Categories
EDITORIAL

บทความ : เกษตรกรไทยและผลกระทบ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

อุณหภูมิที่สูงขึ้นสร้างความเสียหายต่อมูลค่าการผลิตทางการเกษตรของครัวเรือนแล้ว โดยเฉพาะครัวเรือนที่ไม่มีระบบชลประทานหรือมีพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ แต่การทำกิจกรรมการเกษตรหลากหลายประเภท เช่น ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง หรือการปลูกพืชผสมผสานหลายชนิด จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ ทั้งนี้ ถึงแม้มนุษยชาติจะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของไทยจะยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องไป ดังนั้น เราควรเร่งสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงระบบชลประทาน ส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน และพัฒนาวิธีการเกษตรที่ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวและการสนับสนุนจากภาคเอกชนและภาครัฐอย่างเร่งด่วน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ปริมาณฝนตกในประเทศไทยมีความผิดปกติ ปี พ.ศ. 2567 มีปริมาณน้ำฝนสะสมต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยรายปีเพิ่มสูงทำลายสถิติทุกปี โดยข้อมูลแสดงแนวโน้มสภาวะอากาศร้อนจัดอุณหภูมิสูงสุดเกิน 43 องศาเซลเซียสเกิดขึ้นเพียงไม่กี่จังหวัดตั้งแต่ปี 2562 แต่เมื่อเดือนเมษายน 2567 มีรายงานอุณหภูมิสูงเกิน 43 องศาเซลเซียส ถึง 16 จังหวัด

 

ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) และ เอลนีโญ (El Niño) จะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อไปสำหรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพภูมิอากาศในประเทศ และสร้างผลกระทบเกิดขึ้นทั่วโลกในรูปแบบต่างกัน ปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2567 เป็นปัจจัยทำให้อุณหภูมิในประเทศไทยและทั่วโลกเพิ่มสูงสุดและเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะภัยแล้ง ขณะที่ปรากฏการณ์ลานีญากลับมาช่วยให้ฝนชุ่มฉ่ำในช่วงกลางปี 2567 แต่ก็นำไปสู่น้ำท่วมฉับพลันและรุนแรงในหลายจังหวัด

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้การจัดสรรน้ำสำหรับชลประทานในภาคการเกษตรมีความเสี่ยงและการแข่งขันมากขึ้น ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นของกลยุทธ์การปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรกรที่มีอนาคตเปราะบางต่อความยากจน

 

งานวิจัย Impacts of Climate Change and Agricultural Diversification on Agricultural Production Value of Thai Farm Households ได้รับทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Climatic Change และ ได้รับการอ้างอิงในบทความ Telegraph โดยงานวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลสำรวจครัวเรือนเกษตรกรในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020 (พ.ศ. 2550-2563) และใช้การวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติและสถิติแสดงว่า “อุณหภูมิที่สูงขึ้นได้สร้างความเสียหายต่อมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรแล้ว และ การกระจายความเสี่ยงด้านการเกษตร เช่น การทำเกษตรหลายประเภทหรือปลูกพืชผสมผสาน ช่วยบรรเทาผลกระทบได้”

 

ดังนั้น ข้อพิจารณาเชิงนโยบายสำหรับอนาคตของครัวเรือนเกษตรกรไทยที่ไม่ค่อยจะสดใส ก็คือ ควรได้รับความใส่ใจจากรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาวิธีการเกษตรที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

การพิจารณาแนวทางนโยบายโดยเร่งด่วน คือ ช่วยเหลือการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ผลาญแต่งบประชาสัมพันธ์ที่เกษตรกรได้รับประโยชน์แค่หลักหมื่นราย จากเกือบ 8 ล้านครัวเรือนเกษตรกร  หรือ การใช้งบประมาณในกระทรวงเกรดเอที่มีข่าวความขัดแย้งและการทุจริตเกิดขึ้นเสมอมา

 

ในขณะเดียวกัน นโยบายที่ระดับท้องถิ่นช่วยสนับสนุนได้ คือ การปรับตัวได้อย่างยั่งยืน โดยจูงใจและสนับสนุนให้กระจายความเสี่ยง โดยควรกำหนดเป้าหมายสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น การลดความยากจน การพัฒนาอย่างยั่งยืน และความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็น “ผลงานรัฐบาล” ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในมิติที่กว้างขึ้น ตามแนวทาง Sustainable Development Goals (SDGs)

 

ทั้งนี้ Goal 13: Climate action ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ระบุไว้และสามารถแปลใจความเป็นไทยว่า:

“ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ทุกคนในทุกประเทศของทุกทวีปจะได้รับผลกระทบในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะภัยพิบัติรุนแรง หรือ cataclysm ทางสภาพภูมิอากาศกำลังคืบคลานเข้ามา และเรายังไม่พร้อมรับมือ” (Take urgent action to combat climate change and its impacts. Every person, in every country in every continent will be impacted in some shape or form by climate change. There is a climate cataclysm looming, and we are underprepared for what this could mean.)

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ: สรุปจากบทความต้นฉบับ “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกระจายความเสี่ยงต่อมูลค่าผลผลิตของครัวเรือนเกษตรกรไทย” เผยแพร่บนเว็บไซต์ “เศรษฐสาร” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

ม.เชียงใหม่ ติดอันดับ 99 จาก 300 มหาวิทยาลัยดีที่สุดในเอเชีย

 

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566 Quacquarelli Symonds (QS) ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้เผยการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย ประจำปีการศึกษา 2567 ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ประจำปี 2024 (World University Rankings 2024) โดยใช้หลักพิจารณาความเป็นเลิศใน 9 ด้าน ประกอบไปด้วย ชื่อเสียงด้านวิชาการ (Academic Reputation) ทัศนคติของผู้จ้างงานต่อบัณฑิตของแต่ละมหาวิทยาลัย (Employer Reputation) สัดส่วนคณาจารย์ต่อนักศึกษา (Faculty Student Ratio) สัดส่วนจำนวนการอ้างอิงต่อผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ (Citations per Faculty) สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่างชาติ (International Faculty Ratio) สัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่างชาติ (International Student Ratio) เครือข่ายวิจัยนานาชาติ(International Research Network) ผลลัพธ์ด้านการจ้างงาน (Employment Outcomes) และ ความยั่งยืน(Sustainability)

 

มหาวิทยาลัย 20 อันดับแรกของเอเชีย มีดังนี้

อันดับ 1 มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) จีน

อันดับ 2 มหาวิทยาลัยฮ่องกง (The University of Hong Kong) ฮ่องกง

อันดับ 3 มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) สิงคโปร์

อันดับ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Nanyang Technological University) สิงคโปร์

อันดับ 4 มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) จีน

อันดับ 6 มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) จีน

อันดับ 7 มหาวิทยาลัยฟูตัน (Fudan University) จีน

อันดับ 8 มหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) เกาหลีใต้

อันดับ 9 มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) เกาหลีใต้

อันดับ 10 มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) ฮ่องกง

อันดับ 11 มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (Shanghai Jiao Tong University) จีน

อันดับ 11 มหาวิทยาลัยมาลายา (University Malaya) มาเลเซีย

อันดับ 13 สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลี (KAIST) เกาหลีใต้

อันดับ 14 มหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) ญี่ปุ่น

อันดับ 15 มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง (HKUST) ฮ่องกง

อันดับ 16 มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) เกาหลีใต้

อันดับ 17 มหาวิทยาลัยซิตี้ฮ่องกง (City University of Hong Kong)

อันดับ 17 มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ญี่ปุ่น

อันดับ 19 มหาวิทยาลัยซองคยุนกวาน (Sungkyunkwan University) เกาหลีใต้

อันดับ 20 มหาวิทยาลัยโทโฮคุ (Tohoku University) ญี่ปุ่น

สำหรับอันดับมหาวิทยาลัยไทยในเอเชียที่อยู่ใน Top 300 พบว่า

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่อันดับที่ 37

มหาวิทยาลัยมหิดลอันดับที่ 47

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันดับที่ 99

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับ 140

มหาวิทยาลัยเกริก อันดับ 149

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับ 150

มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันดับ 171

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อันดับ 195

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  อันดับ 246

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Quacquarelli Symonds

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
WORLD PULSE

ห่วงไทยถอยหลังความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ

 

เหตุผลหลักที่ต้องการตัดลดงบประมาณ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ก็เพราะว่า รัฐบาลไม่ต้องการแตะโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ นั่นคือ ไม่ต้องการเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อทำให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งที่มีข้อเสนอเรียกร้องจากทั้งจากภาคประชาชน ภาควิชาการ และ ภาคการเมือง ก็ถูกตีตก หรือ รัฐบาลเจตนานั่งทับไว้ เพราะกลัวว่า คนกลุ่มน้อยที่กอบโกยผลประโยชน์บนยอดปีรามิด จะเสียประโยชน์ โดยไม่ได้คำนึงว่า อนาคตประเทศไทยจะอยู่กันต่อไปอย่างไร

ศูนย์กลางเครือข่ายระบอบอำนาจของไทยจะไม่คิดแบ่งปันออกมาให้คนส่วนใหญ่ในประเทศอย่างเป็นธรรมบ้างหรือ? ไม่กี่ตระกูลกอบโกยไปอย่างมหาศาลในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านการสมประโยชน์กันของเครือข่าย กลุ่มทุน และ ภาครัฐที่ยึดกุมอำนาจอยู่ โดยมีการควบคุมความคิดผ่านสื่อที่สนับสนุนจีนและรัสเซีย จนทำให้กลุ่มคนเสียงดังในสังคมมีข้อมูลที่บิดเบือน เช่น ทั้งประเทศจ่ายภาษีแค่ 4 ล้านคน

แน่นอนว่า เราไม่สามารถแยกเรื่องโครงสร้างระบอบอุปถัมภ์ออกจากการเมืองเรื่องจัดตั้งรัฐบาล และ การกดขี่ขูดรีดแรงงานและการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจจากคนไทย ดังนั้น คงจะไม่แปลกใจหากวันหนึ่งความโกรธแค้นของประชาชนเรื่องความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรม จะปะทุออกมาในที่สุด

ประเด็นความสัมพันธ์เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความขัดแย้งทางการเมือง” นี้ ผู้เขียนได้เคยพูดคุยแลกเปลี่ยนในการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ จึงขอนำเรียนตรงนี้อีกครั้งด้วยความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้โปรดตระหนักว่า ตามประวัติศาสตร์มนุษยชาติได้พิสูจน์แล้ว “เมื่อความเหลื่อมล้ำรุนแรงมาก สักวันหนึ่งก็ต้องเผชิญวิกฤตขัดแย้งรุนแรง”

เรื่องระบบสวัสดิการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ แม้จะมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ถึงจะเป็นเบี้ยยังชีพเดือนละ 3 พันบาท ก็ยังใช้งบประมาณน้อยกว่างบบำนาญข้าราชการในระยะยาว ในที่สุดแล้ว เมื่องบประมาณสำหรับบำนาญข้าราชการจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วน่ากังวล เราก็ควรที่จะใช้โอกาสนี้ในการจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรม ตามข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ที่มีมากมาย เพื่อให้มีงบประมาณสามารถคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุได้ทั้งสังคม แต่ข้อเท็จจริง คือ รัฐบาลไม่ยอมทำ ดังนั้น การตั้งเป้าหมายตัดลดงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จึงเป็นการเดินถอยหลังของประเทศ

ท้ายสุดนี้ ขอชวนอ่านบทความหรือการนำเสนอก่อนหน้านี้ของผู้เขียนเองเกี่ยวเรื่องความยากจนผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้เรากำลังอยู่ตรงช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อว่า จะปล่อยให้ประเทศเต็มไปด้วยคนจนผู้สูงอายุเต็มประเทศในอีก 10-20 ปีข้างหน้า และเต็มไปด้วยปัญหาสังคมที่เกิดจากคนจนล้นประเทศ หรือ รัฐบาลอยากจะวางรากฐานมั่นคงแข็งแรงให้เป็นสังคมที่ปรองดองและเป็นธรรม

 

ชวนอ่านเพิ่มเติม

EAT THE RICH เพื่อระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

http://www.setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/645

ความยากจนผู้สูงอายุ: ปัญหาท้าทายของประเทศไทย

https://prachatai.com/journal/2023/05/104376

ระบบบำนาญแห่งชาติที่มีความเป็นธรรมและยั่งยืน

https://mgronline.com/qol/detail/9660000034574

เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน

https://www.isranews.org/article/isranews-news/117305-suggestion-national-pension-forum-news.html

จี้เลิกลดหย่อนภาษีคนรวย-เจ้าสัว! ‘ภาคปชช.’เคลื่อนไหวผลักดัน‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท/ด.

https://www.isranews.org/article/isranews-news/115194-TCC-universal-pension-news.html

แหล่งรายได้สำหรับระบบหลักประกันรายได้เพื่อป้องกันวิกฤตสังคมผู้สูงอายุ

https://www.tcijthai.com/news/2023/5/article/12963

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS SOCIETY & POLITICS

‘ม.ธรรมศาสตร์’ เปิดเวทีวิชาการ ความสำเร็จระบบหลักประกันสุขภาพ

‘ม.ธรรมศาสตร์’ เปิดเวทีวิชาการ ความสำเร็จระบบหลักประกันสุขภาพ

Facebook
Twitter
Email
Print

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมือมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เปิดวงเสวนาวิชาการนานาชาติระดับอาเซียน ร่วมแลกเปลี่ยนความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วิทยากรเห็นพ้อง ‘การจัดซื้อเชิงกลยุทธ์’ คือ หนึ่งในกลไกสำคัญของ สปสช. ที่ทั่วโลกยอมรับและยกย่อง ‘ระบบหลักประกันสุขภาพ’ ของประเทศไทย

 

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ School of Public Health มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จัดเวทีประชุมวิชาการนานาชาติภายใต้หัวข้อ The Successes of Strategic Purchasing for UHC in Thailand” เมื่อเช้าวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และ ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook และ YouTube EconTU Official โดยมีนักวิชาการ ผู้บริหารและผู้กำหนดนโยบายระบบสาธารณสุข ตลอดจนผู้สนใจในระดับภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วมประมาณ 100 ท่าน

ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวเปิดการเสวนาตอนหนึ่งว่า เส้นทางของประเทศไทยด้านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Universal Health Coverage (UHC) เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง มีการขับเคลื่อนโดยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และมีความพยายามที่ไม่สิ้นสุด ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ การจัดซื้อในลักษณะเชิงกลยุทธ์ (Strategic Purchasing) เป็นวิธีการจัดสรรทรัพยากรของระบบสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขได้ จนประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ได้รับการยกย่องในระดับโลก

ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเรื่อง “ความสำเร็จของการจัดซื้อเชิงกลยุทธ์สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย” โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมอภิปรายในการประชุมดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ศ.ดร.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ประธานมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ  2. พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  3. คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค  4. ดร.นพ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  5. คุณคณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและส่งเสริมป้องกันโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ศ.ดร.นพ.ศุภสิทธิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982 และตลอดจนทศวรรษ 1990 มีการศึกษาเกี่ยวกับการเงินสำหรับระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ผลการศึกษาสรุปว่า ค่ารักษาพยาบาลที่ครัวเรือนต้องจ่ายเองสูงเกินไป รัฐบาลจึงได้พยายามพัฒนาความคุ้มครองสุขภาพสำหรับทุกคน ทำให้ต้องมีงบประมาณเพิ่มขึ้น ในเวลานั้นระบบการจ่ายเงินค่อนข้างกระจัดกระจายอย่างมาก ดังนั้น จึงได้ปรับปรุงกลไกการเงินจนเป็นวิธี “การจัดซื้อเชิงกลยุทธ์” ในปัจจุบัน โดยมีการใช้รูปแบบการจัดซื้อแบบเหมาจ่ายรายหัว (capitation) สำหรับบริการผู้ป่วยนอก การเหมาจ่ายตามกลุ่มโรคด้วยราคากลาง (Diagnosis-related group: DRG) สำหรับบริการผู้ป่วยใน และการจ่ายตามบริการที่ให้ (fee for service) สำหรับการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ

คุณสารี กล่าวว่า ก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นในประเทศไทย มีการพยายามต่อสู้ผลักดันอย่างมาก เพราะระบบแบบเดิมได้ทำให้ครัวเรือนต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล จึงได้มีการเคลื่อนไหวจนสำเร็จเป็น พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นการประกันความยั่งยืนของระบบ ตั้งแต่นั้นมา จึงได้มีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่เชื่อมโยงกันระหว่างภาคนักวิชาการ ภาคนโยบาย องค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGOs) และภาคีเครือข่ายประชาชน โดยมีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกด้วย

ดร.นพ.ปิยะ กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการพัฒนาเครื่องมือที่สำคัญมาใช้เพื่อปรับปรุงระบบการเงินสุขภาพ ได้แก่ การวิเคราะห์ต้นทุนของโรงพยาบาล และระบบทะเบียนข้อมูลที่อ้างอิงจากเลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยเราได้ลงทุนในงานวิจัยที่มีการพัฒนากลไกให้สามารถเชื่อมโยงกับการกำหนดนโยบาย

พญ.ลลิตยา กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้ประชาชนได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลภายใต้งบประมาณจำกัดแต่มีประสิทธิภาพ โดย สปสช. มีกลไกการจัดเก็บข้อมูลที่โรงพยาบาลจะนำส่งข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทำให้สามารถมีข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณค่าใช้จ่ายสุขภาพที่มีรูปแบบของการกระจายความเสี่ยงหรือเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข

คุณคณิตศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิสำหรับผู้ป่วย เป็น gatekeeper ที่ช่วยคัดกรองเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ให้บริการระดับสูง ในแต่ละภูมิภาคจะมีโรงพยาบาลที่สามารถให้บริการด้านสุขภาพเฉพาะทาง และยังสามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลระดับมหาวิทยาลัยได้ด้วย โดยหน่วยการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิยังทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อช่วยกันดูแลคุ้มครองสิทธิประชาชนให้เข้าถึงบริการที่จำเป็น ยิ่งไปกว่านั้น สปสช. ได้พัฒนารวบรวมและใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูล เพื่อตรวจสอบและสามารถสะท้อนต้นทุนและการเบิกจ่ายเงินของ สปสช.

ดร.นพ.ปิยะ ยังกล่าวด้วยว่า หนึ่งในจุดแข็งของระบบสุขภาพในประเทศไทย คือ การคิดวิเคราะห์อย่างใส่ใจที่จะใช้กลไกการจัดซื้อเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ซื้อและผู้ให้บริการ ยิ่งไปกว่านั้น สปสช. ยังมีความยืดหยุ่นในความพยายามพัฒนากลไกการชำระเงินและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากข้อมูลเพื่อปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ วิทยากรในเวทียังเห็นพ้องในหลักการร่วมกันว่า สปสช. มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (NHSO has the consumer at heart) และสามารถได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากสังคม โดยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่เข้มแข็งด้วยกฎหมายและนโยบาย เป็นระบบที่มีความมั่นคงสำหรับประชาชน มีการรับฟังเสียงจากประชาชนซึ่งมีความสำคัญและเป็นนวัตกรรมของระบบสาธารณสุขของประเทศ อย่างไรก็ตาม ระบบสุขภาพในประเทศไทยยังมีพื้นที่ในการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไกการเงินที่แตกต่างกันในแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพ

ประเทศไทยได้รับความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนากลไกการจัดซื้อเชิงกลยุทธ์และเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ดังนั้น การเรียนรู้แลกเปลี่ยนร่วมกัน จึงเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศในอาเซียนในการพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อประโยชน์สูงสุดด้านสุขภาพของประชาชนในภูมิภาค

ในที่ประชุมยังคาดหวังที่จะเห็นความร่วมมือกันในระดับภูมิภาคอาเซียนต่อไป เพื่อสนับสนุนแต่ละประเทศในการกำหนดลำดับความสำคัญของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพด้านต้นทุน และ สร้างผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

 

รับชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่: https://www.youtube.com/live/2SgXjuuc928?feature=share

ดาวน์โหลดเอกสารนำเสนอได้ที่: https://drive.google.com/drive/folders/1WKk0FSmUAQ7VU91JT3GcoHC_yqCNBal2?usp=sharing

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL NEWS

ความยากจนผู้สูงอายุปัญหาท้าทายของประเทศไทย

ความยากจนผู้สูงอายุปัญหาท้าทายของประเทศไทย

Facebook
Twitter
Email
Print

วันที่ 27 พฤษภาคมปีนี้ ครบรอบ 1 ปีที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาและเห็นชอบรายงานการศึกษาเรื่อง “แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคม เพื่อให้สภาส่งต่อไปยังรัฐบาล ให้พิจารณาดำเนินการตามรายงานและข้อสังเกตต่อไป ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายความคุ้มครองความยากจน แหล่งรายได้ และ การบูรณาการระบบบำนาญของประเทศ เป็นต้น

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาได้มีเสียงสะท้อนในสังคม ทำให้ทุกท่านน่าจะตระหนักดีว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยสัดส่วนของประชากรวัยทำงานกำลังลดลง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความยากจนในครัวเรือนผู้สูงอายุ

เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน รายงานธนาคารโลกเรื่อง “การลดปัญหาความยากจนของผู้สูงอายุในประเทศไทย:บทบาทของโครงการบำนาญและการช่วยเหลือทางสังคม” ปี 2555 ระบุว่า รัฐบาลมีโครงการบำนาญหลายโครงการเพื่อรับมือกับปัญหา แต่ก็ยังมีสิ่งที่ประเทศไทยสามารถจะทำได้อีกมากเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการคุ้มครองความยากจน

เนื่องจากประเทศไทยมีโครงการบำนาญอยู่ 8 โครงการ ครอบคลุมประชากรกลุ่มที่แตกต่างกัน ได้แก่ ประกันสังคม มาตรา 33 และ 39, กบข. และ บำนาญข้าราชการ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ, เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.), และ ประกันสังคม มาตรา 40 ดังนั้น การที่ไม่มีนโยบายบำนาญแห่งชาติที่ชัดเจน จึงทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและขาดการประสานงานระหว่างแต่ละหน่วยงานที่ดูแลโครงการบำนาญต่างๆ

ลักษณะสำคัญบางประการของระบบบำนาญของประเทศไทย คือ  สิทธิประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับผู้ที่ไม่ได้ยากจน, มีเพียงระบบ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เท่านั้นที่มีความครอบคลุมผู้สูงอายุได้แบบถ้วนหน้า, หลายโครงการมีข้อจำกัดด้านกรอบกฎหมายไว้ไม่เพียงพอ ไม่มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแล เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการเงินโดยรวม, และ ไม่มีนโยบายบำเหน็จบำนาญระดับชาติที่มีความเชื่อมโยงกัน

รายงานธนาคารโลกฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีโครงการบำนาญมากเกินไป จึงควรพิจารณาบูรณาการแต่ละโครงการเข้าด้วยกัน และ มีการปรับเปลี่ยนระบบบำนาญทั้งหมด โดยมุ่งเน้นที่การลดความยากจนในผู้สูงอายุ, ตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการบำนาญ, และ กำหนดความรับผิดชอบ (accountability) ที่ชัดเจนไว้ในนโยบายบำนาญรวม

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามาพิจารณาสภาพในปัจจุบัน ปี 2566 คนจำนวนมากที่ยากไร้โอกาสตั้งแต่กำเนิด ก็ยังคงไม่มีระบบรองรับทางสังคม (social safety net) ด้านความยากจนในวัยชรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยยังไม่มีระบบการออมที่สามารถครอบคลุมทุกคนในวัยทำงาน เหมือนหลายประเทศพัฒนาแล้วที่บังคับให้ทุกคนต้องอยู่ในระบบ และ มีข้อน่ากังวลที่เบี้ยยังชีพขั้นพื้นฐานต่ำเกินไปจนไม่สามารถคุ้มครองความยากจนได้ และเป็นอัตราที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามภาวะเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ การพิจารณาเรื่องความยากจนผู้สูงอายุในมุมมองของระบบความคุ้มครองทางสังคม จำเป็นต้องตระหนักถึงปัญหาความเป็นธรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจ และ ความเหลื่อมล้ำแบบรวยกระจุกจนกระจาย เพราะคนที่เกิดมาในพื้นที่ขาดแคลน ไม่มีโอกาสทางการศึกษา ต้องทำงานเป็นแรงงานราคาถูก มีรายได้เติบโตไม่ทันค่าครองชีพ ทำงานจนเกษียณก็ไม่มีทางลืมตาอ้าปาก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงวัยทำงานจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ก็ได้ร่วมจ่ายภาษีผ่านการบริโภค เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการค้า ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ภาษีศุลกากร ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ภาษีเครื่องดื่ม ภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาษีรถยนต์ ภาษีรถจักรยานยนต์ ภาษีแบตเตอรี่ ภาษีสุราและยาสูบ เป็นต้น

ดังนั้น เราควรที่จะมีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อทำให้สังคมโดยรวมมีระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะส่งผลทางบวกต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เร็วกว่า และ ช่วยให้สังคมมีความปรองดอง ซึ่งหากใช้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ก็ควรที่จะใช้นโยบายการคลัง เพื่อจัดสรรให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม

ดังที่ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมมองไม่เห็นทางอื่น นอกจากปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ ถ้าจะไปอย่างเต็มสูบ ไม่รื้อระบบภาษีครั้งใหญ่ ผมไม่คิดว่าจะทำได้ ทั้งหมดนี้เพื่อปูทางไปสู่แนวคิดที่ว่า ทุกคนจะต้องมีหลักประกัน ถ้ารัฐยังไม่มีกำลัง ก็ต้องมีการร่วมจ่าย … การเมืองประชาธิปไตยมันช่วยแน่ ๆ” และ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ระบุว่า “ที่ผ่านมาคนรวยร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนส่วนใหญ่ของประเทศน้อยเกินไป คนกลุ่มนี้ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากคนในชาติ หากเราสามารถคำนวณ Effective Tax Rate ของคนรวยได้ เราน่าจะเห็นช่องทางในการเก็บภาษีได้อีกมาก” (โครงการวิจัย ระบบบำนาญแห่งชาติ, 2566)

ขณะนี้เรารอการผลการเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะอีก 3-4 เดือน จึงจะรู้ว่า ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคใดจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนโยบายบำนาญ ซึ่งข้อเสนอพรรคการเมืองที่หาเสียง มีตั้งแต่นโยบายขายฝันดีจนสื่อไม่นำไปลงข่าว ไปจนกระทั่งนโยบายที่กำหนดเป้าหมายระบบความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ พร้อมทั้งระบุแหล่งที่มาของรายได้ เช่น ตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น เพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และ ใช้ภาษีก้าวหน้าที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

แม้บำนาญประชาชนจะเป็นข้อเรียกร้องจากทั้งภาคประชาชน ภาควิชาการ รวมทั้งเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบันที่สะท้อนความต้องการของสังคม ซึ่งภาคการเมืองให้ความสนใจอย่างจริงจัง แต่จากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันก็ประเมินได้ถึงอุปสรรคสำคัญในทางปฏิบัติ

เพราะแม้ว่ากลุ่มที่ถูกคาดหวังจากเจตจำนงของประชาชนจะให้เป็นพรรครัฐบาล มีเป้าหมายการขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่ยังต้องเผชิญกับเงื่อนไขและความไม่แน่นอนทางการเมืองอื่น ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มการเมืองเดิมหรือกลุ่มอำนาจทุนเดิมบนยอดปิรามิดที่อาจเสียประโยชน์ เพราะการพัฒนาบำนาญประชาชน จะต้องมีการปฏิรูปด้านภาษีและงบประมาณ แล้วจัดสรรให้แบ่งปันทรัพยากรอย่างเป็นธรรมมากขึ้น

ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนขอเรียนให้ทุกท่านโปรดช่วยกันพิจารณาว่า หากไม่ทำอะไรเลย งบประมาณสำหรับผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในสองทศวรรษข้างหน้า โดยส่วนมากมาจากงบบำนาญข้าราชการ ซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นไปพร้อมกับงบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ดังนั้น ในเมื่อประเทศไทยจำเป็นต้องมีรายรับรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น ก็ควรจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสแก้ไขปัญหาโครงสร้างของประเทศ โดยปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น และ สร้างระบบสวัสดิการเพื่อให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น

 

อ่านเพิ่มเติม

การลดปัญหาความยากจนของผู้สูงอายุในประเทศไทย : บทบาทของโครงการบำนาญและการช่วยเหลือทางสังคม. ตุลาคม 2555. Brixi,Hana; Jitsuchon,Somchai; Skoufias,Emmanuel; Sondergaard,Lars M.; Tansanguanwong,Pamornrat; Wiener,Mitchell. Reducing elderly poverty in Thailand : the role of Thailand’s pension and social assistance programs (Thai). Washington, D.C. : World Bank Group.  https://documents1.worldbank.org/curated/en/355211468120870525/pdf/805270WP0THAI00Box0382091B00PUBLIC0.pdf

โครงการวิจัย “การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ” 2566. โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) https://theepakornblog.wordpress.com/2023/01/20/powerpoint_move_mountain/

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
NEWS UPDATE
Categories
EDITORIAL NEWS

ถามตอบกับปัญญาประดิษฐ์: สว. ข่าวปลอม และ รากฐานประชาธิปไตย

ถามตอบกับปัญญาประดิษฐ์: สว. ข่าวปลอม และ รากฐานประชาธิปไตย โดยดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Facebook
Twitter
Email
Print

ChatGPT คือ ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยี OpenAI เป็นผู้ตอบคำถามภาษาอังกฤษและจากนั้นได้รับคำสั่งให้แปลเป็นภาษาไทย แล้ว ดร.ทีปกรเป็นมนุษย์เรียบเรียงภาษาให้สละสลวยรัดกุมโดยยึดตามความหมายของคำตอบภาษาอังกฤษ

 

  1. ทำอย่างไรผู้ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งตามเจตจำนงของปวงชนไทย จึงจะได้รับการสนับสนุนจากสภาสูง ซึ่งแต่งตั้งมาจากรัฐบาลทหาร?

หากผู้นำทางการเมืองมีเป้าหมายที่จะนำทางในภูมิทัศน์การเมืองที่รัฐบาลทหารมีอิทธิพล อาจต้องเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้นหลายประการ นี่คือกลยุทธ์ที่เป็นไปได้:

