Categories
SOCIETY & POLITICS

ปลัดมท.สั่งผู้ว่าฯทุกจังหวัดค้นหา ผู้เสพ-ผู้ค้ายาเสพติดในทุกพื้นที่

 

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.) ทุกจังหวัดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ปฏิบัติการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยดำเนินการให้ครอบคลุม ทั้งด้านการป้องกัน การปราบปราม การบังคับใช้กฎหมาย การบำบัดรักษายาเสพติด และการดำเนินการค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ผู้ค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด (Re X-ray) ในพื้นที่ตำบล/หมู่บ้านอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยกรณีผู้ค้าและผู้ผลิตให้จับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด สำหรับผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ให้นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดทันที

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ใช้แนวทางในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงรุก ควบคู่กับนโยบายการจัดระเบียบสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย ภาครัฐ อาทิ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ป.ป.ส. หน่วยงานด้านสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน เข้าร่วมปฏิบัติการ Re X-ray สถานบริการและสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการ พร้อมทั้งรับแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดและการสกัดจับเครือข่ายผู้ค้ารายใหญ่ และรายย่อยที่ลักลอบขนย้ายยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย โดยไม่มีการยกเว้น
 
“เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการบำบัด รักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด ดำเนินการมาตรการเร่งรัดการดำเนินการค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ผู้ค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด (Re X-ray) โดยขอความร่วมมืออำเภอทุกอำเภอดำเนินการค้นการค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยดำเนินการขอความร่วมมือจากบุคคลในครอบครัว หัวหน้าสถานศึกษา ผู้นำศาสนา หรือ หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เจ้าของสถานประกอบการ แจ้ง หรือ ให้ข้อมูลบุคคลในครอบครัว บุคคลในปกครองดูแล ลูกจ้างพนักงาน ที่เสพ หรือ ติดยาเสพติด เพื่อนำไปสู่กระบวนการบำบัดรักษา และขอความร่วมมือจากชุมชน ผู้นำชุมชน/หมู่บ้าน หัวหน้าสถานศึกษา ผู้นำศาสนา ผู้ประกอบการหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และประชาชน ให้ข้อมูลผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เพื่อนำไปสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยใช้สายด่วน 1567” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
 
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า “ขอให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ รับแจ้งประสานการปฏิบัติ และเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ไว้เป็นความลับ โดยมุ่งเน้นให้ได้ตัวผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้ากระบวนการบำบัดรักษา และเยียวยาฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย รวมทั้งฝึกฝนทักษะอาชีพ เพื่อให้มีรายได้และสามารถกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุข และคัดกรองผู้ติดยาเสพติด โดยนำตัวผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่ระบบการคัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติดโดยใช้ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด เพื่อส่งตัวเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูยาเสพติดต่อไป
 
“นอกจากนี้ ขอให้ทุกจังหวัดถอดบทเรียนการบูรณาการฐานข้อมูลยาเสพติด ให้เป็นแบบ “Real time” ของจังหวัดสุรินทร์ ให้ทุกจังหวัดได้นำไปใช้เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันตลอดเวลา อันจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ผู้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รวมทั้งให้กรมการปกครองเร่งรัดสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้ชุมชนดูแลกันเอง ด้วยการส่งเสริมให้เกิดระบบคุ้ม ตามแนวพระราชดำริหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พร้อมทั้งให้กรมการพัฒนาชุมชนไปกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มนำแนวทางของกองทุนแม่ของแผ่นดิน ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปดำเนินการให้เกิดกองทุนแม่ของแผ่นดินจนครบทุกหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

‘วันชัย’ ดันกลไกชุมชนแก้ปัญหา”จากล่างขึ้นบน” คือ “ชุมชนสู่ระดับประเทศ”

 

