Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE ECONOMY

‘เบียนนาเล่ เชียงราย’ เงินสะพัดกว่า 2.4 หมื่นล้าน นักท่องเที่ยว 2.7 ล้านคน

 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาล โดย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มอบหมายให้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จัดงานมหกรรมศิลปะนานาชาติไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566 -30 เมษายน2567 โดยได้มีการประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงาน พบว่า การดำเนินงานเป็นหลักสำคัญในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ทั้งด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว และด้านการส่งเสริมเทศกาล หรือเฟสติวัล ซึ่งจากการเก็บข้อมูล ของ สศร. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สรุป ยอดผู้เข้าชมงาน จัดแสดง ใน 3 ส่วนสำคัญ ณ วันที่ 21 เมษายน รวมจำนวน 2,790,964 คน โดยแบ่งเป็นเข้าชมนิทรรศการหลัก แสดงผลงานศิลปะการจัดวางเฉพาะพื้นที่ของศิลปิน 60 คนในเขต อ.เมือง อ.เชียงแสน และอ.แม่ลาว จำนวน 17 จุด จำนวน 714,235 คน ส่วนที่ Pavilion หรือ ศาลา แสดงผลงานนิทรรศการกลุ่มของศิลปิน พิพิธภัณฑ์ และองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ 13 แห่ง มีผู้เข้าชมจำนวน 42,893 คน และในส่วน Collateral Events กิจกรรมพิเศษ มีผู้เข้าชม จำนวน 2,033,836 คน มีการเข้าถึงสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ ทาง Facebook Instagram YouTube TikTok จำนวนมากเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นของมิติศิลปะ รวม 22,403,688 ครั้ง และมีการปฏิสัมพันธ์ทางสื่อโซเชียลเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

 

นายประสพ กล่าวอีกว่า ขณะที่การเก็บข้อมูลตัวเลขเชิงเศรษฐกิจ จาก การประมาณการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่า มีนักท่องเที่ยว ใน จ.เชียงรายเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 11 เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนไม่ต่ำกว่า 24,000 ล้านบาท เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในพื้นที่ ในช่วงการจัดงาน มีการจ้างงาน 8,000 กว่าอัตรา โดยเป็นการจ้างในระบบประกันสังคม 844 อัตรา ชุมชนได้รับประโยชน์จากการจัดงาน 560 ชุมชน มีศิลปินทั้งในและต่างประเทศตั้งใจมาชมงานนี้โดยตรง 1,000 กว่าคน มี สถาบันการศึกษาทุกระดับมาดูงาน เกิน 500 กว่าแห่ง จึงเห็นภาพของจำนวนคนและการเข้าถึงงานเป็นอย่างมาก ซึ่ง นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะผู้นำการจัดงาน แสดงข้อคิดเห็นว่า ต่อไป ไม่ต้องมีคำอธิบายแล้วว่า ไทยแลนด์เบียนนาเล่คืออะไร เพราะคนไทยมีความเข้าใจ และเข้าถึงงานศิลปะแล้ว และที่สำคัญ ได้เกิดการทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐ ศิลปินไทย และต่างชาติ ช่างฝีมือ ลูกมือทำงาน เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ ระหว่างกันทำให้ศิลปิน และชาวชุมชนทุกที่มีความผูกพัน และมีความภูมิใจที่ได้ทำงานศิลปะระดับโลกให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

“ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นเกินความคาดหวัง เกิดผลทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม สศร. จะมีการถอดบทเรียนจากการจัดงานครั้งนี้ ไปทำการศึกษาวิจัย เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาการจัดงานในครั้งต่อไป ที่ จ.ภูเก็ต ในปี 2568 และจะมีการสรุปข้อมูลภาพรวมอย่างเป็นทางการโดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. หลังการจัดงาน ในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป” ผอ.สศร.

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ไฮไลต์ ‘เบียนนาเล่ เชียงราย’ 6-7 เม.ย. 67 ดนตรีของ 10 ชาติพันธุ์

 

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ประสบความสําเร็จอย่างดงามด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน รวมถึงการสนับสนุนจากคนไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางมาเที่ยวชมงานศิลปะที่จัดแสดงในสถานที่สําคัญซึ่งเชื่อมโยงแหล่งเที่ยวของจังหวัดเชียงราย ด้วยนิทรรศการหลักและกิจกรรมคู่ขนานที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 เมษายน 2567

 

นายเสริมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกิจกรรมคู่ขนานสำคัญในช่วงปลายเดือนมีนาคม จนถึงช่วงต้นเดือนเมษายน 2567 ได้แก่

1) งาน “Chiangrai Cosplay summer meeting 2024” วันที่ 30 มีนาคม 2567 โดยกลุ่มเยาวชนคอสเพลย์เชียงราย (Chiangrai Cosplay Club) ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์และพัฒนาทักษะความสามารถด้านศิลปะของคนรุ่นใหม่ที่มารวมตัวกันสร้างสรรค์กิจกรรม พร้อมออกบูธจำหน่ายของสะสมและของที่ระลึก ณ บริเวณลานใต้ต้นจามจุรี หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) 

 

