรรมดาได้
  • เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงสร้างระบบด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวไทยมากขึ้น

ภาคธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ได้แก่

1.ธุรกิจโรงแรม เป็นธุรกิจแรก ๆ ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต โดยโรงแรมระดับ 4-5 ดาวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าโรงแรมทั่วไป และมีอัตราการเข้าพักแรมเฉลี่ยกลับสู่ระดับเดียวกับช่วง Pre-Covid แล้ว

2.ธุรกิจสายการบิน โดย AOT ประเมินว่าในปี 2572 จะมีจำนวนผู้โดยสารสูงถึง 170 ล้านคน และในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2577 จำนวนผู้โดยสารอาจแตะระดับ 210 ล้านคน ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินยังมี้แนวโน้มที่จะขยายตัวได้อีกมาก

3.ธุรกิจร้านอาหาร อาหารกลุ่ม Street Food, Local Food, Fine Dining Thai Cuisine รวมถึงร้านอาหารประเภท Cafe ยังคงได้รับความนิยมุจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องตามคาดการณ์ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ที่ประเมินว่าตลาดบริการอาหารของไทยในปี 2566-2571 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.72%

4.ธุรกิจค้าปลีก ได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วนกว่า 18.4% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยสินค้ายอดนิยม 3 อันดับแรกที่นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของฝากของที่ระลึก ได้แก่ เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์อาหารไทย และของที่ระลึกตามลำดับ มีการใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึง 2,621-5,331 บาท/คน/ทริป

5.ธุรกิจ Healthcare เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และแนวโน้มการเติบโตของ Wellness Tourism สะท้อนจากสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติ และรายได้ในธุรกิจ Wellness ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS คาดการณ์ GDP ปีนี้จะเติบโตที่ 2.3% โดยยังไม่รวมผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีปัจจัยหลักการการบริโภคในประเทศ การลงทุน และการท่องเที่ยว ส่วนภาคการส่งออกยังท้าทาย จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการกีดกันทางการค้าและกำแพงภาษี โดบคาดว่าส่งออกปีนี้จะเติบโตที่ 0.5-1%

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Krungthai COMPASS

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

เชียงราย ติด 1 ใน 5 ‘เมืองรอง’ ค้นหาใน อโกด้า ช่วงต้นฤดูฝนมากสุด

 

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 จากข้อมูลของ อโกด้า (Agoda) แพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ พบว่า จังหวัดเมืองรองที่นักเที่ยวชาวไทยค้นหามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จันทบุรี นครศรีธรรมราช นครนายก ราชบุรี และเชียงราย ตามลำดับ โดยจังหวัดเมืองรองเหล่านี้มีที่เที่ยวที่หลากหลาย เที่ยวได้ไม่จำเจ ตั้งแต่การออกเที่ยวเพื่อดื่มดำไปกับธรรมชาติ จนถึงการไปชิมอาหารรสชาติพื้นเมือง

 

สถิติการค้นหาเมืองรองมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึง 23% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน โดยจากทั้ง 5 เมืองรองที่ถูกค้นหามากที่สุด พบว่า นครนายก (อันดับ 3) เป็นจังหวัดที่มียอดการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ซึ่งการค้นหาเมืองรองที่เพิ่มขึ้นนี้ ชี้ให้เห็นถึงเทรนด์การท่องเที่ยวที่นักเดินทางต้องการค้นหาประสบการณ์ที่ยังไม่เคยสัมผัสมาก่อนจากเมืองรองมากขึ้น

 

Pierre Honne ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย อโกด้า กล่าวว่า ความนิยมเที่ยวเมืองรองที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวชาวไทยต้องการสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวที่หลากหลาย และต่างไปจากเดิม ความร่วมมือระหว่างอโกด้าและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เห็นได้จากการค้นหาเมืองรองโดยรวมที่เพิ่มขึ้น อโกด้ายินดีและพร้อมสนับสนุนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง เพื่อเปิดโอกาสให้จังหวัดเมืองรองที่มีความโดดเด่นในแง่มุมต่างๆ เช่น วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติ เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
 
 

เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวชาวไทย สถิติจากอโกด้ายังชี้ให้เห็นถึงปริมาณการค้นหาที่พักในจังหวัดเมืองรองของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น  โดยเมืองรองที่นักเที่ยวต่างชาติค้นหามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เชียงราย อุดรธานี นครศรีธรรมราช จันทบุรี และตรัง ตามลำดับ โดยจังหวัดเหล่านี้มีความโดดเด่นทั้งด้านวัฒนธรรม   และภูมิทัศน์ที่สวยงามหลากหลาย จึงเป็นที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยี่ยมเยียนเพื่อสัมผัสความเป็นไทย

 

