Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

‘ภูมิธรรม’ ตั้งโต๊ะคุยคนรุ่นใหม่เชียงราย YEC ถกแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า

 

มื่อวันที่ 19 มีนาคม เวลา 17.30 น. ภายหลังจบการประชุม ครม.สัญจร จังหวัดพะเยา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไปหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ YEC และ Moc Biz Club ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่ร้านอาหารภูพันธ์ จ.เชียงราย เพื่อส่งเสริมการค้าให้กับจังหวัด แก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า และแลกเปลี่ยนความเห็น ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเชียงรายมาจัดแสดง อาทิ ผ้าทอจากกลุ่มชาติพันธุ์ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวหอมมะลิเชียงราย กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง กล้วยตาก ชาอู่หลง สับปะรดภูแลเชียงราย (GI) เครื่องเคลือบเวียงกาหลง เป็นต้น

 

 

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ตนเดินทางมาต่างจังหวัดอยากพูดคุยกับผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ เช่น กลุ่ม YEC กลุ่ม MOC Biz Club เพราะเป็นกลุ่มที่มีความรู้เห็นโลกกว้าง สอดรับกับปัจจุบันที่ระเบียบโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ถ้าใช้เครือข่ายจะยิ่งมีพลัง ยิ่งมีเครือข่ายข้ามจังหวัดได้จะยิ่งมีพลัง ให้ทั้งชนชั้นกลางและทุกส่วนเติบโต ตนในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุน เราพร้อมช่วยให้ท่านมีพลัง และกระทรวงพาณิชย์ต้องการเชื่อมเครือข่ายทุกจังหวัดให้ส่งเสริมกัน

 

 

จากนั้นนายภูมิธรรมได้หารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับกลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยผู้ประกอบการ อยากให้รัฐหาแหล่งเงินกู้ ปัจจุบันดอกเบี้ยสูงและกู้ยาก ส่วนที่ประสบปัญหาอยากให้ขยายเวลาชำระหนี้พยุงให้ผู้ประกอบการรายเล็กอยู่รอดได้ และคนรุ่นใหม่ปัจจุบันไม่ได้รับโอกาสในการทำธุรกิจเท่าที่ควร จึงเข้าสู่เมืองหลวงทำให้ต่างจังหวัดไม่มีโอกาสได้คนรุ่นใหม่มาทำธุรกิจหรือตั้งตัว อยากให้ช่วยโปรโมตสินค้า ส่งเสริมให้คนมาเที่ยวเมืองรองอย่างเชียงรายมากขึ้นเป็นจังหวัดมีความพร้อมด้านสุขภาพเพราะมีทั้งโรงพยาบาลและสินค้าสุขภาพ

 

 

 ”ตอนนี้เศรษฐกิจซบเซามีปัญหากำลังซื้อไม่มีผู้ประกอบการ SMEs ล้มหายตายจาก เป็นหนี้ เจอโควิดมา 3 ปี สงครามการค้า สงครามรัสเซีย-ยูเครน อิสราเอล-ฮามาส มาตรการทางการค้าเราใช้หมดแล้ว 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลทำงานแบบไม่มีงบ ต้องกระตุ้นกำลังซื้อทุกขอบเขตให้เงินกระจายทั่ว แต่วันนี้แบงก์ไม่ยอมลดดอกเบี้ย ตนอยากให้เศรษฐกิจเมืองรองแข็งแรง จะได้ทำให้เศรษฐกิจประเทศโตได้ ซึ่งต้องสร้างความเข้มแข็งทุกช่องทางช่วยคนตัวเล็กชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร SMEs ใช้กลไกใหม่ในการส่งเสริม ที่ตนก็กำลังทำใช้อินฟลูเอนเซอร์และซีรีส์วายมาช่วยสร้างการรับรู้สินค้าและสร้างยอดขาย ต้องเห็นช่องทางจะเป็นประโยชน์กับสินค้าท้องถิ่น อยากให้ทุกคนเป็นตัวเชื่อมในระดับจังหวัดให้แข็งแรง และเชื่อมโยงไปจังหวัดอื่นร่วมกันเติบโต อยากเห็นการทำเครือข่ายทั้งประเทศ ให้เดินไปข้างหน้าร่วมกัน“ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
ECONOMY

