Categories
All

เตรียมจัดการประชุมคณะกรรมการประกวด เวทีกลาง งานพ่อขุนเม็งรายฯ-งานกาชาด 2567

 

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมธรรมลังกา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ ปลัดจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการประกวดและตัดสินการประกวดการแสดงเวทีกลาง งานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 โดยมีคณะกรรมการดำเนินการประกวด ณ เวทีกลาง งานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

 

การจัดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 กำหนดให้มีการประกวดการแสดง ณ เวทีกลาง ระหว่างวันที่ 26 มกราคม 2567 ไปจนถึง 5 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นเวลา 10 วัน 10 คืน ที่บริเวณสนามบิน ฝูงบิน 416 เชียงราย (สนามบินเก่า) อำเภอเมืองเชียงราย และมีพิธีทางศาสนา พิธีกรรมตามจารีตประเพณี และกิจกรรมที่แสดงออกถึงความร่วมมือของชาวเชียงราย
 
 
ในที่ประชุม ฝ่ายเลขาฯ ได้แจ้งให้คณะกรรมการฯ ทราบถึงกิจกรรมการประกวดการแสดงที่จะจัดขึ้น ณ เวทีกลาง และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบในแต่ละกิจกรรม อาทิ การจัดแผนผัง ตกแต่งเวที และระบบไฟฟ้าแสงสว่าง (มอบหมายโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย) การจัดการประกวดร้องเพลงลูกทุ่งประเภทกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภริยา และประเภทบริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ และพนักงาน (รับผิดชอบโดยที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงราย) การประกวดแสงสี To Be Number One (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย) การประกวดดนตรีนักเรียน/นักศึกษา (สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย) การประกวดรำวงย้อนยุค (สำนักงานท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย) การประกวดธิดาดอย (ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงราย) กิจกรรมเดินแบบผ้าไทย (สำนักงานจังหวัดเชียงราย) การจัดทำและจำหน่วยพวงมาลัย ดอกไม้ ลูกโป่งในการประกวดบนเวทีกลาง (อำเภอเมืองเชียงราย)
 
 
นอกจากนี้ในที่ประชุม ยังได้พิจารณาร่างคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการตัดสินการประกวดการแสดง และกิจกรรมการแสดงเวทีกลาง งานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 พร้อมมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้ดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดงาน คือสืบสานประเพณี โดยให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมในการจัดงาน ที่สำคัญเพื่อให้ชาวเชียงรายได้ร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสวันสถาปนาเมืองเชียงราย ครบรอบ 762 ปี (วันที่ 26 มกราคม 2567)
 
 
โดยในวันที่ 26 มกราคม 2567 
เวลา 07.30 น. พิธีสักการะพระบรมอัฐิพ่อขุนเม็งรายมหาราช และพิธีห่มผ้าพระสถูปพ่อขุนเม็งรายมหาราช ณ วัดดอยงำเมือง 
 
เวลา 09.00 น. พิธีบวงสรวง และทำบุญเมืองเชียงราย ณ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช (ห้าแยกพ่อขุน) พร้อมกันในเวลาเดียวกันนี้กับอีก 6 อำเภอ ได้แก่อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเทิง อำเภอพาน และอำเภอแม่สรวย ซึ่งหลังเสร็จพิธี จะมีการฟ้อนเมืองปูจาไหว้สาพญามังราย ณ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช (ห้าแยกพ่อขุน) โดยนางรำมากว่า 762 คน 
 
เวลา 14.15 น. พิธีไหว้สาพญามังราย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายอำเภอทั้ง 18 อำเภอถวายเครื่องสักการะ ต่อด้วยขบวนแห่ เฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย ซึ่งจะเคลื่อนขบวนไปตามเส้นทางผ่านสวนตุงและโคม เลี้ยวซ้ายแยกศาล เข้าสู่แยกประตูสลี เลี้ยวขวาผ่านหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติ และเลี้ยวซ้ายแยกบรรพปราการ (แยกวัดมิ่งเมือง) มุ่งหน้าสู่ฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) 
 
เพื่อจัดพิธีเปิดงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 และร่วมกันเฉลิมฉลองครบรอบ 762 ปี เมืองเชียงราย โดยการกดปุ่มเปิดไฟให้สว่างไสวทั่วทุกมุมเมือง และสถานที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย พร้อมเปิดงานอย่างเป็นทางการ พร้อมกัน 3 จุด ได้แก่ บริเวณงานพ่อขุนฯ (สนามบินเก่า) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ณ วัดร่องเสือเต้น โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และ ณ บริเวณ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช (ห้าแยกพ่อขุน) โดยนายกเทศมนตรีนครเชียงราย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

ดราม่าค่าที่ “งานพ่อขุนฯ” พ่อค้าแม่ค้าหวั่นแพง ผู้จัดฯ ยัน! ค่าที่ถูกกว่าครั้งที่แล้วแน่นอน

 

ผู้ค้ารายย่อยบางรายในจังหวัดเชียงราย เผยเกิดกระแสดราม่าค่าที่ จากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ต้องการจับจองขายของที่งานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 รวม 10 วัน 10 คืน ณ สนามบินฝูงบิน 416
.
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งมีอาชีพค้าขาย จะขายของตามงานเทศกาลต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงราย โดยในโพสต์ระบุว่า “งานพ่อขุนปี 67 ตอนนี้ตกลงได้จัดงานแล้ว แต่อยากทราบว่าใครได้มาจัดงานครับ ในฐานะพ่อค้าในจังหวัดอยากให้ทาง จว.พิจารณาผู้ที่มาจัดงาน เล็งเห็นและให้โอกาสพ่อค้าแม่ค้าในจังหวัดที่ราคาไม่สูง เนื่องจากยุคเศรษฐกิจแบบนี้ ผมในฐานะคนค้าขายซึ่งเป็นคนเชียงราย อยากให้ จว.พิจารณาให้ถี่ถ้วนเล็งเห็นความเดือดร้อนของพ่อค้าแม่ค้า ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้จัดงาน เพราะการลงทุนในแต่ละครั้งมีความเสี่ยง ถ้าค่าล็อกแพงไป ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยในจังหวัดเชียงรายที่เคยค้าขายกันมาทุก ๆ ปีได้รับความเดือดร้อนกันเป็นจำนวนมากเนื่องจากราคาค่าที่สูงเกินความเป็นจริงกว่าทุก ๆ ปี ทางกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าชาวเชียงรายจึงขอความเมตตากับทางจังหวัดได้โปรดพิจารณาคัดเลือกทีมงานผู้จัดที่มีคุณธรรมและเก็บค่าเช่าที่แบบมีเมตตาธรรม”
.
ทั้งนี้ หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้ามาคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก อาทิ “จัดงานผูกขาดรายเดิม ๆ ค่าล็อกเพิ่มขึ้นทุกปีครับ”, “เขาบ่าสนใจหรอก ได้เงินประมูลงานไปแล้วกะตัวใครตัวมันละ มันบ่าเหมือนสมัยก่อน”, “ตอนนี้ผมยังไม่รู้ราคาค่าล็อกเลยพี่แต่ถ้าแพงเกินไปก็ไม่ไหวในฐานะคนเชียงราย”
.
ล่าสุดวันนี้ (24 ธ.ค. 66) ทีมข่าว ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจแผงขายของตามเทศกาลต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองเชียงราย ก็ยังมีพ่อค้าแม่ค้าพูดถึงเรื่องนี้กันเป็นจำนวนมาก โดยทีมข่าวได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายเอ” (นามสมมติ) หนึ่งในพ่อค้าที่กำลังตัดสินใจจะลงขายในงานพ่อขุนเม็งรายมหาราชและงานกาชาด ประจำปี 2567 ซึ่งปกติแล้วนายเอจะขายพวกของทอด และจะขายเฉพาะงานเทศกาลเท่านั้น เพราะปกติทำงานประจำอยู่แล้ว

[บทสัมภาษณ์ระหว่างทีมข่าวกับนายเอ]

ทีมข่าว : การขายของในงานฯ ปีที่ผ่าน ๆ มาเป็นอย่างไรบ้าง?

