Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

กสทช. ผุดไอเดียคุ้มครองสัตว์ ในวงการบันเทิงหลังเกิดดราม่า

กสทช. ร่วมมือทุกภาคส่วน สร้างมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ในวงการบันเทิงไทย

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์แพทย์ นักวิชาการ และผู้แทนองค์กรสื่อมวลชน จัดงานสัมมนาเพื่อหาแนวทางในการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ที่ใช้ในการผลิตสื่อบันเทิง โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่สัตว์ได้รับอันตรายระหว่างการถ่ายทำซ้ำรอยเหตุการณ์ในอดีต

เหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

การจัดสัมมนาครั้งนี้ เกิดขึ้นจากกรณีที่สังคมให้ความสนใจกับเหตุการณ์การใช้สัตว์ในการถ่ายทำละคร โดยเฉพาะกรณีของแมวที่ถูกวางยาสลบ ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการมีมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการดูแลสัตว์ที่ใช้ในการผลิตสื่อบันเทิง

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ

ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์แพทย์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของสัตว์ที่ใช้ในการถ่ายทำ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก หรือสัตว์เลื้อยคลาน การตรวจสุขภาพก่อนการถ่ายทำ การจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และการดูแลโดยสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ผู้แทนจากวงการภาพยนตร์ยังได้แบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานกับสัตว์ในกองถ่าย โดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานและมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลสวัสดิภาพสัตว์โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรนำมาปรับใช้

ความเห็นของนักวิชาการ

นักมานุษยวิทยาได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับเส้นแบ่งระหว่างการใช้สัตว์เพื่อความบันเทิงและการละเมิดสิทธิสัตว์ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ผู้คนมีความตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น

บทบาทของสื่อมวลชนและภาคประชาชน

สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักถึงปัญหาและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ในขณะที่ภาคประชาชนก็มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้น

 

กสทช.ไม่ได้มีหน้าที่แค่ลงโทษหรือไปทำอะไรตามแรงกดดันของสังคม
 

ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์มีความสำคัญในสังคมไทย การกระทำที่กระทบสวัสดิภาพสัตว์จึงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูง ซึ่งสื่อมวลชนควรจะต้องให้คุณค่ากับเรื่องนี้ในการผลิตและนำเสนอเนื้อหา “กสทช.ไม่ได้มีหน้าที่แค่ลงโทษหรือไปทำอะไรตามแรงกดดันของสังคม แต่เรามองว่าทุกเรื่องเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สื่อและสังคมสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น” 

ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าวและเสริมว่า มีการพูดคุยกับวิทยากรเพื่อมาทำงานร่วมกับองค์กรวิชาชีพและกสทช.ในการสร้างแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับการนำดาราสัตว์มาออกสื่อหรือกระบวนการผลิตเนื้อหาต่างๆ ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์

แม้จะไม่มีการทรมานสัตว์ ก็ต้องมีการดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ให้ดี 

 รศ. น.สพ.ดร.สุดสรร ศิริไวทยพงศ์ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การใช้สัตว์ในกองถ่าย ไม่ใช่แค่สุนัขและแมวเท่านั้น แต่รวมถึงสัตว์ทุกชนิด เช่น ช้าง โค กระบือ และงู แม้จะไม่มีการทรมานสัตว์ ก็ต้องมีการดูแลสวัสดิภาพของสัตว์ให้ดี เพราะการกระทำทุกอย่างแม้เพียงการออกจากบ้านหรือพื้นที่ที่สัตว์คุ้นเคยก็สามารถก่อให้เกิดความเครียดและมีผลต่อกระบวนการทำงานของร่างกายสัตว์ได้ “สัตว์ทุกชนิดที่ไปเข้าฉาก ต้องตรวจร่างกายก่อนให้แน่ใจว่ามีสุขภาพแข็งแรง การขนส่งและการเดินทางเหมาะสม เมื่อถึงสถานที่ถ่ายทำ มีที่ให้เขาพักให้เหมาะสมแค่ไหน” รศ. น.สพ.ดร.สุดสรร กล่าว 