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ที่อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2567” วาระ: ชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ” มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ร่วมแก้ไขปัญหาจากชุมชนสู่ระดับประเทศ โดยมี ดร.วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย  ดร.นุชากร มาศฉมาดล รองนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด นายประทุม ไทรแช่มจันทร์ ประธานชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ กทม. นายประภัสสร ผลวงษ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี และ นางเยาวลักษณ์ บุญตามชู นักวิชาการสาธารณสุขเทศบาลหาดใหญ่ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “อัตลักษณ์การเสริมสร้างความเข็มแข็งของชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ”

 

ดร.วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย  กล่าวว่า เชียงรายเป็นเมืองที่มีปัญหาน้ำเสีย ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆมากมาย การที่มาทำงานจากการสัมผัสด้วยตัวเอง มองว่าการจะแก้ปัญหาสู่การพัฒนาสิ่งสำคัญที่สุดคือเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายสร้างมุมมองคนร่วมคิดร่วมทำ การที่เราจะสะท้อนปัญหาและแก้ไขที่ชัดเจนหรือภาคประชาชนสร้างมุมมองสู่ท้องถิ่น รวมถึงการจัดวางแผนงบประมาณ เชื่อมั่นว่ากระทรวง ทบวง กรม ต่างมีงบประมาณค่อนข้างมากและกระบวนการที่เราจะคิดและปัญหาที่เราจะแก้ไขได้ เราจะเชิญชวนดึงมาปรับแผนเข้าหากัน มองว่าอยากสร้างให้เป็นชุมชนท้องถิ่นที่ยั่งยืนชุมชนที่เป็นเมืองแห่งความสุขเป็นเมืองสุขภาพดี ดังนั้นการขับเคลื่อนรวมถึงการร่วมมือกับหน่วย อสม.จึงสำคัญ

 

นอกจากนี้ ยังมีการเสริมสร้างสุขภาพและพัฒนาในเรื่องของอาหารปลอดภัย “เชื่อมั่นว่าถ้าเราปลอดภัยแข็งแรงไม่เจ็บไข้ได้ป่วยไม่ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่าย” ทำให้คนในครอบครัวไม่ต้องกังวลใจในภาระต่างๆ เชียงรายโชคดีเมื่อทำงานเรามีภาคีเครือข่ายที่เป็นท้องถิ่นต่างๆรวมถึงเทศบาลและโรงพยาบาลเชียงราย โรงพยาบาลภาคเอกชน รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข การที่มีสุขภาพวะตามทิศทางของนโยบาย กลยุทธ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดสิ่งต่างๆสะท้อนออกมาเมื่อขับเคลื่อนไปจะทำให้เกิดภาคประชาชนแข็งแรง

 

ดร.นุชากร มาศฉมาดล รองนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า การทำงานคือคิดจากข้างล่างไปข้างบน เพราะการทำงานจากข้างล่างไปข้างบนชุมชนมีส่วนร่วมความยั่งยืนเกิดขึ้นแน่นอน  ร้อยเอ็ดทำ 8 เรื่อง ทั้ง สิ่งแวดล้อม ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน เศรษฐกิจ เป็นต้น อย่างเรื่องปัญหาเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะปัจจุบันพบมีเด็กออกนอกระบบการศึกษาประมาณ 1,025,115 คน แต่ปี 66 ออกนอกระบบประมาณ 1,000,000 คน  โดยจังหวัดร้อยเอ็ดมีเด็กออกนอกระบบ 6,000 คน ซึ่งเรามีการพาเด็กกลุ่มนี้ไปเรียนฝึกอาชีพซึ่งผลปรากฎว่า เด็กกลุ่มนี้สามารถเปิดร้านเสริมสวยได้ เปิดร้านซ่อมรถได้ ฯลฯ ทุกวันนี้เด็กไม่อยากไปโรงเรียนเพราะไม่รู้เรียนไปแล้วจะทำอาชีพอะไร ฉะนั้นชุมชนจึงสำคัญ  และต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กกับชุมชนอยู่ด้วยกันได้ 

 

