Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

กสทช. ส่งหนังสือตักเตือน 2 บริษัท หลังเชียงรายพบสายเคเบิลข้ามแดน 10.5 กม.

 

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2567 พ.อ.ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตากและประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา หรือ TBC ฝ่ายไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการลักลอบวางสายเคเบิลใต้ดินข้ามแดนจากหมู่บ้านสันติสุข ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงรายไปยังเขตอิทธิพลของกองกำลังว้าที่เมืองยอนในฝั่งพม่าว่า ผู้ลักลอบได้มีการตัดสายสัญญาณช่วงที่ต่อจากบ้านของเขา เพื่อไม่ให้สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ก็รู้ว่าใครเป็นคนทำ รวมทั้งชาวบ้านแถวนั้นก็รู้ ส่วนเรื่องการดำเนินคดีนั้นเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่ง กสทช.( คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ)บอกว่าในความผิดครั้งแรกเป็นการตักเตือน เพราะกฎหมายกำหนดไว้อย่างนี้ หากผิดครั้งที่ 2 จึงจะเป็นการดำเนินคดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า การลากสายสัญญาณนับ 10 กม.เป็นเรื่องของความมั่นคงชาติจะไม่เอาผิดกับใครได้เลยหรือ พ.อ.ณฑีกล่าวว่า ได้แจ้ง กสทช. ไปแล้วว่ามีการสืบทางลับ ทราบอยู่แล้วว่าใครเป็นคนทำคือคนในหมู่บ้าน แต่เขาก็รู้ตัวจึงตัดสายของตัวเองออก อย่างไรก็ตามการวางสายข้ามไปฝั่งโน้นระยะทางไกล แม้หลักฐานที่เป็นประจักษ์โดนทำลายไปก่อน แต่ถ้าเอาจริงๆ ก็สืบสาวรู้อยู่แล้ว

“อินเตอร์เน็ตคุณจ่ายรายเดือนเท่าไหร่ ความเร็วเท่าไหร่ รู้หมดนั่นแหละ แต่ต้องอยู่ที่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเขาดำเนินการได้เต็มที่แค่ไหน ถ้าไม่เต็มที่ก็ตอบว่าพยานหลักฐานไม่ได้ออกจากบ้านเขา กำปั้นทุบดินก็จบไป หน่วยปฏิบัติก็ได้แต่ทำงานไป แต่จับไม่ได้ รอเวลาว่าเมื่อไหรเจ้าหน้าที่เผลอ เขาก็ทำอีก” ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กล่าว

ประธาน TBC ฝ่ายไทย กล่าวว่า การวางสายเคเบิลนั้นเป็นสัญญาณคงที่กว่าการใช้จานรับส่งสัญญาณ แต่จานได้รับความนิยมมากกว่าโดยเป็นจานกลมๆ เป็นตัวขยายสัญญาณ  ซึ่งจะติดตั้งในบ้านได้เลยแล้วหันสัญญาณส่งออกไป ทั้งนี้การส่งสัญญาณมีด้วยกัน 3 รูปแบบคือ 1.การใช้แผงของบริษัทโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นทรู เอไอเอส ดีแทค โดยในส่วนนี้เราส่งข้อมูลให้ กสทช.ช่วยตรวจสอบและให้หันแผงกลับมาเข้าฝั่งประเทศไทย พร้อมทั้งมีตรวจสอบสัญญาณตามแนวชายแดนว่ามีการส่งสัญญาณออกไปถึงมากน้อยแค่ไหน และตรวจวัดระดับสัญญาณ ซึ่ง กสทช.แจ้งว่าดำเนินการเรียบร้อยแล้วขณะนี้ระดับสัญญาณอ่อนลงและบางจุดไม่สามารถใช้การได้ 2. วิธีลากสายเคเบิลออกไป และ 3. ใช้ตัวขยายสัญญาณ ซึ่งเหมือนจานดาวเทียมโทรทัศน์ โดยแต่ละบ้าน สามารถติดตั้งไว้ภายในแล้วเปิดหน้าต่าง เปิดประตู หันจานออกไปเพื่อส่งสัญญาณขยายไปยังที่ที่ต้องการ ลักษณะเดียวกันกับแผงสัญญาณของบริษัทใหญ่