นอกจากนี้ การให้ยาต่างๆ กับสัตว์ที่มีผลต่อสรีรวิทยาของร่างกายถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มีกฎหมายควบคุม และต้องทำโดยสัตวแพทย์หรือในการดูแลของสัตวแพทย์เท่านั้น เช่น ก่อนให้ยาสลบแก่สัตว์ ต้องมีการตรวจร่างกายให้แน่ใจว่ามีความพร้อม เพราะเมื่อได้รับยาสลบ หูรูดต่างๆ จะคลาย หูรูดทางเดินอาหารและทางเดินหายใจอยู่ใกล้กัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดการสำรอก สำลักและเกิดการปิดกั้นทางเดินหายใจของสัตว์ได้ ดังนั้นผู้ผลิตละครจึงควรนึกถึงทางเลือกต่างๆ ที่สร้างสรรค์ในการถ่ายทำ เช่น ใช้การตัดต่อที่ไม่ต้องกระทบกระเทือนต่อสัตว์โดยไม่จำเป็น รศ. น.สพ.ดร.สุดสรร กล่าว
 
การอบรมให้เชี่ยวชาญในการดูแลและฝึกสอนสัตว์ที่ต้องทำการแสดงอย่างใกล้ชิด

นางสาวษมาวีร์ พุ่มม่วง ทีมงานกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศที่ถ่ายทำในประเทศไทย โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระ เจ้าของเพจ ‘วันละภาพ’ กล่าวว่า การทำงานกับกองถ่ายทำภาพยนตร์ของต่างประเทศและของไทยมีบริบทที่ยังค่อนข้างแตกต่างกันในหลายด้านด้วยกัน รวมถึงกฎระเบียบวิธีปฏิบัติและงบประมาณ ในกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศหากต้องมีสัตว์มาเข้าฉากจะมีผู้ทำงานในตำแหน่ง animal wrangler ซึ่งต้องมีใบประกอบวิชาชีพเข้าร่วมปฏิบัติงานด้วย โดยจะได้รับการอบรมให้เชี่ยวชาญในการดูแลและฝึกสอนสัตว์ที่ต้องทำการแสดงอย่างใกล้ชิด และมีความละเอียดอ่อนมาก 

 

สำหรับภาพยนตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) เช่น American Humane Association เข้ามามีส่วนร่วมสังเกตการณ์ ประเมินความเสี่ยง ดูแลและตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสัตว์นั้นๆ “ในกองถ่าย[ของไทย] ก็เคยมีการพูดคุยกันมานานว่าทุกสิ่งมีชีวิต แรงงานผู้ใหญ่ แรงงานเด็ก แรงงานสัตว์ ควรถูกยกระดับมาตรฐานชีวิตในการทำงาน อันที่จริงบ้านเราก็มีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้วแต่ขาดการตรวจสอบ ดูแล บังคับใช้ จึงเหมือนกับยังลอยๆ อยู่ ขาดหน่วยงานกลางที่จะมากำกับดูแลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์”

 