นายประทุม ไทรแช่มจันทร์ ประธานชุมชนหน้าสมาคมธรรมศาสตร์ กทม. กล่าวว่า ตอนนี้ในประเทศไทย กลุ่มผู้สูงอายุมีเยอะมาก ในพื้นที่เรามีการประชาสัมพันธ์กับผู้สูงอายุว่า “การชราภาพเป็นเรื่องปกติ แต่เราจะชราภาพให้มีคุณภาพอย่างไร” ซึ่งเรามีการทำกิจกรรมออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการพบปะสังสรรค์ ใช้แบบสังคมบำบัด นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกัน 5-10 นาที และสำหรับกลุ่มเปราะบางกับผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้พิการจะออกกำลังกายในกลุ่มของเราไม่ได้ เราก็ต้องให้ผู้สูงอายุมาเยี่ยมพบปะพูดคุย

 

อีกเรื่องคือกลุ่มเยาวชน กลุ่มเยาวชนในชุมชนปทุมธานีเป็นพื้นที่สีแดงรองจากคลองเตย เป็นชุมชนที่ยาเสพติดค่อนข้างรุนแรงจนไม่มีใครเอาอยู่คณะกรรมการไม่มีใครเอาอยู่ จึงมีการเข้าห้ามปรามได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง เยาวชนเก่าหายไปหมดติดคุกบ้างไปเล่นยาบ้าง ตอนนี้มีการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่เป็นเยาวชนของชุมชนและมีการประชุมการบอกโทษของยาเสพติดหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ยาบ้า กัญชา กระท่อม เฮโรอีน ยาไอซ์ เรามีการประชาสัมพันธ์เรียกกลุ่มเยาวชนมาประชุมเพื่อให้ห่างไกลยาเสพติด เพราะยาเสพติดอันตรายไม่ใช่อันตรายกับชุมชนไม่ใช่อันตรายกับครอบครัวแต่อันตรายต่อประเทศชาติ เราจึงจำเป็นต้องให้เขารับรู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี  จึงเปิดพื้นที่เขาสร้างกิจกรรมเอง ไม่ว่าจะเป็น การทาสีกำแพงบ้าน เป็นต้น

 

นางเยาวลักษณ์ บุญตามชู นักวิชาการสาธารณสุขเทศบาลหาดใหญ่ กล่าวว่า มีชุมชนทั้งสิ้น 103 ชุมชน มีประชากร 150,000 คน รวมประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานเข้ามาเพื่อการศึกษาการท่องเที่ยวประมาณ 150,000 คน   ในพื้นที่หาดใหญ่เป็นพื้นที่หลายวัฒนธรรม ทั้งไทย จีน เมืองหาดใหญ่จะเจอปัญหาต่างๆที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เหมือนเมืองอื่นๆ ภายใต้การดำเนินนโยบายของเทศบาลนครหาดใหญ่และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือทุนทางสังคมในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนสู่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งมีในพื้นที่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของหน่วยงานภาครัฐในหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่มีโรงพยาบาลเอกชน มีสถาบันการศึกษาต่างๆ

 

นางเยาวลักษณ์ กล่าวต่อว่า หาดใหญ่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีผู้สูงอายุร้อยละ 19.19 ซึ่งถ้าไม่มองในเรื่องของดูแลผู้สูงอายุจะทำให้การพัฒนาด้านอื่นเป็นไปไม่ได้ด้วย ฉะนั้นเทศบาลหาดใหญ่มีนโยบายเรื่อง “แก่แต่เก๋า สูงวัยแต่ฉลาด” โดยมีกิจกรรมต่างๆเพื่อทำให้ผู้สูงอายุเป็นผู้สูงอายุที่ทรงพลังทางด้านสุขภาพและการมีความพร้อมช่วยเหลือตนเองได้ ไม่นั่งนึกถึงก่อนวัยอันควรหรือในเรื่องของการส่งเสริมการรวมกลุ่มของชมรมผู้สูงอายุเพื่อให้ดูแลการการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดตั้งมีผู้สูงอายุที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การจัดบริการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการสร้างเพิ่มขีดความสามารถอย่างน้อยใน 6 ประการ 1. การพัฒนาภาวะผู้นำของผู้นำและบุคลากรทุกฝ่ายของเทศบาลนครหาดใหญ่และหน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง  2. การเพิ่มคุณภาพการจัดระบบข้อมูล  3. การพัฒนาศักยภาพระบบและกลไก 4. การสร้างการมีส่วนร่วมของเทศบาลนครหาดใหญ่   5. การนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ในการพัฒนาและแอพพลิเคชั่นต่างๆ  6. การสร้างนวัตกรรมโดยบริหารจัดการให้เกิดรูปธรรมการพัฒนาสร้างสรรและความเชี่ยวชาญในการจัดการความรู้

