Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมพันธมิตรเสริมภูมิคุ้มกันชีวิตตั้งแต่ปฐมวัย

 
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมอง เสริมภูมิคุ้มกัน เตรียมความพร้อมเด็กปฐมวัย เพื่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักวิธีจัดการชีวิต โดยได้รับความร่วมมือจากจังหวัดเชียงราย ในการให้ความรู้แก่บุคลากรเครือข่ายสาธารณสุขและร่วมกันพัฒนาศักยภาพครูปฐมวัยอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 5 พร้อมที่จะสร้างเชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบด้านการพัฒนาทักษะสมองจังหวัดแรกของประเทศ โดยกว่า 50 องค์กรในจังหวัดเชียงราย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและสร้างความยั่งยืน โดยมีคณะกรรมการระดับจังหวัดช่วยดำเนินการสานต่อการขับเคลื่อนงาน

 

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และดูแลฝ่ายบริหารกิจกรรมเพื่อสังคม
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่ามูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาทักษะสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน” ที่จังหวัดเชียงราย                 มาตั้งแต่ปี 2563 และทำต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ ซึ่งนับเป็นปีที่ 5 โดยนำแนวคิดการพัฒนาทักษะสมอง (Executive Functions: EF) มาถ่ายทอดให้แก่บุคลากรเครือข่ายสาธารณสุข ครูปฐมวัย และผู้ปกครอง โดยได้ทยอยทำมาอย่างต่อเนื่องจนครบทุกอำเภอของจังหวัดเชียงราย โดยมีอำเภอพญาเม็งรายเป็นต้นแบบของความสำเร็จ

 

“จากการติดตามผลการดำเนินโครงการฯ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการดูแลเลี้ยงดูเด็ก ส่งผลให้เด็กปฐมวัยกว่าร้อยละ 70 มีระดับทักษะสมอง EF ในระดับดีถึงดีมาก โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของทั้งผู้ดูแลเด็ก และเด็กมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น เด็กเลิกติดโทรศัพท์มือถือ มีการเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่ค่อนข้างก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ มาเป็นเด็กที่สนใจหนังสือนิทาน เล่นกับเพื่อนได้ และเข้าสังคมได้เป็นปกติ หลังจากที่คุณแม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของเด็กนักเรียนที่สามารถปรับตัวให้รู้จักการรอคอย มีความอดทนอดกลั้น รู้จักยับยั้งชั่งใจ มีการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ หลังจากที่คุณครูได้เข้าร่วมโครงการฯ และเปลี่ยนแนวทางการดูแลเด็กนักเรียนตามแนวทาง EF โดยเชื่อมั่นว่า เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นก็จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของสังคม รวมทั้งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป”

 

“มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่าจากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐไปถึงผู้ปฏิบัติงานที่มุ่งมั่นและแข็งขันในทุกภาคส่วน เชียงรายจะเป็นจังหวัดต้นแบบในการสร้างเด็กไทยที่มีคุณภาพ และองค์ความรู้ดังกล่าวจะเป็นต้นแบบอันทรงคุณค่า ทำให้จังหวัดเชียงรายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดการต่อยอดขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในวงกว้างทั้งประเทศ อันจะช่วยให้เกิดผลกระทบเชิงบวกอย่างยั่งยืนได้”

 

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับพรมแดนที่มีความเสี่ยงด้านยาเสพติด ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจทำให้พ่อ-แม่ต้องจากบ้านไปทำงาน ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้า และมีความเสี่ยงต่อการถูกชักจูงไปในทางที่ผิด แต่หลังจากที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้ามาขยายผล “โครงการพัฒนาทักษะสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน”  โดยใช้ต้นแบบ EF จากอำเภอพญาเม็งรายที่ได้

 

 

 

ขับเคลื่อน EF ในพื้นที่ จนส่งผลให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการดีขึ้น โดยมีค่า EF  สูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศ (norm) ถึง 20%  มาบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยทั้งจังหวัดเชียงราย ทั้งหน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานการศึกษาปฐมวัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการในแต่ละอำเภอ ส่งผลให้เชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบด้านการพัฒนาทักษะสมองจังหวัดแรกของประเทศ

 

เด็กปฐมวัยของจังหวัดเชียงรายที่มีอายุระหว่าง 0-6 ปี มีจำนวน 57,853 คน คิดเป็นร้อย 46.3 ของเด็กและเยาวชน ทั้งหมดของจังหวัดเชียงราย ปัจจุบัน มีเด็กปฐมวัย ที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนกว่า 35,377 คน และมีบุคลากรด้านสาธารณสุข ครูปฐมวัย ผู้ปกครองและผู้นำชุมชนเข้าร่วมโครงการ 39,177 ราย และมีกลุ่มบุคลากรที่มีความรู้เรื่อง EF หรือ  EF Facilitator กว่า 270 คน ร่วมกันเผยแพร่ส่งต่อองค์ความรู้ดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ จังหวัดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมทักษะสมอง Executive Functions (EF) จังหวัดเชียงราย เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการดำเนินงานเชิงลึกและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างรากฐานที่เข้มแข็งและต่อเนื่อง

