Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

‘สมพงศ์’ ย้ำคุมเข้มริมเขื่อนแม่สรวย ออกกฎเหล็ก รับนักท่องเที่ยว

เทศบาลตำบลเวียงสรวยออกระเบียบเข้มคุมซุ้มริมน้ำแม่สรวย รับนักท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์

เชียงราย, 26 มีนาคม 2568 – จากกระแสการใช้บริการซุ้มริมน้ำบริเวณเหนือสะพานหน้าอ่างเก็บน้ำแม่สรวย ตำบลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ที่มีการเก็บค่าบริการต่าง ๆ และเกิดประเด็นเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ของประชาชน ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์ได้สัมภาษณ์นายสมพงศ์ เจาะเส็น นายกเทศมนตรีตำบลเวียงสรวย ผู้รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว เพื่อสอบถามถึงแนวทางการจัดการและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นายสมพงศ์ เจาะเส็น เปิดเผยว่า ทางเทศบาลตำบลเวียงสรวยได้จัดการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ และออกระเบียบข้อบังคับเพื่อควบคุมการดำเนินงานของร้านค้าและซุ้มริมน้ำบริเวณลำน้ำท้ายเขื่อนแม่สรวย โดยระเบียบดังกล่าวครอบคลุมถึงการเก็บค่าบำรุงรักษาขยะ การกำหนดจุดต่าง ๆ ให้ชัดเจน และการบังคับให้ผู้ประกอบการทุกซุ้มต้องจัดให้มีเสื้อชูชีพสำหรับนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการล่องแพ เพื่อความปลอดภัย ส่วนการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น จะยึดตามกฎหมายทั่วไป โดยไม่มีข้อยกเว้นให้เป็นพื้นที่พิเศษ และกำหนดให้ทุกร้านค้าปิดให้บริการในเวลา 18:00 น. พร้อมกันทั้งหมด

ดูแลความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชนและนักท่องเที่ยว

สำหรับกรณีที่ประชาชนรู้สึกว่าได้รับการเอาเปรียบจากร้านค้าหรือการให้บริการที่ไม่เป็นธรรม นายกเทศมนตรีตำบลเวียงสรวยยืนยันว่า ได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดบริเวณเขื่อนแม่สรวยเพื่อรับเรื่องร้องเรียน และประสานงานกับโรงพยาบาลแม่สรวย รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่สรวย เพื่อดูแลความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชนและนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังได้เตรียมแผนรับมือการจราจรในช่วงวันหยุดและเทศกาล โดยขอความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เพื่อความสะดวกในการเดินทาง

ในประเด็นเรื่องภัยแล้ง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเคยแสดงความกังวลนั้น นายสมพงศ์ระบุว่า ได้ประสานงานกับกรมเจ้าท่าและกรมชลประทานในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเบื้องต้นยังคงยึดกำหนดการเดิม แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้ทราบทันที โดยคำนึงถึงปริมาณน้ำเป็นหลัก เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนที่ต้องการน้ำสำหรับการเกษตร

 

ปรับร้าน 5,000 บาท ถ้าผิดข้อปฏิบัติ

ผู้ประกอบการร้านค้า ผู้ประกอบการซุ้มริมน้ำ ลำ ลำแม่สรวยทุกร้าน ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่ทางกลุ่มและส่วน

ราชการกำหนดไว้เท่านั้น ตามข้อปฏิบัติทั้งหมดที่ได้ตกลง และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ทำขึ้นมา รวมถึงการ

กำหนดราคาอาหารและเครื่องดื่ม ถ้าผู้ประกอบการเจ้าไหนไม่ปฏิบัติดามนี้ เมื่อมีลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวมา

ร้องเรียน โดยสืบทราบแล้วว่าผู้ประกอบการผิดจากข้อปฏิบัตินี้จริงครั้งแรกให้ปรับเข้ากลุ่ม 5,000 บาท แต่ถ้า

ผิดเป็นครั้งที่สอง ให้ทางคณะกรรมการดำเนินารปิดร้านนั่นทันทีไม่ให้ประกอบกิจการในฤดูการนี้อีก