 

สสส.เข้ามาสอนเราในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มและทำให้ค้นพบผู้นำรุ่นใหม่ที่จะต่อยอดการพัฒนาชุมชนซึ่งเราเน้นชุมชนเป็นฐาน นางเยาวลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

นายกฯ สั่งปราบยาเสพติดระดมตรวจฉี่กลุ่มเสี่ยง-เด็ก 16 ขึ้น ปีไปทั่วประเทศ

 

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2567 ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบนโยบายการบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน

 

โดยมีนายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายจักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกฯ หัวหน้าส่วนราชการ และนักศึกษาใหม่ภาคปกติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เข้ารับฟังนโยบาย

 

นายกฯ กล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่ง ว่า การแก้ปัญหายาเสพติด ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งตั้งแต่เข้าสู่การเมือง หาเสียงพบประชาชนเกือบทุกจังหวัด นอกจากปัญหาปากท้อง ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้ามีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน แม้รัฐบาลจะจัดการผู้ค้ายา จับยาบ้าได้มากกว่า 4 เท่าในช่วงที่ผ่านมา แต่การใช้ยายังมีต่อเนื่อง ราคายาบ้ายังไม่ขึ้น การที่ราคาคงที่แสดงว่ามีซัพพลายเยอะมาก ฉะนั้น เรื่องนี้ถือว่าสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง

นายเศรษฐา กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ ยาเสพติดเป็นต้นตอความสูญเสียหลายอย่าง ทั้งอาชีพ การถูกจำคุก หรือสูญเสียชีวิต จึงขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันอย่างเต็มที่ ปราบยาเสพติดให้หมดไป ร่วมมือกันขจัดยาเสพติดให้สิ้นซากไปจากพื้นที่ที่เรารับผิดชอบกันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 

นายเศรษฐา กล่าวว่า ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมใจกันแก้ไขปัญหาผ่านนโยบายบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน 3 เดือน ดังนี้ 1.ให้ผู้ว่าฯทุกจังหวัดเป็น CEO ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ร่วมกับผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายก อบจ. ทำให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่เกิดการขับเคลื่อนงานป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกัน

 

2.ตัดวงจรการค้ายาเสพติดรายสำคัญ ปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดในพื้นที่ เอ็กซเรย์ทุกพื้นที่ด้วยการระดมกำลังตรวจปัสสาวะของกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปทุกหมู่บ้าน และแยกผู้เสพออกมาให้ได้รับการบำบัด

ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และกระทรวงกลาโหม ขยายผลการจับกุมผู้ขายเพื่อดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างจริงจังและเด็ดขาด

นายเศรษฐา กล่าวว่า ร่วมกันค้นหาผู้มีอาการจิตเวชจากยาเสพติดและให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม นำเข้าบำบัดรักษาและให้มีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือเฝ้าระวัง หลังจากรักษาอาการและกลับเข้ามาสู่ชุมชน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมสนับสนุนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดูแลไม่ให้บุคคลเหล่านั้นกลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก

ให้ควบคุมปัจจัยเสี่ยงจากระเบียบสังคมในพื้นที่สถานบันเทิง สถานบริการ สถานประกอบการ คล้ายสถานบันเทิง และบริเวณรอบสถานศึกษา ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแรงในการแพร่ระบาดยาเสพติด สร้างมาตรฐานในชุมชนและมาตรฐานทางสังคมให้เป็นพลังต่อต้านยาเสพติดอย่างกว้างขวาง

“การแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้ ร่วมกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องแจ้งเบาะแส เฝ้าระวัง ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะ 25 จังหวัดเร่งด่วน”นายเศรษฐา กล่าว

ขณะที่ตัวแทนนักศึกษา กล่าวขอบคุณนายกฯ ที่ได้ให้เกียรติมามอบนโยบายการบูรณาการการแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วนแก่นักศึกษา ซึ่งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาเสพติด เป็นภัยร้ายแรงที่อยู่ใกล้ตัวนักศึกษา โดยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จะนำนโยบายของนายกฯ ไปปฏิบัติเพื่อผลดีต่อตนเอง ครอบครัว และประเทศต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

เคาะก่อนชง ครม.ยาบ้า 1 เม็ด ก็มีความผิด ใครแจ้งเบาะแสรับรางวัลนำจับ 5%

 
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 67 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมทบทวนกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ

 

โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม ป.ป.ส. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมประชุม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่กฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลให้ใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ภายหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

 

รวมถึงการตีความและการใช้บังคับกฎหมาย เช่น ผลสำรวจนิด้าโพล มีประชาชนมากกว่าร้อยละ 67 ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ทำให้เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

พร้อมมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษฯ โดยปรับลดยาบ้าให้เหลือ 1 เม็ด เพื่อเป็นหลักให้ผู้ปฏิบัติงานและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานทบทวนกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยได้ประชุมเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เพื่อประเมินผลกระทบ

 

ซึ่งพบว่า เกิดผลกระทบสังคม การบังคับใช้กฎหมาย และการแพทย์ เช่น ผู้ค้าใช้ช่องว่างของกฎหมายในการแบ่งบรรจุจำหน่าย เพื่อหลบหลีกการถูกดำเนินคดีในฐานความผิดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า จึงเห็นชอบแก้ไขกฎกระทรวง พร้อมวางกรอบระยะเวลา ไม่เกิน 3 เดือน โดยขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ทบทวนกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ โดยให้ยกเลิกความใน (ก) และ (จ) ของข้อ 2(1) แห่งกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษฯ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (ก) แอมเฟตามีน มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือ มีน้ำหนักสุทธิ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม (จ)

 

เมทแอมเฟตามีน มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือ มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม หรือ ในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 20 มิลลิกรัม

 

โดยมติที่ประชุมวันนี้ จะนำไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นเวลา 15 วัน ซึ่งเริ่มวันนี้ เป็นวันแรกทันที

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ ได้กำหนดเส้นแบ่งการทำคดียาเสพติด เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการ โดยมีมติปรับลดปริมาณยาบ้าที่สันนิษฐานเป็นผู้เสพ เหลือ 1 เม็ด และสารบริสุทธิไม่เกิน 20 มิลลิกรัม

 

แต่ขอเน้นย้ำว่า ยาบ้า 1 เม็ด ก็มีความผิด เพราะต้องพิสูจน์ต่อด้วยว่า เป็นผู้เสพ หรือ ผู้ขาย หากเป็นผู้เสพก็ต้องเข้ารับการบำบัด พร้อมต้องขยายผลตามแนวนโยบาย “1 ผู้เสพ ขยายผล 1 ผู้ขาย และขยายต่อเป็น 1 ผู้ผลิต”

 

ดังนั้น มียาบ้า 1 เม็ด ก็ต้องถูกขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึดอายัดทรัพย์ ซึ่งในขณะนี้ เรามีผู้แทนแต่ละกระทรวง ที่อยู่ตามชุมชน ก็จะช่วยเป็นหูเป็นตา และหากใครแจ้งเบาะแสก่อนก็รับรางวัลนำจับ 5%

 