นายเอ : คนจัดงานฯ ครั้งก่อนถ้ามีปัญหาตรงไหน อะไรที่แพงไป หรือว่าเศรษฐกิจไม่ดี ก็จะรับฟังทุกปัญหา และอะลุ่มอล่วยเสมอ หากเราได้ที่ขายของเล็กไปหรือใหญ่ไปก็สามารถที่จะขอคุยกับเขาได้ตลอด

ทีมข่าว : ครั้งที่แล้วมีคนพูดถึงเรื่องค่าที่แพง หรือมีนายหน้ามาเหมาที่ไปขาย ตามที่มีพ่อค้าแม่ค้าพูด ๆ ถึงกันหรือไม่?

นายเอ : ถ้าหมายถึงมีคนเหมาแล้วไปขายต่อแพง ๆ ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับ เพราะว่าเมื่อรอบที่แล้วผู้จัดงานฯ ที่ผ่านมาคือจะมาตั้งโต๊ะที่งานเลย ที่สนามบินเก่า ไม่ใช่แค่วันเดียวนะ ตั้งเป็นเกือบเดือนเราก็ขับรถไปที่สนามบินเก่าเพื่อที่จะไปคุยดูว่าจะได้ที่ตรงไหนได้ จะเอากี่เมตร ขนาดใหญ่เท่าไหร่ ราคาเท่าไหร่ครับ เมื่อครั้งก่อนผู้จัดจะรู้อยู่แล้วว่าร้านใครอยู่ตรงไหนเพราะจัดทุก ๆ ปี พ่อค้าแม่ค้าก็จะเป็นการโทรไปจองบอกแค่ชื่อร้าน เขาก็มีข้อมูลเก็บไว้ แต่ถ้าเป็นเจ้าใหม่ก็ต้องไปเสียบพื้นที่ว่าว่างไหม ใครอยากจะขายของมีพื้นที่ว่างอยู่ ยังไม่มีเจ้าประจําก็เข้าไปติดต่ออะไรประมาณนั้น ส่วนครั้งนี้ส่งข่าวมาทางไลน์กลุ่ม แล้วก็คือมีคนไปเดินแจกใบปลิวตามงาน ให้โทรจองล็อกแล้วก็ขอเก็บค่าล็อก

ทีมข่าว : ของงานรอบที่แล้ว ค่าที่เท่าไหร่?

นายเอ : มันอยู่ที่ 10,000 – 20,000 บาทนะ มันแล้วแต่ว่าได้ตรงไหน หมายถึงว่าถ้าได้ที่ลานขายเครื่องดื่มมันก็แพง ก็สแกนหน้างานเอาครับ ดูหน้างานอีกทีนึงครับ ทางผู้จัดเดิมก็ชัดเจน เขาก็จะบวกเพิ่มหรือลดลงก็ตามนั้นไป เขาก็มีข้อมูลหมดทุกอย่าง

ทีมข่าว : ที่มีคนโทรไปถามเรื่องค่าที่ตามใบปลิวของงานในครั้งนี้ ราคาเท่าไร?

นายเอ : ก็ได้ยินข่าวมาว่าค่าล็อกประมาณ 40,000 ถึง 50,000 บาท เลยคิดว่าค่อนข้างแพง ทีนี้ส่วนตัวยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะเอา เพราะราคาล็อกแพงขนาดนั้น ผมไม่ไหว แต่ก็คือล่าสุดที่ผมไปเจอคนที่เขาขายที่งานนี่มานานแล้วเป็น10-20 ปี เขาก็ให้ฟังว่าปีนี้ค่าที่แพง เขาก็เลยยังไม่ตัดสินใจที่จะเอาหรือไม่เอา ทั้ง ๆ ที่เขาขายมา 20 กว่าปีแล้ว เป็นร้านใหญ่เป็นของคนเชียงราย

ทีมข่าว : มีสิ่งที่ต้องการพูด หรือมีข้อเสนอแนะอะไรไหม?

