Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติกู้ระบบประปาเชียงรายหลังน้ำท่วม

 

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการปรับปรุงระบบจ่ายน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงราย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถจ่ายน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่เวลา 15.30 น. ของวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา โดยมี นายทวีศักดิ์​ สุขก้อน​ ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงราย​ ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการฟื้นฟูระบบประปา รวมถึงแผนการบริหารจัดการที่กำลังดำเนินอยู่

ดร.สุรสีห์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการฟื้นฟูระบบจ่ายน้ำ โดยได้กล่าวว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำที่จังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ผ่านมา ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ถูกมอบหมายให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเร่งกู้คืนระบบประปาให้กลับมาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว โดยในการประชุมวานนี้ มีการขอความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กองทัพพัฒนาภาคที่ 3 กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมทางหลวง เพื่อจัดหาเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากบ่อพักของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงราย ซึ่งทางกรมทางหลวงยังได้สนับสนุนรถน้ำเพื่อให้บริการน้ำสะอาดแก่โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเป็นการชั่วคราว

ในขณะนี้ทางการประปาส่วนภูมิภาคกำลังระดมกำลังเร่งฟื้นฟูระบบ โดยเฉพาะในส่วนของระบบไฟฟ้าที่จะทำให้ระบบปั๊มน้ำสามารถกลับมาทำงานได้ ดร.สุรสีห์ ได้คาดการณ์ว่าการจ่ายน้ำจะสามารถเริ่มได้ในช่วงเย็นของวันนี้ โดยเริ่มต้นที่พื้นที่ใกล้เคียงกับการประปาส่วนภูมิภาคเชียงรายก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับการจ่ายน้ำในพื้นที่เมืองเชียงรายทั้งหมด อาจต้องใช้เครื่องส่งน้ำที่มีกำลังสูง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเร่งติดตั้ง คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในคืนนี้หรืออย่างช้าในวันพรุ่งนี้ ทั้งนี้หากระบบส่งน้ำประปาพร้อมใช้งาน การประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงรายจะเร่งดำเนินการจ่ายน้ำให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด

สำหรับมาตรการที่ได้ดำเนินการในขณะนี้ การประปาส่วนภูมิภาคเชียงรายยังได้จัดส่งรถน้ำเคลื่อนที่ไปให้บริการน้ำสะอาดแก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยหากมีเหตุการณ์ใดๆ เพิ่มเติมหรือระบบส่งน้ำเกิดปัญหา การประปาจะเร่งดำเนินการแก้ไขทันที เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้น้ำประปาได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

ด้านการประปาส่วนภูมิภาคยังได้แสดงความขอบคุณต่อความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชนที่ให้ความร่วมมือในการอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม โดยขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรับทราบข้อมูลและเตรียมตัวได้ทันท่วงที

การฟื้นฟูระบบน้ำประปาในครั้งนี้ ถือเป็นภารกิจสำคัญในการดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากเหตุอุทกภัยที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ หาก กปภ.เชียงราย ดำเนินการจ่ายน้ำแล้ว ถ้าพบเห็นท่อน้ำแตกในเขตอำเภอเมืองเชียงราย แจ้งได้ที่การประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงราย 053-711655

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

สทนช. ติดตามสถานการณ์น้ำ ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน

 

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยนางพัชรวีร์ สุวรรณิก ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่รับฟังบรรยายผลการดำเนินการมาตรการฤดูฝน ปี 2567 พื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมีนายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย นางสาวนันทวรรณ กันคำ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เข้าร่วมประชุม และบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่อำเภอแม่สาย ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำ จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

จากนั้นคณะฯ ได้ลงพื้นที่จำนวน 2 จุด ได้แก่สะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 และบ้านป่าซางงามหมู่ที่ 6 ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามการดำเนินการการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 

