Categories
ECONOMY

“ภูมิธรรม” ประกาศแผนเร่งรัดการ ส่งออก Quick Win 100 วัน

วันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้    กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและกรมการค้าต่างประเทศ  กระทรวงพาณิชย์ หารือกับภาคเอกชน เพื่อร่วมจัดทําแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน Quick Win 100 วัน และ 1 ปี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงได้จัดงาน “Next Step Export and Cross-Border Promotion” ขึ้น  ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ (1) การประชุมหารือแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน Quick Win 100 วัน และ 1 ปี และ (2) พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย    ความร่วมมือในการเชื่อมโยงการค้ากับการท่องเที่ยว ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว        แห่งประเทศไทย และ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน)

สำหรับแผนเร่งรัดการส่งออก ได้ดำเนินงานใน 5 ด้านหลัก ได้แก่  1.เปิดประตูโอกาสทางการค้าสู่ตลาดใหม่ศักยภาพ ควบคู่ การรักษาตลาดเดิม โดยเดินสายสร้างสัมพันธ์      ทั่วโลก เร่งผลักดันการเจรจา FTA ขยายการค้าไปยังเมืองรอง แผน 100 วัน ได้สร้างมูลค่าการสั่งซื้อรวมกันแล้วกว่า 490 ล้านบาท จากการผลักดันสินค้าไทยไปจัดแสดง ณ งาน CAEXPO ในหนานหนิงและงาน CIIE ในเซี่ยงไฮ้   สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศไทยได้ถูกเพิ่มในระบบ E-visa ของประเทศซาอุดิอาราเบียเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยแผน 1 ปี จะมีกิจกรรม Goodwill จำนวน 24 กิจกรรม กิจกรรมเปิดตลาดเชิงรุก มี Trade Mission 17 กิจกรรม  ในประเทศมัลดีฟส์ อาเซียน ยุโรป UK รัสเซีย งานแสดงสินค้าไทย 12 กิจกรรม ในจีน อินเดีย 

ศรีลังกา ปากีสถาน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงการขยายการค้าไปยังเมืองรอง 
6 กิจกรรม โดยจัดทำ MOU กับเมืองรองเพิ่ม อาทิ แอฟริกา (โจฮันเนสเบิร์ก/โมซัมบิก)  จีน (กว่างซีจ้วง/เจ้อเจียง/    ซานซี/เฮยหลงเจียง/ฝูเจี้ยน) ภายใต้ยุทธศาสตร์ “การค้าเชิงรุกรายมณฑลจีน” และต่อยอด MOU ที่ลงนามแล้ว รวมไปถึงการขยายช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การเจาะธุรกิจ Horeca ในยุโรปและเร่งสรุปผลการเจรจา FTA กับคู่เจรจาต่างๆ 

2.“ทูตพาณิชย์ ทำงานเชิงรุก”บูรณาการทำงานกับพาณิชย์จังหวัด ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เชื่อมโยงสินค้าท้องถิ่น สู่ตลาดโลก โดยได้มอบนโยบายต่อทูตพาณิชย์ในการเร่งหาช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การค้นหา Influencer ทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีผู้ติดตามมากเพื่อเพิ่มการรับรู้สินค้าไทย และใช้ร้านอาหาร Thai Select เป็นเสมือนที่จัดแสดงสินค้าภูมิปัญญาไทยและช่องทางส่งออกวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรสของไทย รวมทั้งบูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทัพหน้าของไทยในต่างแดน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ BOI เพื่อช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทย โดยในวันที่ 23 พ.ย. 2566 นี้ ท่านนายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายการทำงานให้กับทูตทั่วโลก โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับแผน 1 ปีจะดำเนินการหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ให้มากขึ้น เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทย ในประเทศประจำการเขตอาณาและเพิ่มบทบาททูตพาณิชย์ ให้เป็นคู่คิดของผู้ประกอบการ SMEs “พาณิชย์คู่คิด SMEs” เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะรายเล็กให้สามารถส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น