สศช. เผย Chiang Rai Wellness City ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ ครม.สัญจร

 

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่(ครม.สัญจร.)กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน2 (พะเยา เชียงราย น่านและแพร่)ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดจำนวน 9 โครงการรวมวงเงิน 155 ล้านบาทและโครงการภาคเอกชนอีกจำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 145 ล้านบาท รวม 300 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กรอ.) เสนอ

 

 

โดยโครงการที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.สัญจรจังหวัดพะเยา จำนวน 13 โครงการเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการภายใน 1 ปี มาจากข้อเสนอของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 9 โครงการ และภาคเอกชน 4 โครงการ จากจำนวนโครงการเร่งด่วนที่เสนอเข้ามามีจำนวนทั้งสิ้น 15 โครงการ โดยมีโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.สัญจรจ.พะเยาดังนี้ 
โครงการของจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด 9โครงการ ได้แก่

1.โครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงอาหาร Gastronomy tourism สู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างสร้างสรรค์ และยั่งยืน วงเงิน 20 ล้านบาท 

2.โครงการ A Cup to Village เพิ่มขีดความสามารถการเป็นนวัตกรด้านชาและกาแฟเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน วงเงิน 15 ล้านบาท 

3.โครงการยกระดับสินค้าและบริการด้านสุขภาพของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 วงเงิน 15 ล้านบาท

4.โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ วงเงิน 26.12 ล้านบาท

5.โครงการยกระดับการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูง ตามแนวทางตลาดนํา นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ จังหวัด พะเยา วงเงิน 23.88 ล้านบาท 

6.โครงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและยกระดับการท่องเที่ยวน่านสู่ท่องเที่ยวคุณภาพสูง วงเงิน 14 ล้านบาท

7.โครงการน่านเมืองเก่ามีชีวิต สร้างสรรค์ เมืองแห่งวัฒนธรรมสู่มรดกโลก วงเงิน 21 ล้านบาท 8.โครงการเกษตรปลอดภัยและมูลค่าสูง (กาแฟ) จังหวัดน่าน วงเงิน 15 ล้านบาท 

9.โครงการยกระดับการผลิตภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าจังหวัดแพร่ วงเงิน 5 ล้านบาท

 

 

กลุ่มที่ 2 โครงการซึ่งเป็นข้อเสนอของภาคเอกชน  4 โครงการ วงเงินรวม 145.88 ล้านบาท ประกอบด้วย 

1.โครงการพัฒนาทางหลวงหมายเลข 1202 ตอนควบคุม 0200 ตอน สันต้นแหน – ป่าแดด ตําบลโรงช้าง อําเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย วงเงิน 50 ล้านบาท 

2.โครงการอํานวยความปลอดภัยให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมเชียงรายเมืองแห่งสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City) วงเงิน 50 ล้านบาท 

3.โครงการพลิกโฉมถนนสายวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ Soft Power พะเยา วงเงิน 25.88 ล้านบาท 

4.โครงการสูบน้ำขึ้นดอย สอย PM2.5 สร้างป่าคาร์บอนเครดิต วงเงิน 20 ล้านบาท

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า 2 โครงการที่กรอ.จังหวัดภาคเหนือตอนบน2 เสนอ ครม.สัญจร จ.พะเยา แล้วยังไม่ผ่านความเห็นชอบมี 2 โครงการได้แก่  โครงการเชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City) วงเงิน 50 ล้านบาท และโครงการ โครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองเก่าแพร่ วงเงิน 45 ล้านบาท โดยทั้งสองโครงการที่ประชุม ครม.ให้ปรับปรุงรายละเอียดของโครงการใหม่แล้วเสนอเข้ามาสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้งตามขั้นตอนต่อไป


