Categories
ECONOMY

แห่ขายบ้านเพิ่มขึ้น ในธุรกิจเอสเอ็มอีชั้นกลาง

การแห่ขายบ้านที่ดินเพิ่มขึ้นในธุรกิจเอสเอ็มอีคนชั้นกลาง ท่ามกลางพิษเศรษฐกิจและหนี้เรื้อรัง

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวได้รายงานสถานการณ์ตลาดบ้านมือสองที่เข้าสู่ตลาดในปัจจุบัน โดยนายปรีชา ศุภปิติพร นายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้เปิดเผยว่าตลาดบ้านมือสองในปัจจุบันมีสองประเภทหลัก คือ ผู้ขายบ้านเองและผู้ที่ถูกบังคับให้ขายเนื่องจากเป็นหนี้เสีย ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีการเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีหลังโควิด-19

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดบ้านมือสองขยายตัว

หลังจากมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลสิ้นสุดลง ทำให้หลายธุรกิจเอสเอ็มอีและคนชั้นกลางต้องเผชิญกับปัญหาหนี้เสีย ส่งผลให้มีการนำที่ดินมาฝากขายมากขึ้น ในกรณีของธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ทำให้พวกเขาต้องขายบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ หรือคอนโดมิเนียมเพื่อชำระหนี้ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการบ้านมือสองสูง

การแข่งขันในตลาดบ้านมือสองและความสนใจจากบริษัทรับซื้อหนี้

ทรัพย์สินมือสองเริ่มได้รับความสนใจจากบริษัทรับซื้อหนี้มากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดและราคาการซื้อหนี้สูงขึ้น โดยเฉพาะบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลที่ดีและราคาขายไม่สูงมาก ทำให้บ้านมือสองมีการซื้อขายเปลี่ยนมือคล่องกว่าบ้านมือหนึ่งที่มักจะมีการกู้ยืมสูง

ภาพรวมตลาดบ้านมือสองในไตรมาสที่ 2/2567

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 2/2567 ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองทั่วประเทศมีการประกาศขายทั้งหมด 140,725 หน่วย มูลค่า 718,436 ล้านบาท โดยประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการประกาศขายมากที่สุด ได้แก่:

  1. บ้านเดี่ยว: 55,754 หน่วย (39.6%) มูลค่า 373,917 ล้านบาท (52.0%)
  2. ทาวน์เฮ้าส์: 41,384 หน่วย (29.4%) มูลค่า 105,191 ล้านบาท (14.6%)
  3. ห้องชุด: 35,963 หน่วย (25.6%) มูลค่า 201,887 ล้านบาท (28.1%)
  4. อาคารพาณิชย์: 5,326 หน่วย (3.8%) มูลค่า 30,635 ล้านบาท (4.3%)
  5. บ้านแฝด: 2,298 หน่วย (1.6%) มูลค่า 6,805 ล้านบาท (0.9%)
ความท้าทายและความหวังในอนาคตของตลาดบ้านมือสอง

แม้ว่าในช่วงต้นปีตลาดบ้านมือสองจะมีการขยายตัวดี แต่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตลาดเริ่มชะลอตัวเนื่องจากหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน การเมืองที่ไม่เสถียร และนโยบายเศรษฐกิจที่ยังไม่เดินหน้าเต็มที่ อย่างไรก็ตาม นายปรีชา ศุภปิติพร ยังคงมีความหวังว่าเมื่อรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ เศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้น ทำให้ตลาดบ้านมือสองกลับมาเติบโตอีกครั้ง

มาตรการและแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดบ้านมือสอง

รัฐบาลมีแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการลดภาระหนี้ครัวเรือนและสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสามารถในการผ่อนชำระบ้านและลดการเกิดหนี้เสีย นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนการซื้อขายบ้านมือสองผ่านโครงการต่างๆ และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดบ้านมือสอง

บทสรุป

ตลาดบ้านมือสองในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจและหนี้เรื้อรัง แต่ก็ยังมีโอกาสในการเติบโตเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวและรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ ความสนใจจากบริษัทรับซื้อหนี้และการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นตลาดบ้านมือสองให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
WORLD PULSE

ธุรกิจเมียนมาหลั่งไหลเปิดในไทย หนีวิกฤตในประเทศ

 

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2567 สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียรายงานว่า จำนวนธุรกิจจากเมียนมามากขึ้นเรื่อยๆ กำลังย้ายมาตั้งร้านค้าและร้านอาหารในประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่หลบหนีจากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในเมียนมา รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงต้นปีนี้

จากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับธุรกิจเมียนมา เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจจากเมียนมาหลายสิบรายได้เข้ามาดำเนินงานในประเทศไทย สถานการณ์ในเมียนมาทำให้ธุรกิจต่างๆ เผชิญกับความยากลำบากเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและกฎระเบียบทางการเงินที่ไร้เสถียรภาพ

เจ้าของธุรกิจรายหนึ่งที่ย้ายร้านมือถือและคอมพิวเตอร์จากเมียนมามาเปิดที่กรุงเทพฯ กล่าวว่า “ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่มีเสถียรภาพมากกว่า และตลาดกำลังเติบโตสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการของเรา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยเป็นตลาดทางเลือกที่สำคัญสำหรับนักธุรกิจเมียนมาที่ต้องการย้ายการดำเนินงานไปยังตลาดใหม่

การขยายตัวของธุรกิจเมียนมาในไทยนั้นได้แก่การเปิดสาขาของร้าน Cherry Oo ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกนาฬิกาที่มีประวัติยาวนานเกือบ 40 ปีในเมียนมา และได้เปิดร้านสาขาแรกในกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ร้านอาหาร Khaing Khaing Kyaw ที่มีชื่อเสียงในเมียนมา ซึ่งให้บริการอาหารพม่าดั้งเดิม ก็ได้ขยายสาขาเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าชาวเมียนมา

“เราตัดสินใจเปิดสาขาใหม่ในกรุงเทพฯ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น” ผู้จัดการร้านกล่าว พร้อมเสริมว่าร้านอาหารเครือข่ายนี้เติบโตจนมีสาขามากกว่า 10 แห่งในเมียนมาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และเริ่มเข้าสู่ตลาดไทยครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยมีแผนเปิดสาขาที่พัทยาและเชียงใหม่

การขยายธุรกิจของเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยมีเป้าหมายหลักในการปกป้องสินทรัพย์ทางการเงินมากกว่าการสร้างผลกำไรในทันที นางซู นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า “มันไม่ได้เกี่ยวกับการสร้างผลกำไรทันที แต่เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงและการย้ายทรัพย์สินไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย”

แม้ว่าไม่มีตัวเลขสถิติอย่างเป็นทางการที่แสดงจำนวนประชากรเมียนมาที่แท้จริงในประเทศไทย แต่รายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาคาดว่า มีผู้อพยพทั่วไปจากเมียนมาจำนวน 1.9 ล้านคนในประเทศไทย เมื่อนับจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566 และคาดว่า มีผู้อพยพจากเมียนมา 5 ล้านคนทั้งที่มีเอกสารและไม่มีเอกสาร ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศไทย

นอกจากนี้ กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารที่ประกาศใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ได้กระตุ้นให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากหลบหนีออกจากเมียนมา ส่งผลให้มีการขยายตัวในชุมชนเมียนมาและฐานผู้บริโภคในประเทศไทย ธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ร้านอาหารแบบดั้งเดิมของเมียนมาไปจนถึงร้านโทรศัพท์มือถือ และร้านค้าปลีกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างไล่ตามลูกค้าและใช้ประโยชน์จากความต้องการความสะดวกสบายและสินค้าจำเป็นในหมู่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในประเทศไทย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : นิกเกอิเอเชีย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