3. ส่งเสริม SOFT POWER เป้าหมายรุกสู่เวทีโลก ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า/บริการไทยด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการออกแบบ และส่งเสริมสู่ตลาดโลก โดยมีเป้าหมายในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร ดิจิทัล     คอนเทนต์ มวลไทย ท่องเที่ยว หนังสือ และเกม  ล่าสุดจากการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร Anuga ที่เยอรมนี สร้างมูลค่า 5,318.05 ล้านบาท และกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ สร้างรายได้กว่า 2,620.13 ล้านบาท และระหว่างเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้ จะจัดงาน Muay Thai Global Power ณ ไอคอนสยาม การร่วมงาน Asia TV Forum and Market ที่สิงคโปร์ รวมทั้งในวันนี้ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน 
สำหรับแผน 1 ปี จะมีการเปิดตัว SOFT POWER Global Brand จำนวน 9 กิจกรรม ทั้งในส่วนของการ re-branding Thai select , เครื่องหมาย Thailand Trust mark, Demark เป็นต้น การส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์ 19 กิจกรรม กลุ่มสินค้าอาหาร 76 กิจกรรม หนังสือ 2 กิจกรรม และสนับสนุนนักออกแบบไทยผ่านโครงการต่างๆ 

4.ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล ปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปรับบทบาทเป็น “รัฐสนับสนุน” โดยแผน quick win 100 วันที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การปรับปรุง พ.ร.บ. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ พ.ศ.2537 การปรับปรุงเว็บไซต์กรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การหารือกับภาคเอกชนร่วม    ยกร่างแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน quick win 100 วัน และ 1 ปี ซึ่งในแผน 1 ปี จะเดินหน้าทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคทางการค้า โดยต่อยอดคณะทำงานร่วมกระทรวงพาณิชย์

5. ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์          การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยแผน quick win 100 วันที่จะดำเนินการ เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 (ปี 2566 – 2570) การจัดเจรจาการค้าธุรกิจออนไลน์ และการส่งเสริมการขายสินค้า TOP Thai บนแพลตฟอร์มออนไลน์พันธมิตร อาทิ Shopee ในมาเลเซีย และRakuten ในญี่ปุ่น การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ อาทิ การสัมมนาเสริมสร้างทรัพย์สินทางปัญญาผู้ส่งออกไทย และการเสวนา export 5 F รวมทั้งการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ อาทิ นำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ Automechanika ที่ยูเออี งาน APPEX ที่สหรัฐฯ และงาน Medica ที่เยอรมนี ส่วนกิจกรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว อาทิ การจัด Virtual Showroom และ Online Business Matching  ในสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารกลุ่ม BCG สร้างมูลค่า 5.30 ล้านบาท และงานแสดงสินค้า AUTOMECHANIKA DUBAI 2023 มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกว่า 30 ราย มูลค่าการสั่งซื้อ 2,991.27 ล้านบาท 
นอกจากนี้ ในปีนี้ได้เตรียมแผนงานรองรับไว้กว่า 300 กิจกรรม อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 8 กิจกรรม  เช่น การตั้งร้าน Top Thai บน Amazon ของอังกฤษ การขยายความร่วมมือกับ LetsTango.com ในยูเออี การส่งเสริมการขายกับแฟลตฟอร์มพันธมิตร  การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว 14 กิจกรรม  โดยจะนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสีเขียวในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา การยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ 108 กิจกรรม โดยการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในไทยและการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 177 กิจกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในด้านการค้าระหว่างประเทศต่อไป

ด้าน นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการเชื่อมโยงการค้ากับการท่องเที่ยว ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าแนวทางการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย และขยายช่องทางการค้าและส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่  ด้านการสื่อสารภาพลักษณ์ประเทศไทย ด้านการส่งเสริมการตลาด ด้านการประชาสัมพันธ์ และด้านการส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการไทย 
กิจกรรมสำคัญ อาทิ การร่วมกันจัดทำแคมเปญสื่อสารการตลาด เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีกับประเทศไทย ทั้งในด้านสินค้าและบริการ รวมถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว การส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ของแต่ละฝ่าย ในกลุ่มสินค้าและธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ ไปจนถึงสินค้าภายใต้ร้าน TOPTHAI บนแพลตฟอร์มพันธมิตร และผู้ประกอบการที่ผ่านการบ่มเพาะโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้มีโอกาสได้นำเสนอในสื่อประชาสัมพันธ์และช่องทางจำหน่ายของร้าน THAIShop ของการบินไทย 
ในด้านการประชาสัมพันธ์ จะแลกเปลี่ยนความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ด้านการค้าและมาตรฐานสินค้าไทยของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อาทิ PM’s Export Award, DEmark, Thailand Trust Mark, Thai SELECT ผ่านสื่อ/ ช่องทางประชาสัมพันธ์ และเครือข่ายข้อมูลสมาชิกและหน่วยงานพันมิตรของ ททท.        และการบินไทย ช่องทางการสั่งซื้อสินค้าคุณภาพของไทยบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติที่เป็นพันธมิตรของ           กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น ในส่วนการส่งเสริมองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการไทย จะจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้มีองค์ความรู้ซอฟต์พาวเวอร์ไทย มาเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการส่งออก ด้วยการแลกเปลี่ยนวิทยากรหรือให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการที่แต่ละฝ่ายจัดขึ้นด้วย

