Categories
SOCIETY & POLITICS

ก้าวไกลยก 9 ข้อ สู้คดียุบพรรค ก่อนศาลอ่านคำวินิจฉัย 7 ส.ค. 67

 

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 เวลา 16.00 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงเนื้อหา และสรุปข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดี ที่พรรคก้าวไกลส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรควันที่ 7 ส.ค.นี้

โดยนายชัยธวัชได้แถลงย้ำถึง 9 ข้อต่อสู้ ทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดียุบพรรคว่า พรรคก้าวไกลยืนยัน ว่า

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย 2.การยื่นคำร้องนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 3.คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ไม่มีผลผูกพันในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ 4.นอกจากการเสนอนโยบายแก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว การกระทำอื่นตามคำร้องมิได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล 5.การกระทำตามที่ กกต.กล่าวหา มิได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 6.ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล 7.แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 8.การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคต้องพอสมควรแก่เหตุ และ 9.การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องเพิกถอนเฉพาะของกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

นายชัยธวัชขยายความในการแถลงว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่ามีอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น เราขอยืนยันว่า กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ไปเพิ่มขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นี่จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งย่อมไม่สามารถที่จะนำคำวินิจฉัยคดี 3/2567 หรือคดียุบพรรคอนาคตใหม่มาเป็นบรรทัดฐาน หรือเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องในคดีนี้ได้

นายชัยธวัชย้ำถึงการยื่นคำร้องคดีนี้ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่ามิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการไม่รับฟังคู่ความคดีทุกฝ่าย ถือไม่เป็นผล ขอยืนยันว่า เมื่อพิจารณาในหลักของความเป็นที่สุดของคำพิพากษา ทั้งในแง่มูลเหตุและข้อเท็จจริง ย่อมชัดเจนว่า ไม่อาจการรับฟังข้อเท็จจริงในคดีที่ 3/2567 มาผูกพันในคดีนี้ได้

ส่วนข้ออ้างที่ กกต.กล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง หรือมีการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองนั้น ถือเป็นข้อกล่าวหาใหม่ที่ศาลไม่เคยวินิจฉัยมาก่อน การนำผลคำวินิจฉัยในคดีก่อนมาปิดปากวินิจฉัยคดีนี้ จะต้องมีมาตรฐานที่เข้มข้นกว่า หรือระดับเดียวกัน ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานพิสูจน์จนสิ้นสงสัย

“ดังนั้น พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า กกต.ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567 เป็นข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย ไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้เป็นอย่างอื่น และมีผลผูกพันให้ตนเองต้องเสนอต่อศาล โดยที่ไม่จำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมทั้งไม่จำเป็นต้องรับฟังผู้ถูกร้องอีกด้วย”

สำหรับการกระทำที่นอกเหนือจากการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งหมด ไม่ได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล เนื่องจากไม่ได้เป็นมติของคณะกรรมการบริหารพรรค ทั้งกรณีที่มี ส.ส.เป็นนายประกันของผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 หรือการแสดงออกส่วนตัวอื่นๆ ขอยืนยันว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นผู้สั่งการ หรือบงการแต่อย่างใด นี่จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างที่ศาลไม่สามารถรับฟังได้ และไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่เป็นการเสนอโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ ในอดีตก็มีการเสนอแก้อยู่หลายครั้งแต่ไม่เคยนำไปสู่การล้มลางการปกครองแต่อย่างใด

นายชัยธวัชยังยกตัวอย่างกรณีที่ ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาในงานวิจัยที่ได้เสนอให้สำนักเลขาธิการ เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจพิจารณา ให้มีการเริ่มดำเนินคดีอาญาผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมาตรา 112 แทนพระมหากษัตริย์ โดยมีหลักการเดียวกันกับร่างแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเสนอ และ “ตนไม่เชื่อว่า นายอุดมจะมีความคิดล้มล้างการปกครอง”

นายชัยธวัชชี้ว่า นี่จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่อพิจารณาตามสภาววิสัยตามความเชื่อของวิญญูชนทั่วไป หรือตามความเห็นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมืองโดยตรงอย่าง กกต.นั้นการกระทำของผู้ถูกร้องในคดีนี้ หรือพรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองแต่อย่างใด

นอกจากนี้ หากพิจารณาคำวินิจฉัย 3/2567 โดยละเอียด เป็นเพียงการสั่งให้เลิกกระทำเท่านั้น มิได้ให้พรรคก้าวไกลยกเลิกนโยบายเสนอแก้ไขมาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียงแต่อย่างใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้กระทำ เนื่องจากหากศาลเห็นเป็นเช่นนั้นก็ควรที่จะมีการสั่งห้ามไม่ให้มีการนำเสนอนโยบายนี้ด้วยในอนาคต

นายชัยธวัชกล่าวว่า การยุบพรรคควรเกิดขึ้นเมื่อไม่มีมาตรการอื่นที่จะยับยั้งการกระทำที่รุนแรงได้อย่างทันท่วงทีแล้วเท่านั้น มิเช่นนั้นจะเป็นการทำลายหลักการระบอบประชาธิปไตย ยืนยันว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่ใช่การกระทำที่รุนแรงถึงขนาดที่จะต้องยุบพรรค ยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีสถานะยิ่งกว่าวิญญูชน ซึ่งต่างเคยเห็นมาก่อนว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่เป็นการกระทำที่ขัดกับมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง

สุดท้ายแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจในการกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคแต่อย่างใด ซึ่งหากจะมีการจำกัดสิทธิ ก็ต้องเป็นการกระทำตามกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น โดยเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญประกอบกับหลักที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวางหลักเอาไว้ จึงไปจำกัดสิทธิและตัดสิทธิไม่ได้ เพราะต้องกระทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น และหากศาลเห็นว่ามีอำนาจกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง แต่การกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ต้องอยู่บนหลักความพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งไม่ควรเกิน 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปี ตามที่ กกต.ร้องขอ

พรรคก้าวไกลมิได้รู้หรือควรรู้ได้ว่า การกระทำในคดีนี้เป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เนื่องจากก่อนหน้านี้ กกต.เคยวินิจฉัยยกคำร้องข้อกล่าวหาในลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กกต.เองในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังเคยให้ความเห็นว่า การกระทำนี้ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งย่อมอยู่ในวิสัยที่สามารถเชื่อได้ว่า การกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นตามคำร้องในคดีนี้ ก็ย่อมชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน และการเพิกถอนนั้น ต้องเพิกถอนเฉพาะกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

