Categories
TOP STORIES

เร่งสอบย้อนหลังซื้อขายวุฒิ ม.เอกชน โทษสูงสุดยกเลิกใบจัดตั้งมหาวิทยาลัย

 

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีข่าวการซื้อขายวุฒิปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ว่า ขณะนี้ กระทรวง อว. ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. เป็นประธาน รวมถึงมีหนังสือแจ้งไปยังกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าว ซึ่งเป็นกรรมการสภาที่กระทรวง อว. แต่งตั้งเป็นผู้แทน 3 ท่าน ให้ดำเนินการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานทางกระทรวง อว. ให้ทราบโดยด่วน

น.ส.ศุภมาส กล่าวต่อว่า สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าว เคยถูกควบคุมโดยกระทรวง อว. เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ถึง 4 มิ.ย. 2567 เนื่องจากปัญหาการขอกำหนดตำแหน่งวิชาการไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กำหนด และเพิ่งจะมีการยกเลิกการควบคุม เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลาที่อยู่ในการควบคุม มั่นใจได้ว่าไม่มีการออกวุฒิปริญญาบัตรที่ไม่ถูกต้องแน่นอน เพราะกระทรวง อว. ควบคุมอย่างเข้มงวด นี่อาจจะเป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดกรณีที่เป็นข่าวว่าเสียเงินซื้อ แต่ไม่ได้ปริญญาตามที่ตกลง

“จากนี้กระทรวง อว. จะทำการสอบข้อเท็จจริงย้อนหลังไปก่อนการควบคุม ว่าได้มีการดำเนินการซื้อขายวุฒิปริญญาบัตรตามที่เป็นข่าวหรือไม่ หากพบว่าผิดจริง จะใช้มาตรการเด็ดขาดตามกฎหมาย ซึ่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ให้อำนาจกระทรวง อว. เข้าไปควบคุม ดำเนินคดี จนถึงการยกเลิกใบอนุญาตในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยได้ และในอดีตที่ผ่านมา ก็เคยมีการยกเลิกใบอนุญาตสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ทำผิดกฎหมายในลักษณะเดียวกันมาแล้ว” น.ส.ศุภมาส กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
SOCIETY & POLITICS

“ศุภมาส” ชื่นชมกระทรวง อว. ยกระดับ กระดาษปอสาเพิ่มรายได้กว่า 2 พันล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การผลิตกระดาษหัตถกรรมจากปอสา เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนทางภาคเหนือของประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัย และน่าน โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์กระดาษสาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างรายได้จากการส่งออกกระดาษสาและผลิตภัณฑ์มากกว่าปีละ 100 ล้านบาท และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวรวมเป็นมูลค่ากว่า 2000 ล้านบาท นอกจากนี้ชุมชนที่ผลิตกระดาษสา ยังเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้และทำกิจกรรมการผลิตกระดาษแบบดั้งเดิมจำนวนมาก เป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง  เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ในการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนตลอดจนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและการประกอบอาชีพด้านการผลิตสินค้าหัตถกรรมเพื่อเป็นการกระจายรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่น

 

ตนขอชื่นชมกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ที่ประสบความสำเร็จด้วยการนำกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มาขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตกระดาษหัตถกรรมจากปอสา เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ การผลิตกระดาษสา การสร้างลวดลาย สีสัน และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของลูกค้าและนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ ตนได้มอบหมาย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ให้เร่งขยายพื้นที่การดำเนินงาน และสร้างความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับหน่วยงาน อว.ระดับพื้นที่ รวมถึงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรโยชน์ประชาชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

 

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตกระดาษสาส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในแถบยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการผลิตตามความต้องการสั่งซื้อจากลูกค้าโดยตรง และยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้ดำเนินการตามนโยบายของ รมว.อว. ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ลงสู่พื้นที่ที่มีการผลิตกระดาษสาเพื่อการส่งออก ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัย และน่าน เพื่อยกระดับคุณภาพกระดาษสาสำหรับส่งออกในด้านต่าง ๆ เช่น สีสัน ลวดลาย การเพิ่มความเรียบ ความสม่ำเสมอ ความแข็งแรง การต้านลามไฟของเนื้อกระดาษ และลดความเป็นกรดด่าง ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าจากต่างประเทศ เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังเร่งให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยในการปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มเทคนิค และจัดสถานที่เพื่อให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และน่าน ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกระดาษสา โดยเริ่มจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตกระดาษหัตถกรรมให้เหมาะกับการท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพ รูปแบบ สีสัน ลวดลาย บนกระดาษสาด้วยเทคนิค Ebru Marbling ซึ่งเป็นการประยุกต์งานศิลปะดั้งเดิมของชาวตุรกี ที่สร้างลวดลายหินอ่อนบนผ้ามาสร้างลวดลายหินอ่อนบนผิวกระดาษสา เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์และสร้างกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำด้วยตัวเอง เพิ่มความน่าสนใจ ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแนะนำชุมชนด้านสถานที่ รวมถึงข้อมูลให้กับบุคลากรในพื้นที่ สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้านผลิตภัณฑ์กระดาษหัตถกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชุมชนกระดาษสาที่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมากยิ่งขึ้น