ด้วยตัวเลือกที่พักที่มีความหลายหลายจากอโกด้า ไม่ว่าจะเป็นรีสอร์ทที่เงียบสงบ ไปจนถึงเกสต์เฮาส์ที่มีเสน่ห์ ช่วยให้การค้นหาที่พักสำหรับทุกการเดินทาง เช่น การเที่ยวเมืองรองในช่วงต้นฤดูฝนเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าที่เคย นอกจากนี้แพลตฟอร์มอโกด้ายังมีบริการต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ครอบคลุมในทุกความต้องการของนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวในหรือต่างประเทศ ทั่วโลก

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อโกด้า

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

เชียงรายพร้อมเป็นเมืองหลักหรือยัง หลังผ่านเกณฑ์นักท่องเที่ยวเกิน 6 ล้านคนต่อปี

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2567 นักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมากต่างพากันใส่เสื้อผ้าลายดอก เล่นสาดน้ำสงกรานต์ บนถนนสันโค้งน้อย อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คสำหรับการเล่นน้ำสงกรานต์ของจังหวัดเชียงราย  ตลอดเส้นทาง มีการสาดน้ำทั้งใช้ขัน และปืนฉีดน้ำ ดินสอพอง รวมไปถึงนำถังน้ำขึ้นหลังรถกระบะสร้างความสนุกสนานให้กับนักท่องเที่ยวอย่างมาก 
 
 
โดย ททท. คาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 2,908,600 คน ที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนเมษายน จะมีโอกาสได้เข้าร่วมงานสงกรานต์ที่จัดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย สร้างรายได้ 131,992 ล้านบาท ด้านตลาดในประเทศ คาดว่าจะมีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน 2567 ประมาณ 15.03 ล้านคน-ครั้ง และสร้างรายได้ 52,500 ล้านบาท ซึ่งงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” 2567 เมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่ผ่านมา โดยจังงหวัดเชียงราย ได้รองชนะเลิศอันดับ 1 รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ จังหวัดลำปาง ได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท ทั้งเชียงรายและลำปางถือถูกจัดเป็นเมืองรองที่เข้ามามีบทบาทและแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่พร้อมก้าวเข้ามาเป็นเมืองหลักเป็นอย่างมาก
 
 
เมืองรองคืออะไร? สำคัญยังไง? มีจังหวัดอะไรบ้าง? 
เมืองรอง (Less visited area) คือเมืองที่ไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เข้าใจง่าย ๆ คือ เป็นเมืองที่ยังมีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวในจำนวนไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นช่วงวันปกติหรือแม้แต่ช่วงเทศกาล (เมื่อเทียบกับจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ)  โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากสถิติของจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนไม่เกิน 6 ล้านคนต่อปี ซึ่งเมืองรองในประเทศไทย ประกอบไปด้วย 55 จังหวัด แยกตามภาคต่าง ๆ ได้ดังนี้
 
  • ภาคเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ลำพูน อุตรดิตถ์ ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ น่าน กำแพงเพชร อุทัยธานี พะเยา 
  • ภาคอีสาน 18 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย เลย มุกดาหาร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บึงกาฬ ยโสธร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ 
  • ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี 
  • ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ตราด จันทบุรี ปราจีนบุรี นครนายก 
  • ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง  ตรัง สตูล ชุมพร ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี

โดยเป็นผลจากการท่องเที่ยวในเมืองรองที่ขยายตัว 15.95% จากปัจจัยสนับสนุนเรื่องการดำเนินมาตรการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รวมถึงกระแสความนิยมในสังคมออนไลน์ (Social Media) และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดที่กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 

 

สำหรับเมืองรองที่มีการขยายตัวสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เชียงราย เพิ่มขึ้น 64.86% น่าน เพิ่มขึ้น 64.61% และ พะเยา เพิ่มขึ้น 53.59% ตามลำดับ

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า ปี 2566 จ.เชียงราย มีนักท่องเที่ยวไปเยือน 6,147,860 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 5,391,039 คน ชาวต่างชาติ 756,821 คน สร้างรายได้รวม 46,774 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดหรือเมื่อปี 2562 พบว่าในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเชียงรายสูงขึ้นหลายเท่าตัว โดยในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 1,023,502 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 881,178 คน และชาวต่างชาติ 142,324 คน สร้างรายได้รวม 7,959 ล้านบาท

ขณะที่การท่องเที่ยวในเมืองหลักอย่าง จ.เชียงใหม่ พบว่าลดลงเล็กน้อย 4.36% เป็นผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่กระจายการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นๆ มากขึ้น

 

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงฯ คาดแนวโน้มปี 2567 การท่องเที่ยวในภาคเหนือจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 45 ล้านคน สูงกว่าปี 2566 ที่มีนักท่องเที่ยว 39.48 ล้านคน