2) ข่วง Crafts โดยจาก Craftsman Cafe & Spaces เครือข่ายศิลปะร่วมสมัยในจังหวัดเชียงราย ที่ตั้งใจเปิดพื้นที่ให้ผู้สร้างงานศิลปะได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน โดยจัดกิจกรรมต่อเนื่องทุกวันเสาร์ – อาทิตย์แรกของเดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เป็นต้นมา เช่น กิจกรรม Workshop โดยสมาชิกศิลปินสมาชิก งาน Paint โมเดลจิ๋ว, การระบายสีน้ำ, งานผ้า และงานเพนต์ก้อนหิน โดยล่าสุดข่วง Crafts ร่วมกับ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 และ สสส. จัดกิจกรรม “ปิดเทอมสร้างสรรค์ อัศจรรย์วันว่าง” เพื่อเปิดโอกาสการเรียนรู้ทางศิลปะให้แก่เยาวชนในช่วงปิดเทอมได้เข้าร่วม Class เรียนศิลปะสำหรับเด็ก เรียนรู้พื้นฐานเส้น การเล่นสี การวาดรูปและฝึกใช้จินตนาการสร้างผลงานศิลปะขั้นพื้นฐาน ในวันที่ 30-31 มีนาคม 2567 ณ Craftsman Cafe And Spaces หมู่บ้านลานทอง จังหวัดเชียงราย

 

นายเสริมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า 3) กิจกรรมไฮไลต์สำคัญ คือ เทศกาลดนตรีชาติพันธุ์ “กวาคีลา : เป่า ร้อง กลอง รำ เปิดโลกวิถีวัฒนธรรมดนตรีชาติพันธุ์เมืองเชียงราย” ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีของ 10 ชาติพันธุ์เมืองเชียงราย ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ อาข่า อิ้วเมี่ยน ม้ง ลีซู ลาหู่ บาเกียว ปกาเกอะญอ ดาราอ้าง  คะฉิ่น ขมุ และลัวะ ในวันที่ 6-7 เมษายน 2567 ภายใต้ความร่วมมือของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.องอาจ อินทนิเวศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กิจกรรมการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยที่จะเนรมิตบรรยากาศของหอศิลป์   ร่วมสมัยเมือง เชียงราย (CIAM) ให้อบอวลไปด้วยเสียงดนตรีอันเป็นเครื่องมือสื่อสารวิถีวัฒนธรรม อันหลากหลาย จากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยกิจกรรมทีน่าสนใจในเทศกาล  เช่น นิทรรศการให้ความรู้เรื่องดนตรีชาติพันธุ์ของแต่ละกลุ่ม การแสดงดนตรีพื้นเมืองจากวงดนตรีนักเรียน  ในจังหวัดเชียงราย การแสดงดนตรีจากวงดนตรีกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมสมัย การเสวนาจากนักวิชาการด้านดนตรี การเสวนาจากปราชญ์ชาติพันธุ์ท้องถิ่น การออกร้านจำหน่ายอาหารและสินค้าของกลุ่มชาติพันธุ์ และกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านชาติพันธุ์ โดยรอบบริเวณงาน ขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่สายอาร์ตมาร่วมกิจกรรม Collateral Event เปิดมุมมองใหม่ ส่งเสริมเศรษฐกิจและภาคภูมิใจไปกับอัตลักษณ์ของเมืองเชียงราย ในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ซึ่งยังคงจัดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 นี้

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE VIDEO

(มีคลิป)เก็บข้อมูลชาติพันธุ์ดาราอางและอิ้วเมี่ยน เตรียมงาน เบียนนาเล่ เชียงราย

 

วันอาทิตย์ที่ 5 พ.ย.2566 เวลา 9.30 น.ได้ลงพื้นที่บันทึกการเล่นดนตรีและศิลปะการแสดง ของพี่น้องชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน บ้านห้วนแม่ซ้าย  ม.11 ต.แม่ยาว อ.เมือง ถึงเวลา 12.30 น. ซึ่งจากข้อมูลวารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร ของณัฐนนท์ จิรกิจนิมิตร สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่า “เมี่ยน” หรือ “อิ้วเมี่ยน” มักเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “เย้า” เมี่ยนเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงตั้งชุมชนกระจายอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมีวิถีการดำรงชีพหลักคือ ทำเกษตรแบบกึ่งยังชีพบนพื้นที่สูง รวมถึงมีความจงรักภักดีและความเชื่อต่อเทพเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการนับถือระบบเครือญาติแบบแซ่ ตระกูล และผีบรรพบุรุษ

 

 

ต่อมาคณะได้เดินทางไปบ้านพี่น้องดาราอาง บ้านโป่งเหนือ ม.8 ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย จึงถึงเวลา 16.30 น. ดาราอาง เดิมตั้งถิ่นฐานในตอนเหนือของรัฐฉาน ภายใต้อาณาจักรไตมาว จากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองทำให้ชาวดาราอางได้หลบหนีภัยสงครามมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่ ชาวดาราอาง ถือเป็นกลุ่มตนที่มีความโดดเด่นด้านการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสดใส ทางทีมงานนำโดย ผศ. ดร.องอาจ อินทนิเวศ  จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเป็นผู้ดำเนินการเก็บข้อมูล เพื่อเตรียมงาน เบียนนาเล่ เชียงราย ในวันที่ 9-10 มีนาคม 2567 

 

 

โดยได้รับความร่วมมือและความพร้อมเพียงจากตัวแทนพี่น้องเราตั้งใจอย่างเต็มที่และสวยงาม ขอขอบคุณผู้ประสานงานทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนงานนี้ให้เกิดความเป็นวัฒนธรรมที่สวยงามต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News