เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ และได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนและติดตามโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต โดยมีนายดรุฒ คำวิชิตธนาภา กรรมการ กทท. นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. นายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ และพนักงาน กทท.ให้การต้อนรับ ณ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน จังหวัดเชียงราย
โครงการส่งออกสัตว์มีชีวิตที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ได้ผ่านความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว และสามารถดำเนินโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต (โคเนื้อ กระบือ สุกร) ผ่านที่ ทชส. ในพื้นที่ 1 บริเวณพื้นที่ท่าเรือแนวลาดฝั่งทิศใต้ ได้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป โดยคาดการณ์ปริมาณสัตว์ส่งออกสุกร 15,000 ตัว/เดือน หรือ 180,000 ตัว/ปี โค กระบือ จำนวน 5,000 ตัว/เดือน หรือ 60,000 ตัว/ปี ส่งผลให้ ทชส. มีรายได้จากการดำเนินโครงการฯ เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10 ล้านบาท ทั้งนี้ การส่งออกสัตว์มีชีวิตผ่านที่ ทชส. ต้องปฏิบัติตามแนวทางตามระเบียบของกรมปศุสัตว์และระเบียบพิธีการของกรมศุลกากรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การขนถ่าย เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยผู้ประกอบการต้องทำนัดหมายช่วงเวลาในการขนถ่ายสัตว์ล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง การล้างสิ่งปฏิกูลและฉีดยาฆ่าเชื้อ การขนย้ายโดยมีที่กั้นที่แข็งแรง ถ่ายเทอากาศได้ดี มีอุปกรณ์ช่วยขนสัตว์ขึ้นลง รวมทั้งการทำความสะอาดจุดขนถ่ายสัตว์ เมื่อดำเนินการขนถ่ายแล้วเสร็จ เป็นต้น
“ปัจจุบันโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต (โคเนื้อ กระบือ สุกร) ที่ ทชส.ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมเจ้าท่าและการท่าเรือฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินโครงการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเกษตรกรที่อยู่บริเวณพื้นที่โดยรอบท่าเรือและอำเภอเชียงแสนตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามแนวทางตามระเบียบของกรมปศุสัตว์และระเบียบพิธีการของกรมศุลกากร เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” นางมนพร กล่าว
ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า “โครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต เป็นการใช้พื้นที่ ทชส. เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะเกษตรกรที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของ ทชส. ที่สามารถให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว อันจะเป็นการสร้างรายได้ ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการส่งออกสัตว์ที่อาจจะมีราคาต่ำลง และเชื่อว่าแนวคิดต่างๆ ทั้งภาคเกษตรกร ภาคธุรกิจที่ได้ร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อ ทชส. ในการให้การสนับสนุนและต่อยอดด้านการค้าการขนส่งในพื้นที่ต่อไป”
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : การท่าเรือแห่งประเทศไทย