ด้านสถานการณ์ท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วยเชียงราย พะเยา น่าน และแพร่ พบว่าในปี 2566 ทั้ง 4 จังหวัดมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นสูงมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เมื่อเทียบกับช่วงปี 2556 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากการเติบโตของการท่องเที่ยวในเมืองรอง ส่งผลให้การท่องเที่ยวภาคเหนือในปี 2566 ขยายตัวสูงกว่าปี 2562 มากกว่า 9%

“ในปี 2566 ภาคเหนือมีนักท่องเที่ยวไปเยือนกว่า 39.48 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 34.87 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 4.61 ล้านคนเมื่อเทียบกับสถานการณ์ท่องเที่ยวในปี 2562 พบว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งหมดเพิ่มขึ้น 9.65%”

จ.พะเยา ในปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 1,099,648 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 966,706 คน ชาวต่างชาติ 42,942 คน สร้างรายได้รวม 2,292 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดเช่นกัน โดยในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 320,618 คน แบ่งเป็นชาวไทย 317,755 คน ชาวต่างชาติ 2,863 คน สร้างรายได้ 1,403 ล้านบาท

จ.น่าน ในปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 1,570,213 คน แบ่งเป็นชาวไทย 1,554,216 คน ชาวต่างชาติ 15,997 คน สร้างรายได้รวม 4,415 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 953,895 คนแบ่งเป็นชาวไทย 931,822 คนชาวต่างชาติ 22,073 คน สร้างรายได้ 411 ล้านบาท 

และ จ.แพร่ ปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 1,279,316 คน แบ่งเป็นชาวไทย 1,262,389 คนชาวต่างชาติ 16,927 คน สร้างรายได้รวม 2,962 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 865,464 คน แบ่งเป็นชาวไทย 797,280 คน ชาวต่างชาติ 68,366 คน สร้างรายได้รวม 1,760 ล้านบาท

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

เสริมท่องเที่ยวเมืองรองปลดล็อกขอใบอนุญาตโรงแรมขนาดเล็ก

 

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อให้เม็ดเงินกระจายสู่ท้องถิ่น ประชาชนได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวกว้างขวางขึ้น หน่วยงานต่างๆ ได้ปรับปรุงเกณฑ์รวมถึงออกมาตรการสนับสนุนเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย ซึ่งในส่วนของกระทรวงมหาดไทยได้ออกและปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้มีการนำอาคารประเภทอื่นมาประกอบธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กได้
 
โดยตั้งแต่ปี 2559 กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ผู้ที่ประสงค์จะนำอาคารประเภทต่างๆ เช่น ห้องแถว ตึกแถว โฮมสเตย์ สามารถปรับปรุงอาคารให้เป็นไปตามเกณฑ์และขอรับใบอนุญาตให้ใช้อาคารเป็นโรงแรม เพื่อประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมได้ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกณฑ์สามารถสนับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมให้มีการใช้อาคารที่ได้มาตรฐาน ให้ความปลอดภัยแก่ผู้รับบริการมากที่สุด
 
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงกฎกระทรวงฯ เพิ่มเติม ออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ. 2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญได้ขยายระยะเวลาของกฎกระทรวงจากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 18 ส.ค. 67 ไปสิ้นสุด 18 ส.ค. 68 เพื่อให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารมีเวลาในการแก้ไขดัดแปลงอาคารที่ก่อสร้างไว้แล้วให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ทัน
 
นอกจากนี้ กฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 4 ยังได้ปลดล็อกส่วนที่เคยเป็นอุปสรรคอื่นๆอีก โดยมีการผ่อนผันให้อาคารที่มีอยู่ก่อนวันที่ 19 ส.ค. 59 ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติในเรื่องเกี่ยวกับที่ว่างของอาคาร ช่องทางเดินในอาคาร ความกว้างของบันได ระยะถอยร่นแนวอาคาร ระยะดิ่งของอาคาร และที่จอดรถ เป็นต้น แต่อาคารที่จะเปลี่ยนการใช้ไปเป็นโรงแรมที่พักดังกล่าวต้องมีความมั่นคงแข็งแรงและมีระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัยและด้านอื่นๆ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด
 
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเล็กจะเข้าสู่ระบบรับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจโรงแรม ได้รับการดูแลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีการพัฒนาบริการที่ได้มาตรฐานสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในเมืองรองมากยิ่งขึ้นตามมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล เพิ่มโอกาสและรายได้ให้ผู้ประกอบการ เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น ขณะที่นักท่องเที่ยวก็มีทางเลือกพักโรงแรมที่หลากหลายภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย
 
กฎกระทรวง กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566  : https://t.ly/ratchakitcha.moi.dpt

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News