Categories
TOP STORIES

เด็กออกกลางคันพุ่งทะลุ 1 ล้านคน เศรษฐกิจซบเซา พ่อแม่ดึงลูกออกจากระบบ

 

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ในฐานะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์เด็กออกกลางคันหรือเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ในปีนี้เป็นไปอย่างหนักหน่วง โดยจากข้อมูลกสศ. พบว่าในปี2566 มีเด็กออกกลางคันประมาณ 1,025,514 คน  ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจะมีเด็กออกกลางคันปีละกว่า 5 แสนคน ถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างเท่าตัว และส่วนใหญ่เด็กจะออกกลางคันในช่วงรอยต่อระหว่างมัธยมต้นไปสู่มัธยมปลาย แต่ปัจจุบันพบว่ามีจำนวนเด็กที่ออกกลางคันในช่วงรอยต่ออื่น เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เช่น จากระดับประถมศึกษาไปสู่ระดับมัธยมศึกษา หรือจากมัธยมศึกษาตอนต้นไปสู่สายอาชีพ

 

“สำหรับสาเหตุเด็กออกกลางคัน ไม่ได้มาจากเรื่องความยากจนเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต  เพราะการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา มีความสัมพันธ์กัน ตอนนี้การเมืองหม่นหมองจนสร้างความไม่มั่นใจให้กับการทำงาน การลงทุน เศรษฐกิจถดถอยซบเซาจนสังคมมีสภาพผุกร่อน ไปถึงเรื่องระบบการศึกษาที่มีปัญหา ทำให้เด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้น ในอดีตเราอาจจะมองเพียงแค่เรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นหลักเพราะเป็นเรื่องของความยากจน แต่ในตอนนี้มันเป็นเรื่องของ 3-4 ระบบที่กล่าวมาจนส่งผลให้ครอบครัวของเด็กตัดสินใจในการเอาลูกตัวเองออกจากระบบการศึกษา”นายสมพงษ์ กล่าว

 

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวคิดว่าการศึกษา ขณะนี้มีลักษณะของการตื่นตัว พยายามเข้ามาช่วยเหลือเรื่องวิกฤตเด็กออกกลางคัน อย่างนโยบาย Thailand 0 Dropout ที่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมามีการลงนามความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับ 11 หน่วยงานในการผลักดันนโยบายนี้ หรือ นโยบาย พาน้องกลับมาเรียน ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นความพยายาม ในการช่วยเหลือเด็กออกนอกระบบ  เพียงแต่สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น ไปเร็วกว่าการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาดังกล่าว ไป 1 หรือ 2 ก้าว  ทำให้ยังไม่ตอบโจทย์เด็กกลุ่มนี้ ซึ่งมีอยู่กว่า 15% ของประเทศ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องดำเนินการ จึงไม่ใช่เพียงแค่การลงนามความร่วมมือหรือ ขับเคลื่อนระดับนโยบายเพียงอย่างเดียว  แต่ต้องเร่งค้นหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งการเยี่ยมบ้าน การจัดสวัสดิการ การหาทุนการศึกษา รวมถึงการสร้างงานให้ผู้ปกครอง ต้องมองเด็กรุ่นนี้ว่าเป็นทรัพยากรพลเมืองสำคัญ เพราะเขาจะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พวกนี้เป็นปัจจัยที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ

 

นายสมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ช่วง2-3ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดเก่าไม่ได้ทุ่มเทเอาใจใส่กับวิกฤตเด็กออกกลางคันให้ดีเท่าที่ควร  ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19  ทำให้มีคนตกงาน  ครอบครัวมีหนี้สิน และเด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านผ่านมือถือ จนเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย เด็กมีพฤติกรรมเชิงลบเข้าสังคมไม่เป็น เรื่องพวกนี้เป็นพื้นฐาน ให้เด็กปรับตัวได้ยาก เมื่อเปิดเรียนออนไซต์เต็มรูปแบบ  และสิ่งที่จะเห็นได้อีกอย่างคือ ปัญหาสุขภาพจิต ซึมเศร้า ยังไม่รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กเข้าถึงยาเสพติดได้ง่าย

 