นายเอ : ส่วนตัวไม่มีติดใจอะไร ก็คืออยากให้คิดเรื่องใจเขาใจเรา ว่าปีที่ผ่านมามันเป็นยังไงแล้วถ้าปีนี้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ค่าที่แรงกว่าเดิม พ่อค้าแม่ค้าคงเหนื่อย ทํามาค้าขายยาก ทุกคนก็ขายเพื่อหวังกําไรอยู่แล้ว แต่ว่าการขายเพื่อที่จะให้ได้กําไรมันต้องดูต้นทุนด้วยไง แต่ถ้าล็อก 40,000 บาท ซื้อของอีก 20,000 บาท และมีอย่างอื่นอีก ยังไม่ได้ทําอะไรเลย แต่ตังค์เสียไปเป็นแสนประมาณนั้น มันก็ใจเขาใจเรา ผมก็เลยยังไม่ตัดสินใจที่จะเอา

วันก่อนก็เจอพี่ชายที่ค้าขายด้วยกัน แกก็เล่าให้ฟังว่าค่าล็อกแพงมากแล้วก็ครั้งนี้การจัดมันอาจจะแออัดกว่าเดิมที่มีเห็นผังที่เค้าเอามาแจก ซึ่งเราก็เข้าใจระบบการจัดการ ก็คือมีทั้งส่วนราชการทั้งมูลนิธิ แต่ปีนี้ในผังไม่ค่อยเห็นเยอะเท่าไหร่เพราะมันเหลือครึ่งเดียว ยังไงก็ต้องมีคนไปขายของเนาะ แต่ต้นทุนที่มันแพงขึ้นกว่าเดิมแล้ว เราต้องการการบริหารจัดการให้พ่อค้าแม่ค้าได้ขายของดีเหมือนเดิมแค่นั้นเอง คือตอนนี้รู้สึกว่าค่าล็อกแพงครับ

สุดท้ายตอนนี้เรายังไม่รู้นะว่าการที่เขาเปิดราคามาที่ผมได้ยินมาเนาะ ที่ราคา 40,000 – 50,000 งานครั้งที่แล้วร้านค้าไม่ได้จํากัดเวลาว่าหลัง 6 โมงหรือทุ่มนึงเนี่ยเก็บบัตร แต่ต้องมีตัวตนที่แท้จริงว่าขายอะไรประมาณนี้ ครั้งนี้ไม่รู้ว่าเขาจะจํากัดเวลาใหม่ คืออารมณ์ประมาณแบบพ่อค้าแม่ค้าต้องอยู่ภายในงานหรือภายในร้านก่อน 5 โมงเย็น 6 โมงบางร้านมันต้องวิ่งออกไปซื้อของมาเพิ่มเติมหรือบางร้านนู่นนี่นั่นขาด เขาต้องออกไปมันจะยุ่งยากไหมไม่รู้ แล้วเข้ามาต้องเสียค่าบัตรหรือไม่

ตอนนี้คือหนึ่งมีการแจกใบปลิว แต่ผู้จัดคือคนไหน ตอนนี้คือเขายังไม่ชัวร์ใช่ไหม ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้าเขาก็กลัวเหมือนกันที่จะเอาหรือไม่เอาเพราะว่ามันก็เปลี่ยนผู้จัดเนาะ และค่าล็อกที่อาจจะแพงขึ้นกว่าเดิม คำถามก็คือ คนที่ขายอยู่แล้ว 20 กว่าปีเนี่ยเขาก็จะไม่ได้ที่เดิมหรือได้ที่เดิมเขาก็ยังไม่รู้อะ เขาก็เลยไม่กล้าที่จะจอง ผมอยากให้คนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่เคยขายก่อนเนี่ย ได้มีที่ขายเดิมอะไรประมาณนี้ครับ โดยเฉพาะคนในจังหวัดนั้นให้มีสิทธิ์เลือกก่อน เพราะนี่มันเป็นงานของจังหวัดไม่ใช่เป็นงานที่อื่น

ต่อมาทางทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์ ได้ลองติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์บนใบปลิวดังกล่าวจากข้อมูลที่ได้รับแจ้งมา โดยใบปลิวได้ลงชื่อผู้ติดต่อจองล็อกว่าคือคุณดำ เบื้องต้นทราบว่าเป็นผู้จัดการเรื่องการจองล็อกขายของในงานดังกล่าว ทางทีมข่าวจึงได้ขอสัมภาษณ์เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าเช่าพื้นที่ ว่ามีการตั้งเกินราคาตามคำกล่าวอ้างของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหรือไม่

[บทสัมภาษณ์ระหว่างทีมข่าวกับคุณดำ]

ทีมข่าว : ค่าที่ในงานพ่อขุนเม็งรายมหาราช และงานกาชาด ประจำปี 2567 ครั้งนี้ 40,000 ถึง 50,000 บาท ราคานี้จริงหรือไม่?

