ไทยชู Soft Power เนื้อหอมเทศกาลเมืองคานส์ เปิดโต๊ะเจรจาการค้ากว่า 2,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่ วธ. ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสัญลักษณ์ Content Thailand ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ (Cannes Film Festival 2023) ณ เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 16-27 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ประเทศไทยสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย และขยายตลาดภาพยนตร์ไทยสู่ระดับนานาชาติ และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทยได้ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศผ่านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณี (Festival) ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายอิทธิพล กล่าวว่า สำหรับการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีว่ามีภาคเอกชนเข้าร่วมงาน 12 บริษัท อาทิ Benetone Films, BrandThink, Film Frame Productions, GDH 559, Halo Productions, Kantana Motion Pictures, M Pictures, Right Beyond, Sahamongkolfilm International และ Yggdrazil Group เนรมิตรหนัง ฟิล์ม และเวลา เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ซึ่งให้ความร่วมมือในหลากหลายกิจกรรม อาทิ กิจกรรมตลาดซื้อขายภาพยนตร์ และนิทรรศการคูหาประเทศไทย (Thailand Pavilion) โดยมีมูลค่าการเจรจาการค้ารวมกว่า 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ไฮไลท์ของคูหาประเทศไทย คือการจัดกิจกรรม Thai Film Pitching Project 2023 นำเสนอโครงการการสร้างภาพยนตร์เพื่อการร่วมลงทุน 2 เรื่อง ได้แก่ ทองหล่อคิดส์ โดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ และ เจ้าหงิญ โดย เอมอัยย์ พลพิทักษ์ ซึ่งขณะนี้มี 43 บริษัท ที่สนใจเข้าร่วมลงทุนมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ตลอดการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมคูหาประเทศไทยจำนวนมากกว่า 600 ราย รวมถึงมีผู้ผลิตภาพยนตร์ที่สนใจและมีแผนจะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักรไทย จำนวน 21 ราย จาก 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส กรีซ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ อินเดียและออสเตรเลีย โดยมีแผนใช้เงินลงทุนรวมกว่า 3,800 ล้านบาท
โดยรายละเอียดการเข้ามาติดต่อสอบถามในประเด็นหลัก ๆ อาทิ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในประเทศไทย การร่วมทุนผลิต (Co-Production) และการหาทุนในการสร้างภาพยนตร์ในประเทศไทย การจัดเทศกาลภาพยนตร์ในระดับประเทศและระดับนานาชาติในประเทศไทย (Film Festival) และการสนับสนุนด้านเงินทุนในการผลิตภาพยนตร์ (Film Funding) นอกจากนี้ ในวันเปิดคูหาประเทศไทยยังมีอาหารไทยให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักท่องเที่ยว ได้ลิ้มลอง ได้แก่ ส้มตำ ข้าวผัดกุ้ง ข้าวเหนียวมะม่วง และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทย ช่วยสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศสร้างความมั่งคั่ง มั่นคงตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม