Categories
EDITORIAL

นักวิจัยเตือนฝนตกหนักปลายสัปดาห์เฝ้าระวังกทม.-ปริมณฑลและอยุธยา

 

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและน้ำท่วมในขณะนี้ว่า ภาคเหนือน้ำเริ่มลดแล้วแต่ต้องเฝ้าระวังภาคกลางเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ระดับน้ำสูงขึ้นไล่มาตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก อุทัยธานี นครสวรรค์ ลงมาถึงพระนครศรีอยุธยา อาจมีน้ำท่วมริมตลิ่งและมีโอกาสล้นคันกั้นน้ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระนครศรีอยุธยาระดับน้ำเพิ่มจาก 1,832 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,682 ลบ.ม./วินาที ถือว่าใกล้ปริ่มน้ำมาก หากเกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที อาจต้องปล่อยน้ำเข้าพื้นที่อำเภอบางบาลและบางไทรซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ

“การคาดการณ์ฝนในช่วงนี้ ร่องความกดอากาศต่ำจะทำให้ปลายสัปดาห์นี้ มีโอกาสฝนตกหนักในพื้นที่บริเวณภาคกลาง จึงต้องเฝ้าระวังและเตรียมรับมือทั้งพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบ้านเรือนริมน้ำ ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้กรุงเทพมหานครแล้ว โดยทาง กทม. ได้เตรียมขุดลอกคูคลองและท่อระบายน้ำ แก้ปัญหาพื้นที่ฟันหล่อพร้อมรับมือ กับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นตามแผนรับมือหน้าฝนปี 2567 แล้ว” รศ. ดร.สุจริตระบุ

สำหรับสถานการณ์น้ำ ฝนคาดการณ์ การบริหารเขื่อน และสภาพน้ำท่าท้ายเขื่อน ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ถึง 14 ตุลาคม 2567 จากการวิเคราะห์ข้อมูลของทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่ามีพื้นที่น้ำท่วมครอบคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคกลางในเขตลุ่มน้ำโขงเหนือ น่าน ยม วัง และเจ้าพระยารวม 20 จังหวัด จำนวน 1.347 ล้านไร่ โดยจะยังคงมีปริมาณน้ำฝนสูงในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และเริ่มลงภาคใต้ โดยปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ร้อยละ 61 เขื่อนสิริกิติ์ร้อยละ 91 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนร้อยละ 68 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ร้อยละ 64

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

“กสว. ร่วมมือ ผู้ว่าฯเชียงใหม่” จัดงบ 150 ล้านบาท แก้ปัญหา PM 2.5

 
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกองทุน ววน. ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้นำผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัย ร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้านำงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของกองทุน ววน. มุ่งแก้ไขปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และปัญหาไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่อย่างเร่งด่วนตามโจทย์และความต้องการของจังหวัดเชียงใหม่ โดย สกสว.จัดสรรงบประมาณวิจัยภายใต้งบประมาณปี 2566 – 2567 รวม 2 ปี งบประมาณกว่า 150 ล้านบาท คิดเฉลี่ยปีละ  70 กว่าล้านบาท ใน 4 มิติเร่งด่วนสำหรับการลดฝุ่นจากต้นตอแหล่งกำเนิด ได้แก่ การลดไฟในพื้นที่ป่าไม้ การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การลดไฟในพื้นที่เกษตร และการลดฝุ่นข้ามแดน โดยการจัดสรรงบประมาณผ่านสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โดยทุกภาคส่วนตั้งเป้าผลลัพธ์ทั้งการลดปัญหาที่เกิดซ้ำในแต่ละพื้นที่ การติดตามสถานการณ์ การวางแผนป้องกันและรับมือฝุ่นจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อต่อยอดไปสู่การออกนโยบาย กฎหมาย หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคเกษตรกรรม
 
 
 

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า แต่ละปีประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทั้งปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ หลังการปฏิรูประบบ ววน. ในปี 2562 ได้มีการจัดตั้งกองทุน ววน. ขึ้น โดยมี กสว. ทำหน้าที่กำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย รวมถึงจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณของประเทศให้เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและแก้ปัญหาสำคัญของประเทศในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายและทิศทางที่สภานโยบายได้กำหนดไว้

 
 

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวเสริมว่า กสว. ได้อนุมัติงบประมาณ แก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ ในประเด็น “งานวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ฝุ่นละออง PM 2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ” โดยใช้งบประมาณ 2 ปี รวมจำนวน 155,000,000 บาท แบ่งเป็นงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 77,700,000 บาทและปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 77,300,000 บาทรวมทั้งให้ทุนแก่หน่วยงาน/นักวิจัยตามโจทย์สำคัญเร่งด่วน โดยใช้กระบวนการอนุมัติแผนงานสำคัญเร่งด่วนและงบประมาณให้ทันต่อสถานการณ์มองทั้งระยะสั้น กลางและระยะยาว สำหรับการนำผลงานวิจัยไปใช้ในสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในระดับพื้นที่ในแต่ละจังหวัด มีเป้าหมายสำคัญ คือ การเร่งนำงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุน ววน. ไปช่วยแก้ปัญหาวิกฤติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของประชาชน เพื่อสร้างผลลัพธ์และผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้ร่วมทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้ทราบถึงโจทย์สำคัญของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ และให้สามารถแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบท มีประสิทธิภาพภายในระยะเวลาที่เร่งด่วนหน่วยงานภาควิชาการ ได้เร่งระดมหาทางออกให้กับจังหวัดเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมให้เป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากกองทุน ววน. อย่างเข้มข้น เพื่อสนับสนุนการบริหารท้องถิ่นให้คล่องตัวและสามารถบูรณาการการทำงานบนระบบข้อมูลและงานวิจัยอย่างเข้มข้นมากขึ้น

“ความสำคัญของงานวิจัยจะช่วยให้ผู้ดำเนินงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความซับซ้อนของปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน นำมาสู่การแก้ไขที่เป็นระบบ รวมทั้งเป็นแนวทางเชิงรุกที่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยง การควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที การจำกัดจำนวนการเกิดเหตุไฟป่า การช่วยรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การสร้างความร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีแนวโน้มประสบปัญหาเดียวกันซึ่งจะทำให้งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนมีความยั่งยืนและมีโอกาสนำไปใช้เป็นวงกว้าง”

 
 
ขณะที่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ช่วงที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องเผชิญกับวิกฤติไฟป่า ฝุ่นควันต่างๆ งานวิจัยนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดข้อถกเถียงของวิธีแก้ไขที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนระหว่างปฏิบัติงาน อย่างเช่นปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม งานวิจัยได้ช่วยให้มีบทสรุปขององค์ความรู้ วิธีดำเนินการ และแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ตรงกับบริบทของพื้นที่ ชีวิตของคนในชุมชน และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติแบบที่ทุกภาคส่วนต้องการ ดังนั้น เมื่อพื้นที่มีองค์ความรู้ที่หลากหลาย สิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำได้ คือ การเปิดพื้นที่ เชิญหลากผู้รู้จากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็น และวิเคราะห์องค์ความรู้ที่มีร่วมกัน จนนำไปสู่การลงมือปฎิบัติจริง นอกจากนี้งานวิจัยยังช่วยให้หลากผู้รู้ยอมรับว่าการตกผลึกขององค์ความรู้ว่าทางออกที่แท้จริงของพื้นที่คืออะไร
 
 
 

ด้านนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การปฏิบัติการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันกับสกสว. นับเป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะทำให้วิกฤติคลี่คลายได้เร็วขึ้น โดยที่ผ่านมาทางเชียงใหม่ได้มีการนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้แล้วแต่อาจยังไม่ทั่วถึง และบางนวัตกรรมอาจยังไม่ครอบคลุมกับปัญหาทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดมีความยินดีและมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าทั้ง 16 โครงการวิจัยที่สกสว. และกองทุน ววน. ได้สนับสนุนมานั้นจะไม่ได้เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเฉพาะในระยเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่สามารถนำไปเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับปัญหา และพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยการนำงานวิจัยมาใช้ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ที่สามารถใช้ควบคู่ไปกับการออกนโยบาย ยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เกิดการใช้งานวิจัยเพื่อสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ ที่เป็นบริบทสำคัญของจังวัดได้อย่างเข้มข้น”

 

นายทศพล กล่าวทิ้งท้ายว่า การถอดบทเรียนจากสภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยคาดหวังว่าเมื่อ จ.เชียงใหม่ ได้ทดลองปรับโครงสร้างให้องค์กรส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมนำเทคโนโลยีและงานวิจัยมาใช้ติดตาม วางแผนการรับมือ และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ภายใต้การสนับสนุบงบประมาณจากกองทุน ววน. จะช่วยให้ จ.เชียงใหม่ ได้รับประโยชน์จากงานวิจัย และเกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเป็นระบบที่จะเป็นแรงจูงใจไม่ให้เผาและบุกรุกป่า การส่งเสริมความเข้าใจและค่านิยมของประชาชนจากความเข้าใจถึงผลกระทบและช่วยกันลดปัญหาต่าง ๆ ปรับโครงการสร้างการเพาะปลูกเพื่อเข้าสู่วิถีเกษตรไม่เผา และมีทางเลือกสำหรับการทำเกษตรกรรมที่จะมีพืชเศรษฐกิจใหม่ ๆ ในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านองค์ความรู้ การร่วมบริหารจัดการและป้องกัน รวมถึงนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ

 
 
 

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจสำคัญในการจัดทำ และขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศให้ไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงดำเนินการจัดสรรงบประมาณของกองทุน ววน. ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สกสว. พร้อมนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. มาร่วมขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่วิกฤตเร่งด่วน ในส่วนการดำเนินงานที่ผ่านมา สกสว. โดยกองทุน ววน. ได้มีการสนับสนุนงบประมาณวิจัยในประเด็นปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 และปัญหาไฟป่าในพื้นที่ปฏิบัติการ จ. เชียงใหม่  ภายใต้งบประมาณปี 2566 -2567 เป็นงบประมาณวิจัยปีละกว่า 70 ล้านบาท รวม2ปี  150 ล้านบาท  โดยพิจารณาอนุมัติงบประมาณเป็นแบบรายปี จัดสรรงบประมาณให้แก่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จำนวน 43,050,000 บาท และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) จำนวน 34,650,000 บาท โดยมุ่งขับเคลื่อน 4 มิติเร่งด่วน ดังนี้

 

1.โครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่ป่า จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนมีแรงจูงใจในการรักษาผืนป่า มากกว่าเดิมด้วยกลไกการตอบแทนคุณนิเวศ หรือ Payment for Ecosystem Service (PES) ด้วยการศึกษาบริการทางนิเวศและมูลค่าของทรัพยากรเพื่อระดมทุนจากภาคเอกชนและประชาชนไปใช้สนับสนุนชุมชนในการอนุรักษ์ป่าและป้องกันไฟป่า เช่น การขายคาร์บอนเครดิต การทำวิจัยชุมชนเพื่อพัฒนากิจกรรมการอนุรักษ์และกองทุนอนุรักษ์ระดับชุมชน เพื่อ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการไฟป่าของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ ตลอดจนการพัฒนาระบบติดตามและการวิเคราะห์โอกาสความเสี่ยงที่แม่นยำผ่านการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกและงานวิจัย

 

2.การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า ที่จะช่วยให้ข้อมูลที่มีทั้งหมดสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่า – ปัญหาฝุ่นควันที่แต่เดิมมีความซับซ้อน ลดการเกิดการเผาไหม้ซ้ำ ๆ และสามารถนำข้อมูลไปจัดทำแผนและมาตรการต่าง ๆ ได้เพิ่มเติม ได้แก่ ข้อมูลชุดที่ 1 สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ ข้อมูลด้านจุดความร้อน (Hotspot) ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาในปัจจุบัน ข้อมูลชุดที่ 2 ด้านอุตุนิยมวิทยา และสภาพของพื้นที่ ข้อมูลชุดที่ 3 ด้านการป้องกันผลกระทบและวิธีการเยียวยา ข้อมูลชุดที่ 4 ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ การลดสาเหตุ การรองรับการเผชิญเหตุ และรองรับการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ โดยทั้ง 4 ชุดข้อมูลนี้ยังมีโอกาสที่จะเชื่อมโยงไปสู่การกำกับและติดตามค่าฝุ่น PM 2.5 ในภาพรวมทั้งประเทศที่ดำเนินงานโดยกรมควบคุมมลพิษ และพ.ร.บ.อากาศสะอาดและมาตรการสร้างแรงจูงใจในการลดฝุ่น PM 2.5 ของกรรมการร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด

 

3.การแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่เกษตร การทำให้ชุมชนปรับเปลี่ยนระบบเกษตรเป็นการปลูกพืชแบบไม่เผา และมีนวัตกรรม / วิธีทำเกษตรที่สร้างรายได้สูงกว่าเดิม โดยเฉพาะวิธีการจัดการแปลงก่อนเริ่มทำการเพาะปลูกและหลังกระบวนการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการปรับเปลี่ยนจากพืชล้มลุกเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด หรือ ไม้ยืนต้นและไม้โตเร็วที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน และโครงการวิจัยในกลุ่มนี้ยังมุ่งให้มีการนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปทำพลังงานชีวมวลทดแทนพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้ทั้งเกษตรกร ผลผลิต และไร่นาแต่ละพื้นที่มีความยั่งยืนขึ้น

 

4.การลดฝุ่นข้ามแดน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเพื่อนบ้านนำแนวทางการลดฝุ่น (Best Practice) ไปขยายผลกับการผลิตการเกษตรภายในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเกิดการถ่ายอดองค์ความรู้ที่สำคัญที่สามารถใช้ได้ร่วมกันระหว่างสามประเทศ คือ ไทย ลาว เมียนมา และถอดบทเรียนการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน

 

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานกรรมการกำกับติดตามแผนงานการนำ ววน. ไปใช้แก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 กรรมาธิการวิสามัญร่างกฎหมายบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด กล่าวว่า ขณะนี้ (ร่าง) พ.ร.บ. อากาศสะอาด อยู่ในขั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ จำนวน 7 ฉบับ ซึ่งเป็นกระบวนการนี้ต้องการข้อมูลงานวิจัยมาช่วยสนับสนุนการพิจารณาให้เนื้อหามีความสมบูรณ์ และครบถ้วนในทุกมิติ  

 

       การจะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศให้เป็นรูปธรรมได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ต้องบูรณาการข้อมูลและส่งต่อผลงานอย่างเป็นระบบ รวมทั้งต้องมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้ใช้ และผู้ได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความคิดเห็นไปปรับกระบวนการขับเคลื่อนให้ตอบโจทย์และความต้องการมากที่สุด ดังนั้น การหารือในครั้งนี้จะทำให้ กสว. และหน่วยงานทุกภาคส่วนได้รับทราบภาพรวมความคืบหน้าการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. มาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ รศ.ดร. ปัทมาวดี กล่าวเสริม

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สกสว.