ทั้งนี้ ระหว่างการแถลงข่าวของนายชัยธวัชนั้น นายพิธาได้ยืนติดตามฟังการแถลงอยู่ข้างเวทีแถลง พร้อมกับทีมกฎหมายของพรรคก้าวไกลในการต่อสู้คดี

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
TOP STORIES

ผลโพลนิด้า คะแนนนิยมการเมือง “พิธา-พรรคก้าวไกล” อันดับ 1

 

มื่อวันที่ 30 มิถุนายน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2/2567” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-18 มิถุนายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น 97%

 

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า 

  • อันดับ 1 ร้อยละ 45.50 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ ชื่นชอบอุดมการณ์ทางการเมือง มีความรู้ และความสามารถรอบด้าน 
  • อันดับ 2 ร้อยละ 20.55 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 
  • อันดับ 3 ร้อยละ 12.85 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) เพราะ มีความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ และมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศ 
  • อันดับ 4 ร้อยละ 6.85 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะ มีภาพลักษณ์ที่ดี มีความน่าเชื่อถือ การทำงานมีความซื่อสัตย์ สุจริต 
  • อันดับ 5 ร้อยละ 4.85 ระบุว่าเป็น นางสาวแพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ มีวิสัยทัศน์ มีความเป็นผู้นำ และมีความรู้ ความเข้าใจปัญหาของประเทศ 
  • อันดับ 6 ร้อยละ 3.40 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารที่โดดเด่น และมีความน่าเชื่อถือ
  • อันดับ 7 ร้อยละ 2.05 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ มีประสบการณ์ทำงานด้านการบริหาร เข้าถึงประชาชน และชื่นชอบนโยบายที่ผ่านมา 

ร้อยละ 3.40 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (พรรคประชาธิปัตย์) นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายชัยธวัช ตุลาธน (พรรคก้าวไกล) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) พลตำรวจเอกทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ) นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) และร้อยละ 0.55 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า 

อันดับ 1 ร้อยละ 49.20 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล 

อันดับ 2 ร้อยละ 16.85 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย 

อันดับ 3 ร้อยละ 15.00 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ 

อันดับ 4 ร้อยละ 7.55 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ 

อันดับ 5 ร้อยละ 3.75 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ 

อันดับ 6 ร้อยละ 2.20 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย 

อันดับ 7 ร้อยละ 1.75 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ 

อันดับ 8 ร้อยละ 1.55 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย 

ร้อยละ 1.05 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคไทยภักดี 

และร้อยละ 1.10 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

นิด้า เผยผลรวมคนสนับสนุน ‘พิธา’ นั่งนายกฯ ‘ก้าวไกล’ แรงความนิยมเพิ่ม

 
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/2567” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
 

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 1/2567” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปกระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

 

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า 
  • อันดับ 1 ร้อยละ 42.75 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ มีความกล้าหาญ ตรงไปตรงมา บุคลิกเป็นผู้นำ และเป็นคนรุ่นใหม่ 
  • อันดับ 2 ร้อยละ 20.05 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ 
  • อันดับ 3 ร้อยละ 17.75 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) เพราะ เป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ 
  • อันดับ 4 ร้อยละ 6.00 ระบุว่าเป็น นางสาวแพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ มีทัศนคติที่ดี และมีความเป็นผู้นำ 
  • อันดับ 5 ร้อยละ 3.55 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะ มีวิสัยทัศน์ดี ซื่อสัตย์ มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์ในการทำงาน 
  • อันดับ 6 ร้อยละ 2.90 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ ทำงานด้วยความโปร่งใส และมีประสบการณ์ในการทำงาน 
  • อันดับ 7 ร้อยละ 1.45 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ มีความมุ่งมั่นในการทำงาน ซื่อสัตย์ และมีความเด็ดขาดในการตัดสินใจ 
  • อันดับ 8 ร้อยละ 1.05 ระบุว่าเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) เพราะ มีประสบการณ์ในการทำงาน และมีผลงานทางการเมือง ร้อยละ 2.45 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายชัยธวัช ตุลาธน (พรรคก้าวไกล) นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (พรรคประชาธิปัตย์) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายกรณ์ จาติกวณิช นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) และ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ) และร้อยละ 2.05 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

               ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 48.45 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 2 ร้อยละ 22.10 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 12.75 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 5.10 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 5 ร้อยละ 3.50 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 6 ร้อยละ 2.30 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ อันดับ 7 ร้อยละ 1.70 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 8 ร้อยละ 1.30 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย และร้อยละ 1.40 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคท้องถิ่นไทย และไม่ตอบ/ไม่สนใจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน

 

               เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.60 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.95 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.45 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.75 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.70 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.10 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.90 เป็นเพศหญิง

 

               ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.80 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.95 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.65 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.70 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 95.50 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.55 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.95 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ

 

               ตัวอย่าง ร้อยละ 37.35 สถานภาพโสด ร้อยละ 60.35 สมรส และร้อยละ 2.30 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 26.65 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 36.50 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.00 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.20 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.65 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

 

               ตัวอย่าง ร้อยละ 8.30 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.20 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.60 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.95 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.60 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.80 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 5.55 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

 

               ตัวอย่าง ร้อยละ 23.45 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.75 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 26.75 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 8.80 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.45 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.35 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.45 ไม่ระบุรายได้

 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

นิด้าเผย โพลส่วนใหญ่ยังหนุน”พิธา” เป็นนายกฯ ส่วนคะแนนพรรค ‘ก้าวไกล’ ความนิยมนำโด่ง

 
 
24 ธันวาคม 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาสปี 2566” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-18 ธันวาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

 

                   จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 39.40 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ มีความเป็นผู้นำ เป็นคนรุ่นใหม่ วิสัยทัศน์ดี บุคลิกดี และเข้าถึงประชาชน อันดับ 2 ร้อยละ 22.35 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) เพราะ มีความรู้ความสามารถ ตรงไปตรงมา และชื่นชอบพรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 18.60 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 5.75 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบพรรคและนโยบายพรรคเพื่อไทย และชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร อันดับ 5 ร้อยละ 2.40 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะ มีความรู้ความสามารถ มีความน่าเชื่อถือ ตรงไปตรงมา และมีความซื่อสัตย์สุจริต อันดับ 6 ร้อยละ 1.70 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ตรงไปตรงมา และชื่นชอบผลงานที่ผ่านมา อันดับ 7 ร้อยละ 1.65 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ มีประสบการณ์ด้านการบริหารประเทศ และต้องการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาบริหารประเทศ ร้อยละ 3.90 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) นายชัยธวัช ตุลาธน (พรรคก้าวไกล) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์) นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (พรรคประชาธิปัตย์) นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนากล้า) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ) นายเฉลิม อยู่บำรุง (พรรคเพื่อไทย) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์) และ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ และร้อยละ 4.25 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