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
ECONOMY

ส่งออกไทยประจำเดือนมิ.ย. ขยายตัวสูงถึง 68.7%

 

วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกไทยประจำเดือนมิถุนายน และครึ่งแรกของปี 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกไทยครึ่งแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 5.4 และหดตัวร้อยละ 2.3 เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย และเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซาจากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง การผลิตและการบริโภคจึงยังคงตึงตัว คำสั่งซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง ส่งผลให้สถานการณ์การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2566 มีมูลค่า 24,826.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (848,927 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 6.4 และหดตัวร้อยละ 2.9 เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่าและกระแสความมั่นคงทางอาหารทำให้สินค้าบางรายการขยายตัว จึงช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกได้ในระยะนี้

ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีสินค้าสำคัญหลายประเภทที่ขยายตัว อาทิเช่น
1. อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 68.7 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา อินเดีย เกาหลีใต้ กัมพูชา และมาเก๊า
2. หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 46.8 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ฮ่องกง และไต้หวัน
3. อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 31.2 โดยขยายตัวในตลาดฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น จีน และอิตาลี
4. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ขยายตัวร้อยละ 30.3 โดยขยายตัวในตลาดจีน สิงคโปร์ อินเดีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง
5. แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 5.3 โดยขยายตัวในตลาดไต้หวัน จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฟิลิปบินส์
6. รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเขีย และชาอุดีอาระเบีย

ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่
1. น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 31.4 โดยขยายตัวในตลาดมาเลเซีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ลาว และไต้หวัน
2. ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 14.2 โดยขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
3. ไอศกรีม ขยายตัวร้อยละ 11.3 โดยขยายตัวในตลาดมาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา สหรัฐอเมริกา และอินเดีย
4. ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 10.7 โดยขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ และสหราช
อาณาจักร
5. เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 8.3 โดยขยายตัวในตลาดเวียดนาม เมียนมา จีน ลาว และมาเลเซีย

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมาเพื่อมาตรการส่งเสริมการส่งออก อาทิ
1.กิจกรรมแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจ เช่น จัดงานแสดงสินค้า Top Thai Brands 2023 ณ เมืองบังคาลอร์ รัฐกรณาฎกะ สาธารณรัฐอินเดีย, เข้าร่วมงาน Western China International Fair (WCIF) ณ มณฑลเสฉวน ประเทศจีน, นำผู้แทนการค้า (Trade Mission) ไปเจรจาการค้าในภูมิภาคลาตินอเมริกา (อาร์เจนตินา ชิลี บราชิล), เข้าร่วมงานแสดงสินค้า Naturally Good Expo 2023 ณ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และเข้าร่วมงานเทศกาล Annecy International Animation Film Festival 2023 เป็นต้น
2. ผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนถาวรไทย-ประเทศเพื่อนบ้านให้กลับมาเปิดทำการปกติได้ครบทั้ง 42 จุด ประกอบด้วย ไทย-ลาว 20 จุด ไทย-กัมพูชา 7 จุด ไทย-เมียนมา 6 จุด และไทย-มาเลเขีย 9 จุด เพื่อให้อำนวยความสะดวกทางด้านการขนส่ง
สินค้าและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

“แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มพื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี มีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกจากการเร่งเบิดตลาดศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยงและลดผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออกหลัก เช่น ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา นอกจากนี้ เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทย และความกังวลต่อการขาดแคลนอาหารทั่วโลกอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ” น.ส.ทิพานัน กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

ทุเรียนแชมป์ส่งออกรถไฟเร็วสูงจีน – สปป.ลาว ลดเวลาขนส่งเหลือ 15 ชั่วโมง

 

