Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

บพข. ผนึกกำลังภาคเอกชน ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567, แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดเวทีเสวนา “การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล” ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย และการบรรยายพิเศษ” และ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. บรรยายในหัวข้อ “แนวทางการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล” ณ ห้อง 211 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

 

ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า “มูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรม Wellness Economy ของโลกลดลงในช่วง COVID-19 แต่หากมองภาพในระยะยาวปี 2020-2025 จะพบว่าอุตสาหกรรมนี้โดยรวมมีแนวโน้มกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยเฉลี่ยต่อปีจะเติบโตสูงถึงประมาณ 10% และเมื่อเจาะลึกลงไปเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) พบว่าเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 21% และจากการสำรวจของ Medical Tourism Index 2020-2021 ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 17 จาก 46 ประเทศ ซึ่งประเทศมีศักยภาพในการเป็นผู้นำทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ หากผสมผสานความเป็นไทย (Thainess) ที่มีจุดแข็งทางด้านวัฒนธรรมและประชาชนที่เป็นมิตร สามารถสร้างความรู้สึกและประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ที่มาเยือนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาซื้อได้

“การออกแบบงานวิจัยให้ตอบสนองความต้องการของเทรนด์การนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบ่งเป็น
2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ที่มองหาประสบการณ์ท่องเที่ยวเพื่อดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองเป็นหลัก ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอบริการไม่ว่าจะเป็น การอาบป่า (Forest Bathing) หรือการเข้าป่าเพื่อบำบัดและใช้เวลาท่ามกลางธรรมชาติ ไปจนถึง การท่องเที่ยวเพื่อการนอนหลับ (Sleep Tourism) และ 2) กลุ่มผู้ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่มองหาช่วงเวลาพักผ่อนระหว่างนั้น เช่น บริการให้คำปรึกษาโดยบำบัดออนไลน์สำหรับแขกผู้เข้าพัก เป็นต้น”ดร.วีระศักดิ์ กล่าวเสริม

 

ผศ.สุภาวดี กล่าวว่า “แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เห็นความสำคัญของการวิจัยด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้วยการพัฒนากรอบแนวคิดการวิจัยเพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง โดยสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการร่วมกันทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ได้แก่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัตน์ สมาคมสปาไทย และสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย ร่วมกับนักวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย ซึ่งผลความสำเร็จในวันนี้ มีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GHA Well Hotel 1 แห่ง และผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย GBAC Star 9 แห่ง ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลที่สร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย นอกจากนี้ได้วางแผนขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ผ่านการสนับสนุนการจัดเตรียมความพร้อมทางด้าน Supply และส่งเสริมการตลาดในกลุ่ม Wellness, Rehab & Retreat, Longstay และ Tourism for All เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงธุรกิจบริการอื่นๆได้”

“แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมด้วยเครือข่าย มีเป้าหมายสำคัญร่วมกันคือ
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมถึงทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการ นำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ภายใต้ความร่วมมือกับผู้ประกอบการ การออกแบบแผนงานทางด้านตลาด ในกลุ่มการท่องเที่ยวเพื่อคนมั้งมวล หรือ Tourism For All ซึ่งผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในปี 2570 ผลตอบแทนจากการลงทุน Return on Investment หรือ ROI ต้องขยับได้ 3.5 เท่า หรือประมาณ 3-4 พันล้านบาท และในอนาคต ปี 2567-2570 กลุ่มการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเป็น Key หลักในการขับเคลื่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการ Net Zero Pathway และเชื่อมกับมาตรฐานสากลต่อไป สำหรับด้านของการตลาดเป็นภารกิจของหน่วยงานหลักอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. โดยมีนักวิชาการ คณะนักวิจัยกลุ่มท่องเที่ยว บพข.หนุนเสริม ทั้งด้านของ Market Foresight และการสำรวจเทรนด์ในปัจจุบัน ตลอดจนสนับสนุนการจัดเตรียมความพร้อมด้าน Supply ในการรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่าน Soft Power ต่อไป” ผศ.สุภาวดี กล่าวทิ้งท้าย

 

