Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

น่าท่องเที่ยว 9 – 15 สิงหาคม 2567 ห้ามพลาด! เมืองสร้างสรรค์เชียงราย

 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ เชียงราย ภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) ร่วมจัดงาน “Chiang Rai Sustainable Design Week 2024” หรือ “เทศกาลเชียงรายเมืองออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2567” ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “Chiang Rai Creature” หรือ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเมือง” ระหว่างวันที่ 9 – 15 สิงหาคม 2567 ณ ศาลากลางหลังแรก จังหวัดเชียงราย และพื้นที่สร้างสรรค์ทั่วเมือง 

โดย CEA ได้ร่วมมือกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เทศบาลเมืองเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นักสร้างสรรค์ และหน่วยงานเครือข่ายภาคเอกชนในจังหวัดเชียงราย สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ พร้อมทั้งผลักดัน “เชียงราย” ในฐานะเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ในสาขาการออกแบบ (Chiang Rai City of Design) โดยร่วมกับพันธมิตรอย่าง FabCafe, 69 องศา และ MAYDAY! จัด 3 กิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ มุ่งผลักดันเชียงรายใน 3 มิติ ให้เป็นทั้งเมืองน่าอยู่ น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยว  ได้แก่

1.เมืองน่าอยู่ – SMOG I ธุลีกาศ โดย CEA ร่วมกับ FabCafe กิจกรรมเสวนาและเวิร์กช็อปที่ชวนผู้สนใจมาทดสอบแนวคิดการใช้งานออกแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดเชียงราย ที่เล็งเห็นความสำคัญในการจัดการกับปัญหาไฟป่า ต้นเหตุฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงราย ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ด้วยแนวคิดการใช้วัสดุเหลือจากการเกษตร (Agriculture Waste) มาออกแบบใหม่พร้อมด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งแนวทางการลดวัสดุที่ทำให้เกิดไฟป่า และนำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาด ช่วยสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ เช่น การนำเศษวัสดุมาปรับเป็นเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น รวมทั้งสร้างการรับรู้ปัญหาเรื่องฝุ่นควัน ด้วยงานสร้างสรรค์ร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ผ่านอาหาร

2.เมืองน่าลงทุน – Chiang Rai Specialty Coffee Showcase I สล่ากาแฟ โดย CEA ร่วมกับ 69 องศา และเครือข่ายธุรกิจกาแฟ ส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่นและโอกาสในการลงทุนของสินทรัพย์วัฒนธรรมกาแฟของเชียงราย นำเสนอโชว์เคส “กาแฟพิเศษ” ที่ผ่านกระบวนการผลิตคุณภาพสูง ตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและรสชาติ นำไปสู่การส่งเสริมนวัตกรรมสินค้าเกษตรมูลค่าสูง 

โดยยังคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมล้านนาและสมดุลธรรมชาติ ส่งเสริมความเป็นอยู่ของชาวเชียงราย และพิเศษสุด! พบกับเสวนาหัวข้อ “กาแฟไทย ก้าวอย่างไรให้ยั่งยืน” ในวันที่ 9 สิงหาคม เวลา 13.00 – 15.30 น. และ “ออกแบบอนาคตกาแฟเชียงราย” ในวันที่ 12 สิงหาคม 13.00 – 15.30 น. โดยกลุ่มคนรักกาแฟเชียงราย นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อปกาแฟฟรี ทั้งการเลือกเมล็ด การชิม และการชง พร้อมสนุกไปกับดนตรีจากโบ๊ทแฮนด์แพน มิวสิคเจอร์นี่ โดย จุ๋ย จุ๋ยส์ และอะคูสติกแจ๊ส ที่จะมาร่วมสร้างความบันเทิง เพิ่มอรรถรสให้ Coffe Lover ได้ฟินกับโลกของกาแฟมากยิ่งขึ้น 