ว่าที่ ร.ต.หญิง สพ.ญ. ดร. วัชรี โซ่วิจิตร กรรมการสัตวแพทยสภา กล่าวว่า สัตวแพทยสภามีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของสัตวแพทย์ ซึ่งในอนาคต สัตวแพทยสภาอาจจัดคอร์สสำหรับสัตวแพทย์ที่จะมาเป็นผู้ดูแลการถ่ายทำในกองถ่าย เพื่อสนับสนุนความเป็นวิชาชีพ อันจะส่งผลให้ผู้ชมได้รับความบันเทิงพร้อมๆ กับความปลอดภัยของสัตว์ที่ใช้ในการถ่ายทำด้วย 
“สิ่งที่น่ากลัวคือภาพจำที่จำได้
อย่างไรก็ตาม ว่าที่ ร.ต.หญิง สพ.ญ. ดร. วัชรี กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาในการใช้สัตว์ในอุตสาหกรรมสื่อของไทยที่ยังอาจถูกละเลยอยู่ในหลายส่วน “สิ่งที่น่ากลัวคือภาพจำที่จำได้ เช่น ภาพที่ปูถูกมัดเชือกอยู่ในตะกร้า [ระหว่างออกรายการโทรทัศน์] จระเข้ถูกมัดเอาขาไขว้หลัง เราเห็นเป็นธรรมดาแต่ไม่ได้นึกว่ามันจะเป็นอันตรายต่อสัตว์ การปรากฏภาพซ้ำๆ ประชาชนจะรู้สึกเคยชินโดยไม่เอะใจใดๆ เช่น การเอาสัตว์ exotic มาโยนใส่คนที่กลัวเป็นการแกล้งกันในรายการตลก ในฐานะสัตวแพทย์ เรารู้สึกค่อนข้างทรมานจิตใจมากๆ ที่เห็นแบบนั้น เหมือนโยนเด็กเล็กๆ คนนึงใส่กันแล้ว[เด็ก]ตกลงไปที่พื้น”
“เกิดเส้นจริยธรรม บางๆ พื้นที่สินค้ากับพื้นที่ความเป็นสัตว์
ผศ. ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องสัตว์และความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับมนุษย์ ตั้งคำถามว่า ในการกำกับดูแลจริยธรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวกับการนำสัตว์มาใช้งาน ใครจะเป็นผู้กำหนดแนวทางและกำกับดูแล เช่น คาเฟ่แมว สัตว์ที่อยู่ในวัดอันเกี่ยวเนื่องกับการทำบุญ หรือสัตว์ในสื่อและวงการบันเทิงเช่นในละครหรือดาราสัตว์อย่างฮิปโปแคระหมูเด้งที่กำลังเป็นที่นิยมในสื่อสังคมออนไลน์ “เกิดเส้นจริยธรรม บางๆ พื้นที่สินค้ากับพื้นที่ความเป็นสัตว์ เขาต้องมีความเป็นส่วนตัวไหม สวัสดิภาพของเขาเป็นอย่างไร เราไปที่พื้นที่ของเขา แต่เราก็เรียกเขาตลอดเวลา กระทบอะไรเขาไหม”
 
ผศ. ดร.จิราพร กล่าวว่าอยากฝากประเด็นเหล่านี้ไว้กับประชาชนเพราะเป็นผู้มีอำนาจดูแลตัดสินและขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ที่แท้จริง ทุกคนสามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ได้ นอกจากนี้ ควรถามด้วยว่าเราอยากเห็นอะไรในความตายหรือความมีชีวิตของสัตว์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องจริยธรรมเป็นประเด็นที่ทุกๆ คนเข้าถึงได้ และสะท้อนความเป็นไปของสังคมในแต่ละยุคสมัย ไม่ใช่แค่ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนบอกเท่านั้น ภาพของสัตว์ที่เราเห็นในสื่อและออกมาถกเถียงกันก็เป็นประเด็นทางจริยธรรมอย่างหนึ่ง “เวลามีเรื่องอะไรที ประเด็นก็อาจจะกระพือขึ้นมา เคสใหม่อาจมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ต่างกัน…สัตว์ที่ไม่น่ารัก หรือเราไม่ค่อยได้เจอ เราจะยังคำนึงถึงสวัสดิภาพของมันไหม” ผศ. ดร.จิราพร กล่าว
 
แนวปฏิบัติเรื่องการใช้สัตว์ในรายการ ในละคร ยังไม่เคยมีขึ้น

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในข้อบังคับของสมาคมสภาวิชาชีพฯ ซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ไม่ได้กำหนดเรื่องการใช้สัตว์ในการถ่ายรายการโดยตรง มีเพียงระบุว่าไม่ให้ใช้ความรุนแรงหรือมีการทรมาน ซึ่งในการตีความก็ย่อมหมายรวมถึงสัตว์ด้วย อย่างไรก็ตาม จะมีการร่างแนวปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวขึ้นมาและนำไปรับฟังความคิดเห็นจากทั้งสมาชิกองค์กรวิชาชีพ รวมถึงผู้ให้บริการช่องรายการและผู้ผลิตเนื้อหาในสื่อ ตลอดจนภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

“แนวปฏิบัติเรื่องการใช้สัตว์ในรายการ ในละคร ยังไม่เคยมีขึ้น ดังนั้นถือเป็นสิ่งที่เราต้องทำโดยเร่งด่วน เพราะในตอนนี้มีเคสเกิดขึ้นแล้วและไม่อยากให้เกิดซ้ำ” นายชวรงค์ กล่าว

“การกำกับดูแลกันเองในทางจริยธรรมจะเกิดไม่ได้ถ้าประชาชนและภาคประชาสังคมไม่ตื่นตัว เพราะไม่ใช่เรื่องที่ใช้กฎหมายในการบังคับ ก็ขอบคุณความตื่นตัวในสังคมที่ทำให้เราได้มาคุยกันในวันนี้” นายกสมาคมสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) กล่าว.