ทั้งนี้ความเห็นของ ครม.ในส่วนของโครงการทั้งสองโครงการที่ให้มีการปรับปรุงโครงการได้แก่ โครงการเชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ ต้องการให้มีการปรับลดในส่วนของการฝึกอบรม และเพิ่มเติมในส่วนของงบประมาณที่ลงไปส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนก่อน ส่วนโครงการเมืองเก่าแพร่นั้นที่ประชุมเห็นว่าในส่วนของงบประมาณ 45 ล้านที่ขอมา 37 ล้านบาทนั้นเป็นการใช้ไปในเรื่องของการจัดซื้อวัสดุและครุภัณฑ์ จึงอยากให้มีการปรับปรุงแก้ไขในส่วนนี้ลงให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการให้ชุมชนได้รับงบประมาณส่วนนี้มากที่สุด

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

“สันติ” หนุนศูนย์วิทย์ฯเชียงราย ด้านการวินิจฉัยสุขภาพแม่และเด็กแบบครบวงจร

 

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม  นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารลงพื้นที่ตรวจราชการก่อนการประชุม ครม. นอกสถานที่พื้นที่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2  ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างมูลค่าเพิ่ม พืชสมุนไพร เพื่อเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรไทยตามเป้าหมาย 13 Quick Winของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อส่งเสริมและพัฒนาประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และเป็นศูนย์กลางการแพทย์มูลค่าสูงในภูมิภาคอาเซียน   ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพ  เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชน

โดย นายสันติ  ยังเป็นประธานเปิด โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์สู่ชุมชน พร้อมเยี่ยมชมบูธนิทรรศการผลการดำเนินงานของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย และเครือข่าย อาทิ การวินิจฉัยสุขภาพแม่และเด็ก การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test การตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช การพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP/SME การพัฒนาสมุนไพร และมอบผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงแก่ อสม. จำนวน 1,000 ชุด โดยมีนพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย อสม. ร่วมต้อนรับ ที่ โรงแรมเฮอริเทจ อำเภอเมือง จ.เชียงราย

 

หนุนศูนย์วิทย์เชียงราย ความเป็นเลิศตรวจสารเคมีป้องกันศัตรูพืช  

นายสันติ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีหน่วยงานส่วนภูมิภาคในพื้นที่เชียงรายคือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย ซึ่งรับผิดชอบการให้บริการตรวจวิเคราะห์วิจัยในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 ประกอบไปด้วย จ.เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน มีการดำเนินงานที่สำคัญที่สนับสนุนงานสาธารณสุขหลายเรื่อง ทั้งการพัฒนาอสม.ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ซึ่งมีความรู้ในการใช้ชุดตรวจ การพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนให้ได้มาตรฐาน

นอกจากนี้ ยังมีห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทั้งด้านโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ มีห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด สามารถตรวจคัดกรองโรคหายากจำนวน 40 โรค และด้านคุ้มครองผู้บริโภค มีห้องปฏิบัติการตรวจเฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ได้ถึง 132 ชนิด

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเชียงรายมีด่านนำเข้าสินค้าหลายด่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด่านนำเข้าอาหารและยาเชียงของ มีมูลค่าการนำเข้าผักและผลไม้สดมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งมีปริมาณนำเข้าปีละ 20,888 ตัน รองจากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี  ดังนั้นเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคในประเทศไทย จึงพร้อมสนับสนุนให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย พัฒนาขีดความสามารถทางห้องปฏิบัติการให้ได้ 250 ชนิด และผลักดันเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และด้านการวินิจฉัยสุขภาพแม่และเด็กแบบครบวงจร ในเขตสุขภาพที่ 1 โซนภาคเหนือ

 