รายละเอียดระเบียบข้อบังคับสำหรับผู้ประกอบการเบื้องต้น

จากการประชุมเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลเวียงสรวย มีมติร่วมกันกำหนดระเบียบข้อบังคับสำหรับผู้ประกอบการร้านค้าและซุ้มริมน้ำบริเวณลำน้ำแม่สรวย ดังนี้:

  1. การลงทะเบียน: ผู้ประกอบการทุกรายต้องแจ้งความประสงค์และลงทะเบียนก่อนตั้งร้านค้า พร้อมรับฟังระเบียบข้อบังคับ
  2. การจัดการขยะ: ร้านค้าและซุ้มริมน้ำต้องแยกขยะ ห้ามทิ้งลงน้ำโดยเด็ดขาด และต้องรักษาความสะอาด หากพบการสะสมขยะหรือมีกลิ่นเหม็นจนไม่ผ่านการตรวจจากสาธารณสุข จะถูกสั่งปิดร้านทันทีจนกว่าจะแก้ไข
  3. การตั้งซุ้ม: เมื่อสร้างซุ้มเสร็จ ต้องลงทะเบียนจำนวนซุ้มทันที
  4. การประชุม: จัดประชุมผู้ประกอบการตามความเหมาะสมหรือตามสถานการณ์
  5. ค่าบำรุงร้านค้า: ร้านค้าหน้ากว้างไม่เกิน 3 เมตร เก็บ 100 บาท หากเกิน 3 เมตร เก็บ 200 บาท
  6. ค่าบริการซุ้มริมน้ำ: ซุ้มหน้ากว้าง 2 เมตร เก็บ 100 บาท อัตราค่าบริการซุ้มกำหนดที่ 20 บาทต่อคน โดยไม่จำกัดเวลา
  7. ลานจอดรถ: พื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่ เก็บ 100 บาทต่อฤดูกาล หากเกิน 2 ไร่ เก็บ 300 บาท
  8. ห่วงยาง: ค่าบำรุง 500 บาทต่อฤดูกาล จำนวนไม่เกิน 20 ห่วงต่อผู้ประกอบการ
  9. ป้ายราคา: ต้องติดป้ายราคาอาหารและสินค้าอย่างชัดเจน หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกสั่งหยุดดำเนินการจนกว่าจะแก้ไข
  10. การทะเลาะวิวาท: ห้ามผู้ประกอบการหรือพนักงานทะเลาะกับลูกค้า หากฝ่าฝืนปรับ 2,000 บาทต่อคน และดำเนินคดีตามกฎหมาย
  11. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ร้านค้าต้องติดป้ายห้ามจำหน่ายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี
  12. การบริการ: ต้องให้บริการด้วยความเสมอภาคและสุภาพ หากพบการเอาเปรียบให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
  13. สิ่งผิดกฎหมาย: ห้ามจำหน่ายยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมาย หากพบจะถูกดำเนินคดีและห้ามประกอบการต่อ
  14. การวางโต๊ะ: ห้ามวางโต๊ะหรือเก้าอี้กลางลำน้ำ
  15. หน้าร้าน: ร้านค้าต้องตั้งในที่ดินเอกชน ห้ามรุกล้ำถนนหรือขวางการจราจร
  16. การเร่ขาย: ห้ามเร่ขายในลำน้ำ หากพบจะยึดของและให้ไปตั้งร้านตามระเบียบ
  17. ภาชนะ: ห้ามใช้โฟมหรือพลาสติก ใช้ภาชนะกระดาษหรือชานอ้อย ยกเว้นอาหารต้มหรือแกง
  18. เครื่องเสียง: ห้ามใช้รถติดเครื่องเสียงเปิดเพลงดังรบกวน
  19. การรดน้ำถนน: ผู้ประกอบการต้องรดน้ำถนนหน้าร้านเพื่อลดฝุ่น
  20. การส่งของ: รถส่งของต้องมาถึงก่อน 10:00 น. หากเกินเวลาให้รับเอง
  21. การปฏิบัติตามระเบียบ: ผู้ฝ่าฝืนครั้งแรกปรับ 5,000 บาท ครั้งที่สองปิดร้านทันที
  22. ราคาอาหารและเครื่องดื่ม: กำหนดราคาสูงสุด เช่น ปลาเผา 180 บาท, ส้มตำ 50-80 บาท, เบียร์ถาดละ 900-1,000 บาท