คุณดำ : เป็นไปไม่ได้ แล้วใครจะไปจอง 50,000 บาท พูดเป็นนิยายนะคะ เป็นไปไม่ได้ค่ะเพราะเราไม่เคยจัดงานแพงขนาดนั้น มันคือ 20,000-30,000 กว่า แต่ต้องวัดเป็นเมตร รอบนี้ของเรายังถูกกว่าที่ผ่าน ๆ มาอีก ตอนนี้เท่าที่สรุปเหมือนว่าเมตรนึงก็อยู่ที่ประมาณ 4,500 บาท นี่คือขั้นราคาสูงนะ ขั้นต่ําก็มีนะเพราะมันมีเป็นโซน ๆ นะคะ แต่ละโซน ราคานี้มันอยู่ที่สาย สาย A สาย B มันอยู่ที่เลือก คนต้องการพื้นที่สวยหน่อยตั้งร้านขายดีการเข้างานดี มันก็สวย มันก็แพงอยู่แล้วไม่ว่าที่ไหน

ทีมข่าว : แล้วครั้งที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่เท่าไหร่?

คุณดำ : เมื่อปีที่แล้ว เมตรนึงก็อยู่ที่ 5,000 6,000 บาท 7,000 บาทก็มีแต่มันขึ้นอยู่กับโซน สูงสุด 8,000 บาท แต่ปีนี้เริ่มที่ 4,500 ค่ะ สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท

ทีมข่าว : แล้วที่บอกว่าที่ละร้านค้าแจ้งว่าราคาแพง คือซื้อไปปล่อยต่อให้ มันแพงจริงหรือไม่?

คุณดำ : มีค่ะ มีส่วนค่ะ เช่นมีมุมแบบสวย แล้วรู้อยู่แล้วว่าตัวนี้มีร้านค้าในมืออยู่แล้ว เขาก็ขอซื้อเลย 20 ล็อก 30 ล็อกแล้วก็เอาไปบวก แต่ไม่น่าจะถึง 40,000 กว่า ไม่น่าจะมีนะคะ มันแรงเกินไป มันก็เป็นไปไม่ได้ เชียงรายเราก็รู้อยู่มันไม่ใช่ว่าที่แพงแล้วคุณจะต้องแย่งกันเข้า มันเป็นไปไม่ได้ค่าที่แพง เขาไม่ลงก็มี

ทีมข่าว : วิธีการซื้อพื้นที่ต้องทำอย่างไร คำนวนอย่างไร?

คุณดำ : คือล็อกนึงจะคิดเป็นเมตร เช่น 1 เมตร แล้วตลอดงานก็คืออย่างครั้งนี้มี 10 วัน ก็ตกวันละ 450 บาท คิดมาละ 10 วัน ก็คือ 4,500 บาท มันต้องคิดอย่างนี้ แล้วก็มีค่าไฟก็ดวงและ 30 บาท ต่อวัน ต่อดวง

ทีมข่าว : แล้วปีนี้ไม่มาตั้งโต๊ะ แต่เปลี่ยนเป็นแจกใบปลิวให้โทรศัพท์หาแทน เกิดจากอะไร ติดปัญหาส่วนไหน?

คุณดำ : เรากําลังเตรียมงานเนาะ ปีนี้เนี่ยเราพยายามจัดงานให้ไม่เหมือนที่ผ่าน ๆ มา เพราะว่าที่ผ่านมาการเดินเข้างานมันไกลมาก แล้วอีกอย่างงานก็เหมือนเดินไปโซนหัวถึงหาง นี่มันเป็นหลายกิโลเลยนะ แล้วอีกอย่างร้านค้ามันก็กระจาย ตอนนี้เราทํายังไงก็ได้ ให้คนที่มางานเดินวนอยู่เที่ยวในงานจะได้ค้าขายกันไปให้ทั่ว ถ้ามันกว้างความยาวมันมากไปมันก็เหมือนจะกระจายไป คนเดินที่อยู่ในล็อกบางทีก็เป็นแค่เมตรดีกว่าค่ะ เมตรมันถูกกว่า