  1. การสร้างพันธมิตร: ร่วมมือกับพรรคการเมืองที่มีความเห็นในทางเดียวกันและบุคคลสำคัญที่อุทิศตนเพื่อประชาธิปไตยและการปกครองโดยประชาชน เพื่อสร้างพลังเสียงพรรคร่วม และเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมนโยบายที่ต้องการ
  2. การเคลื่อนไหวของสาธารณชน: มีส่วนร่วมและเคลื่อนไหวทางสาธารณะผ่านการประท้วงอย่างสันติ การเดินขบวน และแคมเปญสาธารณะ สามารถช่วยเพิ่มความตระหนักในคุณค่าประชาธิปไตยและกดดันรัฐบาลทหารให้พิจารณาการปฏิรูป
  3. การฑูตและความสนับสนุนระหว่างประเทศ: ขอความสนับสนุนทางการทูตจากรัฐบาลต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และกลุ่มเครือข่ายสิทธิมนุษยชน สามารถกดดันรัฐบาลทหารให้เคารพหลักประชาธิปไตยและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองโดยพลเรือน
  4. การปฏิรูปกฎหมายและสถาบัน: สนับสนุนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง และโครงสร้างเชิงสถาบัน สามารถช่วยยกระดับการแข่งขันที่สูงขึ้นสำหรับกระบวนการประชาธิปไตย และ จำกัดอิทธิพลของกองทัพต่อระบบการเมือง
  5. ข้อความและการสื่อสารเชิงกลยุทธ์: สร้างข้อความที่สะท้อนความต้องการของสังคมเพื่อโน้มน้าวและสื่อสารถึงความสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน สามารถช่วยสร้างการสนับสนุนจากประชาชนและต่อต้านข่าวสารข้อมูลที่ถูกสนับสนุนจากรัฐบาลทหาร
  6. การทำงานร่วมกับกองทัพ: ค้นหาโอกาสการสนทนาและการมีส่วนร่วมกับผู้มีความเป็นกลางในกองทัพ อาจช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีส่วนร่วมและค่อยเป็นค่อยไป เพื่อนำไปสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน
  7. การสื่อสารระหว่างประเทศและการแบ่งปันข้อมูล: ใช้สื่อมวลชนระหว่างประเทศและแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับสถานการณ์ เปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนความต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตย สามารถช่วยรวบรวมการสนับสนุนจากนานาชาติและดึงดูดความสนใจจากสาธารณชนทั่วโลกได้

ทั้งนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องระบุไว้ว่า แต่ละประเทศมีบริบททางการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะ และกลยุทธ์ในการท้าทายรัฐบาลทหารอาจแตกต่างอย่างมาก การปรับกลยุทธ์ให้เข้ากันได้กับสถานการณ์และบริบทของแต่ละประเทศเป็นสิ่งสำคัญในการจัดการกับความท้าทายที่ส่งผลต่อรัฐบาลทหารอย่างมีประสิทธิภาพ

 

  1. เราจะจัดการข่าวปลอมที่สร้างความแตกแยกได้อย่างไร?

การต่อสู้กับข่าวปลอมที่แบ่งแยกประชาชนต้องได้รับการแก้ไขในหลายด้าน เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ การรับรู้เท่าทันสื่อ และการตรวจสอบความเชื่อถือได้ของข้อมูล

ต่อไปนี้เป็นกลยุทธ์ที่สามารถใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว:

  1. ส่งเสริมการรับรู้สื่ออย่างเท่าทัน: จัดแคมเปญและโครงการเพื่อการศึกษาสำหรับส่งเสริมการรับรู้สื่ออย่างเท่าทัน ทำให้ผู้คนพัฒนาทักษะการวิเคราะห์แหล่งข่าว ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูล และสามารถแยกแยะระหว่างข่าวจากแหล่งที่เชื่อถือได้และข้อมูลเท็จ
  2. โครงการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูล: สนับสนุนและส่งเสริมองค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลที่ผิดให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ รณรงค์ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะแชร์ และทำให้แหล่งตรวจสอบข้อเท็จจริงสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย
  3. ร่วมมือกับแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์: ร่วมมือกับแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ในการพัฒนานโยบายและเครื่องมือที่ช่วยแก้ไขการแพร่กระจายข่าวปลอมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้แพลตฟอร์มพัฒนากลไกรายงานและแยกแยะข้อมูลเท็จ พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการที่ช่วยจัดลำดับความสำคัญนำเสนอเนื้อหาที่เป็นจริงและเชื่อถือได้
  4. ทำงานร่วมกับสื่ออนุรักษ์นิยม: สนับสนุนการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์กับสื่ออนุรักษ์นิยมเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมสื่อ และป้องกันการกระจายข่าวเท็จหรือข้อมูลที่ชี้นำผิดทิศหลงทาง ส่งเสริมพวกเขาให้ความสำคัญกับความถูกต้อง ความเที่ยงธรรม และการรายงานข่าวอย่างมีความรับผิดชอบ
  5. กฎระเบียบและนโยบายของรัฐบาล: สร้างกฎระเบียบและนโยบายจัดการกับการเผยแพร่ข่าวเท็จ โดยใส่ใจต่อเสรีภาพของสื่อและการแสดงความคิดเห็น สร้างความโปร่งใสในการเป็นเจ้าของสื่อและแหล่งที่มาของเงินทุน และ บังคับใช้กฎหมายลงโทษการเผยแพร่ข้อมูลเท็จโดยเจตนา
  6. แคมเปญส่งเสริมการตระหนักรู้ของสาธารณะ: สร้างแคมเปญสาธารณะที่เน้นอันตรายจากข่าวเท็จและผลกระทบต่อสังคม ส่งเสริมให้แต่ละคนเป็นผู้บริโภคข่าวสารข้อมูลที่สามารถวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ และ มุ่งเน้นความสำคัญของการตรวจสอบข้อมูลก่อนยอมรับหรือแชร์
  7. ร่วมมือกับสังคม: ร่วมมือกับองค์กรภาคสังคม เอ็นจีโอ และสถาบันวิชาการ เพื่อพัฒนางานวิจัยและโครงการที่เน้นการต่อสู้กับข่าวปลอม สนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมความโปร่งใส ทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และสื่อที่มีความรับผิดชอบ
  8. เสริมสร้างสื่ออิสระ: สนับสนุนสื่ออิสระด้วยการให้ทรัพยากรและโอกาสฝึกอบรม ส่งเสริมการรายงานข่าวเชิงสืบสวนและข่าวที่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อถ่วงดุลข้อมูลเท็จ
  9. เชื่อมโยงกับผู้นำสังคม: ร่วมงานกับผู้นำในสังคม รวมถึง Influencers และผู้นำความคิด เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้องด้วยความรับผิดชอบ กระตุ้นให้พวกเขาเป็นแบบอย่างในการตรวจสอบยืนยันข้อมูลก่อนที่จะเชื่อหรือแชร์
  10. ส่งเสริมการสนทนาและการถกเถียงโดยเคารพต่อกัน: สร้างวัฒนธรรมของการสนทนาที่เปิดกว้างและการถกเถียงโดยเคารพต่อกัน เพื่อส่งเสริมการคิดเชิงวิเคราะห์และการสนทนาที่อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ส่งเสริมให้ปัจเจกบุคคลแสวงหามุมมองที่หลากหลายและเข้ามามีส่วนร่วมในการสนทนาอย่างสร้างสรรค์

การแก้ไขการแพร่กระจายข่าวปลอมเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและต้องดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งต้องการความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย รวมถึงรัฐบาล องค์กรสื่อสารมวลชน องค์กรภาคสังคม และประชาชนทั่วไป เพื่อส่งเสริมสังคมที่รู้เท่าทันสื่อ

(หมายเหตุเพิ่มเติมจาก ดร.ทีปกร: ตัวอย่าง Fake News ที่ประสบความสำเร็จ เช่น ผังล้มเจ้า, ธนาธรเป็นนอมินีทักษิณ, CIA และ องค์กรลับอิลลูมินาติ อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองในประเทศไทย, นโยบายตัดงบบำนาญข้าราชการ, นโยบายตั้งฐานทัพอเมริกาในประเทศไทย, หรือ แฟนด้อม คือ IO เป็นต้น)

 

  1. เราจะวางรากฐานประชาธิปไตยให้ประเทศไทยในระยะยาวได้อย่างไร?