“นิยมใช้ตัวขยายสัญญาณกัน เพราะเอื้อประโยชน์มากที่สุด แค่ติดตั้งภายในบ้าน พอเจ้าหน้าที่มาตรวจ เขาก็หันจานกลับและบอกว่าไม่ได้ส่ง เมื่อเจ้าหน้าที่กลับไปก็หันจานส่งไปที่เดิม เราพบวิธีการแบบนี้มากตามบ้านเรือนที่อยู่แนวชายแดน  หรือแนวตามลำน้ำโขง วิธีการแบบนี้ทำให้ตรวจสอบหลักฐานได้ยากเพราะไม่มีสายลากไป เพียงใช้จานขนาดเล็กแค่เมตรกว่าๆ ซึ่งง่ายที่สุด ใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตบ้านที่จะเพิ่มเมกให้แรงๆ แล้วส่งไป”พ.อ.ณฑี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแก้ปัญหาลักลอบในรูปแบบที่ 3 นี้อย่างไร บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ต้องไปเข้าตรวจ หากเจอก็ถ่ายรูปและดำเนินการทันทีแม้เป็นเรื่องยาก ตอนนี้กลายเป็นเรื่องปกติของผู้กระทำความผิดซึ่งต้องหลบเลี่ยงอยู่ตลอด แตกต่างจากแผงสัญญาณของโทรศัพท์ใหญ่ที่มองเห็นทำให้ทำได้ยาก สาเหตุที่บริษัทใหญ่ทำก็เพราะได้รายได้  แต่สำหรับจานขยายสัญญาณนั้นเล็กจึงทำให้ตรวจสอบยาก

“เขาลักลอบส่งสัญญาณไปได้ไกลเพราะมีตัวขยายไปอีกเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่ายิงสัญญาณข้ามไป 50-60 กม. ไม่ใช่แบบนั้น แต่จานขยายสัญญาณไปได้  4 กม. แล้วก็มีจานฝั่งโน้นขยายอีก ส่งต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งบริษัทเจ้ายของสัญญาก็ไม่รู้ ตรวจไม่ได้ ถ้าเราจะแก้ปัญหานี้ ต้องให้คนในชุมชนช่วยกัน เพราะผู้ใหญ่บ้านต้องทราบอยู่แล้ว กระทรวงมหาดไทยต้องช่วย อสม.ประจำหมู่บ้านต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา”พ.อ.ณฑี กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการลากสายเคเบิลจากหมู่บ้านสันติสุขไปฝั่งเพื่อนบ้านมีวัตถุประสงค์อะไร ประธาน TBC ฝ่ายไทย กล่าวว่าเป็นการเอื้ออำนวยฐานปฏิบัติการของชนกลุ่มน้อยเพื่อนำไปใช้ส่งข่าว วิทยุและภาพต่างๆและรายงานข่าวสารให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ซึ่งสายเคเบิลที่วางแม้มีความยาวนับ 10 กม. แต่จะมีตัวขยายสัญญาณเป็นระยะๆเหมือนกล่องปลั๊กไฟซึ่งเราได้ขุดเจอ

ด้านนายสุธีระ พึ่งธรรม ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กสทช.กล่าวว่า บริษัทต่างชาติที่เป็นบริษัทเพื่อนบ้านในภูมิภาค แต่ไม่ใช่บริษัทในประเทศเมียนมา ได้มาเช่าอินเตอร์เนตลีสไลน์(สายอินเทอร์เน็ตแบบเช่าใช้) ดรอปไว้ และแอบลักลอบลากสายกว่า 10.5 กม.ข้ามแดนไปยังประเทศเมียนมา ดังที่ปรากฏเป็นข่าว โดยบริษัทต่างชาติได้ขอให้โอเปอร์เรเตอร์มาวางไว้  2 จุด โดยจุดที่หน้าแปลงสวนเกษตร กับอีกจุดหนึ่งที่ท่าสุเทพ

 

“กสทช.ได้เรียกโอเปอร์เรเตอร์บริษัทผู้ให้บริการ 2 รายมาสอบแล้ว ว่าเอาไปลงตรงนั้นได้อย่างไร ทางบริษัทได้ไปดูหรือไม่ว่าลูกค้าบริษัทต่างชาตินำไปใช้อะไร เขาบอกว่าเขาไม่ได้ไปดูเลย เขามีหน้าที่แค่ว่าผู้ซื้อบอกดรอปตรงนี้ก็ไปดรอป ผมบอกว่าไม่ได้ละ ผมขอใช้คำว่า สักแต่ว่าขายของ ขายของแบบเอาไปดรอปไว้ตรงแนวชายแดน คุณก็รู้อยู่ว่าวันนี้มันมีประเด็นเรื่องนี้อยู่ค่อนข้างรุนแรง คุณไม่รู้หรือว่าเป็นความเสี่ยง จากการตรงสอบพบว่าบริษัทต่างชาติที่ขอให้ติดตั้งไม่มีบริษัทอยู่ที่เมืองไทย ถ้ามีออฟฟิศอยู่จุดที่ดรอปเป็นสาขา อันนี้เราไม่ว่า แต่นี่มาดรอปหน้าแปลงสวนป้าคนนั้น แล้วออฟฟิศเขาอยู่ไหน บริษัทก็ไม่ได้สนใจ ผมจึงขอดูการดรอปสายทั้งหมดเลย เพราะไม่ไว้ใจโอเปอร์เรเตอร์แล้ว มันทำให้สถิติการร้องเรียนภัยไซเบอร์ไม่ลดลง มันยังสายอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเราตามอยู่” ผ.อ.สำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมกล่าว