ความเป็นมาของการจัดระเบียบ

การจัดระเบียบนี้สืบเนื่องจากการประชุมเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีนายปฤษฎางค์ สามัคคีนิชย์ นายอำเภอแม่สรวย เป็นประธาน หลังจากเทศบาลตำบลเวียงสรวยได้รับคำร้องจากนายนิธิศ ชัยยา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 บ้านตีนดอย และนายสมหมาย สินเปียง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 บ้านริมทาง ขออนุญาตใช้พื้นที่เหนือสะพานหน้าอ่างเก็บน้ำแม่สรวย เพื่อจัดทำร้านค้าและซุ้มชั่วคราวสำหรับกิจกรรมล่องแพเปียก สร้างรายได้ให้ชุมชน โดยมีผู้ประกอบการจาก 2 หมู่บ้าน จำนวน 36 ราย ร่วมกับกลุ่มแพเปียกเดิม ซึ่งที่ประชุมมีมติอนุมัติ และมอบหมายให้เทศบาลตำบลเวียงสรวยจัดสรรล็อคให้เหมาะสม

นายอำเภอแม่สรวยฝากย้ำถึงการปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด รวมถึงการดูแลความปลอดภัย เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการท่องเที่ยวอำเภอแม่สรวย ซึ่งเป็นจุดหมายยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการล่องแพและพักผ่อนคลายร้อน ด้วยลำน้ำที่ใสเย็นจากยอดดอย

ความสำคัญของการท่องเที่ยวแม่สรวย

การล่องแพเปียกบริเวณเขื่อนแม่สรวยเป็นกิจกรรมประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างจังหวัดเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปีสะท้อนถึงความนิยมของแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ ซึ่งมีจุดเด่นคือน้ำใสเย็นจากต้นน้ำธรรมชาติ เหมาะสำหรับการพักผ่อนในช่วงฤดูร้อนและเทศกาลสงกรานต์

ความเห็นจากทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายผู้ประกอบการ

ผู้ประกอบการบางรายเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดยมองว่าจะช่วยสร้างความปลอดภัยและเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลเกี่ยวกับต้นทุนในการจัดเตรียมเสื้อชูชีพและการจัดการขยะ ซึ่งอาจเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย

ฝ่ายประชาชนและนักท่องเที่ยว

ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่มองว่ามาตรการนี้เป็นสิ่งที่ดีและจำเป็น โดยเฉพาะการบังคับใช้เสื้อชูชีพเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ แต่บางส่วนยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอัตราค่าบริการที่อาจสูงเกินไป

สถิติที่เกี่ยวข้อง

  1. ปริมาณนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย: จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย ปี 2566 พบว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงรายมีจำนวน 2.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มี 1.8 ล้านคน (ที่มา: ททท. สำนักงานเชียงราย)
  2. ผลกระทบจากน้ำท่วมในเชียงราย: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ในปี 2567 จังหวัดเชียงรายเผชิญน้ำท่วมใน 12 อำเภอ ส่งผลกระทบต่อครัวเรือน 15,000 ครัวเรือน และพื้นที่เกษตร 50,000 ไร่ (ที่มา: ปภ. รายงานสถานการณ์น้ำท่วม 2567)
  3. การจัดการขยะจากการท่องเที่ยว: กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ในปี 2566 แหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยผลิตขยะเฉลี่ย 1.2 กิโลกรัมต่อนักท่องเที่ยว 1 คนต่อวัน (ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ)

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : 

  • ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์
  • เทศบาลตำบลเวียงสรวย
  • การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
  • กรมควบคุมมลพิษ
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

ยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัย ท่องเที่ยวทางน้ำลำน้ำแม่สรวย

 