(ย่อหน้าสรุป) การสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งสำหรับประชาธิปไตยในประเทศไทย ต้องการความมุ่งมั่นในระยะยาวจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล ราชการ องค์กรภาคสังคม พรรคการเมือง และประชาชนเอง สิ่งสำคัญ คือ การประเมินและเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างค่านิยมประชาธิปไตย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจ เพื่อให้ระบบประชาธิปไตยมีความยั่งยืนและเกิดสัมฤทธิ์ผล

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
NEWS UPDATE
Categories
EDITORIAL NEWS

เศรษฐศาสตร์การเมืองของการพัฒนาระบบคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ

เศรษฐศาสตร์การเมืองของการพัฒนาระบบคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ โดย ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Facebook
Twitter
Email
Print

เศรษฐศาสตร์การเมืองของการพัฒนาระบบคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ

 

โดย ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รายจ่ายด้านสวัสดิการผู้สูงอายุ กำลังจะเผชิญกับข้อจำกัดงบประมาณ อันเนื่องจากผลกระทบของโควิด ปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก และสงครามรุกรานประเทศยูเครน ตลอดจนปัญหาเชิงโครงสร้างภายในของเราเองที่ปรับตัวไม่ทันโลก จะส่งผลต่อความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยระยะยาว ทำให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บรายได้เข้าคลังตามเป้าหมาย ซ้ำยังมีภาระจ่ายคืนหนี้เงินกู้มหาศาลในอนาคต ดังนั้น ประเทศไทยควรจะต้องหาทางออกสำหรับงบประมาณรายจ่ายที่เพียงพอและยั่งยืนสำหรับระบบความคุ้มครองความยากจนสำหรับผู้สูงอายุในอนาคต

แม้จะมีความพยายามโดยภาคประชาสังคมและภาคการเมือง เพื่อผลักดันทางกฎหมายและการเมืองในการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติบำนาญผู้สูงอายุ แต่ทุกฉบับล้วนถูกตีตกด้วยเหตุผลหลัก คือ “เป็นภาระงบประมาณ” ทั้งที่หากผู้กำหนดนโยบายมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะให้ความคุ้มครองด้านสวัสดิการต่อประชาชน ก็ควรที่จะผลักดันให้สามารถเกิดขึ้นได้ เหมือนอย่างระบบบัตรทองหรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

โดยหลักการพื้นฐานแล้ว แนวคิด “รัฐสวัสดิการ” หรือ สวัสดิการสังคมถ้วนหน้า ซึ่งครอบคลุมถึงระบบ “บำนาญแห่งชาติ” เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการมีชีวิตที่มั่นคง และเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดสวัสดิการ โดยควรจะเป็นเป้าหมายทั้งทางเศรษฐศาสตร์และทางการเมืองที่เป็นฉันทามติของสังคมไทย สามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยการลดความเหลื่อมล้ำจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และ ช่วยลดความเสี่ยงจากความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง

เราไม่สามารถจะนำตัวแปรความเหลื่อมล้ำออกจากสมการของการพัฒนาระบบสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย เพราะประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้และด้านทรัพย์สิน เป็นปัญหาติดอันดับต้น ๆ ในโลก โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตระกูลที่รวยที่สุด 50 ตระกูล มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 20 – 30% หรือ เพิ่มขึ้น 6-8 เท่า มีทรัพย์สินรวมเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1 ใน 10 ของ GDP เพิ่มเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของ GDP ซึ่งตระกูลที่รวยที่สุดตระกูลหนึ่ง มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเพียงปีเดียวเกือบ 1 แสนล้านบาท ในปี 2563 ที่ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัสจากปีแรกของโควิด

หลายตระกูลบนยอดปิรามิดที่ความมั่งคั่งเติบโตรวดเร็วติดจรวด เพราะได้เปรียบจากการประกอบธุรกิจสัมปทาน หรือ ธุรกิจกึ่งผูกขาด เช่น โทรคมนาคม หรือ พลังงาน ตลอดจนกลไกภาครัฐเอื้อให้สามารถมีอำนาจเหนือตลาด และได้รับยกเว้นภาษีแบบที่ผู้ประกอบการ SME ไม่ได้รับโอกาส

ในขณะที่ ช่องว่างระหว่างคนรวยที่สุด 10% และคนส่วนใหญ่ในประเทศ ยิ่งขยายกว้างเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนจนระดับล่าง 10% แทบจะไม่ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ตามข้อมูลสำรวจสภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

คงไม่น่าแปลกใจที่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ตามที่ ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว (2522) เคยระบุไว้ว่า  “รัฐบาลไม่ต้องการใช้นโยบายการคลังเพื่อผลทางการกระจายรายได้ เพราะนโยบายดังกล่าวกระทบต่อฐานะของคนกลุ่มน้อยที่มีอิทธิพลหรือมีอำนาจ ซึ่งรัฐบาลต้องช่วยรักษาผลประโยชน์หรือมีประโยชน์ผูกพันอยู่ด้วย”

ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ได้มีข้อเสนอมากมายในการแก้ปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน เช่น ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล (2556) ได้เสนอว่า การสร้างความเสมอภาคได้มากขึ้นวิธีหนึ่งก็คือ การกระจายการถือครองทรัพย์สินใหม่

ในขณะที่ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร (2560) ได้ระบุว่า การที่สินค้าและบริการสาธารณะของเรา รวมทั้งระบบรัฐสวัสดิการ มีไม่เพียงพอและคุณภาพย่ำแย่ ส่วนหนึ่งเพราะว่ารัฐมีงบประมาณจํากัด ซึ่งเกิดจากการเก็บภาษีได้น้อย  ดังนั้น จึงควรที่จะพัฒนาประสิทธิภาพและความเป็นธรรมทางภาษี ซึ่งภาษีที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินต่างๆ