                  ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 44.05 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 2 ร้อยละ 24.05 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 16.10 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 3.60 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 3.20 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 6 ร้อยละ 1.75 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 7 ร้อยละ 1.45 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 1.85 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคไทยสร้างไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อไทยรวมพลัง พรรคประชาชาติ พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคเสรีรวมไทย และร้อยละ 3.95 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

                 เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.60 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.95 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.45 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.75 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.70 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.10 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.90 เป็นเพศหญิง

 

                 ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.80 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.95 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.65 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.70 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.10 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.20 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.70 นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น ๆ

 

                 ตัวอย่าง ร้อยละ 33.25 สถานภาพโสด ร้อยละ 64.80 สมรส และร้อยละ 1.95 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 25.15 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 36.25 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.45 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.05 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.10 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

 

                ตัวอย่าง ร้อยละ 9.10 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.55 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.45 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.85 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.85 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.55 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 4.65 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

 

                ตัวอย่าง ร้อยละ 21.40 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 21.05 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 29.40 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.95 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.65 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.85 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.70 ไม่ระบุรายได้

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

ไอทีวี ชี้แจงแล้วคำพูดที่ประชุมผู้ถือหุ้น ระบุว่า “เอกสารที่ใช้ภายใน นำไปใช้อ้างอิงไม่ได้”

 
เมื่อวันที่ 15 มิถุยน 2566 บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เผยแพร่หนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้นผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในสื่อเกี่ยวกับการบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หลังจากที่ นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว 3 มิติ เปิดเผยคลิปข่าวยาวประมาณ 3 นาที ที่ถูกนำมาใช้อ้างในการร้องเรียนนายพิธิ ลิ้มเจริญรัตน์ และเป็นส่วนสำคัญที่ข่าว 3 มิติ ได้รับการติดต่อจากผู้ถือหุ้นคนหนึ่งที่ไม่เปิดเผยตัว 

ทำให้ทางนักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ อย่าง สฤณี อาชวานันทกุล  ออกมาแสดงความเห็นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ผ่านทางเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/SarineeA ว่าการสัมภาษณ์สื่อสองเจ้า คือ คุณฐปนีย์ The Reporters และ PPTV เกี่ยวกับ “พิรุธ” หรือจุดผิดปกติในเอกสารทางการเงินของไอทีวี สรุปสั้นๆ ตามนี้นะคะ

Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล
1. งบการเงิน (รวมหมายเหตุประกอบงบ) ของทั้ง อินทัช ไอทีวี ประจำปี 2565 รวมถึงการตอบคำถามในที่ประชุมผู้ถิอหุ้นไอทีวี 26 เม.ย. 2565 ทั้งหมดให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ไอทีวีปัจจุบัน “ไม่ได้ทำสื่อ(หรือแม้แต่ธุรกิจอื่น)ใดๆ” ไม่มีสำนักงาน ไม่มีผู้บริหาร ไม่น่ามีแม้แต่พนักงานประจำด้วยซ้ำ รายได้ทั้งหมดมาจากผลตอบแทนจากการลงทุน รายจ่ายเกือบทั้งหมดคือการจ้างบริษัทแม่คืออินทัชบริหารจัดการงานต่างๆ ให้ รวมถึงใช้พื้นที่ (ระบุเป็นตำแหน่งที่ตั้งกิจการ) ด้วย
 
2. ดังนั้นการระบุว่า “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” ในแบบ ส.บช. 3 หรือ “ใบปะหน้า” ที่นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 จึงน่าสงสัย เพราะข้อมูลในเอกสารการเงิน 2565 ทั้งหมดไม่มีตรงไหนบ่งชี้เลยว่าไอทีวีทำ “สื่อโฆษณา” (แถมประธานกรรมการไอทีวีในการตอบคำถามผู้ถือหุ้น วันที่ 26 เม.ย. ก็พูดชัดว่า “ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ” ตอนนี้สถานะคือ รอคดีความสิ้นสุดแล้วค่อยคิดต่อ)
 
3. เอกสารชุดเดียวที่ดูเหมือนอธิบายว่าไอทีวีทำ “สื่อโฆษณา” ก็คือ ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 (ม.ค. – มี.ค. 66) ของไอทีวี (เผยแพร่บนเว็บไซต์อินทัช กูเกิลด้วยคำว่า “งบการเงิน ไตรมาส 1 2566 ไอทีวี) ซึ่งทุกหน้าเขียนว่า DRAFT FOR INTERNAL USE — แปลว่า ยังไม่ใช่งบการเงินทางการ ในหน้าสุดท้ายของร่างเอกสารชิ้นนี้ เขียนว่า
“10. เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน
“เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา
 
“จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566”
4. น่าสงสัยว่า บริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจอะไรแล้ว ไม่มีสำนักงาน พนักงาน อุปกรณ์ ฯลฯ ของตัวเอง จู่ๆ ทำไมจะลุกขั้นมา “นำเสนอการลงสื่อ” ให้กับบริษัทในเครือเดียวกัน จะเอาคนจากไหนมาให้บริการนี้? แล้วทำไมบริษัทในกลุ่มเดียวกัน (อินทัช) ซึ่งก็ลงสื่อซื้อสื่อต่างๆ เองได้มากมายอยู่แล้ว ถึงจะอยากมา “ใช้บริการ”(?) นี้ของไอทีวี ?
 