วันที่ 20 สิงหาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม – พฤษภาคม) ของปี 2566 มี มูลค่ารวม 2,848.41 ล้านบาท ขยายตัวกว่าร้อยละ 260 จากปี 2565 โดยผลไม้ไทยได้รับความนิยมในตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งการใช้รถไฟจีน-ลาว สามารถช่วยลดระยะเวลาการขนส่ง จากที่เคยใช้เวลาผ่านถนนเส้นทาง R3A ประมาณ 2 วัน เหลือใช้เวลาบนรถไฟไม่เกิน 15 ชั่วโมง ทั้งนี้ รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนแผนเชื่อมโยงระบบราง ไทย-สปป.ลาว-จีน เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทย ปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาคในอนาคต
 
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า 10 อันดับแรกของสินค้าที่ส่งออกทางด่านหนองคายผ่านแดน สปป.ลาว ไปจีนมีมูลค่าการส่งออกและขยายตัวสูงที่สุด ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ได้แก่ 1) ทุเรียนสด อยู่ที่ 2,073.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 364 เมื่อเทียบกับช่วงกันของปี 2565 2) มังคุดสด 378.65 ล้านบาท 3) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 315.21 ล้านบาท 4) ลำไยสด 37.40 ล้านบาท 5) สินค้าแร่ และเชื้อเพลิงอื่น ๆ 17.89 ล้านบาท 6) สับปะรดแปรรูป 11.43 ล้านบาท 7) ส้มโอสด 2.99 ล้านบาท 8) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 2.72 ล้านบาท 9) มะม่วงสด 1.79 ล้านบาท และ 10) ผลไม้อื่น ๆ 1.52 ล้านบาท ตามลำดับ 
 
ทั้งนี้ รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนแผนเชื่อมโยงระบบราง ไทย-สปป.ลาว-จีน อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ – หนองคาย) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค สำหรับระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ – นครราชสีมา) มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี 2569 ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพระบบคมนาคมขนส่งทางรางของไทย เชื่อมโยงภูมิภาค ตลอดจนเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าไปตลาดจีนได้มากขึ้น โดยใช้ระยะเวลาการขนส่งน้อยลง และยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ในการส่งออกสินค้าไปจีนได้อีกด้วย
 
“รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางราง ซึ่งเป็นการขนส่งที่สามารถลดต้นทุน เวลา และค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ส่งออกไทย พร้อมเชื่อมั่นว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างครอบคลุมตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการ จะมีส่วนสำคัญ ส่งต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคได้” นางสาวรัชดาฯ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ “ส้มโอไทย” ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา

 
 

วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้น ผ่านการส่งออกส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ไปยังกรุงวอชิงตัน ดีซี (Washington, D.C.) สหรัฐอเมริกา ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย และยังส่งออกมะม่วงของฤดูกาลปี 2566 มังคุด และผลไม้อื่น ๆ ของไทย เพื่อนำไปร่วมงานเฉลิมฉลองในวันชาติของสหรัฐอเมริกา และ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ในงานจัดแสดงผลไม้เทศกาล “Sawasdee DC Thai Festival” ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ระหว่างวันที่ 2 – 4 กรกฎาคม 2566 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ไทยได้ส่งออกส้มโอชิปเมนท์แรก ไปยังสหรัฐฯ เพื่อจัดแสดงผลไม้ในงานเทศกาล Sawasdee DC Thai Festival ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ในโอกาสวันชาติของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 – 4 กรกฎาคม 2566 และ เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงรายงานการส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ครั้งแรก เป็นส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์ขาวแตงกวา พร้อมด้วย มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ มหาชนก แดงจักรพรรดิ และเขียวเสวย รวมทั้งมังคุด รวมทั้งสิ้น จำนวน 72 กล่อง น้ำหนัก 864 กิโลกรัม