ตรวจยีนผิดปกติเด็กไทย 1.5 หมื่น พบผิดปกติ 2 ราย สงสัยโรคหายาก

ด้านนพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการตรวจโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกในทารกแรกเกิด หรือโรคหายาก ในเขตสุขภาพที่ 1 ของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 จากเด็กไทยจำนวนทั้งหมด 15,056 ราย มีผลผิดปกติยืนยันเด็กไทยป่วยจำนวน 2 ราย เด็กต่างด้าวจำนวน 1 ราย และพบเด็กไทยสงสัยโรคหายากที่ไม่ได้อยู่ใน 40 โรค จำนวน 2 ราย ซึ่งได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการรักษาแล้ว ทั้งนี้แผนการพัฒนาในอนาคตมีการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวินิจฉัยสุขภาพแม่และเด็กแบบครบวงจร โดยเพิ่มศักยภาพในการตรวจ ธาลัสซีเมียชนิด Beta mutation การตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ด้วยวิธี Non-Invasive Prenatal Testing (NIPT) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์

ในส่วนการเฝ้าระวังความปลอดภัยของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้าง มีแผนพัฒนาในปี 2568 ให้สามารถตรวจวิเคราะห์สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชจาก 132 ชนิด เป็น 250 ชนิด และรายงานผลภายใน 36 ชั่วโมง เพื่อให้ด่านนำเข้าอาหารและยานำผลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศให้ได้บริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง

 

รพ.แม่ใจ จ.พะเยา โดดเด่นแพทย์แผนไทย ผลิตสมุนไพรร่วมชุมชน

รมช.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลแม่ใจ จ.พะเยา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลาง จำนวนเตียงตามกรอบ 30 เตียง ให้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 249 คนต่อวัน มีความโดดเด่นในการดำเนินงานการแพทย์แผนไทยและโรงงานผลิตสมุนไพร ที่ได้พัฒนางานด้านการผลิตยาสมุนไพรร่วมกับชุมชน ตั้งแต่ปี 2542 เพื่อผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพสำหรับใช้ในโรงพยาบาลและสถานบริการในเครือข่ายสาธารณสุขของ จ.พะเยา

พร้อมกับพัฒนาส่งเสริมเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูก – ผลิตสมุนไพรใน อ.แม่ใจ และอำเภออื่น ๆ ของจังหวัดในการปลูก – ผลิตสมุนไพรที่ปลอดภัย มีคุณภาพ เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงเป็นการผลิตวัตถุดิบในการผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพการผลิตยาสมุนไพรของโรงพยาบาลแม่ใจ ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตยาสมุนพรที่ดี จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขและได้รับมอบหมายให้ดำเนินการผลิตยาสมุนไพรสำหรับใช้ในระบบการรักษาผู้ป่วยของภาครัฐ ทั้งในระดับโรงพยาบาลและระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในเขตบริการสุขภาพ ที่ 1 โดยผลิตสมุนไพร จำนวนทั้งสิ้น 26 รายการ

 

ชูศูนย์สุขภาพแผนไทย รพ.แม่ใจ 

นอกจากนี้โรงพยาบาลแม่ใจ ยังดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยให้บริการ “ศูนย์สุขภาพแผนไทย โรงพยาบาลแม่ใจ” และ”การนวดวิถีไทย และผลิตภัณฑ์สมุนไพร GMP ใช้วัตถุดิบจากชุมชนต้นน้ำกว้าน” ซึ่งเน้นการบริการด้านการนวดเชิงสุขภาพ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้วัตถุดิบสมุนไพรจากพื้นที่ ผลจากการดำเนินงานดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลแม่ใจเป็นโรงพยาบาลและพื้นที่ต้นแบบด้านการส่งเสริมสุขภาพ (Health Literacy) และได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านผ่านมาตรฐานโรงพยาบาลส่งเสริมและสนับสนุนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ระดับดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังได้รางวัลชมเชยโรงงานผลิตยาสมุนไพรดีเด่นระดับชาติ ประเภทโรงพยาบาล

 