เมื่อถามว่า เหตุผลในการปรับเหลือ 1 เม็ด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ประชาชน สะท้อนสิ่งที่เสียหายมาเป็นจำนวนมาก พร้อมพิจารณาสถิติการจับกุมที่สูงขึ้น จึงมีการปรับลดเหลือ 1 เม็ด แต่ก็ยังมีความผิด ต้องถูกสอบสวนเพื่อขยายผลให้ได้ผู้ขาย และผู้ผลิตต่อไป

 

ซึ่งจากนี้ ก็จะรับฟังความคิดเห็น 15 วัน หากเห็นตรงกัน ก็จะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS NEWS UPDATE

‘ชลน่าน’ เผยหากสาธารณสุขดึง ‘กัญชา’ กลับไปบัญชียาเสพติดวุ่นทั้งระบบแน่

 

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า การทำให้กัญชาถูกกฎหมายเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ จนอาจมีความเป็นไปได้ที่อาจจะนำ กัญชา กลับเข้าสู่บัญชียาเสพติดว่า เรื่องดังกล่าวอาจเป็นมุมมองของนายกรัฐมนตรี เพราะนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภามีความชัดเจนว่า กัญชาหากจะนำมาใช้ต้องเป็นประโยชน์เพื่อการแพทย์หรือสุขภาพ รวมถึงในมิติทางเศรษฐกิจก็จะต้องเป็นไปเพื่อทางการแพทย์หรือสุขภาพ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาและต้องปฏิบัติตาม

ส่วนข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในขณะนี้นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวย้ำว่า กัญชาเป็นสารเสพติดเฉพาะสารสกัดที่มีค่า THC 0.2% โดยน้ำหนักเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นไม่ถือเป็นยาเสพติด แต่หากการนำกัญชากลับมาเป็นสารเสพติด ก็จะต้องมีการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เคยประกาศถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด และให้เพียงสารสกัดจากกัญชาเป็นเพียงยาเสพติดก่อน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับนโยบายของนายกรัฐมนตรีว่าจะดำเนินการอย่างไร และกฎหมายควบคุมกัญชาขณะนี้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว เพื่อรองรับต่อนโยบายกัญชาที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา เพราะกัญชาในปัจจุบันนั้นไม่ใช่ยาเสพติดก็จะต้องมีกฎหมายควบคุม ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาที่ว่าด้วยเรื่องยาเสพติดระหว่างประเทศที่ระบุว่า หากประเทศใดกำหนดให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติด ประเทศนั้นจะต้องมีกฎหมายควบคุม และบังคับใช้ในลักษณะที่ไม่น้อยกว่าการเป็นยาเสพติด ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการในแนวทางนี้ และรัฐบาลจะมีกฎหมายกัญชงและกัญชามาใช้ควบคุมกัญชานอกเหนือจากส่วนสารสกัด 0.2

 

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า กฎหมายกัญชง-กัญชาที่รัฐบาลกำลังจะออก หากใครจะนำกัญชง-กัญชามาใช้โดยไม่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์หรือสุขภาพ ถือว่าเป็นการใช้ผิดประเภท ส่วนหากจะนำกัญชากลับมาเป็นยาเสพติดน่าจะยากแล้วใช่หรือไม่ รัฐบาลมองประเด็นเรื่องผลกระทบ ซึ่งหากมีกฎหมายควบคุมที่ไม่แตกต่างจากประกาศยาเสพติด ข้อกังวลถึงมิติสุขภาพ และการนำไปใช้ผิดประเภท ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องกังวล แต่หากจะนำกลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้งก็จะต้องมีการรื้อระบบใหม่ และจะมีผลกระทบมากจากการที่ปล่อยให้ถูกกฎหมายไปก่อนหน้านี้ ทั้งเอกชน ร้านกัญชา และอื่นๆ เช่น ผู้ที่ปลูกต้นกัญชา 1 ต้นในบ้านก็จะผิดกฎหมาย แต่กฎหมายใหม่ที่จะออกมาควบคุมนั้น การปลูกและการผลิตจะต้องได้รับอนุญาต