3. เมืองน่าเที่ยว – Chiang Rai MOVE I วน “เวียง” เจียงฮาย โดย CEA ร่วมกับ MAYDAY! องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เทศบาลเมืองเชียงราย และสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงราย เปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่ร่วมคิดค้นระบบขนส่งสาธารณะที่ช่วยลดมลพิษ เพื่อการท่องเที่ยวและพัฒนาเมือง ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางและกระตุ้นการเข้าถึงธุรกิจรายย่อยในย่าน ซึ่งจะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเป็นการจัดแสดงผลงานต่าง ๆ จากกิจกรรมทดสอบแนวคิดระบบการเดินทางสาธารณะของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ (Academic Program) ดันเชียงรายให้เป็นเมืองที่ผู้คนและนักท่องเที่ยวสามารถ MOVE ไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ เช่น นิทรรศการผลงานออกแบบ (Showcase & Exhibition) ตลาดสินค้าสร้างสรรค์ (Design Market) ที่รวมงานสินค้าดีไซน์ท้องถิ่นสอดคล้องชีวิตยั่งยืน ในรูปแบบ Green Market – พืชและสวน และ Local Spa – นวดเพื่อสุขภาพ รวมถึงการแสดงดนตรี การเสวนาและเวิร์กช็อปที่จะสร้างแรงบันดาลใจตลอดงาน

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งออกแบบเมืองเชียงรายให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยว ผ่านการนำเสนอผลงานจาก CEA ใน “Chiang Rai Sustainable Design Week 2024” หรือ “เทศกาลเชียงรายเมืองออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2567” ในวันที่ 9 – 15 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00 – 21.00 น. ณ ศาลากลางหลังแรก จังหวัดเชียงราย 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Chiang Rai Sustainable Design Week

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

New TCDC 10 จังหวัดใหม่ ไอเดียงานออกแบบสถานที่ 10 ผู้ชนะ

 

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า New TCDC แต่ละแห่งต้องมีสถานที่ทำการ ล่าสุด CEA หรือ สศส. – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (Public Organization) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล TCDC ประกาศความคืบหน้าผลการคัดเลือก ผู้ชนะการประกวดการออกแบบพื้นที่ New TCDC ทั้ง 10 แห่ง

การประกวดงานออกแบบครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีทีมผู้ส่งผลงานออกแบบเข้าร่วมประกวด จำนวน 113 ทีม รวม 173 ผลงาน สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวและความมุ่งมั่นในการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ของประเทศ

ผลงานที่ชนะการประกวดในครั้งนี้จะได้รับการนำไปพัฒนาเป็น ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ ที่จะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของเมือง เป็นแหล่งบ่มเพาะผู้ประกอบการท้องถิ่น และศูนย์รวมองค์ความรู้ในการพัฒนาและต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพื่อยกระดับ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน” 

ผลงานผู้ชนะการออกแบบ “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ทั้ง 10 จังหวัด” มีความโดดเด่นทั้งในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นไปได้ทางกายภาพ และความสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ จำนวน 10 ทีม ดังนี้

TCDC เชียงราย มากับความเชื่อที่ว่า “การออกแบบเชิงสร้างสรรค์สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนได้” ออกแบบโดย 1922 Architects  ด้วยแนวคิดหลักคือ Creative Space for All พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อทุกคน

การออกแบบมุ่งสอดแทรกความคิดสร้างสรรค์เข้าสู่วิถีชีวิตประจำวันของผู้คน ชุมชน และเมือง

ตัวอาคารออกแบบให้สามารถเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน กระตุ้นการแลกเปลี่ยนไอเดีย และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ “ลานหน้าศาลากลางหลังเก่า” ที่มีศักยภาพอยู่แล้ว

1.TCDC เชียงราย จึงไม่เพียงแต่เป็นศูนย์การออกแบบ แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และแรงบันดาลใจสำหรับทุกคนในชุมชน

2.TCDC นครราชสีมา ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่า บนแนวแกนสำคัญที่เชื่อมโยงกับจุดหลักของเมือง ออกแบบโดย บริษัท จั่นอาร์คิเทค จำกัด ภายใต้แนวคิด CREATIVE URBAN ROOM เปิดมุมมองของตัวอาคารด้วยวัสดุโปร่งใส สร้างการเชื่อมต่อ Urban Visual Connect ระหว่างพื้นที่ภายใน-นอก

ในช่วงเทศกาล อาคารยังออกแบบให้สามารถเปิดประตูบานใหญ่ด้านหน้า เชื่อมต่อพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่องและไร้ขอบเขต (Borderless Space) 

นอกจากนี้ ยังโดดเด่นด้วยการผสมผสานวัสดุท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ เช่น ไม้จากเรือนโคราช-เฉลิมวัฒนา เทคนิคก่อสร้างแบบปราสาทหินทราย ลวดลายเส้นพุ่ง-เส้นยืนจากการถักทอผ้าไหมโคราช และ อิฐดินเผาด่านเกวียน รวมถึงสีดินและลวดลาย โดยนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบ Composited Material ที่ผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมกับปัจจุบัน 

