สืบสานบูชาเสาสะดือเมือง ประเพณีเดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก ใส่ขันดอกเสาสะดือเมืองเชียงราย
Facebook
Twitter
Email
Print
เมื่อวันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงราย จัดงานประเพณีเดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก ใส่ขันดอกเสาสะดือเมืองเชียงราย ณ วัดกลางเวียง ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมี นางภัทราวดี สุทธิธนกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเชิญขันหลวงเข้าหลักเมือง พร้อมด้วย พล.ต.ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย และประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงราย นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นางสาวนันทวรรณ กันคำ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย นางวรางคณา อุ่นบ้าน ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ พุทธศาสนิกชน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
งานประเพณีเดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก ใส่ขันดอกเสาสะดือเมืองเชียงราย เป็นการฟื้นฟูประเพณีท้องถิ่น และรักษาวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม โดยจะจัดในช่วงปลายเดือน 8 ต้นเดือน 9 (เดือนทางเหนือล้านนา) ตรงกับแรม ๑๓ ค่ำ เดือน 8 ไปถึงขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 รวม 7 วัน มีตำนานความเชื่อว่าเป็นเสาที่พระอินทร์ลงมาปัก แต่เดิมพื้นที่แถบล้านนาเป็นที่อยู่อาศัยของชาวลัวะ ได้เกิดอาเพศบ้านเมืองวิปริตแปรปรวนเป็นโรคห่าล้มตายจำนวนมาก จึงได้พากันถือศีลวิงวอนเทพ เทวาอารักษ์ ในตำนานกล่าวว่าพระอินทร์ลงมาฝังหลักอินทขีลหรือฝังหลักเมืองไว้ ขอให้หลักนี้นำมาซึ่งความร่วมเย็นเป็นสุข ใครปรารถนาสิ่งใดให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยกำหนดจัดในระหว่างวันที่ 17 – 23 พฤษภาคม 2566
งานประเพณีมีกิจกรรมที่น่าสนใจได้แก่
1) พิธีบอกกล่าวประตูเมืองเชียงราย 12 ประตู พิธีอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ พิธีอัญเชิญพระอุปคุต พิธีการเข้าหลักเมือง และขบวนแห่พระเจ้าฝนแสนห่า โดยเคลื่อนขบวนผ่านถนนธนาลัย สู่วัดกลางเวียง
2) กิจกรรม Workshop การเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องสักการะล้านนา การทำสวยดอกไม้ การทำต้นผึ้ง ของเด็กนักเรียนและครูจากโรงเรียนเชียงรายวิทยาคม รวมจำนวน 22 คน รวมทั้งนักเรียนและครูที่เข้าร่วมกิจกรรมได้นำเครื่องสักการะ (ต้นผึ้ง) และสวยดอกไม้ที่ทำเสร็จแล้วถวายสักการะเสาสะดือเมืองเชียงราย โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย จัดให้มีเกียรติบัตรมอบให้กับนักเรียนและครูที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว
3) การออกร้านเครือข่ายทางวัฒนธรรม “กาดก้อมกินลำ”
4) การแสดงการขับซอจากศิลปินจ่างซอ (อินโฟกราฟิกการแสดง https://shorturl.asia/DNbBI )
5) การแสดงศิลปะ การฟ้อน และการแสดงดนตรีพื้นเมือง จากช่างฟ้อน และผู้สนใจ โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย จัดให้มีเกียรติบัตรมอบให้กับผู้ร่วมแสดงในครั้งนี้
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย
พัชรนันท์ แก้วจินดา, สายรุ้ง สันทะบุตร : รายงาน
อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการข่าว
Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News