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

ประชุมพะเยาวิจัยปี 2567 อนาคตธุรกิจคาร์บอนเครดิตและอุตสาหกรรมบริการไทย

 

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 มหาวิทยาลัยพะเยาจัดให้มีการประชุมวิชาการระดับชาติพะเยาวิจัย ครั้งที่ 13 ขึ้น ในวันที่ 24 – 26 มกราคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “Frontier area-based research for sustainable development goals” ซึ่งเป็นเวทีทางวิชาการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่ายระดับชาติ พัฒนาศักยภาพของนักวิจัย และสถาบันการศึกษาของไทย ที่เป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการการนําเสนอผลงานวิจัย นิทรรศการ และกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการต่าง ๆ ที่หลากหลาย โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือ Section: “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ได้มีเวทีการเสวนา “อนาคตธุรกิจคาร์บอนเครดิตและอุตสาหกรรมบริการไทย” รวมทั้งการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางและแนวโน้มการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” และ “การส่งเสริมสุขภาพและการเที่ยวไทย” นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ “การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอุทยานแห่งชาติและการส่งเสริมใช้แอพพลิเคชั่น ZERO CARBON” ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานโดยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นประธานกล่าวเปิดงานการประชุมวิชาการพะเยาวิจัย โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ร่วมเปิดงานซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 13 ในวันที่ 25 มกราคม 2567 ณ อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ มหาวิทยาลัยพะเยา

 

สำหรับการเสวนา “อนาคตธุรกิจคาร์บอนเครดิตและอุตสาหกรรมบริการไทย” ประกอบด้วยผู้ร่วมเสวนา 5 ท่าน คือ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการแผนงานท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิ บพข. นายคมกริช เศรษฐบุบผา ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ในฐานะผู้แทนอธิบดีกรมอุทยานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นางสาวภคมน สุภาพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) และ Mr.James Andrew Moore ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WAVE BCG Co., Ltd.

 

 

 

 

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช กล่าวถึงความเป็นมาของ บพข. ซึ่งเป็นผู้ที่ริเริ่มในการส่งเสริมแนวคิดการวิจัยด้านการท่องเที่ยวสุทธิเป็นศูนย์ ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดย แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ได้จำลองแบบ net zero pathways ในช่วงปี 2569-2570 เนื่องจากว่ากว่าด้านวิทยาศาสตร์และวิจัยนวัตกรรมของเราได้รับ งบประมาณจากรัฐบาลมาต่อเนื่องให้เราทำงานวิจัย โดยเราจะออกแบบแผนงานที่เป็น Marketing CNT ในปี 2567  ทำร่วมกับกับ TEATA และตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง เข้ามาในเมืองไทยเพื่อที่จะเตรียมความพร้อมการรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง จะให้พำนัก 10 ขึ้นไป โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 5000 บาท  มีหน่วยงานต่างๆเข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่าย เราทำการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และเราทำเรื่องของงานเชิงนโยบาย นักท่องเที่ยวคุณภาพสูง ต้องจัดการการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพด้วย  และในปลายปี 2568 -270 เราจะมี Net Zero pathways ออกมาให้พี่น้องชาวไทย เราสามารถที่จะบริการจัดภาคการท่องเที่ยว และนำไปสู่ Net Zero pathways เป็นลักษณะของการให้การทดลองการท่องเที่ยวต่างๆในโปรแกรม

 

 ด้าน รศ. ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน กล่าวว่า การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่ต้น คือมาจากปัญหาโลกร้อนและเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนร่วมถึงภาคการท่องเที่ยว แล้วภาคการท่องเที่ยวได้มองถึงการแก้ไขปัญหาหรือเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา โดยมีประเด็นดังนี้ 1.ตัวกลางวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมต่างๆ 2.หลังจากที่ทราบตัวเลขแล้ว ควรจะมีมาตรการหรือแนวทางลดให้มากที่สุด 3.ชดเชย 4.ทุกภาคส่วนทุกฝ่ายต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

 

 

สำหรับคุณคมกริช เศรษฐบุบผา เผยถึง ในฐานะตัวแทนของทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการท่องเที่ยวสุทธิเป็นศูนย์ คือหน่วยงานมีวิสัยทัศน์เพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ ภายในปี 2569 และมีภารกิจงานด้านอนุรักษ์วิจัย งานด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้ งานมีส่วนร่วม และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยว และมียุทธศาสตร์ ประเด็นที่ 18 การเติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