ทั้งยังคำนึงถึง ความยั่งยืน(Sustainability) และ การนำวัสดุเหลือใช้ (Waste Material) กลับมาใช้ใหม่ ส่งผลให้ TCDC นครราชสีมา เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ใจกลางเมืองที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตท้องถิ่นสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

3.TCDC ปัตตานี ออกแบบภายใต้แนวคิด Glory to Distribution Days โดย บริษัท ทรัพย์เปอร์ จำกัด ซึ่งสะท้อนถึงวิวัฒนาการของอาคาร “ห้องแถวจีนริมน้ำ” ที่เปี่ยมไปด้วยพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมาหลายยุคสมัย จากการเป็นพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้า ด่านเก็บภาษีในอดีต สู่ปัจจุบันซึ่งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของกลุ่ม Melayu Living และในอนาคตจะเป็นศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC ปัตตานี 

อาคารนี้ไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ แต่ยังออกแบบให้มีบรรยากาศเป็นกันเอง เข้าถึงง่าย และเชื่อมโยงผู้คนทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านจากศูนย์กระจายสินค้าในอดีตสู่พื้นที่สร้างสรรค์ที่มีชีวิตชีวาในปัจจุบันและอนาคต

4.TCDC พิษณุโลก ออกแบบโดย สถา ณ สถาปนิก ผ่านแนวคิด เมืองสองแคว l สายน้ำ l วิถีชีวิต พื้นที่เชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์กับภูมิปัญญาท้องถิ่นในบรรยากาศอบอุ่นและเป็นมิตรพร้อมเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาในพื้นที่

จังหวัดพิษณุโลกมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตั้งอยู่บนจุดบรรจบของแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อยจึง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวเมือง และมีบทบาทในการพัฒนาเมืองมาตั้งแต่อดีต 

ตัวอาคารจึงได้แรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตริมน้ำ โดยใช้ “อิฐ” เป็นวัสดุหลักสื่อถึงความแข็งแรงและการเติบโตของเมือง 

พื้นที่ภายในแบ่งตามเส้นทางน้ำ เน้นทั้งความสร้างสรรค์ การร่วมมือ การพักผ่อน และการเรียนรู้ ส่วนด้านนอกอาคารออกแบบให้เชื่อมโยงกับบรรยากาศริมน้ำ สร้างความกลมกลืนระหว่างสถาปัตยกรรมและธรรมชาติ 

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงการนำเอาวิถีชีวิตริมน้ำและวัฒนธรรมของพิษณุโลกมาผสมผสานอย่างลงตัว พร้อมเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาในพื้นที่

5.TCDC แพร่ ออกแบบโดย บริษัท เค ทู ดีไซน์ จำกัด ภายใต้แนวคิดเผยแพร่ภูมิปัญญาอย่างเรียบง่าย โดยนำเสนอมรดกล้ำค่าของเมืองแพร่ผ่านคำขวัญประจำคือ ม่อฮ่อม และ ไม้สัก มาเป็นแรงบันดาลใจหลักในการออกแบบอาคารให้ดูราวกับ “ท่อนไม้สักย้อมสีฮ่อม (Indigo)” ด้วยแนวคิด Form & Function ที่เรียบง่ายแต่โดดเด่นด้วยสีและวัสดุ สะท้อนเอกลักษณ์ของเมืองแพร่อย่างชัดเจน 

การจัดพื้นที่และการใช้งานมีความตรงไปตรงมา สะดวกสบาย รองรับทุกกิจกรรมของชุมชนและ TCDC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่และพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาของเมืองแพร่สู่อนาคต

6.TCDC ภูเก็ต ตัวตนของ “เมืองภูเก็ต” หล่อหลอมขึ้นจากอุตสาหกรรมดีบุก ได้รับการนำมาถ่ายทอดเป็นผลงานการออกแบบของ TCDC ภูเก็ต ผ่านแนวคิด เล่นแร่-แปรเมือง ที่ได้รับการวางแผนและออกแบบโดย บริษัท สวอน แอนด์ แมคคลาเรน(ประเทศไทย) จำกัด 

สถาปัตยกรรมของอาคารได้สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างอดีตและปัจจุบัน ด้วยการใช้วัสดุและรูปแบบการใช้งานสมัยใหม่ ที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ภายใน 

แม้มีข้อจำกัดด้านขนาด แต่ TCDC ภูเก็ต มุ่งมั่นที่จะเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในจังหวัดภูเก็ต โดยใช้แรงบันดาลใจจากความรุ่งเรืองในอดีตของอุตสาหกรรมดีบุก ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเมืองนี้ 