นางพัชรวีร์ สุวรรณิก ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากความห่วงใยจากรองนายกรัฐมนตรี ท่านภูมิธรรม เวชยชัย ที่ได้มอบเป็นนโยบายให้กับทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำ ได้เข้ามาดำเนินการดูแลในเรื่องของสถานการณ์ที่เป็นห่วง กังวลในเเรื่องของอุทกภัยตั้งแต่ภาคเหนือ ซึ่งคาดว่าจะประสพกับเรื่องของฝนที่ตกในช่วงเดือนกันยายนนี้ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน พร้อมเตรียมในเรื่องของมวลน้ำให้สามารถระบายลงสู่น้ำโขงได้อย่างรวดเร็ว ไม่เป็นอุปสรรคในการที่จะดำรงชีพ  
สำหรับ สทนช.เป็นหน่วยงานในการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการคาดการณ์ฝน ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ในเรื่องของการดูแลมวลน้ำและมวลชน ร่วมกับกรมบรรเทาสารณภัยท้องที่ ท้องถิ่น และอำเภอ ซึ่งในพื้นที่ อ.แม่สาย เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่ง ซึ่งถ้าเกิดปัญหาอุทกภัยแล้วก็จะก่อเกิดความเสียหาย ก็ควรที่จะต้องเร่งมีมาตรการให้บรรเทาให้กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในขณะนี้ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ทางหน่วยงานได้มีการติดตามประเมินในเรื่องของปริมาณน้ำฝน โดยเฉพาะในช่วงของ สิงหา ถึง กันยายน  โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงราย ภาคเหนือตอนบน ฝนจะตกสะสม และมากกว่าค่าเฉลี่ย จะเห็นได้ว่าขณะนี้ฝนเริ่มตกแล้ว  มีน้ำไหลหลากลงมา โดยเฉพาะแม่สายส่งผลให้น้ำเอ่อล้น 5 รอบแล้ว และ หลังจากนี้ไป ช่วงต้นเดือนกันยายนจนถึงวันที่ 15 กันยายน ฝนก็ยังจะตกซ้ำอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนเหมือนเดิม และทยอยตกตลอดเดือนสิงหาคม เพราะฉะนั้น สถานการณ์ต่อจากนี้ไปในเรื่องของน้ำหลากยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อมูลปริมาณน้ำฝน จึงขอให้มีการติดตามเฝ้าระวังติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด สำหรับพี่น้องประชาชน เมื่อทราบข้อมูลแล้วอยากให้มีการส่งข่าวทางกลุ่มไลน์ กลุ่มเครือข่ายของพี่น้องประชาชนเพื่อให้รับทราบร่วมกัน ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งและเป็นช่องทางที่ดีที่สุด ในการที่จะร่วมกันแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

แม่น้ำโขงยังปกติ แม้เขื่อนกั้นน้ำจีนแตก ผู้เชียวชาญน้ำยัน ไม่กระทบถึงไทย

 

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวคันเขื่อนกั้นน้ำของทะเลสาบต้งถิง ประเทศจีน ได้แตกพังทลาย เมื่อบ่ายวันศุกร์ (5 ก.ค.) ที่ผ่านมา เนื่องจากมณฑลหูหนานเพิ่งเผชิญฝนตกหนักสุดในรอบปีนี้ โดยส่วนหนึ่งของกำแพงเขื่อนกั้นน้ำริมทะเลสาบต้งถิงได้พังทลายลงมา ทำให้น้ำไหลบ่าท่วม แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด

 

ดร.สุรสีห์เผยว่า ระดับน้ำที่ท่วมสูงทำให้มีการอพยพประชาชนเกือบ 6,000 คน ออกไปยังพื้นที่ปลอดภัยที่อยู่ใกล้เคียงนั้น ขอเรียนยืนยันว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยแน่นอน เนื่องจากพื้นที่ที่เกิดเหตุไม่มีทิศทางการไหลของน้ำมายังแม่น้ำโขง อีกทั้งสภาพภูมิประเทศและสภาพลุ่มน้ำนั้น อยู่กันคนละลุ่มน้ำ และไม่มีความเชื่อมโยงกันแต่อย่างใด

 

เลขาธิการ สทนช.กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย สภาพลุ่มน้ำที่มีส่วนเชื่อมโยงกันทางกายภาพกับจีน ก็เฉพาะในลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ โดยแม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในบริเวณตอนเหนือของประเทศทิเบตและบริเวณมณฑลชิงไห่ของประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญอีก 2 สาย คือแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสาละวิน

 

แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศจีนชาวจีนเรียกว่า “แม่น้ำหลานชางเจียง” (Lancang Jiang) ไหลผ่านภูเขาและที่ราบสูงในประเทศจีน ผ่านมณฑลยูนนานเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และประเทศไทย บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว

 

ผ่าน จ.เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เป็นระยะทาง 1,520 กิโลเมตร แล้วไหลเข้าสู่ สปป.ลาว และกัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่

 

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยระดับน้ำที่ตรวจวัดได้ที่สถานีจิ่งหง ประเทศจีน ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 13.34 เมตร

 

“สำหรับประเทศไทย สทนช.ได้ติดตามสถานการณ์น้ำทุกพื้นที่ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างต่อเนื่อง โดยในประเทศไทยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสภาพความมั่นคงของอาคารชลศาสตร์ ได้แก่ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ พนังกั้นน้ำ เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน 2567 โดยมีการติดตามผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการ สทนช.กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

เฝ้าระวัง น้ำในแม่น้ำโขงจังหวัดในอีสานหลังกรดกำมะถัน รั่วไหลที่หลวงพระบาง

 

