Categories
SOCIETY & POLITICS

จ.สงขลา จับกุมบุหรี่หนีภาษี กว่า 5 แสนซอง มูลค่ากว่า 42 ล้าน

สรรพสามิตจับกุมผู้กระทำผิดบุหรี่หนีภาษีล็อตใหญ่ โดยสำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 9 และสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สงขลา พร้อมบูรณาการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองทัพเรือภาคที่ 2 ศร.ชล.ภาค 2  ฝ่ายปกครอง ศุลกากรภาคที่ 4 และ กอ.รมน. สงขลา ร่วมกันจับกุมผู้กระทำผิด พรบ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 บุหรี่หนีภาษียี่ห้อ Gold Mount ล็อตใหญ่จำนวน 532,500 ซอง ประมาณการมูลค่าสินค้า 42,000,000 บาท ประมาณการมูลค่าภาษี 33,400,000 บาท ณ สถานที่เกิดเหตุบริเวณท่าเทียบเรือ อ.จะนะ จ.สงขลา  

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า “วันที่ 3 สิงหาคม 2566 ภายใต้การอำนวยการของ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต นายวิวัฒน์ เขาสกุล ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ภาษีสรรพสามิต โดยการผนึกกำลังในการจัดการของผู้อำนวยการสำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 9 สรรพสามิตพื้นที่สงขลา ผอ.สตป.สภ.9 รักษาการ หน.ฝ่ายป้องกันและปราบปราม สำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 9 หน.ฝ่ายป้องกันและปราบปราม สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สงขลา และสรรพสามิตพื้นที่สาขาเมืองสงขลา สายตรวจสำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 9 สายตรวจสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สงขลา บูรณาการร่วมกับกองทัพเรือภาคที่ 2 ศร.ชล. ภาค 2 ฝ่ายปกครอง ศุลกากรภาคที่ 4 กอ.รมน. สงขลา ร่วมกันจับกุมผู้กระทำผิด พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่ลักลอบนำบุหรี่ต่างประเทศที่มิได้เสียภาษีแบบทันท่วงที ณ สถานที่เกิดเหตุบริเวณ ท่าเทียบเรือ อ.จะนะ จ.สงขลา”  
 
สำหรับผลการจับกุมนั้น สามารถจับผู้ต้องหาได้จำนวน 15 คน โดยมีของกลางประกอบด้วย 1. รถยนต์กระบะตู้ทึบ จำนวน 8 คัน 2. เรือประมง จำนวน 1 ลำ และ 3. ยาสูบต่างประเทศ ยี่ห้อ Gold Mount ที่มิได้เสียภาษีสรรพสามิต จำนวน 532,500 ซอง โดยกรมสรรพสามิตได้ทำการจับกุม และได้มีการประมาณการมูลค่าสินค้า 42,000,000 บาท ประมาณการภาษี 33,400,000 บาท โดยมีการส่งดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 
นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมสรรพสามิตได้ให้ความสำคัญในการปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร. บ.ภาษีสรรพสามิต 2560 อย่างเคร่งครัด โดยครั้งนี้เป็นการจับกุมล็อตใหญ่ที่หากเล็ดลอดไปได้จะสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของความชอบธรรมที่ต้องมีให้กับผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต รวมถึงการดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพของพี่น้องประชาชนชาวไทยจากการได้รับสินค้าปลอมแปลงที่อาจเกิดปัญหาหรือส่งผลต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน”  
      
ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสหรือพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตสามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศหรือ สายด่วน 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมล์ excise_hotline@excise.go.th

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 9

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
ECONOMY

พลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอให้สามารถนำเอทานอลไปผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ นอกเหนือการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา สอดรับหลักการ BCG Model ด้านกรมสรรพสามิตขานรับนโยบายหนุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) รองรับการขยายตัวตามเทรนด์โลกในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากล  เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 รับทราบแนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อันจะเป็นการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสำหรับผู้ผลิตเอทานอลในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 กระทรวงการคลังจึงกำหนดแนวทางการส่งเสริม   การนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในชั้นบรรยากาศ รวมถึงลดการใช้ปิโตรเคมีจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตเม็ดพลาสติก

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร พร้อมดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง โดยจะสนับสนุนให้นำเอทานอลไปผลิตพลาสติกชีวภาพได้ โดยกำหนดให้ผู้ใช้เอทานอลจะต้องใช้เอทานอลที่ผลิตในประเทศก่อนเป็นลำดับแรก

สำหรับแนวทางในการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ สามารถสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. จัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอลภายในประเทศ ซึ่งมีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิคและการพัฒนาบุคลากรให้สามารถเป็นผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานที่กำหนด


2. กระทรวงการคลังจะแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาปริมาณการผลิตเอทานอลที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอลจากผู้ผลิตในประเทศล่วงหน้าในแต่ละปี ในกรณีที่ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถผลิตเอทานอลได้ตรงตามมาตรฐานและไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้เอทานอล จะกำหนดปริมาณการนำเข้าเอทานอลที่จะได้รับสิทธิอากรขาเข้าในอัตราพิเศษเพื่อนำมาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ


3. ภาครัฐให้การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในประเทศให้สามารถจำหน่าย เอทานอลในราคาที่สามารถแข่งขันกับเอทานอลนำเข้าได้อย่างยั่งยืน


4. กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรจะพิจารณาดำเนินการออกมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเอทานอลไปใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ

โดยคาดว่าในเบื้องต้นจะมีความต้องการใช้เอทานอลประมาณ 450 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งแนวทางการส่งเสริมเอทานอลชีวภาพในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพของเอทานอลในประเทศไทย รวมถึงเป็นการเพิ่มตลาดใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านการใช้เอทานอลในภาคการขนส่งจากนโยบายการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า” นายเอกนิติกล่าว  

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการผลิตพลาสติกจากวัตถุดิบปิโตรเลียม ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ซึ่งหากเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นเอทานอลที่มาจากพืช เช่น อ้อย หรือมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบชีวภาพ (Bio-based) จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จำนวนมาก โดยกระบวนการปลูกพืช  เพื่อนำมาผลิตเอทานอลและนำไปใช้ในการผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพเป็นกระบวนการผลิตที่มี Carbon Footprint ต่ำ สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 15 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร จึงเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก และหากประเทศไทยสามารถปรับกระบวนการผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพได้ทั้งหมด 5 ล้านตัน จะช่วยสนับสนุนความต้องการเอทานอลมากกว่า 10,000 ล้านลิตรต่อปี ทำให้เกษตรกรและผู้ผลิตมีความมั่นใจในการลงทุนพัฒนาคุณภาพเอทานอลในประเทศให้มีมาตรฐานระดับสากล ส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งส่งผลดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจากโอกาสดังกล่าว ที่สำคัญยังเป็นการตอบสนองต่อฉันทามติสากลในการลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ และส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างแท้จริง

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมสรรพสามิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News