 
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเยื่อและกระดาษแบบครบวงจรมากกว่า 50 ปี ทั้งด้านวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบเครื่องทดสอบกระดาษ วิจัย พัฒนา และจัดทำมาตรฐาน (Standards) หรือข้อกำหนดคุณลักษณะ (Specifications) ตามหลักการในการจัดทำมาตรฐานสากล และ วศ. ได้นำองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตกระดาษไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่ วิสาหกิจชุมชน (OTOP) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาสร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้านเยื่อและกระดาษภายในประเทศ
 
นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. ได้ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานในชุมชนและภาคมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อพัฒนากระดาษหัตถกรรมท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน เพื่อสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น สืบทอดกันมานับหลายร้อยปี สร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนระดับชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

“ศุภมาส” ลั่น! พร้อมส่ง “คน-เทคโนฯ-ทุน” ลงพื้นที่เชียงราย ขับเคลื่อนชุมชนป่าตึงริมกก

 
 เมื่อวันที่ 17 มี.ค. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. น.ส.สุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ อว. และผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ปรึกษาติดตามการดำเนินงานของกระทรวง อว.ในพื้นที่ จ. เชียงราย-พะเยา ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน)
 
 
โดยจุดแรก น.ส.ศุภมาส ได้ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนานครเชียงรายสู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ และการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับคนทุกวัย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของ จ.เชียงราย ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรภ.เชียงราย) ร่วมกับเทศบาลนครเชียงราย ที่บริเวณชุมชนป่าตึงริมกก โดยมีนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีเมืองเชียงราย พร้อมชุมชนต้นแบบจำนวน 14 ชุมชนมาให้การต้อนรับ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดย น.ส.ศุภมาส ได้เดินดูผลิตผลทางการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตสู่การเป็นอาหารปลอดภัยจากชุมชนต้นแบบทั้ง 14 ชุมชน พร้อมพูดคุยกับชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง ทั้งนี้ รมว.อว.กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นตามความต้องการของชุมชน ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนและส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
 
เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนเขตเมืองที่สอดคล้องรับนโยบายของจังหวัดเชียงรายและเป็นเมืองแห่งสุขภาวะ (Wellness City) ทั้งนี้ เทศบาลนครเชียงรายร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้มีการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมจากชุมชนพื้นที่เทศบาลนครเชียงรายที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจ ได้แก่
  • ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
  • นวัตกรรมด้านการจัดการขยะในชุมชน
  • นวัตกรรมชุมชนต้นแบบอาหารปลอดภัย
  • นวัตกรรมผลลัพธ์หลักสูตรการเรียนรู้อาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพสำหรับ ผู้สูงอายุ
  • ผลผลิตตลาดเกษตรปลอดภัยนครเชียงราย
 
จากนั้น น.ส.ศุภมาส ได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานยัง Young Smart Farmer (YSF) ที่โอโซนฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าการผลิตและควบคุมระบบการปลูกพืชออร์แกนิกซ์ปลอดสารพิษ ดำเนินการโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย รมว.อว. ได้เยี่ยมชมการพัฒนาระบบ Smart Farm ระบบแยกผสมปุ๋ยและควบคุมอัตโนมัติสำหรับฟาร์มเมล่อน เพื่อให้ได้ผลผลิตเมล่อนคุณภาพสูง รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเมล่อนและผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมาย
 
 
 ต่อมา น.ส.ศุภมาส ได้เดินทางไปยัง บริษัท เฮล์ท เฮิร์บ เซ็นเตอร์ จำกัด เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการสนับสนุนงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ที่ อ.แม่สาย โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มฟล. ซึ่งผู้ประกอบการรายนี้เป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางและยาสมุนไพรจากกวาวเครือขาว กวาวเครือแดงรายแรกๆ ของ จ.เชียงราย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยการนำงานวิจัยของ มฟล.มาใช้ ปัจจุบันได้กลายเป็นผู้ส่งออกสารสกัดและผลิตกวาวเครือขาว กวาวเครือแดงไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดย รมว.อว. ยังได้ร่วมประชุมกับผู้ประกอบการและผู้บริหารอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคอีกด้วย
 
 
จากนั้น น.ส.ศุภมาส ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวง อว. มีหน่วยงานต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนชุมชนและผู้ประกอบการใน จ.เชียงราย ทั้ง มรภ.เชียงราย มฟล. และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค รวมถึงหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยต่างๆ ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ที่ อว. ประกอบภาพขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาชุมชนและพื้นที่ให้สมกับการที่เชียงรายได้รับการประกาศให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโก (UCCN) ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และกระทรวง อว.จะทำในทุกจังหวัด คือการสนับสนุนคนเทคโนโลยีและทุน ทั้งทุนตั้งต้น ทุนตั้งตัว เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไปได้ไกลที่สุดจะได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เทศบาลนครเชียงราย 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News