Categories
TRAVEL

เตรียมนั่งรถไฟกรุงเทพฯ – เวียงจันทน์ เปิดเที่ยวปฐมฤกษ์ 19 ก.ค.นี้

 

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เตรียมเปิดเดินขบวนรถเที่ยวปฐมฤกษ์ ระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ที่มีกำหนดเปิดให้บริการเป็นทางการในวันที่  19 ก.ค.นี้ นำโดย “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีพร้อมร่วมเดินทางออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในเวลา 20.30 น. 

 

โดย ขบวนรถเที่ยวปฐมฤกษ์ จะเดินทางด้วยขบวนรถเร็วที่ 133 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 11  ชั่วโมง ในการเดินทางและผ่านกระบวนการพิธีศุลกากรผ่านแดน (ขาออก) ณ สถานีหนองคาย ก่อนจะถึงสถานีปลายทางเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) และผ่านกระบวนการพิธีศุลกากร (ขาเข้า) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

สำหรับแนวเส้นทางให้บริการรถไฟ สายกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ จะใช้เส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแยกออกจากทางรถไฟสายเหนือที่สถานีรถไฟชุมทางบ้านภาชี ผ่านจังหวัดสระบุรี เข้าสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ จังหวัดนครราชสีมา ผ่านจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย ก่อนจะข้ามสะพานมิตรไทย-ลาวแห่งที่ 1 เข้าสถานีรถไฟท่านาแล้ง และสิ้นสุดที่สถานีเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้การรถไฟฯ ได้เดินทางไปร่วมประชุมกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) โดยมีประเด็นหารือ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 

1.แผนการเปิดเดินรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุดรธานี –หนองคาย – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) รวมถึงแผนการทดลองเดินรถเสมือนจริง ซึ่งกำหนดไว้ในระหว่างวันที่ 13 -14 ก.ค. 2567 

2.แผนพัฒนาตลาดด้านการท่องเที่ยว 

3.แผนการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ 

4. การเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งสินค้าระหว่าง ไทย – ลาว- จีน 

 

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาการรถไฟฯ ยังได้ร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว ทำการทดลองและทดสอบการเดินขบวนรถไฟระหว่างสถานีอุดรธานี-สถานีหนองคาย-สถานีท่านาแล้ง-สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 โดยผลการทดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอุปสรรคในการเดินรถใดๆ  

 

ทั้งนี้ การเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุดรธานี – หนองคาย – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในครั้งนี้ จึงนับเป็นการขยายความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ จากปัจจุบันที่สามารถเปิดเดินรถถึงสถานีท่านาแล้ง (สปป. ลาว) และเมื่อสามารถให้บริการได้เต็มรูปแบบจนถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) จะก่อให้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวอย่างมหาศาล 

 

โดยสามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่น ซึ่งเป็นการยกระดับระบบโลจิสติกส์ของทั้งสองประเทศ สอดคล้องกับนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และโลจิสติสก์ของภูมิภาค

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

“มนพร“ ตรวจคืบหน้าพัฒนาโครงข่าย คมนาคมทางน้ำ จ.เชียงราย

 
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพันธ์ คุณากรวงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ และได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนและติดตามโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต โดยมีนายดรุฒ คำวิชิตธนาภา กรรมการ กทท. นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. นายอภิเสต พงษ์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ กทท. สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ และพนักงาน กทท.ให้การต้อนรับ ณ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน จังหวัดเชียงราย
 
 
โครงการส่งออกสัตว์มีชีวิตที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ได้ผ่านความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว และสามารถดำเนินโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต (โคเนื้อ กระบือ สุกร) ผ่านที่ ทชส. ในพื้นที่ 1 บริเวณพื้นที่ท่าเรือแนวลาดฝั่งทิศใต้ ได้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป โดยคาดการณ์ปริมาณสัตว์ส่งออกสุกร 15,000 ตัว/เดือน หรือ 180,000 ตัว/ปี โค กระบือ จำนวน 5,000 ตัว/เดือน หรือ 60,000 ตัว/ปี ส่งผลให้ ทชส. มีรายได้จากการดำเนินโครงการฯ เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10 ล้านบาท ทั้งนี้ การส่งออกสัตว์มีชีวิตผ่านที่ ทชส. ต้องปฏิบัติตามแนวทางตามระเบียบของกรมปศุสัตว์และระเบียบพิธีการของกรมศุลกากรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การขนถ่าย เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยผู้ประกอบการต้องทำนัดหมายช่วงเวลาในการขนถ่ายสัตว์ล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง การล้างสิ่งปฏิกูลและฉีดยาฆ่าเชื้อ การขนย้ายโดยมีที่กั้นที่แข็งแรง ถ่ายเทอากาศได้ดี มีอุปกรณ์ช่วยขนสัตว์ขึ้นลง รวมทั้งการทำความสะอาดจุดขนถ่ายสัตว์ เมื่อดำเนินการขนถ่ายแล้วเสร็จ เป็นต้น
 
 
“ปัจจุบันโครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต (โคเนื้อ กระบือ สุกร) ที่ ทชส.ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมเจ้าท่าและการท่าเรือฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินโครงการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเกษตรกรที่อยู่บริเวณพื้นที่โดยรอบท่าเรือและอำเภอเชียงแสนตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามแนวทางตามระเบียบของกรมปศุสัตว์และระเบียบพิธีการของกรมศุลกากร เพื่อเป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” นางมนพร กล่าว
 
 
ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า “โครงการส่งออกสัตว์มีชีวิต เป็นการใช้พื้นที่ ทชส. เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะเกษตรกรที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของ ทชส. ที่สามารถให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว อันจะเป็นการสร้างรายได้ ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการส่งออกสัตว์ที่อาจจะมีราคาต่ำลง และเชื่อว่าแนวคิดต่างๆ ทั้งภาคเกษตรกร ภาคธุรกิจที่ได้ร่วมประชุมหารือในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อ ทชส. ในการให้การสนับสนุนและต่อยอดด้านการค้าการขนส่งในพื้นที่ต่อไป”
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : การท่าเรือแห่งประเทศไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News