ข้อมูลจากสภาพัฒน์ฯ บอกคนไทย อายุ 15-49 ปี กำลัง “โสด” ถึง 40.5%

 
เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงเรื่องภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 โดยข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) พ.ศ.2566 พบว่าคนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 23.9 หรือ 1 ใน 5 ของคนไทย และหากพิจารณาเฉพาะช่วงวัยเจริญพันธุ์ตั้งแต่อายุ 15-49 ปีจะมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 40.5 สูงกว่าภาพรวมประเทศเกือบเท่าตัว และเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ.2560 (ร้อยละ 35.7) 
 
โดย ร้อยละ 50.9 อยู่ในช่วงอายุ 15 – 25 ปี สัดส่วนการแต่งงานในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ปี 2560 -2566 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ ร้อยละ 52.6 ลดลงจากปี 2565 ที่อยู่ที่ร้อยละ 53.2 และลดลงจากปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 57.9 ขณะเดียวกันการหย่าร้างในอัตราที่สูงขึ้น โดยในปี 2566 มีประมาณ 400,000 คู่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 22
 
 

โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นคนโสดแบ่งได้เป็น 4 ด้าน คือ

1) ค่านิยมทางสังคมของการเป็นโสดยุคใหม่ อาทิ “SINK (Single Income,No Kids)” หรือคนโสดที่มีรายได้และไม่มีลูก” เน้นใช้จ่ายเพื่อตนเอง จากข้อมูล SES ในปี 2566 พบว่า สัดส่วนคนโสด SINK สูงขึ้นตามระดับรายได้ “PANK (Professional Aunt, No Kids)” หรือกลุ่มผู้หญิงโสดอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ อาชีพการงานดีและไม่มีลูก” ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลหลาน เด็กในครอบครัวรอบตัว

 

โดยคนโสด PANK มีจำนวน 2.8 ล้านคน ส่วนใหญ่มีรายได้ดีและจบการศึกษาสูง และ “Waithood” กลุ่มคนโสดที่เลือกจะรอคอยความรักเนื่องจากความไม่พร้อม ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากคนโสดร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 37.7 ส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากถึงร้อยละ 62.6 มีระดับการศึกษาที่ไม่สูงนัก ทำให้ความสามารถในการหารายได้จำกัด

2) ปัญหาความต้องการ ความคาดหวังที่ไม่สอดคล้องกัน เป็นผลจากความคาดหวังทางสังคมและทัศนคติต่อการมองหาคู่ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยบริษัท มีทแอนด์ลันช์ สาขาประเทศไทย (2021) พบว่าผู้หญิงกว่าร้อยละ 76.0 จะไม่เดทกับผู้ชายที่มีรายได้น้อยกว่า และร้อยละ 83.0 ไม่คบกับผู้ชายที่มีส่วนสูงน้อยกว่า ขณะเดียวกัน ผู้ชายร้อยละ 59.0 จะไม่คบกับผู้หญิงตัวสูงกว่า และอีกว่าร้อยละ 60.0 ไม่เดทกับผู้หญิงที่เคยหย่าร้าง

3) โอกาสในการพบปะผู้คน โดยใน พ.ศ.2566 คนโสดมีชั่วโมงการทำงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ โดยข้อมูลจาก LFS สำนักงานสถิติแห่งชาติ เฉลี่ยอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ สูงกว่าภาพรวมประเทศ (42.3 เฉลี่ยอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมง/สัปดาห์)

อีกทั้งกรุงเทพฯ ยังจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของเมืองที่แรงงานทำงานหนักที่สุดในโลก ทำให้คนโสดไม่มีโอกาสในการมองหาคู่

4) นโยบายส่งเสริมการมีคู่ของภาครัฐยังไม่ต่อเนื่องและครอบคลุมความต้องการของคนโสด โดยนโยบายส่งเสริมการมีคู่ของไทยในช่วงที่ผ่านมายังมีไม่มากนัก โดยเน้นไปที่กลุ่มคนโสดที่มีความพร้อม ขณะที่ ในต่างประเทศมีแนวทางการส่งเสริมการมีคู่ที่ครอบคลุมไปถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และการสร้างโอกาสในการมีคู่