รพ.พะเยา เคลื่อนรพ.อัจฉริยะบำบัดฟื้นฟูยาเสพติด

หลังจากนั้นได้ลงพื้นที่ไปยังโรงพยาบาลพะเยา เพื่อติดตามการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด จ.พะเยา การดำเนินงานโรงพยาบาลอัจฉริยะรองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระบบการแพทย์ฉุกเฉินการช่วยเหลืออุบัติเหตุทางน้ำจังหวัดพะเยาและการดำเนินงานการป้องกัน และการแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

“ดร.มนพร” ตรวจโครงข่ายทางถนน เพิ่มประสิทธิภาพ เชียงราย-พะเยา

 
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมพร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจความคืบหน้าการพัฒนาโครงข่ายทางถนน จ.เชียงราย-พะเยา พร้อมทั้งรับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชน
 
 
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ติดตามโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1020 เชียงราย – อ.เชียงของ ตอน อ.เทิง – บ.ต้า เพื่อเพิ่มความจุของถนน รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น ระยะทาง 16 กม. ค่าก่อสร้าง 998.9 ล้านบาท กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2567 จากนั้น ดร.มนพร ได้ลงพื้นที่ด่านชายแดนบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา ร่วมกับนายกรัฐมนตรี รับฟังข้อเสนอจากทางจังหวัดที่ขอให้กรมทางหลวง เร่งรัดดำเนินการสำรวจและออกแบบถนนให้เป็นเส้นทาง 4 ช่องจราจร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่สะดวกรวดเร็วขึ้น และเดินทางมาที่มหาวิทยาลัยพะเยา ติดตามโครงการก่อสร้างทางลอดหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ที่อยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณก่อสร้างในปีงบประมาณ 2568 
 
 
 
เนื่องจากปัจจุบันทางเข้ามหาวิทยาลัยพะเยา มีการจราจรหนาที่หนาแน่น และมีแนวโน้มการสัญจรที่สูงขึ้น เนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าประกอบกับมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กรมทางหลวงจึงแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ ระหว่างจุดตัดทางหลวงหมายเลข 1 กับทางเข้ามหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งมุ่งเน้นการทำให้การจราจรมีความคล่องตัว มีความปลอดภัยลดผลกระทบต่อชุมชน โดยการศึกษาที่เหมาะสมคือออกแบบเป็นทางแยกต่างระดับแบบวงเวียน โดยก่อสร้างทางลอด บนทางหลวงหมายเลข 1 ทำให้การเดินทางเป็นอิสระ (free flow) และการจัดการจราจรบริเวณจุดตัดเป็นวงเวียน (Roundabout) มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 1.7 กม.
 
 
 
ดร.มนพร กล่าวว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาโครงข่ายทางถนน จ. เชียงราย – พะเยา เพื่อติดตามความก้าวหน้า และรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการพัฒนาเส้นทางคมนาคมดังกล่าวทำให้เพิ่มประสิทธิภาพแก้ไขปัญหาด้านการจราจร สอดคล้องกับแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอนาคต ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนและลดการเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการคมนาคมขนส่งโดยรวม 
 
 
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ได้เน้นย้ำในเรื่องการก่อสร้างให้เคร่งครัดในมาตรการความปลอดภัย และการเร่งรัดให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนมีระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย รวมทั้งช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในการขนส่งสินค้าและท่องเที่ยวของประเทศให้ดีขึ้น
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ประชาสัมพันธ์กระทรวงคมนาคม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

รมว.ธรรมนัส นำทีมเกษตร ขึ้นเหนือม่วนใจ๋ เช็กอิน ‘พะเยา’

 
เมื่อวันที 14 มีนาคม 2567  ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเตรียมลงพื้นที่ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย และแพร่) และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ณ จังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 18 – 19 มีนาคม 2567 ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจราชการครั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายกำหนดทิศทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือนตอนบน 2 (จังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย และแพร่) ในทุกมิติ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสุขภาพ และมิติด้านสภาพแวดล้อมที่ดี มีเป้าหมายให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ภายในปี 2570 โดยในส่วนของประเด็นการพัฒนาด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะผลักดันและขับเคลื่อน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
 

