Categories
WORLD PULSE

เปิดตลาดเมียนมา เชียงรายจับมือ สคต.ย่างกุ้ง

เชียงรายบุกตลาดเมียนมา จับมือ สคต. ย่างกุ้ง ผลักดันสินค้าท้องถิ่นสู่เมืองเศรษฐกิจ

ขยายโอกาสการค้า เชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดนไทย-เมียนมา

กรุงย่างกุ้ง, 12 มีนาคม 2568 – จังหวัดเชียงรายเดินหน้าขยายตลาดสินค้าท้องถิ่นสู่ประเทศเมียนมา โดยร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง (สคต. ย่างกุ้ง) เพื่อผลักดันสินค้าคุณภาพสูงของผู้ประกอบการในเชียงรายเข้าสู่ตลาดหลักของเมียนมา โดยเฉพาะในกรุงย่างกุ้งซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

คณะผู้แทนจังหวัดเชียงราย นำโดย นาย นรศักดิ์ สุขสมบูรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ นาง ณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย พร้อมภาคเอกชน เช่น สมาพันธ์ SME ไทย จังหวัดเชียงราย, บริษัท เวลคัมทูเชียงราย จำกัด และ บริษัท Bon Burma ได้เข้าพบ นายเอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา ผู้อำนวยการ สคต. ย่างกุ้ง เพื่อหารือแนวทางขยายตลาดภายใต้แบรนด์ “Welcome to Chiang Rai”

แผนการตลาดและการขยายเครือข่ายค้าปลีกในเมียนมา

เชียงรายมีแผนกระจายสินค้าท้องถิ่นคุณภาพสูง เช่น ผลไม้อบกรอบ น้ำผึ้ง น้ำพริกหนุ่ม และข้าวซอยตัด ซึ่งได้รับมาตรฐานส่งออก โดยบริษัท เวลคัมทูเชียงราย จำกัด จะทำหน้าที่รวบรวมสินค้าและดำเนินการขอจดทะเบียน FDA เมียนมา รวมถึงขอใบอนุญาตนำเข้า (Import License) เพื่อให้สินค้าสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับการกระจายสินค้า บริษัท Bon Burma จะเป็นผู้รับผิดชอบโดยใช้เครือข่ายร้านค้า Traditional Trade กว่า 8,000 แห่ง ในย่างกุ้ง พร้อมทั้งอยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่ม Modern Trade เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้า อาทิ Junction City และ Myanmar Plaza เพื่อเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายในตลาดระดับพรีเมียม

ต่อยอดจากโครงการ Business Matching เชื่อมโยงผู้ประกอบการไทย-เมียนมา

การเจรจาทางการค้าครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากโครงการ Business Matching ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งมีผู้ซื้อ (Buyer) จากเมียนมา ลาว และจีน เข้าร่วมเจรจากับผู้ประกอบการ 17 จังหวัดภาคเหนือ ผ่านโครงการร่วมค้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และโครงการเชื่อมโยงการค้าอนุภูมิภาค ซึ่งช่วยสร้างคู่ค้าและขยายตลาดชายแดนอย่างเป็นรูปธรรม

แนวทางแก้ไขอุปสรรคทางการค้าและการขนส่ง

จากการประชุมหารือ สคต. ย่างกุ้ง ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ขั้นตอนการนำเข้าสินค้า อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และข้อจำกัดด้านการโอนเงิน รวมถึงแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น การเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยกับผู้ถือใบอนุญาตส่งออก (Export License) ของเมียนมา เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า

นอกจากนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับ แนวทางการขนส่งสินค้า โดยเสนอให้ใช้เส้นทางขนส่งทางบกผ่าน ด่านท่าขี้เหล็ก-ย่างกุ้ง และทางอากาศผ่าน สายการบิน Pattaya Airways ซึ่งอาจเปิดเส้นทางบินขนส่งสินค้าโดยตรงระหว่างเชียงราย-ย่างกุ้งในอนาคต

เป้าหมายขยายตลาดสินค้าไทยในเมียนมา

หากโครงการนำร่อง “Welcome to Chiang Rai” ประสบความสำเร็จ จังหวัดเชียงรายมีแผนขยายโมเดลไปสู่ “Welcome to Thailand” เพื่อเปิดโอกาสให้สินค้าท้องถิ่นจากจังหวัดอื่น ๆ ของไทยเข้าสู่ตลาดเมียนมา พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายช่องทางสู่ มัณฑะเลย์ และตองจี ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับด่าน ท่าขี้เหล็ก-แม่สาย เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

ความร่วมมือไทย-เมียนมาครั้งนี้ถือเป็น ก้าวสำคัญในการผลักดันสินค้าท้องถิ่นของเชียงรายสู่ตลาดโลก โดยมีเป้าหมายให้ SMEs และ OTOP ไทยเติบโตในตลาดสากล ผ่านโครงข่ายการค้าระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง

สถิติที่เกี่ยวข้อง

  • มูลค่าการค้าชายแดนไทย-เมียนมาในปี 2567: มากกว่า 150,000 ล้านบาท
  • อัตราการเติบโตของตลาดสินค้าส่งออกจากไทยไปเมียนมาในปี 2567: เพิ่มขึ้น 8%
  • จำนวนร้านค้าในเครือข่ายของ Bon Burma ในย่างกุ้ง: มากกว่า 8,000 แห่ง
  • เป้าหมายขยายตลาดสินค้าจากเชียงรายไปยังเมืองสำคัญในเมียนมา: มัณฑะเลย์ และตองจี