 

ข้อเสนอแนะและแนวทางการดำเนินงานในอนาคต

จากการสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมได้เห็นพ้องกันที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดการจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับการใช้สัตว์ในอุตสาหกรรมบันเทิง โดยมีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน มีการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และมีการสร้างความตระหนักให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

เป้าหมายสูงสุดของการดำเนินงานครั้งนี้ คือการสร้างสังคมที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของสัตว์ และเพื่อให้วงการบันเทิงไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากลในด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
FOLLOW ME
MOST POPULAR
Categories
SOCIETY & POLITICS

กระทรวงยุติธรรม ประกาศ“ยุติธรรมต้านโกง โปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน”

 

วันพุธที่ 6 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00 น. พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานมอบนโยบายเนื่องในสัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรม “ยุติธรรมต้านโกง โปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน” ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายยู่สิน จินตภากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 10-09 (Auditorium) อาคารกระทรวงยุติธรรม และผ่านทางระบบ Facebook Live ของกระทรวงยุติธรรม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติเรื่องหลักนิติธรรมกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ สถานะของ หลักนิติธรรม พบว่า ตัวชี้วัดดัชนีหลักนิติธรรมที่สำคัญของ The World Justice Project หรือ WJP ในปี พ.ศ. 2566 จำนวน 142 ประเทศ ประเทศไทยได้อันดับที่ 82 ได้คะแนน 0.49 จากคะแนนเต็ม 1 และ สถานะของการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน พบว่า การขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เผยแพร่ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2565 จากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยได้ 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งจัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ระบุว่า รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศ เป็นการลงทุนทำให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาประเทศ หากมองอนาคต 4 ปีข้างหน้าจะเป็น 4 ปีที่รัฐบาลจะวางรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้กับประเทศโดยยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งและน่าเชื่อถือ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จและเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกรณีการดำเนินงานที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคุณภาพชีวิต รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

“ยุติธรรม ไม่โกง โปร่งใส ไม่คอรัปชัน” เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมกับการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งภารกิจหลักของกระทรวงยุติธรรม คือ ทำให้ความยุติธรรมเป็นไปตามหลักนิติธรรม กับการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมสำหรับทุกคน หรือความยุติธรรมนำประเทศอย่างแท้จริง เท่าเทียมเทียบเท่ากับประชาชนจากอารยประเทศที่เจริญแล้ว การขับเคลื่อนค่านิยมร่วมและวัฒนธรรมองค์กรกระทรวงยุติธรรม ที่กำหนดว่า สุจริต จิตบริการ ยึดมั่นความยุติธรรม เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมทุกคนมีจิตสำนึกในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างลึกซึ้ง มีความสัตย์ซื่อ มีจิตใจรักการบริการ ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม โดยปฏิเสธการทุจริตคอรัปชันทุกรูปแบบ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปด้วยความยุติธรรมอย่างแท้จริง ในโอกาสนี้ กระผมขอให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมประสานความร่วมมือในการพัฒนาและขับเคลื่อนงานยุติธรรมด้วยหลักการว่า “ยุติธรรมต้านโกง โปร่งใส ไม่คอร์รัปชัน” กระทรวงยุติธรรมพร้อมร่วมเป็นพลังสำคัญของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมาย คือ ฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งกับป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งภาครัฐและเอกชน ระดับคะแนนดัชนีหลักนิติธรรม The World Justice Project หรือ WJP กับการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) อยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกในปี พ.ศ. 2579 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

สำหรับโครงการสัปดาห์ต่อต้านทุจริตและส่งเสริมจริยธรรม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2566 เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้กับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม หน่วยงานภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม การรวมพลังแสดงเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริตของกระทรวงยุติธรรม และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การทุจริต ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหา โดยภายในงานจัดให้มีการอภิปราย หัวข้อ “ปัญหาการทุจริตและแนวทางป้องกันการทุจริตในระบบราชการไทย” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนภาครัฐ และ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นตัวแทนภาคเอกชนและภาคประชาชน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News