นายสุธีระกล่าววว่า ทาง กสทช. ได้มีหนังสือตักเตือน โดยทางกฎหมายปกครอง ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ของ กสทช. เราต้องตักเตือน2 บริษัทนี้ให้แก้ไขก่อนว่าห้ามมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอีก ถ้ามีกรณีแบบนี้อีกจะมีโทษปรับตามกฎหมายปกครอง เป็นมาตรการปกครอง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่หันจานขยายสัญญาณออกนอกประเทศแต่เมื่อเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบก็หันกลับมาในประเทศ ทาง กสทช.แก้ไขปัญหาอย่างไร นายสุธีระ กล่าวว่า กสทช. จะมีการส่งรถตรวจสอบสัญญาณไปในพื้นที่ทุกสัปดาห์ หากมีสัญญาณเพิ่มขึ้นมาจากจุดที่เราเคยวัดระดับไว้ ก็จะค้นหาทันทีว่าเพราะอะไร

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักข่าวชายขอบ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ช่วย 111 คน กลับไทย หลังถูกหลอกทำงานในรัฐฉานตอนเหนือ ประเทศเมียนมา

 

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 66 พ.อ.ณฑี ทิมเสน ผบ.ฉก.ทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมือง และประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) ฝ่ายไทย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เข้ารับคนไทยจำนวน 111 คน ซึ่งไปทำงานหรือถูกหลอกให้ไปทำงานในรัฐฉานตอนเหนือ ประเทศเมียนมา กลับคืนสู่ประเทศไทยโดยมี พ.อ.ตู่ล่า ส่อ วิน โซ ผบ.ยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา นำทั้งหมดมาส่งมอบให้ฝ่ายฝ่ายตรงจุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยทั้งหมดถูกส่งมาจากเมืองแผนโดยเจ้าหน้าที่ว้า และ จ.เชียงตุง โดยเจ้าหน้าที่เมียนมา

 
ทั้งหมดแบ่งเป็นชายจำนวน 74 คน และหญิงจำนวน 37 คน ทั้งนี้พบว่าทั้งหมดเป็นผู้ที่มีรอยืนยันหมายจับคดีในฝั่งไทยจำนวน 10 คน เป็นชาย 8 คน และหญิง 2 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปส่ง สภ.แม่สาย ส่วนที่เหลืออีก 101 คนนั้น หลังทำการตรวจสุขภาพ และหลักฐานต่างๆ แล้ว ได้พาไปพักที่กองร้อยอาสารักษาดินแดน (อส.) จ.เชียงราย และมูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ในเขต อ.เมืองเชียงราย ในกลุ่มผู้ได้รับการช่วยเหลือนี้พบว่ายังมีหญิงชาวเวียดนามอยู่ด้วย 1 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่เมียนมาได้ให้การช่วยเหลือเพื่อให้กลับประเทศเวียดนามได้อย่างปลอดภัยแล้ว

 
พ.อ.ตู่ล่า ส่อ วิน โซ ผบ.ยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก กล่าวว่ากองทัพเมียนมายินดีที่จะให้การช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกในการส่งตัวคนไทยที่ได้รับความเดือดร้อนให้กลับประเทศไทย เพราะมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพของทั้ง 2 ประเทศ


ด้าน พ.อ.ณฑี กล่าวว่าการช่วยเหลืองของทางการเมียนมาในการพาคนไทยกลับประเทศถือเป็นครั้งที่ 4 แล้ว และมีผู้ได้รับการส่งตัวกลับจำนวน 179 คน ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาถือว่าเกิดจากความสัมพันธ์ของกองทัพทั้งของไทยและเมียนมาที่มีความแน่นแฟ้น และจากนี้จะให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกันแบบนี้ตลอดไป