        ประเด็นการพัฒนาที่ 1 พัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง มุ่งลดต้นทุนการผลิต ใช้ระบบ AI ช่วยการผลิต และส่งเสริมเกษตรกรแบบอัจฉริยะ สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายเกษตรกรที่เป็น Smart Farmer, Young Smart Farmer และ Smart Product, จัดระบบตลาดและโลจิสติกส์เกษตรชุมชน ส่งเสริมการส่งออก การทำตลาดเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย (Niche Market) และส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีในการทำตลาดการเกษตรแบบดิจิทัล
 

        และประเด็นการพัฒนาที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาสุขภาวะวิถีใหม่สู่ความยั่งยืน (new normal to sustainable โดยส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถการเป็นคลังอาหารปลอดภัย ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรมาตรฐานควบคุมคุณภาพ GAP ส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การทำตราสินค้า (Branding) และตรารับรองคุณภาพสินค้า (Quality Mark) พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและแปรรูป เช่น สมุนไพร ให้ได้มาตรฐาน
 

        ขณะที่กำหนดการประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ครั้งนี้ ได้ปักหมุด ณ จังหวัดพะเยา ซึ่งปัจจุบันจังหวัดพะเยา มีพื้นที่ทั้งหมด 3.959 ล้านไร่ หากพิจารณามิติด้านการเกษตร พบว่า มีการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร 1.503 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 37.96 ของพื้นที่ทั้งหมด ครัวเรือนเกษตร 77,868 ครัวเรือน พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ลำไย ลิ้นจี่ กระเทียม หอมแดง และมันสำปะหลัง มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) กว่า 35,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จังหวัดพะเยายังมีสินค้าโดดเด่น ที่ได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มีจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวก่ำล้านนา ข้าวหอมมะลิพะเยา และ ลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย และมีสินค้า OTOP ของจังหวัด รวมทั้งสิ้นกว่า 2,098 ผลิตภัณฑ์ มียอดจำหน่ายสินค้ามากถึง 2,394 ล้านบาท/ปี โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินงานตามนโยบายการผลักดันสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง คัดเลือกประเภทสินค้าเกษตร จำนวน 6 ชนิด ได้แก่
 
1) โคเนื้อ ต.บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา 
2) ข้าวหอมมะลิ ต.จำป่าหวาย อ.เมือง จ.พะเยา 
3) มันฝรั่ง ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา 
4) ปลานิล ต.แม่ปืม ต.บ้านตั้ม อ.เมือง จ.พะเยา 
5) ลิ้นจี่ ต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา 
และ 6) ลำไย ต.ภูซาง อ.ภูซาง จ.พะเยา
 

   ทั้งนี้ จังหวัดพะเยา ถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองที่สำคัญ ลักษณะภูมิประเทศเต็มไปด้วยบรรยากาศและทัศนียภาพที่น่าค้นหา เป็นเมืองเก่าที่น่าย้อนรอยอดีตในบรรยากาศเมืองล้านนาร่วมสมัย โดยเฉพาะชื่อเสียงของกว๊านพะเยา ที่ถือเป็นหัวใจของจังหวัด จนมากลายมาเป็นต้นกำเนิด พิธีการเวียนเทียนหนึ่งเดียวของโลก ตลอดจนมีแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สวยงาม มีเสน่ห์ตามภูมิประเทศของเมืองเหนือ ทั้งภูเขา สายหมอก และผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งการลงพื้นที่ของ ครม.สัญจร ที่จังหวัดพะเยาครั้งนี้ ได้เตรียมหารือและขับเคลื่อนในส่วนของการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาด่านชายแดน จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา การก่อสร้างรถไฟรางคู่ แนวทางการผลิตสุราชุมชน โครงการชลประทานพะเยา โครงการก่อสร้างระบบน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมือง รวมทั้งการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News