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง (สคต. ย่างกุ้ง) / กระทรวงพาณิชย์ / สมาพันธ์ SME ไทย จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ระดมผู้ประกอบการ 17 จังหวัดภาคเหนือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือ 2024

 

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 เวลา 14.00 น. ที่โรงแรมไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานแถลงข่าว โครงการ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือ 2024 NORTHERN BORDER ECONOMY ACCELERATION 2024 ภายใต้ โครงการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ด้วยเศรษฐกิจมูลค่าสูงภาคเหนือ ประจำปีงบประมาณ 2566 ไปพลางก่อน” โดยมี นางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย พร้อมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเชียงราย หอการค้าจังหวัดเชียงราย และผู้ประกอบการธุรกิจในภาคเหนือ 17 จังหวัดเข้าร่วม

 

นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่อยู่เหนือสุดของประเทศ เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มีนักท่องเที่ยวมาเยือนสูงถึง 5 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 34,400 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของภาคเหนือ ทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, และสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมจากเชียงรายสู่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ โดยมีด่านการค้าชายแดน 4 ด่าน ใน 3 อำเภอ ได้แก่ แม่สาย, เชียงของ, และเชียงแสน ซึ่งมีปริมาณการค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มียอดมูลค่าการส่งออกปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท รัฐบาลจึงกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ โดยจังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, และลำพูน ถูกกำหนดให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อโครงสร้างพื้นฐานพัฒนา การค้าเติบโตเศรษฐกิจก็จะดี คนต้องพัฒนาตาม

 

ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลักดังนี้

  1. การอบรมสัมมนาผู้ประกอบการ Boost Up Trader to Overseas วันที่ 21-22 มีนาคม 2567 ณ โรงแรม ไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์
  2. การศึกษาดูงานการค้าชายแดน ที่จังหวัดหนองคาย และ จังหวัดตากในเดือนเมษายน 2567
  3. การประชุม/ สัมมนาร่วมภาครัฐ และเอกชนกลุ่มภาคเหนือของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมเฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่นเชียงราย
  4. กิจกรรม Focus Group การอภิปรายหารือ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาทางการค้า ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมเฮอริเทจ แกรนด์คอนเวนชั่น เชียงราย

 

ทางด้านนางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายมีจุดผ่านแดนถาวร 6 จุด และจุดผ่อนปรนทางการค้าติดกับชายแดนเมียนมา 5 จุด ติดกับ สปป.ลาว อีก 5 จุดเป็นด่านการค้าที่เชื่อมกับเส้นทาง R3B และ R3A จุดหมายปลายทางของการส่งสินค้าจะส่งเข้าสู่ประเทศจีนทำให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ เป็นจุดเชื่อมโยงการค้าชายแดนที่สำคัญ เป็นประตูการค้าชายแดนโดยตรงกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และยังเป็นช่องทางการผ่านแดนที่สำคัญในการเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าชายแดน-ผ่านแดน จากการเปิดเสรีทางการค้า กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคต่าง ๆ ที่บรรลุข้อตกลงระหว่างกัน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

ผู้ประกอบการภาคเหนือตอนบน 2 เตรียมงาน East-Northern Thailand & GMS Expo

ผู้ประกอบการภาคเหนือตอนบน 2 เตรียมงาน East-Northern Thailand & GMS Expo

Facebook
Twitter
Email
Print
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ที่ห้องยูโทเปีย โรงแรมเลอเมอริเดียนเชียงราย รีสอร์ท อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย ในฐานะพาณิชย์จังหวัดกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ระดมผู้ประกอบการจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และจังหวัดน่าน เพื่อประชุมเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ 
 
โดยมี นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ภายใต้โครงการบูรณาการการค้าการลงทุน ปีงบประมาณ 2566 เตรียมความพร้อมในการจัดกิจกรรมงานแสดงและจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (East-Northern Thailand & GMS Expo) โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2566 นี้ ที่ลาน The Road ณ UD TOWN EXPO จังหวัดอุดรธานี กิจกรรมภายในงานจัดให้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม การสาธิตความบันเทิง กิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าตลอดการจัดงาน อาทิ กิจกรรมเจรจาธุรกิจ กิจกรรมการจัดนิทรรศการ East-Northern Thailand Pavilion และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
 
นางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 มีศักยภาพด้านที่ตั้งสามารถเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกับกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่มีศิลปวัฒนธรรม ประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มล้านนาตะวันออก ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหัตถกรรม อุตสาหกรรม สินค้าชุมชน เป็นฐานการผลิตสินค้าการเกษตร โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ชา กาแฟ และผลไม้ (ลำไย ลิ้นจี่) ประกอบกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีแผนในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก (Local Economic) 
 
โดยมีเป้าหมายในการผลักดันสินค้า (Local Plus) จำนวน 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 1. กลุ่ม BCG ที่มุ่งเน้นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สินค้าออแกนิค 
2. กลุ่มสินค้าอัตลักษณ์ ที่ต้องการรักษาภูมิปัญญาเฉพาะถิ่น คุณค่าทางวัฒนธรรม และ 
3. กลุ่มสินค้านวัตกรรม ที่ต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าชุมชน
 
ในการนี้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ในฐานะผู้แทนสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการค้าและการค้าชายแดนมุ่งสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการบูรณาการการค้าการลงทุน เพื่อเพิ่มช่องทางการค้า สร้างเครือข่าย เพิ่มขีดความสามารถทางการค้าการลงทุน ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการภาคเหนือตอนบน 2 โดยมี ผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตำบล 2 จำนวนกว่า 160 คน เข้าร่วมกิจกรรม

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News