 
รายงานสำหรับชาวไทยทั้ง 111 คนพบว่ามีอายุตั้งแต่ 16-34 ปีโดยผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดเป็นหญิงสาวชาว จ.เชียงใหม่ ทั้งหมดทำงานหรือถูกหลอกให้ไปทำงานอยู่ในที่เมืองแผน เขตปกครองพิเศษที่ 2 (สหรัฐว้า) ประเทศเมียนมาซึ่งติดกับชายแดนประเทศจีน หลายคนถูกบังคับให้ทำงานหลอกให้คนไปลงทุนออนไลน์หลายเดือน หากฝ่าฝืนก็จะถูกทำร้ายร่างกาย กระทั่งทางการจีนมีมาตรการปราบปรามขบวนการหลอกลวงหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ประกอบกับมีทีมงานภาคประชาสังคมช่วยเหลือการค้ามนุษย์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน องค์กรเอกชน (NGO) ฯลฯ ช่วยประสานงานกับทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ จนเมื่อทางการจีนส่งกำลังตำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่ว้าเข้าปราบปรามในเขตเมืองแผนอย่างหนักตั้งแต่เดือน ต.ค. – พ.ย.2566 ทำให้ทั้งหมดได้รับการช่วยเหลือออกมาดังกล่าว โดยสถานการณ์แตกต่างจากเมืองเล่าก์ก่ายในเขตปกครองตนเองโกกั้งซึ่งอยู่ตอนเหนือขึ้นไปอีกเพราะในเขตโกกั้งมีกองกำลังพันธมิตรนำโดยกองทัพโกกั้ง (MNDAA) บุกเข้าโจมตีเขตนี้ซึ่งอยู่ในการปกครองของกลุ่มโกกั้งด้วยกันจนทำให้มีคนไทยที่ทำงานอยู่หนีภัยสงครามออกมาเป็นจำนวนมากดังกล่าว
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : รัชพล งามกระบวน สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

ช่วย 41 คนไทยหนีภัยสงครามเมียนมา นำคัดกรองในค่ายทหาร

 

18 พฤศจิกายน 2566 ที่จุดผ่านแดนถาวรไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 อ.แม่สาย จ.เชียงราย พล.ต.ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมืองพ.อ.ณฑี ทิมเสน ผบ.ฉก.ทัพเจ้าตาก และประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย–เมียนมา (TBC) ฝ่ายไทย ได้นำเจ้าหน้าที่ทหาร ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ารับตัวคนไทยจำนวน 41 คน เป็นชาย 22 คนและหญิง 19 คน ส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาวอายุตั้งแต่ 20-40 ปี 

 

ที่หนีภัยสงครามระหว่างกองทัพโกกั้ง (MNDAA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพยะไข่ (AA) กับทหารรัฐบาลเมียนมาในเมืองเล้าไก่ เขตปกครองตนเองโกกั้ง รัฐฉานตอนเหนือ โดยทั้งหมดได้รับการช่วยเหลือจากทหารว้า และทหารกองทัพภาคสามเหลี่ยม ประเทศเมียนมา และนำส่งตัวมาถึง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ติดกับ อ.แม่สาย ในวันเดียวกันนี้

 

โดยทางไทยมีการจัดรถบัสจากมณฑลทหารบกที่ 34 และมณฑลทหารบกที่ 37 จำนวน 2 คันไปรอรับ ซึ่งหลังจากทางการเมียนมาได้นำทั้งหมดเดินทางไปถึงบริเวณด่านพรมแดนมีการลงนามรับบุคคลระหว่างด่าน ตม.เชียงราย และด่าน ตม.ท่าขี้เหล็ก กรณีรับบุคคลที่เข้าเมืองเมียนมาอย่างผืดกฎหมายภายใต้การยินยอมของทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อนำกลับประเทศไทย ก่อนที่จะพาทั้งหมดขึ้นรถบัสแยกชายหญิงโดยมีรายงานว่าทั้งหมดมีผู้ที่หลบหนีหมายจับจากประเทศไทยจำนวน 3-4 คน โดยเป็นหมายจับจากหลายท้องที่ทั้งในข้อหายาเสพติด ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และข้อหาฉ้อโกงทรัพย์และนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำตัวทั้งหมดนั่งรถบัสไปยังค่ายเม็งรายมหาราช อ.เมืองเชียงราย ก่อนจากนั้นจึงคัดกรองโรคและจึงค่อยคัดแยกบุคคลก่อนดำเนินการตามขั้นตอนของ ตม.เชียงราย
ด้านนายพุฒพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย 


ได้ตั้งศูนย์บูรณาการคัดแยกเพื่อช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากปัญหาการค้ามนุษย์ จ.เชียงราย ภายในกองรอยอาสารักษาดินแดน จ.เชียงราย ที่ 1 อ.เมืองเชียงราย รอบรับคนไทยที่หนีภัยสงครามมาจากประเทศเมียนมาดังกล่าว โดยมีทีมสหวิชาชีพและผู้ที่เกี่ยวข้องทำการคัดแยกผู้ที่เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้ในป้จจุบันยังมีคนไทยที่ยังไม่ได้เดินทางกลับตกค้างในรัฐฉานโดยเฉพาะในเขตปกครองตนเองโกกั้งและใกล้เคียงอีกอย่างน้อย 240 คน ซึ่งทาง TBC ฝ่ายไทยจะประสานความร่วมมือกับฝ่ายเมียนมาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสู่ภาวะปกติต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News