ทำให้อาคารนี้ไม่เพียงเป็นศูนย์ออกแบบ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และนวัตกรรมของภูเก็ตเข้าด้วยกัน

 

7.TCDC ศรีสะเกษ โดดเด่นด้วยการออกแบบที่สื่อถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดอย่างลงตัว ออกแบบโดยทีมสถาปนิก ปิติพงศ์ อมรวิรัตนสกุลณรงค์วิทย์ อารีมิตร และ วรนล สัตยวินิจ ภายใต้แนวคิด Sisaket Code (ศรีสะเกษ โค้ด) มุ่งตีแผ่ประเด็นสำคัญของท้องถิ่น 

โดยออกแบบให้ศูนย์แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับกิจกรรมทางวัฒนธรรม ดนตรี และภาพยนตร์ ในบริบทของศรีสะเกษอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ยังแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในท้องถิ่นผ่านการใช้ทรัพยากรของจังหวัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ TCDC ศรีสะเกษ ไม่เพียงเป็นศูนย์ออกแบบ แต่ยังเป็นแหล่งรวมจิตวิญญาณและอัตลักษณ์ของชาวศรีสะเกษอีกด้วย

 

8.TCDC สุรินทร์ ออกแบบโดย บริษัท แปลน อาคิเต็ค จำกัด ภายใต้คอนเซ็ปต์ โฮล สาน สร้างสรรค์ โดยตีความเอกลักษณ์อันงดงามของ “ผ้าโฮล” ลายผ้าไหมประจำถิ่นที่ผูกพันกับชาวสุรินทร์มาอย่างยาวนาน

แนวคิดนี้เปลี่ยนผ้าสานให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงระหว่างเมืองและผู้คน ก่อให้เกิดศูนย์กลางสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่ของจังหวัด

เส้นสายของผ้าโฮลได้รับการนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบให้ TCDC สุรินทร์กลายเป็นจุดนัดพบของทั้งเมือง และเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์อย่างแท้จริง 

 

9.TCDC อุตรดิตถ์ ออกแบบโดย รักตระกูล ใจเพียร (D039) ด้วยแนวคิดโดดเด่นภายใต้คอนเซ็ปต์ POP-OUT และ BLIND-IN กับการสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับ TCDC ผ่านคอนเซ็ปต์ POP-OUT ที่ดึงดูดความสนใจและสร้างภาพลักษณ์ความสร้างสรรค์ที่เด่นชัด โดยไม่รบกวนการใช้งานของอาคารเดิม

เมื่อขึ้นสู่ชั้น 2 ผู้เยี่ยมชมจะถูกนำเข้าสู่ TCDC ผ่านซุ้มประตูโค้งที่เชื่อมต่อกับสวนขนาดเล็ก ภายในตกแต่งด้วยม่านลับแลห้อยเป็นลวดลายตีนจก สร้างบรรยากาศสบายและน่าค้นหา

การออกแบบนี้ผสมผสานความทันสมัยกับเอกลักษณ์ท้องถิ่น ชวนให้เพลิดเพลินไปกับการค้นพบโลกใหม่ภายใน TCDC อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นทั้งศูนย์สร้างสรรค์และแหล่งเรียนรู้ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของจังหวัดได้อย่างมีเอกลักษณ์

 

10.TCDC อุบลราชธานี ออกแบบโดย Pixelight Studio (นัฏฐวรรณ สุระพัฒน์)  ภายใต้คอนเซ็ปต์ หล่อ-หลอม มุ่งเน้นการผสมผสานฟังก์ชั่นการใช้งานและเอกลักษณ์ท้องถิ่นอย่างลงตัว

โดยนำเอกลักษณ์อันโดดเด่นของจังหวัด อาทิ ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัฒนธรรมอาหาร หรือแม้แต่ ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ เพื่อให้เกิดพื้นที่ที่มีคุณค่า น่าหลงใหล และเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย 

นอกจากนี้ ยังออกแบบให้มีความยืดหยุ่น รองรับกิจกรรมและผู้ใช้งานที่หลากหลาย เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน TCDC อุบลราชธานี จึงเป็นพื้นที่แห่งการหลอมรวมวัฒนธรรมและนวัตกรรม นำไปสู่การสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับชุมชนและจังหวัด

 

“ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (New TCDC) ใน 10 จังหวัด” ประกอบด้วยพื้นที่ Co-Creation, Creative Lab, Collection และ Back Office ที่สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น มีความยืดหยุ่น ดูแลง่าย ประหยัดพลังงาน และเป็นเสมือนพื้นที่ที่หลอมรวมทุกแง่มุมของความคิดสร้างสรรค์เข้าไว้ด้วยกัน

เป็นแหล่งรวมความรู้ แหล่งรวมชุมชน เป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นเวทีในการแสดงศักยภาพของนักออกแบบ ศิลปิน และนักสร้างสรรค์ ผ่านบริการหลากหลายรูปแบบ อาทิ

  • ห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบ
  • นิทรรศการ
  • พื้นที่แสดงผลงาน
  • พื้นที่การเรียนรู้และฝึกอบรม ในเรื่องของ Local Stories
  • กิจกรรมการฝึกประสบการณ์
  • Creative Lab

นอกจากนี้ New TCDC ยังมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับคนไทยทั่วประเทศ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : TCDC

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

อบจ.เชียงราย ลงนาม MOU จัดตั้งศูนย์ใหม่ “TCDC Chiangrai”

 
เมื่อวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 ณ Creative Space ชั้น 5 TCDC สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย ร่วมลงนาม MOU จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (NEW TCDC) เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และแหล่งข้อมูลด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับประชาชน เยาวชน ผู้ประกอบการ และชุมชนในท้องถิ่น รวมทั้งการต่อยอดคุณค่าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้อย่างยั่งยืน พร้อมเยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการภายใน TCDC แห่งใหม่ 
 
 
โดยมีนายฐิติวัชร ไลศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.เชียงราย ร่วมให้เกียรติในการลงนามฯ ครั้งนี้ด้วย โดยภายในงานฯ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับและกล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงาน และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวเปิดงาน “นโยบายการสร้างความร่วมมือกับภูมิภาคเพื่อพัฒนาทุนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์สู่ Soft Power”
 
 
การจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในโครงการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบส่วนภูมิภาค ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบที่มีส่วนประกอบทางด้านพื้นที่ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศการจัดกิจกรรมในด้านต่างๆเพื่ออํานวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้และการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่และนักสร้างสรรค์ให้สามารถต่อยอดทางความคิดสร้างสรรค์ในการทําธุรกิจต่อไปได้เพื่อเป็นการสำรวจศักยภาพสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมต่อยอดสินค้าและบริการเพื่อสนับสนุนการสร้าง Soft Power ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาสินค้าและบริการในอนาคต 
 
 
เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการท้องถิ่นลดต้นทุนในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมบนรากฐานการใช้ความคิดสร้างสรรค์ตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยให้หน่วยงานหรืองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐบาลและเป็นการสนับสนุนภารกิจหลักของสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) อีกทางหนึ่ง เพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ และแหล่งข้อมูลด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับประชาชน เยาวชน ผู้ประกอบการ และชุมชนในท้องถิ่น เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางธุรกิจในระดับประเทศ พัฒนาการเรียนการสอนด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้แก่สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดเชียงราย กระตุ้นเศรษฐกิจระดับประเทศ
 
 
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงราย อบจ.เชียงราย และภาคีเครือข่าย ตั้งเป้า New TCDC @Chiang Rai แห่งนี้จะเป็นพื้นที่ต่อยอดนวัตกรรมจากความรู้ท้องถิ่น สานสร้างผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเชียงรายเป็นขุมพลังขับเคลื่อนเชียงรายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของ UNESCO ที่จังหวัดเชียงรายได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายสมาชิก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 พร้อมรองรับการจัดกิจกรรมด้านการออกแบบในอนาคตต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