การส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ รวมถึงผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ที่จะมีตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เป็นประเทศที่เข้มงวดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชอย่างสูง โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้มอบหมายหน่วยงานบริการตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพืช (Animal and Plant Health Inspection Service : APHIS) ให้แจ้งถึงผลการทดสอบประสิทธิภาพการแพร่กระจายรังสีในบรรจุภัณฑ์ส้มโอ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะอนุญาตให้นำเข้า โดยส้มโอส่งออกจะต้องผ่านการฉายรังสีแกรมมา (Gamma: γ) ที่ระดับ 400 เกรย์ นาน 3 ชั่วโมง จากศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) พร้อมโรงคัดบรรจุที่ได้รับอนุญาตให้คัดบรรจุส้มโอเพื่อการส่งออกได้ โดยผลไม้ของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสหรัฐฯ ต้องฉายรังสีแกรมมา ปริมาณ 400 เกรย์ ก่อนส่งออก

ขณะนี้ผลไม้ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มี 8 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย สับปะรด มังคุด แก้วมังกร เงาะ และล่าสุดได้แก่ ส้มโอ โดยกรมวิชาการเกษตรยังมีแนวทางที่จะสนับสนุนภาคเอกชนให้มีการจัดส่งทางเรือเพื่อลดต้นทุนและจัดส่งได้ครั้งละจำนวนมาก ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบในเชิงคุณภาพ โดยหากได้ผลดีจะเป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ในเชิงการค้าต่อไป 

“นายกรัฐมนตรียินดีต่อผลความสำเร็จในการส่งออกส้มโอทั้ง 4 สายพันธุ์ของไทย เป็นเครื่องสะท้อนถึงคุณภาพของผลไม้ไทยที่มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ นายกฯ เชื่อมั่นว่าเมื่อไทยผ่านมาตรฐานการส่งออกไปสหรัฐฯ จะเพิ่มโอกาสให้ผลไม้ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต พร้อมขอบคุณความร่วมมือ การทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันสินค้าเกษตรของไทยให้มีศักยภาพ เพิ่มโอกาส เพิ่มขีดความสามารถในตลาดต่างประเทศ” นายอนุชาฯ กล่าว

 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY NEWS NEWS UPDATE

ไทยส่งออกข้าว 4 เดือนแรกกว่า 2.79 ล้านตัน มูลค่ารวม 5 หมื่นล้านบาท

ไทยส่งออกข้าว 4 เดือนแรก กว่า 2.79 ล้านตัน มูลค่ารวม 5 หมื่นล้านบาท

Facebook
Twitter
Email
Print

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกข้าวไทย และยินดีที่เห็นตัวเลขข้าวไทยเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – เมษายน) ไทยส่งออกข้าวสูงถึง 2.79 ล้านตัน มูลค่ารวมกว่า 1,514 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 51,281 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกัน ปริมาณเพิ่มร้อยละ 23.61 และมูลค่าเพิ่มร้อยละ 28.03 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำงานเชิงรุก หาแนวทางส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตและผลักดันราคาข้าวอย่างยั่งยืน เพื่อการเติบโตของการส่งออกข้าวไทย และเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความต้องการนำเข้าข้าวไทยปริมาณมากในหลายประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน ไทยถือเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก รองจากอินเดีย โดยในเดือนเมษายน 2566 ราคาเฉลี่ยข้าวไทยทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ ทำให้ราคาส่งออกสามารถแข่งขันได้ และส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศเกือบทุกชนิดสูงเกินราคาประกันรายได้ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่า ในปี 2566 ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7.5 ล้านตัน และมีแนวโน้มสูงกว่าการส่งออกข้าวโดยรวมในปี 2565 ซึ่งมีปริมาณรวมอยู่ที่ 7.69 ล้านตัน โดยปริมาณการส่งออกข้าวไทยล่าสุด จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 มีปริมาณรวมแล้วกว่า 3.05 ล้านตัน ซึ่งน่ายินดีที่คงมีความต้องการในตลาดต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย ได้แก่ อิรัก อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ เซเนกัล บังกลาเทศ จีน ญี่ปุ่น แคเมอรูน และโมซัมบิก โดยไทยส่งออกข้าวขาวมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวนึ่ง ข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว และข้าวกล้อง ตามลำดับ 

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ที่บูรณาการการทำงานร่วมกัน ตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ร่วมกันพัฒนาข้าวไทยให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด ส่งผลให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพของข้าวไทย พร้อมขอให้ดูแลมาตรฐานและคุณภาพ ระมัดระวังพันธุ์ข้าว ไม่ให้เกิดการปลอมปนข้าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพข้าวและชื่อเสียงคุณภาพสินค้าไทย” นายอนุชาฯ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงพาณิชย์

 
Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
NEWS UPDATE