5. ธุรกรรมนี้กับบริษัทในกลุ่ม (สมมุติว่าทำจริง) แต่ไม่ได้เสนอขายให้กับคนทั่วไป ไม่มีลูกค้าจากข้างนอก จะถือว่าเป็นการทำ “ธุรกิจสื่อโฆษณา” ได้หรือไม่ ?
ฝากช่วยกันตั้งคำถามต่อนะคะ
ร่างงบการเงิน (DRAFT FOR INTERNAL USE) ไตรมาส 1 ปี 2566 ของไอทีวี — https://www.intouchcompany.com/…/1Q66%20Draft%20ITV.pdf
 

และต่อมายังได้มีการโพสต์ข้อความว่าแถมอีกประเด็นนะคะ เรื่องความผิดปกติของเอกสาร ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ของไอทีวี

1. ไอทีวีเป็นบริษัทมหาชนที่ถูกถอดออกจากตลาดหุ้นนานแล้ว ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดทำและนำส่งงบการเงินรายไตรมาส
2. ปกติงบไตรมาสถ้านำส่งทางการ จะผ่านการสอบทานโดยผู้สอบบัญชี (ละเอียดน้อยกว่าการตรวจสอบหรือ audit งบประจำปี)
3. การจัดทำร่างงบไตรมาสที่ยังไม่ผ่านการสอบทานไม่ใช่เรื่องผิดปกติ การจัดทำร่างระดับ draft for internal use (ใช้เพื่อการภายในเท่านั้น) ก็ไม่ผิดปกติ เพราะร่างงบไตรมาสมีประโยชน์ในการจัดการ — สิ่งที่ผิดปกติจริงๆ ในกรณีของไอทีวี คือ มีการนำร่างงบไตรมาส draft for internal use ใช้เพื่อการภายในเท่านั้น ขึ้นเผยแพร่บนเว็บบริษัทอินทัชที่คนทั่วไปสามารถกูเกิลและเข้าถึงได้ และเอกสารภายในนี้ถูกนำไปประกอบการร้องเรียนต่อ กกต.
4. หัวข้อ 10. ท้ายร่างงบไตรมาส 1 ปี 66 ชื่อหัวข้อก็บอกอยู่แล้วว่า “เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน” แปลว่า ไม่ต้องไปคาดหวังความสอดคล้องระหว่างรายการนี้กับข้อมูลด้านการเงินใดๆ ในงบตัวนี้ (หรือแม้แต่งบไตรมาสเดียวกันของบริษัทแม่คืออินทัช) — แต่สังเกตความเร่งรีบจากกั้นหลังที่ไม่ตรงกับข้ออื่นๆ
5. คนที่ทำบัญชีให้ไอทีวีตลอดมาหลายปีคืออินทัช ดังนั้นอินทัชคือผู้ที่ควรชี้แจงว่ารายการ “นำเสนอการลงสื่อใหักับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน” ในข้อ 10. คือรายการอะไร ไอทีวีมีพนักงานทำหรือ? แล้วทำไมข้อความในแบบนำส่งงบปี 2565 (ส.บช3) ถึงได้ระบุ “สื่อโฆษณา” ทั้งที่รายการที่เกี่ยวข้องนี้เพิ่งมาโผล่ใน “ร่าง” งบไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยในวันประชุม 26 เม.ย. ยังไม่รู้เรื่องนี้เลย ?
ประธานคิมห์งานเข้าอีกหลายเรื่องเลยค่ะ เอาใจช่วย
 
 
วันที่ 15 มิถุนายน 2566 ทาง ITV ออกหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น เผยบันทึกการประชุม ไม่ต้องการสื่อสารว่า “ยังประกอบกิจการสื่อ” ชี้แจ้งว่า
 

บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เผยแพร่หนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้นผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในสื่อเกี่ยวกับการบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 (“รายงานการประชุม”) แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)  (“บริษัท”) ปี 2565 และงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ของบริษัท บริษัทขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1. ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 (“การประชุมฯ”) บริษัทได้จัดประชุม เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่าน โดยในการประชุมดังกล่าวมีทั้งหมด 9 วาระ วาระที่ 1 ถึงวาระที่ 8 เป็นวาระรายงาน/อนุมัติและพิจารณาการดำเนินการทางธุรกิจตามการค้าปกติของบริษัท ส่วนวาระที่ 9 เป็นวาระอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้มีผู้ถือหุ้นเสนอวาระเพื่อพิจารณาและอนุมัติเพิ่มเติม บริษัทจึงเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถามในเรื่องอื่น ๆ 

ในการประชุมดังกล่าว มีคำถามที่ซ้ำซ้อนจากผู้ถือหุ้นหรือเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัท ดังนั้น การจัดทำบันทึกคำถามและคำตอบในรายงานการประชุม เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัทเท่านั้น เพื่อให้มีความกระชับ และชัดเจน โดยมิได้จดบันทึกการประชุมเป็นคำต่อคำ

ทั้งนี้ การบันทึกรายงานการประชุมที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ เป็นการสรุปคำตอบจากคำถามหลายข้อที่ผู้ถือหุ้นส่งเข้ามา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเรื่องสิทธิตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์นั้น บริษัทได้บันทึกรายงานการประชุมไว้แล้วในวาระ 9 หน้า 14 ว่า

“ผลคดีเป็นจุดสำคัญที่สุด หากผลคดียังไม่ออก เป็นไปได้ยากมากที่บริษัทจะดำเนินการใด ๆ ในขณะนี้…”

สำหรับในส่วนที่มีการบันทึกรายงานการประชุมว่า “ปัจจุบัน บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทและมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” นั้น

บริษัทไม่ได้ต้องการจะสื่อสารว่า บริษัทยังประกอบกิจการสื่ออยู่ แต่หมายถึงบริษัทยังคงดำเนินการอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ที่บริษัทได้จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมิได้มีการเลิกกิจการแต่อย่างใด

2.ในส่วนของแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของบริษัทประจำปี 2565 ที่บริษัทยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.นี้บริษัทขอเรียนว่า รายได้จากการประกอบธุรกิจของบริษัท ได้แสดงอยู่ในงบการเงินของบริษัท ประจำปี 2565 ซึ่งได้มีการตรวจสอบ และลงนามรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและได้ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในงบการเงินดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า รายได้ของบริษัทมาจากผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับเท่านั้น ซึ่งงบการเงินฉบับดังกล่าว บริษัทได้ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.นี้ 

3.ในส่วนของงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ของบริษัทที่มีการโพสต์ในเว็บไซต์ www.itv.co.th ตามที่มีข่าวอยู่ในขณะนี้นั้น

 

 

บริษัทขอเรียนให้ทราบว่า งบฯ ดังกล่าวเป็นเพียงร่างงบการเงินที่ใช้ภายในบริษัท และยังไม่ได้มีการสอบทานหรือตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชี จึงยังไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานภายนอกบริษัทได้ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใด ๆ

บริษัทขอเรียนย้ำว่า การดำเนินการประชุม การจัดทำรายงานการประชุม การนำส่งแบบนำส่งงบการเงิน งบการเงิน และการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัท เป็นการดำเนินการทางธุรกิจตามปกติและเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

หลังจากได้มีหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น ทางสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ก็ได้แสดงความเห็นว่าจดหมายชี้แจงจากไอทีวีวันนี้ค่ะ (15 มิ.ย.)

สรุปสั้นๆ คือ เขาตอบว่า
1. รายงานการประชุมไม่ได้ตั้งใจจะบันทึกคำต่อคำ ใจความสำคัญของคลิปกับในรายงานไม่ต่างกัน บริษัท “ไม่ได้ต้องการสื่อสารว่าปัจจุบันบริษัทยังทำสื่ออยู่” แต่อย่างใด 
 
2. ยืนยันว่า รายได้ของบริษัทในปี 2565 มีเพียง “ผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ” เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ไอทีวีไม่ได้อธิบายว่า แล้วทำไมแบบ ส.บช.3 (แบบนำส่งงบการเงินประจำปี) ที่แนบงบปี 2565 ถึงได้ระบุ “สื่อโฆษณา” ในช่อง “สินค้าและบริการ” ในเมื่อทั้งปี 2565 ไม่มีการทำธุรกิจนี้และไม่มีรายได้จากธุรกิจนี้เลย 
 
นั่นแสดงว่า แบบ ส.บช.3 ที่บริษัทนำส่งไม่ถูกต้องอย่างแรงในสาระสำคัญ บริษัทควรขอแก้ไขกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยเร็วค่ะ
 
3. ยืนยันว่า ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 นั้นเป็นเอกสารภายในเท่านั้น “จึงไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานนอกบริษัทได้” — แปลว่า เอกสารที่เรืองไกรนำไปยื่น กกต. นั้นน่าจะใช้ไม่ได้นะคะ ถ้าเป็นเอกสารชุดเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ไอทีวีไม่ได้อธิบายว่า ในเมื่อเป็นร่างเอกสารภายใน แล้วทำไมถึงเอาขึ้นเว็บบริษัทให้คนทั่วไปและนักร้องเข้าถึงได้ 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

สกน. ยื่น ‘พิธา’ ย้ำรื้อมรดกกฎหมายป่าไม้ ดันนโยบายชาติพันธุ์ร่วมพรรครัฐบาล

 
เมื่อวันที่ 15 มิถุยน 2566 ทางเพจ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ  โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คถึงสกน. ยื่น ‘พิธา’ เสนอ 4 ข้อเรียกร้องแก้ปัญหาชาติพันธุ์ ย้ำรื้อมรดก คสช.-ประวัติศาสตร์กดขี่ ห่วงนโยบายชาติพันธุ์ไม่ปรากฏใน MOU พรรคร่วมรัฐบาล ขอมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายชาติพันธุ์ในอนาคต พิธาย้ำพร้อมดันเพดานสิทธิชาติพันธุ์สู่สากล
 
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้ยื่นหนังสือถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในเวทีพรรคก้าวไกลพบภาคประชาสังคมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานพัฒนาชนเผ่าพื้นเมือง สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ยืนยันข้อเสนอจากเครือข่ายที่ดิน-ป่าไม้ชาติพันธุ์ 4 ข้อ กังวลนโยบายชาติพันธุ์ 7 ด้านของพรรคก้าวไกลไม่ปรากฏใน MOU พรรคร่วมรัฐบาล
 
หนังสือ สกน. ระบุว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2565 พรรคก้าวไกลได้เปิดตัวนโยบายชาติพันธุ์ 7 ด้าน ณ จังหวัดเชียงใหม่ และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นำนโยบายดังกล่าวมาหาเสียงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามข้อห่วงกังวลของ สกน. คือ นโยบายด้านชาติพันธุ์ไม่ได้รับการบรรจุอยู่ใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล จึงเกรงว่าอาจไม่มีการขับเคลื่อนต่อเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล และมีข้อเสนอถึงพรรคก้าวไกล ดังนี้
 
1. ผลักดันให้มีกลไกการทำงานขับเคลื่อนนโยบายด้านชาติพันธุ์ เพื่อเป็นกลไกการประสานงานร่วมมือกันของรัฐบาล หน่วยงานราชการ และภาคประชาชน ให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์
 
2. รื้อถอนกฎหมาย นโยบาย มติคณะรัฐมนตรี รวมถึงกลไกด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นมรดกจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กระทบต่อสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562, พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562, นโยบายทวงคืนผืนป่าและคดีความอันเกิดจากนโยบายดังกล่าง, มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561, คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และคณะกรรมการป่าไม้แห่งชาติ และผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
 
3. รื้อถอนประวัติศาสตร์การกดขี่ชาติพันธุ์โดยรัฐและชนชั้นนำไทย โดยรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลต้องแถลงต่อองค์การสหประชาชาติและสังคมไทยว่า “ประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมือง” และประกาศขอโทษที่ประเทศไทยมีนโยบายละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่ยุคสงครามเย็น และพร้อมที่จะฟื้นฟูสิทธิ คืนสิทธิและความเป็นธรรมให้ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย เป็นก้าวแรกของการชำระประวัติศาสตร์เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ในทุกด้าน
 
4. กรณีรัฐมนตรีประจำกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงวัฒนธรรม ขอให้พรรคก้าวไกลจัดวางบุคคลที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยเป็นคนที่มีความเข้าใจในปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีอคติต่อภาคประชาชน สามารถทำงานร่วมกันกับภาคประชาชนเพื่อสร้างบรรยากาศความร่วมมือ โดยสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) พร้อมมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้อง
 
จรัสศรี จันทร์อ้าย ชาวกะเหรี่ยงโปว์บ้านผาตืน ต.ป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับผลกระทบจากกฎหมายด้านที่ดิน-ป่าไม้ และนโยบายการจัดการที่ดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จึงเรียกร้องให้รื้อถอนกฎหมาย นโยบาย และมติคณะรัฐมนตรีที่สร้างผลกระทบให้ชุมชนเหล่านั้น และผลักดันกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์
 
“ถ้าท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ขอให้ท่านแก้ไขตรงนี้ และที่ผ่านมาในการทำ MOU ที่ผ่านมา เราไม่เห็นว่าจะมีประเด็นชาติพันธุ์อยู่ในนั้น อยากให้ท่านเอาให้ชัดเจนในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะทำงานขึ้นมา พี่น้องบนดอยปากเสียงก็มีเท่านี้ คงต้องทำให้เป็นคณะทำงานที่มีรูปร่างชัดเจน ผลักดันกฎหมายแก้ปัญหาชาติพันธุ์ให้ไปถึง” จรัสศรีกล่าว
ด้าน ปราโมทย์ เวียงจอมทอง ชาวปกาเกอะญอชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ย (แม่ปอคี) ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ย้ำเรื่องการรื้อถอนนโยบายทวงคืนผืนป่า มรดกของ คสช. ซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับผลกระทบ ต้องติดคุก ติดคดีกว่า 48,000 คดี เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนใน 100 วันแรกที่พรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล
“อยากให้พรรคก้าวไกลผลักดันการนิรโทษกรรมคดีทวงคืนผืนป่า ช่วยผลักดันกฎหมายที่ดิน-ป่าไม้ที่ต้องเป็นการร่างใหม่ ไม่ใช่แค่แก้ไขกฎหมาย โดยพวกเรายินดีที่จะเข้าไปร่วมมือและมีส่วนร่วมในกระบวนการผลักดันกฎหมายและนโยบายนี้ด้วย” ปราโมทย์ย้ำ
 
‘พิธา’ ย้ำ ก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่เคลื่อนสิทธิชาติพันธุ์ พร้อมดันเพดานสิทธิชาติพันธุ์สู่สากล
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้มอบนโยบายด้านชาติพันธุ์ โดยย้ำว่าอยากให้มั่นใจว่าพรรคก้าวไกลพยายามทำความเข้าใจต่อประเด็นชาติพันธุ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจเฉพาะของพรรค โดยตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่ได้มีการตั้งคณะทำงานปีกชาติพันธุ์ขึ้นมาในพรรค ส่วนกรณีนโยบายชาติพันธุ์ที่ไม่ปรากฏใน MOU พรรคร่วมรัฐบาลนั้น เนื่องจากพรรคก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่ผลักดันเรื่องนี้ และจะผลักดันต่อไป
 
“เราใส่ใจมาก ไม่ว่าจะเรื่องทวงคืนผืนป่า พ.ร.บ. พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่ผ่านตั้งสภาร่างฯ และสภาบนแล้ว แต่ติดที่ พ.ร.ก. ชะลอการบังคับใช้ ทำให้เรื่องการแก้ปัญหาบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ หรือ ชัยภูมิ ป่าแส ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การผลักดัน พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ การส่งเสริมสิทธิชนเผ่า เป็นสิ่งที่ทำมาตลอด 4 ปี และจะทำไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมคือมาคุยกับทุกท่าน เพื่อให้ท่านกำหนดอนาคตของทุกท่านเอง” พิธากล่าว
 
หัวหน้าพรรคก้าวไกลยังย้ำว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากถึง 7 ล้านคน ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งหมายความว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไม่ใช่คนชายขอบ เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ ต้องถามกลับว่าทำไมเขตเศรษฐกิจพิเศษมีเยอะ ทำไมจะมีเขตวัฒนธรรมพิเศษไม่ได้ เราต้องรุกกลับ ไม่ได้ตั้งรับให้เขาถล่มเราได้อย่างเดียว
“เราต้องเพิ่มเพดาน ด้วยการยึดกฎองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้แน่น UN เขามีกลไกที่ดูเรื่องสิทธิของชาติพันธุ์โดยเฉพาะ ตอนนี้มีมา 16 คน ของเอเชียมี 2 คน จากเมียนมาร์ และ อินเดีย จะหมดวาระปีหน้า ผมต้องการส่งพี่น้องชาติพันธุ์คนไทยสู่สหประชาชาติเพื่อผลักดันสิทธิชาติพันธุ์ให้ได้ ซึ่งเป็นโอกาสทั้งของชาติพันธุ์ และโอกาสของคนไทยทั้งประเทศ” พิธาย้ำ
 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

เจาะมาตรา 151 หลังกกต. จัดหนัก สอบ “พิธา” ตั้งธงปมถือหุ้นสื่อ

 

หลังเมื่อวันนศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา กกต. มีมติเอกฉัทน์ 6 เสียง ไม่รับ 3 คำร้องที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรี มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการสมัครรับเลือกตั้งส.ส. จากกรณีการถือหุ้น บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น เหตุคำร้องยื่นเกินระยะเวลาตามกฎหมายกำหนด

โดยเห็นว่าคำร้องที่ได้ยื่นมาของทั้ง 3 คน เป็นคำร้องที่ยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา กรณีที่ร้องว่าผู้สมัครรายใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จึงเห็นควรพิจารณาสั่งไม่รับคำร้องไว้ตามระเบียบ

แต่ยังไม่จบเพียงแค่นั้นเพราะจากกรณีคำร้องดังกล่าวมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์และมีหลักฐานพอสมควร และมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่า นายพิธา เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามแต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 42(3) และมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ดังนั้น จึงเห็นควรพิจารณาสั่งให้ดำเนินการไต่สวนเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฎ โดยคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนที่ได้รับแต่งตั้ง จะดำเนินการไต่สวนตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบต่อไป

ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 พบว่า มาตรา 151 ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอม ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามวรรค 1 เป็นผู้ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่ง ดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย

สรุปถ้าผิดจริงจะมีโทษจำคุกสูงสุด 1-10 ปี ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 20 ปีนอกจากและยังขอให้ศาลเรียกคืน “เงินเดือน” จากการเป็นส.ส.ได้ทุกบาท ทุกสตางค์อีกด้วย

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS TOP STORIES

‘พิธา’ พร้อมสู้ปมถือหุ้น ITV ร่ายยาวเดินหน้าเปลี่ยนประเทศ

‘พิธา’ พร้อมสู้ปมถือหุ้น ITV ร่ายยาวเดินหน้าเปลี่ยนประเทศ

Facebook
Twitter
Email
Print

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก “Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เรื่องว่า “ผมพร้อมสู้กับความพยายามคืนชีพ ITV เพื่อสกัดกั้นพวกเรา” โดยเนื้อหารายละเอียดระบุว่า 

ตามที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้แจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ต่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ITV) ส่งผลให้สัญญาร่วมงานฯ สิ้นสุดลง เป็นเหตุให้ ITV ไม่สามารถใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ได้นับแต่นั้นเป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน โดยผลของการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวส่งผลให้สิทธิในคลื่นความถี่กลับมาเป็นของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับ โดยผลของมาตรา 57 ส่งผลให้คลื่นความถี่ดังกล่าวตกเป็นของ TPBS กรณีดังกล่าวยังคงเป็นข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายระหว่าง ITV กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จากการบอกเลิกสัญญาพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
 
เห็นได้ว่า นับแต่ ITV ถูกยกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ส่งผลให้ ITV ไม่สามารถใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม สถานะความเป็นสื่อมวลชนจึงสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 นับแต่นั้นมา มูลค่าหุ้น ITV ก็ต่ำลงจนแทบไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต่อมา วันที่ 16 มีนาคม 2550 ศาลแต่งตั้งให้ผมเป็นผู้จัดการมรดกของคุณพ่อ และผมได้รับมอบหมายจากทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของคุณพ่อ ให้รับโอนหลักทรัพย์ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ หุ้น ITV อันเป็นกองมรดกถือครองไว้แทนทายาทเรื่อยมา โดยที่หุ้น ITV ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกต่อไป และต่อมาปี 2557 หุ้น ITV ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิกถอนหุ้นสามัญออกจากตลาดหลักทรัพย์ อันเป็นผลให้ไม่สามารถซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกต่อไป
 
สำหรับหุ้นตัวนี้ เป็นหนึ่งในหุ้นอันเป็นกองมรดกของคุณพ่อที่ผมถือครองแทนทายาทอื่น ซึ่งมีหุ้นหลายตัวที่ถูกเพิกถอนหุ้นสามัญออกจากตลาดหลักทรัพย์ และไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้ผมได้รับมอบหมายจากทายาทให้ถือครองหุ้นไว้แทนทายาทอื่น
 
จนเมื่อผมเข้ามาทำงานการเมืองในฐานะ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช. ในเรื่องนี้อย่างเปิดเผย ด้วยความบริสุทธิ์ใจทุกประการ
 
จนเมื่อมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ผมได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผมและเพื่อ ส.ส. พรรคก้าวไกล ทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเต็มที่ และในการเลือกตั้งล่าสุดนี้ ผมได้ลงสมัครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหนึ่งเดียวของพรรคก้าวไกล นำพาพรรคเข้าสู่การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม จนได้ความไว้วางใจจากประชาชนสูงที่สุด กว่า 14 ล้านเสียง
 
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาของบทบัญญัติเกี่ยวกับแนวทางการใช้การตีความเรื่องการถือหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส. และผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ขณะเดียวกันในทางข้อเท็จจริง เป็นที่ประจักษ์ว่า ITV ไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศตั้งแต่ผลของการบอกเลิกสัญญาวันที่ 7 มีนาคม 2550 มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ในช่วงเวลาปัจจุบันกลับมีความพยายามฟื้นคืนชีพให้ ITV กลายเป็นสื่อมวลชนเพื่อนำมาใช้เล่นงานผม
 
ผมจะยกข้อมูลตามแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของ ITV เช่น ปีบัญชี 2561-2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” ปีบัญชี 2563-2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า “ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ” ส่วนในปีบัญชี 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” ทั้งนี้ เนื้อหาในหมายเหตุงบการเงินไม่ปรากฏรายได้จากกิจการสื่อโทรทัศน์และสื่อโฆษณาตามที่ระบุประเภทธุรกิจไว้แต่อย่างใด โดยงบการเงินปีบัญชี 2565 มีการนำส่งงบการเงินต่อ DBD ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 (ก่อนวันเลือกตั้ง เพียง 4 วัน)
 
แสดงให้เห็นว่า การจัดทำแบบนำส่งงบการเงินและข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินมีความไม่สอดคล้องกัน และเป็นข้อพิรุธที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อความที่ระบุในแบบนำส่งงบการเงิน จากเดิม “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” แก้เป็น “สื่อโทรทัศน์” ทั้งๆ ที่ประกอบกิจการไม่ได้ และปีล่าสุดแก้เป็น “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” ทั้งๆ ที่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินระบุรายได้จากดอกเบี้ยและการลงทุนในตราสารหนี้
 
และในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 มีการตั้งคำถามของผู้ถือหุ้นบางรายว่า “บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่” ซึ่งเป็นการตั้งคำถามที่ขอให้ทุกท่านที่มีใจเป็นธรรมพิจารณาว่า เป็นคำถามมีความมุ่งหมายทางการเมืองหรือไม่ และให้ท่านตอบตัวท่านเอง ว่านี่คือพฤติการณ์ความพยายามฟื้นคืนชีพ ITV ให้กลับมาเป็นสื่อมวลชน ใช่หรือไม่?
 
ด้วยข้อพิรุธหลายประการที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ผมตัดสินใจหารือทายาทที่มอบหมายให้ผมถือครองหุ้น ITV ซึ่งเป็นมรดกของคุณพ่อไว้แทนทายาทอื่น จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ให้ผมจัดการแบ่งมรดกหุ้น ITV ให้แก่ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัท ITV ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ดังข้อพิรุธดังกล่าวข้างต้น
 
ผมขอเรียนทุกท่านว่า การต่อสู้คดีนี้ เมื่อพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบคำสั่งศาลฎีกาล่าสุดหลายคดี การพิจารณาว่าบริษัทใดประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ และบุคคลใดมีลักษณะต้องห้ามในการถือหุ้นสื่อหรือไม่ ศาลพิจารณาจากข้อเท็จจริงหลายองค์ประกอบด้วยกัน ในชั้นนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญเดินตามแนวคำวินิจฉัยที่ผ่านมา และรักษาความเป็นเอกภาพในการตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องนี้ ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่า ผมไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง และไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
 
สำหรับข้อพิจารณาว่า บรรทัดฐานตามคำสั่งศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ ลต สสข 24/2566 (คดีชาญชัย อิสระเสนารักษ์) และคำสั่งศาลฎีกาล่าสุดหลายคดี อาจไม่ก่อผลผูกพันทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยตามบรรทัดฐานเดียวกันก็ตาม แต่การรักษาความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมายเป็นเครื่องค้ำจุนความยุติธรรมของนิติรัฐ เพื่อมิให้การใช้การตีความก่อให้เกิดผลประหลาดในระบบกฎหมาย กล่าวคือ หากปรากฏว่า ผู้ร้องในคดีตามคำสั่งศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ ลต สสข 24/2566 ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งให้เป็นบุคคลที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) แล้ว ปรากฏว่า ต่อมา ผู้ร้องดังกล่าวได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและยังคงถือหุ้นในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) อยู่ และมีผู้ร้องเสนอเป็นคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยลักษณะต้องห้ามในการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของบุคคลดังกล่าวตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้วปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บุคคลดังกล่าวมีลักษณะต้องห้ามตามมาตราดังกล่าวแล้ว โดยไม่พิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายดังบรรทัดฐานคำสั่งศาลฎีกาข้างต้น กรณีย่อมก่อให้เกิดผลประหลาดและกระทบกระเทือนต่อความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง อันก่อให้เกิดความสั่นคลอนในความเชื่อถือและความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่อยู่ภายใต้กฎหมายต่อระบบบรรทัดฐานทางกฎหมายของไทย ฉะนั้น เพื่อดำรงไว้ซึ่งความแน่นอนชัดเจนในระบบกฎหมายและรักษาครรลองการใช้การตีความกฎหมายให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และมาตรา 101 (6) ศาลรัฐธรรมนูญพึงรักษาความเป็นเอกภาพในการใช้และตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเดียวกันให้ก่อตั้งผลในทางกฎหมายที่เหมือนกัน อันเป็นมาตรฐานของระบบกฎหมายในอารยประเทศที่เป็นที่ยอมรับในสากล
 
และด้วยเหตุดังกล่าว ผมมีความมั่นใจว่า ก่อนที่ผมจะดำเนินการโอนหุ้น ITV นั้น บริษัท ITV ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ ผมมั่นใจข้อเท็จจริงในอดีต แต่ข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ผมไม่อาจคาดหมายได้ว่า บริษัท ITV จะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพเป็นสื่อมวลชนอีกครั้งหรือไม่ การโอนหุ้นให้แก่ทายาทอื่นจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด
 
กระบวนการถัดจากนี้ ผมขอยืนยันทุกท่านว่า ผมมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการชี้แจงต่อ กกต. ไม่มีความเป็นห่วงหรือกังวลใดๆ ต่อกรณีนี้ และจะไม่เสียสมาธิในการทำงานเด็ดขาด
 
หลังจากนี้ผมจะเดินหน้าทำงานเตรียมการเปลี่ยนผ่านอำนาจ จัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลที่มีพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จจงได้ในที่สุด
 
ไม่มีใครหรืออำนาจไหน มาสกัดกั้นฉันทานุมัติของพี่น้องประชาชน ที่ได้แสดงออกไปเมื่อการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ถึงกว่า 14 ล้านเสียง ได้อีกแล้ว
 
ขอให้ทุกท่านสบายใจ และเดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปด้วยกันครับ

ซึ่งในกรณีนี้ได้มีนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ออกมาระบุว่าการถือหุ้น ITV ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ 4 มาตรา ขาดคุณสมบัติทั้งการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และส.ส. นั้น ตนเองยังมั่นใจเหมือนเดิม เชื่อว่าจะชี้แจง และต่อสู้ได้ แต่ตอนนี้ยังต้องรอ กกต. ประสานมายังนายพิธา และพรรคก้าวไกลเพื่อให้เข้าไปชี้แจงก่อน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS TOP STORIES

พรรคก้าวไกลแถลงขอโทษปม พรรคชาติพัฒนากล้า ยันฟังเสียงประชาชน

พรรคก้าวไกลแถลงขอโทษปม พรรคชาติพัฒนากล้า ยันฟังเสียงประชาชน

Facebook
Twitter
Email
Print
วันนี้ (19 พฤษภาคม) เมื่อเวลาประมาณ 23.35 น. พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า สืบเนื่องจากกรณีพรรคก้าวไกลแถลงขอโทษปมพรรคชาติพัฒนากล้า ยืนยันฟังเสียงประชาชนไม่ร่วมรัฐบาลชาติพัฒนากล้า
 
กรณีดังกล่าว ได้ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากประชาชน เจ้าหน้าที่พรรค คณะทำงานจังหวัด และสมาชิกพรรค ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าไม่สามารถยอมรับการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคชาติพัฒนากล้าได้ นอกจากนี้ ในที่ประชุมร่วมของว่าที่ผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ก็มีมติสอดคล้องกับประชาชนว่าไม่สามารถยอมรับได้เช่นกัน
 
ด้วยเหตุนี้ กรรมการบริหารพรรค จึงน้อมรับมติดังกล่าวมาปฏิบัติ เราจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนากล้า และจะเดินหน้าพูดคุยและทำความเข้าใจเพื่อขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ได้เสียงพอในการโหวตนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด
 
พรรคก้าวไกลขอน้อมรับคำวิจารณ์ทั้งหมด และกราบขออภัยประชาชน ที่ทำให้ทุกท่านผิดหวัง พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล จะทำบนพื้นฐานจุดยืนทางการเมือง นโยบายหลักของพรรคตามที่ได้เคยหาเสียงไว้ รวมถึงขอโทษพรรคชาติพัฒนากล้า ที่ต้องยุติการเจรจาครั้งนี้
 
และสุดท้ายนี้ ขอบคุณพี่น้องประชาชน เจ้าหน้าที่พรรค และว่าที่ผู้แทนราษฎรก้าวไกลทุกคน ที่คอยตรวจสอบ ท้วงติงการทำงานของผู้บริหารพรรค เพื่อให้พรรคยืนหยัดในจุดยืน อุดมการณ์เดิมอย่างมั่นคง
พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรคก้าวไกลแถลงขอโทษปมพรรคชาติพัฒนากล้า ยืนยันฟังเสียงประชาชน ไม่ร่วมรัฐบาลชาติพัฒนากล้า
 
โดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า ได้ตอบรับเข้าร่วมรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว โดยในเวลา 17.00 น. วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคมนี้ นายสุวัจน์ จะเข้าร่วมงานราตรี “ร้อยดวงใจ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” และจะมีการแถลงประเด็นดังกล่าว จนทำให้กระแสดังกล่าวทำให้ในทวิตเตอร์แห่ติดแฮชแท็ก #ชาติพัฒนากล้า และ #มีกรณ์ไม่มีกู จนติดอันดับ 1 ใน 5 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย เป็นผลให้ก้าวไกลแถลงขอโทษปมพรรคชาติพัฒนากล้า ยืนยันฟังเสียงประชาชน ไม่ร่วมรัฐบาลชาติพัฒนากล้า

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : พรรคก้าวไกล – Move Forward Party

 
Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
NEWS UPDATE