ถ้าเทียบค่าที่กับภาคกลาง ภาคอีสาน ของเราภาคเหนือถูกที่สุดที่อื่นมาเป็นแสน ๆ นะ สมัยก่อนพี่วิ่งทีงาน 9 วัน 10 วันเนี่ยเสียค่าที่ 70,000 บาทถึงแสนนะ ถ้าพูดถึงทางเหนือเราเนี่ยมันก็ได้ประมาณขนาดนี้เลย แพงกว่านี้เป็นไปไม่ได้แล้วค่ะ ส่วนงานนี้พ่อค้าแม่ค้าคนไหนที่จะจอง ต้องบอกว่าเดี๋ยวรอผังก่อน รอผังงานมาก่อนว่าเราจะจัดโซนไหน แล้วโซนไหนราคาเท่าไหร่

ทีมข่าว : เป็นไปได้หรือไม่ที่มีทีมของคุณดำเอง ไปปล่อยราคาล็อกแพง?

คุณดำ : พี่เป็นคนเชียงราย ใครที่เป็นคนเชียงรายลงกับพี่ถูกกว่า เราเป็นคนในท้องถิ่น ดูแลกันเองอยู่แล้ว แล้วอีกอย่างร้านค้าก็รู้อยู่แล้วว่าที่ใครที่มัน แต่ถามว่ามีไหม มันก็มีคนที่ตัดเอาโซนไปปล่อย รู้อยู่แล้วว่าข้างหน้าเนี่ย 30 ล็อกเนี่ย มีคนต้องการอยู่ เอาเงินสดไปตัดไปจองก่อนมันก็มีอยู่ แต่เราก็ไม่ไปยุ่งมันขึ้นอยู่กับการสะดวกใจของร้านค้าที่จะซื้อราคานั้น

แต่ไม่ต้องกลัวนะ คนเชียงรายจองที่กับพี่ไม่มีแพง เราไม่ให้คนเชียงรายต้องมาเสียเปรียบคนอื่น หรือต้องให้คนอื่นมาว่าบ้านเมืองทําไมขายกันเองทำไมแพง อะไรแบบนี้ไม่มีแน่ ราคาคนเชียงรายราคาพิเศษ ซึ่งผู้จัดก็ย้ำกับพี่บอกว่าไม่เป็นไร การทําปีนี้คืนกําไรให้ลูกค้าไปเลย

ทีมข่าว : แต่ถูกกว่าปีก่อนแน่ ๆ ใช่ไหม?

คุณดำ : แน่นอนคอนเฟิร์ม ส่วนคนที่จะซื้อราคาที่มีคนตัดล็อกไป ก็ขึ้นอยู่กับความพอใจตกลงกันเองเขาก็ต้องยอม ก็ถ้าคุณเป็นคนที่อื่นจะกล้าซื้อราคาล็อก 40,000 บาทกว่า

ยิ่งปีนี้ลดวันกว่าปีที่แล้วไปวันหนึ่ง แล้วเราจะไปเอาแพงกว่า มันเป็นไปได้ยังไง เป็นไปไม่ได้หรอกค่ะ ใครสนใจจะจองล็อกติดต่อพี่ดำได้เลย อยากจะเข้ามาค้าขายติดต่อพี่ดําได้ คนเชียงรายต้องมีสิทธิ์ได้ลง ค่าที่ต้องไม่แพง เรื่องโซนเดี๋ยวมาว่ากันอีกที เพราะต้องรอผู้ใหญ่สรุป
.
และสำหรับใครที่สนใจติดต่อจองพื้นที่กับคุณดำในงานพ่อขุนเม็งรายมหาราช และงานกาชาด ประจำปี 2567 สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0891795458 (คุณดำ) โดยทางทีมข่าวได้ทำการขออนุญาตลงเบอร์โทรศัพท์ในบทสัมภาษณ์เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าชาวเชียงรายทุกท่านได้จองล็อกในราคาพิเศษ อย่างที่คุณดำแจ้งไว้ในตอนต้น

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News