 

นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) เปิดเผยว่า การพัฒนาทักษะสมอง EF เริ่มตั้งแต่ขวบปีแรก จนถึงประมาณ 25 ปี แต่ช่วงอายุ 3-6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ทักษะสมอง EF มีการพัฒนาเติบโตได้ดีที่สุด ปฐมวัยจึงเป็นการวางเสาเข็มของชีวิต เด็กที่ได้รับการพัฒนาทักษะสมอง หรือ Executive Functions: EF อย่างต่อเนื่อง จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดี มีวินัยและความรับผิดชอบ พร้อมผลักดันพากเพียรพาตนเองไปสู่เป้าหมายของชีวิต มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่า หากเด็กตั้งแต่ปฐมวัยขาดทักษะ EF จะทำให้ไม่สามารถยับยั้งตนเอง หรืออดกลั้นต่อสิ่งเร้ารอบตัวเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นได้ นำไปสู่การ “ติด” ต่างๆ ในอนาคต เช่น ติดเกม ติดเพื่อน ติดสุรา ติดบุหรี่และยาเสพติด หรือการตกอยู่ในภาวะจิตใจบกพร่อง เช่น ซึมเศร้า จิตเภท กำกับพฤติกรรมตนเองไม่ได้ ก้าวร้าว ทำผิดกฎหมาย แต่หากเด็กมีทักษะ EF เขาจะมีความสามารถในการกำกับความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของตนได้ดี นอกจากนี้ ทักษะสมอง EF เป็นฐานรากของการพัฒนาต่อยอดกระบวนการคิดและบุคลิกภาพที่ซับซ้อนขึ้น หรือที่เรียกว่าเป็น “การคิดขั้นสูง” อันจะนำไปสู่การมี “ทักษะศตวรรษที่ 21” ที่จำเป็นยิ่งต่อการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่

 

“ปัญหาเยาวชนไม่ว่า การกราดยิง ความก้าวร้าวรุนแรง ยาเสพติด แม่วัยใส โรคซึมเศร้า ฯลฯ ล้วนมีรากมาจากการเลี้ยงดูพัฒนาในช่วงปฐมวัยที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสะสมมาจนปรากฏเป็นความเสียหายในช่วงวัยรุ่น ส่งผลต่ออนาคตที่ง่อนแง่นคลอนแคลน แต่หากเด็กได้รับการพัฒนาให้เห็นคุณค่าในตนเอง สามารถกำกับตนเองได้ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และอยู่กับคนอื่นเป็นตั้งแต่ปฐมวัย โดยผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวในระบบนิเวศร่วมมือกันดูแลและให้โอกาสฝึกฝนอย่างจริงจัง ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบจังหวัดเชียงราย โครงสร้างสมองของเด็กก็จะก่อรูป ฝังเป็นคุณลักษณะนิสัยที่จะช่วยให้เด็กๆ เติบโต เป็นคนคุณภาพของประเทศต่อไปในโลกที่แปรปรวน”

 

ในโอกาสที่จังหวัดเชียงรายได้พัฒนาจนเป็นจังหวัดต้นแบบของการพัฒนาทักษะสมอง EF ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด จึงได้เป็นประธานในการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย กว่า 50 องค์กร เพื่อยืนยันการร่วมมือกัน ขับเคลื่อนเชียงราย จังหวัดต้นแบบบูรณาการส่งเสริม EF และผลักดันแผนปฏิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัยจังหวัดเชียงรายอย่างเป็นรูปธรรม

 

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต ของกลุ่มคนที่เป็นรากฐานของสังคม โดยมีแนวทางในการทำงานร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับคนไทย

 

ผู้สนใจติดตามรายละเอียดโครงการได้ที่ www.setfoundation.or.th

 

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ยึดมั่นใน “พลังความร่วมมือ เพื่อสังคมที่ดีกว่า (Partner for Better Society)”

 

SET…Make it Work for Everyone”

 

สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลได้ที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร อรสิริ บุญแต้ม 0 2009 9487 / ณัฐยา เมืองแมน 0 2009 9488 / กนกวรรณ เข็มมาลัย 0 2009 9478

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นับตั้งแต่ปี 2549 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เริ่มก่อตั้งมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจนปัจจุบัน มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจที่มีเป้าหมายในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับชีวิตคนไทย โดยทำงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนเพื่อสร้าง “นวัตกรรมทางสังคม” เพื่อให้พลังร่วมเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และวางรากฐานสำคัญเพื่อการเดินหน้าไปสู่สังคมที่ดีขึ้น

 

สถาบัน RLG

สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) เป็นหน่วยงานวิชาการภายใต้กลุ่มบริษัทรักลูก (ก่อตั้งปี พ.ศ. 2525)  โดยมุ่งเป้าหมายร่วมพัฒนาสังคม ด้วยการสร้างและสื่อสารเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัวไปทั่วประเทศ

โดยตั้งแต่ปี 2557 สถาบันฯ ร่วมกับนักวิชาการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย และภาคี Thailand EF Partnership จัดการความรู้และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทักษะสมอง EF เพื่อรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันชีวิตและพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนตั้งแต่ปฐมวัย