ด้าน คุณภคมน สุภาพพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกมีแอพพลิเคชั่น Zero Carbon ที่เกิดจาก ความร่วมมือกับ บพข. ซึ่งต้องบอกว่า ประโยชน์ของแอพพลิเคชันของทาง อบก. เขาเห็นถึงการท่องเที่ยวที่มีการจัดการก๊าซเรือนกระจก 1.การเดินทางของผู้ร่วมงาน 2.ที่พัก 3.อาหาร  4.ของเสีย ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถบอกเลขได้ เมื่อนำไปทดลอง พบว่า ชุมชนสามารถใช้ได้ และนอกจากนี้เด็กมัธยมต้นก็สามารถใช้แอพนี้ได้และใช้โดยไม่ใช้เงินอะไรเลย ในอนาคตเรามีการพัฒนาแอพที่ดี เราจะตัดระบบผู้ทวนสอบ  เพื่อให้งานนั้นหรือว่าการท่องเที่ยวนั้น โดยสามารถที่จะซื้อคาร์บอนในระบบได้เช่นเดียวกัน

 

ในด้านของภาคเอกชน คุณเจมส์ แอนดริว มอร์ กล่าวว่า บริษัท เวฟบีซีจี จำกัด ของเราเป็นบริษัทมหาชน เรามีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนมาก เราเป็นผู้สนับสนุน ในการที่จะบรรลุเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ในการเป็น Net Zero และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกได้ ที่ปรึกษาในการประเมิน และเมื่อประเทศมีการตั้งเป้าหมายแล้วจึงส่งผลต่อภาคเอกชน ทำให้ภาคเอกชนมีการตั้งเป้า เพราะเรื่องนี้เป็นการแข่งขันในภาคเอกชน เช่น ณ วันนี้ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ส่งออกสินค้าไปเข้ายุโรป เราจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนแพงกว่าคู่แข่งที่ยุโรป ดังนั้นความสามมารถในการแข่งขันส่งออกเราจะลดลงเรื่อย ๆ และ CBAM ที่เป็นภาษีคาร์บอนของยุโรป จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 14,700 ล้านบาท ถ้าเราไม่มีการปรับตัว

สำหรับโซนนิทรรศการ “การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอุทยานแห่งชาติและการส่งเสริมใช้แอพพลิเคชั่น ZERO CARBON” และการนำเสนอผลงานวิชาการรูปแบบ Oral Presentation แบบ Onsite ใน Section“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ครั้งที่ 1” มีผู้นำเสนอผลงานวิชาการเป็นเจ้าหน้าที่กรมอุทยานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จากอุทยานฯ 12 แห่ง และนักวิชาการ รวมจำนวน 15 ผลงาน ตลอดจนการประกวดผลงานสร้างสรรค์แบบออนไลน์ ประเภทภาพถ่ายและคลิปวีดีโอนักสื่อความหมายด้านการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยมีผู้ร่วมส่งผลงานจำนวน 48 ราย โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้นำแอพพลิเคชั่น ZERO CARBON มาใช้คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการการจัดการประชุมและกิจกรรม  ซึ่งมีปริมาณ 14.90 ตันคาร์บอนฯ และได้ชดเชยคาร์บอน เป็นจำนวน 2,700 บาท สำหรับผู้ร่วมงานในครั้งนี้แล้วจำนวน 200 คน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานวิจัยการยกระดับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวและความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพอุทยานแห่งชาติในพื้นที่ภาคเหนือมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยมี ผศ.ดร.สุขทัย พงศ์พัฒนศิริ สังกัดมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้รับการอุดหนุนทุนวิจัยจาก  แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  (บพข.) กองทุน ววน. ซึ่งมีพื้นที่วิจัยหลัก คือ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน และอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และเครือข่ายอุทยานแห่งชาติสีเขียวอีก 9 แห่งของภาคเหนือ ในปี พ.ศ. 2566 โดยงานวิจัยนี้คาดว่า การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism: CNT) นั้น จะเป็น Mega trend ที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยและพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวมูลค่าสูง และจากการติดตามร่องรอยทางนิเวศของนักท่องเที่ยว (Tracking Survey) พบว่า ค่าใช้สอยในการท่องเที่ยวเป็นจำนวนเงินเฉลี่ย 2,921 บาท/วัน ซึ่งจะกระจายรายได้แก่ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่พักรองรับนักท่องเที่ยวโดยรอบอุทยานฯ จำนวน  144 แห่ง และจากการสร้างความร่วมมือเครือข่ายผู้ประกอบการ 63 แห่ง ที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบ CNT นำร่องแคมเปญการเตรียมตัวแบบการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนสุทธิ์เป็นศูนย์มีเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนจากเดินทางท่องเที่ยว ลดการใช้ไฟฟ้าในที่พัก คัดแยกขยะ ลดการใช้การเกิด และทำการชดเชย โดยคำนวณจากแอพพลิเคชั่น ZERO CARBON คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวที่จะร่วมกิจกรรมนี้ 1,560 คน/ปี เป็นรายได้เพิ่มขึ้น 1,760,000 บาท/ปี จากผู้ประกอบการที่พัก 9 แห่ง