 

 

ทั้งนี้ มีแนวทางสนับสนุนให้คนมีคู่ ดังนี้

1) การสนับสนุนเครื่องมือการ Matching คนโสด โดยภาครัฐอาจร่วมมือกับผู้ให้บริการพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมให้คนโสดสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

2) การส่งเสริมการมี Work-life Balance ทั้งในภาครัฐและเอกชน ทำให้คนโสดมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น และเพิ่มโอกาสให้คนโสดมีเวลาทำกิจกรรมที่ชอบและพบเจอคนที่น่าสนใจมากขึ้น

3) การยกระดับทักษะที่จำเป็นในการทำงาน เพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานและรายได้ซึ่งคนโสดยังมีโอกาสพบรักจากสถานศึกษาได้อีกด้วย

4) การส่งเสริมกิจกรรมและการมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนโสดมีโอกาสพบปะและสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆได้

 

 

สำหรับปัญหาสุขภาพจิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียด จะพบประเด็นที่มีความน่ากังวล ดังนี้

1.แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก และสะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเป็นจำนวนมาก

2.ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูงเช่นกัน โดยระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2566 – 22 เม.ย.2567 พบผู้มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 15.48 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 17.20 และเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 10.63 ซึ่งแย่ลงกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา

3) ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงกระทบต่อตนเอง แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดคิด องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12 พันล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

4) เกือบ 1 ใน 5 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถดูแลตนเองได้ ทำให้ครัวเรือนต้องจัดหาผู้ดูแลและเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวังตามแนวทางที่กำหนด

5) สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความกดดันส่งผลให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากขึ้น ในงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบสัดส่วนผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า สูงเป็น 2 อันดับแรก สูงกว่าผู้ป่วยติดยาบ้าและยาเสพติดอื่น ๆ รวมกัน

6) การฆ่าตัวตายสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง (8.59 ต่อประชากรแสนคน)

7) ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตภายใน จากการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า มลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในเยาวชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 ซึ่งไทยต้องเฝ้าระวังเนื่องจากกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

นอกจากนี้ หากพิจารณาตามช่วงวัย พบว่าวัยเด็กและเยาวชนมีปัญหาสุขภาพจิตที่น่ากังวลหลายเรื่องโดยเฉพาะความเครียด ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเรียนและความคาดหวังด้านการทำงานในอนาคต และสถานะทางการเงินของครอบครัว นอกจากนี้การกลั่นแกล้ง (Bully) ในโรงเรียน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า

วัยทำงานความรับผิดชอบสูง และหลายปัญหารุมเร้า บริษัท Kisi พบว่า ในปี 2565 กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 5 จาก 100 เมืองทั่วโลกที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 หมดไฟในการทำงาน อีกทั้ง ข้อมูลจากสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต พบว่า ปี 2566 วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงานถึง 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย

สำหรับ ผู้สูงวัยต้องอยู่กับความเหงาและโดดเดี่ยว สูญเสียคุณค่าในตนเอง ในปี 2566 พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 84.93 มีความสุขในระดับที่ดีแต่จะลดน้อยลงตามวัย ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม อีกทั้ง ยังพบผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น และมีผู้สูงอายุอีก 8 แสนคน มีภาวะความจำเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นร่วมด้วย

สถานการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพจิตต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งการป้องกันต้องสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันทางสังคม โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว เน้นเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

การรักษา เร่งเพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอรวมทั้งขยายบริการการรักษาผู้ป่วยจิตเวชในสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด อีกทั้งต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการ

รวมถึงการติดตามและฟื้นฟูเยียวยา ต้องจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านสุขภาพจิตที่ครอบคลุม เร่งติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรงให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนและสังคม ในการส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพจิตใจและขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิต

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก :  สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News