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้องประชุมราชาวดี โรงแรม เชียงรายแกรนด์รูม จังหวัดเชียงราย นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมยกระดับมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัยกิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำลำน้ำแม่สรวย ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ โดยมี ส่วนราชการ หน่วยงาน ผู้ประกอบการผู้ให้บริการท่องเที่ยวชุมชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว และเตรียมตัวเข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย

 

นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า อำเภอแม่สรวย เป็นอีกหนึ่งอำเภอที่ยังคงมีอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยววิถีชีวิตวัฒนธรรมล้านนา โดยเน้นคุณค่าความยั่งยืนควบคู่วิถีถิ่นร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นวัดแสงแก้วโพธิญาณ วัดพระธาตุจอมแจ้ง ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เขื่อนแม่สรวย เป็นต้น โดยเฉพาะเขื่อนแม่สรวยนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีน้ำแม่สรวย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของน้ำแม่ลาว จะมีการล่องแพเปียกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ปีใหม่เมือง) ในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม ของทุกปี อีกทั้งยังถือได้ว่าเป็นกิจกรรมประจำปีที่สำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชน และประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก
 
 
ในปัจจุบันการให้บริการกิจกรรมล่องแพเปียกลำน้ำแม่สรวย เป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำจังหวัดเชียงราย แต่ยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานการให้บริการของบุคลากรให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดรวมทั้งการคำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวในการประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำให้ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ
 
สำหรับการจัดกิจกรรมยกระดับมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัยกิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำลำน้ำแม่สรวย ในครั้งนี้เป็นพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและผู้ให้บริการกิจกรรมล่องแพ และแพบริการ เพื่อการท่องเที่ยวให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว และเตรียมตัวเข้าสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัยกิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำ ให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านความปลอดภัย รวมถึงผู้ประกอบการยังสามารถจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยง และมาตรการเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวได้ 
 
 
ถือเป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยตามแนวทางที่ถูกต้องของกรมการท่องเที่ยว อีกทั้งยังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัย พึงพอใจ และประทับใจในการให้บริการ สามารถบอกต่อและกลับมาใช้บริการซ้ำอย่างต่อเนื่องต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

นายอำเภอแม่สรวยลงพื้นที่ “แก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าสงวน”

 
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย บ้านดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอแม่สรวย เป็นประธานการประชุมคณะทำงานตรวจสอบแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติท้องที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย 
 
จากนั้นได้ปล่อยแถวคณะทำงานฯ จำนวน 4 ชุดปฏิบัติการ ได้แก่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย กองร้อย ตชด.ที่ 327 ที่ทำการปกครองอำเภอแม่สรวย กองร้อย อส. อ.แม่สรวยที่ 12 กำนันตำบลวาวี ผู้ใหญ่บ้าน สภ.แม่สรวย หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้แม่สรวย และองค์การบริหารส่วนตำบลวาวี ออกตรวจสอบพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 20 จุด 
 
 
โดยตรวจสอบข้อมูลการถือครองที่ดินที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย รวมถึงสถานที่ที่ทำการก่อสร้าง ที่ลักษณะเป็นอาคารที่พัก รีสอร์ท หรือโฮมสเตย์ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ซึ่งสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) เป็นผู้รวบรวมข้อมูล และนำผลการตรวจพื้นที่ไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลการถือครองที่ดินที่ทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัยของอาคาร ตลอดจนความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย อีกทั้งได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในพื้นที่ชะลอการก่อสร้าง หากพบการฝ่าฝืน จะมีการจับกุมดำเนินคดีทันที และจะมีผลต่อการพิจารณาจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามแนวนโยบาย คทช.ต่อไป
 
 
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอแม่สรวย ได้สั่งการให้ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และด่านชุมชน ระดับตำบล หมู่บ้าน ออกตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยภายใต้ “อำเภอบำบัดทุกข์บำรุงสุข” ภายใน 2 หมู่บ้าน ได้แก่หมู่ 10 บ้านห้วยม่วง ตำบลแม่สรวย และหมู่ที่ 22 บ้านเหล่าพัฒนา ต.ป่าแดด พบว่าทั้ง 2 หมู่บ้าน สถานการณ์สงบเรียบร้อยปลอดภัย
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News