 

ทั้งนี้อุทยานฯ และผู้ประกอบการร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS)  โดยการคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิล การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เองและการผลิตปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์  32 แห่ง คิดเป็นการลดก๊าซเรือนกระจก 4.9 tCO2eq โดยในอนาคตอุทยานฯ ต้องยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี พ.ศ. 2573 ตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ของประเทศ โดยในงานวิจัยได้คาดการณ์จากแนวโน้มในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ 3 อุทยานฯ ร้อยละ 4 ต่อปี จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าของการให้บริการของอุทยานฯจำนวน 4,898 kWh  เชื้อเพลิง 5,102 ลิตร 5.1 ตัน การใช้น้ำ 1,087 ลบ.ม. คิดเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง 60 tCO2eq/ปี ซึ่งคิดเป็นเงินต้นทุนที่ลด 229,125 บาท/ปี ในส่วนของการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สำนักงานอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีการใช้ผลิตภัณฑ์ในบัญชีตะกร้าเขียว ฉลากเขียว ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้น  ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5  ฉลากประสิทธิภาพสูงและวัสดุธรรมชาติสูงถึง  45.28 เปอร์เซ็นต์  

 

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมในการรองรับกิจกรรมทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์เพื่อสร้างประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) เมื่อนักท่องเที่ยวมาใช้บริการจะทำให้เป็นท่องเที่ยวที่เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติต่ำ อีกทั้งในอนาคตจะมีการสื่อสารและเรียนรู้ผ่านคู่มือการท่องเที่ยว Green Travel Plans (GTPs) สำหรับท่านที่จองบ้านพักภายในอุทยานฯและและที่พักชุมชนในเครือข่ายเพื่อการเตรียมตัวมา “ท่องเที่ยวกลุ่มอุทยานแห่งชาติสีเขียวสไตล์คาร์บอนเป็นศูนย์” และ การเป็นองค์ชั้นนำในการบริการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของกรมอุทยานฯ ก้าวสู่ Net Zero Pathway และ Climate-Smart National Park

 

นอกจากนี้ยังมีการบรรยายพิเศษใน 2 เรื่องสำคัญคือ “ทิศทางและแนวโน้มการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ“การส่งเสริมสุขภาพและการเที่ยวไทย” โดย นายณัฐพงศ์ โพธิ์วัฒนะชัย ตัวแทนสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

ทั้งนี้สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม “สานพลังการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการ แข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และพร้อมก้าวสู่อนาคต” พร้อมส่งเสริม ความร่วมมือเพื่อผลิตกําลังคนระดับสูงเฉพาะทาง และความร่วมมือในด้านการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมกับหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคคลหรือหน่วยงานในต่างประเทศต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News