เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 67 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่าและPM 2.5 จังหวัดเชียงราย ชั้น1 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุม โดยมีนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ และนายอำเภอ ผู้แทนนายอำเภอ จากทั้ง 18 อำเภอ ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอ conference
ในที่ประชุมฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้รับฟังการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกำชับและเตรียมพร้อมการยกระดับมาตรการ ถึงแม้จุดความร้อนจะน้อยก็ตาม เนื่องจากคุณภาพอากาศในห้วงนี้ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งจะมีการ Kick off ทั้ง 18 อำเภอในวันที่ 20 มีนาคมนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเน้นย้ำห้ามเผาแก่ประชาชน พร้อมทั้งสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ ที่เผชิญกับไฟป่า กำชับต้องมีการตรวจสุขภาพเจ้าหน้าที่ดับไฟทุกราย หากเกณฑ์สุขภาพไม่พร้อมที่จะสามารถปฏิบัติงานได้ ให้งดปฏิบัติหน้าที่ทันทีเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งการดูแลในเรื่องของสวัสดิการ และค่าตอบแทนหากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุอันใดจากการปฏิบัติงาน
.
ทั้งนี้จังหวัดเชียงรายได้สั่งการให้นายอำเภอ ยกระดับการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตามที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย (กอปภ.จ.ชร.) ได้มีประกาศฯลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เรื่อง ห้ามการเผาในที่โล่งทุกชนิดโดยเด็ดขาด “76วันปลอดการเผา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย” ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2567 ทั้งนี้สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบว่ายังมีปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2567 เป็นต้นมา จึงให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอดำเนินการยกระดับปฏิบัติการเพื่อควบคุมการเผาในพื้นที่อย่างเข้มข้น จริงจัง บังคับใช้มาตรการทางกฎหมายห้ามเผาอย่างเด็ดขาด ประสานผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการหาตำแหน่ง และสาเหตุการเกิดจุดความร้อน (Hotspots ) ในพื้นที่ ทั้งนี้ หากพบจุดความร้อนให้เร่งเข้าปฏิบัติการดับไฟโดยทันที
เพื่อไม่ให้เกิดการลุกลามและขยายวงกว้าง และเมื่อควบคุมสถานการณ์ได้แล้วให้จัดชุดเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ และในพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่ารุนแรง หรือเกิดไฟป่าซ้ำซาก ให้เพิ่มรอบการลาดตะเวน และจัดชุดเฝ้าระวังประจำจุดตรวจ จุดสกัด ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และหน่วยบริการสาธารณสุขอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ดำเนินการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หรือหน้ากากอนามัยชนิด N95 ให้แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง และจัดพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) หรือห้องปลอดฝุ่นไว้บริการประชาชน รวมทั้งเพิ่มความถี่ในการให้คำแนะนำในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ และช่องทางการเข้ารับบริการห้องปลอดฝุ่น หรือคลินิกมลพิษ จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว “อสม. เคาะประตูบ้าน” เพิ่มรอบการตรวจเยี่ยม เพื่อยกระดับการแจ้งข่าวและสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งดูแลผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ปรับรูปแบบการเรียนการสอน หรือปิดการเรียนการสอนในสถานศึกษา ให้สอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์
.
อีกทั้งกำชับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ทั้งการเผาในที่โล่ง ภาคคมนาคมขนส่ง ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง และประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือประชาชน ตลอดจนภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการสอดส่อง
ดูแลหมู่บ้าน ชุมชน โดยงดการเผาและงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ ให้ประชาชนทราบถึงมาตรการและผลการปฏิบัติของภาครัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ตลอดจนช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐต่อไป
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย