Categories
ECONOMY

นายกฯ มอบนโยบายทำงบ GDP โตเฉลี่ย 5% ตลอด 4 ปีนี้

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (2 ต.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ชั้น 1 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้
 
ขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรี ท่านหัวหน้าส่วนราชการ  รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มาร่วมประชุมในวันนี้ รวมทั้งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกท่านที่อยู่บนระบบ Video Conference ทุกคน
 
จุดประสงค์ของการประชุมวันนี้ ผมขอมอบนโยบายและกรอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างที่ทุกท่านทราบดี รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภายในและภายนอกประเทศไม่ว่าจะเป็นผลจากโควิด 19 ที่ทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวช้ากว่าเพื่อนบ้าน และฟื้นอย่างไม่เท่าเทียมเป็น K-shape recovery ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำของประชาชนไทยในหลายระดับ ประเทศไทยเองก็ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในเวทีสหประชาชาติ (UN) เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ว่าเราจะเดินหน้าพัฒนาแก้ไขเรื่องนี้ให้ดีที่สุด ร่วมกับนานาประเทศ เศรษฐกิจโลกที่ถูกกระทบโดยสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ปัญหา supply chain ที่กระทบมาถึงประเทศไทย โครงสร้างอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ที่กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่หมวดสินค้า ถูกจำกัดด้วยจำนวนตลาดที่ไทยสามารถแข่งขันส่งออกได้ อีกไม่นาน เราก็จะเจอกับเอลนีโน่ (El Nino) ที่จะทำให้เกิดภัยแล้งยาว กระทบกับพี่น้องเกษตรกรกว่า 20 ล้านครัวเรือน หนี้สินในภาคครัวเรือน การเกษตร ก็เรื้อรัง มีการพักหนี้มา 13 ครั้ง แต่เราจะต้องแก้ที่โครงสร้างอื่น ๆ เช่น ความสามารถในการผลิตด้านการเกษตรของเรา การต่อยอด Value chain ให้เป็น High value agriculture economy วิธีทำการเกษตรของเรา ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสาธารณสุขอื่น ๆ อีก ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวไปทั้งหมด ล้วนมีส่วนทำให้เศรษฐกิจของเรามีปัญหาอยู่ในปัจจุบันนี้ และยังมีส่วนทำให้เกิดปัญหาภาคสังคมอื่น ๆ ด้วย
 
ในภาคสังคมที่เราเห็นเอง ก็มีความท้าทายหลายประการที่กำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Aged Society จะทำให้ workforce ของเราลดลง ส่งผลต่อสัดส่วนแรงงานต่อประชากร และรัฐจะต้องใช้เงินมากขึ้นในการทำสวัสดิการเพื่อดูแลประชากรทุกคน ความเปราะบางที่เกิดจากหนี้สิน หนี้ครัวเรือน ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่เป็นธรรม ยาเสพติด หลาย ๆ ปัญหา ผมก็ได้ไปรับฟังมาด้วยตนเองจากการลงพื้นที่ กำลังก่อให้เกิดภาระทางการคลังของรัฐบาล ทั้งแง่การลงทุน แก้ปัญหา สวัสดิการ สาธารณสุข และอีกหลาย ๆ มิติ
 
จากความท้าทายที่ผมกล่าวไปทั้งหมด รัฐบาลนี้เราจะ Take on actions อย่างจริงจัง ดำเนินนโยบายร่วมกับทั้งราชการทุกภาคส่วน และผลักดันเอกชนทุกระดับ เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ในระยะสั้น รัฐบาลให้ความสำคัญ 3 ประการเร่งด่วนด้วยกัน คือการฟื้นฟูรายได้ ดูแลค่าใช้จ่ายของประชาชน และเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีท่านรองนายกฯ ภูมิธรรมเป็นประธานคณะกรรมการ ขอเริ่มที่การฟื้นฟูรายได้ ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ
 
ในต้นปี 2567 จะมีเงินอัดฉีดเข้าไปในเศรษฐกิจ ด้วยกรอบประมาณ 560,000 ล้านบาท นโยบายนี้จะแตกต่างจากการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา การกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าไม่ถึงทุกพื้นที่ ไม่ถึงทุกชุมชน กล่าวคือเป็นการกระตุ้นฝั่ง Demand หรือกระตุ้นอุปสงค์ ความต้องการเป็นหลัก แต่การกระตุ้นฝั่ง Demand อย่างเดียว จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่ไม่เท่าเทียม เพราะ Demand ที่มากขึ้น ก็จะวิ่งเข้าหาศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ได้กระจายไปยังชุมชน ในครั้งนี้ เงิน 560,000 ล้าน ที่เข้าไปกระตุ้น Demand และจะขับเคลื่อนฝั่ง Supply หรืออุปทานให้โตขึ้น ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งที่ได้รับคืนมาคือภาษีที่กลับคืนสู่ภาครัฐ การจำกัดการใช้จ่ายให้อยู่ในชุมชน จะทำให้เงินหมุนเข้าไปถึงระดับรากหญ้าก่อนเสมอ ทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกิจกรรมเศรษฐกิจนี้
 
ระยะเวลา 6 เดือนเอง ก็เพื่อกำหนดให้เงินนี้ต้องหมุน มีการจับจ่ายใช้สอย ไม่อย่างนั้นก็จะมีการเอาไปดองไว้ ไม่ก่อให้เกิด Multiplier Effect หรือการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ตอนนี้ ครม. ก็ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา Application การจัดหาแหล่งเงิน การกำหนดกฎระเบียบทั้งหมด และตอบคำถามจากทุก ๆ คน ไม่ต้องห่วงครับ ได้ใช้แน่นอนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่นี่เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ซึ่งเดี๋ยวจะขอพูดถึงในระยะยาวว่ารัฐบาลมีมาตรการอย่างไรให้เศรษฐกิจโตได้อย่างต่อเนื่อง
 
ด้านการท่องเที่ยว เราก็จะฟื้นการท่องเที่ยวทั้งจากนักท่องเที่ยวในประเทศและนอกประเทศ ซึ่งในประชุม ครม. วาระแรกได้ดำเนินการเรื่องที่ทำได้ทันที คือการยกเว้นวีซ่าชั่วคราวไปให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ที่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาก็ได้มีนักท่องเที่ยวชุดแรก ที่เดินทางเข้ามาแล้ว นั่นเป็นมาตรการเบื้องต้นเท่านั้น รัฐบาลจะวางแผนดำเนินมาตรการกับประเทศอื่น ๆ อีก โดยพิจารณาจากสถานภาพเศรษฐกิจ ความต้องการ และสถานะของประเทศ นอกจากนั้น รัฐบาลจะวางแผนมาตรการอื่น ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่าย อำนวยความสะดวก หรือมาตรการอื่น ๆ ที่เหมาะสม  ในระยะยาวเองก็ต้องมีการพัฒนาด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว หรือการต่างประเทศที่จะต้องมีการจัด Roadshow เป็นต้น
 
ด้วยทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ผมมั่นใจว่าเราจะทำให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไปอยู่ที่ 400 บาทต่อวันได้โดยเร็วที่สุด เป็น Step แรก ด้านค่าใช้จ่าย ครม. ก็ได้อนุมัติการลดค่าพลังงานให้กับประชาชนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำให้น้ำมันดีเซลราคาไม่เกิน 30 บาท หรือทำให้ค่าไฟเหลือเพียง 3.99 บาท โดยจะต้องมีการวางแผนใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาชั่วคราว โดยจะควบคู่ไปกับการวางแผนโครงสร้างพลังงานระยะยาว แน่นอน ในอนาคตก็ต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงอีก อาทิเช่น ค่าก๊าซหุงต้ม น้ำมันเบนซิน เป็นต้น เพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพของประชาชน หนี้ครัวเรือน หนี้เกษตรกร ครม. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาก็ได้อนุมัติไปแล้ว พักหนี้ให้กับเกษตรกรเกือบ ๆ 2,700,000 ราย และจะวางแผนดูแลหนี้สินกลุ่มที่มีความจำเป็นอื่น ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ ต่อลมหายใจให้กับประชาชนที่เดือดร้อนจากหนี้สิน ทั้งนี้ การพักหนี้ในช่วง 9 ปีก่อนหน้าที่เกิดมา 13 ครั้งนั้น และยังมีการแทรกแซงตลาดราคาสินค้าอีกนับแสน ๆ ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งเดี๋ยวผมจะพูดต่อไปว่าครั้งนี้เราจะทำต่างกันอย่างไร เรื่องรัฐธรรมนูญ รัฐบาลนี้ก็ได้เดินหน้าตั้งคณะกรรมการเพื่อเริ่มดำเนินการแล้ว โดยจะดำเนินการทำประชามติ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน
 
มาตรการระยะสั้นที่กล่าวไปทั้งหมดจำเป็นต้องมีงบประมาณสนับสนุน แต่จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ต่อชีวิตให้กับประชาชนและภาคธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ เพื่อให้มีกำลังไปสร้างพลังทางเศรษฐกิจต่อไป สำหรับรัฐเอง เราจะต้องวางแผนหาเงินกลับมาคืนในส่วนที่ใช้ไปในส่วนนี้ด้วย และรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดในระยะยาว รัฐบาลตั้งใจที่จะทำให้เศรษฐกิจโตไปอย่างยั่งยืน ซึ่งในนโยบายระยะยาว จะครอบคลุม 3 มิติด้วยกันได้แก่ การสร้างรายได้ การขยายโอกาส และการดูแลคุณภาพชีวิตและความมั่นคง
 
ในการสร้างรายได้ มีการเพิ่มรายได้สุทธิในภาคเกษตร การเปิดการค้าระหว่างประเทศ การส่งเสริมเขตเศรษฐกิจ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงดูดการลงทุน อย่างที่บอกไปว่าเราพักหนี้มา 13 ครั้ง ใช้เงินไปมหาศาล แต่ว่าปัญหาหนี้สินในภาคเกษตรไม่ได้รับการแก้ไข ในรัฐบาลนี้นอกจากการพักหนี้ที่เราจะต่อลมหายใจแล้ว เราจะใช้หลักการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ดูแลเกษตรกรโดยการลดต้นทุน เช่น ค่าปุ๋ย โดยการปรับปรุงสูตร และใช้ปริมาณที่เหมาะสมให้ตรงกับสภาพพืช และสภาพดิน รวมถึงการเพิ่ม Yield หรือ “ผลผลิตต่อไร่” โดยการปรับปรุงพันธุ์ วิธีการปลูกพืช และใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) เป็นต้น เป้าหมายของรัฐบาลนี้คือการทำให้พี่น้องเกษตรกรมีรายสุทธิเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี ต้องดูทั้งอุปสงค์ อุปทานให้เหมาะสม มีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อไม่ให้สินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ วางแผนบริหารพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ โดยพิจารณาปัจจัยให้ครบทุกมิติไม่ว่าจะเป็นต้นทุน ราคา ระยะเวลา ข้อกฎหมาย และอื่น ๆ จัดทำองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนให้เกษตรกร รวมถึงใช้มาตรการใหม่ ๆ เช่น การขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าด้วย
 
นอกจากภาคการเกษตรแล้ว ภาคการผลิต อุตสาหกรรมเอง ก็จะได้รับประโยชน์ต่อเนื่องหลังจากการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่าน Digital Wallet รัฐบาลนี้เองก็จะสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจใหม่ ๆ เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep Tech อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมความมั่นคงประเทศ และผลักดันให้ Start Up ไทยสามารถเติบโตได้ ซึ่งจะมีการจัดทำ Matching fund ที่ภาครัฐจะร่วมมือกับกองทุนระดับโลก เราจะอาศัยความเชี่ยวชาญของกองทุนในการค้นหาและคัดเลือก Start Up หรือ SME ที่มีศักยภาพโดยภาครัฐจะร่วมลงทุนด้วย เพื่อทำให้ Start Up หรือ SME เหล่านี้มีเงินทุนเพียงพอ เติบโตและขยายธุรกิจ เป็น Unicorn ต่อไปได้ รัฐบาลจะช่วยเหลือ SME ให้มีกลไกช่วยเหลืออย่างครบวงจร ทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิต การจัดหาเงินทุน เปิดตลาด และมาตรการอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถโตในเวทีโลก
 
เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมทั้งถนน น้ำ ราง อากาศ จะต้องมีการวางแผนลงทุนอย่างเป็นระบบ และต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์ ดูทั้งอุปสงค์ และอุปทานให้สอดคล้องกัน ยกตัวอย่าง เช่น สนามบิน ที่จะเป็นหน้าด่านของการท่องเที่ยว ก็ต้องมีการวางแผนขยายให้เหมาะสม ให้สามารถรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ทั้งในเมืองหลัก และขยายไปยังเมืองรอง และต้องดูเรื่องปริมาณ ขั้นตอน และมาตรฐานการบริการ ควบคู่ไปทั้งหมด
 
รางรถไฟ จะต้องสามารถส่งสินค้าจากเมืองต่าง ๆ ไปยังตลาดได้ จะต้องเชื่อมต่อกับรางรถไฟของโลกด้วย เช่น ขนส่งสินค้าไปยังจีน และยังต้องขยายระบบรางทั้งในและนอกเมืองเพื่อรองรับการเดินทาง การส่งสินค้า ในราคาที่เป็นธรรม เช่น รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว และต้องเจรจาหาทางออกร่วมกับผู้ให้บริการอื่น ๆ อีก เพื่อให้ครบทั้งระบบ ถนน ท่าเรือ ระบบอื่น ๆ ก็ต้องมีแผนกระจายให้ทั่วถึงอย่างมีเหตุมีผล มีตัวชี้วัดที่เหมาะสมถึงความต้องการหรือตอบยุทธศาสตร์ของประเทศ
 
จากที่ผมได้รับฟังความต้องการจากภาคธุรกิจ ทุกกลุ่มทุกท่านล้วนสนับสนุนให้ประเทศไทยเดินหน้าเปิดตลาดการค้าให้มากขึ้น เพื่อทำให้สินค้าไทยสามารถส่งออกไปยังตลาดทั่วโลกได้ จึงเป็นที่มาของการขยาย FTA หรือเปิดตลาดใหม่ ๆ สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ โดยมุ่งเน้นไปทางยุโรป และแถบอาหรับ แอฟริกา ให้มากขึ้น รวมถึงการขยายหมวดหมู่ของสินค้าให้ครอบคลุมภาคธุรกิจของไทยด้วย การเดินหน้าเจรจาทั้งหมดที่ผมกล่าวไป จะนำมาซึ่งการลงทุนใน Real Sector ให้มากขึ้นด้วย เป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ เรื่องนี้ ภาคธุรกิจที่มาคุยกับผม เขาก็บอกว่าถ้าเราขยายได้มาก เขาก็สนใจที่จะมาลงทุนมากขึ้น เพราะมัน “เสริม” ความสามารถในการแข่งขันของเขาได้ รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการเร่งเจรจา FTA ที่ค้างอยู่กับ EU และเร่งเดินหน้าเปิดตลาดใหม่ ๆ เช่น ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเรื่องนี้เราก็ได้ท่านปานปรีย์และท่านภูมิธรรมมาเป็นผู้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน
 
เรื่องการต่างประเทศที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือการเปลี่ยนการทูตของเรา ให้ Pro-active มากยิ่งขึ้น เราจะไม่รอคำเชิญจากนานาประเทศเพียงอย่างเดียว แต่เราจะ “รุก” ออกไปพบ ไปคุย ไปจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบอกชาวโลกว่า “Thailand is open” หรือ “ประเทศไทยเปิดแล้ว” การลงทุนทั้งในภาคการเกษตร การทำเขตเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน และการเดินหน้าเจรจาต่างประเทศ ต้องใช้ทรัพยากรทั้งคน เงิน และเวลา แต่ทำแล้วเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมหาศาล ซึ่งจะนำประเทศไทยกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของโลก รักษาความเป็นกลางระหว่างขั้วอำนาจ ซึ่งกลายมาเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ที่บริษัทต่างชาติกำลังให้ความสนใจ การดำเนินงานหลากหลายนโยบาย จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และทำให้รัฐบาลสามารถปรับค่าแรงขั้นต่ำตามเศรษฐกิจได้ เป็น 600 บาทต่อวัน ปริญญาตรี 25,000 ภายในปี 70’
 
ในการขยายโอกาส มีหลากหลายประเด็นที่ผมได้พูดไปตอนแถลงนโยบาย แต่จะขอ recap สั้น ๆไม่กี่เรื่องคือพลังงาน ที่ดิน การศึกษา และ Soft power ด้านพลังงาน ที่ประชาชนเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่าย ในระยะสั้นเราก็ได้ปรับแก้ไปแล้วชั่วคราว แต่ในระยะยาวก็ต้องมาดูตัวโครงสร้างกัน รวมถึงเราต้องวางแผนเรื่องพลังงานสะอาดด้วย เพราะจะดึงดูดการลงทุนจากนานาประเทศได้
 
เรื่องที่ดิน รัฐบาลนี้จะต้องช่วยทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน ให้เขาได้มีโฉนด มีเอกสารสิทธิครบถ้วน และรวมถึงพิจารณากำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เหมาะสมด้วย กองทัพก็แสดงความพร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชน นำที่ดินมาจัดสรรเพื่อนำไปใช้สร้างรายได้ให้กับประชาชนได้
 
ด้านการศึกษาเอง ผมก็ขอให้ความสำคัญด้วย ประเทศไทยจะต้องเป็นสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นสังคมที่รักการอ่าน มีการพัฒนาทั้งนักเรียน ทั้งครู และทำให้หลักสูตรมีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือ และอาจรวมถึงการทำให้ลดปริมาณงาน การเรียน การบ้าน และปัจจัยอื่น ๆ สำหรับหลาย ๆ ส่วนในภาคการศึกษาในประชุม ครม. สมัยแรก ก็ได้มีมติจัดตั้งคณะกรรมการ Soft Power เพื่อผลักดันเรื่องการสร้างอัตลักษณ์ และนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้นด้วย และสุดท้ายจะส่งผลให้เรามีเอกลักษณ์และบริการที่โดดเด่น ส่งผลต่อเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นเช่นกัน
 
รวมถึงเราต้องลงทุนส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในระยะยาวทั้งนักท่องเที่ยวในและนอกประเทศ ปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้มากขึ้นวางแผนลงทุนสถานที่ท่องเที่ยว Man-made ในหลาย ๆ พื้นที่ ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง เรามีนโยบายที่จะทำให้ Low Season หมดไปจากประเทศไทย เช่น ใช้ประโยชน์จากเทศกาลต่าง ๆ ทำให้ครบวงจร เที่ยวได้ตลอดทั้งปี เรื่องความมั่นคงและคุณภาพชีวิต เราคงละเลยเรื่องความมั่นคงที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ ทั้งรูปแบบของภัยคุกคาม และวางแผนการรับมือให้เหมาะสม ต้องมีการบริหารจัดการกำลังพล ทรัพยากรให้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น มีกำลังพลประจำการน้อยลงแต่มีคุณภาพและทันสมัยมากขึ้น ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นสมัครใจ ทำให้กองทัพของเรามีความเป็นสากล มีความเป็นมืออาชีพ ในขณะเดียวกันก็เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนในเวลาต่าง ๆ รวมถึงการนำสินทรัพย์ของกองทัพออกมาสร้างประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยกันไปบ้างแล้ว
 
รัฐบาลนี้จะจัดการยาเสพติดให้หมดสิ้น บำบัดและส่งคืนลูกหลานที่ติดยาสู่ครอบครัว จัดการกับผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ ป้องกันการแทรกแซงการบริหารราชการ โดยวางแผนใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น ตั้งรางวัลผู้ให้เบาะแส ปกป้องคุ้มครองพยาน และอื่น ๆ ที่เหมาะสม เป็นต้น มาตรการต่าง ๆ ผมต้องขอให้เกียรติกับผู้ปฏิบัติงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และประชาชนที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันดำเนินการให้สำเร็จ
 
ยังมีเรื่องของภัยธรรมชาติ เตรียมตัวรับมือกับ El Nino ที่ท่านรองนายกฯ ภูมิธรรมได้รับไปดูแล เรื่องของการดูแลเรื่องน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เป็น 40 ล้านไร่ ทำแผนลงทุนในบริเวณที่ยังเข้าไม่ถึง และครอบคลุมไปยังการดูแลบริหารน้ำอย่างครบวงจร ซึ่งหลายโครงการที่อยู่ภายใต้แผนงานบูรณาการ ก็ขอให้ความสำคัญด้วย เช่น การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ การทำให้น้ำไม่ท่วม-ไม่แล้งในทุกฤดูต่าง ๆ โดยใช้ฝายพาราซอยซีเมนต์ หรือการทำธนาคารน้ำใต้ดิน และโครงการอื่น ๆ เดินหน้าแก้ไขฝุ่น PM2.5 ที่ต้องบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน ก่อนจะเริ่มส่งผลกระทบในต้นปีที่จะถึงนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีการเสนอ พรบ. อากาศสะอาดเข้าสภาไปแล้ว ซึ่งจะช่วยผลักดันการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และ Balance ระหว่างการสร้างประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบัน และส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังได้ด้วย
 
อีกเป้าหมายหนึ่ง คือการวางแผนที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น Carbon Neutral ภายในปี 2593 หรือ ค.ศ. 2050 ใน UN ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ได้ประกาศไปว่าปีนี้รัฐบาลจะออก Sustainability Linked Bond ตั้งเป้าออกไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท จุดประสงค์ของพันธบัตรตัวนี้จะทำให้องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันดำเนินนโยบายที่สร้างความยั่งยืน การดำเนินการเรื่องทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้ และใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ฉะนั้นเราจะรอช้าไม่ได้
 
เรื่องสวัสดิการและสาธารณสุข ต้องมีการพัฒนาให้ดีขึ้น นำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อให้บริการประชาชน ทำให้ประเทศไทยมี Universal Healthcare Coverage หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพระดับโลก ลงทุนทำระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูลของคนไข้ทั้งประเทศ ทำให้เข้าถึงศูนย์รักษาพยาบาลใกล้บ้านในราคา 30 บาท สร้างศูนย์ดูแลผู้มีความจำเป็นต่าง ๆ สถานธรรมาภิบาล โรงพยาบาลเพิ่มเติม เพื่อตอบสนองต่อสภาพสังคมสูงวัย
 
อีกฟากหนึ่งของระบบ คือคนทำงาน ต้องดูแลให้มีรายได้ที่เป็นธรรม มีปริมาณและรายได้ที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที รวมถึงดูแล สนับสนุน สิทธิมนุษชน และความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ทั้งชนกลุ่มน้อย ผู้พิการ คนท้อง คนชรา เด็ก กลุ่มความหลากหลายทางเพศ เร่งรัดการทำให้พวกเขามีสิทธิพื้นฐานครบถ้วนโดยเร็ว และทำแผนดูแลในบางกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติมด้วย และสุดท้าย รัฐบาลและราชการ จะต้องทำงานเพื่อบริการประชาชนให้ดีขึ้น
 
ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ดำเนินการการเชื่อมฐานข้อมูลของประชาชนเป็นฐานเดียวกัน ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์และ Machine Learning เพื่อเพิ่มความสามารถ ใช้ระบบการจ่ายเงินที่ตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการทุจริตและเพิ่มความโปร่งใสในการทำงานของรัฐ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างราชการกับประชาชน จะต้องทำให้ไม่มีคนมาต่อคิวรอตั้งแต่เช้า ต้องมีแผนปรับปรุงการให้บริการ กำจัดเจ้าหน้าที่ที่ทำตัวเป็นนายประชาชน เรียกรับสินบน ซึ่งผมรับไม่ได้ และต้องปรับปรุงขั้นตอนการบริหารภายในราชการด้วยกันเอง เพื่อทำให้งานทำได้เร็วยิ่งขึ้น เพิ่ม Productivity ของทั้งระบบ ให้สะท้อนไปสู่บริการประชาชนที่ดียิ่งขึ้นไปอีก
 
เป้าหมายของผม ชัดเจนครับ ด้านเศรษฐกิจ คือการทำให้ GDP ของประเทศโตเฉลี่ย 5% ตลอด 4 ปีนี้ และทำให้รายได้ขั้นต่ำให้ถึง 600 บาทในปี 2570 เป็นจุดเริ่มต้นของแผนการมุ่งหน้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูง อย่าลืมว่ารัฐจะเก็บภาษีมาลงทุนต่อยอดให้ทุกคนได้ ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนมีคุณภาพที่ดี ฉะนั้น ขอทุกภาคส่วนร่วมกันดูแลประชาชนทุกภาคส่วนให้มีชีวิตอย่างมีความสุข มีสวัสดิการที่เหมาะสม ทำให้เขาเลี้ยงชีพได้อย่างสมศักดิ์ศรีด้วย หลาย ๆ อย่างที่ทำมาดีแล้ว ก็ขอให้ทำต่อไป และขอให้เปิดใจ รับฟังเสียงของประชาชน เพื่อนำไปปรับปรุง
 
ขอให้ผู้บริหารหน่วยราชการช่วยกันกำกับดูแลการทำงานอย่างขะมักเขม้น แต่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ สร้างวิธีการทำงานที่เน้นผลลัพธ์ มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน มากกว่าแค่ทำตามกระบวนการ และขอให้ยึดโยงกับประชาชนเสมอ ในปีงบประมาณ 2567 การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และแผนต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด รัฐบาลจะมีเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2567  เป็นวงเงิน 3.48  ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ผมตั้งใจที่จะบริหารจัดการการคลังด้วยความรอบคอบ  โปร่งใส ตรวจสอบได้ และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ในการวางแผนใช้จ่ายงบประมาณปี 67 ผมขอวางกรอบความสำคัญ 5 ข้อต่อไปนี้
 
(1) ข้อแรก ขอให้จัดทำงบและเบิกจ่ายงบประมาณตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภาไป และคำนึงถึงกรอบกฎหมายและวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ขอให้ทุก ๆ หน่วยงานพิจารณาดูว่าอะไรที่ทำได้ก็ขอให้ดำเนินการทำไปก่อน แต่อย่าลืมเรื่องความถูกต้องตามกระบวนการ
(2) ข้อที่สอง ขอให้ทุกหน่วยงานทำงานกันอย่างบูรณาการ วางแผนงบประมาณไม่ให้ซ้ำซ้อนกันหลาย ๆ โครงการในอดีตที่เคยทับซ้อนกัน ขออย่าให้เกิดภาพแบบนั้นอีกภายในรัฐบาลนี้
(3) ข้อที่สาม ขอให้วางแผนและจัดทำงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) และมีประสิทธิผล (Productivity) คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐ และคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง การทำแผนงานหรือโครงการ ขอให้ทำตามความจำเป็นเร่งด่วน และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน คำนึงถึงวินัยการเงินการคลังด้วย นโยบาย แผนงานใดที่ทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ ก็เริ่มดำเนินการได้เลย ซึ่งโครงการเหล่านี้ ผมถือว่าจะมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะไม่ต้องใช้งบลงทุนสักบาท และขอให้ทำงบแบบฐานศูนย์ หรือ Zero-based โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่จะต้องมีรายละเอียดให้ชัดเจน และผมขอให้ทุกหน่วยงานนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิผล และเพิ่มความโปร่งใสในการทำงาน ทำให้ประชาชนเห็นว่าเงินภาษีของพวกเขา ถูกใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าทุกบาท ทุกสตางค์
(4) ข้อที่สี่ โครงการ แผนงาน ต่าง ๆ จะต้องมีตัวชี้วัด (KPI) หรือมีเป้าหมาย (Target) ที่ก่อให้เกิดผลดีกับพี่น้องประชาชน หรือเกิดผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจ ผมไม่สนับสนุนการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลให้ประเทศ ประชาชน เพราะจะเป็นการนำภาษีประชาชนไปละลายแม่น้ำเสียเปล่า ๆ ไม่สนับสนุนการนำงบประมาณไปทำอะไรที่ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีจุดประสงค์ที่จับต้องได้ ไม่มีความชัดเจน ฉะนั้น ขอให้พิจารณาลดแผนงานหรือโครงการต่าง ๆ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป หรือถ้าเป็นไปได้ก็ยกเลิกแผนงานหรือโครงการ ที่ไม่มีความชัดเจนไปเสีย เพื่อให้การใช้งบประมาณอย่างตรงเป้าหมายและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ นำงบประมาณไปใช้ทำโครงการอื่นที่เกิดผลเชิงบวกต่อไป
(5) ข้อที่ห้า ขอให้จัดทำแผนการใช้จ่ายโดยพิจารณาให้ครบทุกแหล่งเงินทุน (Source of funding) ทั้งเงินนอกงบประมาณ และเงินงบประมาณ หลาย ๆ หน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณ เช่น รายได้ เงินสะสม ขอให้นำมาใช้ดำเนินภารกิจก่อน และขอให้ช่วยกันลดภาระงบประมาณประเทศ โดยพิจารณาการใช้เงินแหล่งอื่น ๆ เช่น การร่วมมือกับภาคเอกชน หรือเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ เป็นต้น
 
ทุกท่านที่อยู่ในที่นี้ล้วนเป็นตัวแทนจากภาครัฐทั้งหมด เราทุกคนมีส่วนร่วมที่จะต้องช่วยกันดูแลสถานะ ความมั่นคง ของการเงินการคลังในระยะยาว ถึงแม้งบประมาณปี 67 จะล่าช้า แต่ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย มีความระมัดระวัง อย่าให้เศรษฐกิจสะดุด ฉะนั้นในการทำงบประมาณปีนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาประเด็นทั้งกรอบความสำคัญทั้ง 5 ข้อ ได้แก่ 1) ทำงบประมาณตามนโยบายที่สัญญากับประชาชน 2) ทำอย่างบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน 3) ทำอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาวินัยการเงินการคลัง 4) ทำอย่างมีตัวชี้วัดและเป้าหมาย 5) ทำให้ครบทุกแหล่งเงินทุน และยึดวินัยการเงินการคลัง และขอให้จัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่จะถึงนี้ สุดท้ายนี้ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาฟังในวันนี้ ขอให้ทุกท่านวางแผนงบประมาณให้มีสิทธิภาพ เพื่อจะได้ใช้ภาษีของประชาชนทุกบาท ทุกสตางค์ อย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

นายกฯ หนุนอาหารให้ไทยเป็น Soft Power เปิดโอกาส Start up

 

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 เวลา 11.30 น. ที่ผ่านมา ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับฟังการนำเสนอ Thailand Soft Power Halal & Future Food จากนายบุญเลิศ อ่องไพบูลย์ รองประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต (PFC) สภาหอการค้าไทย 

นายบุญเลิศ กล่าวว่า อุตสาหกรรมฮาลาล ครอบคลุมสินค้าและบริการ ได้แก่ การเงิน อาหาร แฟชั่น สื่อและสันทนาการ ยาและการแพทย์ ท่องเที่ยว เครื่องสำอาง ฯ มีอัตราการเติบโต 7.5% (2021-2025) มีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (2025) ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาล และอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ โดยอาหารฮาลาล คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของการส่งออกอาหารทั้งหมดของประเทศไทย และร้อยละ 60 ของการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564/2565 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลมองเห็นโอกาสในสินค้า Halal ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ซึ่งมีผู้บริโภคจำนวนมาก มีศักยภาพในการจับจ่ายสูง และในกลุ่ม Future food ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เราอยากใช้อุตสาหกรรมอาหารมาเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ และอยากผลักดัน Gastronomy Diplomacy โดยไทยเป็นประเทศแรกที่ผลักดันการทูตเชิงอาหาร (Gastronomy diplomacy) แต่ประเทศเกาหลีใต้ผลักดันได้ไกลกว่าประเทศไทย โดยรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญทั้งเงินทุน การตลาด การทำหลักสูตร การทำ Certificate การส่งออกอาหาร จะช่วยทำให้สินค้าการเกษตรมีราคาที่ดีขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าในประเทศทำให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง สร้างองค์ความรู้ด้านอาหารให้ประเทศไทยเป็น Soft Power โดยอาหารไทยรูปแบบใหม่ ๆ จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้ Start up ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร สามารถเกิดขึ้นได้

นายกรัฐมนตรีฝากให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนภาคเอกชน โดยให้บูรณาการการทำงาน กำหนดแผน กำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงด้านอาหาร เป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลที่หลายประเทศมีความต้องการ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

นายกฯ ตามติดสถานการณ์น้ำ ห่วงน้ำท่วม ลำปาง แพร่ และอุบลฯ

 

  เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เวลา 19.00 น. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมศูนย์ปฎิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสภาพอากาศ จากว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาและรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำ

ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ กล่าวรายงานสรุปสภาพอากาศว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากร่องมรสุมพุดผ่านส่งผลให้ให้ภาคเหนือ และภาคอีสานได้รับผลกระทบจากน้ำฝน มีน้ำท่วมขัง และดินสไลด์บางพื้นที่ หลังจากนี ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคมจนถึงวันที่ 7 ตุลาคม
 
น้ำฝนจะลดน้อยลง มวลอากาศเย็นเข้ามาแทนที่ และฝนกลับมาตกจำนวนมากอีกครั้ง ตั้งแต่ 7 ตุลาคมเป็นต้นไป สำหรับข้อกังวลเรื่องพายุโคอินุ ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ
 
 
ทางด้านนายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวบรรยายสรุปสถานการณ์น้ําว่า ภาพรวมจากปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทย ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมา ทําให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณ น้ําล้นตลิ่งและน้ําท่วมขังในพื้นที่ เช่น ลุ่มน้ําวัง มีพื้นที่ น้ําท่วมเนื่องจากปริมาณน้ําในแม่น้ําวังล้นตลิ่ง ส่งผลกระทบกับจังหวัดลําปาง และจังหวัดตากบางส่วน ลุ่มน้ํา ยม-น่าน
 
 
จากปริมาณฝนที่ตกในเขตจังหวัดแพร่ ทําให้ปริมาณน้ําในแม่น้ํายมเพิ่มสูงขึ้น เริ่มมีผลกระทบกับ จังหวัดสุโขทัยบางส่วน ลุ่มน้ําเจ้าพระยา ปริมาณน้ําที่จังหวัดนครสวรรค์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ําในแม่น้ําปิงและแม่น้ําน่านยังคงสูงขึ้น ทําให้ต้องมีการบริหารจัดการน้ําและจัด จราจรน้ําในพื้นที่ลุ่มน้ําเจ้าพระยาตอนล่าง
 
 
โดยควบคุมปริมาณน้ําไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้มีผลกระทบ ต่อพื้นที่ท้ายน้ําน้อยที่สุด ในส่วนลุ่มน้ําชี-มูล พื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ําชีปริมาณน้ําเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนในพื้นที่แม่น้ําชีตอนล่างยังคงมีน้ําล้นตลิ่งบริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และจังหวัดยโสธร แต่มีแนวโน้ม ลดลง และในส่วนของลุ่มน้ํามูล มีน้ําท่วมบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากปริมาณน้ําล้นตลิ่งบริเวณสถานี M.7 อําเภอวารินชําราบ โดยปริมาณน้ําดังกล่าวจะไหลลงสู่แม่น้ําโขง ซึ่งปัจจุบันสามารถระบายน้ําได้อย่างต่อเนื่อง
 
 
ทางด้าน ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ กล่าวรายงานสรุปสภาพอากาศว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากร่องมรสุมพุดผ่านส่งผลให้ให้ภาคเหนือ และภาคอีสานได้รับผลกระทบจากน้ำฝน มีน้ำท่วมขัง และดินสไลด์บางพื้นที่ หลังจากนี ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคมจนถึงวันที่ 7 ตุลาคมน้ำฝนจะลดน้อยลง มวลอากาศเย็นเข้ามาแทนที่ และฝนกลับมาตกจำนวนมากอีกครั้ง ตั้งแต่ 7 ตุลาคมเป็นต้นไป สำหรับข้อกังวลเรื่องพายุโคอินุ ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ
 
 
ภายหลังรับฟังบรรยายสรุป นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ จากทุกหน่วยงาน ที่ ร่วมกันทำงานอย่างหนัก ตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์และดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
 
 
อย่างเต็มที่ ตนเองได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาตลอด และเป็นห่วงพี่น้องประชาชน วันนี้ต้องมาดูด้วยตัวเองที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำแห่งนี้ ทั้งเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำแบบ Real-time รับฟังข้อติดขัดในการปฏิบัติงาน เพื่อช่วยให้ท่านได้ทำงานอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพที่สุด ที่สำคัญก็อยากมาให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ในวันนี้ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาประชุมร่วมกันผ่านระบU Video conference เพื่อไม่เป็นการรบกวนหน้างานของท่านที่ทำงานหนักอยู่ในพื้นที่ โดยวันนี้มีสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ กรมอุตุฯ และ ปภ. มาร่วมกันประเมินสถานการณ์น้ำและร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อให้การทำงานคล่องตัวที่สุด ซึ่งเบื้องต้น จากที่ได้รับฟังรายงาน เป็นห่วงสถานการณ์ในจังหวัดลำปาง แพร่ และอุบลฯ ที่ถึงแม้สถานการณ์จะคลี่คลายลงบ้าง แต่ก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องดูแล ฟื้นฟูและซ่อมแชมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนอย่างเรงด่วน โดยเฉพาะ ณ ขณะนี้จังหวัดสุโขทัย น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะต้องรองรับมวลน้ำที่ไหลลงมาจากจังหวัดแพร่ ซึ่งไหลเข้าท่วมทั้งในพื้นที่เกษตรกรรมและตัวเมืองบางส่วนแล้ว
 
 
นายกรัฐมนตรีย้ำ เรื่องสำคัญที่ต้องหารือ คือการวางแผนรับมือกับมวลน้ำที่จะเข้ามาอีกระลอก ซึ่งจะซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปกว่าเดิม การประชุมวันนี้ขอให้ทุกท่านให้ความเห็นอย่างเต็มที่ ติดขัดอะไร
ขอให้พูดกันตรง ๆ เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันสถานการณ์
 
นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 ด้าน ประกอบด้วย 
 
1. สถานการณ์น้ำ ให้กรมชลประทานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดจราจรน้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ลุ่มน้ำยม-น่าน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา
2. ให้หน่วยงาน ได้แก่ จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ กรมชลประทาน ตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ สะพาน และอาคารชลประทาน ให้มีความมั่นคง และพร้อมใช้งานตลอด
ช่วงฤดูน้ำหลาก
3. การช่วยเหลือ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานร่วมกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเช่น เร่งซ่อมแชมที่ อยู่อาศัย กำจัดขยะที่ มากับน้ำ และตามที่ประชาชนร้องขอ
โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บูรณาการระดมสรรพกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพ
หน่วยงานท้องถิ่น
4. พยากรณ์อากาศ ให้กรมอุตุวิทยาติดตามสภาพอากาศ และแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแจ้งเตือนสภาพอากาศกับประชาชน เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด
5. และการแจ้งเตือน ให้กรมชลประทานร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนในพื้นที่ให้ทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

นายกฯ ประกาศแก้ไขปัญหา ยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ

 

วันนี้ (17 ก.ย. 66) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด และพิธีทำลายยาเสพติดของกลางของสำนักงาน ป.ป.ส. โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยราชการเข้าร่วมประชุม นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีรับฟังกรอบแนวคิด สภาพปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. 2566 – 2570 ภายใต้นโยบายและแผน 6 ด้าน จากสำนักงาน ป.ป.ส. พร้อมกับกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า นอกจากปัญหาเรื่องปากท้องและค่าใช้จ่ายสูง ปัญหาเรื่องยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะตั้งเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ลดน้อยลงและหมดไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย รักษา ดูแล ส่งคืนเขากลับสู่อ้อมกอดของครอบครัว ให้มีอาชีพที่เหมาะสม รวมไปถึงการป้องกันที่ต้นน้ำไม่ให้ประชาชนเข้าไปเสพ จนถึงระยะสุดท้ายที่ยึดยาเสพติดมาแล้วนำมาเผาทำลาย รวมถึงการดำเนินการยึดทรัพย์ ปัญหายาเสพติดนั้นมีหลายมิติ หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการขจัดปัญหานี้ออกไปจากสังคมไทย
 
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ลดลง ตัวชี้วัดจะไม่ใช่แค่ตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นความรู้สึกของประชาชนด้วย และภาพข่าวที่เกี่ยวกับข่าวครอบครัวถูกทำร้ายด้วยพิษยาเสพติด เหตุการณ์เหล่านี้จะต้องหมดไป รัฐบาลจะใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ขอให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดที่มีอยู่อย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ผู้ติดยาเสพติดไม่ใช่คนร้าย ฉะนั้นขอให้ชักชวน จูงใจเข้ามาบำบัดรักษาให้การช่วยเหลือเพื่อให้กลับเข้าสู่สังคมได้ เพื่อขจัดปัญหาอย่างครบวงจร ทั้งนี้ จะต้องยึดทรัพย์คนขาย ตัดวงจรการค้าให้สิ้นซาก รวมถึงการลักลอบขนย้ายยาเสพติดจากชายแดน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กอ.รมน. พร้อมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกำชับและผลักดันให้สำเร็จ และขอให้แต่ละจังหวัดช่วยกันดูแลปัญหายาเสพติด ประสานงานกับส่วนกลาง ทุกจังหวัดต้องวางเป้าหมายที่จะลดความเดือดร้อนของประชาชนและจัดให้มีคณะทำงานบริหารยาเสพติดจังหวัด กำกับดูแลและติดตามความคืบหน้ารวมถึงรายงานปัญหาให้กับส่วนกลางทราบ ทุกหน่วยงานต้องทำงานร่วมกันไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพื่อให้แนวทางและนโยบายเบื้องต้นมีประสิทธิภาพสูงสุด และแสดงให้ทุกภาคส่วนเห็นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจจริงกับการจัดการปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาด โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในการดำเนินการเพื่อการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดด้วยตนเอง และรัฐบาลจะจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดขึ้นมาใหม่
 
จากนั้นเวลา 14.30 น. นายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปยัง บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นสักขีพยานในพิธีทำลายยาเสพติดของกลางของสำนักงาน ป.ป.ส. โดยนายกรัฐมนตรีได้ดูวิธีการตรวจพิสูจน์ยาเสพติดเบื้องต้น โดยการใช้ปฏิกิริยาการเกิดสี จากนั้น ดูขั้นตอนการเผาทำลายยาเสพติด ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่าต้องลดระยะเวลาในการทำลายยาเสพติดให้เร็วที่สุด พร้อมกับแนะการแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องเริ่มต้นที่สถาบันครอบครัว โดยรัฐบาลจะทำการพูดคุยเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาออกมาโดยเร็ว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS VIDEO

นายกฯ สักการะครูบาเจ้าศรีวิชัย พร้อมภารกิจเยือนจังหวัดเชียงใหม่

นายกฯ สักการะครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นสิริมงคลในโอกาสเยือนจังหวัดเชียงใหม่ และได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

วันนี้ (17 ก.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางไปถวายเครื่องสักการะและกราบไหว้อนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย บริเวถนนทางขึ้นดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคลในโอกาสเยือนจังหวัดเชียงใหม่ และได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ และพี่น้องชนเผ่าที่มารอให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

หลังจากนั้นได้ก่อนเดินทางขึ้นไปปฏิบัติภารกิจต่อที่หอประชุมเทศบาลเมืองแม่เหียะ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล นายสมพงศ์  อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชน ในกรณีการขยายเวลารับเที่ยวบินเป็น 24 ชั่วโมง ของท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนราชการ ให้การต้อนรับ และมีประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่กว่า 400 คน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น

 

นายกฯ ยืนยันรัฐบาลตั้งใจเดินหน้า สร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2

ในที่ประชุม ตัวแทนประชาชน ได้เสนอความคิดเห็น ปัญหาและผลกระทบจาก การขึ้นลงของเครื่องบินสนามบินเชียงใหม่ ทำให้ประชนได้รับผลกระทบทั้งปัญหาเรื่องฝุ่นควัน หลังคาร่วง และปัญหาเรื่องเสียง โดยประชาชนได้รับผลกระทบมาโดยตลอด ทำให้มีความกังวลต่อการเพิ่มเที่ยวบินหลังเที่ยงคืนว่าอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนมากขึ้น รวมถึงขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และที่ดินทำกินของประชาชน

โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอบข้อเสนอแนะและเรื่องร้องเรียนของประชาชน ว่า จะให้ AOT เร่งเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทันที โดยการขยายสนามบินเชียงใหม่เป็นเรื่องสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยว และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะสั้น ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะเดินหน้าโครงการก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ในอนาคต และจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างเต็มความสามารถ

ขณะที่ นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ระบุว่า AOT มีมาตรการชดเชยพื้นที่ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งปัจจุบัน สนามบินเชียงใหม่มีเที่ยวบินหลังเวลา 20:00 น ประมาณ 30 เที่ยวบิน โดยการขยายเพิ่มจำนวนเที่ยวบินช่วงหลังเที่ยงคืน เป็นเที่ยวบินบินยาวระหว่างประเทศ จะทำให้ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่จะมีการควบคุมปริมาณเที่ยวบิน เพื่อให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นการศึกษาข้อมูล เพื่อการก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 โดยจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5-7 ปีในการศึกษาข้อมูล

นายกฯ หารือการขยายเวลาและเพิ่มเที่ยวบินของท่าอากาศยานเชียงใหม่ รองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางมาที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อพูดคุยและหารือร่วมกับ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มเที่ยวบิน  รวมถึงการขยายเวลาและเพิ่มเที่ยวบินหลังเที่ยงคืนของท่าอากาศยานเชียงใหม่ สำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

นายกฯ เยือนด่านแม่สาย เชียงราย รับหารือจีนแก้ส่งออกผลไม้แม่น้ำโขง

 

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมาด่านพรมแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย สะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 ชายแดนไทย-เมียนมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีระกุล รมว.กระทรวงมหาดไทย และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปรับฟังสถานการณ์การค้าชายแดน และอื่นๆ โดยมีนายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายนำหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเข้านำเสนอปัญหาครบครัน ทั้งนี้เมื่อนายเศรษฐาไปถึงได้เดินพบปะกับเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านที่แตกต่างด้วยหลากหลายชาติพันธุ์โดยบางส่วนได้ยื่นหนังสือขอให้มีพิจารณาสัญชาติ และชาวคะฉิ่นจากบ้านป่ายาง ต.แม่สาย ได้มอบดาบขาวคะฉิ่นให้กับนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงออกถึงความเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลประชาชน นอกจากนี้ยังมี จากน้้นนายเศรษฐาได้เข้ารับฟังข้อเสนอ ณ ห้องประชุมด่านพรมแดนดังกล่าว

.
ซึ่งนายอนุรัตน์ อินทร ที่ปรึกษาหอการค้า จ.เชียงราย ได้นำเสนอว่าการค้าชายแดนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปีโดยปี 2565 เพิ่มขึ้น 30% โดยมีมูลค่การค้ารวมกว่า 97,000 ล้านบาทกับประเทศจีน เมียนมา และ สปป.ลาว แต่ปัจจุบันประสบปัญหาการค้าทางเรือแม่น้ำโขงเพราะท่าเรือกวนเหล่ยซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนยังไม่มีพิธีสารเพื่อรับสินค้าประเภทผลไม้จากท่าเรือ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จึงขอให้รีฐบาลและกรมวิชาการเกษตรช่วยผลักดันเพื่อให้อนาคตการส่งออกผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด ฯลฯ สามารถส่งไปยังประเทศจีนได้ทางเรือซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าในปัจจุบันที่ต้องขนส่งทางบกผ่านประเทศเมียนมาและ สปป.ลาว
.
นอกจากนี้เสนอให้ตั้งตลาดพืชผักที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ชายแดนไทย-สปป.ลาว เพื่อแก้ปัญหาพืชผักจากจีนส่งตรงไปยังตลาดไทย จ.ปทุมธานี แล้วค่อยกระจายไปยังตลาดย่อยในประเทศ ซึ่งที่เชียงของกำลังมีรถไฟเชื่อมไปถึงและใน สปป.ลาว ยังมีการสร้างถนนมอเตอร์เวย์เชื่อมไปถึงจีนซึ่งจะใช้ระยะทางเพียง 180 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 90 นาที จากเดิมที่ใช้ถนนอาร์สามเอซึ่งไกลประมาณ 280 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางร่วม 6-8 ชั่วโมง ขณะเดียวกันเสนอให้ผลักดันโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน เชื่อมกับเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เพราะฝั่งลาวมีเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำที่กำลังมีเศรษฐกิจเติบโต ทั้งนี้หอการค้า จ.เชียงราย ยังเสนอให้มีการออกวีซ่าเมื่อมาถึงหรือออนอะไรวัลให้กับชาวเมียนมา สร้างถนนมอเตอร์เวย์เชื่อมเชียงราย-เชียงใหม่ และแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยลดการปลูกข้าวโพดและส่งเสริมปลูกกาแฟรวมทั้งประสานกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผาด้วย
.
ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับปากจะนำข้อเสนอทั้งหมดไปพิจารณาโดยระบุว่า จ.เชียงราย เป็นจุดยุทธศาสร์การค้าที่สำคัญที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยมีทั้งการค้าชายแดนที่สามารถเติบโตขึ้นได้อีก การท่องเที่ยว การเกษตร ฯลฯ จึงทำให้ตนเดินทางไปเยือนเป็นแห่งแรกๆ นับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรี กระนั้นข้อเสนอบางอย่างก็ต้องนำไปพิจารณาก่อนและการพัฒนาก็ไม่ได้มุ่งไปที่ด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวแต่ต้องพิจารณาเรื่องสังคมความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย
.
นายเศรษฐา กล่าวว่าเนื่องจากงบประมาณมีจำกัดดังนั้นคงจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องทั้งหมดไม่ได้ เช่น มอเตอร์เวย์เชียงราย-เชียงใหม่ เพราะมีถนนสายเดิมอยู่แล้วและทางภาครัฐและเอกชนควรนำไปหารือกันอีกครั้ง ส่วนกรณีวีซ่าออนอะไรวัลก็มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงไม่เฉพาะของประเทศไทยแต่เกี่ยวข้องกับประเทศเมียนมาด้วยจึงต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้ดี กระนั้นการส่งเสริมการค้าชายแดนนั้นรัฐบาลจะให้ความสำคัญอย่างเต็มที่โดยเฉพาะทราบว่ามีมิติใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น สินค้าอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์เป็นที่นิยมของตลาดประเทศเพื่อนบ้านโดยที่แม่สายขายดีรองจากกรุงเทพฯ เลยทีเดียว ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับประเทศจีนนั้นทางคณะรัฐบาลจะเดินทางไปยังประเทศจีนในวันที่ 7-9 ต.ต.นี้ ซึ่งก็จะได้ผลักดันให้มีหน่วยงานระดับมณฑลของจีนเข้าร่วมเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าวต่อไป.
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ สั่งกำชับดูการใช้เงิน ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด

 

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 66 เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 ซึ่งมีเรื่องสำคัญต่าง ๆ ดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ (72 พรรษา) 28 กรกฎาคม 2567 ให้สมพระเกียรติ และขอให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยได้มอบหมายให้ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองฯ
 
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยแนวทางให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎที่เป็นประชาธิปไตยทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ และได้มอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ
 
ส่วนโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) นายกรัฐมนตรีได้ให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพ และกำหนดเวลานำเสนอโดยเร็วที่สุด พร้อมมอบหมายกระทรวงการคลัง หารือสำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อเร่งจัดทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้กับประเทศ
 
นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดำเนินนโยบายเว้นการลงตราวีซ่าชั่วคราวสำหรับประเทศจีน และคาซักสถาน (VISA Free) รวมถึงการผ่อนปรนเงื่อนไข และขั้นตอนการเข้าประเทศสำหรับการจัดแสดงสินค้า และนิทรรศการ โดยให้มีผลบังคับใช้ภายใน 25 กันยายน 2566 เพื่อช่วยสร้างรายได้ และสร้างงานให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก
 
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยยุทธศาตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรี ประธาน โดยได้มอบหมายให้นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินการต่อไป
 
และนายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ ทุกกระทรวง ทบทวนมติ ครม ก่อนหน้ารัฐบาลชุดนี้ ถ้าไม่มีการทักท้วงภายใน 25 กันยายน 2566 จะยกเลิก รวมทั้งสั่งการให้ทุกกระทรวงทบทวนคำสั่ง คสช. ที่เคยบังคับใช้ ถ้าไม่มีการทักท้วงภายใน 9 ตุลาคม 2566 จะยกเลิก โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ยึดหลัก ‘กฎหมายไม่เขียน ถือว่าทำได้’ เป็นหลักการ เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ประชาธิปไตย และอำนวยความสะดวกประชาชน
 
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมสำหรับปรากฏการณ์เอลนีโญ่ (El Nino) ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง 2-3 ปีจากนี้ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นรายจังหวัด และมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะกรรมการ และให้ ดร. ปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ
 
ส่วนนโยบายด้านประมง นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ และจัดตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูทะเลไทยเพื่อความยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมประมง โดยให้คำนึงถึงการบริหารทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
 
นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอมาตรการลดราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้มีผลโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคธุรกิจ
 
ในด้านนโยบายสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อยกระดับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค) โดยให้มีผลโดยเร็วที่สุด เพื่อทำให้ระบบสาธารณสุขมีความทันสมัยขึ้น มีประสิทธิภาพและคุณภาพในการดูแลประชาชนที่ดีขึ้น
 
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินนโยบายพักหนี้เกษตรกร และหนี้ของธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยมีกรอบระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน เพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี
 
และเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่ข้าราชการ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติสั่งการให้กรมบัญชีกลางเร่งศึกษารายละเอียด และกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน ให้มีผลภายในวันที่ 1 มกราคม 2567
 
นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความเอาจริง เพื่อให้ปัญหาผู้มีอิทธิพล อาวุธปืน ยาเสพติด และการซื้อขายตำแหน่งหมดไปอย่างเด็ดขาด จากที่เคยมีการสั่งการหลายครั้งเรื่องอาวุธปืน แต่ไม่ปรากฏผล โดยได้มอบหมายให้นาย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการจัดตั้งทีมทำงาน และกำหนดเวลาการนำเสนอโดยเร็วที่สุด โดยผู้ครอบครองอาวุธปืนและอาวุธอื่นๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ให้นำมามอบแก่ทางราชการที่สถานนีตำรวจที่มีภูมิลำเนาภายใน 30 วัน และหากอาวุธปืนมีทะเบียนถูกต้อง หากจำเป็นต้องพกพา ให้ดำเนินการขออนุญาตพกพาภายใน 30 วัน ตั้งแต่บัดนี้ไป
 
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กำชับ และขอให้คณะรัฐมนตรีกำกับดูแลการใช้เงินนอกงบประมาณในการไปดูงานต่างๆ ให้มีความเหมาะสม และได้ขอให้ปรับลดขนาดขบวนเดินทางของนายกรัฐมนตรี และผู้ติดตาม เพื่อให้มีผลกระทบกับประชาชนในทุกท้องที่ให้น้อยที่สุดอีกด้วย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

นายกฯ ย้ำรัฐบาลพร้อมทำงานใช้จ่ายงบฯ ให้เหมาะสม

 

วันนี้ (6 กันยายน 2566) เวลา 10.00 น. ณ บริเวณโถงกลาง ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษวันนี้ เป็นการพบปะหารือพูดคุยกันครั้งแรกของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ โดยยังไม่ได้มีการสั่งการอะไร แต่ได้ให้แนวทางในการทำงานของรัฐบาลนี้ซึ่งเป็นรัฐบาลของประชาชนในการที่จะทำงานเพื่อประชาชน โดยยึดหลักกฎหมาย ความชอบธรรม และการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างเหมาะสม รวมถึงการให้เกียรติข้าราชการในการสั่งการและทำงานร่วมกัน เพราะข้าราชการถือเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนประเทศและนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้นการปูนบำเหน็จต่าง ๆ ต้องให้เกิดความเป็นธรรม โดยให้พิจารณาจากผลงานเป็นสำคัญ ไม่ใช่ได้มาจากการซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายเรื่องการขนส่งคมนาคมว่า รัฐบาลจะดูเรื่องนี้ทั้งหมดทั้งทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ และทางราง โดยในเรื่องของรถไฟฟ้าต้องดำเนินการให้เกิดการเชื่อมต่อทุกสายอย่างเป็นระบบ และให้ใช้บัตรโดยสารใบเดียวเพื่อความสะดวกในการใช้บริการของประชาชน รวมถึงจะมีการพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมว่าจะเป็นเท่าไร ให้สอดคล้องกับงบประมาณของรัฐบาลที่มีอยู่ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการมอบหมายให้รัฐมนตรีตอบคำถามกรณีที่จะมีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ว่า หากกระทรวงใดเกี่ยวข้องและถูกพาดพิง หรือต้องการข้อมูลรายละเอียดในเชิงลึก เชื่อมั่นว่ารัฐมนตรีทุกคนได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว
 
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำถึงการให้ความสำคัญต่อปัญหาด้านการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญว่า เรื่องการเกษตรและปากท้องของประชาชนไทยทุกคนเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ตระหนักและให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขยายตลาด และการเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะการเพิ่มรายได้สุทธิให้เกษตรกร เช่น การเปิดตลาดใหม่ ๆ การเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก และการลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการส่งออกก็มีส่วนสำคัญในการเพิ่มรายได้ แต่ต้องพิจารณาไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเพียงพอในการบริโภคภายในประเทศด้วย ทั้งนี้ เรื่องของการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญก็เป็นอีกหนึ่งที่รัฐบาลนี้ตระหนักและให้ความสำคัญ โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกในวันที่ 13 กันยายน 2566 นี้ จะมีการหารือเกี่ยวกับการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญด้วย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมต่อไป ขณะเดียวกันในวันที่ 8-9 กันยายนนี้ นายกรัฐมนตรีก็มีกำหนดการที่จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานีและหนองคาย เพื่อรับทราบปัญหาและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย จึงขอเวลาให้ทำงานก่อน
 
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ว่า จะนั่งเป็นประธาน ก.ตร. ด้วยตนเอง โดยกำลังอยู่ระหว่างหาวันเวลาที่เหมาะสมในการที่จะประชุม ก.ตร. ว่าจะเป็นวันใด
 
ส่วนจะมีการใช้โอกาสในการเดินทางเยือนต่างประเทศเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนและต่างประเทศสนใจและเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้นหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นโอกาสหนึ่งในการดำเนินการเรื่องนี้ โดยขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศกำลังรวบรวมรายชื่อผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่จะไปเข้าพบ รวมถึงการนัดหมายที่จะพบปะกับนักธุรกิจระดับโลกด้วย เพื่อรับทราบถึงสิ่งที่ต่างประเทศต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมีอะไรบ้าง

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

“งานตรานกยูงพระราชทาน ฯ ครั้งที่ 18”

 

   นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะผู้บริหารกรมหม่อนไหมเข้าพบนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประชาสัมพันธ์ “งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 โดยมี นายศรัญญู พูลลาภ รองอธิบดีกรมหม่อนไหม นำเสนอนิทรรศการฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไหมไทยคุณภาพผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหม รวมทั้งภารกิจและผลงานของกรมหม่อนไหมให้เป็นที่รู้จัก ตลอดจนเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน ผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหมของเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง


            สำหรับการจัด “งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ครั้งที่ 18 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ไหมไทยล้ำค่า สายใยแห่งภูมิปัญญา พัฒนาสู่สากล” ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 3 กันยายน 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 20.00 น. ณ ฮอลล์ 6-7 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจมากมาย อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ การจัดแสดงเครื่องหมายตรานกยูงพระราชทาน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ประเภทผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าไหมแพรวา ผลงานการประกวด เส้นไหม ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานและผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ประจำปี 2566 ผลงานของกรมหม่อนไหม และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับหม่อนไหม เป็นต้น รวมทั้งยังมีการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทย และสินค้าหม่อนไหม มากกว่า 200 ร้านค้า


            นายศรัญญู พูลลาภ รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า กรมหม่อนไหม มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาไหมไทยตามความต้องการของตลาด ทั้งภายในประเทศและในระดับสากล โดยไฮไลท์สำคัญของการจัดงานตรานกยูงพระราชทานฯ ในครั้งนี้ คือ นิทรรศการการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นการนำเสนอนิทรรศการพันธุ์หม่อน พันธุ์ไหมอนุรักษ์ ที่กรมหม่อนไหมได้รวบรวมและอนุรักษ์ให้คงอยู่ การนำเสนอไหมกินใบหม่อนและไหมที่กินใบพืชชนิดอื่น เช่น ไหมกระท้อน ไหมดาหลา ไหมมันสำปะหลัง และไหมอีรี่ เป็นต้น การนำเสนอการพัฒนาพันธุ์ไหมที่เหมาะสมในการผลิตผ้าห่มใยไหม ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดความชื้น ระบายเหงื่อและน้ำมันจากร่างกาย จึงทำให้รู้สึกแห้งสบายตัว และเย็นแม้ในค่ำคืนของฤดูร้อน นิทรรศการงานวิจัยผลิตภัณฑ์วัสดุทางการแพทย์จากไหมไทย ในส่วนของโครงร่างกระดูกและเต้านม นิทรรศการผ้าไหมลายดอกเอเดลไวส์ ซึ่งกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือ “จากพันธุ์ไม้ สู่แพรพรรณ” ซึ่งเป็นข้อมูลการออกแบบลายผ้าดอกเอเดลไวส์ ประกอบด้วย 5 เทคนิค ได้แก่ มัดหมี่ ยกดอก จก ขิด และ บาติก โดยกรมหม่อนไหมจัดทำขึ้น เพื่อส่งต่อให้ช่างทอผ้าไหมของทุกภูมิภาคได้สานต่องานทอผ้าให้มีความหลากหลาย และเพิ่มมูลค่าให้แก่  ผ้าไหมไทย


            นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ Silk Home ที่เป็นการจำลองการใช้ชีวิตประจำวันใน ห้องรูปแบบ Studio คอนโดมิเนียม โดยมีผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมเป็นหลัก ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ซึ่งผลิตภัณฑ์ใน Silk Home จะมีรายละเอียดของสินค้าและช่องทางการจำหน่ายที่สามารถเลือกซื้อสินค้าดังกล่าวได้ภายในงานที่ได้รับการการันตีคุณภาพและมาตรฐาน ตลอดจน มีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ของทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ซึ่งเป็นบุคคลที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ และสวมใส่ผ้าไหมไทย ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งยังประชาสัมพันธ์การสวมใส่ผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอีกด้วย         

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS TOP STORIES

นายกฯ สั่งหาแนวทางรรับมาตรการ ลดภาษีน้ำมันสิ้นสุด 20 ก.ค.นี้

นายกฯ สั่งหาแนวทางรรับมาตรการ ลดภาษีน้ำมันสิ้นสุด 20 ก.ค.นี้

Facebook
Twitter
Email
Print

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับทราบถึงข้อกังวลของประชาชนและภาคธุรกิจต่อกรณีที่ขณะนี้มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค. 66 โดยมีความกังวลว่าระยะเวลาดังกล่าวอาจจะยังไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศและติดสินใจเกี่ยวกับมาตรการ จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นทันที 5 บาทต่อลิตร จนกระทบต่อค่าครองชีพและเศรษฐกิจในภาพรวม

นายกรัฐมนตรี ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งวิตกกังวล โดยมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลครั้งล่าสุด(ครั้งที่7) ที่รัฐบาลได้อนุมัติให้ดำเนินการเพิ่งเริ่มมีผลเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมาและจะไปสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค. 66 หรือเหลือเวลาอีก 2 เดือนจึงจะสิ้นสุดมาตรการ ยังมีเวลาที่รัฐบาลจะพิจารณาแนวทางต่างๆ มารองรับเพื่อให้ผลกระทบเกิดกับประชาชนน้อยที่สุด

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า  นายกรัฐมนตรีเห็นว่าตามความเหมาะสมแล้วมาตรการที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณ หรือทำให้รัฐสูญเสียรายได้อย่างมีนัยสำคัญนั้น ควรต้องให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณา แต่รัฐบาลรักษาการโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องดูสถานการณ์แต่ละช่วงเวลาว่าควรต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อสามารถดูแลผลกระทบให้เกิดกับประชาชนน้อยที่สุด ไม่เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และเป็นไปตามกฎหมาย

“นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อวางแนวทางรองรับกับมาตรการที่จะสิ้นสุดในปลายเดือน ก.ค. โดยให้พิจารณาปัจจัยต่างๆประกอบกัน เช่น สถานการณ์และแนวโน้มราคาน้ำมันโลก ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านนโยบาย แนวทางไหนดำเนินการได้โดยอำนาจของหน่วยงาน หรือส่วนใดที่ต้องหารือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้จัดทำแนวทางเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี 

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News