depa ลุยเติมศักยภาพ “ผู้บริหารสื่อ” กับ Digital Skills for Media Industry

 
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ เดินหน้าโครงการ Digital Skills for Media Industry ด้วยหลักสูตรการบริหารงานสื่อครบวงจร (โทรทัศน์, วิทยุ, ออนไลน์, ละคร, ดนตรี, ภาพยนตร์) เสริมศักยภาพผู้บริหารสื่อในยุคดิจิทัล กว่า 60 ท่าน เพื่อเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงจากผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 20 ท่านตลอด 3 วันของหลักสูตร
.
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ depa พร้อมด้วย นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ depa ให้การต้อนรับ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ซึ่งให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ และ คุณพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. ให้เกียรติร่วมงาน พร้อมกันนี้เหล่าผู้บริหารสื่อยังได้รับฟังการแถลงผลการศึกษาอุตสาหกรรมสื่อจาก 4 ประเทศต้นแบบ ทั้ง อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และ สิงคโปร์ รวมถึงแนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมสื่อไทยและผลสำรวจความต้องการพัฒนาทักษะดิจิทัลของบุคลากรสื่อ โดยดร.จักกนิตต์ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล depa , รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.วาสนา บุตรโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
.
จากนั้น เสวนาพิเศษในหัวข้อ “เสวนาสื่อครบวงจร : ทีวี วิทยุ อีเวนต์ ข่าว กีฬา” โดย คุณรักษิต รักการดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไลฟ์ เนชั่น เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด , ดร.สรายุทธ มหวลีรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และ คุณทิน โชคกมลกิจ โปรดิวเซอร์ พิธีกร และผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ก่อนส่งต่อไมค์ต่อให้ คุณสุชาติ ภวสิริพร Chief People Officer Bitkub แชร์ประสบการณ์สำคัญในหัวข้อ “Chief People Officer Digital HR: Managing People in Bitkub’s way”
.
นอกจากนี้ได้รับเกียรติจาก คุณโกมินทร์ อ่าวอุดมพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการพันธมิตรด้านคอนเทนต์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และ คุณสง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรานส์ ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม ร่วมบรรยายและเสวนาในหัวข้อ “How to build creative content to the world?” ก่อนปิดท้ายวันแรกของหลักสูตรด้วย คุณอุกฤษ ตั้งสืบกุล CO-CEO บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด บรรยายพิเศษ “การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการทำสื่อ”
.
ต่อด้วยหัวข้อสำคัญสำหรับผู้บริหารสื่อ ในเสวนาหัวข้อ “ความท้าทายในการหารายได้” โดย คุณปัทมวรรณ สถาพร นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT),
คุณพัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) (DAAT) และ คุณโชค วิศวโยธิน นายกสมาคมสื่อการค้าออนไลน์คุณภาพ (ประเทศไทย) (OPPA) อีกทั้งคุณโชค ยังบรรยายเสริมสุดเข้นข้นให้เหล่าผู้บริหารได้สัมผัสและใช้งาน Generative AI ในงานสื่อยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีการเสริมไอเดียการผลิตสื่อยุคดิจิทัล ในหัวข้อ “โปรดักชันยุคใหม่ ครบ จบในโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง” โดยคุณภาคนิวัฒน์ ขจรกลิ่นสมฐวี ทีมโปรดักชั่น บมจ. เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ก่อนที่จะเติมภาพดิจิทัลคอนเทนต์ด้วยการบรรยายและเสวนา “อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นและเกมของประเทศไทยในอนาคต” โดย คุณกิตติพงษ์ พฤกษอรุณ CEO Asphere Innovation PCL. (Asiasoft) และ คุณธนัช จุวิวัฒน์ CEO บริษัท อิ๊กดราซิลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
.
พร้อมกันนี้ผู้บริหารสื่อที่เข้าร่วมหลักสูตรฯ ยังได้ระดมสมองอย่างเข้มข้นและร่วมแชร์แนวคิดเพื่อการพัฒนาอนาคตของอุตสาหกรรมสื่อของประเทศไทย ครอบคลุมทั้งเรื่องการปรับตัวของสื่อยุคใหม่ ความท้าท้ายในการหารายได้ของอุตสาหกรรมสื่อในยุคดิสรัปชั่น รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือ และ การสนับสนุนจากภาครัฐต่ออุตสาหกรรมสื่อสำหรับหลักสูตรการบริหารงานสื่อครบวงจรฯ ยังมีการศึกษาดูงานในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เพื่อเสริมแกร่งในด้านการลงทุน ตลาดทุนไทย รวมถึงการระดมทุน ณ INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน
.
โครงการ Digital Skills for Media Industry มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อให้สามารถปรับตัวต่อบริบทของสังคมในยุคดิจิทัล ยังมีหลักสูตรสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมสื่อ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงส่งเสริมการพัฒนานักศึกษาจบใหม่ให้มีศักยภาพและพร้อมเข้าสู่การเป็นบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมสื่อสมัยใหม่ และยกระดับอุตสาหกรรมสื่อไทยให้ทัดเทียมกับตลาดโลก สมัครได้ตั้งแต่ วันนี้ ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566
.
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://short.depa.or.th/DigitalSkills4Media_register หรือ Facebook : Digital Skills for Media Industry
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Facebook : Digital Skills for Media Industry

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News