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ ขับเคลื่อนแผนสกัดกยาเสพติด ในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ

 

เมื่อ 11 มกราคม 2567 ที่วิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พลโทนฤทธิ์ ถาวรวงษ์ แม่ทัพน้อยที่ 3 ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ หรือ นบ.ยส.35 เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ในพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ชายแดนภาคเหนือ พ.ศ. 2567 โดยมี นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ ผอ.ปปส. ภาค 5 ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างคับคั่ง

 

.
พลโทนฤทธิ์ ถาวรวงษ์ แม่ทัพน้อยที่ 3 ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือกล่าวว่า ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ ให้มีการสกัดกั้นยับยั้งยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ อย่างเป็นรูปธรรมจึงได้กำหนดพื้นที่เร่งด่วนใน 5 อำเภอชายแดนจังหวัดเชียงใหม่ และ 6 อำเภอชายแดนจังหวัดเชียงราย ได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันโดยมีการจัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ (นบ.ยส.35) ซึ่งประกอบด้วยกำลังทหาร, ตำรวจ, ป.ป.ส. และ ฝ่ายปกครอง ร่วมดำเนินการ ซึ่งทางรัฐมนตรียุติธรรมได้ให้ความสำคัญ และกำหนดการปฏิบัติ 10 เดือน(1 ธ.ค.66 – 30 ก.ย.67) นโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก ในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ชายแดน ซึ่งเป็นปัญหาภัยความมั่นคงที่สำคัญประการหนึ่ง
 
 
ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือกล่าวต่อไปว่า ในห้วงวันที่ 11 – 12 มกราคม 2567 นบ.ยส.35 ได้กำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ณ วิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อสร้างความร่วมมือและพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ระหว่างองค์กร บูรณาการความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหายาเสพติดครอบคลุมพื้นที่ชายแดนภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่อ.เวียงแหง,อ.เชียงดาว,อ.ไชยปราการ, อ.ฝาง, อ.แม่อาย และพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้แก่ อ.แม่จัน, อ.แม่ฟ้าหลวง, อ.แม่สาย, อ.เชียงแสน, อ.เชียงของ, อ.เวียงแก่น มีหน่วยเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ทหาร, ตำรวจ,ฝ่ายปกครอง, ปปส.ภาค 5, ศุลกากร และอุตสาหกรรมอันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการสกัดกั้นยาเสพติดจากชายแดน ไม่ให้มีการลักลอบลำเลียงขนส่งเข้ามายังพื้นที่ตอนใน ซึ่งในห้วงที่ผ่านมามีผลการดำเนินการ การสกัดกั้นและจับกุม จำนวน 14 ครั้ง ได้ ผู้ต้องหาจำนวน 3 คน กลุ่มผู้ลำเลียงเสียชีวิตจำนวน 19 ศพ และยึดของกลาง ยาบ้า จำนวน20 ล้านเม็ดเศษ ไอซ์ จำนวน 323 กก.
 
 
“นบ.ยส.35 มีหน้าที่ วางแผน อำนวยการ ประสานงาน และผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนในพื้นที่รับผิดชอบ เข้าดำเนินการ และปฏิบัติการ ดังนี้ สกัดกั้น ยับยั้ง และจับกุม ไม่ให้มีการลักลอบนำเข้ายาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ เข้ามาในประเทศได้ ปราบปราม ทำลายโครงสร้างเครือข่ายการค้ายาเสพติดและวงจรทางการเงิน ของกลุ่มนักค้ายาเสพติดตามแนวชายแดน ปราบปรามการลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่านระบบโลจิสติกส์ตามแนวชายแดน เสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวชายแดน เพื่อต่อต้านยาเสพติด เฝ้าระวัง ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการแจ้งข่าว ในพื้นที่รับผิดชอบให้มากที่สุดและยั่งยืน ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้ช่วยดำเนินการปราบปราม จับกุมผู้ค้ายาเสพติด และผู้ที่หลบหนีหมายจับเข้าไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ดำเนินการอื่น ๆ ที่จำเป็น เพื่อไม่ให้ยาเสพติดถูกลักลอบลำเลียงเข้ามาในประเทศได้”พลโทนฤทธิ์ กล่าว
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