สำหรับเวทีเสวนา “การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล เป็นเวทีที่รวมพลังนักวิชาการด้านสุขภาพแถวหน้าของเมืองไทย ผนึกกำลังผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวผู้คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ประกอบด้วย ศ.ดร.เกียรติคุณ วิภาดา คุณาวิกติกุล รองอธิการบดี ส่วนวิทยาศาสตร์สุขภาพ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และผอ.ชุดแผนงานการยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง บพข. รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหัวหน้าโครงการการพัฒนาการตลาดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่อันดามันและพื้นที่เชื่อมโยงรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มฟื้นฟูสุขภาพ ดร.เกษวดี พุทธภูมิพิทักษ์ หัวหน้าโครงการการยกระดับและส่งเสริมผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูสุขภาพสำหรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงภูมิภาคเอเชียตะวันออก คุณนิธิ สืบพงษ์สังข์ ผู้ประกอบการนำเที่ยวบริษัท Nutty’s Adventures พร้อมด้วย คุณชวนัสถ์ สินธุเขียว ประธานสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย โดยมี ผศ.อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศ.ดร.เกียรติคุณ วิภาดา เผยว่า “การผลักดัน Wellness Tourism ประเทศไทยให้สำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการพัฒนาต่อยอด ทั้งด้านของการพัฒนาด้านคุณภาพ มีการส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยีทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้นความเป็นไทย และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาควิชาการกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ”

รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวว่า ในเวทีแห่งนี้เราทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกัน คือ การท่องเที่ยวคุณค่าสูง ซึ่งจะนำไปสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูงต่อไป นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ ผลงานที่ทำ ณ ขณะนี้การต่อยอดจากฐานงานเดิมในปีที่ผ่านมา โดยโฟกัสที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) คือ การเดินทางท่องเที่ยวเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมและมีการประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในด้านต่างๆ ในพื้นที่อันดามัน ได้แก่ 1) การท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Tourism) ทำคนดีให้ไม่ป่วย 2) การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ทำให้คนป่วยหายดี และ 3) การท่องเที่ยวเชิงบําบัดสุขภาพ และ (Rehabilitation Tourism) เพิ่มพลังให้แข็งแรง

“ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างมากทั้งคุณภาพด้านการดูแลรักษา พร้อมกับศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว พบว่ามูลค่าการตลาดการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ มีมูลค่า 34.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 จาก 218 ทั่วโลก และได้อันดับ 9 จาก 45 ประเทศในภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยนั้นมีปัจจัยด้านบวกอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้ง ค่ารักษาที่ไม่สูง ภูมิปัญญาท้องถิ่น แพทย์แผนไทย นวดไทยตามวิถีถิ่น แหล่งท่องเที่ยว ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งเรามี SOFT POWER ของไทยที่เป็นทุนที่แข็งแรงของเรา เป็นต้น” รศ.ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวเสริม

ด้าน ดร.เกษวดี กล่าวว่า  สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงภูมิภาคเอเชียตะวันออก เราได้นำผลงานวิจัยภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ซึ่งเป็น Stock of Knowledge นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ (Research Utilization) เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงฟื้นฟูให้เข้าถึงตรงใจนักท่องเที่ยวในหลายกลุ่มเป้าหมาย เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ อาทิ ITE Hong Kong 2024 และงาน Road Show ในหลายประเทศ โดยได้รับร่วมมือและการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ซึ่งทุกครั้งได้รับการตอบรับอย่างดีเป็นที่พึงพอใจ นอกจากนี้ ยังได้มีการแนะนำผลิตภัณฑ์ฯ เข้าสู่ตลาดผ่าน BNI ซึ่งเป็น B2B Platform และไม่นานเกินรอ เราจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ฯ นี้ ที่งาน Travel Show ในเกาหลีใต้ และ ITB ASIA  ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการเชื่อมต่อกับนักท่องเที่ยวระดับโลก

ด้านของ ชวนัสถ์ ประธานสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย เผยว่า ตลาดสุขภาพที่เฟื่องฟู คือ การที่ผู้บริโภคมุ่งที่จะใช้จ่ายไปกับผลิตภัณฑ์และบริการมากขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อปรับปรุงสุขภาพ สมรรถภาพทางกาย โภชนาการ รูปร่างหน้าตา การนอนหลับ และการ เจริญสติ เช่น กำหนดลมหายใจ การนั่งสมาธิ และการเดินสมาธิ เป็นต้น