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 รายงานข่าวจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง หลังได้รับแจ้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีหนังสือแจ้งเตือนประชาชนเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 แจ้งการเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ทำให้กรดซัลฟิวริกไหลลงสู่แม่น้ำคาน บริเวณแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ซึ่งระยะทางจุดเกิดเหตุห่างจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ประมาณ 293 กิโลเมตร

 

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง พบว่าสารเคมีจะเคลื่อนตัวผ่านเขื่อนไชยะบุรี วันที่ 5 เมษายน 2567 ซึ่งจะทำให้สารเคมีเจือจางลง จากนั้นจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย (จังหวัดเลย) ช่วงวันที่ 8 – 10 เมษายน 2567และจากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำแม่น้ำโขงในประเทศไทยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้ติดตามสถานการณ์และประสานสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ให้พิจารณาประสานสปป.ลาว ในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนไชยะบุรี

 

เพื่อเจือจางสารเคมี พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยดำเนินการตรวจวัดคุณภาพน้ำพร้อมรายงานสถานการณ์ให้จังหวัดทราบอย่างต่อเนื่อง เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว และขอให้ 7 จังหวัด

  1. เลย
  2. หนองคาย
  3. บึงกาฬ
  4. นครพนม
  5. มุกดาหาร
  6. อำนาจเจริญ
  7. อุบลราชธานี

โปรดประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง และแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง การประมงสัตว์น้ำ รวมทั้งผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ

 

ซึ่งทางทางการนครหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็มีออกแถลงการณ์ด่วน 1 ฉบับ เพื่อแจ้งและสั่งการให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำของ (โขง) ตั้งแต่ช่วงหมู่บ้านพุสร้างคำ ลงมาจนถึงปากคาน และแม่น้ำของตั้งแต่ปากคานลงมา ห้ามลงอาบน้ำ และห้ามนำปลาที่ตายอยู่ในน้ำมาประกอบอาหาร หรือนำไปขายโดยเด็ดขาด คาดการณ์ว่าสารเคมี กรดกำมะถัน หรือกรดซัลฟิวริค H2SO4 ประมาณ 30 ตันเหล่านี้ไหลลงสู่แม่น้ำของจะกระจายไปตามแม่น้ำของลงไปทางตอนใต้อย่างแน่น ประกอบกับช่วงนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำของมีปริมาณค่อนข้างน้อย การปนเปื้อนจึงรุนแรง ส่งผลกระทบกับคน สัตว์น้ำอย่างปู ปลา กุ้ง ชนิดต่างๆ ซึ่งต้องจับตามองต่อไปว่าหลังจากนี้จะมีมาตรการอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องนี้  แต่มีการคาดการณ์ว่า จะไม่กระทบถึงแม่น้ำโขงในช่วง อ.เชียงคาน จ.เลย มากนักเนื่องจากน้ำที่ไหลลงมาจากนครหลวงพระบางจะถูกกักเก็บไว้ที่เขื่อนไซยะบูลี (ไซยะบุรี) สปป.ลาว ก่อน

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ทรัพยากรน้ำ ตามแผนพัฒนาและ ฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม เชียงราย

 

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ห้องประชุมสำนักงานโครงการชลประทานเชียงราย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการภายใต้แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย โดยมีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานชลประทานเชียงราย และหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณโครงการในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เข้าร่วมประชุม

 

ด้วยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ดำเนินโครงการจัดทำแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จังหวัดเชียงราย และมีมติประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 เห็นชอบแผนหลักและให้หน่วยงานเร่งรัดขับเคลื่อนเตรียมความพร้อมและเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่มจังหวัดเชียงราย โดยการประชุมในครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนและติดตามความก้าวหน้าโครงการภายใต้แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่มจังหวัดเชียงราย และร่วมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม ตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
 
 
สำหรับแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม ปี พ.ศ. 2566 ถึง 2570 จังหวัดเชียงรายได้รับอนุมัติโครงการจำนวน 65 โครงการ วงเงิน 3,880.85 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นแผนพัฒนาเวียงหนองหล่ม 5 ด้าน ได้แก่ด้านการบริหารจัดการพื้นที่ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวและโบราณคดี และด้านการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จเวียงหนองหล่ม จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากภาคการเกษตรถึง 49,792 ไร่ สามารถเพิ่มความจุเก็บกักน้ำเพิ่มเป็น 24.22 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำที่ผันเข้าพื้นที่กว่า 35.00 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และประชาชนได้รับประโยชน์ 14,531 ครอบครัว สามารถลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วมได้ถึง 13,300 ไร่ อีกทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ในการพัฒนาแหล่งน้ำให้มีคุณภาพดีและเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ของประชาชน และเป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศตามธรรมชาติ รวมถึงจะเป็นแหล่งศึกษาโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ของจังหวัดเชียงรายต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News