นายกฯ ประกาศแก้ไขปัญหา ยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ

 

วันนี้ (17 ก.ย. 66) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด และพิธีทำลายยาเสพติดของกลางของสำนักงาน ป.ป.ส. โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยราชการเข้าร่วมประชุม นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีรับฟังกรอบแนวคิด สภาพปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. 2566 – 2570 ภายใต้นโยบายและแผน 6 ด้าน จากสำนักงาน ป.ป.ส. พร้อมกับกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า นอกจากปัญหาเรื่องปากท้องและค่าใช้จ่ายสูง ปัญหาเรื่องยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะตั้งเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ลดน้อยลงและหมดไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย รักษา ดูแล ส่งคืนเขากลับสู่อ้อมกอดของครอบครัว ให้มีอาชีพที่เหมาะสม รวมไปถึงการป้องกันที่ต้นน้ำไม่ให้ประชาชนเข้าไปเสพ จนถึงระยะสุดท้ายที่ยึดยาเสพติดมาแล้วนำมาเผาทำลาย รวมถึงการดำเนินการยึดทรัพย์ ปัญหายาเสพติดนั้นมีหลายมิติ หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการขจัดปัญหานี้ออกไปจากสังคมไทย
 
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ลดลง ตัวชี้วัดจะไม่ใช่แค่ตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นความรู้สึกของประชาชนด้วย และภาพข่าวที่เกี่ยวกับข่าวครอบครัวถูกทำร้ายด้วยพิษยาเสพติด เหตุการณ์เหล่านี้จะต้องหมดไป รัฐบาลจะใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ขอให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดที่มีอยู่อย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ผู้ติดยาเสพติดไม่ใช่คนร้าย ฉะนั้นขอให้ชักชวน จูงใจเข้ามาบำบัดรักษาให้การช่วยเหลือเพื่อให้กลับเข้าสู่สังคมได้ เพื่อขจัดปัญหาอย่างครบวงจร ทั้งนี้ จะต้องยึดทรัพย์คนขาย ตัดวงจรการค้าให้สิ้นซาก รวมถึงการลักลอบขนย้ายยาเสพติดจากชายแดน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กอ.รมน. พร้อมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกำชับและผลักดันให้สำเร็จ และขอให้แต่ละจังหวัดช่วยกันดูแลปัญหายาเสพติด ประสานงานกับส่วนกลาง ทุกจังหวัดต้องวางเป้าหมายที่จะลดความเดือดร้อนของประชาชนและจัดให้มีคณะทำงานบริหารยาเสพติดจังหวัด กำกับดูแลและติดตามความคืบหน้ารวมถึงรายงานปัญหาให้กับส่วนกลางทราบ ทุกหน่วยงานต้องทำงานร่วมกันไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพื่อให้แนวทางและนโยบายเบื้องต้นมีประสิทธิภาพสูงสุด และแสดงให้ทุกภาคส่วนเห็นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจจริงกับการจัดการปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาด โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในการดำเนินการเพื่อการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดด้วยตนเอง และรัฐบาลจะจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดขึ้นมาใหม่
 
จากนั้นเวลา 14.30 น. นายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปยัง บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นสักขีพยานในพิธีทำลายยาเสพติดของกลางของสำนักงาน ป.ป.ส. โดยนายกรัฐมนตรีได้ดูวิธีการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดเบื้องต้น โดยการใช้ปฏิกิริยาการเกิดสี จากนั้น ดูขั้นตอนการเผาทำลายยาเสพติด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่าต้องลดระยะเวลาในการทำลายยาเสพติดให้เร็วที่สุด พร้อมกับแนะการแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องเริ่มต้นที่สถาบันครอบครัว โดยรัฐบาลจะทำการพูดคุยเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาออกมาโดยเร็ว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News