ขณะที่นายนิธิ จาก บริษัท Nutty’s Adventures เผยว่า Tourism For All – All For Tourism การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล คือ การสร้างทุกโอกาสเพื่อคนทุกคนได้เดินทางท่องเที่ยว ต้องสร้างความตื่นรู้และความเข้าใจ รวมถึงการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน ปัจจุบันมีการทำงานร่วมกับ รพ.ศิริราช เพื่อดูว่าโปรแกรมที่โรงพยาบาลมี สามารถที่จะต่อยอดเป็นแพ็คเก็จการท่องเที่ยวอย่างไร และมองว่าทำอย่างไรให้คนมาใช้บริการได้รับการต้อนรับที่ดีกลับไป นี่คือสิ่งสำคัญ ในอนาคตอันใกล้เราจะมีการจัด FAM Trip เพื่อที่จะเตรียมความพร้อมในการที่จะรองรับนักท่องเที่ยวทั้งเพื่อคนทั้งมวลอย่างดีที่สุดต่อไป

ในการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากลนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำองค์ความรู้จากภาควิชาการมาหนุนเสริมการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562-2567 แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.มีนักวิจัยกว่า 85 คนจากกว่า 20 มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพข. ให้ดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์ไปขายจริงในงาน Trade Show และ Road Show ต่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงตลาดในระดับสากล ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้คณะนักวิจัยจาก บพข.นำโดยผศ.สุภาวดี โพธิยะราช จะมีภารกิจนำผลงานวิจัยทางด้านสปาและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไปนำเสนอในงาน South by Southwest (SXSW) 2024 ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นหนึ่งงานสำคัญที่เปิดโอกาสในการสร้างเครือข่ายและผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยสู่ระดับสากลต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

งานวิจัยท่องเที่ยว บพข. คว้ารางวัล PMUC COUNTRY 1st AWARD

 

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567, นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ให้เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล PMUC COUNTRY 1st AWARD ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ เพื่อมอบรางวัลให้กับนักวิจัย ผู้ประกอบการที่ได้ผลิตผลงานที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย สร้างพลังต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ โดยมี รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณะนักวิจัย และผู้เข้าชมงาน เข้าร่วม โดย 1 ใน 13 โครงการจาก 1,600 โครงการ ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ คือ ผลการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ” ภายใต้การบริหารงานของแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. โดยมี อาจารย์นวลสมร อุณหะประทีป หัวหน้าโครงการ ขึ้นรับรางวัล โดยพิธีมอบรางวัลนี้จัดขึ้น ณ เวทีย่อย โซน D Science For Exponential Growth ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ กล่าวว่า “กระทรวง อว. มีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และ อุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนการสร้างระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาจุดแข็งของประเทศ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด และพร้อมสำหรับการแข่งขันบนเวทีโลก อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุน พัฒนา SME และ Startup ที่มีศักยภาพให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยใช้องค์ความรู้และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของ บพข. นับเป็นการเร่งสร้างให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอย่างตรงจุด เสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

 

รางวัล PMUC Country 1st Award ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้คัดเลือก 13 โครงการ จาก 1,600 โครงการ ซึ่งคัดเลือกจากผลงานวิจัยเสร็จสมบูรณ์ออกสู่ตลาด หรือเกิดการประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมแล้ว หรือเป็นงานวิจัยเตรียมพร้อมสำหรับการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ และที่สำคัญเป็นผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างสูง โดย 1 ใน 13 โครงการที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในครั้งนี้ คือ ผลการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ” โดยมี อาจารย์นวลสมร อุณหะประทีป อาจารย์คณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับคณะนักวิจัย ผศ.ดร. โชคชัย สุเวชวัฒนกูล จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บริษัท ซีพาร์ทเนอร์ โซลูชั่น จำกัด และบริษัท บางแสนบีช รีสอร์ท จำกัด ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยจาก แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. โดยมี


ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. พร้อมด้วยสำนักประสานงานพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกำกับดูแลและหนุนเสริมการทำงานของคณะนักวิจัยที่มุ่งขับเคลื่อนการท่องเที่ยวมูลค่าสูง เน้นการออกแบบโปรแกรมและกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ และตอบโจทย์การยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศ

 

อาจารย์นวลสมร เผยว่า “การขอรับรองตรามาตรฐาน GBAC STAR ของไทย เป็นการร่วมมือผ่านงานวิจัยภายใต้โครงการการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ที่นักวิจัยและวิชาการจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยงบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ทำงานร่วมกับแต่ละสถานที่เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานเดิมที่สถานประกอบการหลายๆแห่งในไทยเคยพัฒนาระบบมาตรฐานสุขอนามัยผ่านระบบ SHA และ SHA+ ที่ดำเนินการโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และกระทรวงสาธารณสุขมาก่อนในช่วงรับมือโรคระบาดโควิด 19 ซึ่งผลได้ที่เกิดจากกิจกรรมคือ นักวิจัยไทยจากโครงการนี้ ซึ่งมีทั้งนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เป็นผู้มีความชำนาญในการออกแบบติดตามและประเมินมาตรฐานตามระบบของ สมาคม ISSA Worldwide Cleaning Industry Association USA และได้รับการรับรองให้เป็นบุคลากรเชี่ยวชาญในการประเมินอิสระให้ GBAC STAR ในระดับภูมิภาคด้วย”

 

โดย ผลสำเร็จจากโครงการนี้ มีองค์กรต้นแบบระบบนิเวศทางการท่องเที่ยวที่ได้รับใบรับรองมาตรฐาน  จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์ประชุมบางแสนเฮอริเทจ จ.ชลบุรี ผ่านการรับรองประเภทศูนย์ประชุมแห่งแรกของ ASEAN 2) อาคารผู้โดยสารต่างประเทศขาเข้า ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทท่าอากาศยานแห่งแรก ที่อยู่นอกทวีปอเมริกา 3) สุโข เวลเนส แอนด์ สปา รีสอร์ท จ.ภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทสปา เป็นพื้นที่แรกนอกทวีปอเมริกา 4) นิกรมารีน จ.ภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทธุรกิจการขนส่ง เป็นแห่งแรกนอกทวีปอเมริกา 5) เซ็นทารา แกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์  ผ่านการรับรองประเภทศูนย์ประชุมที่มีการบริหารงานแบบเครือข่ายแห่งแรกของ ASEAN 6) บ้านปาร์คนายเลิศ ผ่านการรับรองประเภทศูนย์วัฒนธรรมเป็นพื้นที่แรกนอกทวีปอเมริกา 7) ไทเกอร์มวยไทย การรับรองประเภทสถานออกกำลังกายเป็นแห่งแรกของประเทศไทย 8) ป่าตองเบย์วิว ผ่านการรับรองประเภทโรงแรมที่มีการบริหารงานแบบอิสระเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและ และ 9) เกาะยาวใหญ่วิลเลจ

 

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการ “เปิดโอกาสธุรกิจท่องเที่ยววิถีใหม่ ปลดล็อกศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยด้วยทุนวิจัยด้านท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์จาก บพข.” โดยนำเสนอผลงานวิจัยภายใต้โครงการ “การพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของธุรกิจค่ายมวยด้วยเทคโนโลยีจักรวาลนฤมิต (Metaverse) เพื่อเพิ่มมูลค่างานสร้างสรรค์จากฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับกีฬามวยไทยในตลาดดิจิทัล” โดย ผศ.ดร.สัจจา ไกรศรรัตน์ สังกัด มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง งบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งโครงการเน้นการบูรณาศาสตร์ โดยการนำมวยไทยมาประยุกต์ เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวกีฬา เช่น การนำท่าไหว้ครูมวยไทยมาใช้ในการออกกำลังกาย และการเสนอขายแพ็กเก็จการท่องเที่ยวร่วมกับค่ายมวย และโรงแรมต่างๆ เพื่อเสนอขายนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยดึงอัตลักษณ์ของมวยไทยมาขับเคลื่อนสู่การเป็น Soft Power

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News