“เด็กที่มีพฤติกรรมเชิงลบกับระบบการศึกษาก็จะถูกผลักออก ขณะที่อีกจำนวนมาก ไม่พร้อมกับการศึกษาที่ไม่อ่อนโยน ไม่ผ่อนปรน และไม่ยืดหยุ่น ปัญหาหลัก คือโครงสร้าง ระบบ และหลักสูตรการวัดผล ซึ่งผมคิดว่ายังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ทำให้เด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงการศึกษาที่ดีมีคุณภาพและเท่าเทียมกัน ส่วนเรื่องที่ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องการจะปฎิวัติการศึกษานั้น  ต้องเริ่มจากการเร่งจัดทำร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ โดยเน้นหลักสูตรฐานสมรรถนะ และการนำระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ มาใช้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกล  เพราะเรื่องการศึกษา มีหลายมิติ ดังนั้นการแก้ปัญหาก็ต้องมองในภาพรวมหลายมิติด้วยเช่นกัน  สิ่งที่ศธ.จะต้องทำให้ดีที่สุด คือ เปิดกระทรวงรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์และแก้กฏระเบียบที่สกัดกั้นไม่ให้เอกชนกับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการศึกษา  การศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของศธ. เพียงลำพัง โดยปัจจุบันสัดส่วนการจัดการศึกษากว่า 76% เป็นเรื่องของ ศธ. ส่วนท้องถิ่น 18% และเอกชนเพียง 5-6% เพียงเท่านั้น ฉะนั้นศธ.ต้องลดการจัดการลงมาให้เหลือ 50% เพื่อให้ท้องถิ่นกับเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา หน่วยงานละ 25% ทำให้เกิดการจัดการศึกษาที่หลากหลาย และมีความช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง”นายสมพงษ์ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

‘หัวเว่ย’ ผนึกกำลัง ม.ราชภัฏเชียงราย ยกระดับการศึกษาปรับตัวเข้าตัวยุคดิจิทัล

 

เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา หัวเว่ยจัดงาน Digital Sustainable University Day อัพเดทเทรนด์เทคโนโลยีและโซลูชันไฮไลต์เพื่อการเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสำหรับปรับตัวในยุคดิจิทัลของสถานศึกษา โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และลานนาคอม จัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

 

นายวิลเลี่ยม จาง ประธานธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาในทุกๆ ด้าน และยังมีแนวโน้มที่จะมีพัฒนาการด้านความอัจฉริยะมากขึ้นทั้งการเรียน การสอน การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนถึงการจัดการระบบ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

 

กิจกรรมการเรียนการสอนได้เปลี่ยนจากการใช้กระดานดำแบบดั้งเดิมมาเป็นเครื่องมือมัลติมีเดีย จากการเรียนรู้เริ่มทำได้ไร้ข้อจำกัด และจากการบรรยายแบบทางเดียวไปสู่การเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น
ในฐานะผู้ให้บริการด้าน ICT ชั้นนํา

หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะนําเครือข่ายแคมปัสอัจฉริยะ ศูนย์ข้อมูล การประมวลผลคลาวด์ ห้องเรียนอัจฉริยะ และเทคโนโลยีอื่น ๆ มาใช้ในการพัฒนาบุคลากรด้านนวัตกรรมในการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา เร่งให้เกิดนวัตกรรมในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

โดยจากการจัดอันดับของ QS World University Rankings มหาวิทยาลัยกว่า 30 แห่งจาก 100 อันดับแรกของโลกได้เลือกให้หัวเว่ยเป็นพันธมิตรในการนำเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ประสิทธิภาพในการวิจัย และความสามารถด้านนวัตกรรม

“การจัดงานเทคโนโลยีในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นงานด้านเทคโนโลยีแบบฮาร์ดคอร์เท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้พบปะกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจริงๆ เพื่อพัฒนาความร่วมมือให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งเป็นสถานที่สําหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับแถวหน้าของโลก หากเราสามารถใช้ข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้างคุณค่ามากมาย“

ในโอกาสนี้ยังได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือในโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่ (Huawei ICT Academy) เพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาความรู้ความสามารถในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนเตรียมความพร้อมในเทคโนโลยีเฉพาะทาง เพื่อเป็นการบ่มเพาะบุคลากรในอนาคตให้มีทักษะความสามารถด้านดิจิทัลตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม

โดยผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมผ่านโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่ จะได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพของหัวเว่ย ซึ่งเป็นการรับรองที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมระดับโลก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการสมัครงานของนิสิตนักศึกษา รวมไปถึงโอกาสฝึกงานกับบริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย ตลอดจนอาจได้เป็นพนักงานของหัวเว่ยหรือบริษัทในเครือพันธมิตร ซึ่งปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเข้าร่วมในโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่แล้วมากกว่า 2,200 แห่งทั่วโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับหัวเว่ย ซึ่งก็ถือเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่ได้โฟกัสเพียงเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของบุคลากรและนักศึกษา รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี

ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนสู่การเป็น CRRU Smart University อีกด้วย และเชื่อว่าความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล และเกิดประโยชน์แก่ทั้งนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร รวมถึงการให้บริการสังคมแก่พี่น้องประชาชนทุกคนอย่างแน่นอน”

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ตลาดนัดแนะแนวอาชีพสร้างโอกาสเด็กและเยาวชน เลือกสร้างทางการศึกษา

 

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 นายพิสุทธิศักดิ์ ธรรมะวุฒิสุข ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนและบัตร ได้เป็นประธานในการเปิดงาน ตลาดนัดแนะแนวอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกของการเรียนต่อและมีงานทำ ที่ สวนสุขภาพ 100 ปี อ.เชียงคำ จ.พะเยา โดยมี นายธีระชัย สมฤทธิ์ นายกเทศมนตรีตำบลเชียงคำ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่เข้าร่วมจัดซุ้มนิทรรศการให้กับเด็กและนักเรียนกว่า 300 คน เข้าร่วม ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.เพื่อเด็กและเยาวชนฯ ในพื้นที่ของโครงการฯ จังหวัดพะเยา ได้จัดกิจกรรม นิทรรศการตลาดนัดแนะแนวอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกของการเรียนต่อและมีงานทำ

 

นาย ขจรศักดิ์ กาติ๊บ ประธานกรรมการบริหารโครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ.จังหวัดพะเยา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการแนะแนวอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกของงาน หรือตลาดนัดแนะแนวอาชีพ ครั้งนี้ โครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ. จังหวัดพะเยา ภายใต้การสนับสนุนของ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการพัฒนาเด็ก ให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสโดยไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา สุขภาพ ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ และเป็นโอกาสดีที่เด็กและเยาวชนในจังหวัดพะเยา ได้รับการช่วยเหลือ และส่งเสริมอาชีพเพื่อนำไปต่อยอดในการเลี้ยงชีพในอานาคตได้
 
 
โดยมี สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา วิทยาลัยเทคนิคเชียงคำ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเชียงคำ ศูนย์ฝึกอาชีพเด็กและสตรี จังหวัดเชียงราย โรงเรียนทวิบริบาลศาสตร์ เชียงราย โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ ณชจันทร์ และ ฟาร์มเห็ดเศรษฐกิจร่มเย็น แนะแนวทางการศึกษาต่อแก่เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนสร้างทางเลือกการศึกษาต่อ ทั้งด้านสายอาชีพและอุดมศึกษา ที่ตรงกับความต้องการและความถนัดของตนเอง เพิ่มช่องทางให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของสถาบันการศึกษา และเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อหรือเตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนความร่วมมือจากองค์กร หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคีเครือข่ายโรงเรียน ชุมชน จัดซุ้มนิทรรศการทักษะอาชีพเด็กในโรงเรียน เพื่องานประชาสัมพันธ์
 
 
นายพิสุทธิศักดิ์ ธรรมะวุฒิสุข กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมสู่โลกของการศึกษาต่อและมีงานทำ โดยภายในงานมีหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ร่วมจัดนิทรรศการ สร้างความเข้าใจในเส้นทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ (INSPIRATION) ในหัวข้อเรื่องความสำคัญของการศึกษา สำหรับเด็กและเยาวชนในโรงเรียนภาคี ในพื้นที่การดำเนินงานโครงการฯ เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนสร้างทางเลือกการศึกษาต่อ ทั้งด้านสายอาชีพและอุดมศึกษา ที่ตรงกับความต้องการและความถนัดของตนเอง เพิ่มช่องทางให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของสถาบันการศึกษา และเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อหรือเตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
 
สำหรับ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพื้นที่ดำเนินงานในจังหวัดพะเยา ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจุน อำเภอปง อำเภอภูซาง และ อำเภอเชียงคำ ปัจจุบัน มีเด็กในการดูแลของโครงการ จำนวน 1,191 ราย กิจกรรมตลาดนัดแนะแนวอาชีพ ในวันนี้ได้รับการสนับสนุนความร่วมมือจากองค์กร หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคีโรงเรียน ชุมชน จัดซุ้มนิทรรศการเพื่อประชาสัมพันธ์ แนะแนวทางการศึกษาต่อแก่เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News