ประเทศไทยมีรายได้จากภาษีคิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะอัตราภาษีที่ต่ำเกินไป และเพราะการลดหย่อน/ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อส่งเสริมการลงทุน โดยในปี พ.ศ. 2558 ประมาณ 1 ใน 4 ของภาษีเงินได้นิติบุคคลได้รับการลดหย่อน (Pitidol, 2018) 

ดร.สมชัย จิตสุชน และคณะ (2554) ได้เสนอว่า ประเทศไทยควรมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อยกระดับรายได้ภาษีให้ใกล้เคียงกับ “ศักยภาพในการเสียภาษี” และช่วยให้ระบบภาษีมีความเป็นธรรมและเสมอภาคมากขึ้น สอดคล้องกับ Kwaja and Iyer (2014) ซึ่งระบุว่า หากประเทศไทยสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้น รายได้ภาษีจะเพิ่มได้ถึง 20-30% ของ GDP

Solt (2019) ได้แสดงให้เห็นว่า มาตรการภาษีและเงินสวัสดิการของไทย ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ค่อนข้างน้อย ซึ่งแสดงถึงศักยภาพที่จำกัดของประเทศไทยในการใช้เครื่องมือทางการคลังเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การใช้จ่ายด้านรัฐสวัสดิการของรัฐไทย สามารถช่วยลดความยากจน ตามที่ Sondergaard et al. (2016) ได้แสดงให้เห็นว่า การใช้จ่ายภาครัฐด้านสวัสดิการ มีบทบาทสูงขึ้นในการช่วยลดความยากจนของครัวเรือนไทย

ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นที่สำคัญ คือ คนจำนวนมากยังต้องทำงานทั้งชีวิตโดยที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพ ยิ่งทำงานก็ยิ่งจนลงเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยได้พัฒนาเศรษฐกิจโดยการกดค่าจ้างในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ดังที่ ดร.นพดล บูรณะธนัง และพรเกียรติ ยั่งยืน (2556) ได้แสดงให้เห็นว่า ค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างทั่วไป เพิ่มขึ้นช้ากว่าผลิตภาพแรงงาน และ GDP ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2553 (หรือ ค.ศ.2001 – 2010) ดังนั้น มูลค่า (แรงงาน) ส่วนเกิน หรือ surplus value ที่เกิดจากผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้น กลับหายไปอยู่ที่นายทุนที่ได้รับประโยชน์เหล่านั้นไป

ดังนั้น ด้วยเหตุผลทั้งทางเศรษฐศาสตร์ (technical analysis) และทางศีลธรรม (ethical analysis) จึงควรเร่งพิจารณาและผลักดันให้มีการหาทางแหล่งรายได้สำหรับระบบบำนาญแห่งชาติ รวมทั้งการจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณใหม่ (budget reprioritization) เพื่อมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายบำนาญผู้สูงอายุที่จะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายในทางที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้เสียภาษี เช่น รัฐสวัสดิการ

ดังที่ ศ.ดร.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย ได้เสนอไว้ว่า “บรรยากาศทั่วไปที่สังคมไทยพัฒนาถึงขั้นควรจัดระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพิ่มขึ้น เพิ่มการจัดบำนาญถ้วนหน้าเพื่อผู้สูงอายุ เงินชดเชยรายได้การตกงาน ฯลฯ นโยบายทั้งหมดนี้ต้องมาจากแหล่งเงินของรัฐที่มีขนาดใหญ่และยั่งยืนขึ้น การปฏิรูปภาษีโดยเฉพาะภาษีที่เกี่ยวกับรายได้และความมั่งคั่งต้องเพิ่มฐานจำนวนผู้เสียและขนาดของการจัดเก็บมากขึ้น ผสมผสานด้วยระบบการคลังอื่น ๆ แบบมีส่วนร่วม” (ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย, 2564)

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ดร.คริส เบเคอร์ (Phongpaichit and Baker, 2015) ได้ชี้แนะว่า การทำให้สังคมไทยมีความเท่าเทียมกันมากขึ้นเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะทำให้สังคมไทยมีสันติสุขและความปรองดองในระยะยาว

ระบบบำนาญผู้สูงอายุ ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเกื้อกูลกันแบบสมัยใหม่ที่ทุกคนมีส่วนร่วม โดยคนรวยจ่ายมากกว่าตามกำลังความสามารถ หรือ ability to pay ตามหลักพื้นฐานของระบบภาษีอากร (ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ, 2557) ซึ่งเป็นการแสดงน้ำใจในการโอบอุ้มกันในสังคมไทยในลักษณะของการ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากความยากจนผู้สูงอายุ

แน่นอนว่า “ระบบบำนาญแห่งชาติ” มีความท้าทายสำหรับประเทศในแง่ของทรัพยากรที่มีจำกัดสำหรับการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งถึงแม้งานวิจัยต่าง ๆ ก่อนหน้าได้แสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถเป็นไปได้ในทางเศรษฐศาสตร์ (Suwanrada and Wesumperuma, 2012; Schmitt et al., 2013; และ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2558) แต่ก็ชัดเจนว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายในทางการเมือง

แม้กระนั้นก็ตาม สมัยเริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ก็ได้มีการคัดค้านว่า ประเทศไทยไม่มีงบประมาณ แต่ความก้าวหน้าของประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า “การเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวก สำหรับประเทศไทย สามารถที่จะเกิดขี้นได้” ซึ่งสองทศวรรษต่อมา การดูแลสุขภาพถ้วนหน้า หรือ UHC ได้กลายเป็นเป้าหมายและเจตนารมณ์ร่วมกันของมนุษยชาติ

ดังนั้น หลังวิกฤตโควิด ประเทศไทยควรจะมี “ระบบบำนาญที่พึงปรารถนา” โดยกำหนดเป้าหมายทำให้ผู้สูงอายุทุกคนมีรายได้ยามชราภาพเพียงพอต่อการยังชีพ ซึ่ง ก. การเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Increase), ข. การปฏิรูปภาษีทั้งระบบเพื่อระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า (Tax Reform for Universal Welfare System) และ ค. การจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณใหม่ (Budget Reprioritization) เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศได้สนับสนุนมานานแล้ว และเป็นนโยบายปกติที่ทำกันในประเทศพัฒนาแล้ว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
NEWS UPDATE