 

ปี 2559 สถาบันฯ ได้เชื่อมประสานกับโรงพยาบาลพญาเม็งรายในการนำความรู้ EF พัฒนาอำเภอพญาเม็งรายให้เป็นพื้นที่บูรณาการ ที่ทุกฝ่ายทั้งสาธารณสุข การศึกษา ผู้นำชุมชน และพ่อแม่ผู้ปกครองร่วมมือกันดูและพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสม  จนเกิดเป็นระบบนิเวศการพัฒนาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางแบบ “พญาเม็งรายโมเดล” และสามารถขยายผลต่อ ครอบคลุมครบ 18 อำเภอในจังหวัดเชียงราย รวมทั้งขยาย “พญาเม็งรายโมเดล” ไปยังอำเภอต่างๆ ในหลายจังหวัด ทั่วทุกภาค นอกจากนี้  ยังได้ร่วมพัฒนาหลักสูตร “สมองและการเรียนรู้” กับคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ปัจจุบันมีนักศึกษาครูปฐมวัยจบการศึกษาและออกปฏิบัติงานในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั่วประเทศแล้ว

 

ปัจจุบันองค์ความรู้ EF เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งในวงการสาธารณสุข การศึกษาปฐมวัย และพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความตื่นตัวและต้องการพัฒนาคุณภาพของเด็กปฐมวัย

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
NEWS SOCIETY & POLITICS

ผลงานโครงการโรงเรียนเชียงรายรู้เท่าทันภัยออนไลน์

ผลงานโครงการโรงเรียนเชียงรายรู้เท่าทันภัยออนไลน์

Facebook
Twitter
Email
Print

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ที่ห้องประชุมภูชี้ฟ้า โรงแรมภูฟ้าวารีเชียงราย รีสอร์ท ตำบลท่าสุด อำเภอเมืองเชียงราย นายวัลลภ ไม้จำปา ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานพิธีเปิด “เวทีนำเสนอผลงานโครงการโรงเรียนเชียงรายเท่าทันภัยออนไลน์” ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยทางมูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ได้ดำเนินกิจกรรมโครงการโรงเรียนเชียงรายเท่าทันภัยออนไลน์ ร่วมกับ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ซึ่งเป็นโครงการที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อน และผลักดันให้มีการจัดการเรียนรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ เท่าทันภัยออนไลน์ ในสถานศึกษา จำนวน 20 แห่ง ในจังหวัดเชียงราย 

รวมถึงพัฒนาศักยภาพครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษาให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมให้ครูผู้สอนสามารถนำกระบวนการ ทักษะความรู้ไปขยายผลต่อในสถานศึกษา และมีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผ่านกระบวนการ Active Learning ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับสถานศึกษา ครูผู้สอน และเด็กนักเรียนที่ได้เข้าร่วมโครงการ โดยมี นางสาวเกษณี จันทร์ต๊ะ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิ ECPAT ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน เข้าร่วมนำเสนอผลงานฯ ในครั้งนี้ด้วย

นางสาวเกษณี จันทร์ตระกูล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิ ECPAT กล่าวว่า โครงการ “โรงเรียนเชียงรายเท่าทันภัยออนไลน์” ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ 20 โรงเรียนของจังหวัดเชียงราย ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ระยะเวลาโครงการ 1 ปี คือ มิถุนายน 2565 – พฤษภาคม 2566 เป้าหมายของโครงการ คือ 

เพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนในสถานศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการจัดกระบวนการเรียนการสอน เรื่อง รู้เท่าทันภัยออนไลน์ ส่งเสริมให้สถานศึกษามีการจัดการเรียนการสอน เรื่อง รู้เท่าทันภัยออนไลน์ แก่เด็กนักเรียนอย่างต่อเนื่อง และจัดให้มีสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับภัยออนไลน์สำหรับสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ และเด็กนักเรียนสามารถเข้าถึงได้
ทางด้าน นายวัลลภ ไม้จำปา ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย กล่าวอีกว่า 

โครงการโรงเรียนเชียงรายเท่าทันภัยออนไลน์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ ความสำเร็จ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งกับเด็กนักเรียน ครูผู้สอน และสถานศึกษา ซึ่งจากการดำเนินงานโครงการ พบว่า เด็กนักเรียนที่ได้เรียนเรื่องเท่าทันภัยออนไลน์มีความรู้และทักษะในการดูแลปกป้องตนเองจากภัยออนไลน์ได้ดีขึ้น รู้จักแหล่งให้ความช่วยเหลือ ครูผู้สอนสามารถทำหน้าที่เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างดี เน้นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม สื่อวิดีโอ ข่าว และการคิดวิเคราะห์ และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนตามความเหมาะสมตามวัยของเด็กนักเรียน ยิ่งกว่านั้นสถานศึกษาเองก็ให้ความสำคัญและส่งเสริมครู ส่งเสริมนักเรียนในการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง และสอดคล้องกับทักษะการใช้สื่อในศตวรรษที่ 21
Facebook
Twitter
Email
Print

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
NEWS UPDATE